_________________________________________________________________________________________________
โดย อาทิตย์ พุธิพงษ์
ใน www.prachatai.com/journal/2012/05/40672 . . Fri, 2012-05-25 17:03
"กลับบ้านเรานะ ตอนนี้เค้าปล่อยตัวลื้อแล้ว"
คำพูดเรียบง่ายของป้าอุ๊ที่เอ่ยกับร่างไร้วิญญาณของสามีในวันที่อากงเสียชีวิต แม้เป็นประโยคธรรมดาแต่กลับแฝงด้วยเนื้อหาที่เสียดแทงหัวใจใครหลายคน ที่แม้ไม่ได้ยินกับหู เพียงแค่รับรู้ ก็อดที่จะรู้สึกเจ็บปวดร่วมด้วยไม่ได้
นับแต่วันที่ชายชราได้จากโลกนี้ไปด้วยอาการของโรคมะเร็งตับ การเสียชีวิตของปุถุชนคนหนึ่งคนกลับกลายเป็นข่าวครึกโครมที่สื่อมวลชนทุกค่ายต่างร่วมกันนำเสนอข่าว กระแสการเสียชีวิตของอากงก่อตัวรุนแรงและส่งผลสะเทือนต่อโลกรอบตัวราวกับพายุหมุน
ที่จริง ย้อนกลับไปตั้งแต่วันแรกที่อากงถูกจับกุมในข้อหาข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยหมายจับศาลอาญารัชดาที่ 1659/2553 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2553 นับจนถึงบัดนี้เป็นเวลาเกือบสองปีเต็ม บทบาทของอากงในฐานะผู้สูงอายุธรรมดาที่ไม่มีใครรู้จักได้พลิกผันไปจากเดิมเป็นอันมาก
กระทู้ข้อเขียนและวาทกรรมต่างๆ ได้ฉายภาพชายชราผู้นี้ในมุมมองที่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็น "ลุงเสื้อแดง" (http://tinyurl.com/7vslyp5) ‘แดงฮาร์ดคอร์ล้มเจ้า’ (http://tinyurl.com/7yvvnpx) ‘เหยื่อมาตรา 112’ (http://tinyurl.com/6slsry7) ‘เหยื่อขบวนการล้มเจ้า’ (http://tinyurl.com/6t47q2c) ‘นักโทษหมิ่นเบื้องสูง’ (http://tinyurl.com/bthb3hu) ‘ผู้ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นเบื้องสูง’ (http://tinyurl.com/7jyzhbd) ฯลฯ
หากเมื่อนำมาพินิจพิเคราะห์ ความหลากหลายในข้อเขียนเหล่านี้ยังคงซ่อนความคลุมเครืออยู่ว่า เป็นความเข้าใจในสถานภาพของ ‘อากง’ เฉกเช่นที่บุคคลภายนอกทั่วไปต้องการ-อยากจะเห็น หรือเป็นความเข้าใจลึกลงไปในแก่นแท้ของสิ่งที่อากงกำลังเป็นจริงๆ?
ในฐานะบุคคลภายนอกผู้ไม่มีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวข้องแต่ประการใดในคดี ผู้เขียนคงมิบังอาจก้าวล่วงไปตัดสินได้ว่าแท้จริงแล้วอากงมีความจงรักภักดีต่อสถาบันหรือไม่ อากงเป็นคนส่ง sms ทั้งสี่ข้อความจริงหรือเปล่า อากงต้องการรณรงค์ให้มีการยกเลิกแก้ไขมาตรา 112 หรือไม่ รวมถึงไม่บังอาจไปป้ายสีแนวคิดทางการเมืองของอากงว่าเป็นพันธมิตร สลิ่มหลากสี หรือเสื้อแดง
อย่างไรก็ตาม ในฐานะประชาชนคนหนึ่งซึ่งเฝ้าสังเกตการณ์จากระยะไกล ผู้เขียนขอตั้งประเด็นเริ่มต้นง่ายๆ จากสิ่งที่ชายผู้ถือสัญชาติไทยเท่ากับคนอื่นๆ คนหนึ่ง ซึ่งได้ถูกกระทำจากทั้งกระบวนการยุติธรรมและสังคมไทยมาตลอดสองปีที่ผ่านมา ว่ากระบวนการดังกล่าวทั้งหมดนั้นมีความชอบธรรมแล้วหรือไม่ เพียงใด และเมื่อไหร่จะถึงเวลาที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพร้อมจะคืนความยุติธรรมให้แก่ชายชราผู้นี้และครอบครัวเสียที
-----------
1) สิทธิมนุษยชนของอากง
ย้อนกลับไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ซึ่งเป็นวันที่อากงถูกจับกุมตามหมายจับ กระบวนการยุติธรรมของไทยได้กระทำต่ออากงในสามลักษณะหลักๆ กล่าวคือ ลำดับแรก ในขั้นตอนของการเข้าจับกุม ลำดับที่สอง ขั้นตอนระหว่างการพิจารณาคดี และลำดับที่สาม ขั้นตอนการคุมขังหลังจากศาลมีคำพิพากษาและตัดสินจำคุก
ในระยะแรก ก่อนถูกออกหมายจับ อากงมีสถานะเป็นบุคคลธรรมดาทั่วไปคนหนึ่งเฉกเช่นเราทุกคน โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พ.ศ. 2550 ไทยได้ให้การรับรองสิทธิของบุคคลเป็นการทั่วไปไว้ในหมวดที่ 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย โดยมีเนื้อหาครอบคลุมถึงสิทธิและเสรีภาพในด้านต่างๆ เช่น สิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล สิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพ เป็นต้น
ในขั้นตอนการเข้าจับกุม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 32 และ 33 ได้บัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การจับและคุมขังบุคคล จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ และนอกจากนี้ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในเคหสถาน การเข้าไปในเคหสถานโดยปราศจากความยินยอมของผู้ครอบครอง หรือ การตรวจค้นเคหสถานหรือในที่รโหฐาน จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
ดังนั้น เมื่ออากงถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าตรวจค้นและจับกุมตามหมายจับที่ 1659/2553 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2553 อากงย่อมครอบครองสิทธิเหล่านี้ตามรัฐธรรมนูญอยู่ในวันที่ถูกจับกุม และเป็นสิทธิมนุษยชนที่อย่างน้อยที่สุดชายผู้นี้ในฐานะมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่งพึงต้องได้รับความคุ้มครอง
ที่สำคัญ สิทธิเหล่านี้ไม่ใช่เฉพาะสำหรับอากงคนเดียวเท่านั้น แต่เป็นสิทธิที่บุคคลทุกคนผู้ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาพึงมีและพึงได้
ในระยะต่อมา ทันทีถูกนำตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 39 และ 40 ได้บัญญัติรับรองสิทธิในกระบวนการยุติธรรมไว้ว่า บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้
อีกประการหนึ่ง เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการหรือทุพพลภาพ ย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอย่างเหมาะสม ตลอดจนในคดีอาญา ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีที่ถูกต้อง รวดเร็วและเป็นธรรม ได้รับโอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเพียงพอ การได้รับความช่วยเหลือในทางคดีจากทนายความ และการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในคดีนี้ทนายความได้มีการยื่นขอประกันตัวทั้งหมด 8 ครั้ง โดยเป็นการยื่นประกันตัวในศาลชั้นต้น 6 ครั้ง และในศาลอุทธรณ์ 2 ครั้ง นอกจากนี้ทนายความยังได้มีการยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ประกันตัวไปยังศาลฎีกา กระทั่งศาลฎีกามีคำสั่งยืนตามศาลอุทธรณ์ด้วย
ดังนี้ หากนับแต่วันฟ้องคดีในวันที่ 18 มกราคม 2555 กระทั่งถึงวันที่ขอถอนอุทธรณ์ คือวันที่ 3 เมษายน 2555 รวมศาลชั้นต้นยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลยจำนวน 4 ครั้ง ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องจำนวน 3 ครั้ง และศาลฎีกายกคำร้องจำนวน 1 ครั้ง โดยทุกครั้งที่ยื่นขอประกันตัว ทางทนายความได้มีการวางหลักทรัพย์เกินกว่าจำนวนที่กฎหมายกำหนด รวมถึงยังมีนักวิชาการซึ่งเป็นอาจารย์ 7 คน ใช้ตำแหน่งค้ำประกันอีกด้วย [1]
อย่างไรก็ดี ผลสุดท้าย ปรากฏว่าในคดีนี้อากงแม้จะเป็นผู้สูงอายุและมีอาการป่วยด้วยโรคมะเร็ง อีกทั้งมีเอกสารใบรับรองแพทย์ยืนยัน แต่กลับไม่ได้รับการประกันตัว โดยคำสั่งศาลฎีกาลงวันที่ 13 มีนาคม 2555 ระบุว่า “พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี และเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแล้ว เห็นว่า เป็นเรื่องร้ายแรง ประกอบกับศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยถึง 20 ปี หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ส่วนที่จำเลยอ้างความป่วยเจ็บนั้นเห็นว่า จำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลโดยหน่วยงานของรัฐอยู่แล้ว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวชอบแล้ว ยกคำร้อง” [2]
นอกจากนี้ รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมยังได้มีคำชี้แจงออกมาภายหลังด้วยว่า เหตุผลที่อากงไม่ได้รับการประกันตัวนั้น เนื่องจาก “ตามเอกสารใบรับรองแพทย์ที่ยื่นประกอบคำร้องขอประกันตัวนั้น ศาลเห็นว่าอาการเจ็บป่วยยังไม่ได้ปรากฏมาก น่าเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี และอาการป่วยยังสามารถรักษาระหว่างจองจำได้ นอกจากนี้มะเร็งมีหลายระยะ ระยะแรกๆ อาจรักษาหาย ควรมีการระบุความรุนแรงของอาการ” [3]
กรณีนี้หากพิเคราะห์ตามสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยตามที่ได้รับการบัญญัติรองรับไว้ในรัฐธรรมนูญ ประกอบกับมาตรา 107, 108 และ 108/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว จะเห็นว่ามาตรา 107 กำหนดว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยมีหลักเกณฑ์พิจารณาคำร้องปล่อยชั่วคราวตามมาตรา 108 ได้แก่ ความหนักเบาแห่งข้อหา พยานหลักฐาน พฤติการณ์ต่างๆ แห่งคดี ความน่าเชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกัน ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่
อนึ่ง ประเด็นที่น่าสังเกตเป็นอย่างยิ่งสำหรับกรณีนี้คือ บทบัญญัติในมาตรา 108/1 ซึ่งกำหนดว่า การสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งตามมาตรานี้ เช่น มีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี
ในกรณีนี้ พิจารณาคำสั่งของศาลที่ศาลยกคำร้องขออนุญาตปล่อยชั่วคราว จะเห็นว่าศาลอ้างเหตุตาม (5) ของมาตรา 108 ประกอบกับ (1) ของมาตรา 108/1 ที่ว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี ผนวกกับ ความหนักเบาแห่งข้อหา ถือเป็นเรื่องร้ายแรงตาม (1) ของมาตรา 108
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่จะต้องตั้งคำถามมีอยู่ว่า เมื่อพิจารณาคำสั่งยกคำร้องขออนุญาตปล่อยชั่วคราวของศาลดังกล่าวแล้ว แม้เหตุผลที่ว่าความผิดอาญาลักษณะนี้เป็นความผิดร้ายแรงดูคล้ายจะมีน้ำหนักอยู่บ้าง (ซึ่งโดยส่วนตัวผู้เขียนอาจมีความเห็นแย้ง แต่จะยังไม่ขอกล่าว ณ ที่นี้)
แต่ในส่วนของเหตุผลที่ว่า ‘เกรงจำเลยจะหลบหนี’ นั้นเล่า?
หากพิจารณาจากสถานะทางสังคม ฐานะทางการเงิน วัย ตลอดสุขภาพของจำเลยที่กำลังเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง ประกอบกับหลักทรัพย์และบุคคลที่เข้าร่วมค้ำประกันนั้น ยังแสดงให้เห็นว่าจำเลยซึ่งเป็นชายชราอายุ 61 ปี ยังมีพฤติกรรมจะหลบหนีได้อีกหรือ?
หากสรุปเป็นภาษาชาวบ้านให้เข้าใจง่ายก็คือ จำเลยอายุ 61 ปี ฐานะยากจน ป่วยเป็นมะเร็ง มีใบรับรองแพทย์ แต่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวออกไปอยู่นอกคุก เพราะเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี? แม้ทนายจำเลยจะขอยื่นประกันตัวครั้งแล้วครั้งเล่า รวมเบ็ดเสร็จแล้วถึงแปดครั้งด้วยกันก็ตาม?
ในชั้นนี้ ผู้เขียนจะขอตั้งประเด็นฉงนสงสัยเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของอากงไว้แต่เพียงเท่านี้
กล่าวถึงในระยะที่สาม หลังศาลมีคำพิพากษาตัดสินจำคุก อากงมีสถานะเป็นผู้ป่วยและต้องตกไปอยู่ในความดูแลของรัฐ กรณีนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. มาตรา 51 วางหลักไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ยิ่งไปกว่านั้น พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 มาตรา 30 ยังกำหนดไว้ด้วยว่า เมื่อแพทย์ผู้ควบคุมการอนามัยของผู้ต้องขังยื่นรายงานแสดงความเห็นว่า ผู้ต้องขังคนใดป่วยเจ็บและถ้าคงรักษาพยาบาลอยู่ในเรือนจำจะไม่ทุเลาดีขึ้น อธิบดีจะอนุญาตให้ผู้ต้องขังคนนั้นไปรักษาตัวในสถานที่อื่นใดนอกเรือนจำโดยมีเงื่อนไขอย่างใดแล้วแต่จะเห็นสมควรก็ได้
กรณีนี้ปรากฏคำชี้แจงของแพทย์ในโรงพยาบาลกลางราชทัณฑ์ ซึ่งระบุว่า “อากงเริ่มปวดท้อง ท้องบวมโต เราก็รับไว้ในโรงพยาบาลโดยได้ให้ยาเพื่อรอตรวจในวันถัดไปเหมือนโรงพยาบาลอื่นๆ แต่เพราะคนไข้มาในวันศุกร์ ช่วงนั้นเป็นวันหยุดราชการ เสาร์ อาทิตย์ กระบวนการส่งต่อจึงชะงักไปก่อน อาการอากงตอนนั้นยังดูไม่อยู่ในขั้นรุนแรง... แพทย์วางแผนจะตรวจข้างนอก แต่ต้องส่งในเวลาทำการ” [4]
อย่างไรก็ดีแพทย์ผู้ชันสูตรพลิกศพ ได้ระบุในภายหลังว่า “อากงเป็นมะเร็งตับในระยะลุกลาม” [5]
---------------
2) การย้อนกลับไปตรวจสอบกระบวนการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหา จำเลย และผู้ต้องขัง - การรณรงค์ยกเลิกแก้ไขมาตรา 112 - กับการทวงคืนความยุติธรรมแก่อากงและครอบครัว เป็นสามเรื่องที่ควรกระทำไปพร้อมกัน
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนที่อากงจะเสียชีวิต
หากนำกฎเกณฑ์ทางกฎหมายต่างๆ มาพิเคราะห์อย่างเป็นธรรมแล้ว จะเห็นได้ว่า นอกเหนือไปจากความคลุมเครือและไม่ชัดเจนเกี่ยวกับพยานหลักฐานที่ใช้ในการลงโทษ อันอาจเป็นเหตุให้ยกผลประโยชน์ให้จำเลยได้ ดังที่ได้เคยมีผู้วิเคราะห์ไว้มากมายก่อนหน้านี้ การปฏิบัติต่อจำเลยในคดีนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนที่น่ากังวลอีกหลายประการ
ด้วยเหตุนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่าสิทธิเสรีภาพของอากง นอกจากส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 แล้ว ยังเกี่ยวพันกับเรื่องอื่นๆ อีกมากที่ไม่อาจละเลยได้
นับถึงวันนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับอากงและครอบครัวมากมายเกินกว่าที่จะมุ่งประเด็นไปที่ขอบเขตของมาตรา 112 แต่เพียงเรื่องเดียวเสียแล้ว อากงไม่ใช่เพียงชายผู้กระทำหรือไม่กระทำการส่ง sms เท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่เป็นธรรมในด้านอื่นๆ ด้วย
สำหรับคนเสื้อแดงและผู้ที่เสียใจต่อการเสียชีวิตของอากงทุกท่าน หากจะมองอากงเป็นตัวแทนของผู้ถูกลิดรอนสิทธิโดยกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย การมุ่งเจาะจงไปที่การรณรงค์เพื่อยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 เพียงเรื่องเดียวคงต้องถือว่าน้อยเกินไปมาก
ผู้เขียนอยากเรียกร้องให้ความตายของอากงครั้งนี้ มีความหมายเท่ากับการแสดงความอาลัยต่อปุถุชนคนหนึ่งที่ต้องได้รับผลกระทบจากอย่างร้ายแรงจากผลประโยชน์ทางการเมือง กระบวนการยุติธรรม ความแตกแยก การเห็นแก่พวกพ้อง การใช้อารมณ์ ตรรกะอันบกพร่อง การละเลยต่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ฯลฯ
ซึ่งบรรดาบุคคลที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ยังมีอีกจำนวนมาก รวมถึงนักโทษการเมืองอื่นๆ ด้วย
---------------
3) กระบวนการทวงคืนความยุติธรรมแก่อากงและครอบครัว
ที่สุด ข้อเท็จจริงปรากฏต่อมาว่า เมื่อไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ทนายความในคดีนี้จึงได้ตัดสินใจถอนอุทธรณ์หลังวันที่ 13 มีนาคม 2555 เพื่อให้คดีถึงที่สุด และเตรียมขอพระราชทานอภัยโทษ
ปรากฏว่า หลังจากถอนอุทธรณ์ จำเลยเสียชีวิต
กรณีนี้ พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 5 วางหลักไว้ว่า
“คดีใดที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้บุคคลใดต้องรับโทษอาญาในคดีนั้นแล้ว อาจมีการร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ได้ เมื่อปรากฏว่า มีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีซึ่งถ้าได้นำมาสืบในคดีอันถึงที่สุดนั้น จะแสดงว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นไม่ได้กระทำความผิด”
โดยบุคคลที่มีสิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา 6 ได้แก่ ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาของบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดซึ่งถึงแก่ความตายก่อนที่จะมีการยื่นคำร้อง
นอกจากนี้ พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 ยังวางหลักไว้ในมาตรา 20 ว่า จำเลยที่ถูกดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการ ถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดี และภายหลังปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิด หรือปรากฏตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่าข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด จำเลยนั้นมีสิทธิได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายตามพระราชบัญญัตินี้
ทั้งนี้ การกำหนดค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายให้เป็นไปตามมาตรา 21
ในวันที่อากงยังมีชีวิตอยู่ ก่อนหน้านี้ อากงเตรียมขอพระราชทานอภัยโทษ เพราะไม่อาจอยู่สู้ต่อ เพื่อความยุติธรรมหรืออะไรก็ตามแต่
แต่บัดนี้ อากงได้เสียชีวิตไปแล้ว คนที่ต้องรับภาระเรื่องนี้ก็คือบรรดาคนข้างหลังที่ยังมีชีวิตอยู่ ในวันนี้ป้าอุ๊และหลานๆ ต่างหาก คือผู้ที่ยังต้องแบกรับแรงเสียดทานนั้นต่อไป
หากมีเจตนาบริสุทธิ์ มุ่งกระทำเพื่อต้องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของอากงในฐานะนักโทษคดีอาญาที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจริงๆ การเคลื่อนไหวของนักต่อสู้จะหยุดลงตรงเพียงแค่การเรียกร้องให้ยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 อย่างเดียวคงไม่ได้
ประเด็นที่สำคัญกว่านั้นคือสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมในสังคม กระบวนการยุติธรรมอันโปร่งใส และการใช้อำนาจอย่างเป็นธรรมต่างหาก
หากการณ์ปรากฏว่าอากงไม่ใช่คนส่ง sms จริงๆ กระบวนการของสังคมในอนาคตยังต้องช่วยกันล้างมลทินให้อากง ครอบครัว และญาติพี่น้องด้วย
แน่นอน ถึงที่สุดแล้วบทความนี้ย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงอิทธิพลของมาตรา 112 ได้ ยิ่งไปกว่านั้น การผลักดันเพื่อให้เกิดการยกเลิก/แก้ไขมาตรา 112 ยังจำเป็นต้องดำเนินต่อไปอีกยาวนาน ตราบเท่าที่ความอยุติธรรมที่ได้กระทำต่อผู้ได้รับผลกระทบคนสุดท้ายยังคงดำรงอยู่
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนกลับมามองถึงสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ ของบุคคลในครอบครัวอากงที่ยังคงมีชีวิตอยู่เล่า?
ในการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมใดๆ ก็ตาม จะคำนึงเพียงแค่สิทธิมนุษยชนของอากง เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยตกอยู่ในสถานะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการกระทำนั้นๆ แต่เพียงมุมเดียวคงไม่ได้
ด้านหนึ่งเสียใจกับคนตาย แต่ก็อย่ามองข้ามลมหายใจของผู้ที่ยังมีชีวิต
สิ่งสำคัญกว่านั้นที่นักต่อสู้พึงระวัง...
อย่าหลงลืม – ละเลยสิทธิมนุษยชนของครอบครัวอากงด้วย
อ้างอิง
[1] http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1336571392&grpid=03&catid=03
[2] http://www.flickr.com/photos/78114750@N07/7158608810/
[3] http://prachatai.com/journal/2012/05/40558
[4] http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1337236717&grpid=03&catid=03
[5] อ้างแล้ว
.