http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-05-27

ได้เวลาขับเคลื่อน คุ้ม คอก ข่วง! โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.

ได้เวลาขับเคลื่อน คุ้ม คอก ข่วง !
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1658 หน้า 76


ยังไม่มีข่าวคราวอะไรคืบหน้า เกี่ยวกับกรณีของ "คุก" หรือ "คอก" กลางเวียงเชียงใหม่ ที่สร้างทับ "คุ้ม" หรือ "หอคำหลวง" ว่าเมื่อไหร่จักขับเคลื่อนไปสู่การทำเป็น "ข่วง" หรือลานกิจกรรม นับแต่ได้เขียนบทความเรื่อง "คุกของใครครอบทับไว้เหนือหอคำ " ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีกลาย

เว้นเสียแต่การต่อสู้อย่างเข้มข้นของนักวิชาการท้องถิ่นที่เข้มแข็งเพียงกลุ่มเดียว ในนามของศูนย์สร้างสรรค์เมืองเชียงใหม่ นำขบวนโดย ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง กับ ดร.ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ 
แต่จวบจนบัดนี้ก็ยังไม่มีการขับเคลื่อนใดๆ ของภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ช่วงเดือนสิงหาคมปีที่แล้วอาจมีการอ้างว่าเราเพิ่งผ่านพ้นการเลือกตั้งมาได้ไม่นาน นายกฯ หญิงคนเมืองเชียงใหม่ยังตั้งตัวไม่ติด ขอลุยน้ำท่วมเฉียบพลัน กับขอเยียวยาปากท้องประชาชนก่อน

กาละเลยล่วงเชื่อว่าปัญหาต่างๆ เริ่มเข้ารูปเข้ารอยลงบ้างแล้ว น่าจะครึ้มอกครึ้มใจพอที่จะหยิบยกประเด็นเรื่อง คุ้ม ข่วง คอก มาปัดฝุ่นคุยกันอย่างเป็นกิจจะลักษณะอีกครั้ง



"อนุสรณ์คอก" กับ "ตูลสแล็ง"

อุปสรรคที่คอยขัดขวางไม่ให้เกิดการขับเคลื่อน "คอก" สู่ "ข่วง" อย่างเป็นรูปธรรมเสียทีนั้น มีอยู่เพียงเรื่องเดียว
ไม่ใช่ประเด็นขัดแย้งว่าจะ "ย้าย" หรือ "ไม่ย้าย" เพราะทั้งกรมราชทัณฑ์และเทศบาลนครเชียงใหม่ต่างเตรียมแผนให้ย้ายทัณฑสถานหญิงออกไปแน่นอนในเร็ววัน 
แต่คำถามที่ตามมาก็คือ ภายหลังจากที่ย้ายนักโทษหญิงออกไปแล้วจะ "รื้อ" หรือ "ไม่รื้อ" คุกนั้นต่างหากเล่า

ตราบที่ในทุกเวทีเสวนา ยังมีคนกลุ่มหนึ่งคอยเสนอแย้งว่าควรเก็บคุกนั้นไว้ทำพิพิธภัณฑ์แนว "อนุสรณ์คอก" มากกว่าจะรื้อทำ "ข่วง" ก็ยิ่งทำให้การตัดสินใจย้ายทัณฑสถานหญิงต้องเยื้อเวลาออกไปอย่างไม่มีกำหนด 
ซ้ำชอบอ้างโมเดลของพิพิธภัณฑ์ Toul Sleng (สำเนียงเขมรอ่าน "ตูลสแล็ง" แต่มักได้ยินคนไทยอ่าน "ตวลสเล็ง") ซึ่งเป็นอาคารโรงเรียนเก่าที่ผู้นำเขมรแดงปรับมาเป็นแดนประหารประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่คิดเห็นต่างกว่าแสนชีวิต 
ฝ่ายไม่เอาข่วงอ้างว่า ตูลสแล็ง เป็นสถานที่ที่สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้แก่ชาวเขมรยิ่งกว่าหอคำหลวงเชียงใหม่หลายเท่า แต่ทำไมกัมพูชาเขายังยอมให้ตั้งประจานอยู่กลางกรุงพนมเปญ ก็เพราะในท้ายที่สุดมันสามารถเก็บค่าเข้าชมจากนักท่องเที่ยวได้เม็ดเงินมหาศาลใช่หรือไม่?

