http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-05-20

บาดุย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

บาดุย
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1657 หน้า 30


ชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนน้อยที่สุดในอินโดนีเซียคือพวก "บาดุย" รวมทั้งหมดแล้วอาจมีไม่เกิน 1,000 คน เรื่องราวของพวกเขามีคนรู้น้อยมาก รวมทั้งนักวิชาการที่พยายามเข้าไปศึกษามาเกือบ 200 ปีแล้ว ก็แทบจะหาข้อมูลอะไรเกี่ยวกับพวกเขาได้ยาก เพราะบาดุยปิดตัวเอง ไม่อยากคบหาสมาคมกับใคร เพราะเกรงว่าจะทำให้ตัวต้อง "แปดเปื้อน" ด้วยสิ่งที่เรียกกันว่าอารยธรรมในปัจจุบัน

ชาติพันธุ์กลุ่มนี้ตั้งภูมิลำเนาอยู่ในซุนดา ไม่ไกลจากเทือกเขาต่างๆ แถบเมืองโบกอร์นัก คือบนทิวเขาบาดุย ซึ่งมีแม่น้ำชื่อเดียวกันในหุบ ชื่อของชนเผ่าจึงมาจากชื่อสถานที่ซึ่งพวกเขาเห็นว่าเป็นคำที่ออกจะเหยียดๆ เพราะพวกเขาเรียกตัวเองว่าคน "ราวาจัน" จะว่าชื่อนี้เป็นชื่อที่สูงส่งก็ไม่เชิงทีเดียว เพราะเป็นชื่อของหมู่บ้านที่เขาอาศัยอยู่เท่านั้นเอง บาดุยเป็นชื่อภูเขา คงทำให้รู้สึกว่าตัวเป็นชาวป่าชาวเขา ในขณะที่อย่างน้อยราวาจันก็เป็นชื่อบ้าน ฟังดูเป็นชาวบ้านกว่าเท่านั้นกระมัง 
พวกเขาเป็นใครมาจากไหนแน่ ไม่มีใครรู้ชัด แต่มีตำนานที่เล่ากันมาในหมู่พวกเขาเองว่า เมื่อตอนเมืองทางตอนเหนือของซุนดาเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ผู้ปกครองมุสลิมขยายอำนาจเข้าไปส่วนในของเกาะชวา อาณาจักรฮินดู-พุทธของซุนดาขณะนั้นคือปะจาจะรัน ถูกมุสลิมโจมตีแตกสลาย ประชาชนและผู้ปกครองถูกบังคับให้เปลี่ยนศาสนา คนกลุ่มหนึ่งไม่ยอมเปลี่ยนจึงต้องหลบหนีไปอยู่ตามป่าเขา เลือกทำเลได้ที่ภูเขาบาดุยนี้ อันเป็นที่ห่างไกลแต่อุดมสมบูรณ์ และอยู่กันมาโดยไม่ถูกรบกวนจนถึงทุกวันนี้

ผมเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับอินโดนีเซียมาพอสมควร แต่ไม่เคยได้ยินกลุ่มชาติพันธุ์บาดุยมาก่อนเลย เพิ่งได้อ่านพบในหนังสือที่อดีตเอกอัครราชทูตสิงคโปร์เขียนเกี่ยวกับอินโดนีเซีย ออกจะตื่นเต้น จึงอยากนำมาเล่าต่อ



นักวิชาการสามารถพิสูจน์ตำนานนี้ได้เพียงว่า พวกบาดุยน่าจะเป็นชาวซุนดาอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะภาษาของเขาเป็นภาษาซุนดาเก่าแน่ ส่วนเรื่องการหนีมุสลิมนั้นไม่ทราบว่าจริงหรือไม่ แต่จนถึงทุกวันนี้พวกเขาก็เป็นชาวพื้นเมืองจำนวนน้อยนิดบนเกาะชวา ที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม 
ศาสนาที่พวกเขานับถือคือศาสนาที่อาจเรียกกว้างๆ (และง่ายๆ) ได้ว่าคือศาสนา "พื้นเมือง" แต่ในขณะเดียวกันก็มีร่องรอยว่าผสมปนเปด้วยศาสนาจากภายนอกคือฮินดูและพุทธด้วยแน่ แม้แต่ศาสนาอิสลามเองก็อาจมีอิทธิพลในความเชื่อของเขาด้วย เพราะเขาเรียกพระเจ้าสูงสุดของเขาว่า Batara Tunggal แปลตามตัวคือสมเด็จพระผู้เป็นเจ้า (ภัทระ) อันเป็นหนึ่งเดียว

