http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-05-28

หุ่นยนต์ทางศีลธรรม โดย สุรพศ ทวีศักดิ์

.

สุรพศ ทวีศักดิ์ : หุ่นยนต์ทางศีลธรรม
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เวลา 19:00:00 น.


ผมถูกใจคำว่า "หุ่นยนต์ทางศีลธรรม" ของอาจารย์สมภาร พรมทา ใน "วารสารปัญญา" วารสารออนไลน์ (วารสารประยุกต์วิธีคิดแบบพุทธกับความรู้ร่วมสมัย ดาวน์โหลดฟรีทั้งบทความ หนังสือเล่ม นวนิยาย มีทั้งภาษาไทยและอังกฤษ) ซึ่งอาจารย์ไม่ได้ใช้คำนี้ใน "ความหมายเชิงลบ" แต่ใช้สะท้อนข้อเท็จจริงบางอย่าง 

ซึ่งผมขอขยายความคำ "หุ่นยนต์ทางศีลธรรม" เพิ่มเติมว่าหมายถึง การที่คนเราใช้ "การตัดสินทางศีลธรรม" (moral judgment) ไปตัดสินปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตและสังคม กระทั่งธรรมชาติ ผ่านกรอบความคิดทางศีลธรรมที่เขาเชื่ออย่างเป็นกลไก 
คำว่า "อย่างเป็นกลไก" หมายความว่าเป็นไปอย่างอัตโนมัติ เช่น การตัดสินทางศีลธรรมทำนองว่า เป็นกรรมเวรของอากงที่หมิ่นพ่อ เป็นกรรมเก่าของแพะในคดีเชอรีแอน ดันแคน ที่ต้องติดคุกฟรี เพราะนักการเมืองไม่มีจริยธรรม ประชาชนจึงไม่มีจริยธรรม เพราะกรรมของมนุษย์ ธรรมชาติจึงลงโทษ ฯลฯ
ข้อตัดสินดังกล่าวเป็นไปอย่างกลไก หรืออย่างอัตโนมัติ เพราะเพียงแค่เห็นปรากฏการณ์เพียงพื้นผิวก็ดึงเข้ามาในกรอบตัดสินทางศีลธรรมตาม "บรรทัดฐาน" ที่ตนเชื่อทันที โดยขาดการวิเคราะห์ความซับซ้อนของปัญหาว่าแต่ละเรื่องเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไข เหตุปัจจัยของตัวบุคคล บริบทแวดล้อมทางวัฒนธรรมความเชื่อ โครงสร้างอำนาจอะไร อย่างไรบ้าง
และที่สำคัญ "หุ่นยนต์" ทางศีลธรรม มักไม่มี "หัวใจ" ที่อาจรู้สึกทุกข์ร้อน หรือร่ำไห้กับความเจ็บปวด ความไร้ศักดิ์ศรี ความอยุติธรรมที่เพื่อนมนุษย์ได้รับ


กรณี "อากงตายในคุก" ผมเชื่อว่าคนที่เข้าใจความซับซ้อนของปัญหาอย่างชัดแจ้ง ไม่มีใครที่จะไม่เจ็บปวดและหลั่งน้ำตา (เช่นอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ถึงกับปล่อยโฮออกมาและร้องไห้อยู่หลายวัน) เพราะเราต่างรู้ว่ากฎหมายหมิ่นฯ สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์โทษสูงสุดแค่จำคุก 3 ปี เพิ่มขึ้น 7 ปี ในสมัยเผด็จการสฤษดิ์ และเพิ่มขึ้นเป็น 3-15 ปี ในสมัยเผด็จการหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19

แต่เราต่างตระหนักดีว่า ภายใต้ "อุดมการณ์เบื้องหลัง" ของการใช้กฎหมายฉบับนี้เองที่ทำให้ระบบยุติธรรมไทยตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ ศาล และ/หรือชนชั้นปกครองมอง ปลูกฝังทัศนคติแก่ประชาชน และสร้างบรรทัดฐานให้ระบบยุติธรรมมี "กรอบทัศนะ" ในการวินิจฉัยปัญหาความมั่นคงของบางสถาบันและความมั่นคงของรัฐ 
ซึ่ง "กรอบทัศนะ" ดังกล่าวนี้เองคือที่มาของข้อเท็จจริงเชิงปรากฏการณ์ที่ว่า ระบบยุติธรรมไทยและสังคมไทย มอง "4 ข้อความ" ที่เชื่อว่าอากงเป็นผู้ส่ง SMS ไปยังโทรศัพท์มือถือของบุคคลผู้หนึ่งเป็น "ภัยร้ายแรง" ต่อความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์และความมั่นคงของรัฐ มากกว่าการอ้างสถาบันต่อสู้ทางการเมือง ทำรัฐประหาร เขียน "ผังล้มเจ้า" ปลอม อ้าง "ขบวนการล้มเจ้า" ปราบปรามประชาชน

ฉะนั้น ภายใต้กรอบทัศนะดังกล่าว ระบบยุติธรรมไทยจึงมีประสิทธิภาพอย่างยิ่งที่จะดำเนินการเอาผิดกับชายชราชาวบ้านธรรมดาๆ คนหนึ่งผู้ซึ่งถูกเชื่อว่ากระทำความผิดด้วย "4 ข้อความ" และไร้ประสิทธิภาพอย่างสิ้นเชิงที่จะเอาผิดกับผู้ทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ เขียน "ผังล้มเจ้า" ปลอมเป็นใบสั่งฆ่าประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย 
ราวกับว่าการอ้างสถาบันต่อสู้ทางการเมือง ทำรัฐประหาร เขียนผังล้มเข้าปลอม การปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยที่เป็นมาในประวัติศาสตร์หลายๆ ครั้งนั้น ไม่ได้ทำให้สถาบันและความมั่นคงของรัฐได้รับความเสียหายใดๆ ทั้งสิ้น ความผิดจาก "4 ข้อความ" รุนแรงกว่าอย่างไม่อาจเทียบได้ จึงต้องจำคุก 20 ปี และไม่ให้ประกันตัวแม้นักโทษจะป่วยเป็นมะเร็ง จนต้องตายในคุก กลายเป็นโศกนาฏกรรมที่ชายชราคนหนึ่งร้องขอ "ชีวิต" จากระบบยุติธรรมไทย แต่ร้องขอไม่ได้

ยิ่งเมื่อดูภาพรวม เราปฏิเสธความเป็นจริงไม่ได้ว่า "คุกในเมืองไทยมีไว้ขังคนจน" คนเล็กคนน้อยในสังคมที่ไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือของผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ไม่มีเงิน ไม่มีเส้นสาย ไร้อำนาจต่อรองทางการเมือง ดังนักโทษ ม.112 นักโทษการเมืองระดับชาวบ้านธรรมดา หรือที่สู้ด้วย "อุดมการณ์" โดยไม่หวังตำแหน่งทางการเมืองและผลประโยชน์ต่าง "ถูกขังลืม" ขณะที่ "แกนนำ" ของบางฝ่ายที่ต้องคดี 112 และคดีอื่นๆ ต่างได้รับการปล่อยตัว 
จากข้อเท็จจริงที่เห็นชัดแจ้งดังกล่าวเป็นต้นนี้ ถามว่าระบบยุติธรรมไทยมีประสิทธิภาพปกป้อง "ความยุติธรรม" ของสังคมหรือไม่? 
ทำไมไม่ว่าจะมองไป ณ จุดไหน เราจึงเห็นปัญหา "ความเหลื่อมล้ำ" ของสิทธิที่จะได้รับความยุติธรรมแทบทุกจุด ทำไมสังคมจึงยอมรับได้กับความอยุติธรรมที่เห็นตำตา 
และทำไมชนชั้นนำทั้งฝ่ายมีอำนาจ ผู้นำในการต่อสู้ทางการเมือง สถาบันวิชาการ นักวิชาการบางกลุ่ม สื่อบางกลุ่มจึงเรียกร้องให้ประชาชนลืม "ความจริง" และ "ความอยุติธรรม" ที่เกิดขึ้น

ระบบอำนาจ อุดมการณ์ที่กดทับเสรีภาพของประชาชน และระบบการกล่อมเกลาทางศีลธรรมแบบที่ยัดเยียดคำตัดสินทางศีลธรรมเชิงกลไกได้สร้างให้ระบบยุติธรรม ทุกองคาพยพของกลไกรัฐ และประชาชนในชาติกลายเป็น "หุ่นยนต์ทางศีลธรรม" ที่มีพฤติกรรมอัตโนมัติในการตัดสินทางศีลธรรมอันเป็นที่มาของปรากฏการณ์ "ความบิดเบี้ยว" ของความยุติธรรม และ "ความเหลื่อมล้ำ" ของสิทธิที่จะได้รับความยุติธรรมดังที่กล่าวมา



จะว่าไปแล้ววัฒนธรรมการปลูกฝังศีลธรรมทางศาสนาในบ้านเราคือส่วนสำคัญในการสร้าง "หุ่นยนต์ทางศีลธรรม" หรือไม่
หรือ "คนดี" ในความหมายของคนกตัญญูต่อชาติ ต่อแผ่นดิน ที่สร้างขึ้นในสังคมเราอาจเป็นคนที่ขาด "จิตวิญญาณ" ที่ "อิน" รัก หรือศรัทธาใน "ความเป็นมนุษย์" ที่มีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคหรือไม่
ความดี ความเป็นคนดีที่เราปลูกฝังกันคือคนที่ไม่จำเป็นต้องมีนโนธรรมสำนึกใน "มนุษยธรรม" หรือไม่

เป็นเรื่องแปลกที่ "พุทธะ" สอนเรื่องทุกข์ การมีสำนึกเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ ซึ่งหมายถึงการมีหัวใจพร้อมที่จะรับรู้ เข้าใจ ซึมซับความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ สอนให้มองความเป็นจริงบนพื้นฐานของเหตุปัจจัยที่ซับซ้อน และใช้ปัญญาในการวินิจฉัยตัดสิน ซึ่งเป็นคุณสมบัติของ "มนุษย์ศีลธรรม" ไม่ใช่ "หุ่นยนต์ศีลธรรม"

แต่ทำไมสังคมเราจึงเต็มไปด้วยหุ่นยนต์ทางศีลธรรม และเป็นสังคมที่ถูกกดทับด้วยอำนาจของกรอบคิดทางศีลธรรมเชิงกลไก ที่มองไม่เห็น "ความเป็นคน" ของเพื่อนมนุษย์!



.