.
การกลับมาของ “เกมรับ” ?
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก“กระแส”
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1658 หน้า 85
ดูเหมือนฤดูกาลการแข่งขันประจำปี ค.ศ.2011-2012 ที่ผ่านมา จะเป็น "ช่วงเวลาทอง" ของกุนซือชาวอิตาเลียนมิใช่น้อย
ในที่สุด "โรแบร์โต้ มันชินี่" ก็นำแมนเชสเตอร์ ซิตี้ คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก เหนือคู่ปรับร่วมเมือง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้สำเร็จ
ขณะที่กุนซือชั่วคราว "โรแบร์โต้ ดิ มัตเตโอ" สามารถพาทีมซึ่งโชว์ฟอร์มลุ่มๆ ดอนๆ ตลอดครึ่งฤดูกาลแรกอย่างเชลซี คว้าดับเบิลแชมป์อย่างยิ่งใหญ่
รายการแรก คือ เอฟเอคัพ ส่วนรายการที่สอง คือ การคว้าถ้วยยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร มองเข้าไปในประเทศอิตาลีเอง "ยูเวนตุส" ก็หวนกลับคืนสู่จุดสูงสุดด้วยการคว้าถ้วยสคูเด็ตโต้มาครอง พร้อมสถิติไม่พ่ายแพ้ทีมใดในศึกกัลโช่ เซเรีย อา ตลอดทั้งฤดูกาล
เมื่อหันไปพิจารณาการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปประจำปี ค.ศ.2012 ซึ่งจะเริ่มประเดิมแข้งที่โปแลนด์และยูเครนในเดือนมิถุนายนนี้
นอกจากทีมชาติอิตาลี ที่ใช้บริการเฮดโค้ชในประเทศอย่าง "เซซาเร่ ปรันเดลลี่" แล้ว ทีมชาติสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ซึ่งมีกุนซือรุ่นเก๋าอย่าง "โจวานนี่ ตราปัตโตนี่" เป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอน ก็สามารถเข้ารอบสุดท้ายของศึกเมเจอร์ได้เป็นครั้งแรกในรอบทศวรรษ (เข้ารอบสุดท้ายการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปเป็นครั้งที่ 2 ห่างจากครั้งแรกถึง 24 ปี)
ยังไม่รวมทีมชาติอังกฤษ ซึ่งผ่านเข้ารอบสุดท้ายมาได้ด้วยการวางหมากของ "ฟาบิโอ คาเปลโล่" ก่อนเจ้าตัวจะตัดสินใจลาออก เพราะขัดแย้งกับสมาคมฟุตบอล
หากไม่นับกรณีของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ทีมจากอิตาลีหรือที่ใช้บริการโค้ชชาวอิตาเลียนส่วนใหญ่มักมีแนวโน้มจะวางแท็กติกด้วยการให้ความสำคัญกับ "เกมรับ" มากเป็นพิเศษ
ย้อนกลับไปเมื่อ 6 ปีก่อน ระหว่างการแข่งขันฟุตบอลโลกปี ค.ศ.2006 ที่อิตาลีคว้าแชมป์โลก "ปิยบุตร แสงกนกกุล" นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ เคยแปลบทสัมภาษณ์ของ "อันโตนิโอ เนกรี้" ปัญญาชนฝ่ายซ้ายชาวอิตาเลียน ในบทความชื่อว่า "คุยเรื่องบอล กับ อันโตนิโอ เนกรี้ : “สำหรับอิตาลี คาเตนัคโช่ คือ การต่อสู้ของชนชั้น”" และนำไปเผยแพร่ทาง http://www.onopen.com/2006/editor-spaces/686
ปัญญาชนผู้นี้อธิบายความหมายเบื้องหลังแท็กติกแบบ "คาเตนัคโช่" ซึ่งแปลว่า "กลอนประตู" (เป็นรูปแบบการเล่นของทีมฟุตบอลจากอิตาลีซึ่งเน้นเกมรับเป็นหลัก เมื่อได้ประตูขึ้นนำก็จะลงไปตั้งรับกันหมดแล้วรอสวนกลับ เกมรับของอิตาลีใช้ทุกวิธี ไม่ว่าจะเป็นการดึงเสื้อ การเจตนาทำฟาวล์ หรือการเข้าสกัดที่รุนแรง) ไว้อย่างน่าสนใจ
ก่อนหน้าจะหันมาเป็นแฟนบอล เนกรี้เคยรู้สึกว่าการแข่งขันกีฬาประเภทนี้นั้นค่อนข้างน่าเบื่อ แต่คนที่ทำให้เขาต้องเปลี่ยนใจ ก็คือ "เนเรโอ้ ร็อกโก้" เทรนเนอร์ผู้สร้างแท็กติก "คาเตนัคโช่" ขึ้นมาในช่วงปลายทศวรรษ 1950
ร็อกโก้คุมทีมสโมสรที่มีคุณภาพระดับกลางๆ ไม่มีนักเตะชั้นยอด เขาจึงต้องสร้างรูปแบบเกมรับให้แข็งแกร่งแบบปลอดภัยไว้ก่อน
นับแต่นั้น รูปแบบการเล่นฟุตบอลเช่นนี้ก็กลายเป็นคุณลักษณ์ติดตัวชาวอิตาเลียน มันเป็นรูปแบบที่สุดแสนจะน่าเบื่อ ทว่าแข็งแกร่ง โหดร้ายดุดัน และยากที่ทีมอื่นจะเอาชนะ ต่อมา เขาจึงนำแท็กติกดังกล่าวไปใช้กับสโมสรที่ยิ่งใหญ่ คือ เอซี มิลาน
กระทั่งนักข่าวหัวสังคมนิยมและก้าวหน้าในยุค 1960 ถึงกับขนานนามให้ "คาเตนัคโช่" เป็นบุคลิกลักษณะของชาติอิตาลี ลักษณะที่ต้องทนทุกข์ ลักษณะชนบท ลักษณะเจ้าที่ดิน ซึ่งนำไปสู่การต่อสู้ทางชนชั้น
สอดคล้องกับสภาพการณ์ของดินแดนอันเป็นต้นกำเนิดแห่งแท็กติกการเล่นฟุตบอลรูปแบบนี้ คือ แคว้นเวเนโต้ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอิตาลี ในยุค 1950 ซึ่งผู้คนท้องถิ่นจำนวนมากต้องอพยพโยกย้ายถิ่นฐานและทำทุกวิถีทางเพื่อการอยู่รอดของตนเอง เนื่องจากภาวะขาดแคลนอาหารอย่างหนัก
เข้าทำนอง "เมื่อเรามีพละกำลังน้อยกว่า อ่อนแอกว่า เราก็ต้องปกป้องตนเอง"
น่าสนใจว่า ทีมที่เน้น "เกมรับ" จะสามารถย้อนกลับมาประสบความสำเร็จในการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 ได้อีกครั้งหรือไม่? หลังจากกรีซเคยประสบความสำเร็จในยูโร 2004 และอิตาลีเคยคว้าแชมป์โลกในปี ค.ศ.2006
ก่อนที่โลกฟุตบอลจะถูกยึดครองด้วยเกมรุกอันเฉียบคม และเปี่ยมล้นด้วยการผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างความสามารถเฉพาะบุคคลชั้นเลิศกับระบบทีมเวิร์กอันยอดเยี่ยมของทีมชาติสเปน รวมถึงยอดสโมสรอย่างบาร์เซโลน่า
อย่างไรก็ตาม ในฤดูกาลที่ทีม "มนุษย์ต่างดาว" ซึ่งเป็นดังแม่แบบสำคัญของฟุตบอลสเปน ต้องกลับกลายสถานะเป็นผู้แพ้ทั้งระดับประเทศและทวีป
โดยมีชะตากรรมไม่ต่างอะไรกับเครื่องจักรฟุตบอล ที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมาจากระบบและโครงสร้างชั้นดีสมบูรณ์แบบ อย่างบาเยิร์น มิวนิก ซึ่งเป็นแม่บทของฟุตบอลเยอรมัน
ทำให้น่าสงสัยว่า ตัวเต็งลำดับต้นๆ อย่างทีมชาติสเปน หรือ เยอรมนี จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหนในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปครั้งนี้
หากเปรียบเทียบกับทีมรองบ่อนที่ไร้ซูเปอร์สตาร์ ทรัพยากรนักเตะไม่สมบูรณ์แบบ รูปแบบการเล่นไม่สวยงามหรือแข็งแกร่ง แต่ถนัดเล่นเกมรับ
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย