http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-05-29

อนุช: (3)วิทยาศาสตร์ สงคราม และอันตรายของสมัยใหม่

.

วิทยาศาสตร์ สงคราม และอันตรายของสมัยใหม่ (3)
โดย อนุช อาภาภิรม  คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1658 หน้า 38


เมื่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษเริ่มขึ้น พวกชนชั้นกลางในยุโรปต่างก็ยิ่งรู้สึกว่ายุคสมัยของตนมาถึงแล้ว วันเวลาที่ชนชั้นตนจะได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ปกครองเต็มที่ได้มาถึงแล้ว ถึงเวลาที่จะต้องกวาดล้างซากเดนของระบบฟิวดัลและสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่เสรีอย่างเต็มที่
จากนี้เราได้เห็นการปฏิวัติอเมริกา (เริ่มต้นปี 1763) เพื่อสลัดให้พ้นจากการปกครองของกษัตริย์อังกฤษ 
และที่ส่งผลสะเทือนในยุโรปมากกว่า ได้แก่ การปฏิวัติฝรั่งเศส (1979-1799) . .ที่ถูกขโมยไปจากสาธารณรัฐไปสู่จักรวรรดิ เกิดสงครามนโปเลียน (1803-1815) ที่ใช้ทหารม้าและปืนเป็นกำลังสำคัญ

ถัดนั้นได้เกิดสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียหรือฝรั่งเศส-เยอรมนี (กรกฎาคม 1870-พฤษภาคม 1871) ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นสงครามสมัยใหม่เต็มตัว รบด้วยการใช้ยุทธศาสตร์แบบใหม่ 
สงครามเหล่านี้ได้นำยุโรปและทั้งโลกมาสู่สมัยใหม่อย่างไม่ย้อนกลับ



การปฏิวัติฝรั่งเศสที่ถูกขโมย

การปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นการปฏิวัติเพื่อปลดปล่อยชนชั้นกลางซึ่งเป็นฐานันดร (Estate) ที่สาม รองจากนักบวชและขุนนาง มีลักษณะเป็นแบบฝรั่งเศสโดยเฉพาะ นั่นคือ ชี้นำด้วยความคิดอุดมการณ์ของฝรั่งเศส ปฏิบัติโดยมวลชนชาวฝรั่งเศสที่กว้างขวาง และในรูปแบบการผลิตและวิกฤติเศรษฐกิจของฝรั่งเศส  
ผู้นำทางความคิดอุดมการณ์ของการปฏิวัติมีที่สำคัญ ได้แก่ รุสโซ (Jean Jacques Rousseau 1712-1778) ผลงานเขียนของเขา ได้แก่ "เอมิล" และ "สัญญาประชาคม" เป็นเหมือนจิตวิญญาณของการปฏิวัติ

ใน "เอมิล" เขาได้ชี้ว่า คนป่าเถื่อนมีความเหนือกว่าคนอารยะและรัฐแบบนี้ เขาย้ำว่าสังคมดังกล่าวกลวงโบ๋และผิวเผิน มนุษย์ควรกลับไปสู่ภาวะธรรมชาติ  
ในหนังสือ "สัญญาประชาคม" รุสโซได้ชี้ว่าผู้ปกครองทั้งหลายเป็นเพียงตัวแทนหรืออาณัติของประชาชน เขาได้สร้างวาทกรรมและถ้อยคำที่ต่อมากล่าวเป็นคำขวัญและคำใช้กันอย่างแพร่หลาย เป็นต้นว่า "เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ" "เทวสิทธิในการก่อกบฏ" และคำว่า "พลเมือง" ซึ่งจะมีสิทธิในตัวเองตามธรรมชาติ ไม่ใช่มีสิทธิแต่ขุนนางชนชั้นสูง และนิยมใช้เป็นคำในการปราศรัย คล้ายกับคำว่า "พ่อแม่พี่น้องทั้งหลาย" ในไทย 

นักคิดนักเขียนใหญ่อีกคนหนึ่ง ได้แก่ วอลแตร์ (1694-1778) เด่นในเรื่องการเสียดสี เขาได้เขียนเสียดสีวงการศาสนาที่เป็นฐานันดรสำคัญของฝรั่งเศส กระตุ้นให้มีการปฏิรูปสังคมโดยเร็ว 

นอกจากนี้ ยังมีนักคิดนักเขียนอีกกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ กลุ่มสารานุกรม มี ดิเดโร (Denis Diderot 1713-1784) และอาลองแบรต์ (Jean Le Rond d"Alembert เป็นนักคณิตศาสตร์และนักปรัชญา 1717-1783) เป็นต้น ซึ่งมีแนวคิดแบบวัตถุนิยมและเห็นใจผู้ด้อยโอกาส ประมวลความรู้และแนวคิดที่ปฏิวัติมารวมไว้ในหนังสือสารานุกรมของเขา
นักเขียนที่กล่าวถึงเหล่านี้ได้เตรียมรูปการจิตสำนึกการปฏิวัติให้แก่ชาวฝรั่งเศส แต่ก็ไม่มีใครได้เห็นการปฏิวัติที่พวกเขาจุดประกายไฟทางความคิดให้  

สำหรับเหตุปัจจัยพื้นฐานมาจากการเก็บเกี่ยวไม่ได้ผลยาวนานถึง 10 ปี เนื่องจากภาวะความแห้งแล้ง เมื่อถึงฤดูร้อนปี 1788 ความทุกข์ยากเดือดร้อนและความอดอยากก็แผ่ไปทั่วประเทศ ชาวนาที่ยากจนต้องกินขนมปังที่ทำจากหญ้าแห้งและเปลือกข้าวที่ชื้น ราคาขนมปังก็แพงลิ่ว
ชาวนาที่หิวโหยได้รวมตัวเป็นกลุ่มย่อยทั่วประเทศ เข้ายึดและปล้นฉางข้าว โบสถ์ ยึดสถานที่ราชการและทำลายเอกสารทางการ 
จนถึงที่สุดได้เข้าเผาปราสาทและทำลายคฤหาสน์ของคนรวยอย่างไม่เลือกหน้า

เรามักนึกถึงการปฏิวัติฝรั่งเศสจากการที่ประชาชนหรือพลเมืองปารีสบุกเข้าทำลายคุกบาสตีลในวันที่ 14 กรกฎาคม 1789 
แต่สมรภูมิสำคัญของการปฏิวัติอีกแห่งหนึ่งคือการลุกขึ้นปฏิวัติของชาวนาทั่วแผ่นดิน ที่เกิดขึ้นก่อนและหลังวันที่ 14 กรกฎาคม 
พลเมืองปารีสได้จัดตั้งสภาแห่งชาติฝรั่งเศสขึ้นและในวันที่ 26 สิงหาคม 1789 ได้ออก "คำประกาศสิทธิมนุษย์และสิทธิพลเมือง" ขึ้น มีข้อความทั้งหมด 17 ข้อ

ข้อแรกกล่าวว่า "มนุษย์เกิดมาเสรีและมีสิทธิเท่าเทียมกัน" 
และข้อสุดท้ายซึ่งเป็นหัวใจของระบบทุน ได้แก่ กรรมสิทธิส่วนบุคคล ระบุว่า "บุคคลใดจะไม่ถูกยึดทรัพย์โดยพลการ เว้นแต่มีความจำเป็นทางสังคม หรือโดยคำสั่งโดยชอบตามกฎหมาย หรือโดยได้รับการชดเชยอย่างเหมาะสมแล้ว ทั้งนี้ เพราะทรัพย์สินเป็นสิทธิอันศักดิ์สิทธิ์และล่วงละเมิดมิได้"

การปฏิวัติฝรั่งเศสเกิดความรุนแรงแผ่กว้างออกไปทุกทีถึงขั้นประหารชีวิตพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 การยึดที่ดินและทรัพย์สินทางศาสนาของชนชั้นสูง (ดูหนังสือของ Ernest Belfort Bax ชื่อ Sketches of the French Revolution, เผยแพร่ปี 1890 ใน Marxist.org
ในท่ามกลางความปั่นป่วนเป็นเวลานานในช่วงที่เรียกว่ายุคแห่งความสยดสยอง ฝ่ายนิยมกษัตริย์ได้ค่อยๆ ฟื้นกำลังขึ้น ชนชั้นกลางได้สะสมความมั่งคั่ง และต้องการความสงบมั่นคง เมื่อได้เห็นขบวนการฝ่ายซ้ายที่เคลื่อนไหวคึกคัก ประกอบกับการที่ต้องเผชิญศึกจากพันธมิตรหลายชาติในยุโรปที่เข้ามาโจมตี จึงเริ่มเห็นว่าควรกลับสู่ภาวะความสงบมั่นคงได้แล้ว 
ดังนั้น เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 1799 นโปเลียนนายทหารเอกได้ก่อรัฐประหารนำประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐของฝรั่งเศสเข้าสู่ระบอบเผด็จการแบบจักรวรรดิและตั้งตนเป็นจักรพรรดิ 
จากนี้ดูเหมือนว่าการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยก็ถูกขัดขวางด้วยการรัฐประหารทั้งในประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน


สงครามนโปเลียน (1803-1815)
กับธนาคารกลางฝรั่งเศส

เมื่อพระเจ้านโปเลียนขึ้นครองอำนาจเบ็ดเสร็จ ก็ได้สร้างผลงานสำคัญไว้ 3 ประการ ได้แก่ การปฏิรูปประเทศ, การทำสงครามกับหลายประเทศในยุโรปทั้งเพื่อป้องกันตนเองและขยายผลการปฏิวัติฝรั่งเศส และการขยายอาณานิคม โดยเฉพาะไปยังอียิปต์ที่เป็นประตูสู่ตะวันออกกลางและตะวันออก และสู่ทวีปแอฟริกา 
ในด้านการปฏิรูปประเทศนั้นกระทำในเกือบทุกด้าน เพื่อทำให้ฝรั่งเศสเข้มแข็ง ทันสมัยและสวยงาม และเพื่อสามัคคีกลุ่มพวกทั้งหลาย ได้แก่ การดึงฝ่ายนักบวชและ กลุ่มนิยมกษัตริย์เข้ามา และที่สำคัญอาศัยการสนับสนุนจากกลุ่มนายทุนฝรั่งเศส ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ด้วยกัน ได้แก่ ทุนที่ดิน ทุนอุตสาหกรรม และทุนการเงิน  
ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้านโปเลียนกับกลุ่มทุนการเงินนั้นน่าจับตาเป็นพิเศษ โดยนโปเลียนเป็นผู้จัดตั้งธนาคารกลางฝรั่งเศสขึ้นในเดือนมกราคม 1800 เพียงไม่กี่เดือนหลังการรัฐประหาร

ธนาคารแห่งฝรั่งเศสนี้ เป็นการประสานระหว่างรัฐบาลกับทุนการเงินฝรั่งเศส เพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเงินทุนได้ในอัตราดอกเบี้ยไม่สูงมาก  
พระเจ้านโปเลียนเองก็ได้ซื้อหุ้นในธนาคารนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม เกิดความขัดแย้งกันเนื่องจากพระเจ้านโปเลียนต้องการเงินเพื่อทำสงครามมากเกินไป เกิดการแย่งการนำ จนกลุ่มนายธนาคารคิดเปลี่ยนระบอบนโปเลียน (ดูบทความของ Andrew Gavin Marshall ชื่อ Global Power and Global Government : Evolution and Revolution of the Central Banking System, ใน globalresearch.ca ก.ค. 2009)

นอกจากนี้ พระเจ้านโปเลียนยังดึงชาวนาโดยเปิดโอกาสในการทำมาหากินและได้รับความยุติธรรมมากขึ้น งานสำคัญเช่นการสร้างประมวลกฎหมายฝรั่งเศส ที่ช่วยให้การบริหารปกครองมีประสิทธิภาพมีและความชอบธรรมมากขึ้น 
ในด้านการทำสงคราม พระเจ้านโปเลียนต้องทำสงครามกับพันธมิตรประเทศในยุโรปหลายครั้ง มีประเทศอังกฤษ ปรัสเซีย และจักรวรรดิรัสเซีย เป็นต้น  
เมื่อเปรียบเทียบกำลังทหารและกำลังทางเศรษฐกิจแล้ว จะเห็นว่าฝ่ายพันธมิตรชาติยุโรปจะเหนือกว่าฝ่ายพันธมิตรของฝรั่งเศส แต่ด้วยความเป็นอัจฉริยะทางการทหารของพระเจ้านโปเลียนทำให้ได้รับชัยชนะหลายครั้ง และเพื่อเป็นการลงโทษรัสเซียที่หันไปค้ากับอังกฤษ นโปเลียนตัดสินใจบุกจักรวรรดิรัสเซียด้วยกำลังทหารถึง 5 แสนนายในปี 1812 รุกตียึดกรุงมอสโกได้ แต่ก็ต้องเสียทหารมาก เหลือที่แข็งแรงพร้อมรบไม่ถึง 3 หมื่นคน 
จนนโปเลียนต้องพบกับวอเตอร์ลูของเขาในปี 1815

สงครามนโปเลียนก้าวสู่ความเป็นสงครามสมัยใหม่มากขึ้นทุกที ใช้กำลังทหารมากอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และค่าใช้จ่ายก็สูงด้วย
ในปี 1803 ฝรั่งเศสขายดินแดนหลุยเซียนาให้แก่สหรัฐ ได้เงิน 15 ล้านดอลลาร์ นำมาใช้ในการสงคราม ขณะที่สหรัฐได้ดินแดนใหญ่ขึ้นเป็นเท่าตัว



สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย 
(ก.ค. 1870-พ.ค. 1871)

หลุยส์-นโปเลียนหลานชายของพระเจ้านโปเลียน โบนาปาร์ต ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐฝรั่งเศสระหว่างปี 1848-1852 ได้ก่อการรัฐประหารซ้ำตามแบบนโปเลียน และได้ขึ้นเป็นจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ระหว่างปี 1852-1870 ได้เข้าทำสงครามกับปรัสเซียหรือเยอรมนีที่ได้พัฒนาอุตสาหกรรมของตนทั้งด้านพลเรือนและด้านการทหารอย่างรวดเร็ว และอยู่ในกระบวนการรวมชาติเยอรมนี 
สงครามครั้งนี้จบลงในเวลาอันสั้น โดยฝรั่งเศสพ่ายแพ้ครั้งสำคัญในการรบที่เมืองเซดาน (กันยายน 1870) พระเจ้านโปเลียนที่ 3 ถูกจับพร้อมกับกองทหารเกือบทั้งหมด พระองค์ถูกปลด และกลายเป็นกษัตริย์ฝรั่งเศสองค์สุดท้าย 
แต่สงครามยังดำเนินต่อจนฝรั่งเศสเสียกรุงปารีสในปี 1871 เป็นการสิ้นสุดของความเป็นใหญ่ของฝรั่งเศส และการก้าวสู่การเป็นมหาอำนาจของจักรวรรดิเยอรมนี

สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียนี้กล่าวได้ว่าเป็นสงครามสมัยใหม่สำคัญครั้งแรกในยุโรป มีการใช้ยุทธศาสตร์การทหารใหม่ การจัดตั้งกองทัพใหม่ และการใช้อาวุธไรเฟิลนับจำนวนล้านกระบอก รวมทั้งปืนต่อสู้อากาศยาน ใช้ยิงบอลลูนสอดแนมของฝรั่งเศส ซึ่งได้พัฒนาเป็นอุตสาหกรรม-การทหารที่ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์กล่าวไว้ว่ามีอิทธิพลครอบงำทางการเมือง

ในด้านยุทธศาสตร์การทหาร ที่สำคัญเป็นผลงานของ คลอเซอวิตซ์ (Carl Clausewitz 1780-1831) นักการทหารสำคัญชาวเยอรมนี 
เขาได้เขียนหนังสือชื่อ "ว่าด้วยสงคราม" แบ่งออกเป็นหลายตอน ได้แก่ ธรรมชาติของสงคราม ทฤษฎีสงคราม ยุทธศาสตร์ทั่วไปและการรบ กำลังทหาร การป้องกัน การโจมตี (เป็นร่าง) การวางแผนสงคราม (เป็นร่าง) ชี้นำการรบ (พิมพ์ในภาษาเยอรมนีครั้งแรกปี 1832 เผยแพร่ในภาษาอังกฤษครั้งแรกปี 1873 เขียนตั้งแต่ปี 1827) 
เขาได้ชี้ว่าสงครามเป็นเรื่องต่อเนื่องจากเศรษฐกิจการเมือง ไม่ใช่เรื่องของเกียรติศักดิ์หรือศักดานุภาพของชนชั้นสูงและนักรบอย่างที่กล่าวอ้างกันในสมัยกลาง 

งานเขียนของเขาอ่านเข้าใจยากใช้แนวคิดแบบวิภาษวิธี และมองสงครามซึ่งก็คือสิ่งทั้งหลายในแบบไม่เชิงเส้น (Nonlinear) และทฤษฎีระบบซับซ้อน มีอิทธิพลทั้งต่อนักยุทธศาสตร์ทางทหาร นักประวัติศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ ไปจนถึงนักคิดทางธุรกิจที่มีการนำแนวคิดเรื่องยุทธศาสตร์ไปใช้อย่างกว้างขวาง 
เช่น แจ๊ก เวลช์ ประธานกรรมการและซีอีโอบริษัทเจเนอรัลอิเล็กทริก กล่าวยกย่องคลอเซอวิตซ์ว่า เขาได้ทำให้เห็นชัดว่า "คนเราไม่ควรลดทอนยุทธศาสตร์จนกลายเป็นสูตรตายตัว... ตรงกันข้ามปัจจัยของมนุษย์สำคัญที่สุด ได้แก่ เรื่องภาวะการนำ ขวัญกำลังใจ และความชาญฉลาดของนายพลที่เก่งที่สุด...พวกเขากำหนดจุดมุ่งหมายให้กว้างที่สุด และเน้นในเรื่องการฉวยโอกาสที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน ยุทธศาสตร์เป็นวิวัฒนาการของความคิดหลักผ่านสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา"

ในด้านการจัดกองทัพนั้นได้มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ตามความก้าวหน้าของอาวุธ จนการพัฒนาองค์กรทางพลเรือนก้าวตามไม่ทัน และจำต้องเดินตาม กล่าวได้ว่ารัฐสมัยใหม่มีการจัดตั้งตามแบบกองทัพ โดยเฉพาะกองทัพปรัสเซียเป็นระบบราชการหรือขุนนางใหม่แทนที่ขุนนางเก่า รัฐในประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่ได้มีการพัฒนาไปมาก มักมีรูปแบบจัดตั้งตามแบบทหารหรืออยู่ในการครอบงำของทหาร

รัฐสมัยใหม่เป็นรัฐที่พร้อมทำสงครามที่ใช้อาวุธร้ายแรงขึ้นทุกที



.