http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-05-01

สุรพศ: ปมความมั่นคงของพุทธศาสนา, เหลียวหลัง-แลหน้า 'สันติวิธีแบบพระ'

. 

สุรพศ ทวีศักดิ์ : ปมความมั่นคงของพุทธศาสนา
ในมติชน ออนไลน์  วันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 20:00:00 น.



ผมเคารพ "เจตนาดี" ของพระสงฆ์และชาวพุทธที่รักพุทธศาสนา ต้องการปกป้องพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคงคู่สังคมไทยและสังคมโลกตลอดไป ที่พยายามต่อสู้ขับเคลื่อนให้ระบุในรัฐธรรมนูญว่า "พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย" และต่อสู้ผลักดันให้รัฐออกกฎหมายอุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธนามาอย่างต่อเนื่องยาวนาว ผมเข้าใจดีว่า การต่อสู้ผลักดันเรื่องดังกล่าวทำกันมาอย่างเหนื่อยยาก และผมเองก็เคารพเสรีภาพ เหตุผล ของทุกฝ่ายที่พยายามผลักดัน
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาอุดมการณ์ เป้าหมาย แนวคิดเบื้องหลังของการต่อสู้ผลักดันเพื่อให้เกิดสิ่งที่เชื่อกันว่าเป็น "ความมั่นคงของพุทธศาสนา" นั้น ผมกลับพบว่ามีปัญหาน่ากังวลซึ่งอยากตั้งข้อสังเกตไว้

ปัญหาน่ากังวลที่ว่านี้ คือ เรากำลังติด "ปมความมั่นคงของพุทธศาสนา" ในจินตนาการแบบอดีต และกำลังผูกปมใหม่ๆ ที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่? ซึ่งในที่สุดปมต่างๆ ที่พยายามผูกเพิ่มขึ้นมากมายนั้น อาจไม่ได้ทำให้เกิด "ความมั่นคงของพุทธศาสนา" เลยก็ได้


"ปมความมั่นคงของพุทธศาสนา" ที่ผมสังเกตเห็นในการแสดงออกของกลุ่มเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อความมั่นคงของพุทธศาสนาในบ้านเรามีสามปมหลัก คือ

#ปมหนึ่ง - ศาสนาพุทธเจริญรุ่งเรืองมาได้เพราะมีชนชั้นนำจารีตอุปถัมภ์ ฉะนั้น รัฐประชาธิปไตยปัจจุบันต้องทำหน้าที่อุปถัมภ์คุ้มครองพุทธศาสนาแทนรัฐราชาธิปไตย 

แต่ปมนี้บดบังความจริงที่ว่า พุทธศาสนาที่ไม่ใช่ในเชิงพิธีการ แต่เป็นพุทธศาสนาในเชิงเนื้อหาสาระหรือเชิงวิถีชีวิตนั้น มักเป็นพุทธแบบบ้านๆ ที่เป็นอิสระจากการครอบงำของรัฐ พระสงฆ์และชุมชนพุทธที่เข้มแข็งทางปัญญาและการปฏิบัติธรรมทั้งในอดีตและปัจจุบัน มักเป็นฝ่ายที่ขบถหรือเป็นอิสระจากอิทธิพลครอบงำของอำนาจรัฐส่วนกลาง
เช่น เจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ที่อ้างหลักธรรมคัดค้านการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ของรัชกาลที่ 6 ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา เรื่อยมาถึงพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต หลวงพ่อชา สุภัทโท พุทธทาสภิกขุ พระไพศาล วิสาโล สมณสันติอโศก และสำนักปฏิบัติธรรมอื่นๆ ที่เข้มแข็งได้ด้วยการสร้างตัวเองให้เป็นที่เชื่อถือ และได้รับการสนับสนุนจากประชาชน

และบดบังความจริงว่า รัฐประชาธิปไตยไม่อาจทำหน้าที่เหมือนรัฐราชาธิปไตยได้ เพราะรัฐประชาธิปไตยอ้างอิงความเป็นกลางทางศาสนา (และทางอื่นๆ) โดยอิงแนวคิดแบบ secularism และ liberalism ซึ่งหมายถึงความเป็นกลางของรัฐอ้างอิง "ความชอบธรรม" อยู่บนเสรีภาพของปัจเจกบุคคล เช่น เสรีภาพทางเพศ ทางการเมือง การนับถือศาสนา ฯลฯ

ฉะนั้น รัฐประชาธิปไตยจึงมีหน้าที่เป็นกลางทางศาสนา โดยต้องพิทักษ์เสรีภาพของปัจเจกบุคคลในการนับถือศาสนาและอื่นๆ จะนำอุดมการณ์ของศาสนาใดศาสนาหนึ่งมาเป็นอุดมการณ์ของรัฐในการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมแก่พลเมืองไม่ได้ 


#ปมสอง - ศาสนาพุทธถูกทำลายโดยกองทัพมุสลิมจึงสูญสิ้นจากอินเดีย ฉะนั้น ศาสนาอิสลามที่กำลังรุกในภาคใต้และภาคอื่นๆ ของประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของพุทธศาสนาในระยะยาว 

แต่ปมนี้บดบังความจริงว่า ก่อนจะถูกกองทัพมุสลิมรุกรานนั้น พุทธศาสนาอ่อนแอมากแล้ว มีการแตกแยกเป็นนิกายต่างๆ การศึกษาสงฆ์ในมหาวิทยาลัยนาลันทาตัดขาดจากสังคม จากปัญหาของโลกภายนอก สนใจถกเถียงและชื่นชมความดีงามสูงส่งของหลักธรรมพุทธศาสนาเฉพาะในแวดวงเดียวกัน (เหมือนมหาวิทยาลัยสงฆ์ปัจจุบันที่แทบจะปิดกั้นตัวเองจากความเห็นต่าง ไม่มองฝ่ายที่ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์เป็น "กัลยาณมิตร" หรือ "ผู้ชี้ขุมทรัพย์" อย่างที่พุทธะแนะนำให้มอง)

และบดบังความจริงว่า การเผยแผ่ศาสนาในโลกปัจจุบัน ไม่ได้ใช้กองทัพหรือความรุนแรงนำทางอีกแล้ว แต่เป็นการใช้เหตุผลเสรีภาพ ใช้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ความเคารพระหว่างศาสนาและเกิดความร่วมมือที่จะสนับสนุนความเป็นธรรมและสันติภาพใน "สังคมพหุวัฒนธรรม" ร่วมกัน

ฉะนั้น ศาสนิกที่มีวุฒิภาวะทางศาสนาควร "ก้าวนำ" ในการขจัดความหวาดระแวงระหว่างศาสนา สร้างความเข้าใจและความเคารพเชื่อถือระหว่างศาสนา อย่างที่ท่านพุทธทาสทำเป็นตัวอย่าง และอย่างที่พุทธะทำเป็นตัวอย่างมาแล้วในสมัยพุทธกาล


#ปมสาม - ศาสนาอิสลามออกกฎหมายคุ้มครองตัวเอง ฉะนั้น พุทธศาสนาต้องมีกฎหมายคุ้มครองอย่างเขาบ้าง

แต่ปมนี้บดบังความจริงว่า หลักการพื้นฐานของศาสนาอิสลามกับพุทธศาสนานั้นแตกต่างกัน ขณะที่ศาสนาอิสลามไม่ได้แยกความเป็นนักบวชกับความเป็นฆราวาสออกจากกัน ไม่ได้แยกกฎของพระเจ้ากับกฎหมายอย่างเป็นอิสระจากกัน แต่พุทธศาสนาแยกเรื่องดังกล่าวออกจากกันอย่างชัดเจน

และบดบังความจริงว่า พุทธศาสนามี "จุดแข็ง" ในเรื่องการแสวงหาสัจจะ เสรีภาพ และความเสมอภาค เพราะพุทธะถือว่า ปัจเจกบุคคลต้องมีเสรีภาพจึงจะค้นพบสัจจะได้ สัจจะที่ค้นพบทำให้พ้นทุกข์ได้ และทุกคนต่างมีความเสมอภาคในการใช้เสรีภาพแสวงหาสัจจะหรือคุณค่าความหมายของการมีชีวิตอยู่ ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ทำให้พุทธศาสนาสามารถอยู่ร่วมในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ได้อย่างยืดหยุ่นและสร้างสรรค์



ฉะนั้น โดยหลักการพื้นฐานแล้ว พุทธศาสนาจึงไม่ควรมีกฎหมายเอาผิดในเรื่องลบหลู่ศาสดา หรือสอนผิดจากพระไตรปิฎก เพราะการมีกฎหมายเช่นนี้ย่อมขัดต่อความเสมอภาคในการใช้เสรีภาพแสวงหาสัจจะ เพราะการศึกษาและปฏิบัติธรรมย่อมเป็นเสรีภาพอย่างสูงสุดของปัจเจกบุคคลที่จะตีความคำสอนผ่านการเรียนรู้และประสบการณ์เฉพาะตน การออกกฎหมายให้อำนาจบางองค์กรมาคอยตรวจสอบเอาผิดจึงเป็นเรื่องที่ผิดธรรมชาติของการแสวงหาสัจจะ และเป็นการทำลายมิติที่หลากหลาย มีชีวิตชีวาของพุทธศาสนาให้หายไป

เพราะยึดติด "สามปม" ดังกล่าว (เป็นอย่างน้อย) จึงทำให้เกิดการพยายาม "ผูกปมใหม่ๆ" ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ เช่น ปมให้รัฐประชาธิปไตยต้องทำหน้าที่อุปถัมภ์คุ้มครองพุทธศาสนาแทนรัฐราชาธิปไตย ปมพุทธศาสนาประจำชาติ ปมให้มีกฎหมายคุ้มครองศาสดา ศาสนธรรม ศาสนบุคคล ศาสนพิธี ปมให้รัฐรับผิดชอบการจัดการศึกษาพุทธศาสนา การจัดกองทุนอุดหนุนต่างๆ การใช้อุดมการณ์พุทธศาสนาเป็นอุดมการณ์ในการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมของประชาชน ปมจัดกิจกรรมทางศาสนาแบบมหกรรม ฯลฯ

ซึ่งการผูกปมเหล่านี้คือการทำให้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือของรัฐ องค์กรสงฆ์เป็นกลไกรัฐ ทำให้เสรีภาพในการศึกษา การตีความคำสอนพุทธถูกจำกัด คับแคบ ทำให้พุทธที่มีมิติหลากหลายมีสีสันมีชีวิตชีวาแบบชาวบ้านๆ กลายเป็น "พุทธทางการ" แบบแข็งทื่อที่เน้นพิธีการ พิธีกรรมแบบแห้งแล้ง ไม่ประเทืองปัญญา และไร้ชีวิตชีวา


จะว่าไปแล้ว ความมั่นคงของพุทธศาสนาจะเป็นไปได้จริงเมื่อคลายปมเหล่านั้นเสีย ให้พุทธศาสนาเป็นอิสระจากรัฐให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าจะให้สอดคล้องกับแนวทางของพุทธะจริงๆ ควรยกเลิกระบบสมณศักดิ์ (ระบบขุนนางพระ) ยกเลิกกฎหมายปกครองสงฆ์ที่เป็นเผด็จการซึ่งขัดต่อหลักการของธรรมวินัยที่เป็นประชาธิปไตยเสีย

ให้คณะสงฆ์ปกครองตนเองด้วยหลักธรรมวินัย และให้พุทธศาสนาเป็นเรื่องของเอกชน เป็นเรื่องของชาวบ้านที่เขามีเสรีภาพจะศรัทธาเชื่อถือและสนับสนุนอุปถัมภ์ ไม่ต้องมีอำนาจศาสนจักรที่ใช้กฎหมายเป็น "ดาบ" คอยควบคุม กำกับ และครอบงำทางความคิดของผู้คน

อย่างที่ไปบีบให้ปัจเจกบุคคลที่ใช้เสรีภาพตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ ต้องออกมาขอโทษดังที่ทำกันอยู่!



หมายเหตุ : บทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากที่ฟัง "วิจักขณ์ พานิช" พูด ใน "สันติประชาธรรมเสวนา" ที่ "สวนเงินมีมา" เมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่ผ่านมา 



++

เหลียวหลัง-แลหน้า 'สันติวิธีแบบพระ'
โดย อ.สุรพศ ทวีศักดิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต
ใน www.prachatai.com/journal/2012/04/40288 . . Sun, 2012-04-29 22:33


เมื่อวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา มีกิจกรรมสันติประชาธรรมเสวนา เรื่อง “สันติวิธี ความเป็นกลาง ธรรมะ และความเป็นธรรม: บทบาทของพุทธศาสนาท่ามกลางวิกฤตทางสังคมและการเมือง ควรเป็นอย่างไร” ที่ “สวนเงินมีมา” มีบางประเด็นที่ค้างคาอยู่ในใจซึ่งผมอยากนำมาเล่าต่อ

คือในช่วงแลกเปลี่ยน มีบางคำถามที่น่าสนใจ เช่น คุณบารมี ชัยรัตน์ ถามว่า “สันติวิธีบ้านเรามักเรียกร้องกับ ‘ฝ่ายผู้ถูกกระทำ’ มากกว่าที่จะเรียกร้องกับ ‘ฝ่ายผู้กระทำ’ อย่างเวลาชาวบ้านชุมนุมต่อต้านการสร้างเขื่อน นักสันติวิธีก็จะเข้าไปบอกชาวบ้านว่าอย่าใช้ความรุนแรงนะ หรือที่เคยมาชุมนุมแล้วมีเหตุการณ์ทำนองว่าจะยึดทำเนียบ นักสันติวิธีก็เข้ามาเลย เข้ามาเตือน และติวชาวบ้านเลยว่า ทฤษฎีสันติวิธีมีอะไรบ้าง จะต้องปฏิบัติอย่างไร ทำไมนักสันติวิธีไม่เดินนำชาวต่อสู้กับอำนาจรัฐที่กดขี่ชาวบ้านบ้าง ไม่เรียกร้องสันติวิธี และความเป็นธรรมกับฝ่ายผู้มีอำนาจบ้าง?

หรือที่อาจารย์เฟย์ถามว่า “ท่ามกลางความเป็นจริงของปัญหาขัดแย้งทางสังคมการเมืองที่มันมี imbalance of power หรือมีความไม่สมดุลของอำนาจต่อรองทางการเมืองอย่างชัดเจน บทบาทของนักสันติวิธีควรจะอยู่ตรงไหน จำเป็นต้องอยู่ตรงกลางเท่านั้นหรือ นักสันติวิธีกล้าหรือไม่ที่จะตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ หรือถือธงนำชาวบ้านต่อสู้กับอำนาจที่กดขี่?


ผมจึงถามหลวงพี่ไพศาล วิสาโล ต่อว่า “หลวงพี่กล้าหรือเปล่าครับ... ถ้าปี 53 ที่ผ่านมาหลวงพี่ถือธงสันติวิธีนำมวลชนเสื้อแดงต่อสู้กับอำมาตย์ คิดว่าปัญหาขัดแย้งทางสังคมจะเปลี่ยนไปไหม?”

หลวงพี่ไพศาลตอบ (ประมาณ) ว่า
กล้า...แต่ว่าก็ต้องดูบริบทด้วย กรณีคนเสื้อแดงถ้าอาตมาไปถือธงนำก็ต้องถูก define ว่า เลือกฝ่ายเสื้อแดง ซึ่งเรื่องนี้อาตมามีข้อสงวนส่วนตัวว่าไม่เลือกเพราะไม่ยอมรับแกนนำบางคนและยุทธวิธีบางอย่างที่ไม่ใช่สันติวิธี ในแง่หลักการอาตมาเลือกประชาธิปไตยไม่เอาเผด็จการ สนับสนุนเสรีภาพ และความเป็นธรรม
แต่ฝ่ายทางการเมืองอาตมามีข้อสงวนของตนเองที่จะไม่เลือกฝ่าย และเลือกทำงานสันติวิธีตามแนวทางนี้ ซึ่งก็เป็นสิทธิ์ของอาตมาที่จะเลือกได้ แต่อยากให้มองสันติวิธีกว้างๆ แบบหนูหริ่งก็สันติวิธี แบบนิติราษฎร์ก็สันติวิธี แม้แต่การใช้วิธีเลือกตั้งเพื่อกลับมามีชัยชนะทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยก็เป็นสันติวิธี...ฉะนั้น สันติวิธีหรือการไม่ใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องจำเป็นในการต่อสู้ทางการเมืองและความขัดแย้งอื่นๆ
” 

ขณะที่ วิจักขณ์ พานิช มองว่า
สันติวิธีบ้านเรามันเป็น “สันติวิธีแบบพระ” คือเป็นสันติวิธีที่พยายามหาจุดหรือตำแหน่งที่แน่นอนของสิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นกลาง” และความเป็นกลางก็มักอ้างอิงความเชื่อเรื่อง “ทางสายกลาง” ของพุทธศาสนาเถรวาทในบ้านเราที่ถือว่าเป็นกลางคือถูกต้อง ไม่เป็นกลางคือผิด จะเห็นได้ตั้งแต่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนาแล้วที่ยืนยันว่า มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลางถูก กามสุขัลลิกานุโยค กับอัตตกิลมถานุโยคผิด

แต่ความเป็นกลางแบบมหายานจะไม่แยกถูก-ผิดแบบขาว-ดำเช่นนี้ เช่น เป็นกลางตามหลักปรัชญามาธยมิกจะชวนให้เราคิดเชิงวิพากษ์เลยว่า อย่างนี้ไม่ใช่ อย่างนั้นก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ก็ไม่ใช่ หมายความว่า ถ้าคุณบอกว่าปัญหาทั้งหมดมาจากทักษิณคนเดียวมันย่อมไม่ใช่แน่ๆ ถ้าบอกว่ามาจากอำมาตย์ฝ่ายเดียวก็ไม่ใช่อีก หรือจะบอกว่าไม่ใช่ทั้งหมดเลย ปัญหาไม่ได้มาจากทักษิณ อำมาตย์หรือฝ่ายไหนๆ เลย ก็ไม่ใช่อีกนั่นแหละ

ประเด็นคือ หลักความเป็นกลางแบบมาธยมิก มันช่วยให้เราเป็นอิสระที่จะวิเคราะห์เหตุปัจจัยทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นฝักฝ่าย หลักการ และฯลฯ เมื่อเรารู้ว่าความถูกต้องอยู่ตรงไหน อยู่ฝ่ายไหน เราก็สามารถเลือกยืนอยู่ตรงนั้นได้ ไม่จำเป็นต้องอยู่ตรงกลางระหว่างฝ่ายต่างๆ เสมอไป”



ส่วนตัวผมเองมอง (และเพิ่มเติม ณ ที่นี้) ว่า สันติวิธีต้องสนับสนุนสัจจะ เสรีภาพ และความเป็นธรรม แต่สันติวิธีที่พยายาม “เป็นกลาง” ในความขัดแย้งที่ผ่านมา เป็นสันติวิธีที่เรียกร้องกับฝ่ายผู้ถูกกระทำมากกว่า พยายามที่จะเป็นกลางในสถานการณ์ที่อำนาจต่อรองทางการเมืองไม่เท่าเทียมอย่างยิ่ง และเป็น “สันติวิธีแบบพระ” ที่ยังไงก็ต้องเป็นกลางระหว่างฝ่ายต่างๆ คอยเตือนสติฝ่ายต่างๆ ไม่ให้ใช้ความรุนแรงเท่านั้น น่าตั้งคำถามว่าสันติวิธีแบบนี้เป็นสันติวิธีที่สนับสนุนสัจจะ เสรีภาพ และความเป็นธรรมหรือไม่?

เพราะเป็นสันติวิธีที่ไม่ได้ต่อสู้เพื่อสัจจะ เช่น ไม่ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับความจริงเบื้องหลังรัฐประหาร หรือต่อสู้เพื่อให้พูดความจริงดังกล่าวได้ ไม่ใส่ใจความจริงเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมเพื่อนำไปสู่ความยุติธรรม ไม่ได้ต่อสู้เพื่อเสรีภาพจากการครอบงำกดขี่ของอำนาจนอกระบบ ไม่ได้เรียกร้องให้เอาผิดใดๆ กับฝ่ายทำรัฐประหาร เป็นต้น

จะว่าไปแล้ว “ความเป็นกลาง” แบบนักสันติวิธี หรือแม้แต่แบบสถาบันวิชาการในบ้านเราล้วนแต่ควรถูกตั้งคำถาม เช่น ล่าสุดรายงานของสถาบันพระปกเกล้าที่มุ่งแสวงหาทางปรองดอง ถูกโจมตีว่า “เป็นเครื่องมือช่วยทักษิณ” ทั้งที่ตามรายงานนั้นมีข้อเสนอให้เอาผิดทักษิณอยู่ด้วย แต่เสนอว่าไม่ควรรื้อฟื้นเอาผิดฝ่ายผู้ก่อรัฐประหาร ไม่ควรพูดเรื่องการแก้ไข ม.112 หรือประเด็นสถาบันโดยอ้างว่าเป็นเรื่อง “ละเอียดอ่อน”

ฉะนั้น รายงานวิจัยนี้จึง “ไม่เป็นกลาง” อยู่แล้ว เพราะเป็นรายงานที่กันฝ่ายทำรัฐประหารให้พ้นผิดไปเลย กันสังคมว่าไม่ควรเรียกร้องอะไรกับฝ่ายอำมาตย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแก้ไข-เลิก ม.112 หรือเรื่องใดๆ แต่ยังให้เอาผิดกับทักษิณได้ กระนั้น “ความไม่เป็นกลาง” ของรายงานนี้ที่โจมตีกันนั้นกลับหมายถึงการเปิดช่องให้มีทางเลือกในการดำเนินการกับทักษิณได้ว่า จะนิรโทษกรรมหรือให้นำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมใหม่ ซึ่งเป็นทัศนะที่บิดเบี้ยว


แต่ความเป็นกลางแบบนิติราษฎร์ คือ

1. การยืนยันหลักการที่ถูกต้อง ถ้ายืนยันหลักการที่ถูกต้องแล้ว ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะได้หรือเสียประโยชน์ก็ต้องยืนยัน เพราะความถูกต้องย่อมถูกในตัวมันเองไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายใดจะได้หรือเสียประโยชน์

2. เป็นความเป็นกลางที่ยืนยันสัจจะ เสรีภาพ และความเป็นธรรม เช่น การเสนอแก้ ม.112 ก็คือเป็นการเปิดช่องทางให้พูดความจริงได้ มีเสรีภาพมากขึ้น การลบล้างผลพวงรัฐประหารก็คือการยืนยันความเป็นธรรมบน “ความเสมอภาคทางกฎหมาย” อันเป็นหลักสำคัญของนิติรัฐ



แน่นอน ผมเห็นด้วยกับหลวงพี่ไพศาลว่า แนวทางของนิติราษฎร์คือ “แนวทางสันติวิธี” เพราะเป็นการใช้เหตุผลเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางกฎหมายให้เป็นประชาธิปไตย เป็นการกระตุกสังคมให้หันมาถกเถียงปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยทั้งในระดับตัวบทกฎหมาย และระดับอุดมการณ์

ทว่า “สันติวิธีแบบพระ” เท่าที่เป็นมา กลับไม่ชัดเจนว่ามีเป้าหมายอะไร ไม่ชัดเจนว่าให้ความสำคัญแค่ไหนกับการต่อสู้เพื่อสัจจะ เสรีภาพ และความเป็นธรรม

ซึ่งแน่นอนว่าในอนาคตหาก “สันติวิธีแบบพระ” (ไม่ได้หมายเฉพาะแบบหลวงพี่ไพศาล แต่หมายถึงสันติวิธีที่พยายาม “เป็นกลาง” ในภาวะที่ไม่สมดุลของอำนาจต่อรองทางการเมือง และเน้นการเทศนาเตือนสติเป็นหลัก) ไม่ยอมปรับเปลี่ยนทัศนะ ถ้ามีความขัดแย้งขึ้นอีกเราก็จะเห็นนักสันติวิธีออกมาส่งเสียงว่า “อย่าตีกันๆ” และเป็นซุ่มเสียงที่เรียกร้องกับ “ฝ่ายผู้ถูกกระทำ” มากกว่าอีกตามเคย 

สันติวิธีที่ไม่ต่อสู้เพื่อสัจจะ เสรีภาพ และความเป็นธรรมอย่างจริงจังเช่นนี้ ย่อมกลายเป็นแนวร่วมของ “ฝ่ายผู้กดขี่” ไปโดยปริยาย !


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

อ่านความคิดเห็นท้ายบท ที่ www.prachatai.com/journal/2012/04/40288



.