.
ฟุคุชิมาสะเทือนโลก (7) : กาลาปากอส
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1656 หน้า 36
คณะสอบสวนหาสาเหตุเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา ไดอิจิ ระเบิด หลังเกิดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 มีมาแล้วอย่างน้อย 4 ชุด แต่ละชุดตั้งกรรมการผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ด้านนิวเคลียร์ บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในวันนั้น รวมถึงผู้บริหารระดับสูงในคณะรัฐบาลของญี่ปุ่น ชุดสอบสวนบางชุดเริ่มเผยแพร่ผลสรุปออกมาแล้ว
ที่น่าสนใจก็คือ การคลำเป้าเพื่อหาข้อสรุปนั้นมุ่งตรงไปที่ผู้บริหารบริษัทโตเกียว อิเล็กทริกส์ เพาเวอร์ หรือเทปโก้ (Tokyo Electrics Power Company) ประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้เกิดเหตุร้ายแรงขึ้น
คณะกรรมการชุดแรกแต่งตั้งโดยรัฐบาลญี่ปุ่น ตั้งข้อสงสัยว่าเทปโก้ทำอะไรอยู่ในช่วงเกิดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ ทำไมระบบหล่อเย็นของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เตาที่ 1 จึงมีอุณหภูมิร้อนจัด และเกิดอะไรขึ้นกับเตาปฏิกรณ์ที่ 2 ทั้งที่ระบบหล่อเย็นถูกตัดลงแล้ว
คณะกรรมการสอบสวนอุบัติเหตุโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา นำโดยศาสตราจารย์ภิชาน "โยทาโร ฮาตามูระ" แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว พุ่งเป้าไปที่ "ความล้มเหลวทางวิทยาศาสตร์" (science of failure)
รายงานของคณะกรรมการชุดนี้ที่ออกเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ระบุว่า สาเหตุของอุบัติเหตุนั้นมาจาก "เทปโก้" บกพร่องอย่างแรงในการเตรียมความพร้อม
ศาสตราจารย์ภิชาน "ฮาตามูระ" ยังชี้อีกว่า กระบวนการนำไปสู่ความล้มเหลวของระบบการทำนายข้อมูลในช่วงเกิดสภาวะแวดล้อมฉุกเฉิน ซึ่งจะนำไปสู่การวินิจฉัยว่าควรอพยพผู้อยู่อาศัยออกจากพื้นที่อันตรายหรือไม่ อีกทั้งยังพบว่า เกิดปัญหาการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสำนักงานใหญ่ของเทปโก้กับสำนักนายกรัฐมนตรี
บทสรุปของคณะกรรมการชุดนี้จะเสร็จสิ้นในเดือนกรกฎาคม
ชุดที่ 3 มีชื่อเรียกว่า คณะกรรมการสอบสวนอิสระเหตุการณ์ "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา" ระเบิด เป็นภาคเอกชนรวมตัวตั้งขึ้นมาหาความจริง
กันเอง และเพิ่งจะนำข้อมูลออกเผยแพร่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ ผู้ก่อตั้งเป็นอดีตหัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฮาซาฮีชื่อ นายโยอิชิ ฟูนาบาชิ
ทางคณะกรรมการเชิญบุคคลระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ "ฟุคุชิมา" ตั้งแต่ นายนาโอโตะ คัง อดีตนายกฯ ญี่ปุ่น, รัฐมนตรีอุตสาหกรรม, ประธานคณะกรรมาธิการว่าด้วยความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น นักการเมือง ผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานต่างๆ รวมแล้ว 300 คน อีกทั้งยังขอความร่วมมือให้ "เทปโก้" ส่งผู้บริหารไปให้ปากคำ แต่เทปโก้ปฏิเสธ
ผลสรุปของคณะกรรมการชุดอิสระนำโดยนายฟูนาบาชิ ชี้ชัดว่า บริษัทเทปโก้บกพร่องในการเตรียมการรับมือกับอุบัติภัยครั้งร้ายแรง หรือการประมาทเลินเล่อในระบบ (Systematic negligence) ตามมาตรฐานสากลที่กำหนดโดยสำนักงานพลังงานนิวเคลียร์ระหว่างประเทศหรือไอเออีเอ
คณะกรรมการชุดดังกล่าวเปรียบเทียบกฎระเบียบความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นเหมือนกับ "เกาะกาลาปากอส" (Galapagosized)
ใครๆ ก็รู้ว่า กาลาปากอสเป็นเกาะอยู่นอกชายฝั่งเอกวาดอร์ ที่ "ชาร์ล ดาร์วิน" นักธรรมชาติวิทยาของอังกฤษ เดินทางไปสำรวจสรรพสัตว์ทั้งหลายจนนำไปสู่การคิดค้นทฤษฎีว่าด้วย "วิวัฒนาการ"
ฉะนั้น กฎระเบียบความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นในความหมายเชิงเปรียบเทียบหมายถึงกำหนดกติกาเอาเอง ไม่ได้ยึดถือระบบสากล เหมือนๆ กับสัตว์ทั้งหลายที่อยู่อย่างโดดเดี่ยวบนเกาะกาลาปากอส
ส่วนคณะกรรมการสอบสวน "ฟุคุชิมา" ชุดที่สี่ ซึ่งจัดตั้งโดย "เทปโก้" ปล่อยผลสรุปออกมาเมื่อเดือนธันวาคมนั้น อ้างว่า มาตรการความปลอดภัยของเทปโก้ ทำมาก่อนเกิดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ ผ่านการตรวจสอบและรับรองจากรัฐบาลญี่ปุ่น
ส่วนสาเหตุเกิดอุบัติเหตุเพราะขาดการเตรียมความพร้อมรับมือคลื่นสึนามิซึ่งมีความรุนแรงเกินกว่าคาดการณ์ไว้
ผลสอบสวนของเทปโก้ยังบอกว่า แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ไม่มีผลกระทบกับอุปกรณ์สำคัญของโรงไฟฟ้าแต่อย่างใดทั้งสิ้น
++
ฟุคุชิมาสะเทือนโลก (8) เทียบกรณี “มาบตาพุด”
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1657 หน้า 36
เหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานบีเอสที อิลาสโตเมอร์ส จำกัด ในเครือบริษัท กรุงเทพซินธิติกส์ จำกัด ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เมื่อบ่ายวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต 11 คน บาดเจ็บอีก 105 ราย ทำให้ภาพภัยพิบัติที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมของบ้านเราที่เลวร้ายอยู่แล้วเลวร้ายลงไปอีก
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรมสรุปสาเหตุของเหตุการณ์ครั้งนี้มาจาก ความบกพร่องในระบบการซ่อมบำรุงและการสื่อสารเพื่อการเตือนภัย รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการอพยพผิดพลาด
สื่อหลายฉบับที่ลงไปสำรวจประชาชนในพื้นที่หลังเกิดอุบัติเหตุ ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งดูแลควบคุมด้านอุบัติเหตุและความปลอดภัยทั้งของกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงกระทรวงสาธารณสุข ไม่ช่วยแก้ไข ฟื้นฟูหรือบำบัดทั้งด้านร่างกายและจิตใจของผู้คนให้ดีขึ้นแต่อย่างใดเลย
มิหนำซ้ำบางหน่วยงานปล่อยทิ้งขว้างให้คนในพื้นที่อยู่อย่างหวาดผวากับควันพิษที่ดำมะเมื่อมลอยฟุ้งคลุมบ้านเรือนประชาชนอยู่ใกล้ๆ โรงงานบีเอสทีฯ
ให้หลังเพียงวันเดียว โรงงานอดิตยา เบอร์ล่า เคมิคัลส์ ประเทศไทย ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก พื้นที่มาบตาพุดเช่นกัน เกิดอุบัติเหตุ สารโซเดียมไฮโปคลอไรด์ รั่วไหลออกมาฟุ้งกระจาย ทำให้ผู้คนรอบๆ โรงงาน ที่สูดดมเกิดอาการวิงเวียน มึนหัว
โชคดีที่เหตุการณ์นี้ไม่มีใครเสียชีวิต แต่เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่าระบบการป้องกันความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรมด้อยประสิทธิภาพอยู่มาก
คำถามที่ตามมา ถ้าเราคิดจะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ แต่ยังดันทุรังใช้มาตรฐานความปลอดภัยของโรงงานอุตสาหกรรมอย่างที่เห็นกัน
อยู่นี้อีกต่อไป ประเทศไทยจะเสี่ยงภัยแค่ไหน?
ก่อนเหตุการณ์เตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้าฟุคุชิมา ไดอิจิ ระเบิดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ทั่วโลกพากันชื่อว่ามาตรฐานความปลอดภัยของโรงงานอุตสาหกรรมในญี่ปุ่นยอดเยี่ยมเทียบเท่ามาตรฐานสากล
หลังเกิดเหตุแล้ว ได้เกิดคำถามขึ้นมามากมายกับ "มาตรฐานความปลอดภัย" ของญี่ปุ่น โดยเฉพาะระบบความปลอดภัยในอุตสาหกรรมนิวเคลียร์
นักวิชาการด้านนิวเคลียร์ทั้งชาวญี่ปุ่นและต่างชาติ รวมถึงวิศวกรจากสำนักงานนิวเคลียร์ระหว่างประเทศหรือไอเออีเอ (International Atomic Energy Agency-IAEA) ต่างให้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา ไดอิจิ สามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงในครั้งนั้นได้ ถ้าผู้บริหารโรงงานฟุคุชิมาจัดเตรียมความพร้อมในระบบการป้องกันความปลอดภัยอย่างเข้มข้น
อย่างไรก็ตาม เหตุที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมาฯ กลายเป็นกรณีตัวอย่างให้กับชาวโลก โดยเฉพาะเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้า "นิวเคลียร์" กว่า 400 แห่งพากันตื่นตัว รื้อระบบความปลอดภัยมาทบทวนกันใหม่
ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำเหมือน "ฟุคุชิมา"
30 ประเทศที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เมื่อก่อนนี้วางแนวทางการผลิตและใช้พลังงาน "นิวเคลียร์" เป็นเอกเทศ
บางประเทศมองยาวไปถึง 50 ปีข้างหน้า เชื่อว่าพลังงานนิวเคลียร์คือทางออกของประเทศ เพราะเชื้อเพลิงอื่นๆ ที่จะนำมาผลิตเป็นพลังงาน ไม่ว่าน้ำมัน ก๊าซ หรือถ่านหิน นับวันมีแต่ร่อยหรอ แหล่งผลิตหายาก บนพื้นดินแทบไม่มีแล้ว ต้องขุดเจาะหาใจกลางมหาสมุทร แถบขั้วโลกที่หนาวสุดขีด ทำให้ราคาแพงขึ้น
ที่สำคัญคือเชื้อเพลิงที่มาจากฟอสซิลทำให้โลกสกปรก-โลกร้อน ทั้งฝุ่น ควันพิษและสภาวะอากาศแปรปรวน
"นิวเคลียร์" คือทางออก ใช้เชื้อเพลิงที่ไม่เกิดมลพิษ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ
แต่เมื่อชาวโลกเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้า "ฟุคุชิมา" ทำให้ความคิด "นิวเคลียร์" เป็นทางออกของประเทศเปลี่ยนไป
อย่างที่กล่าวเบื้องต้น นั่นคือระบบการเตรียมพร้อมป้องกันและดูแลความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทุกประเทศจะต้องปรับเปลี่ยนรื้อทบทวนกันใหม่ นั่นเป็นประการแรก
ประการที่สอง การทบทวนความเสี่ยงของพื้นที่ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ต้องคิดกันใหม่ โดยเอาตัวอย่าง "ฟุคุชิมา" มาเทียบเคียง
เหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ปีที่แล้ว เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.0 ริกเตอร์ และมีคลื่นสึนามิ ซัดกระหน่ำชายฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่น แม้เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ แต่มีโอกาสเกิดขึ้นในทุกมุมโลก โดยไม่มีใครทำนายล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ
เพราะฉะนั้น การประเมินความเสี่ยงที่เคยทำกันไว้ เหมือน "ฟุคุชิมา" ทำมาแล้ว ก่อนเตาปฏิกรณ์ระเบิด จะต้องรื้อทบทวนกันใหม่
ขณะเดียวกัน แผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้าของประเทศต่างๆ ต้องดึงกลับมาพิจารณาอีกรอบว่า ที่ตั้งของโรงไฟฟ้าเหมาะสมแค่ไหน มีความเสี่ยงจะเกิดอันตรายเหมือนโรงไฟฟ้า "ฟุคุชิมา" หรือไม่
ถ้ามีสัญญาณเตือนมีแผ่นดินไหว เกิดคลื่นสึมามิ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะรับมืออย่างไร จะป้องกันไม่ให้เตาปฏิกรณ์ระเบิด กัมมันตรังสีรั่วไหลออกมาสู่ภายนอกได้หรือไม่ จะแจ้งข้อมูลผู้คน จัดแผนอพยพผู้คน กำหนดเขตปลอดภัยด้วยวิธีการอย่างไร
ทุกประเด็น ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ จิ๊บๆ หากเป็นเรื่องคอขาดบาดตายทั้งสิ้น
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย