http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-05-21

อนุช: (2)วิทยาศาสตร์ สงคราม และอันตรายของสมัยใหม่

.


วิทยาศาสตร์ สงคราม และอันตรายของสมัยใหม่ (2)
โดย อนุช อาภาภิรม  คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1657 หน้า 37


การเกิดขึ้นของสมัยใหม่ นิยมอธิบายจากมุมมองทางการผลิต คือการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่อุบัติขึ้นที่อังกฤษ ซึ่งมีประโยชน์มาก
แต่การอธิบายกำเนิดและพัฒนาการของสมัยใหม่จากจุดของสงครามที่มีการใช้ดินปืนในยุโรป ย่อมช่วยให้เห็นภาพของสมัยใหม่ได้รอบด้านชัดเจนขึ้น 
และก็ช่วยให้เข้าใจขึ้นว่าเหตุใดสมัยใหม่จึงเต็มไปด้วยสงครามที่มีอันตรายมากขึ้นทุกที


ดินปืนกับสมัยกลางตอนปลาย

ดินปืนได้นำมาใช้และพัฒนาไปในช่วงสมัยกลางตอนปลาย (Late Middle Ages 1300-1500) ของยุโรป เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจากระบอบฟิวดัลสู่ยุคสมัยใหม่ 
ในช่วงเวลานี้ เราได้เห็นเหตุการณ์สุดขั้ว 2 ด้าน
ด้านหนึ่ง เป็นด้านการเสื่อมสลายและพิบัติภัย ได้แก่ การเกิดภาวะอดอยากใหญ่ (1315-1317) การระบาดของกาฬโรค (1348-1350) ทำให้ประชากรยุโรปต้องเสียชีวิตระหว่างร้อยละ 30-60 พระราชอำนาจของกษัตริย์ในยุโรปต่างอ่อนแอลง และพยายามรักษาสถานะเดิมด้วยการใช้การสงคราม ซึ่งที่สำคัญ ได้แก่ สงครามร้อยปี (1337-1453) เป็นต้น

ในอีกขั้วหนึ่ง ได้เกิดการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการที่เริ่มต้นในอิตาลี มีนักวิทยาศาสตร์และศิลปินชาวอิตาเลียนที่โดดเด่นจำนวนมาก เช่น ดา วินซี (Leonardo da Vinci 1452-1519) ไมเคิล แอนเจโล (1475-1564) ในเยอรมนี มีนักดาราศาสตร์โดดเด่น ได้แก่ โคเปอนิคัส (1473-1573) ถือว่าเป็นผู้นำการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ในยุโรป มีสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่นอกจากดินปืนก็คือแท่นพิมพ์ที่เคลื่อนที่ได้ ทำให้การหนังสือและการศึกษาเติบโตอย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับการค้า

นอกจากนี้ การเดินเรือก็ยังเจริญรุดหน้า เนื่องจากเหตุปัจจัยหลายประการ ได้แก่ การล่มสลายของจักรวรรดิไบเซนไทม์ที่ถือคาทอลิกและการอุบัติขึ้นของจักรวรรดิออตโตมานที่เป็นอิสลามในปี 1453 ปิดเส้นทางสายไหมระหว่างตะวันตกกับตะวันออก บีบให้ยุโรปต้องออกสำรวจทางทะเลเพื่อหาเส้นทางไปยังตะวันออก ในการปฏิบัติเช่นนี้ ยุโรปได้พบลาภชิ้นใหม่ นั่นคือยุคการค้นพบทวีปอเมริกา 1492 
ยุคแห่งการสำรวจและการค้นพบของนักเดินเรือชาวยุโรป ยากที่จะประสบความสำเร็จอย่างดีเช่นนี้ หากไม่ได้นำปืนเข้าประจำในเรือ และเรือปืนนี้เองได้ช่วยให้ตะวันตกพิชิตดินแดนไปทั่วโลก


ดินปืนกับสงครามในยุโรป

การสู้รบในยุโรปก่อนหน้ามีดินปืนนั้น ได้ใช้อาวุธที่สำคัญ ได้แก่ ดาบ โล่ หอก สำหรับหน่วยทหารราบ มีหน่วยจู่โจม ได้แก่ รถศึก ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็นทหารม้าที่เคลื่อนที่ได้เร็วมาก และมีธนูกับหน้าไม้หรือเกาทัณฑ์ที่กล่าวกันว่านำมาจากจีน สำหรับกำลังยิงในระยะไกล
ในสมัยกลางนั้น พวกนักรบหรืออัศวินขี่ม้าสวมเกราะหนัก สามารถป้องกันธนูได้ แต่เคลื่อนไหวไม่คล่องตัวนัก กล่าวกันว่าอาวุธธนูยาวอาจต่อกรกับพวกอัศวินสวมเกราะได้ แต่กระสุนปืนย่อมนำมาซึ่งจุดจบของยุคอัศวิน 

สำหรับอาวุธหนักในระยะไกล ได้แก่ เครื่องยิงก้อนหินหรือก้อนโลหะหรือหม้อไฟ เพื่อทำลายเมือง ทำลายกำแพงและประตูเมือง ซึ่งเมื่อเปลี่ยนเป็นปืนใหญ่ที่มีความแม่นยำกว่าแล้ว ก็จะเห็นได้ชัดว่าดินปืนได้เปลี่ยนโฉมหน้าของสงครามในยุโรปไปอย่างไร

การพัฒนาดินปืนและอาวุธปืนนั้นเกิดจากความก้าวหน้าในวิทยาการ 2 ด้านด้วยกัน ได้แก่ วิชาเคมีกับความรู้ทางการหล่อโลหะ  
อาวุธดินปืนนั้นเริ่มต้นใช้ในฐานะเป็นส่วนเสริมของอาวุธดั้งเดิม เช่น ใช้เป็นหม้อไฟระเบิด แต่เมื่อมีการพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ จนสามารถสร้างปืนใหญ่และปืนเล็กที่ส่งกระสุนด้วยดินปืนเอง ก็ได้เข้ามาเป็นอาวุธสำคัญมากขึ้น จนกระทั่งแทนที่อาวุธแบบเดิมทั้งหมด 
กลายเป็นสงครามสมัยใหม่อย่างที่เรารู้จัก



สงครามร้อยปี 
กับความเสื่อมถอยของระบบฟิวดัล

การเสื่อมถอยของระบบฟิวดัลเกิดจากเหตุปัจจัยหลายประการ ได้แก่ การขยายตัวของการพาณิชย์และการธนาคาร การเกิดภัยพิบัติกาฬโรคระบาด การขยายตัวของการศึกษา การลุกขึ้นสู้ของชาวนา และการสงครามที่สิ้นเปลือง สิ่งทั้งหมดนี้ได้เกิดขึ้นในช่วงสงครามร้อยปี (Hundred Years" War 1337-1453) ระหว่างกษัตริย์อังกฤษและฝรั่งเศสที่เกี่ยวดองกัน

ข้อพิพาทพื้นฐานในสงครามร้อยปี ได้แก่ ที่ดินผืนใหญ่ทั้งที่อยู่ทางตอนใต้และตอนเหนือของกรุงปารีส เป็นที่ดินเหมาะแก่การเกษตร ผลิตไวน์ ขนแกะ เป็นต้น โดยเฉพาะไวน์สำคัญในการประกอบอาหาร กรณีพิพาทนี้เกิดจากความเป็นมาก่อนหน้านั้นเป็นเวลานาน กล่าวอย่างสั้นก็คือ กษัตริย์อังกฤษต้องการรักษาที่ดินผืนใหญ่นี้ไว้ หรือกระทั่งอ้างสิทธิ์ในการปกครองฝรั่งเศสทั้งประเทศ 
ขณะที่กษัตริย์ฝรั่งเศสต้องการขับไล่อิทธิพลอังกฤษออกไปจากแผ่นดิน และถ้าได้คุมผืนน้ำที่ช่องแคบอังกฤษได้ก็ยิ่งดี 
สมรภูมิของสงครามร้อยปีนี้ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศฝรั่งเศส แต่การรบพุ่งลามไปยังประเทศสเปนและอิตาลีด้วย

อังกฤษที่มีรัฐบาลกลางที่เข้มแข็งมีชัยในตอนต้น แต่ในตอนหลังฝรั่งเศสที่มีประชากรมากกว่า และรบในบ้าน ไม่ต้องข้ามน้ำข้ามทะเลเหมือนอังกฤษซึ่งทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก ก็เป็นฝ่ายชนะในที่สุด 
สงครามร้อยปียุติลงเมื่อฝรั่งเศสสามารถขับไล่อังกฤษออกจากภาคพื้นดินไปเกือบทั้งหมด 
อาวุธดินปืนได้ค่อยๆ เข้ามามีบทบาทในสงคราม จนถึงช่วงปลายของสงครามจึงได้แสดงบทบาทชี้ขาดในการรบที่เมืองคาสติลลอน ในปี 1543 (ดูบทความชื่อ Gunpowder Weapons of the Late Fifteenth Century ใน xenophongroup.com, 2001)



การลุกขึ้นสู้ของชาวนา

ในช่วงสงครามร้อยปีได้เกิดการลุกขึ้นสู้ของชาวนาทั้งในฝรั่งเศสและอังกฤษ การลุกขึ้นสู้ของชาวนาในฝรั่งเศสเกิดขึ้นอย่างเป็นไปเองในฤดูร้อนปี 1358 หลังจากกษัตริย์ฝรั่งเศสพ่ายแพ้ในการรบและถูกจับตัวได้ ชาวนาที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการถูกปล้นของทหารรับจ้างอังกฤษ รวมทั้งทุพภิกขภัยในปี 1315 มีความไม่พอใจอย่างสูงและรวมตัวกันก่อกบฏขึ้น
แต่กลุ่มชาวนานี้ไม่มีการจัดตั้งที่เหนียวแน่น และถูกกลลวงจนแยกสลายและพ่ายแพ้แก่พวกขุนนางฝรั่งเศสในเวลาอันสั้น แต่ก็สร้างความหวาดผวาแก่พวกผู้ดีฝรั่งเศสและในยุโรปทั่วไป

การลุกขึ้นสู้ของชาวนาอังกฤษ บางทีเรียกว่าการก่อกบฏของ วัต ไทเลอร์ ที่เป็นผู้นำสำคัญคนหนึ่ง เกิดขึ้นในปี 1831 เป็นการลุกขึ้นสู้จากเหตุปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 
1. ประท้วงการเก็บภาษีของพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 เพื่อนำไปใช้จ่ายในสงคราม 
2. การขาดแคลนแรงงานเนื่องจากมีผู้ล้มตายจากการระบาดของกาฬโรคเป็นจำนวนมาก ชาวนาต้องการแรงงานไว้เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว ไม่ใช่ถูกเกณฑ์ไปทำงานให้แก่พวกขุนนาง นอกจากนี้ ยังเกิดจากกรณีพิพาทระหว่างชาวนากับขุนนางคนหนึ่งเกิดความไม่พอใจแพร่ไปทั่ว

การลุกขึ้นสู้นี้ปะทุขึ้นในกรุงลอนดอนและเมืองอื่น ผลของการประท้วงมีส่วนให้เลิกระบบทาสติดที่ดิน (Serfdom) ในอังกฤษ ซึ่งเป็นฐานรากของระบบฟิวดัล



การก่อตัวของธนาคารข้ามชาติ

นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 ยุโรปได้รุ่งเรืองทางการค้าขึ้น เรียกกันว่าเป็นการปฏิวัติทางพาณิชยกรรม (Commercial Revolution) อิตาลีที่เป็นเหมือนประตูเชื่อมระหว่างตะวันตกกับตะวันออกและตะวันออกกลางได้รุ่งเรืองขึ้นก่อน
มาร์โก โปโล (1254-1324) พ่อค้าเมืองเวนิสได้เขียนหนังสือการเดินทางไปยังประเทศจีนที่เจริญกว่าราชอาณาจักรใดในยุโรป เมื่อเส้นทางการค้าระหว่างยุโรปกับเอเชียถูกปิด ศูนย์กลางการค้าและการเงินจึงย้ายไปทางตะวันตก ได้แก่ สเปน โปรตุเกส และอังกฤษ

เนื่องจากการเฟื่องฟูทางการค้าจึงได้เกิดธนาคารขึ้นรองรับ ตั้งอยู่ตามเมืองท่า อย่างเช่น เวนิส และ เจนัว และที่สำคัญคือเมืองฟลอเรนซ์ที่เป็นท้องพระคลังของพระสันตะปาปาได้พัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการเงินในขณะนั้น โดยในปี 1338 มีธนาคารกว่า 80 แห่งที่เมืองนี้ปฏิบัติการครอบงำไปทั่วยุโรป  
ธนาคารเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการแลกเปลี่ยนเงินตราของรัฐต่างๆ ซึ่งช่วยให้การค้าเป็นไปอย่างสะดวกยิ่งขึ้น พร้อมกันนั้นก็ยังรับฝากเงินที่เริ่มมีมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่พวกพ่อค้าและพวกขุนนาง และให้กู้เงินหรือให้สินเชื่อเพื่อการลงทุนทางการค้า ไปจนถึงให้แก่กษัตริย์เพื่อการทำสงคราม รายได้จากค่าธรรมเนียม และดอกเบี้ยช่วยทำให้นายธนาคารมีความมั่งคั่งและมีอำนาจทางการบริหารมากขึ้นทั้งทางอาณาจักรและศาสนจักร

ในอิตาลีครั้งนั้น ถือว่าว่ามี 3 ตระกูลใหญ่ที่ทำธุรกิจทางด้านการธนาคารได้แก่ตระกูลบาร์ดี ตระกูลเพอรุซซี และเมดิซี โดยธนาคารของ 2 ตระกูลแรกได้ตั้งสาขาที่กรุงลอนดอนในทศวรรษ 1290 เมื่อถึงทศวรรษ 1320 ก็ได้ขึ้นเป็นธนาคารหลักของยุโรป 

อย่างไรก็ตาม ธนาคารเหล่านี้ก็เผชิญกับความเสี่ยง โดยให้กู้แก่กษัตริย์ต่างๆ เพื่อการทำสงคราม การทำสงครามในครั้งนั้นต้องใช้ทหารรับจ้าง ใช้ปืนใหญ่สนามซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายทางทหารสูง กษัตริย์เหล่านี้จึงต้องกู้ยืมเงินโดยสัญญาว่าจะให้ดอกเบี้ยในอัตราสูงร้อยละ 45 ถึง 60 ต่อปี ซึ่งบ่อยครั้งที่ผิดชำระหนี้  
ความล้มเหลวของธนาคารส่วนมากในสมัยกลางตอนปลายเกิดจากการที่กษัตริย์ในยุโรปปฏิเสธการชำระหนี้ 
ธนาคารของตระกูลบาร์ดีและเพอรุซซีต้องเสียหายหนักเมื่อกษัตริย์แห่งอังกฤษผิดชำระหนี้ที่กู้มาเพื่อทำสงครามร้อยปี 
(ดูบทความชื่อ Banking in the Middle Ages ใน ucalgary.ca, 1997)



การปฏิวัติทางทหารกับรัฐสมัยใหม่

ไมเคิล โรเบิร์ตส์ (Michael Roberts 1908-1990) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ ได้เสนอแนวคิดว่า การปฏิวัติทางทหาร (Military Revolution) สร้างยุคสมัยใหม่ขึ้น

การเปลี่ยนแปลงในการสงครามในยุโรป ที่ใช้ปืนยาวเป็นอาวุธประจำตัวทหาร ในช่วง 1560-1660 ซึ่งเริ่มต้นที่เนเธอร์แลนด์และสวีเดน ทำให้ต้องมีการฝึกทหารอย่างจริงจัง จนเกิดกองทหารประจำการไม่ใช่ทหารรับจ้างเหมือนเดิม 
ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการบริหารและการจัดการทางการเงิน กำลังคนและอุปกรณ์ต่างๆ 
ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการสร้างสถาบันการเงินและการจัดตั้งองค์การบริหารรัฐแบบใหม่ขึ้น

อีกนัยหนึ่งก็คือ ศิลปะการทำสงครามแบบใหม่ทำให้การสร้างรัฐสมัยใหม่เป็นไปได้ มีนักวิชาการรุ่นหลังทั้งที่สนับสนุนและไม่เห็นด้วยหลายคน กล่าวว่าเป็นการมองอย่างผิวเผินและกล่าวเกินจริง 
อย่างไรก็ตาม ดูเป็นที่ยอมรับกันว่า สงครามในสมัยกลางตอนปลายมีส่วนอย่างสำคัญในการเร่งความเสื่อมถอยของระบบฟิวดัล
มีนายทหารและนักประวัติศาสตร์การทหารชาวอังกฤษคนหนึ่งคือ C.F.C. Fuller (1878-1966) ให้ทัศนะว่า สงครามสมัยใหม่เพื่อการป้องกันพระนครได้เคลื่อนจากการรับผิดชอบของขุนนางชั้นสูงไปสู่สามัญชน 

ดังนั้น การลุกขึ้นสู้ของสามัญชนที่เคยถูกปราบลงไปอย่างง่ายดายนั้น ก็กระทำได้ยากขึ้น และกลายเป็นเรื่องที่คุกคามต่ออำนาจรัฐรุนแรงขึ้นกว่าเดิม

สงครามได้ช่วยสร้างสมัยใหม่ขึ้น แต่ก็เห็นได้ว่าสงครามโดยทั่วไปไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อสามัญชนรากหญ้า แต่อาจจะให้ผลประโยชน์แก่กลุ่มอุตสาหกรรม-การทหาร สถาบันการเงิน และชนชั้นสูงจำนวนหนึ่ง ดังนั้น สมัยใหม่จึงมีอันตรายติดตัวมาตั้งแต่ถือกำเนิดขึ้น



.