.
พหุวัฒนธรรมนิยม
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1655 หน้า 30
ไทยอาจเป็นประเทศเดียวในอุษาคเนย์ที่อ้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (homogeneity) ในการสร้างชาติ ไม่ได้หมายความว่าผู้นำไทยไม่ยอมรับว่ามีคนต่างชาติพันธุ์และวัฒนธรรมอาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินที่เป็นรัฐไทย ยอมรับด้วยความหนักอกทีเดียว แต่การเน้นย้ำแต่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้ ทำให้นโยบายที่มีต่อความหลากหลายดังกล่าวเหลืออยู่ทางเดียวคือ "กลืนชาติ" ให้เป็น "ไทย" เสีย
เปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านของเรา เวียดนามนับกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศตนเองได้ 54 ชาติพันธุ์ พม่านับได้ 135 ลาวนับได้ระหว่าง 147-236 อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ก็นับได้หลายร้อยและหลายสิบ และไม่อ้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางชาติพันธุ์เป็นรากฐานของความเป็นชาติแต่อย่างใด
แต่การนับหรือการยอมรับ ก็อาจไม่มีความหมายแตกต่างจากไทยที่ไม่ยอมนับและไม่ยอมรับสักเท่าไรก็ได้
ผมขออธิบายเรื่องนี้จากตัวอย่างของไทย
ในความเป็นจริง ในปัจจุบัน แม้ว่าโดยทางการ เราอาจไม่เน้นเรื่องความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แต่ในทางปฏิบัติเราให้ความสำคัญแก่พหุวัฒนธรรมมากพอสมควร รวมทั้งความหลากหลายของท้องถิ่นด้วย เพราะเราเห็นความหลากหลายเหล่านี้เป็น "ทุน" สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว
นับตั้งแต่หลัง 14 ตุลาคมเป็นต้นมา กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเข้ามาแบ่งสัดส่วนในการบริหารรัฐเพิ่มมากขึ้น และกลุ่มนี้เองที่มองเห็นศักยภาพของพหุวัฒนธรรมในทางธุรกิจ นโยบายกลืนชาติจึงหายไป รัฐยอมรับอัตลักษณ์ที่ "ไม่ไทย" ทั้งหลายของชนกลุ่มน้อยต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมให้รื้อฟื้น (และสร้างใหม่) ประเพณีต่างๆ ที่แสดงอัตลักษณ์อันแตกต่างของคนเหล่านั้นในพื้นที่สาธารณะ (จากท้องถนนไปถึงทีวี)
แต่ลองไปพิจารณาใกล้ๆ ดูสิว่า "วัฒนธรรม" ของชนกลุ่มน้อย (และท้องถิ่น) ซึ่งรัฐไทยมีขันติธรรม หรือแม้แต่ส่งเสริมให้แสดงออกคืออะไร
คือเครื่องแต่งกาย, เครื่องมือเครื่องใช้ในการหาเลี้ยงชีพและการใช้ชีวิต, ภาษิต, นิทานพื้นบ้าน, การร่ายรำ, เพลง, เครื่องดนตรี, ปราชญ์ชาวบ้าน (ซึ่งอายุเกิน 50 ไปแล้วทั้งนั้น), งานฉลองตามประเพณีและการละเล่น, ภาษา, พิธีกรรม ฯลฯ
ทั้งหมดคือวัตถุ หรืออะไรที่จับต้องได้ใกล้เคียงกับวัตถุทั้งสิ้น เมื่อไรที่เราลดวัฒนธรรมลงให้เหลือแต่วัตถุ เมื่อนั้นเรากำลังทำให้วัตถุเหล่านั้นไม่มีบริบทและไม่มีประวัติศาสตร์
การโล้ชิงช้าของชาวอาข่าในวันขึ้นปีใหม่ มีความหมายอย่างไรต่อสังคมอาข่า ตอกย้ำสถานะและบทบาทของบุคคล และเพศสถานะอย่างไร โครงสร้างของสถานะและบทบาทนั้นๆ ดำรงอยู่ได้ท่ามกลางสังคม-เศรษฐกิจ-การเมืองอย่างไร ได้ปรับเปลี่ยนมาอย่างไรและจะต้องทำอย่างไร จึงจะทำให้สามารถปรับเปลี่ยนต่อไปได้
โล้ชิงช้าที่ไม่มีบริบทและไม่มีประวัติศาสตร์ จึงไม่ได้ให้พลังทางวัฒนธรรมแก่ชาวอาข่าแต่อย่างใด บอกไม่ได้ว่า ทำไมเขาจึงต้องอยู่บนที่สูง ทำไมเขาจึงควรปกครองตนเอง ทำไมเขาจึงควรจัดการศึกษาให้แก่ลูกหลานเขาเอง หรือทำไมเขาจึงควรมีอำนาจกำกับรัฐได้เท่ากับคนไทยพื้นราบ
แต่ดีสำหรับการถ่ายรูปของนักท่องเที่ยว
"พหุวัฒนธรรมนิยม" ในลักษณะนี้ ก็คือการจัดการกับความหลากหลายทางชาติพันธุ์อีกอย่างหนึ่ง ที่ไม่เหมือนกับการ "กลืน" แต่ทำให้ความแตกต่างทางวัฒนธรรมไร้ความหมายทางการเมืองได้เท่าๆ กัน (depoliticized) ความเป็นอาข่า ไม่ได้เพิ่มอำนาจต่อรองในด้านการใช้ทรัพยากร หรือด้านนโยบายสาธารณะอื่นใด
"แต่ผมไม่ขัดข้องที่คุณจะแต่งตัวสวยๆ แล้วเรียกตัวเองว่าอาข่า และเพื่อให้คุณสบายใจ ผมก็จะหยุดเรียกคุณว่าอีก้อนับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป"
ความเป็นอาข่าที่รัฐไทยยอมรับ จึงมีแค่วัตถุธรรมทั้งหลายซึ่งสามารถนำไปขายนักท่องเที่ยวได้ แต่ไม่รวมวัฒนธรรมทั้งหมดของอาข่า ซึ่งทำให้เกิดสิทธิในที่ทำกิน, ในความเป็นพลเมือง, ในการปรับเปลี่ยนเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงตามวิถีทางของตน ฯลฯ
ดังนั้น ในช่วงเดียวกับที่ดูเหมือนพหุวัฒนธรรมนิยมได้รับการยอมรับจากรัฐมากขึ้น ชาวเขาจำนวนมากกลับถูกบังคับด้วยกำลัง (ทหาร) ให้อพยพลงจากที่สูง มาสู่นิคมในพื้นราบซึ่งทางการจัดไว้ให้ นอกจากต้องสูญเสียวัฒนธรรมของเขาซึ่งเกิดและดำรงอยู่ได้ในระบบนิเวศน์ที่สูงแล้ว เขาก็ยังไม่มีพลังในการดิ้นรนในวัฒนธรรมพื้นราบของโลกปัจจุบันได้ด้วย เพราะรัฐปฏิเสธความเป็นพลเมืองของเขา จำนวนมากของชาวเขาจึงไม่มีบัตรประชาชน
แม้อาข่าอาจจะยังโล้ชิงช้าบนพื้นราบอยู่ต่อไป ชิงช้าก็คือชิงช้า จะโล้โดยชาวอาข่า หรือ คุณชมพู่ อารยา เอ ฮาร์เกต ก็เหมือนกัน หรือที่จริงน่าตื่นเต้นกว่าตั้งแยะ
และในช่วงที่ชาวเขาถูกบังคับให้อพยพลงมาพื้นราบนั้น นายทุนและชนชั้นนำทางการเมือง-เศรษฐกิจ ก็รุกคืบขึ้นไปสู่ที่สูงแทน เพื่อสร้างบ้านพักตากอากาศและรีสอร์ตบนพื้นที่ต้นน้ำหรือใกล้ต้นน้ำเหล่านั้น
พหุวัฒนธรรมนิยมแบบนี้ จึงไม่ต่างอะไรกับวัฒนธรรมเดี่ยวที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ผู้ที่มีวัฒนธรรมแตกต่างจากชนส่วนใหญ่ ไม่อาจขัดขวางการแย่งชิงทรัพยากร ในขณะเดียวกันก็ไม่อาจใช้วัฒนธรรมของตนเองในการปรับตัวเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ-สังคมได้
เรื่องนี้คล้ายๆ กับเรื่อง "ภูมิปัญญาท้องถิ่น" ที่เราเห่อกันมาหลายปีแล้ว สิ่งที่เราเรียกว่าภูมิปัญญาและนำมาสอนกันในโรงเรียนและทีวี ที่จริงแล้วก็เป็นเพียงส่วนเดียวของระบบการดำรงชีวิตและสังคมของคนทั้ง "ระบบ" ไม่เฉพาะแต่การทำมาหากินเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการจัดองค์กรทางสังคมและวัฒนธรรม เพื่อหาประโยชน์จากทรัพยากรและการแบ่งปันประโยชน์นั้นกัน อย่างที่พอจะรับได้แก่คนในท้องถิ่น จะทำอย่างนั้นได้ก็ต้องมีอำนาจในท้องถิ่นระดับหนึ่ง กระจายอยู่กับคนกลุ่มต่างๆ
แต่ภายใต้รัฐรวมศูนย์ดังที่เป็นอยู่ในเมืองไทย การรื้อฟื้นภูมิปัญญาท้องถิ่นจะรวมไปถึง "ระบบ" การเมือง-สังคม-เศรษฐกิจทั้งหมดเช่นนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ พหุวัฒนธรรมของภูมิปัญญาท้องถิ่นจึงเหลือแต่วัตถุ เช่น ผ้าทอมือ, ผ้าย้อมมือ, เครื่องมือจับปลา, ครกตำข้าว, หรือการฟ้อนเล็บ
จะเอา "ตุ้ม" ไปจับปลาในแม่น้ำที่ถูกสร้างเขื่อนไฟฟ้าไปแล้วได้อย่างไร แต่อำนาจตัดสินใจที่จะสร้างเขื่อนไม่ได้อยู่ในมือชาวบ้านท้องถิ่นอีกแล้ว "ตุ้ม" จึงไม่เหลือหน้าที่อะไรอีก นอกจากเป็นวัสดุของ "ภูมิปัญญาท้องถิ่น" ซึ่งต้องเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ชาวบ้าน
ก็เรื่องเดียวกันนะครับ วัฒนธรรมถูกทำให้ไม่มีบริบท ไม่มีประวัติศาสตร์ และด้วยเหตุดังนั้น จึงไม่มีพลังทางการเมืองใดๆ ด้วย
ความแตกต่างในพหุวัฒนธรรมก็ยังมีอยู่ แต่เป็นความแตกต่างที่ถูกทำให้เซื่อง และถูกปิดล้อมให้อยู่ในอาณาบริเวณจำกัดของพิพิธภัณฑ์ และเวทีการแสดง
น่าสังเกตด้วยว่า การยอมรับพหุวัฒนธรรมแบบนี้ไม่สามารถ "กลืน" ชาวมลายูในภาคใต้ได้ ชาวมลายูยืนยันว่า วัฒนธรรมของเขาเป็นวิถีชีวิตหรือองค์รวมทั้งหมด ไม่ใช่แค่ภาษา, ศาสนา, เครื่องแต่งกาย, ลิเกฮูลู, ไก่กอแระ, ฯลฯ ดังนั้น จึงต้องหมายถึงอำนาจในการจัดการชีวิตและความฝันของตนเองด้วย
พหุวัฒนธรรมนิยมแบบที่รัฐไทยถนัด จึงไม่สามารถทำให้พวกเขายอมรับว่า ความเป็นมลายูมุสลิมของเขาได้รับการยอมรับอย่างเท่าเทียมในรัฐไทยแล้ว
วัฒนธรรมไม่ได้ทำให้เกิดอัตลักษณ์ที่แตกต่างของตนเองเท่านั้น แต่ทำให้เกิดสิทธิในอันที่จะ "ต่าง" ด้วย เช่นเพราะเป็นมลายู, หรืออาข่า, หรือม้ง, หรือกูย ฯลฯ ทำให้เกิดสิทธิในการจัดการที่ทำกินแตกต่างจากที่กฎหมายไทยกำหนด รัฐที่ยอมรับแนวคิดพหุวัฒนธรรมนิยม ต้องพร้อมจะต่อรองและปรับตัวให้ความต่างนั้นดำรงอยู่ได้ โดยไม่เป็นอันตรายต่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของรัฐ
แต่รัฐใดที่ห้าม "ต่าง" นอกจากเครื่องแต่งกาย, การฟ้อนรำ, หรือภาษา ฯลฯ ที่เหลือต้องอยู่ในรูปเดียวกันตามที่ศูนย์กลางกำหนดผู้เดียว ลักษณะพหุวัฒนธรรมก็ไร้ความหมาย นอกจากตื่นตาตื่นใจแก่นักท่องเที่ยวเท่านั้น
พหุวัฒนธรรมนิยมจอมปลอมเช่นนี้ ไม่ได้เกิดเฉพาะในชาติไทยที่เน้นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเท่านั้น ในประเทศอาเซียนอื่นๆ ซึ่งประกาศความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของรัฐชาติตนเอง ก็ไม่สู้จะต่างกันนัก