การเอาคอกที่กำหนดโดยชาวสยามซึ่งทับคุ้มของชาวเชียงใหม่ ไปเปรียบเทียบกับ ตูลสแล็ง ซึ่งเป็นการใช้สถานที่ราชการแห่งหนึ่งของเขมรโดยชาวเขมรด้วยกันนั้น ดูเหมือนจะผิดบริบทไปสักหน่อย 
การเข้ามาของสยามเป็นความจงใจทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของเวียงแก้วหรือพระบรมมหาราชวังของคนล้านนา แต่ชาวสยามก็ไม่ได้รบราฆ่าแกงประชาชน 
ผิดกับเขมรแดงที่ใช้ ตูลสแล็ง เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมแห่งโลกเผด็จการ ใช้เป็นสถานที่กำจัดปัญญาชนและชนชั้นกระฎุมพีในเมืองหลวง
อาคารที่ถูกปรับให้เป็นพิพิธภัณฑ์นั้นจึงไม่ได้มีคุณค่าต่อจิตวิญญาณของชาวเขมร เป็นเพียงโรงเรียนเก่าๆ ธรรมดาที่ติดลวดหนาม อีกทั้งการที่ชาวเขมรยังคงเก็บรักษาตูลสแล็งไว้ ก็เพราะยูเนสโกมีส่วนช่วยผลักดันไม่ให้ทำลาย ถือว่ามันมีคุณค่าทัดเทียมกับค่ายฆ่าชาวยิวของนาซี ในฐานะ "เอกสารมรดกโลกแห่งความทรงจำ" ตัวเนื้อหาของมันคือจุดเปลี่ยนครั้งยิ่งใหญ่ต่อประวัติศาสตร์อินโดจีน

ต่างไปจากคอกที่เชียงใหม่ นอกจากตัวอาคารจะไร้คุณค่าน่ามอง กระทั่งนักวิชาการด้านสถาปัตยกรรมหลายคนวิจารณ์ว่ารูปแบบอาคารค่อนข้างขี้ริ้วขี้เหร่เสียด้วยซ้ำแล้ว 
"เนื้อหา" ของ "คนในคุก" ของมันก็หาได้มีความยิ่งใหญ่ในระดับภูมิภาคเหมือนตูลสแล็ง


เทียบกับคอกวัดแสนข้าวห่อ 
เมืองลำพูนได้ไหม

หลายคนถามว่าหากโยงกับตูลสแล็งไม่ได้ จะเอาไปเชื่อมกับคอกเก่าเมืองลำพูน ซึ่งเคยเป็นเรือนจำกลางทับที่วัดร้างแสนข้าวห่อ แล้วปัจจุบันรื้อกลายเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชยได้หรือไม่ 
คำตอบคือ ก็ไม่ได้อีกนั่นแหละ แม้บริบทอาจเขยิบใกล้เข้ามาละม้ายกันอีกนิด แต่รายละเอียดเนื้อหาก็ยังแตกต่างมากเกินกว่าจะให้นำไปเป็น แสนข้าวห่อโมเดล ได้อีกเช่นกัน 
จริงอยู่ การถูกกระทำย่ำยีด้วยการเปลี่ยนหอคำเจ้าหลวงเชียงใหม่ให้กลายเป็นคอก อาจไม่แตกต่างไปจากการแปรสภาพวัดร้างแสนข้าวห่อ หนึ่งในวัดบริวารล้อมพระธาตุหริภุญไชย ให้กลายเป็นคอกเท่าใดนัก ทั้งในมิติด้านระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน รวมทั้งเจตจำนงของรัฐบาลสยามที่ต้องการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของคนเมืองเหนือให้ทั่วทุกหนแห่งเหมือนๆ กัน

แต่...แต่ จะให้คอกที่เชียงใหม่ก้าวเดินตามคอกที่ลำพูน ด้วยการปรับเปลี่ยนให้เป็นพิพิธภัณฑ์นั้นเป็นเรื่องที่ต้องครุ่นคิดใคร่ครวญกันอย่างหนัก ด้วยเหตุผลสามประการก็คือ
ประการแรก ตอนที่กรมศิลปากรมีดำริให้จัดหาสถานที่เพื่อย้ายโบราณวัตถุจากวัดพระธาตุหริภุญไชย ออกมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ไหนสักแห่งในลำพูนนั้น เป็นยุคที่ทั่วทั้งเมืองลำพูนยังไม่มีพิพิธภัณฑ์แม้แต่แห่งเดียว ฉะนั้น การใช้สถานที่เรือนจำเดิมมาสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์นั้น ถือว่ามีความเหมาะสมอย่างยิ่งยวด อย่างน้อยก็ดีกว่าปล่อยให้เกิดทัศนะอุจาดมีคุกกลางเวียงดุจเดิม  

เมื่อเปรียบกับเชียงใหม่แล้วมันคนละเรื่องกัน ณ พ.ศ.นี้ เชียงใหม่มีพิพิธภัณฑ์สำคัญๆ มากกว่า 20 แห่ง อาทิ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ที่ถนนซูเปอร์ไฮเวย์ใกล้วัดเจ็ดยอด หอศิลปวัฒนธรรมของเทศบาลนครเชียงใหม่ พิพิธภัณฑ์ชาวเขา พิพิธภัณฑ์อัตชีวประวัติเจ้าดารารัศมี ที่พระตำหนักดาราภิรมย์แม่ริม พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย หอนิทรรศการศิลป์ร่วมสมัยและ Art Gallery แน่นถนนนิมมานเหมินท์ 
ใจคอยังอยากได้พิพิธภัณฑ์คุกหรืออนุสรณ์คอกอีกสักแห่งเจียวหรือ?

ประการที่สอง การสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชยทับสถานที่เรือนจำกลางเมืองลำพูนนั้น เป็นการรื้อทุบอาคารทุกหลังทิ้งลงทั้งหมดไม่ให้เหลือเศษซากความอัปยศ ในขณะที่ฝ่ายอยากให้ปรับคอกที่เชียงใหม่เป็นพิพิธภัณฑ์นั้น กลับมีความประสงค์ให้เก็บรักษาอาคารเรือนจำนั้นไว้มิให้รื้อทิ้ง 
นี่คือแนวความคิดที่สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งๆ ที่ตัวอาคารคอกเก่าที่ลำพูนนั้น อาจมีความน่าเก็บรักษามากกว่าเสียด้วยซ้ำ เพราะครั้งหนึ่งเคยเป็นสถานที่ที่กักขังบุคคลสำคัญระดับท้องถิ่นที่ชาวล้านนาเคารพนับถือเป็นอันดับสองรองลงมาจากครูบาศรีวิชัย 
นั่นคือ ครูบาอภิชัยขาวปี (คนเหนือออกเสียง "ปี๋") นักบุญผู้ยิ่งใหญ่ของล้านนาอีกคนที่ถูกรัฐบาลสยามกลั่นแกล้ง ในฐานะที่เป็น "มือขวา" ของครูบาศรีวิชัย จึงถูกจับสึกให้นุ่งขาวห่มขาวสามครั้ง ถูกจับเข้าคุกที่ลำพูน ในสภาพถลกจีวรให้กลายเป็นฆราวาส ท่านครูบาขาวปี๋เคยบันทึกไว้ว่า

ตลอดระยะเวลา 6 เดือน ท่านต้องทนกับสภาพเหลือบยุงริ้นไรขบกัด เหม็นอุจจาระ น้ำเหลือง อาหารการกินเหมือนหมูหมา ทำให้เห็นใจและเข้าใจหัวอกคนคุก จึงได้ขออาสาสร้างโรงพยาบาลลำพูนให้กับจังหวัดโดยไม่ได้ของบราชการแม้แต่บาทเดียว ใช้แรงงานนักโทษมาช่วยก่อสร้าง โดยมีข้อแม้กับเรือนจำว่า หากนักโทษคนไหนเจ็บป่วย ห้ามปล่อยทิ้งไว้ตามยถากรรมในคอก ต้องนำออกมารักษาตัวที่โรงพยาบาล

ชวนให้นึกถึงกรณีของ "อากง" กับ "สุรชัย ด่าน" เหลือกำลัง ในยุคที่เรากำลังเห่อว่าจะเป็นประชาคมอาเซียนกันอยู่รอมร่อ แต่ยังมีการกักกันนักโทษการเมืองแบบสองมาตรฐาน มิให้คนป่วยเป็นโรคมะเร็ง ระยะสุดท้ายได้พบแพทย์ และคนเป็นโรคหัวใจได้บำบัดรักษาด้วยเครื่องมือสมัยใหม่

ถ้าเช่นนั้น ขอข้ามไปดูพิพิธภัณฑ์คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่สักหน่อยเป็นไร ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ได้ปรับคุ้มเจ้าให้เป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ประจำจังหวัด โดยที่ส่วนหนึ่งของห้องใต้ดินนั้นยังคงเก็บรักษาคุกที่เคยกุมขังนักโทษ "กบฏเงี้ยว"

ฝ่ายที่เชียร์ปรับคอกให้เป็นพิพิธภัณฑ์ อาจย้อนถามว่าทำไมแพร่โมเดลจึงไม่เห็นจะต้องรื้อคุกห้องใต้ดินนั้นเลย ก็ต้องขออธิบายว่าพิพิธภัณฑ์เมืองแพร่นั้นมีคุณค่าทางประวัติเชิงซ้อนถึงสองเวอร์ชั่น คือ หนึ่ง ยังคงความงามของอาคารเรือนขนมปังขิงยุคโคโลเนียลไว้
และสอง การนำกบฏเงี้ยวมาจองจำไว้ในห้องใต้ดินที่นี่ เนื้อหาเรื่องกบฏเงี้ยวก็ยังมีคุณค่าในฐานะประวัติศาสตร์ระดับภูมิภาค
เพราะเงี้ยวก็คือไทใหญ่ รัฐสยามถือเป็นเครือข่ายอันน่ากลัวของรัฐฉานในพม่า มันจึงคือหน้าหนึ่งของจุดเปลี่ยนผ่านสายสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์สยามกับเจ้าหลวงเมืองแพร่อย่างขาดสะบั้น
เทียบไม่ได้เลยกับคอกกลางเวียงเชียงใหม่ ที่ไร้กลิ่นอายของประวัติศาสตร์หน้าใดๆ ที่ควรจารจำผ่านอนุสรณ์คอกนั่น

เหตุผลประการสุดท้าย พูดในฐานะคนที่เคย "กินอยู่หลับนอนในสถานที่ที่เคยเป็นคุก" มานานกว่า 10 ปี นั่นคือช่วงชีวิตที่ต้องอยู่บ้านพักข้าราชการในรั้วพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชยนั้น ขอสารภาพว่าแม้จะปรับเปลี่ยนทำลายรื้อเรือนจำจนสิ้นซาก แล้วสร้างอาคารใหม่เอี่ยมเรี่ยมเร้สไตล์ญี่ปุ่นผสมล้านนาเพื่อนำโบราณวัตถุกว่า 3,000 ชิ้นมาจัดแสดงแล้วก็ตาม 
แต่เชื่อไหมว่า บรรยากาศของความเป็น "คอกเก่า" ที่ค่อนข้างอัปมงคลยังอบอวลล่องลอย สภาพวิญญาณที่ถูกกักขังอย่างทุกข์ทรมาน หรือที่ชาวเหนือเรียก "ขี้โซ่" ยังกรีดร้องอย่างเจ็บปวดไม่เว้นแต่ละวัน 
นี่ขนาดไม่ใช่ดีกรีความอำมหิตรุนแรงเหมือน ตูลสแล็ง ในพนมเปญ แต่ก็ยังหลงเหลือบรรยากาศสลดหดหู่ไม่น้อย และจะว่าไปไม่ว่าคุกที่ไหนๆ ในโลก ทั้ง ตูลสแล็ง เดียนเบียนฟู หรือคุกบาสตีย์อันลือลั่นในฝรั่งเศส ต่างก็ล้วนมีพลังกระแสความร้าวรันทดพอๆ กัน 
เรียกได้ว่าเมื่อชมเสร็จแล้วกินข้าวไม่ลง ซ้ำฝันร้ายยังตามหลอกหลอนข้ามคืน



จึงขอฝากแง่คิดให้แก่หน่วยงานภาครัฐและท้องถิ่นที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ว่าไม่ควร "เขว" กับความคิดที่จะปรับเปลี่ยนคอกให้เป็นพิพิธภัณฑ์ ไม่ต้องไปหาโมเดลใดๆ มาอ้างให้เสียเวลาอีกแล้ว  
สิ่งที่ควรตรึกตรองให้ถ่องแท้ก็คือบริบทเฉพาะตัวของคอกแห่งนี้ว่ามีความเป็นมาอย่างไร กดข่มจิตวิญญาณใครอยู่

หากอยากจะอนุรักษ์คอกให้เป็นอนุสรณ์จริงๆ แล้วล่ะก็ แทนที่จะหวงคอกที่สร้างทับหอคำ ควรหันมาพินิจ "คนที่อยู่ในคอก" ด้วยดวงใจที่เที่ยงธรรม โดยเฉพาะนักโทษการเมืองผู้โดนกระทำจาก 112 อย่างไม่ใช่มนุษย์จะดีกว่า 



.