http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-05-13

อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยที่ดอยติ มีอะไรมากกว่าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.

อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยที่ดอยติ มีอะไรมากกว่าขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1656 หน้า 76


เชื่อว่าหลายคนที่นั่งรถผ่านถนนซูเปอร์ไฮเวย์สายเหนือ หรือ A11 เส้นลำปาง-เชียงใหม่ อาจรู้สึกแปลกใจเมื่อได้เห็นอนุสาวรีย์รูปพระเกจิอาจารย์องค์หนึ่งขนาดใหญ่เบ้อเร่อเบ้อร่าโผล่ขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ณ ม่อนดอยขนาดย่อมๆ บริเวณจุดทางแยก "ดอยติ" อันเปรียบเสมือนประตูแบ่งเขตแดน หากขับรถมาจากลำปางแล้วเข้าช่องซ้ายก็จะถึงตัวเมืองลำพูน แต่ถ้าตรงไปก็เข้าสู่เชียงใหม่

คนส่วนใหญ่แม้จะไม่รู้ว่าเกจิท่านนี้คือใคร เนื่องจากมองในระยะไกลย่อมไม่เห็นป้ายคำอธิบาย แต่จากประสบการณ์ย่อมพอจะคาดเดาได้ว่า พระภิกษุร่างกะทัดรัด ใบหน้ามุ่งมั่น ครองจีวรมีรัดประคตแผ่นหนา คล้องประคำพวงโตเช่นนี้ จักเป็นพระรูปอื่นใดไม่ได้ นอกเสียจาก "ครูบาศรีวิชัย" นักบุญผู้ยิ่งใหญ่แห่งเมืองเหนือ

คำถามที่ตามมาเป็นชุดๆ ก็คือ ใครนึกอย่างไรถึงได้ออกอุบายให้ครูบามานั่งตากแดดตากฝนกลางแจ้ง วิญญาณของท่านจะรู้สึกเช่นไรหนอ ในเมื่อท่านไม่ใช่คนมักใหญ่ใฝ่สูง มีแต่ความสมถะติดดินถ่อมตน 
สมควรแล้วล่ะหรือ อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก สร้างทำไม เพื่ออะไร ใครได้ผลประโยชน์ และจักบรรลุวัตถุประสงค์ตามเจตจำนงของผู้สร้างหรือไม่?


ทวงสัญชาติ "ลำพูน" คืนสู่ครูบาศรีวิชัย 
ปลดแอกความเจ็บช้ำน้ำใจจากเชียงใหม่

จําได้ดีว่าผู้ดำริจัดสร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้คืออดีตผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนท่านหนึ่ง ซึ่งมิขอเอ่ยนาม (อยู่ลำพูนระหว่างตุลาคม 2551-มกราคม 2554) 
ด้วยเจตนาที่อยากให้เมืองลำพูนมีอะไรใหญ่โตโดดเด่นสะดุดตาผู้ผ่านทางกับเขาบ้าง กะเลียนแบบประจวบคีรีขันธ์ซึ่งสร้างรูปหลวงพ่อทวดขนาดมหึมาที่วัดห้วยมงคล หัวหิน หรือรูปหลวงพ่อโต (สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี) ที่วัดตาลเจ็ดยอด สามร้อยยอด จังหวัดเดียวกัน
ยิ่งขณะนั้น (ปี 2552) กำลังมีข่าวว่า "สรพงษ์ ชาตรี" กำลังระดมทุนสร้างหลวงพ่อโตขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่วัดโนนกุ่ม อำเภอสีคิ้ว โคราช เป็นที่ฮือฮา 
กอปรกับเทรนด์การสร้างพระเกจิชื่อดังขนาดยักษ์สะท้านโลกันต์ มองเห็นแต่ไกลในระยะหลายร้อยเมตรกำลังฮิตแถบลุ่มเจ้าพระยาทั้งพระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง นครสวรรค์ ฯลฯ

พ่อเมืองลำพูนท่านนั้น จึงมองว่าน่าจะนำไอเดียนี้มาใช้กับเมืองลำพูนบ้าง เพราะก่อนหน้าสมัยที่ท่านเคยอยู่เมืองลำปาง ก็ได้สร้างหลักกิโลเมตรที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาแล้ว
แรกๆ ก็ถูกทักท้วงติติงถึงความไม่เหมาะสม นับแต่คำพูดเหน็บแนมว่า "ทำไมต้องเอาครูบามาหากิน" หรือแม้แต่สถานที่สร้างคือวัดดอยตินั้น มีความเกี่ยวข้องอันใดกับครูบาหรือไม่ ซ้ำยังถูกคัดค้านอย่างหนักจากการที่ผู้ว่าฯ กับเจ้าอาวาสวัดดอยติ มีความประสงค์จะเปลี่ยนชื่อวัดใหม่ให้ฟังดูหรูหราอลังการว่า "วัดพระธาตุจอมกิตติ" ทั้งๆ ที่แต่ไหนแต่ไรมาชาวบ้านก็ขานเพรียกกันเพียงแค่ "วัดดอยติ"
กระทั่งพ่อเมืองเลิกล้มแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนชื่อวัด พร้อมกับนักวิชาการช่วยไขคำตอบเรื่องสายสัมพันธ์ระหว่างครูบากับวัดดอยติว่ามีอยู่จริงไม่ใช่การเสกสรรปั้นแต่ง คือเป็นหนึ่งในวัดเจ็ดแห่งที่มีการนำอัฐิธาตุของท่านบรรจุไว้ในกรุเจดีย์ 
เมื่อเสียงต่อต้านค่อยๆ เงียบลง แปรเปลี่ยนเป็นท่วงทำนองขานรับ เหตุเพราะความต้องการเชิดชูครูบาศรีวิชัยนั้นเป็นปมที่ตกค้างกลางใจชาวลำพูนมานานแล้ว นี่ถ้าหากเป็นรูปปั้นบุคคลสำคัญรายอื่น แม้แต่พระนางจามเทวีก็คงต้องถูกค้านหัวชนฝาแน่ เพราะชาวลำพูนมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องใช้รูปปั้นขนาดยักษ์ไปแข่งขันกับชาวเมืองอื่น

นี่พอดีเป็นครูบาศรีวิชัย จึงกระตุ้นต่อมความต้องการของชาวลำพูนได้ชะงัดนัก เพราะในอดีตที่ผ่านมาคนไทยเกือบทั้งประเทศล้วนแต่เข้าใจผิดคิดว่าครูบาศรีวิชัยนั้นเป็นชาวเชียงใหม่ เหตุเพราะที่เชียงใหม่มีการจัดสร้างอนุสาวรีย์ไว้ที่ตีนดอยสุเทพอย่างโดดเด่น อันเป็นรูปปั้นชั้นครูฝีมือ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ในขณะที่ทางลำพูนยังไม่เคยโปรโมตท่านอย่างเป็นกิจจะลักษณะ 
จึงแทบจะไม่มีใครล่วงรู้ความจริงเลยว่า ครูบาศรีวิชัยเป็นชาวลำพูน เกิดลำพูน ตายลำพูน เป็นชาวบ้านปาง ตำบลศรีวิชัย อำเภอลี้ แม้แต่ชาวลำพูนเอง เวลาต้องการรำลึกถึงครูบาศรีวิชัย บางคนยังมักไปกราบท่านที่อนุสาวรีย์ทางขึ้นพระธาตุดอยสุเทพด้วยซ้ำ 

พูดง่ายๆ ก็คือ ชาวลำพูนส่วนใหญ่เองก็ไม่ทราบว่าครูบาศรีวิชัยเป็นคนลำพูน
ปราชญ์ชาวบ้านจึงเปิดไฟเขียวให้แก่ไอเดียกระฉูดของผู้ว่าฯ ว่าเห็นสมควรสร้างรูปปั้นครูบาศรีวิชัยดักไว้ที่ปากทางเข้าเมืองลำพูน อย่างน้อยที่สุดเพื่อประกาศแก่ผู้ผ่านทางว่า ณ บัดนี้คุณกำลังจะก้าวเข้าสู่เขตเมืองลำพูน อันเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของครูบาศรีวิชัยแล้ว


ในฐานะที่สัมผัสลำพูนมานานกว่า 10 ปี ก็ให้รู้สึกเห็นใจชาวลำพูนอยู่หรอก ที่ปัจจุบันเป็นเมืองเล็กๆ เงียบสงบ มักถูกมองข้ามหัวหรือถูกขโมยซีนจากเพื่อนบ้านที่มีขนาดใหญ่กว่าอยู่เสมอ ไม่ว่าซ้าย-ขวา คือทั้งเชียงใหม่-ลำปาง 
ความเจ็บปวดนี้ฝังแน่นนับแต่การเรียกร้องของชุมชนที่อยากมีมหาวิทยาลัยลำพูนเป็นของตัวเองก็ถูกคุมกำเนิดมานานเกือบสองทศวรรษ รัฐอ้างว่าไม่มีความจำเป็น อ้าปากขอมหาวิทยาลัยประจำจังหวัดทีไรก็จะถูกสวนกลับเมื่อนั้นว่า "คนฝาง คนฮอดอยู่ไกลจากเชียงใหม่ยิ่งกว่าลำพูน ทำไมไม่เห็นเขาเดือดร้อน คนลำพูนสามารถขับรถไปกินข้าวเที่ยงที่เชียงใหม่โดยใช้เวลาแค่ 25 นาที
ถือว่านี่เป็นคำปฏิเสธพล่อยๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงชาวบ้านที่อาศัยอยู่อำเภอรอบนอก เช่น บ้านโฮ่ง ทุ่งหัวช้าง ลี้ แม่ทา ว่าพวกเขาต้องเสียเงินค่าเช่าหอพักให้ลูกหลานเรียนหนังสือในเชียงใหม่เทอมละเท่าไหร่ เพราะค่ารถไป-กลับนั้นไม่คุ้มกับค่าขายลำไยที่ได้มา

บางครั้ง ส.ส. ของรัฐบาลบางสมัยถึงกับพูดในสภาว่า "ใจจริงผมอยากให้ยุบจังหวัดลำพูนลงเป็นอำเภอหนึ่งของเชียงใหม่ด้วยซ้ำ" ช่างกล้าพูดนะ ไม่ทราบว่าผ่านการเป็น ส.ส. มาได้อย่างไร ไม่เคยมีกุนซือกระซิบบอกสักคำเลยหรือว่า ในอดีตนั้น "ลำพูน" คืออาณาจักรหริภุญไชยอันรุ่งเรือง ถือว่าเป็นแม่ของทุกเมืองในล้านนา แม้จะมีวัฒนธรรมบางอย่างละม้ายกับเชียงใหม่หรือภาพรวมของล้านนาอยู่บ้าง แต่ก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว ข้อสำคัญชาวลำพูนมีความต้องการจะเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน มีศักดิ์และมีสิทธิ์จัดการปกครองดูแลตนเองไม่ต่างไปจากความใฝ่ฝันของชาวเชียงใหม่แต่อย่างใดเลย

ความน้อยเนื้อต่ำใจที่มักถูกนำไปเปรียบเทียบกับเชียงใหม่ ว่าด้อย ว่าเล็ก ว่าไม่สำคัญ ว่าไม่จำเป็น อยู่เนืองๆ บ่อยครั้งเข้า กลายเป็นบาดแผลที่กดทับรอวันปะทุ 
สิ่งหนึ่งที่พอจะทำได้ก็คือ การลุกขึ้นมาทวงสิทธิประกาศให้คนทั้งโลกรู้ว่า "ครูบาศรีวิชัย" คือชาวลำพูน แล้วครูบาศรีวิชัยมาเกี่ยวข้องอะไรกับความขัดแย้งกับปมในใจระหว่าง "ลำพูน-เชียงใหม่"?



"ตราบน้ำปิงไม่ไหลคืนเชียงใหม่ฉันใด
ตัวเราจักไม่ไปเหยียบเชียงใหม่ฉันนั้น"

ก่อนมรณภาพ ครูบาศรีวิชัยได้ลั่นวาจาศักดิ์สิทธิ์ไว้ว่า "ตราบน้ำปิงไม่ไหลคืนเชียงใหม่ฉันใด ตัวเราจักไม่ไปเหยียบเชียงใหม่ฉันนั้น"
อะไรคือมูลเหตุแห่งวลีตัดเป็นตัดตาย ผลักไสให้ช่วงชีวิตแห่งปัจฉิมวัยของครูบาตัดใจละทิ้งเชียงใหม่ แล้วหวนกลับมาเยียวยาจิตใจที่ลำพูนแผ่นดินมาตุภูมิจนสิ้นลม 
ทั้งๆ ที่ช่วงมัชฌิมวัยนั้น ครูบาได้ทุ่มเทชีวิตให้แก่การพระศาสนาในเมืองเชียงใหม่ชนิดเอาตัวเข้าแลก ผลงานชิ้นเอกอุที่ฝากไว้คือคัมภีร์นับร้อยผูกที่จารไว้บนใบลานสมัยเป็นเจ้าอาวาสวัดพระสิงห์อยู่นานถึง 13 ปี โดยเฉพาะการตัดถนนขึ้นสู่พระธาตุดอยสุเทพนั่นแทบไม่ต้องพูดถึง

ก็เพราะเหตุการณ์หลังนี้เอง ขณะที่ครูบากำลังรวบรวมกำลังพลสร้างทางด้วยความเหนื่อยยากขึ้นสู่ดอยสุเทพนั้น มหาเถรสมาคมและทางการได้หาเรื่องมาจับกุมครูบาให้ต้องอธิกรณ์ กล่าวหาว่าผิดวินัยหลายกระทง ทั้งวินัยสงฆ์ คือเรี่ยไรเงินจากชาวบ้าน ผิดทั้ง พ.ร.บ.บุกรุกป่าสงวน และบุกรุกโบราณสถานโดยไม่ขออนุญาตจากกรมศิลปากร 
แทนที่เจ้านายฝ่ายเหนือรวมทั้งคหบดีเชื้อสายจีนชาวเชียงใหม่ที่เคยกอดคอร่วมงานด้วยศรัทธาเปี่ยมท้นมานานกว่าครึ่งปี จักช่วยยืดอกเป็นพยานจำเลยปกป้องครูบา คนเหล่านั้นกลับหายแซบหายสอย เหลียวซ้ายแลขวาก็เห็นแต่เพียงชาวเขาชาวดอยตาดำๆ คือกะเหรี่ยงกับลัวะเท่านั้น ที่ไม่ทอดทิ้งครูบาไปไหน 
พูดให้ง่ายก็คือ หากคนที่มีสถานะสูงส่งในสังคมเชียงใหม่จะช่วยออกมารับหน้าบ้าง ยืนกรานกับคนมีอำนาจ ว่าเจตนาของการสร้างทางขึ้นสู่ยอดเขานั้นเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ แม้อาจต้องตัดไม้ทำลายป่าไปบ้าง ก็อาจจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา เนื่องจากครูบาพูดไปก็ไร้น้ำหนัก เพราะรัฐบาลสยามจ้องจะเล่นงานอยู่แล้ว แต่ทุกคนกลับหนีเอาตัวรอด ปล่อยให้ครูบาถูกจับกุมตัวไปสอบสวนอย่างโดดเดี่ยว

ครั้นวาระสุดท้ายช่วงที่ครูบาใกล้วายชนม์ ชาวเชียงใหม่กลับแห่กันมาเยี่ยมขณะที่ท่านอาพาธ ณ วัดจามเทวี ลำพูน ซ้ำต่างอาสาเสนอขอแย่งชิงตัวท่านไปรักษาที่เชียงใหม่ ซึ่งมีโรงพยาบาลทันสมัยกว่าการรักษาตามมีตามเกิดที่ลำพูน 
ครูบาศรีวิชัยกลับปฏิเสธด้วยประโยคดังกล่าวนั่น 
เชื่อว่าลูกหลานชาวเชียงใหม่ในปัจจุบันแทบไม่มีใครรับรู้ถึงความสะเทือนใจอันใหญ่หลวงของครูบา และนี่อาจเป็นเหตุผลหลักของคนลำพูน ว่าทำไมต้องยอมปล่อยให้มีการสร้างอนุสาวรีย์สูง 21 เมตรหน้าตักกว้าง 18 เมตร ที่ปากทางเข้าเมืองลำพูนขนาดใหญ่มหึมาเช่นนี้ ทั้งๆ ที่ขัดแย้งกับนิสัยรักสงบสันโดษของคนลำพูน

หรือพวกเขากำลังสนองรับปณิธาน ด้วยการพาท่านครูบาศรีวิชัยกลับบ้านเกิด


และอยากเชิญชวนให้ชาวเชียงใหม่มากราบสักการะท่านที่เมืองลำพูนบ้าง

วันที่ 11 มิถุนายนศกนี้ เป็นวันครบรอบชาตกาลของครูบาศรีวิชัย ทางจังหวัดลำพูนเตรียมแผนที่จะเชิญนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาเป็นประธานทำพิธีบรรจุกล่องหัวใจใส่ให้ครูบา หวังว่าวันนั้น นายกฯ ปูผู้เกิดและโตที่สันกำแพง เชียงใหม่ แต่มีบ้านอยู่ที่อำเภอบ้านธิ ลำพูน อาจช่วยทำหน้าที่ "กาวใจ" เชื่อมสมานรอยร้าวให้แก่ชาว "ลำพูน-เชียงใหม่"

ผ่านอนุสาวรีย์ที่มีปมปัญหาท้องถิ่นแฝงเร้น หาใช่การมาชื่นชมขนาดรูปทรงที่ใหญ่โตที่สุดในโลกอันเป็นจุดขายเพียงเปลือกนอก



.