สปป.ลาวแบ่งประชาชนของตนออกเป็นสามกลุ่มคือลาวลุ่ม, ลาวเทิง และลาวสูง เหมือนจะยอมรับกลุ่มชาติพันธุ์อันหลากหลายเหล่านั้นเป็น "ลาว" เหมือนกันหมด แต่คนบนที่สูง (ทั้งระดับกลางและระดับบน) ไม่เคยเรียกตัวเองว่า "ลาว" ส่วนใหญ่เป็นชนชาติมอญ-เขมร ซึ่งมีชื่อเรียกตนเองหลายอย่าง อีกส่วนหนึ่งเป็นม้งเสียมาก
เป็น "ลาว" แล้ว สิทธิต่างๆ ที่เคยมียังมีอยู่หรือไม่ โดยเฉพาะสิทธิในการกำหนดชีวิตของตนเอง จำนวนไม่น้อยของคนกลุ่มนี้เสียที่ทำกิน หรือได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนไฟฟ้าจำนวนมากในลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง ทั้งยังมีโครงการจะสร้างต่อไปอีกหลายสิบเขื่อน
มีงานศึกษาทางวิชาการถึงลักษณะพหุวัฒนธรรมนิยมของพม่า, เวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งก็พบเหมือนกันว่า ไม่สู้จะต่างอะไรจากประเทศไทย คือต่างยอมรับวัฒนธรรมที่เป็นวัตถุฉาบฉวย แต่ปิดล้อมและปลดอาวุธวัฒนธรรมส่วนอื่นๆ เสีย เพื่อให้ความต่างไร้สิทธิและอำนาจ
เวลาพูดถึงพหุวัฒนธรรมนิยมในรัฐ เรามักคิดถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์อยู่เสมอ ผมจึงอยากเตือนไว้ด้วยว่าในสังคมปัจจุบัน วัฒนธรรมที่หลากหลายไม่ได้จำกัดอยู่แต่ชาติพันธุ์เพียงอย่างเดียว จำเป็นต้องคิดถึง "วิถีชีวิต" ที่แตกต่างด้วย แม้ในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน อาชีพในเศรษฐกิจสมัยใหม่มีความหลากหลายมาก พอๆ กับความเชื่อ, ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ, วิถีการใช้ทรัพยากร ฯลฯ
พหุวัฒนธรรมนิยมที่ไม่จอมปลอมต้องคิดถึงความแตกต่างตรงนี้ไม่น้อยไปกว่าความแตกต่างด้านชาติพันธุ์ เพราะว่าที่จริงแล้วความแตกต่างตรงนี้ก็ทำให้เกิด "วัฒนธรรม" ที่แตกต่างกันอย่างมากด้วยเหมือนกัน คนที่ใช้ทรัพยากรโดยตรงซึ่งต่อต้านเหมืองโพแทสที่อุดรฯ, ต่อต้านโครงการขนาดใหญ่ของรัฐในอีสานใต้ หรือต่อต้านท่าเรือน้ำลึกที่สตูล มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่างจากผู้ถืออำนาจในกรุงเทพฯ อย่างมาก และ "วัฒนธรรม" ของเขาควรได้รับความเคารพ
เช่นเดียวกับคนอีกมากที่หลุดไปจากเกษตรยังชีพ กลายเป็นคนในตลาดเต็มตัว จึงต้องการสิทธิเสรีภาพทางการเมืองเพื่อต่อรองในตลาดอย่างเต็มที่ เช่นเดียวกับคนชั้นกลางในเมือง หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือส่วนใหญ่ของคนเสื้อแดง
โดยสรุป พหุวัฒนธรรมนิยมไม่ใช่การครอบงำแบบเนียนๆ แต่คือการให้ความเคารพแก่ความแตกต่าง และเปิดพื้นที่อย่างเท่าเทียมแก่ความแตกต่างของคนด้อยอำนาจทุกกลุ่ม พหุวัฒนธรรมนิยมเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยนั่นเอง
(ได้แนวคิดหลักจาก Hayami Yoko, "Introduction : Notes Towards Debating Multiculturalism in Thailand and Beyond." ใน Redefining "Otherness" from Northern Thailand.)
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย