http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-05-01

เขมรแดง (2) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.
อ่าน - เขมรแดง (1) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2012/04/n-rdkm.html

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *


เขมรแดง (2)
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1654 หน้า 30


เมื่อช่วงที่ชาวกัมพูชาลี้ภัยเขมรแดงเข้ามาเมืองไทยนั้น ภารโรงในที่ทำงานของผมคนหนึ่งซึ่งเคยอาสาไปรบในลาวมาหลายปี บอกผมว่าเขาไม่กลัวเวียดนามเลย เคยรบกันมาหลายครั้งแล้ว ทั้งระยะห่างและประชิดตัว หากเขาเปิดรับอาสาสมัครอีก เขาก็ยินดีลาออกกลับไปเป็นทหาร

แต่ให้ไปรบกับเขมร เขาไม่เอา ผมถามว่าทำไม เขาบอกว่าเพราะมันโหดผิดมนุษย์ ช่วงนั้นสื่อในเมืองไทยเล่าจากปากคำของเขมรอพยพว่า เขมรแดงนั้นฆ่าคนตายแล้ว มักผ่าท้องควักเอาตับไปกินสดๆ

ผู้ร่วมงานกับ พคท. ท่านหนึ่ง จะถูกส่งตัวไปรักษาความป่วยไข้ในประเทศจีน จึงต้องเดินทางผ่านกัมพูชาและเวียดนาม ไปติดอยู่ที่พนมเป็ญเสียหกเดือน ในที่สุด พคท. ต้องรับกลับประเทศไทย เพราะความสัมพันธ์ระหว่างเขมรแดงและเวียดนามเสื่อมทรามลงจนไม่อาจส่งต่อเข้าเวียดนามได้ 
แม้เป็น 2521 ซึ่งพนมเปญเริ่มฟื้นตัวแล้ว แต่พนมเปญที่เธอได้เห็นก็เงียบเหงา และได้พบเห็นความโหดเหี้ยมของเขมรแดงที่ทำกับประชาชนของตนเองหลายอย่าง 
เธอจึงสัญญากับตนเองว่า จะไม่มีวันกลับไปเหยียบกัมพูชาอีกเลย 


นี่คือมโนภาพของคนไทยจำนวนไม่น้อยที่มีต่อเขมรแดง ไม่ว่าจะรับมโนภาพนั้นจากสื่อ หรือจากประสบการณ์ส่วนตัว ร้ายไปกว่านั้น เพราะขาดคำอธิบายใดๆ เขมรแดงกลายเป็นตัวแทนของธรรมชาติคนเขมรไปโดยปริยาย
แต่ดังที่ผมได้เล่าเรื่องเขมรแดงไว้ในตอนที่แล้ว ความโหดเหี้ยมที่คนเขมรกระทำต่อกันในช่วงนั้น มีปัจจัยภายนอกกำกับควบคุมอยู่ นับตั้งแต่ตัวหัวหน้าลงมาถึงชาวบ้านเขมรธรรมดา ซึ่งต่างขาดความมั่นคงในชีวิตเสียจนถูกครอบงำด้วยความกลัวตลอดทุกนาที

คนอ่อนแอนั้นโหดร้ายกว่าคนเข้มแข็งมาก ความเมตตานั้นมาจากความกล้าหาญครับ ไม่ได้มาจากความขลาดกลัว 
ความโหดเหี้ยมของเขมรแดงจึงไม่ใช่เนื้อแท้ของคนเขมร อย่างเดียวกับการเผาคนทั้งเป็นกลางสนามหลวงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็มาจากปัจจัยภายนอก ไม่ใช่เนื้อแท้ของคนไทย 

คนในแต่ละวัฒนธรรมจะมีธรรมชาติที่เป็นเนื้อแท้ภายในต่างกัน จึงทำให้มีพฤติกรรมต่างกัน ใช่หรือไม่ ผมไม่ทราบ เพราะความรู้ของมนุษย์เราในเวลานี้ยังก้าวไปไม่ถึงที่จะอธิบายเช่นนี้ได้ และด้วยเหตุดังนั้นเราจึงต้องอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ในแต่ละวัฒนธรรมจากปัจจัยภายนอก 
ดังนั้น ความเป็นไทย, ความเป็นเขมร, ความเป็นอเมริกัน หรือความเป็นจีน จึงไม่ได้เป็นคุณสมบัติทางชีววิทยา (หรือถึงเป็นเราก็ไม่มีความรู้จะอธิบายได้) แต่เป็นคุณสมบัติทางวัฒนธรรม หรือปัจจัยภายนอกต่างๆ 

... วัฒนธรรมเปลี่ยน ความเป็นอะไรต่อมิอะไรก็เปลี่ยน
ก่อนจะเลื่อนเปื้อนไปสู่สิ่งที่ไม่ได้ตั้งใจจะเขียน ก็ขอกลับมาสู่ เรื่องเขมรแดง และความไม่มั่นคงทางอำนาจและความกลัว 



ผมคิดว่าเราใช้เรื่องนี้อธิบายการใช้ความรุนแรงของผู้นำไทยได้เหมือนกัน เมื่อไรก็ตามที่ชนชั้นนำไทยขาดความมั่นคงในอำนาจ เกิดความหวาดผวาว่าตัวจะไม่สามารถรักษาอำนาจที่มีอยู่ หรือที่เพิ่งแย่งเขามาได้ ก็มักจะหันไปใช้ความรุนแรงโหดเหี้ยมเป็นเครื่องมือ 

ระบอบปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จึงไม่มีพื้นที่ให้ใช้วิธีอื่น ก็มีส่วนอย่างมากนะครับในการที่จะเลือกใช้วิธีรุนแรงในการรักษาอำนาจและผลประโยชน์ ถึงมีการเลือกตั้งเป็นครั้งคราว แต่ระบอบเลือกตั้งไม่มีความมั่นคงพอที่ใครจะลงทุนระยะยาวกับระบอบนี้ได้ 
ดังนั้น ผมจะเปรียบเทียบการยึดอำนาจ หรือการรัฐประหารครั้งต่างๆ ในประเทศไทย เพื่อดูว่าหลังจากยึดอำนาจได้แล้ว ผู้นำใหม่ใช้วิธีอย่างไรในการจัดการกับศัตรูหรือคนที่คิดว่าเป็นศัตรูของตน


ผมขอเริ่มกับการรัฐประหาร 2490 แม้ไม่ใช่การรัฐประหารครั้งแรกก็ตาม เพราะจะย้อนกลับไปดูการรัฐประหารครั้งก่อนหน้าภายหลัง 
ในขณะนั้น กองทัพบกซึ่งเป็นผู้นำการรัฐประหาร ไม่ได้เป็นผู้ถืออำนาจดิบแต่ผู้เดียว กองทัพเรือยังไม่ได้ตกอยู่ภายใต้การนำเด็ดขาดของกองทัพบก ยิ่งกว่านั้นนายทหารเรือบางคนยังมีท่าทีฝักใฝ่อยู่กับรัฐบาลซึ่งกองทัพบกต้องการจะล้มล้าง 
ที่น่ากลัวกว่านั้นคือกองกำลังของเสรีไทย ซึ่งได้รับความช่วยเหลือด้านอาวุธยุทธภัณฑ์ทันสมัยจากสหรัฐในระหว่างสงคราม ซ้ำยังมีการจัดตั้งประชาชนขึ้นจำนวนมากในภาคอีสาน แม้ว่าผู้นำของเสรีไทยได้ประกาศสลายตัวเมื่อสิ้นสงคราม แต่ไม่มีใครรู้แน่ว่าได้คืนอาวุธทั้งหมดแก่ทางการหรือยัง และการจัดตั้งสลายไปด้วยหรือยังเก็บไว้เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองในเรื่องอื่นได้

แม้ได้รับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดจากฝ่ายกษัตริย์นิยม และเครือข่ายสถาบัน เช่น ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่ในช่วงนั้นก็ไม่มีใครแน่ใจได้ว่า ความชอบธรรมทางการเมืองที่ได้รับจากสถาบันพระมหากษัตริย์จะปกป้องการรัฐประหารซ้อนได้เพียงใด
ความไม่มั่นคงอันนำไปสู่ความหวาดระแวง ทำให้คณะรัฐประหารใช้การเข่นฆ่าบุคคลที่คิดว่าเป็นศัตรูของตนอย่างเหี้ยมโหด แม้แต่ทำเนียบท่าช้างอันเป็นที่อยู่ของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ก็ถูกกราดยิงด้วยปืนกล เพื่อข่มขู่หรือหมายเอาชีวิตไม่ทราบได้ นักการเมือง, นักหนังสือพิมพ์, ข้าราชการที่ไม่น่าไว้วางใจ หรือแม้แต่ผู้นำชาวมลายูมุสลิม ถูกตำรวจชั้น "อัศวิน" สังหารอย่างเหี้ยมโหดหลายราย

ในภายหลังความโหดเหี้ยมนี้ถูกยกให้เป็นการกระทำของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ แต่ผู้เดียว แต่ที่จริงแล้วก็ด้วยความรู้เห็นของคณะรัฐประหารฝ่ายทหาร, จอมพล ป.พิบูลสงคราม, พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งอาสามาเป็นรัฐบาลชั่วคราวให้แก่คณะรัฐประหาร, และแน่นอน ฝ่ายกษัตริย์นิยมด้วย เพราะเป็นการกระทำที่อุกอาจกลางเมืองอย่างแทบไม่ต้องปิดบังอะไรเลย โดยไม่มีใครคิดไปห้ามปรามแต่อย่างใด

กว่าคณะรัฐประหารจะเกิดความมั่นคงในอำนาจอย่างแท้จริง ก็เมื่อได้เอาชนะกองทัพเรืออย่างเด็ดขาดในเหตุการณ์ที่เรียกว่า "กบฏแมนฮัตตัน" ไปแล้ว ความหวาดระแวงกลับมามีระหว่างผู้นำด้วยกันเองหนักขึ้นเรื่อยๆ แต่เนื่องจากกำลังมีพอๆ กันจึงไม่อาจใช้วิธีฆ่าทิ้งในการขจัดปรปักษ์ได้



เปรียบเทียบการรัฐประหาร 2490 กับการรัฐประหารของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใน พ.ศ.2500 จะเห็นความแตกต่างในด้านการนองเลือด สฤษดิ์ประสบความสำเร็จในการทำลายปรปักษ์ในฐานะ "องค์กร" ลง ตำรวจที่ไม่ชอบสฤษดิ์คงมีเยอะแยะ แต่ตำรวจในฐานะกองกำลังติดอาวุธหรือกรมตำรวจ ถูกทำให้หมดพลังที่จะลุกขึ้นมาต่อต้านได้
ด้วยเหตุดังนั้นสฤษดิ์จึงขจัดปรปักษ์ด้วยวิธีนองเลือดน้อยกว่า อีกทั้งยังสามารถเลือกบุคคลได้ ส่วนหนึ่งส่งออกไปต่างประเทศ อีกส่วนหนึ่งซึ่งมากกว่าเอาเก็บไว้ในเรือนจำ

แต่ 14 ตุลาคม ไม่ใช่อย่างนั้น ระบอบถนอม-ประภาสเผชิญการท้าทายที่หนักขึ้นมาตั้งแต่ก่อนทำรัฐประหารตนเองแล้ว ในกองทัพ ความไม่พอใจคุกรุ่น เพราะการสืบทอดตำแหน่งดูท่าจะไม่เป็นไปตามความเข้าใจร่วมกันมาก่อน การสนับสนุนจากสถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่ายอ่อนลง บางส่วนอาจตั้งตนเป็นปรปักษ์ไปเลย ในสภาพที่ความมั่นคงหายไปนี้ กลับมีการเคลื่อนไหวของนักศึกษา เป็นปัจจัยใหม่ที่ไม่รู้จะต่อรองหรือจัดการอย่างไร 
คำสั่งให้ปราบปรามนักศึกษาอย่างเฉียบขาดกลับเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่ต้องการล้มล้างระบอบปกครอง ออกมาต่อต้านได้อย่างเปิดเผยยิ่งขึ้น เหลือแต่ทหารในสังกัดไม่กี่หน่วยที่สังหารนักศึกษาประชาชนกลางเมือง ในขณะที่ส่วนใหญ่ของกองทัพวางเฉย  
ระบอบถนอม-ประภาสจึงต้องปิดฉากตัวเองอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง


6ตุลาคม ยิ่งเต็มไปด้วยความไม่มั่นคงของอำนาจต่างๆ ในสังคม ชัยชนะของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน สร้างความตระหนกแก่ชนชั้นนำตามจารีตอย่างยิ่ง สถาบันกษัตริย์ของสองประเทศอินโดจีนที่เหลืออยู่ถูกทำลายลงอย่างฉับพลัน เงินต่างประเทศที่เคยไหลเข้าจากสงครามเวียดนามยุติลงทันที เกิดอำนาจใหม่ๆ ในสังคมหลายอย่าง ซึ่งต่อสู้แย่งชิงความได้เปรียบกันอย่างถึงพริกถึงขิง โดยไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะสิ้นสุดลงที่ชัยชนะของกลุ่มใด ภาวะช็อกจากราคาน้ำมันทำให้การลงทุนชะงักลง "ประชาธิปไตย" สิ้นมนต์ขลังแก่คนชั้นกลางในเมือง 
ในภาวะปั่นป่วนเช่นนี้ ฝ่ายที่ตัดสินใจใช้ความรุนแรงเผด็จอำนาจคงมีมากกว่าหนึ่ง แม้ในแต่ละกลุ่มเองก็มีเป้าหมายในการเผด็จอำนาจต่างกัน ไม่ว่ากลุ่มใดจะทำได้สำเร็จ ก็รู้อยู่เต็มอกว่ายังมีกลุ่มอื่นที่มีกำลังและมีแนวทางเป้าหมายต่างจากกลุ่มของตน 
6 ตุลาคม และหลังจากนั้น จึงเป็นอีกช่วงหนึ่งที่การเมืองไทยใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมืออย่างป่าเถื่อน และ "อนาจาร" ที่สุด


คณะ รสช. ต้องรู้อยู่แล้วว่า การยึดอำนาจโดยไม่มีฐานความชอบธรรมทาง "ประชาธิปไตย" เอาเสียเลย เป็นไปไม่ได้อีกแล้ว เพราะการเติบโตของคนชั้นกลางในเมือง จึงไม่ได้ตั้งคนของตนขึ้นเป็นนายกฯ แต่ รสช. ก็ได้ปูฐานที่อิงกับแบบปฏิบัติในระบอบประชาธิปไตยไว้ด้วยรัฐธรรมนูญ และการกวาดต้อนเอาพรรคการเมืองมาสนับสนุนได้สำเร็จ หากปราศจากอุปสรรค ก็จะครองอำนาจไปได้นานเกินอิ่ม 
การจัดให้กองทัพอยู่ภายใต้การ "คุม" ของรุ่น ดูเหมือนจะทำให้ รสช. วางใจได้ว่าจะไม่มีหอกข้างแคร่ในกองทัพ

แต่สิ่งที่ รสช. ขาดก็คือความชอบธรรมทางการเมืองที่คนชั้นกลางในเมืองยอมรับได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นเองหรือพรรคการเมืองที่สนับสนุนตน แม้กระนั้นคนชั้นกลางก็หาได้มีพลังพอจะล้ม รสช. ได้ ยกเว้นแต่สามารถต่อต้านด้วยเกมยาว 
เกมยาวน่ากลัวแก่ รสช. ก็เพราะ พันธมิตรสำคัญของ รสช. อาจหวั่นไหว เพราะเขาไม่พร้อมจะเอาทุกอย่างมาเสี่ยงกับ รสช. ได้ ในขณะที่ในกองทัพเอง ความไม่พอใจของ "รุ่น" อื่นๆ ซึ่งคุกรุ่นอยู่แล้ว ก็อาจบ่อนทำลายการ "คุม" ของรุ่นตนเองไปได้  
และด้วยเหตุดังนั้น เมื่อการประท้วงเริ่มกลายเป็นเกมยาว รสช. จึงเลือกการปราบปรามอย่างเหี้ยมโหดในพฤษภามหาโหด 2535 ด้วยความหวังว่าจะตัดเกมให้ยุติลงเสียก่อน และผลก็เป็นอย่างที่ รสช. หวั่น  
นั่นคือพันธมิตรหวั่นไหวและพยายามปลีกตัว ในขณะที่บางส่วนของกองทัพเลือกจะอยู่เฉย



รัฐประหารครั้งแรกของไทยคือเมื่อนายกรัฐมนตรีพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประกาศระงับใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราและปิดสภา ในช่วงนั้นจนถึงกบฏบวรเดช พวกเจ้าคิดว่าตัวสามารถแย่งอำนาจกลับคืนมาจากคณะราษฎรได้ด้วยคมอาวุธ มีความคิดที่จะใช้ความรุนแรงถึงกับวางแผนจะประหารผู้นำคณะราษฎรด้วยการตัดหัวเสียบประจาน

นอกจากความไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งทำให้ตอบสนองการท้าทายด้วยวิธีอื่นได้ยากแล้ว ผมยังสงสัยว่า การใช้เครื่องมือความรุนแรงเพื่อรักษาความมั่นคงของอำนาจ อาจจะแฝงอยู่ในวัฒนธรรมของชาวอุษาคเนย์ด้วย
เราจึงพบการใช้ความเหี้ยมโหดรุนแรงปราบปรามปรปักษ์อยู่เสมอในบรรดาผู้นำของภูมิภาคนี้   
แต่ข้อนี้ยังเกินสติปัญญาของผมจะชี้ให้ชัดลงไปได้



.