.
อาจารย์คะ
โดย คำ ผกา http://th-th.facebook.com/kidlenhentang
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1657 หน้า 89
"(อากง 2) ผมขอพูดจากใจที่เปี่ยมไปด้วยมนุษยธรรมล้วนๆ และตัดความเห็นต่างทางการเมืองและแง่มุมทางกฎหมายออกไปให้หมด ผมคิดว่าโทษที่อากงถูกตัดสินนั้นหนักเกินไปแม้เขาสมควรจะได้รับโทษบ้างก็ตาม
(อากง 4) ผมคิดว่า การต่อสู้ทางความคิดและทางการเมืองใดๆ ตัวเราจะต้องไม่ละทิ้งจุดยืนของมนุษยธรรมเป็นอันขาด และไม่ควรไป "ลดทอนความเป็นมนุษย์" ของผู้ที่เราต่อสู้และเห็นต่างด้วยเป็นอันขาด เพราะถ้าหากเราพลั้งไปทำเช่นนั้น ตัวเรานี่แหละที่จะค่อยๆ สูญเสียความเป็นมนุษย์ไปทีละน้อยโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าเราจะหลงหรืออวดอ้างตนเองว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกต้องหรือยืนอยู่ข้างความถูกต้องก็ตาม
จริงๆ แล้วผมคิดว่าอากงไม่ได้เป็นคนส่ง sms นั้นด้วยตัวเองด้วยซ้ำ
...
มีความเป็นไปได้สูงมากครับว่าอาจเป็นลูกหลานของอากงเป็นคนส่ง sms นั้น อากงจึงต้องยอมรับว่าตัวเองเป็นคนส่งเองเพื่อปกป้องลูกหลานที่อากงรัก
...
ข้อสันนิษฐานของผมคือคนใกล้ชิดอากงเป็นคนส่ง sms นี้ครับ และอากงเลยต้องรับแทนเพื่อปกป้อง
...
มีอีกข้อสันนิษฐานหนึ่งก็คือ เพราะอากงรู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็งนี้จึงไปรับงาน sms นั้นมาครับ แต่อันนี้ต้องสามารถตรวจสอบฐานะทางการเงินของครอบครัวอากงในช่วงหลังๆ จนมีหลักฐานแน่ชัดถึงจะฟันธงได้ครับ"
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1336891875&grpid=01&catid=19&subcatid=1905
อาจารย์สุวินัย ภวณวิลัย ยืนยันว่า การต่อสู้ทางการเมืองใดๆ ตัวเราต้องไม่ละทิ้งจุดยืนทางมนุษยธรรมของตนเองเป็นอันขาด แต่ในข้อเขียนของอาจารย์มีจุดน่าแปลกใจหลายจุดมาก
น่าแปลกจุดแรกคือ อาจารย์ยืนยันว่าตัวเองมีใจที่เปี่ยมไปด้วยมนุษยธรรม-เอิ่ม...อาจารย์คะ ปกติฉันเคยได้ยินแต่คนเราจะขึ้นต้นประโยคด้วยการถ่อมตน เช่น "ดิฉันพูดในฐานะของคนที่ไม่มีความรู้เรื่องนี้...", "นี่ผมพูดแบบคนใจร้ายสุดๆ", "นี่พูดกันแบบใจดำมากๆ แล้วนะ", ฯลฯ"
ฉันไม่ค่อยเคยได้ยินใครขึ้นต้นประโยคเหมือนอาจารย์คือ "ขอพูดจากใจที่เปี่ยมไปด้วยมนุษยธรรมล้วนๆ"
เพราะโดยทั่วไปแล้วคนเราจะมีความเมตตา หรือมีคุณงามความดีอะไรนั้น เขาละไว้ให้เป็นหน้าที่ของคนอื่นพูดถึงเรามิใช่เราเฝ้ายกย่องตนเองมิใช่หรือ?
อาจารย์น่าจะเคยได้ยินคำพูดที่บอกว่า "คนเราไม่จำเป็นต้องอธิบายตัวเอง เพราะคนที่เป็นเพื่อนเราย่อมรู้อยู่แล้วว่าเราเป็นอย่างไร ส่วนคนที่เป็นศัตรูเราย่อมไม่เชื่อในสิ่งที่เราพูดอยู่นั่นเอง"
ความแปลกประการต่อมาคือ อาจารย์บอกว่า "แม้เขาสมควรจะได้รับโทษบ้าง" ข้อความนี้แปลกตรงที่อาจารย์ใช้การเข้าฌานหรือคะ จึงมั่นใจนักว่าอากงผิดแน่ ต้องได้รับโทษแน่?
อาจารย์จะไม่รู้เลยหรือคะว่าผู้ถูกกล่าวหาทุกคนต้องอยู่ในฐานะที่เชื่อว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ในเบื้องต้น ไม่เพียงเท่านั้น ขณะที่อาจารย์ยืนยันว่า "เขาสมควรได้รับโทษ" อาจารย์เองนั่นแหละ ที่แสดงความสงสัยออกมาเองว่า "จริงๆ ผมคิดว่า อากง ไม่ได้ส่ง SMS เองเสียด้วยซ้ำ" ตัวอาจารย์เองยังลังเล แล้วอาจารย์ใช้อะไรมาชี้ขาดฟันธงว่า "เขาสมควรได้รับโทษนั้น"
มันแปลกไหมคะ?
มากไปกว่าคนซึ่งหัวใจเปี่ยมไปด้วยมนุษยธรรมอย่างอาจารย์ยังพาโลไปป้ายสีคนอื่นต่อด้วยการบอกว่า "สันนิษฐานว่าคนใกล้ชิดอากงเป็นผู้ส่ง SMS" อาจารย์คะ หลักมนุษยธรรมง่ายๆ คือ เราไม่ควรใส่ร้ายใครโดยปราศจากหลักฐานมิใช่หรือคะ? ยิ่งไปกว่านั้น อาจารย์สันนิษฐานได้อีกว่า "อากงรับงานมา"!!!!
สมมุติว่า วันหนึ่งของบนโต๊ะเพื่อนร่วมห้องอาจารย์หาย บรรดาอาจารย์ในภาควิชาพากันบอกว่า "สันนิษฐานว่าสุวินัยขโมยเพราะอยู่ห้องเดียวกันเป็นคนเดียวที่มีกุญแจห้อง"
อาจารย์โดนใส่ร้ายเช่นนี้ อาจารย์เสียหายไหมคะ? และอาจารย์จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของอาจารย์อย่างไร และ/หรือ กว่าอาจารย์จะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองได้ ระหว่างนั้นชื่อเสียงของอาจารย์ก็เละตุ้มเป๊ะไปแล้ว
อาจารย์คะ เรื่องมนุษยธรรมนี้ ฉันคิดถึงบทความชิ้นหนึ่งของ อ.เกษียร เตชะพีระ ที่เขียนถึง สุวินัย ภวณวิลัย ที่เขารู้จัก อาจารย์เกษียร เขียนขึ้นมาหลังจากที่อาจารย์โดนโจมตีเรื่องเปรตกู้ และโดนสังคมพิพากษาอย่างหนัก
อาจารย์เกษียรเขียนบทความนั้นให้สังคมได้เข้าใจ สุวินัย ภวณวิลัย ในด้านที่กลมกลึงอย่างที่มนุษย์คนหนึ่งจะเป็นและมีสิทธิทุกประการที่จะเชื่อหรือศรัทธาในมิติที่วิทยาศาสตร์อาจจะปฏิเสธ
ฉันเรียกงานของอาจารย์เกษียรชิ้นนั้นว่าเป็นงานที่เขียนด้วยใจอันเปี่ยมไปด้วยมนุษยธรรม
อาจารย์สุวินัยคะ อากงไม่ใช่คนแรกที่สังเวยชีวิตให้กับหลักนิติรัฐแบบไทยๆ ตลอดประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยมีสามัญชนที่ถูกกระทำเยี่ยงนี้มานับไม่ถ้วนคน
คนเหล่านั้นตายเปล่า ถูกจำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ประวัติศาสตร์ถูกบิดพลิ้ว ถูกละเว้นไม่พูดถึง ถูกเขียนใหม่
นานเท่าไหร่กว่าเราจะได้พูดความตายของประชาชนในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
นานเท่าไหร่กว่าเราจะได้เอ่ยชื่อ ปรีดี พนมยงค์
นานเท่าไหร่ กว่าเราจะค่อยๆ รื้อฟื้นชีวิตของ จิตร ภูมิศักดิ์ หรือจนป่านนี้ นักเรียนไทยรู้จัก เตียง ศิริขันธ์ รู้จัก บุญสนอง บุณโยทยาน หรือไม่?
เหล่านี้ยังนับว่าเป็น "ปัญญาชนชั้นนำ" แต่ยังไม่สามัญชนไร้ชื่อไร้นามอีกสักเท่าไหร่ที่ตายไปเพราะเป็น แพะรับบาป หรือต้องถูกจองจำไปกับความผิดที่ตนเองไม่ได้ก่อ
ในอดีต คนเหล่านี้ ตายไป ปลิดปลิวไปเหมือนใบไม้ใบหนึ่ง ร่วงไปก็ไร้ร่องรอย แต่วันนี้ไม่เหมือนในวันนั้น เทคโนโลยีของการสื่อสาร space ของโลกที่ขับเคลื่อนด้วยสัญญาณอินเตอร์เน็ตปลดปล่อยพวกเราออกจากการจองจำอำนาจของการผูกขาดความรู้
ในวันนี้ไม่มีใครผูกขาด "ประวัติศาสตร์" ไว้แต่เพียงผู้เดียว
อาจารย์สุวินัยยังเขียนอีกว่า "การเอาคนแก่ คนป่วย และคนตายมาเป็นอาวุธและเครื่องมือทางการเมืองในการสร้างความชอบธรรมให้กับความคิดและความเชื่อทางการเมืองของพวกตนเป็นความมืดบอดทางการเมืองที่น่าอดสู"
อาจารย์ไม่คิดหรือคะว่านี่คือข้อสมมุติฐานที่กำลัง "ลดทอนความเป็นมนุษย์" ของผู้อื่นทั้งยังหันหลังให้กับมนุษยธรรมซึ่งขอแปลตรงตัวว่า ธรรมของมนุษย์ เพราะว่า การต่อต้านการรัฐประหาร การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง การที่ประชาชนที่มาชุมนุมทางการเมือง พยาบาลอาสา นักข่าว ประชาชนที่ไม่มีส่วนรู้เห็น ได้ถูกสังหารจากการ "กระชับพื้นที่" ของรัฐบาลถึงเก้าสิบกว่าศพ
การเรียกร้องให้มีการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยการปฏิรูปกฎหมายอาญามาตรา 112 เพื่อมิให้กฎหมายนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและเพื่อเป็นการปกป้องเกียรติยศของสถาบันกษัตริย์มิให้ถูกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ฯลฯ เหล่านี้ดำเนินมาต่อเนื่องก่อนที่ใครๆ จะรู้จัก "อากง"
ประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งไม่เคยคิดว่าจะมีการตายมากถึงเพียงนี้ ไม่เคยคิดว่าจะมีการจับนักโทษทางการเมืองมากขนาดนี้ อย่าว่าแต่จะคิดถึงการใช้ คนแก่ คนป่วย คนตายมาเป็นนักโทษทางการเมือง
อาจารย์ทราบไหมคะว่า ถึงวันนี้เรายังคิดว่าการใช้กระสุนจริงกับประชาชนมันเป็นแค่ฝันร้าย
ถ้าอาจารย์อยากทราบว่าแล้วทำไมวันนี้มี "อากง" ทำไม คนแก่ไร้ตัวตนคนหนึ่งที่อากงกลายมาเป็น "การเมือง" ในวันนี้?
อาจารย์คงต้องไปถามผู้ที่แจ้งความจับอากงแล้วกระมัง เพราะหากอากงไม่ถูกจับ วันนี้โลกทั้งใบก็ไม่สนใจทั้งไม่รู้ด้วยมีผู้ชายคนหนึ่งชื่อ อากง.. อยู่บนโลกใบนี้
อาจารย์คะ พวกเราไม่ใช่นักวิชาการ เราไม่ใช่นักกฎหมาย เราจึงเศร้าสลดด้วยเหตุผลพื้นๆ แบบชาวบ้านที่ยังมีหัวใจรู้สึกรู้สากับความเป็นมนุษย์
อากงเป็นคนชั้นกลางระดับล่าง เจ็บป่วย อ่อนแอ ขอประกันตัว 8 ครั้ง พร้อมหลักประกันตีมูลค่าเป็นเงินหลักล้านจากเงินเดือนของบรรดานักวิชาการที่ไม่เคยอ้างว่ามีใจเปี่ยมมนุษยธรรม
คนอย่างเขาไม่อยู่ในข่ายที่จะหลบหนีใดๆ เลย ลำพังจะเอาชีวิตให้รอดพ้นจากโรคร้ายก็ยากแล้ว ลำพังจะประคองครอบครัวเล็กๆ ให้อยู่อย่างสง่างามตามฐานันดรก็ยากแล้ว อย่าว่าแต่จะขบถต่ออำนาจรัฐหรือท้าทายอำนาจศาลและกฎหมาย
และด้วยมนุษยธรรม เรายังตั้งคำถามได้อีกหลายประการใช่ไหมคะ เช่น จำเป็นหรือไม่ที่ "คนที่อยู่ในคุก" จำเป็นต้องได้รับการปฏิบัติในระดับที่ต่ำกว่า "มนุษย์" เช่น ต้องกินในสิ่งที่แย่กว่า ต้องนอนในคุณภาพที่ต่ำว่า ต้องได้รับการรักษาพยาบาลในคุณภาพที่ต่ำว่า (ต่ำกว่าทั้งหมดนี้คือ ต่ำกว่าที่มนุษย์สามัญคนหนึ่งพึงได้รับ)
ในเรือนจำของเราคงไม่มีแต่อากงเท่านั้นที่ไม่ได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสม คงมีนักโทษอีกหลายต่อคนที่มีสภาพที่ย่ำแย่กว่านี้ และอาจจะไม่ได้รับการพูดถึงเลย
อาจารย์พอจะตอบคำถามนี้ได้ไหมคะว่าทำไม สังคมไทยที่คลั่งไคล้การทำความดี และยกย่องคนดีกันเสียเหลือเกิน กลับรู้สึกว่าการปฏิบัติต่อนักโทษในเรือนจำในระดับที่ต่ำกว่าความเป็นมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่รับได้ เป็นธรรมดา และแม้กระทั่งมันเป็นเรื่องสมควรทำ?
อาจารย์คะ ความเป็นคนดีแบบไทยๆ นั้นไม่เกี่ยวกับมนุษยธรรมใช่ไหม?
ก่อนที่เราจะไปไกลถึงการใช้คนแก่ คนเจ็บ คนป่วยมาเป็นเครื่องมือทางการเมืองนั้น เราถามคำถามง่ายๆ กันก่อนไหมว่า มีใคร "ควบคุม" การลุกลามของมะเร็งอากงได้
เราสั่งหรือคะว่า ให้อากงปวดท้องวันไหน ตายวันไหน?
มันไม่ได้มีอะไรซับซ้อนไปกว่า หากอากงได้รับการรักษาพยาบาลตามสมควรแก่ฐานานุภาพของมนุษย์ แกคงยังไม่ตาย และหากแกยังไม่ตาย อาจารย์ก็ไม่ได้มานั่งเขียนว่า "มีการใช้คนแก่ คนป่วย คนตาย มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง"
การเคลื่อนไหวของประชาชนที่เศร้าสลดใจกับความไม่เป็นธรรมหลังการเสียชีวิตของอากงนั้นเกิดขึ้นเพราะพวกเขาเห็นว่าอากงคือบทเรียนที่สังคมต้องหันมาสนใจปัญหาเรื่องความเป็นธรรมในสังคมของเราให้มากขึ้น เหมือนกับที่เราต้องสะดุ้ง ตระหนักถึงปัญหาการอนุรักษ์ป่าหลังการตายของ สืบ นาคะเสถียร หรือ การที่เราต้องรำลึกถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิของคนผิวสีในอเมริกาหลังการตายของ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง
อาจารย์คะ ทั้งหมดนี้ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย เพราะเรากำลังพูดกันอยู่ไม่กี่เรื่อง เช่น
1. การใช้กฎหมายเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวในสังคม
2. การมีกฎหมายที่เอื้อต่อการกลั่นแกล้ง ใส่ร้ายศัตรูทางการเมือง
3. ปัญหาสิทธิพื้นฐานของพลเมือง เช่น สิทธิการประกันตัว
4. ปัญหาสองมาตรฐานในทุกองคาพยพของสังคมไทย
5. ปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคม เช่น คนไทยยังไม่เชื่อในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ไม่เชื่อในคุณค่าของมนุษย์ ยังเชื่อในระบบการลงโทษแบบตาต่อตา ฟันต่อฟันของสังคมยุคโบราณ เช่น โทษข่มขืนต้องลงโทษด้วยการตัดอวัยวะเพศทิ้ง หรือเชื่อว่า คนที่เป็นนักโทษคือคนเลวต้องได้รับโทษอย่างสาสม สมควรได้รับการทรมาน ไม่เชื่อเรื่องการรื้อฟื้นจิตใจ การให้โอกาสหรือการปฏิบัติต่อมนุษย์ที่อยู่บนฐานของสิ่งที่เรียกว่า compassion นั่นคือ ความเข้าใจ เห็นใจ ต่อความทุกข์ ความเขลา ความอ่อนแอ หรือกระทั่งความผิดของผู้อื่น
วันนี้ขอสนทนากับอาจารย์แต่เพียงเท่านี้
ป.ล.1 ตรูเบื่อสังคมสังคังที่พูดกันแต่เรื่อง "คนดี" เอาแต่แสยะยิ้ม นอนหลับไม่รู้นอนคู้ไม่เห็น กับทรมานทรกรรมที่เกิดกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเพียงเพราะเขาไม่ขึ้นสังกัด "ความดี" แบบไทยๆ
ป.ล.2 ข้างบนนั้นไม่ได้สนทนากับอาจารย์สุวินัยนะคะ เป็นบทรำพึงกับตัวเอง
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย