http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-05-29

สรกล: เกียร์ปรองดอง, 111

.

เกียร์ปรองดอง
โดย สรกล อดุลยานนท์  คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่12
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เวลา 21:00:00 น.


"ระยะทาง" กำลังกลายเป็นปัญหาของ "ทักษิณ ชินวัตร" 
ความห่างจากข้อมูลทำให้เขาตัดสินใจหลายเรื่องผิดพลาด

เรื่องแรก คือ การขยายอาณาเขตไปสู่การเมืองท้องถิ่นอย่างเปิดเผย 
ไม่ว่าจะเป็นสนามองค์การบริหารส่วนจังหวัด และเทศบาล 
"ทักษิณ" ให้พรรคเพื่อไทยสนับสนุนผู้สมัครอย่างเปิดเผย เลือกข้างเลือกขั้วอย่างชัดเจน โดยลืมไปว่าเป็นการแยกมิตร สร้างศัตรูโดยไม่จำเป็น
เพราะผู้สมัครหลายคนที่ไม่ได้สังกัดพรรคเพื่อไทย คือ "คนเสื้อแดง" ที่สนับสนุน "ทักษิณ" และพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ผ่านมา

แต่พอ "ทักษิณ" ที่ควรจะวางตัวเป็นกลางกลับเลือกข้าง
"ใจ" ของคนนั้นที่เคยให้กับ "ทักษิณ" ก็ต้องแปรเปลี่ยนไป 
ปรากฏการณ์นี้นอกจากแสดงให้เห็นว่าวิธีคิดของ "ทักษิณ" ยังเหมือนเดิม คือ พยายามกุมอำนาจให้มากที่สุด 
ยังสะท้อนให้เห็นว่า "ทักษิณ" ห่างไกลจากข้อมูลมาก 
ข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ย่อมนำมาสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด


เรื่องที่สอง การปราศรัยผ่านวิดีโอลิงก์ของ "ทักษิณ" ที่ราชประสงค์ ในคืนวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่พยายามกล่อม "คนเสื้อแดง" ให้ยอมรับการปรองดอง 
การเปลี่ยนเกียร์สู่โหมดการปรองดองของ "ทักษิณ" นั้น ใครๆ ก็รู้ 
และหลายฝ่ายก็ไม่ได้คัดค้าน 
แต่ไม่นึกว่าเขาจะเลือกเวลาและสถานที่ "ปล่อยของ" ผิดพลาด 
เพราะแยกราชประสงค์สำหรับ "คนเสื้อแดง" นั้นมีตำนาน 
ทั้งความแค้น ความสูญเสียจากการต่อสู้


ในขณะที่ก่อนวันที่ 19 พฤษภาคม เกิดกรณี "อากง" เสียชีวิต และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งตัดสินตัดสิทธิความเป็น ส.ส.ของ "จตุพร พรหมพันธุ์" 
อุณหภูมิอารมณ์ของ "คนเสื้อแดง" ที่แยกราชประสงค์ จึงไม่ใช่ความรู้สึกอยากปรองดอง หรือฉลองในชัยชนะ 
แต่เป็นอารมณ์ที่ยังคงคับแค้นอยู่ 
เมื่อ "ทักษิณ" ใช้เวทีปราศรัยที่แยกราชประสงค์เปลี่ยนเกียร์อารมณ์สู่การปรองดอง 
ปฏิกิริยาทั้งจากหน้าเวทีและความเห็นของคนเสื้อแดงบางกลุ่มหลังจากนั้นจึงชัดเจนอย่างยิ่งว่าไม่พอใจ "ทักษิณ"



นี่คือ อีกปรากฏการณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า "ทักษิณ" นั้นเริ่มห่างไกลจากข้อมูลความเป็นจริง 
เกือบ 5 ปีที่ต้องอยู่ต่างแดนทำให้เขามีปัญหาเรื่องการตัดสินใจ 
เขาเลือกเวลาและสถานที่สำหรับ "มิตร" ผิดพลาดอย่างยิ่ง 
และจะเจ็บปวดยิ่งกว่านี้ ถ้า "ทักษิณ" ทายใจฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามของเขาผิดพลาด

การเปลี่ยนเกียร์ของเขาจึงอาจไม่ใช่แค่ลดความเร็วของรถ 
แต่อาจหมายถึงการเปลี่ยนจากการเดินหน้าเป็น "เกียร์ถอยหลัง"
...ลงคลอง



++

111
โดย สรกล อดุลยานนท์  คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่12
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เวลา 21:00:00 น.


ดูเหมือนว่าการพ้นโทษจองจำทางการเมืองของพลพรรคบ้านเลขที่ 111 จะส่งผลสะเทือนภายในพรรคเพื่อไทยมากกว่านอกพรรค
ต้องยอมรับว่าอดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้ง 111 คนนั้นคือ "ตัวจริง" ทางการเมืองและเป็นคนที่ทำให้พรรคไทยรักไทยประสบความสำเร็จทางการเมือง 
ผลงานในครั้งนั้นเป็นผลบุญให้พรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทยนำมาหากินจนประสบชัยชนะในการเลือกตั้ง 2 ครั้งหลัง
ส่วนหนึ่งของผลงานมาจากฝีมือของสมาชิกหมายเลข 1 ชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร 
แต่อีกส่วนหนึ่งมาจากฝีมือการบริหารของคนในกลุ่ม 111

ดังนั้น การหลุดพ้นจากบ่วงกรรมทางการเมืองที่ไม่เป็นธรรมครั้งนี้น่าจะส่งผลดีต่อพรรคเพื่อไทย เพราะจะได้บุคลากรที่มีคุณภาพมาเสริมทัพ
ซึ่งเป็นห้วงเวลาประจวบเหมาะที่รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" กำลังประสบปัญหาเรื่องการบริหารงาน 
"บุญเก่า" ที่เคยกินมาตั้งแต่ครั้งก่อน เริ่มหดหายไปเรื่อยๆ 

นโยบายต่างๆ เมื่อแปรไปสู่การปฏิบัติกลับประสบความล้มเหลว หรือไม่ได้ฮือฮาเหมือนในอดีตสมัยพรรคไทยรักไทย 
การทำงานให้ประสบความสำเร็จนั้นเพียงแค่คิดดี-คิดเก่งนั้นไม่เพียงพอ  
ต้องอาศัยบุคลากรที่มีความสามารถด้วย
ต้องยอมรับว่าวันนี้รัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลชุดนี้ "มือไม่ถึง" 
การได้ "มือเก่า" จากกลุ่ม 111 มาเสริมทัพจึงน่าจะเป็นเรื่องดีที่ถูกจังหวะเวลาอย่างยิ่ง

แต่ในทางการเมือง เรื่องที่ดูเหมือนง่ายในเชิงบริหาร แต่กลับยากยิ่งในทางการเมือง 
แม้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยในวันนี้จะได้รับการขนานนามว่าเป็น "แถวที่ 3" 
พรรคไทยรักไทย คือ แถวที่ 1
พรรคพลังประชาชน คือ แถวที่ 2 
เมื่อ 2 พรรคถูกยุบ กรรมการบริหารบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง 111+109 คน รวมเป็น 220 คน


"แถวที่ 3" อย่างพรรคเพื่อไทย จึงเต็มไปด้วย ส.ส.รุ่นใหม่หรือ ส.ส.ที่มีศักยภาพทางการเมืองต่ำกว่าแถวที่ 1 และ 2 
นั่นคือ ภาพลักษณ์ที่คนทั่วไปรู้สึก 
แต่ในความเป็นจริง ส.ส.กลุ่มนี้ไม่ใช่ "ละอ่อน" ทางการเมือง 
เขาผ่านเหตุการณ์การต่อสู้ทางการเมืองที่เข้มข้นในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา  
"ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ" ในยุคพรรคไทยรักไทย คือ คนปราศรัยคนแรกๆ ช่วงบ่าย 
แต่วันนี้เขาเป็นแม่เหล็กของพรรคเพื่อไทยที่ปราศรัยคนสุดท้ายก่อนถึงคิว "ยิ่งลักษณ์" ในเวทีหาเสียง 

หลายคนในพรรคเพื่อไทยวันนี้จึงไม่ใช่ "ละอ่อน" ทางการเมือง 
วันนี้ "ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์" จึงต้องเผชิญปัญหาในเชิงการบริหารครั้งใหญ่ 
หากนำคนบ้านเลขที่ 111 เข้ามาเป็น "รัฐมนตรี"
จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมือง

จะทำอย่างไรที่จะทำให้คน "แถวที่ 3" ยังมี "ความหวัง"
นี่คือ ศิลปะการบริหารทางการเมืองที่ 2 พี่น้อง "ชินวัตร" ต้องตัดสินใจ



.