.
ยิ่งปราบ ยิ่งโต! รำลึกการล้อมปราบ 2552/2553
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1658 หน้า 37
"ประชาชนไม่เคยยกเลิกเสรีภาพของพวกเขา
เว้นเสียแต่จะเกิดความหลงผิดบางประการ"
เอ็ดมันด์ เบิร์ก
นักปรัชญาชาวอังกฤษ (ค.ศ.1729-1797)
หลังรัฐประหารกันยายน 2549 แล้ว ความขัดแย้งในการเมืองไทยปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน บางทีเราอาจจะเปรียบเทียบคณะรัฐประหาร 2549 ได้กับ ผู้ที่เปิด "กล่องแพนโดรา" ของสังคมการเมืองไทย อันเป็นผลให้สิ่งต่างๆ ที่เก็บ "ซ่อน" เอาไว้ในกล่องนี้เป็นเวลาเนิ่นนานถูกปลดปล่อยออกมาได้
แน่นอนว่าหลายสิ่งหลายอย่างที่เก็บซ่อนไว้นั้นคือ ปมปัญหาที่หลายต่อหลายครั้งเราไม่อยากจะพูดถึง... ก็เพราะเราเก็บใส่กล่องเอาไว้นานแล้ว เราจึงไม่อยากพูดถึง!
ว่าที่จริงแล้ว เราควรขอบคุณคณะรัฐประหาร 2549 ให้มากๆ ความสำเร็จที่สำคัญของพวกเขาไม่ใช่ความสำเร็จในการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้อย่างง่ายดายอย่างที่พวกเขาคิด
หากแต่สิ่งที่พวกเขากระทำอย่างมีนัยสำคัญก็คือ การเปิดความขัดแย้งในรูปแบบต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในสังคมการเมืองไทย ให้ปรากฏอย่างเด่นชัดขึ้น
สิ่งที่ซ่อนตัวอยู่นานในสังคมการเมืองไทยก็คือ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเมืองกับชนบท แม้จะมีผู้กล่าวว่า ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย และอาจถือว่าเป็นปัญหาตกค้างอยู่กับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนับจากการผลักดันแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 เป็นต้นมา
คงไม่ผิดอะไรนักที่จะกล่าวเป็นเชิงทฤษฎีว่า ยิ่งพัฒนามากเท่าใด เมืองกับชนบทก็ยิ่งห่างออกจากกันมากเท่านั้น และชนบทและผู้คนในชนบทก็ถูกปล่อยค้างทิ้งไว้ ในขณะที่เมืองมีการเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ
ช่องว่างทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากขึ้นอย่างน้อยนับจากการพัฒนาภายใต้แนวคิดของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2500/2501 นั้น ไม่ใช่เป็นแค่เพียงเรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่ยังมีนัยโดยตรงหมายถึงอำนาจทางการเมืองอีกด้วย
กล่าวคือ เมื่อเศรษฐกิจของชุมชนมีการพัฒนาน้อย อำนาจทางการเมืองของชุมชนนั้นก็น้อยลงไปด้วย หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ เสียงในทางการเมืองของพวกเขาก็น้อยตามลงไปด้วยเช่นกัน
ปรากฏการณ์ทางการเมืองเช่นนี้สอดรับอย่างดีกับข้อเสนอทางทฤษฎีของ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่มองว่า เมื่อเงื่อนไขของอำนาจทางการเมืองของคนชนบทน้อยกว่าคนในเมือง ดังนั้น แม้คนชนบทจะเป็นผู้ชนะในการออกเสียงเลือกตั้ง แต่สถานการณ์ดำรงอยู่ของรัฐบาลก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนในเมือง
หรือกล่าวได้ว่า "คนชนบทตั้งรัฐบาล แต่คนในเมืองล้มรัฐบาล" ซึ่งสภาวะช่องว่างแห่งอำนาจของคนทั้งสองกลุ่มเป็นคำตอบอย่างดีในกรณีนี้ อันเป็นภาพสะท้อนอย่างดีว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อำนาจของคนชนบทในทางการเมืองก็น้อยกว่าคนในเมือง และรัฐบาลก็มักจะพึ่งพาอยู่กับการสนับสนุนทางการเมืองของคนในเมืองเป็นหลัก แม้รัฐบาลจะได้รับเลือกมาจากเสียงของคนในชนบทก็ตาม
ความเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายเกิดขึ้นในสมัยของรัฐบาลทักษิณ ผลพวงของการจัดทำนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นลงไปยังเศรษฐกิจภาคชนบท ไม่ว่าจะเป็นโครงการกองทุนหมู่บ้าน หรือโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (หรือโครงการโอท็อป) ล้วนเป็นดัชนีที่แสดงให้เห็นถึงการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อผลักดันเศรษฐกิจชนบท
และขณะเดียวกันก็เกิดการพัฒนาความเป็นอยู่ของคนชนบทในทางเศรษฐกิจมากขึ้น
หรืออย่างน้อยก็เกิดการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในชนบทมากขึ้น
ในอีกด้านหนึ่งชนบทก็มีพลวัตของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นชีวิตความเป็นอยู่ที่พัฒนามากขึ้น ในขณะเดียวกันลูกหลานของคนในชนบทก็มีการศึกษามากขึ้น ซึ่งก็คือคนในชนบทไม่ได้มีชีวิตอยู่กับความล้าหลังในแบบเดิม เพราะชนบทเองก็ไม่ได้ถูกตัดขาดอย่างสิ้นเชิงจากพัฒนาการของโลก
หรืออาจกล่าวได้ว่า โลกาภิวัตน์ได้แทรกซึมข้ามเส้นเขตแดนของรัฐ ลงไปจนถึงพื้นที่ในชนบทของประเทศ
ตัวอย่างเล่นๆ ที่เรามักจะนำมาเป็นพยานในอีกมุมหนึ่งก็คือ การแต่งงานข้ามชาติของผู้หญิงในชนบทไทยก็มีมากขึ้นกว่าในอดีต หรือกล่าวได้ว่าชนบทมีเขยต่างชาติอยู่เป็นจำนวนมาก
ในอีกมุมหนึ่งการแทรกซึมของโลกาภิวัตน์ก็ยังเกิดจากการขยายตัวอันเป็นผลโดยตรงจาก "การปฏิวัติด้านสารสนเทศ" ในรูปแบบต่างๆ ดังจะเห็นจากตัวอย่างง่ายๆ ว่า ชนบทไม่ได้ถูกตัดขาดจากระบบข่าวสารของประเทศ ในความหมายของสำนวนต่างๆ ว่า ชนบทไม่ใช่พื้นที่ "ไกลปืนเที่ยง" อีกต่อไป
ชนบทส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ ได้ไม่แตกต่างจากพื้นที่ของเมืองเท่าใดนัก
และคนชนบทยังเชื่อมต่อกับโลกภายนอกผ่านเครือข่ายสารสนเทศสมัยใหม่ กล่าวคือ พวกเขารับรู้โลกภายนอกมากขึ้น ไม่ใช่ถูกปิดล้อมในพื้นที่ห่างไกลแบบเดิม
ดังนั้นจึงไม่แปลกอะไรนักที่ผลพวงของนโยบายเศรษฐกิจในยุคทักษิณจะขับเคลื่อนชนบทไทยอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
และขณะเดียวกันนโยบายของรัฐบาลทักษิณก็ทำให้ชนบทขยับตัวขึ้นในทางสังคมด้วย
เช่น กรณีการนำเอาเงินจากสลากกินแบ่งของรัฐบาลมาเป็นทุนการศึกษาให้แก่ลูกหลานของคนในชนบท เป็นต้น
ซึ่งผลอย่างสำคัญจากกรณีนี้ก็คือ ชนบทถูกนำเข้ามาเชื่อมต่อกับการเมืองของประเทศอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนเช่นกัน
และที่สำคัญก็คือก่อให้เกิด "ความสำนึกทางการเมืองใหม่" โดยไม่ได้ยืนอยู่กับวาทกรรมที่มองเห็นว่า ชนบทคือตัวแทนของความล้าหลังทางการเมือง และทุกอย่างในทางการเมืองต้องถูกตัดสินหรือชี้นำโดยคนในเมือง แม้จะยังคงมีความเชื่อในแบบเดิมว่า คนชนบทไม่มีความรู้ทางการเมือง ไม่มีความเข้าใจทางการเมือง จึงทำให้พวกเขา "ถูกหลอก" ในทางการเมืองได้ง่าย หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ พวกเขา "ถูกซื้อ" จากพรรคการเมือง จนทำให้รัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นจากการเลือกตั้งถูกคนในเมืองมองว่าเป็นเพียงผลพวงของการซื้อเสียงในชนบท
แต่การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 2549 เริ่มกลายเป็นคำถามถึงการตัดสินใจของคนชนบทว่าเป็นจริงเช่นนั้นจริงหรือไม่?
อย่างไรก็ตาม ทัศนะเช่นนี้ยังสอดรับกับความเชื่อและการมองปัญหาของชนชั้นนำและผู้นำทหารที่มองว่า รัฐบาลจากการเลือกตั้งไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าความโง่เขลาเบาปัญญาของคนชนบทที่ถูกพรรคการเมืองหลอกผ่านพวกหัวคะแนน
ประชาธิปไตยในทัศนะของคนเหล่านี้จึงเป็นเพียงเรื่องของการให้เงินซื้อเสียงในพื้นที่ชนบท และชาวบ้านเหล่านั้นก็ลงเสียงตามการชักจูงของบรรดาหัวคะแนนที่รับเงินมาเคลื่อนไหวรณรงค์หาเสียง
รัฐบาลประชาธิปไตยจึงเป็นผลผลิตของนักหาเสียงในเวทีการเมืองที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญ
และหากจำเป็นก็สามารถใช้กำลังทหารในรูปแบบของรัฐประหารเปลี่ยนรัฐบาลให้เป็นไปตามที่ชนชั้นนำและผู้นำทหารต้องการได้
ทัศนะต่อต้านการเมืองแบบการเลือกตั้งเช่นที่กล่าวแล้วในข้างต้น หรือที่เรียกในทางทฤษฎีว่า "อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง" (Anti-politics Ideology) กลายเป็นแนวคิดพื้นฐานของชนชั้นนำ ผู้นำทหาร ตลอดรวมถึงชนชั้นกลางในเมืองมาโดยตลอด
แน่นอนว่าพวกเขามองเห็นแค่ด้านลบของแบบแผนการเมืองชุดนี้ มองเห็นแต่ส่วนร้ายของนักการเมือง จนปฏิเสธทุกอย่างที่เป็นการเลือกตั้ง และกลายเป็นความคิดต่อต้านประชาธิปไตยไปโดยปริยาย
และยิ่งพวกเขารับเอาอุดมการณ์แบบอนุรักษนิยมที่ผนวกกับแนวคิดแบบจารีตนิยมเข้าไปผสมด้วยแล้ว อุดมการณ์ต่อต้านการเมืองในแบบของไทยก็ยิ่งทวีความเป็นอนุรักษนิยม-จารีตนิยมมากยิ่งขึ้น
และยังถูกทับโถมจากแนวคิดแบบชาตินิยมเพิ่มขึ้นอีกด้วยแล้ว อุดมการณ์ต่อต้านการเมืองแบบไทยก็กลายเป็นความสุดโต่งได้ไม่ยากนัก
และความสุดโต่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนผ่านการเคลื่อนไหวของปีกขวาในการเมืองไทยมาโดยตลอด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนไหวในปี 2551 อันเป็นปีที่ถือได้ว่า แนวคิดขวาจัดขึ้นสู่กระแสสูง
ความสุดโต่งเหล่านี้นำไปสู่การปราบปรามการเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม บนพื้นฐานความเชื่อที่ถูกสร้างผ่านวาทกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการโค่นล้มสถาบันฯ การสถาปนารัฐไทยใหม่ ระบบทุนนิยมสามานย์ ตลอดรวมถึงเผด็จการรัฐสภา
ผลที่เกิดขึ้นก็คือการล้อมปราบการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงในปี 2552 และ 2553 อย่างต่อเนื่อง
แม้จะมีการเสียชีวิตและบาดเจ็บของผู้ชุมนุมเป็นจำนวนมาก แต่ชนชั้นนำก็ตัดสินใจแบบรับภาระด้วยการ "อุ้ม" รัฐบาลที่ปราบปรามประชาชนจนนำไปสู่ความขัดแย้งที่มากขึ้น
การปราบปรามเช่นนี้ทำให้คนชนบทเป็นจำนวนมากสรุปว่า รัฐบาลของคนในเมืองพร้อมจะปราบปรามการเรียกร้องของพวกเขาได้ทุกเมื่อ
แต่สิ่งสำคัญก็คือ คนชนบทเริ่มรู้สึกว่า รัฐบาลที่คนในเมืองอุ้มชูนั้นไม่ใช่รัฐบาลของพวกเขา
ในอีกด้านหนึ่ง ผลพวงอันยาวนานจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการหลั่งไหลของคนจากชนบทเข้าสู่ในเมือง
ลูกหลานของคนชนบทเหล่านี้กลายเป็น "กรรมกร" หรือแรงงานรับจ้างในเมือง และเวลายิ่งผ่านไปประกอบกับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ จำนวนของคนชนบทที่ต้องเข้ามาประกอบอาชีพในเมืองก็มีมากขึ้น และยังรวมถึงคนชั้นล่าง หรือคนยากจนในเมืองก็มีมากขึ้นเช่นกัน
แต่พวกเขาก็มักจะกลายเป็นส่วนที่ถูกลืมในการเมืองไทย เว้นเสียแต่ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง
แต่ผลของการเชื่อมต่อการเมืองเข้ากับประชาชนในชนบทด้วยโครงการรูปธรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชนบทคู่ขนานกับโครงการที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานล่างของคนในเมือง ประชาธิปไตยและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจึงเป็นสิ่งที่สามารถ "จับต้องได้" มากกว่าจะเป็นการเมืองแบบเก่าที่มีแต่นโยบายบนแผ่นกระดาษ และไม่สามารถแปลงเป็นปัจจัยเพื่อสร้างชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้จริง
ซึ่งก็คงไม่แปลกอะไรนักที่มีผู้เปรียบเทียบว่า การเมืองในลักษณะเช่นนี้ทำให้ประชาธิปไตยเป็นเสมือน "สิ่งที่กินได้"
และที่สำคัญก็คือ ทำให้พวกเขาเริ่มรู้สึกจริงๆ ว่า พวกเขาเป็นผู้ถืออำนาจในการเมืองไทย ไม่ใช่ชนชั้นนำหรือชนชั้นกลางในเมือง
และขณะเดียวกันพวกเขารู้สึกมากขึ้นว่า พวกเขาจำเป็นต้องปกป้องรัฐบาลที่พวกเขาเลือก ไม่ใช่จะปล่อยให้ถูกทำลายจากคนในเมืองเช่นในอดีตอีก
การก่อตัวของจิตสำนึกใหม่ทั้งในเมืองและในชนบทเช่นนี้ทำให้เกิดการเชื่อมต่อทางความคิดของผู้คน จนกลายเป็นขบวนการเมืองขนาดใหญ่ในรูปของ "คนเสื้อแดง" ซึ่งอาจจะมีฐานกว้างกว่าขบวนทักษิณนิยม หรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
ขณะเดียวกันต้องตระหนักว่าขบวนทางการเมืองในทุกประเทศที่ต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยล้วนประสบปัญหาภายในไม่แตกต่างกัน
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการแย่งชิงการนำ ทิศทางการต่อสู้ การเชื่อมต่อกับพรรคการเมืองในรัฐสภา การขับเคลื่อนมวลชน ตลอดรวมถึงปัญหาการสนับสนุนในด้านต่างๆ ล้วนเป็นประเด็นที่ท้าทายการก่อตัวของขบวนเช่นนี้เป็นอย่างยิ่ง
หากขบวนเช่นนี้สามารถสร้างการนำที่ดี (ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องมีเอกภาพเสมอไป) ประกอบกับการมียุทธศาสตร์ในการเคลื่อนไหวอย่างถูกต้องแล้ว (ซึ่งไม่ใช่ต้องถูกแบบ 100 % แต่ต้องถูกมากกว่าผิด) โอกาสของการสร้าง "ขบวนประชาธิปไตยไทย" ก็น่าจะเกิดเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น
และไม่ว่าขบวนเช่นนี้จะก่อให้เกิดปรากฏการณ์แบบ "อาหรับสปริง" ในการเมืองไทยหรือไม่ก็ตาม แต่ก็คงต้องยอมรับว่าขบวนการเช่นนี้ได้ท้าทายต่อ "โลกเก่า" ของการเมืองไทยอย่างไม่เคยมีมาก่อน
ปรากฏการณ์เช่นนี้บอกอย่างเดียวว่า ทัศนะเก่าในการต่อสู้ของชนชั้นนำด้วยการปราบไม่ใช่สิ่งที่มีประสิทธิภาพอีกแต่อย่างใด เพราะผลจากการปราบในปี 2552 และ 2553 จนถึงปัจจุบันตอบได้อย่างเดียวว่า
"ยิ่งปราบ ยิ่งโต"!
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย