.
ปรองดองจนอะดักอะเดี้ย! การเมืองและการประนีประนอม
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1657 หน้า 35
"ปรองดอง [ปรอง-] ก. ออมชอม, ประนีประนอม, ยอมกัน, ไม่แก่งแย่งกัน, ตกลงกันด้วยความไกล่เกลี่ย, ตกลงกันด้วยไมตรีจิต"
- - - - -
"อะดัก ว. ลำบาก, อึดอัด, ร้อนใจ.
อะดักอะเดี้ย, อะดักอะเดื่อ, อะดักอะแด้ ว. อึดอัดเต็มทน, คับแคบใจเต็มทน, เต็มแย่"
พจนานุกรม
ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525
หลังจากการรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 แม้ทุกอย่างจะดูประสบความสำเร็จอย่างง่ายดาย
กลุ่มอนุรักษนิยม-จารีตนิยมตัดสินใจใช้เครื่องมือเก่าของการเมืองไทยด้วยการผลักดันให้กองทัพให้ออกมายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่รัฐบาลพลเรือนถูกโค่นลงอย่างรวดเร็ว
และก็ดูจะเป็นแบบไทยๆ ที่รัฐประหารที่เกิดขึ้นนั้น ไม่มีการสูญเสียเลือดเนื้อหรือไม่ต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากฝ่ายรัฐบาลในขณะนั้นแต่อย่างใด
ผลของความสำเร็จเช่นนี้อาจจะทำให้บรรดาชนชั้นนำและผู้นำกองทัพรู้สึกว่า พวกเขาไม่จำเป็นต้องกังวลกับปัญหาผลสืบเนื่องทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่แตกต่างจากอดีตที่เมื่อชนชั้นนำและผู้นำทหารตัดสินใจใช้การยึดอำนาจเพื่อโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่พวกเขาไม่ต้องการแล้ว เมื่อนั้นรัฐบาลดังกล่าวก็สิ้นสุดอำนาจลงทันที
เพราะแทบไม่เคยมีประวัติศาสตร์ของการต่อต้านรัฐประหารในการเมืองไทยเลย แต่หากจะมีอยู่บ้างก็เป็นเรื่องภายใน "วงทหาร" ด้วยกันเอง เช่น เมื่อรัฐบาลกึ่งประชาธิปไตยของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มีแรงสนับสนุนพิเศษ พร้อมกับการกุมอำนาจทางทหารบางส่วนไว้ในมือ
จึงทำให้ปฏิบัติการต่อต้านรัฐประหารที่เกิดขึ้นถึง 2 ครั้งประสบความสำเร็จได้
แต่ก็เป็นความสำเร็จบน "เงื่อนไขพิเศษ" ที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดอื่นไม่มี ซึ่งก็ทำให้ไม่สามารถนำมาใช้เป็นข้อพิจารณาในทางการเมืองได้
เพราะในสถานการณ์ปกติที่ปราศจากเงื่อนไขพิเศษดังกล่าวแล้ว รัฐบาลพลเรือนล้วนแต่เผชิญชะตากรรมไม่แตกต่างกันจากความพยายามในการยึดอำนาจของกองทัพ และเมื่อยึดแล้วก็ไม่ได้เกิดอะไรขึ้นจนทำให้เกิดเป็น "บทเรียน" สำหรับชนชั้นนำหรือผู้นำทหารแต่อย่างใด
กล่าวคือ ทุกครั้งเมื่อเกิดการยึดอำนาจขึ้น พวกเขาล้วนแต่ฉลองชัยชนะในการเป็นผู้ครอบครองอำนาจ หรือเป็น "รัฏฐาธิปัตย์ใหม่" อย่างปราศจากการต่อต้าน
จนพวกเขาไม่เคยต้องคิดชั่งใจกับการก่อรัฐประหาร อย่างน้อยก็ไม่เคยมีบทเรียนของความล้มเหลวให้ผู้นำทหารต้องกังวล
นอกจากนี้ พวกเขาไม่เคยต้องกังวลกับการจัดการกับกลุ่มอำนาจเก่า เพราะเป็นที่รับรู้กันว่า รัฐประหารแบบไทยๆ นั้นไม่เคยมีอาการ "เลือดตกยางออก" ให้กลายเป็นปัญหาสำคัญ อาจจะเป็นเพราะการยึดอำนาจในอดีตเป็นเรื่องของกลุ่มทหารด้วยกันเอง เมื่อรัฐประหารสำเร็จแล้ว กลุ่ม "ผู้แพ้" ก็มักจะถูกเนรเทศออกจากประเทศไทยไป
ตัวอย่างคลาสสิคของตัวแบบเช่นนี้ก็คือ การรัฐประหารของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2500 เมื่อโค่นล้มรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม และอำนาจของ "กลุ่มซอยราชครู" ของสายตระกูลชุณหะวัณ ตัวของ จอมพล ป. หลบหนีผ่านกัมพูชาไปลี้ภัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ถูกเนรเทศไปอยู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และ พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ ถูกส่งตัว (เนรเทศ) ไปเป็นทูตไทยประจำประเทศอาร์เจนตินา