เท่าที่คนภายนอกพอจะรู้เรื่องศาสนาและสังคมของพวกเขาก็คือ ดินแดนของพวกบาดุยนั้นแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนที่อยู่ข้างในสุด เป็นดินแดนต้องห้าม คนนอกจะเข้าไปไม่ได้ (เรียกว่า Badui Dalam แปลว่า บาดุยส่วนใน) ประกอบด้วยหมู่บ้านสามหมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านมีหัวหน้าเรียกว่า ปูอุน ซึ่งมีบริวารคอยช่วยเหลือในการปกครองดูแลลูกบ้าน ชาวบ้านเชื่อว่าปูอุนแต่ละคนล้วนสืบเชื้อสายมาจากบาตาราตุงกัล ฉะนั้น จึงมีอิทธิฤทธิ์บางอย่าง เช่น เรียกฝนหรือหยุดฝนได้ ตลอดจนมีญาณทิพย์อาจล่วงรู้อะไรต่อมิอะไรได้หมด ทั้งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ซึ่งฝรั่งเพิ่งมารู้ในภายหลัง และใครล่วงละเมิดข้อห้ามต่างๆ ของชนเผ่า 
ในสามหมู่บ้านของบาดุยส่วนในนี้ จะมีครัวเรือนรวมกันเกิน 40 ครัวเรือนไม่ได้ เพราะฉะนั้น หากมีครัวเรือนเพิ่มขึ้น บาดุยก็จะตัดสินว่าครัวเรือนใดจะต้องย้ายออกไป 
การเพาะปลูกไม่มีการทดน้ำ ซ้ำยังค่อนข้างต่อต้านการทดน้ำด้วย เพราะเชื่อว่าปูอุนมีอิทธิฤทธิ์เรียกฝนหรือห้ามฝนได้ จึงไม่จำเป็นต้องมีการชลประทาน บาดุยมองการชลประทานว่าผิดธรรมชาติ และไม่ยอมให้นายอำเภอในเขตใกล้เคียงพัฒนาชลประทาน หากต้องมาละเมิดน้ำส่วนที่ผ่านหมู่บ้านของบาดุย การเลี้ยงสัตว์เป็นการละเมิดข้อห้ามของบาดุย มีสัตว์เลี้ยงอยู่เพียงสุนัข, เป็ดและไก่ เท่านั้น และด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่ค่อยได้ใช้เครื่องมือในการเพาะปลูก (น่าจะเป็นนาหว่าน) และคงแทบไม่ได้เตรียมดิน เพราะจะใช้แม้แต่จอบก็ถือว่าละเมิดข้อห้ามเหมือนกัน

เมื่อดูจากข้อกำหนดมิให้สามหมู่บ้านในบาดุยส่วนในมีมากกว่า 40 ครัวเรือน บวกกับข้อห้ามต่างๆ แล้ว ก็พอจะเห็นได้ว่า ชีวิตของเขาคงอยู่กันอย่าง "พอเพียง" จริงๆ คืออาศัยทรัพยากรจากธรรมชาติโดยตรงเป็นส่วนใหญ่ และด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่สามารถรองรับคนได้เกิน 40 ครัวเรือน เพราะต้องจำกัดคนให้พอดีกับทรัพยากรที่มีอยู่ 
เมื่อครัวเรือนส่วนเกินถูกขับให้ออกจากบาดุยส่วนใน จะย้ายไปอยู่ที่ไหน?


ก็ย้ายไปยังอยู่ในบาดุยส่วนนอก ซึ่งมีหมู่บ้านต่างๆ ถึง 24 หมู่บ้าน ในบาดุยส่วนนอกนั้น ก็มีข้อห้ามในการดำเนินชีวิตไม่สู้ต่างจากบาดุยส่วนในนัก ความแตกต่างที่สำคัญก็คือ ผู้ปกครองหมู่บ้านไม่ใช่ปูอุนซึ่งสืบเชื้อสายมาจากบาตาราตุงกัล อีกทั้งการติดต่อกับคนนอกพอจะทำได้บ้าง เพราะไม่ถึงกับหวงห้ามมิให้คนนอกได้เข้าไป อันที่จริงข้อมูลเกี่ยวกับบาดุยที่คนนอกมีอยู่ในเวลานี้ ไม่ว่าจะมาจากนักวิชาการหรือพระสอนศาสนา ก็ล้วนมาจากบาดุยส่วนนอกนี่เอง

ผมเดาเอาเองว่า เพราะบาดุยส่วนนอกมีหมู่บ้านเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ จนถึง 24 หมู่บ้าน แสดงว่าข้อห้ามเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรต่างๆ ก็น่าจะผ่อนคลายลงบ้าง ไม่ต้องยึดถือการไม่ปรับเปลี่ยนธรรมชาติเลยอย่างบาดุยส่วนใน มิฉะนั้นก็จะไม่มีทรัพยากรพอกินกันได้ แต่จากข้อมูลที่ได้อ่านก็ไม่ชัดว่า เขายอมผ่อนปรนในเรื่องอะไรบ้าง 
เพราะบาดุยส่วนในเป็นส่วนที่คนนอกเข้าไปไม่ได้ แม้แต่ปูอุนก็ไม่ยอมพบคนนอก และไม่เคยมีคนนอกคนใดได้เคยพบปูอุนเลย (ยกเว้นคนเดียวซึ่งจะกล่าวถึงข้างหน้า)

ข้อห้ามในชีวิตของบาดุยนั้นมีหลายอย่าง จะแตะต้องเงินตราไม่ได้เป็นอันขาด ไม่รับของขวัญจากใคร ไม่ขึ้นพาหนะใดๆ ทั้งสิ้น ห้ามดื่มเหล้าและสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด ไม่มองผู้หญิงด้วยตัณหา ไม่นอนบนสิ่งใดนอกจากเสื่อซึ่งต้องลาดบนพื้นดินเท่านั้น ไม่กินอาหารเย็นก่อนค่ำ ไม่นุ่งผ้าสีอื่นใดนอกจากขาว, น้ำเงิน และดำ นอกจากข้อห้ามในการดำเนินชีวิตแล้ว ยังมีข้อห้ามหรือศีลในศาสนาซึ่งคล้ายๆ กับศีลในพุทธศาสนา เช่น ห้ามฆ่า, ห้ามขโมย, ห้ามผิดผัวผิดเมีย และห้ามใช้ความรุนแรง เป็นต้น

ชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายเช่นนั้น น่าจะทำให้ชาวบาดุยมีอายุสั้นและสุขภาพไม่ค่อยดี แต่บาดุยชราซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลแก่ผู้เขียนหนังสือเล่มที่ผมได้อ่าน อายุตามคำบอกของเขาคือ 175 ปี ผู้เขียนหนังสือบอกว่าไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ แต่ยอมรับว่าตั้งแต่เกิดมา ยังไม่เคยเห็นใครที่เหี่ยวย่นมากเท่ากับปู่ยักมินซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลมาก่อนเลย

ปู่ยักมินบอกว่าในป่าซึ่งพวกเขามีชีวิตอยู่นั้น อุดมด้วยพืชสมุนไพรบวกกับความรู้ของปูอุน ก็สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บของคนในหมู่บ้านได้อย่างไม่มีปัญหา ยกเว้นแต่ฝีดาษซึ่งไม่มียารักษา แต่ถ้าเป็นฝีดาษแล้วไม่ตายก็ยิ่งดี เพราะพระเจ้าของเขาก็มีใบหน้าปุปะเหมือนกัน แสดงว่าได้รับความรักจากพระเจ้าเป็นพิเศษ



ข้อห้ามสำคัญอีกอย่างหนึ่งของบาดุย คือห้ามการอ่านเขียนหนังสือ เพราะเชื่อว่าการศึกษาที่ต้องอ่านเขียนได้ย่อมนำความเสื่อมมาให้ การศึกษาที่ประเสริฐต้องเรียนรู้จากธรรมชาติและวัฒนธรรมประเพณีที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ผมชอบข้อห้ามนี้เป็นพิเศษ เพราะเป็นปราการป้องกันมิให้รัฐใดเข้ามาครอบงำบาดุยได้เลย จะหาอาวุธของรัฐใดที่กำราบประชาชนได้เด็ดขาดยิ่งไปกว่าการศึกษาคงยาก โดยเฉพาะรัฐสมัยใหม่

ความพยายามที่จะอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ และเฝ้าระวังรักษาจิตใจตนเองด้วยการทำสมาธิและถือศีลเคร่งครัด ทำความลำบากใจแก่รัฐบาลอินโดนีเซียพอสมควร ดังที่เล่าแล้วว่า บาดุยไม่ยอมให้นายอำเภอข้างๆ เข้ามาสำรวจลำน้ำเพื่อสร้างระบบชลประทาน อดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตเคยขอพบปูอุนทั้งสาม โดยเดินทางมาเจรจากันในบาดุยส่วนนอก ประธานาธิบดีเสนอโครงการพัฒนามากมายหลายอย่างแก่บาดุย ทั้งระบบชลประทานที่ทันสมัย ถนนหนทาง โรงเรียน และสิทธิพิเศษต่างๆ แก่บาดุยเพื่อ "พัฒนา" ปูอุนฟังแล้วก็บอกว่า ไม่เอาล่ะ ขออยู่อย่างเดิมดีกว่า ซูฮาร์โตต้องกลับไปโดยไม่สามารถเปิดดินแดนบาดุยให้แก่การพัฒนาตามโครงการของรัฐได้

แต่แทนที่ซูฮาร์โตจะสั่งทหารลุย กลับยอมเลิกรากันไปโดยดี และปล่อยให้บาดุยดำเนินชีวิตตามอุดมคติของเขาสืบมาจนถึงทุกวันนี้ ข้อนี้จะเป็นความดีส่วนตัวของประธานาธิบดีซูฮาร์โตหรือไม่ผมไม่ทราบ เพียงแต่อยากเตือนว่า บาดุยเป็นชนส่วนน้อยระดับขี้ผงของอินโดนีเซีย จำนวนน้อยนิดจนไร้ความหมาย จึงไม่คุกคามความมั่นคงของรัฐหรือของรัฐบาลแต่ประการใด ซ้ำยังไม่ฝักใฝ่กับการเมืองของฝ่ายใด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายต่อต้านรัฐบาล จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องไปลุยบาดุย 

แต่ข้อที่น่าสรรเสริญอยู่ตรงที่ว่า หากมองจากธุรกิจการท่องเที่ยว ดินแดนบาดุยเป็น "ทรัพยากร" การท่องเที่ยวที่ทำกำไรได้มโหฬารแน่ ฉะนั้น แทนที่จะสั่งทหารลุย ก็อาจสั่งองค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวอินโดนีเซียลุยแทนก็ได้ นอกจากได้เงินแล้ว ในไม่ช้าบาดงบาดุยก็คงจะเละไปเองด้วยกล้องถ่ายรูปของนักท่องเที่ยว 
ถึงตอนนั้นอยากพัฒนาอะไรในดินแดนตรงนั้น ก็คงไม่มีใครขวาง



ความยับยั้งชั่งใจของซูฮาร์โตนั้นอาจมีมูลมาจากอีกทางหนึ่ง นั่นคือวัฒนธรรมของบาดุยนั้นค่อนข้างจะใกล้เคียง หรืออย่างน้อยก็เป็นที่เข้าใจได้ของวัฒนธรรมเก่าของชาวชวา แม้ว่าในทุกวันนี้เกือบ 100% ของชาวชวาเป็นมุสลิม แต่จำนวนมากก็เป็นมุสลิมเพียงในนามเท่านั้น ในวิถีชีวิตจริงกลับปฏิบัติศาสนาเก่าซึ่งเรียกว่าเกอะบาตินัน (kebatinan) มีการทำสมาธิ, นับถือวัตถุศักดิ์สิทธิ์บางอย่างที่ถือเป็นมรดกตกทอด (เช่น กริช), กระทำทุกรกิริยาบางอย่างเพื่อชำระล้างจิตใจตนเอง, รวมทั้งเชื่อในอำนาจลี้ลับศักดิ์สิทธิ์ด้วย ซูฮาร์โตเองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่นับถือเกอะบาตินันของชวาโบราณ

ฉะนั้น การลุยบาดุยด้วยกำลังทหารหรือกำลังทุนท่องเที่ยว จึงอาจทำความไม่พอใจให้แก่ชาวชวาอีกจำนวนไม่น้อยได้

จะด้วยเหตุใดก็ตาม ในโลกสมัยใหม่ที่คนเล็กๆ มีโอกาสได้ใช้ชีวิตตามอุดมคติของตนเองไปตามลำพังมีไม่สู้มากนัก

นี่ก็เป็นความประทับใจอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ผมนำเอาเรื่องของบาดุยมาเล่าให้ฟัง



.