http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-05-15

“วิสั้น”รถไฟฟ้า โดย สรกล อดุลยานนท์


.

“วิสั้น”รถไฟฟ้า
โดย สรกล อดุลยานนท์  คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่12
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เวลา 18:00:18 น.
( ที่มา หน้า 2, มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม 2555 )


ถือเป็นการตัดสินใจที่มี "วิชั่น" หรือ "วิสัยทัศน์" กว้างไกลจริงๆ 
เพราะมองเห็นอนาคตล่วงหน้าตั้ง 17 ปี 
ถ้าใครเป็น "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" คงต้องเอามือก่ายหน้าผาก เมื่อกรุงเทพมหานครต่อสัญญาเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสล่วงหน้า 17 ปี 
คือ สัญญาเดิมจะหมดลงในอีก 17 ปีข้างหน้า 
แต่ กทม.ต่อสัญญาให้กับ "บีทีเอส" เลยตั้งแต่วันนี้
ต่อไปอีก 13 ปี

ถ้าผู้ว่าฯกทม.เป็นคนสังกัดพรรคเพื่อไทย รับรองได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์เอาตาย 
เพราะมีที่ไหนทำสัญญาจ้างล่วงหน้าตั้งแต่ 17 ปี 
จะอ้างว่าเพื่อให้เอกชนกล้าลงทุนซื้อขบวนรถ 
ถามจริงๆ อายุการใช้งานของรถนานขนาดนั้นเชียวหรือ


กทม.อ้างว่าไม่ได้ต่อสัมปทาน แต่เป็นสัญญาจ้างให้เป็นผู้เดินรถไฟฟ้าเท่านั้น และเป็นการขยายเวลาให้เท่ากับที่จ้าง "บีทีเอส" เดินรถในเส้นทางต่อขยาย "อ่อนนุช-แบริ่ง" และ "ตากสิน-วงเวียนใหญ่" 
คือ สัญญาเดิมกับเส้นทางเก่าของ "บีทีเอส" นั้นเหลือ 17 ปี 
แต่สัญญา "ส่วนต่อขยาย" กทม.ทำกับ "บีทีเอส" 30 ปี มากกว่าสัญญาเก่า 13 ปี 
คราวนี้ก็เลยต่อสัญญาเดินรถในเส้นทางเก่าอีก 13 ปีให้ครบ 30 ปีเท่ากัน

เป็นตรรกะที่ง่ายเกินไปหรือเปล่า 
ไม่คิดเลยหรือว่าจะไม่มีคนตั้งคำถามว่าตอนที่ทำสัญญาเดินรถเส้นทางต่อขยายนั้นทำไมไม่ทำสัญญาแค่ 17 ปีเพื่อให้เท่ากับสัญญาในเส้นทางเก่า  
17 ปี นานนะครับ สำหรับแค่ "การเดินรถ" เพราะ กทม.เป็นคนลงทุนในส่วนต่อขยายเอง 
แต่กลับเล่นเกมทำสัญญาส่วนต่อขยายนาน 30 ปี เกินเวลาสัญญาเก่าไป 13 ปี  
แล้วใช้เป็นข้ออ้างในการต่อสัญญาในเส้นทางเดิมอีก 13 ปี เพื่อให้ครบกำหนดเวลาเดียวกัน




เส้นทางรถไฟฟ้าของ กทม.นั้นคือ "ไข่แดง" ที่มีค่าอย่างยิ่ง เพราะยึดเส้นทางกลางเมืองไว้หมด ทั้งสยาม สุขุมวิท สีลม 
อย่าลืมว่าธุรกิจรถไฟฟ้านั้นไม่ใช่เพียง "ค่าโดยสาร" 
สื่อโฆษณาบนสถานีรถไฟฟ้าและในรถไฟฟ้านั้นมีมูลค่ามหาศาล 
คนในแวดวงโฆษณารู้ดี 
หรือผลประโยชน์ในการต่อเชื่อมอาคารสำนักงาน หรือศูนย์การค้ากับสถานีรถไฟฟ้าไม่ใช่จะขอเปิดทางง่ายๆ นะครับ 
ในแวดวงธุรกิจก็รู้ดี

ล่าสุด สถาบันกวดวิชา "ครูอุ๊" ที่พญาไทเพิ่งออกมาโวย ตรงแยกพญาไทรถติดมากเพราะมีสถาบันกวดวิชามากมาย 
เขาลงทุนทำทางเชื่อมเองยังไม่ได้เลย 
กทม.ไฟเขียว แต่ต้องรอ "บีทีเอส" อนุมัติ 
"อนุสรณ์ ศิวะกุล" หรือสามี "ครูอุ๊" บอกกับ "มติชนออนไลน์" เองว่า "บีทีเอส" เรียกค่าใช้จ่ายสูงถึง 25 ล้านบาท  

ผลประโยชน์จากค่าโฆษณาหรือค่าเปิดทางเข้าตึกจากสถานีรถไฟฟ้าในปี 2555 เท่าไร
อีก 17 ปี เพิ่มขึ้นเกินกว่าเท่าตัวแน่อน

ค่าเดินรถ 1,800 ล้านในเวลา 30 ปีไม่แพงหรอกครับ 
แต่ควรทำหรือไม่

และผลประโยชน์ที่นอกเหนือจากนั้นต่างหากที่น่าสนใจ
คำถามก็คือ กทม.รู้หรือไม่
หรือว่าทำเป็นไม่รู้



.