ตัวแบบเช่นนี้อาจจะเรียกในอีกมุมหนึ่งว่า "การปรองดอง" ของยุค 2500 ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าในอดีตพวกเขาเคยร่วมหัวจมท้ายกันมาเมื่อครั้งทำรัฐประหาร 2490 ดังนั้น เมื่อความขัดแย้งถึงจุดแตกหัก พวกเขาจึงไม่ใช้วิธีทำลายล้างกันโดยตรง แต่ใช้การเนรเทศเป็นวิธีการหลัก
ซึ่งก็อาจจะเป็นวิธีที่ใช้กันในยุคสมัยดังกล่าวแทนการทำลาย
แต่ที่สำคัญก็คือ พวกเขาทั้ง "ผู้แพ้" และ "ผู้ชนะ" ล้วนแต่เป็นผู้นำทหารด้วยกันมาก่อนทั้งสิ้น
แต่ถ้าจะไม่ใช้วิธีปรองดอง ก็คงเป็นตัวแบบของการกวาดล้างกลุ่มพลเรือนสาย 2475 ที่นำโดย อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ในกรณีกบฏวังหลวงในปี 2492 ซึ่งการล้อมปราบกระทำอย่างได้ผลในการทำลายกลุ่มดังกล่าวลงได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็ส่งผลให้กลุ่มเสรีไทยที่ผูกโยงอยู่กับการเมืองนี้ถูกทำลายลงไปด้วยเช่นกัน และทำให้บทบาทของผู้นำกองทัพบกอย่างพลตรีสฤษดิ์ ในขณะนั้นสูงเด่นขึ้นมาอย่างชัดเจน
หรือในกรณีกบฏแมนฮัตตันในปี 2494 ก็เป็นอีกตัวแบบหนึ่งของการใช้กำลังล้อมปราบความพยายามของกลุ่มนายทหารระดับกลางในกองทัพเรือที่ต้องการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และลดบทบาทของกองทัพบกในการเมืองไทย อันเป็นตัวแทนของความขัดแย้งระหว่างเหล่าทัพ (กองทัพเรือ vs. กองทัพบก) และจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายกองทัพบกที่ใช้กำลังเข้าปราบปรามโดยตรง
และยังส่งผลให้กองทัพอากาศเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองไทยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชัยชนะดังกล่าวเกิดจากการใช้กำลังทางอากาศในการโจมตีเรือรบหลวงศรีอยุธยาซึ่งเป็นฐานหลักของการก่อกบฏในครั้งนี้
เหตุการณ์กบฏในปี 2492 และ 2494 จบลงด้วยการล้อมปราบ แต่ในปี 2500 กลับจบลงแบบปรองดองด้วยการเนรเทศออกไปอยู่ต่างประเทศ ซึ่งเมื่อการเมืองไทยหวนกลับคืนสู่ภาวะปกติหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แล้ว กลุ่มการเมืองสายซอยราชครูก็สามารถฟื้นตัวกลับเข้ามามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง
จนกระทั่งถึงจุดสูงสุดเมื่อพลเอกชาติชายขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2531 (หลังจากการสิ้นสุดของยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ)
เมื่อการเมืองไทยพัฒนามากขึ้นก็มีตัวแบบที่แตกต่างออกไป หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แม้จะเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทหารกับพลเรือนขึ้น แต่ก็ไม่ได้จบลงด้วยการแตกหัก หากแต่เมื่อกองทัพต้องเป็นฝ่ายที่พ่ายแพ้ในทางการเมืองจากการปราบปรามในวันที่ 14 ตุลาคมดังกล่าว ส่งผลให้กองทัพถูกลดบทบาททางการเมืองลง
แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เกิดการปรองดองขึ้น โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงอำนาจของกองทัพในการเมืองไทย เท่าๆ กับไม่มีกระบวนการไต่สวนเพื่อค้นหาความจริงของเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างเป็นจริงเท่าใดนัก
เพราะจนถึงวันนี้ก็ไม่มีความชัดเจนว่า เกิดอะไรขึ้นจริงๆ ในวันนั้น!
กลุ่มผู้นำทหารที่ถูกผลัก (เนรเทศ) ให้ออกไปต่างประเทศในที่สุดพวกเขาก็สามารถปรองดองกับกลุ่มชนชั้นนำที่กุมอำนาจในการเมืองไทยได้ไม่ยากนัก
และในที่สุดก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเมืองไทยเมื่อพระภิกษุ จอมพลถนอม กิตติขจร ขอบวชและกลับเข้ามาในประเทศไทย และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการล้อมปราบใหญ่ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519
การล้อมปราบใหญ่ในปี 2519 ก็จบลงแบบแตกหัก ไม่มีการปรองดอง เพราะเป็นความขัดแย้งใหญ่ระหว่างกลุ่มชนชั้นนำอนุรักษนิยมกับการขยายตัวของกลุ่มการเมืองปีกซ้าย
ตัวแบบในปี 2519 สะท้อนให้เห็นชัดว่าความขัดแย้งดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่อาจประนีประนอมได้ [ประนีประนอม ก. ผ่อนหนักผ่อนเบาให้แก่กัน, ปรองดองกัน, อะลุ้มอล่วยกัน (ที่มา : พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525)]
หากการก่อกบฏนั้นเป็นคนละสายที่แตกต่างกันแล้วก็อาจปรองดองกันได้ยาก ตัวแบบของเหตุกบฏมีนาคม 2520 ซึ่งจบลงด้วยการยิงเป้าผู้นำกบฏ และคุมขังนายทหารบางส่วนที่เกี่ยวข้อง
ความขัดแย้งในกองทัพหลังปี 2516 ดำรงอยู่คู่ขนานกับความขัดแย้งในการเมืองไทย รัฐประหาร 2519 กลับกลายเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมความขัดแย้งดังกล่าวให้ทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินนโยบายขวาจัดของรัฐบาลหลังรัฐประหาร
ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นดังจะเห็นได้จากการขยายตัวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) นโยบายขวาจัดกลายเป็น "แนวร่วมมุมกลับ" อย่างดีในการผลักดันให้ผู้คนเข้าเป็นแนวร่วมกับ พคท.
สถานการณ์สงครามในชนบทไทยทวีความรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ถ้ารัฐบาลกรุงเทพฯ ยังคงเดินนโยบายขวาจัดต่อไป ก็เป็นที่คาดการณ์ว่าในที่สุดแล้ว ประเทศไทยคงหลีกเลี่ยงสงครามกลางเมืองไม่พ้น
แต่ถ้าจะปลดชนวนสงคราม ทางออกที่สำคัญก็คือ การสร้างกระบวนการประนีประนอมทางการเมืองให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
กลุ่มผู้นำทหารที่ไม่ใช่ปีกขวาเองก็ยอมรับว่า หากการเปลี่ยนทิศทางนโยบายที่ใช้การปราบปรามเป็นเครื่องมือหลักไม่ได้ โอกาสที่จะพ่ายแพ้ "สงคราม พคท." มีอยู่ค่อนข้างมาก
รัฐประหารในปี 2520 จึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนทิศทางประเทศไทย
ในด้านหนึ่งจึงมีการผลักดันนโยบายใหม่ที่เป็นเสรีนิยมมากขึ้น เพื่อลดความขัดแย้งในการเมืองไทย
และในอีกด้านหนึ่งก็ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์การสังหารหมู่ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งก็ส่งผลให้กระบวนการไต่สวนในศาลกรณีของผู้ถูกจับกุม 18 คนต้องยุติลง
ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้ผู้คนที่เข้าร่วมกับ พคท. สามารถใช้เงื่อนไขนี้กลับเข้ามาใช้ชีวิตปกติในเมืองได้
พร้อมกันนั้นก็ทำให้โอกาสที่จะสอบสวนกลับไปถึงต้นเรื่องของผู้ตัดสินใจใช้ความรุนแรง และผู้นำหน่วยกำลังต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็เป็นอันยุติลงเช่นกัน
กล่าวคือ กฎหมายนิรโทษกรรมครอบคลุมให้แก่ทุกฝ่ายและทุกกลุ่มในเหตุการณ์นั้น
การนิรโทษกรรมเช่นนี้จึงเป็นตัวแบบของการปรองดองในยุคปี 2519 และกลายเป็นหนึ่งในกุญแจดอกสำคัญของการไขไปสู่ความสำเร็จของการยุติสถานการณ์ความขัดแย้งในการเมืองไทย และอาจถือได้ว่าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งของการยุติสงคราม พคท. ในเวลาต่อมา
แน่นอนว่าการปรองดองในแบบปี 2516 หรือในแบบปี 2519 ไม่สามารถทำให้ความจริงที่ "ซ่อน" อยู่หลังเหตุการณ์ดังกล่าวปรากฏออกสู่สาธารณชนได้ เพราะจวบจนวันนี้ก็ไม่มีใครรู้ว่า ใครคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าว และเกิดอะไรจริงๆ ในวันนั้น
ในอีกด้านหนึ่งคือเหตุการณ์ปราบปรามในปี 2535 แม้จะนำไปสู่การสอบสวนที่มีลักษณะเป็นเรื่องเป็นราวมากกว่าทุกครั้ง แต่ก็ปรองดองโดยไม่มีการเอาผิดกับผู้นำทหาร เว้นแต่เพียงการปรับย้ายออกจากตำแหน่งหลัก และทั้งยังไม่มีการนำไปสู่การปรับโครงสร้างเชิงอำนาจของกองทัพแต่อย่างใด
หลังการปรองดองในปี 2535 แล้ว ทุกอย่างก็ดำเนินไปสู่ภาวะปกติ แต่ผลการสอบสวนที่เกิดขึ้นก็ไม่เคยถูกนำเผยแพร่แก่สาธารณชน
และเช่นกันไม่มีใครตอบได้ว่า ใครคือผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความรุนแรงในแต่ละจุด เช่น กรณีที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ เป็นต้น
การปราบปรามในปี 2552 และ 2553 ไม่แตกต่างกัน โดยเฉพาะในกรณีที่แยกราชประสงค์นั้น มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่จนถึงวันนี้ทุกอย่างก็ยังคงเป็น "ความลับ" และไม่รู้ว่าใครคือผู้สั่งฆ่าในระดับต่างๆ จนลงไปถึงผู้ฆ่าในระดับยุทธวิธีตามจุดต่างๆ เช่น กรณีวัดปทุมวนาราม เป็นต้น
ถ้าเราเลือกตัวแบบเก่า การปรองดองคือการกลับคืนสู่ภาวะปกติ โดยไม่ต้องรับรู้เรื่องราวและความจริงของเหตุการณ์นั้น
แต่ถ้าคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะสร้างตัวแบบใหม่ การปรองดองที่เกิดขึ้นจะต้องเป็นทั้งการกลับสู่ภาวะปกติและเกิดความรับรู้ร่วมกันว่าเกิดอะไรจริงในสถานการณ์ดังกล่าว
หากยังใช้วิธีให้ความจริงกลายเป็นเพียงการซุบซิบนินทา และขึ้นอยู่กับความรู้เฉพาะส่วนแล้ว โอกาสที่จะเกิดการปราบปรามอีกก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะสังคมไทยจะสร้างบทเรียนให้แก่คนรุ่นหลังที่ยังมีแนวคิดในการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาทางการเมืองไม่ได้เลย
การปรองดองที่ปราศจากความจริงจึงเป็นเพียงอาการ "อะดักอะเดี้ย" เท่านั้นเอง!
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย