.
มรณกรรมของ“อากง” โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เวลา 15:52:07 น.
มรณกรรมของ "อากง" ก่อให้เกิดการถกเถียงโต้แย้งกันมากในสังคมออนไลน์ อันเป็นพื้นที่ซึ่งมีเสรีภาพมากกว่าในสื่อเชิงธุรกิจ แต่ประเด็นที่ถกเถียงกันถูกจำกัดอยู่แต่เพียงเรื่อง ม.112 ในกฎหมายอาญา ว่าควรแก้ไขหรือไม่
หรือที่แย่กว่านั้นคือเรื่องของความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ กลายเป็นว่าใครที่เห็นใจ"อากง" คือคนที่ไม่จงรักภักดี และใครที่สาปส่ง "อากง" คือคนที่จงรักภักดี
ที่จริงแล้ว "อากง" และผู้ที่แสดงความเห็นใจ "อากง" จะจงรักภักดีต่อสถาบันหรือไม่ หาได้เป็นประเด็นเกี่ยวกับมรณกรรมของ "อากง" แต่อย่างไร เพราะกฎหมายอาญาไม่ได้บังคับให้ต้องจงรักภักดีต่อสถาบัน เนื่องจากความจงรักภักดีเป็นความคิดและความรู้สึก ซึ่งไม่อาจบังคับได้ด้วยอำนาจใดๆ ประเทศใดๆ ก็ล้วนยอมรับเสรีภาพทางความคิดและความรู้สึกทั้งนั้น
ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่เสรีภาพที่จะคิด แต่อยู่ที่เสรีภาพที่จะทำตามความคิดหนึ่ง และเงื่อนไขที่จะเปิดให้คนได้คิดอย่างอิสระเสรีอีกหนึ่งน่าเสียดายที่การถกเถียงโต้แย้งส่วนใหญ่จำกัดประเด็นอยู่เพียงเท่านี้
เพราะเรื่องราวของ "อากง" จนถึงเสียชีวิตในเรือนจำนั้น มีประเด็นที่สังคมควรใส่ใจอีกหลายประเด็น ซึ่งล้วนกระทบต่อประโยชน์สุขของสังคมโดยรวมทั้งสิ้น อย่างน้อยที่เห็นได้ชัดก็มีถึงสามประเด็น คือปัญหาในกระบวนการยุติธรรม สิทธิของผู้ต้องหาและผู้ต้องโทษ และมาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญา
ตลอดเวลาที่ถูกดำเนินคดี "อากง" ปฏิเสธตลอดมาว่า ไม่ได้เป็นผู้ส่งข้อความจาบจ้วงแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์, พระราชินี และรัชทายาท อย่างไรก็ตามหลักฐานสำคัญของฝ่ายโจทก์ก็คือตัวเลขประจำเครื่องโทรศัพท์ หรือที่เรียกว่าอีมี่ ที่ทางเจ้าหน้าที่สามารถสืบได้ เป็นหมายเลขประจำโทรศัพท์ซึ่ง "อากง" ใช้อยู่เป็นประจำ ผู้เชี่ยวชาญซึ่งฝ่ายโจทก์นำสืบในศาลแถลงว่า แม้ตัวเลขหลักสุดท้ายอาจไม่ตรงกับโทรศัพท์ของ "อากง" แต่ตัวเลขหลักสุดท้ายไม่มีความสำคัญในการหมายตัวเครื่อง เพราะเป็นรหัสของฝ่ายวิศวกรรมเท่านั้น
แต่ปัญหายังมีอีกว่า หมายเลขเครื่องโทรศัพท์นั้น อาจลอกเลียนหรือใช้ซ้ำกันได้หรือไม่ ทางฝ่ายจำเลยเสนอเอกสารแก่ศาลว่า โอกาสจะเกิดการซ้ำซ้อนกันนั้นมีอยู่ แต่ศาลไม่รับฟัง เพราะไม่ได้นำผู้เชี่ยวชาญด้านโทรศัพท์มือถือ (หรือด้านอื่น) มาให้การยืนยันว่า ตัวเลขอีมี่นั้นลอกเลียนหรือลักลอบนำมาใช้โดยผู้อื่นได้
สรุปก็คือการต่อสู้ทางฝ่ายจำเลยนั้นเข้าไม่ถึง "ผู้เชี่ยวชาญ" นี่เป็นปัญหาที่เกิดกับคดีของคนจนเสมอ ไม่ว่าในฐานะโจทก์หรือจำเลย ที่เกิดขึ้นบ่อยๆ คือคดีที่เกี่ยวเนื่องกับผลกระทบจากการทำงานของแรงงาน ยากจะหาผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์มาให้การเป็นพยานได้ ฉะนั้นจึงเป็นปัญหาที่กระบวนการยุติธรรมต้องหาทางแก้ไข เพื่อให้คนจนๆ มีโอกาสเข้าถึงความยุติธรรมได้เท่าเทียมกับผู้อื่น
"อากง" ปฏิเสธข้อกล่าวหาตลอดมา และได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวออกมาสู้คดีหลายครั้ง หากไม่ได้รับอนุมัติตลอดมา แม้เมื่อมีคำพิพากษาแล้ว "อากง" ก็ยังคงยืนยันความบริสุทธิ์ของตน จึงได้ยื่นอุทธรณ์ และขอประกันตัวอีกหลายครั้ง ก็ไม่ได้รับอนุมัติอยู่นั่นเอง เนื่องจากศาลวินิจฉัยว่าเป็นคดีร้ายแรง อาจหลบหนีหรือไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ ความเจ็บป่วยของ "อากง" ทำให้ในที่สุดตัดสินใจถอนอุทธรณ์ เพื่อรอรับพระราชทานอภัยโทษ ด้วยความหวังว่าจะได้ออกจากคุกเร็วกว่า
การถอนอุทธรณ์คือการรับว่าตนได้ละเมิดกฎหมายจริง หรือรับสารภาพนั่นเอง นี่ไม่ใช่ความยุติธรรม ที่บุคคลต้องรับสารภาพเพราะความทุกข์ทรมานซึ่งเกิดจากการถูกจองจำในระหว่างต่อสู้คดี จะมีจำเลยอีกเท่าไรที่ต้องรับสารภาพด้วยเหตุเดียวกันนี้ เรามีกระบวนการยุติธรรมก็เพื่อลงโทษผู้กระทำผิด ตามกระบวนการซึ่งไม่แฝงการบีบบังคับให้รับสารภาพ ทั้งทางตรงและทางอ้อม
มิฉะนั้นกระบวนการยุติธรรมก็เป็นเพียงเรื่องจับแพะชนแกะ ไร้ความน่าเชื่อถือจนเป็นอันตรายต่อสังคมโดยรวม
ความล่าช้าในกระบวนพิจารณาคดี และสิทธิการประกันตัว เป็นปัญหาใหญ่ที่วงการตุลาการต้องนำมาทบทวนและปรับปรุง สิทธิการประกันตัวต้องมี "ยี่ต๊อก" ที่ชัดเจน และเท่าเทียมกันในทุกคดี ข้อกล่าวหาเรื่อง "สองมาตรฐาน" นั้น เมื่อใช้กล่าวหากระบวนการยุติธรรม ถือว่าเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงมาก เป็นหน้าที่ของฝ่ายยุติธรรมต้องแสดงให้ประจักษ์ว่าข้อกล่าวหานี้ไม่มีมูล
เมื่อกล่าวโดยรวม ประโยชน์สุขของสังคมโดยรวมจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างถึงรากถึงโคนทั้งระบบ หลักการสำคัญก็คือหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมทุกระดับ ต้องถูกสาธารณชนตรวจสอบได้ อาจโดยสร้างกลไกของผู้ชำนัญการแขนงต่างๆ เพื่อทบทวนตรวจสอบและรายงานแก่สาธารณชนทุกปี
ทั้งนี้ย่อมรวมถึงระดับสุดท้ายของกระบวนการยุติธรรมคือ คุก
"อากง" เป็นผู้ต้องหาและนักโทษที่มีโรคร้ายแรงประจำตัว ซึ่งควรได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิด ปัญหาอยู่ที่ว่า "อากง" ได้รับการตรวจรักษาที่เหมาะสมกับโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นอยู่หรือไม่ หากไม่ได้รับ เหตุใดจึงไม่ได้รับ รัฐจะต้องทำอะไรเพื่อช่วยให้ผู้ต้องหาและนักโทษในเรือนจำได้รับสวัสดิการที่เหมาะสมกับความเป็นมนุษย์ของเขา
อย่างไรก็ตาม เมื่อนึกถึงประเพณีตีตรวน และแบบปฏิบัติอีกนานาชนิดที่นักโทษได้รับในเรือนจำ ก็ทำให้แน่ใจได้ว่า "อากง" คงไม่ได้รับสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลที่เหมาะสมนัก นี่เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่หน่วยงานเกี่ยวข้องควรให้ความสนใจให้มาก
อันที่จริงเราอาจดูอารยธรรมของรัฐใดรัฐหนึ่ง ได้จากสวัสดิภาพของบุคคลที่รัฐเจตนาจะขจัดออกไปนั่นเอง
เรื่องสุดท้ายที่มีความสำคัญในกรณีมรณกรรมของ "อากง" ก็คือ ม.112 ในกฎหมายอาญาฝ่ายค้านรีบดักคอรัฐบาลทันทีที่มีข่าวมรณกรรมของ "อากง" ว่า รัฐบาลจะไม่นำกรณีนี้ไปเป็นเหตุแก้ไข ม.112 แต่มรณกรรมอันน่าสมเพชของ "อากง" นี่ต่างหาก ที่น่าจะตอกย้ำให้เห็นความจำเป็นต้องแก้ ม.112 อย่างชัดเจน เพราะนอกจากความบกพร่องในด้านกระบวนการยุติธรรม ซึ่งรวมถึงการลงทัณฑ์แล้ว ม.112 นี่แหละที่ยิ่งทำให้ความบกพร่องซึ่งมีอยู่แล้วนั้น ยิ่งบกพร่องมากขึ้นไปอีก
ดังเช่นข้อวินิจฉัยของศาลว่า คดีนี้เป็นคดีร้ายแรงจึงไม่อาจให้ประกันตัวได้ ที่ถูกวินิจฉัยว่าร้ายแรงก็เพราะ ม.112 ถูกจัดอยู่ในหมวดความมั่นคงแห่งรัฐโดยไม่มีเหตุผลเพียงพอ เทียบไม่ได้กับมาตราอื่นในหมวดเดียวกัน ความผิดในมาตรานี้ที่จริงแล้วเทียบได้กับการหมิ่นประมาทบุคคลเท่านั้น หาได้เกี่ยวข้องแต่อย่างใดกับความมั่นคงแห่งรัฐไม่ แต่เพราะไปรวมไว้ในหมวดความมั่นคงแห่งรัฐ จึงทำให้ศาลต้องวินิจฉัยว่าเป็นคดีร้ายแรง
ม.112 กำหนดโทษไว้สูงผิดปกติ คือสูงกว่าโทษที่ระบุไว้ในกฎหมายสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เสียอีก จึงไม่ได้สัดส่วนกับความผิดของผู้ต้องโทษ ยิ่งกว่านี้ทำให้คดีถูกพิจารณาว่า "ร้ายแรง" โดยปริยาย
เมื่อกำหนดให้ ม.112 อยู่ในหมวดความมั่นคงแห่งรัฐ ผู้ฟ้องร้องกล่าวโทษจึงเป็นใครก็ได้ (เทียบกับรู้ว่ามีผู้คิดประทุษร้ายทางกายประมุขของรัฐ ใครรู้ก็ควรรีบแจ้งความเพื่อป้องกันมิให้เกิดขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะเจ้าพนักงานเท่านั้น) ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย เวลานี้มีคนที่อยู่ในเรือนจำเพราะต้องคำพิพากษาหรือกำลังอยู่ระหว่างสู้คดีเพราะ ม.112 อีกเป็นร้อย เพราะถูกแจ้งความโดยบุคคลอื่น อันอาจเป็นศัตรูของตนเอง ยังไม่พูดถึงผู้ซึ่งตำรวจให้ประกันตัวออกไป เพราะถูกแจ้งความคดีเดียวกันนี้อีกรวมอาจถึงพัน
ความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้าเช่นนี้ เกิดขึ้นจากความบกพร่องของ ม.112 อย่างชัดแจ้ง เหตุใดจึงไม่ควรแก้ไข ม.112 เล่า มรณกรรมของ "อากง" ยิ่งกระตุ้นให้เห็นความจำเป็นที่จะต้องแก้ไข ม.112 ขึ้นไปอีก หากรัฐบาลจะได้รับแรงกระตุ้นนั้น ก็ไม่เห็นผิดตรงไหน (แต่น่าเสียดายที่รัฐบาลเลือกจะเล่นเกมนี้ตามที่ฝ่ายค้านกำหนด )
ความบกพร่องของ ม.112 ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อผู้ที่จงรักภักดีต่อสถาบันอย่างจริงใจ ก็น่าวิตกว่า ม.112 จะเป็นเหตุให้เสียพระเกียรติยิ่งกว่าเชิดชูพระเกียรติ ต่อผู้ที่ยอมรับสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบบการเมือง ก็น่าวิตกว่า ม.112 ถูกใช้ไปในทางขัดขวางระบอบประชาธิปไตยมากกว่าส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย
ต่อผู้ที่ขาดความจงรักภักดี หรือผู้ไม่ยอมรับประชาธิปไตยแบบที่มีประมุขเป็นพระมหากษัตริย์เท่านั้น ที่ยินดีกับ ม.112 เพราะทำให้เสื่อมพระเกียรติและอาจใช้สถาบันพระมหากษัตริย์ขัดขวางการเติบโตของประชาธิปไตยในเมืองไทย
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย