http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-05-23

“น้องมาร์คเห็นคนตาย”, ฝันร้าย โดย คนมองหนัง

.

“น้องมาร์คเห็นคนตาย”
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก“กระแส”
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1657 หน้า 85


จริงๆ ผมควรจะเขียนอะไรออกมาเป็นเล่มๆ ตั้งแต่เมื่อราว 3-4 ปีก่อน
หากเพราะความลังเลและหวาดกลัวบางอย่างที่เกิดขึ้นในจิตใจอันหวั่นไหว ทำให้ผมตัดสินใจทิ้งขว้างโอกาสครั้งนั้นไป 
เป็นการบดขยี้ "ความฝัน" ของตัวเอง และทำลาย "ความหวัง" ของคนรอบข้างจำนวนไม่น้อย 
พร้อมกับความคิดที่ว่า คงจะไม่ได้คิดและเขียนอะไรทำนองนั้นอีกแล้ว 
อย่างน้อยก็ในอีกช่วงทศวรรษถัดไปของชีวิต

ทว่า สุดท้าย ผมก็ได้รับโอกาส "พิเศษ" (ที่หาไม่ได้ง่ายๆ และบ่อยๆ) ให้มีพื้นที่คอลัมน์ประจำในนิตยสารการเมืองซึ่งเข้าถึงกลุ่มผู้อ่านวงกว้างอย่าง "มติชนสุดสัปดาห์" 
และเมื่อโอกาสดังกล่าวเดินทางมาถึงในช่วงเวลาใกล้เคียงกับเหตุการณ์ "เมษายน-พฤษภาคม 2553" พอดี 
ผมจึงตัดสินใจใช้โอกาสที่ได้รับมาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ตราบเท่าที่เงื่อนไขปัจจัยแวดล้อมต่างๆ พอจะเอื้ออำนวยให้ 
แล้วผมก็ต้องหวนกลับไปคิดและเขียนเรื่องเดิมๆ ซึ่งตนเองเพิ่งจะละทิ้งหลบหนีมา อีกครั้งหนึ่ง 
ราวกับมันเป็น "คำสาป" ที่ติดตามตัวเราไปทุกหนแห่ง หรือเป็น "ความผิดบาป" ที่เรามิอาจไม่พยายามชำระล้างออกจากร่างกายและหัวใจ
เพียงแต่ต้องปรับเปลี่ยนโทนจากการเขียน "งานวิชาการ" มาสู่การเขียนงานเชิง "เสียดสี" และ "บันทึกส่วนตัว"


หนังสือรวมบทความชื่อ "น้องมาร์คเห็นคนตาย" ที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน คือ ดอกผลส่วนเสี้ยวหนึ่งของงานเขียนชุดนี้ 
บทความทั้งหมดในหนังสืออาจไม่ได้สื่อสารเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอออกมาอย่างจริงใจตรงไปตรงมามากสักเท่าไรนัก และมีการตั้งการ์ดระมัดระวังตัวจนน่ารำคาญอยู่บ่อยครั้ง 
นอกจากนั้น เพราะเป็นการรวบรวมบทความสั้นๆ ที่เขียนขึ้นต่างวาระ ภายใต้เงื่อนไขของเวลาอันจำกัดแบบอาทิตย์ชนอาทิตย์ มาไว้ในหนังสือเล่มเดียว 
จากกรอบโครงความขัดแย้งของสังคมซึ่งถูกเสนอผ่านเรื่องเล่ารูปแบบเดิม

มาสู่เรื่องราวยั่วล้อที่อิงแอบเข้ากับบริบททางการเมืองระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 จนถึงการเลือกตั้งกรกฎาคม 2554 
ก่อนจะปิดฉากลงด้วยบันทึกส่วนตัวอันมีเนื้อหาเชื่อมโยงกับคนเสื้อแดง, สื่อมวลชน-ปัญญาชนที่ทั้งก้าวหน้าและล้าหลัง, นักวิชาการอย่าง "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" และ "วรเจตน์ ภาคีรัตน์" ตลอดจน "อากง" ผู้เพิ่งล่วงลับ 

การสรุปรวบยอดทางความคิดของหนังสือเล่มนี้ จึงอาจไม่ได้แหลมคม เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยสมบูรณ์แบบ 

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในฐานะบทบันทึกหรือจดหมายเหตุความทรงจำว่าด้วยสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย 
ผมยังมีความรู้สึกหลงตัวเองนิดหน่อยว่า "น้องมาร์คเห็นคนตาย" สามารถให้ภาพความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่กลางปี 2553 และหลังจากนั้น ได้กว้างขวางครอบคลุมพอสมควร 
ถ้านำไปเปรียบเทียบกับมาตรฐานของงานเขียนส่วนใหญ่ในสื่อกระแสหลัก



จากงานเขียนที่ไม่มีวันสำเร็จเสร็จสิ้น ผมพลิกผันตัวเองมาเป็นคนเขียนหนังสือรวมบทความที่อาจไม่ได้มีความสมบูรณ์เพียบพร้อมในเชิงความคิดและเนื้องานมากนัก
แต่อย่างน้อย งานเขียนชิ้นหลังก็ยังได้รับโอกาสตีพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่ม และแพร่กระจายออกไปสู่ผู้บริโภค/ประชาชนจำนวนมาก (หากพอจะขายได้อยู่บ้าง) ซึ่งย่อมมีความรู้สึกหรือตีความเนื้อหาของมันด้วยมุมมองและทัศนคติที่แตกต่างกันออกไป 
ตามวงจรของระบบทุนนิยม, วิถีชีวิตไหลเวียนของสินค้า และการทำให้หนังสือเล่มหนึ่งโลดแล่นไปในกระบวนการการทำให้เป็นประชาธิปไตย

ในฐานะคนเขียน ผมขออุทิศหนังสือเล็กๆ และขาดตกบกพร่องเล่มนี้ แด่วาระครบรอบ 2 ปี เหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 2553 
ในยามที่จุดหมายปลายทางของระบอบประชาธิปไตยไทยยังคงปรากฏเป็นเพียงภาพรางเลือน 
ท่ามกลางคืนวันอันมืดมิดยาวนาน ณ ตีนเขาแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร



++

ฝันร้าย 
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก“กระแส”
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1656 หน้า 85


1.

ทวยเทวดาเหินลงจากฟ้า 
พอลอยลงมารูปโฉมเป็นมาร 
กินคนเดินดินทั่วแดนแห่งหน
ผู้คนพลีกายถวายกำนัล

ซาตานจำแลงร่างเป็นฤาษี 
ยิ้มกรายพาทีชี้ชวนทำบุญ
อัศวินรำทวนร่ายมนต์คาถา
หมายปองนานาหากลอุบาย

คนจรเดินดินไร้สิ้นสลึง 
อื้ออึงออแอชะแง้ตาลอย 
มองไปทางไหน ผู้คนครวญคราง 
เหล่ามารกาลี เฆี่ยนโบยบีฑา

กูกู่ร้องตะโกน 
ทนปวดร้าวทำไม
ทนปวดร้าวทำไม 
ได้ยินไห
ม!

(เนื้อเพลง "ฝันร้าย" ของวง "คาราวาน")


2.

วัยสาวสะคราญได้เรียกเสน่หาจากหนุ่มในโรงไม้หลายคน หนึ่งในนั้นมีนายอำพลที่กำลังขับรถ 6 ล้อขนไม้รวมอยู่ด้วย
"ตอนนั้นอากงอายุ 19 ส่วนป้าอายุ 17 หนุ่มๆ คนอื่นไม่ได้ดูแลเราดีเหมือนอากง เราประทับใจเลยแต่งงานกัน" ป้าอุ๊ยิ้มสะอาดสะอ้าน

รสมาลินกับอำพลมีลูกด้วยกัน 7 คน ระหว่างนั้นเธอเปลี่ยนมาทำขนมขายเพราะรายได้ดีกว่า ส่วนสามียังขับรถที่โรงไม้ต่ออีก 2 ปี จากนั้นย้ายกลับมาอยู่กรุงเทพฯ เช่าบ้านในราคา 700 บาท อยู่ถึง 15 ปี 
"อากงแกถนัดขับรถ มากรุงเทพฯ แกก็ยังรับจ้างขับรถอยู่จนอายุ 48 แกป่วยเป็นมะเร็งช่องปาก ค่าเช่าบ้านขึ้นมาเป็นห้าพัน เราสู้กันไม่ไหวเลยย้ายมาอยู่หลังใหม่แค่พันสองร้อย" 
("หัวอกภรรยา รสมาลิน ... " จากหนังสือ "ความมืดกลางแสงแดด" รวมบทสัมภาษณ์โดย วรพจน์ พันธุ์พงศ์ และ ธิติ มีแต้ม)


3.

ผมเองสบายดีครับโดยเฉพาะช่วงนี้ ที่รู้ข่าวว่าคุณอานนท์จะทำเรื่องขออภัยโทษรายบุคคลให้พร้อมๆ กับเพื่อนครอบครัว 112 ทั้ง 11 คน ผมดีใจและมีความหวังมากๆ ที่จะได้รับอิสรภาพในเร็วๆ นี้ พร้อมๆ กับเพื่อนๆ ที่ร่วมอดทนต่อสู้กันมาและผมเชื่อว่าทางออกทางนี้ดีที่สุด เพราะคดีอย่างผมยังไงก็ไม่มีทางที่จะนิรโทษกรรมกับเขาหรอก ทุกวันนี้ผมก็ออกกำลังกายตอนเช้าๆ ทุกวัน บางวันผมก็ทำคนเดียว แต่บางวันผมก็ทำกับคุณหนุ่ม เรื่องความเป็นอยู่พวกเราก็กินด้วยกันที่แดน 8 พวกเราเกาะกลุ่มกันดีครับ ก็มีหนุ่ม หมี สุริยันต์ ไมตี้ และเพื่อนๆ ที่ชื่นชอบคนเสื้อแดงอีกหลายคนคอยดูแลกันและกัน คุณอานนท์อย่าได้กังวล ที่ผ่านมาผมยอมรับว่าเหนื่อยมากๆ เหนื่อยที่จะมีชีวิตอยู่ เหนื่อยที่จะต่อสู้เพื่อค้นหาความยุติธรรมให้กับตัวเองและคนในครอบครัว ผมหมดกำลังใจหลายครั้ง คิดถึงแต่ลูกเมียและหลานๆ ก็มีแต่คุณหนุ่มที่จะคอยชาร์จแบตให้ คุณหนุ่มจะบ่นว่าเสมอ ผมเป็นพวกแบตเสื่อมชาร์จได้ไม่กี่นาทีก็ต้องกลับมาชาร์จอยู่เรื่อยๆ คิดแล้วก็เห็นใจหนุ่มเขานะ แต่ผมก็ท้อจริงๆ ในแต่ละวันผมจะเฝ้ารอ อุ๊มาเยี่ยม บางวันพาหลานๆ มา ทำให้ผมมีกำลังใจยิ้มได้บ้าง นี่แหละคือความสุขของผมสามารถหาได้ตลอดเวลาที่ผ่านมา
(จดหมายที่ "อากง" เขียนถึง "อานนท์ นำภา" ทนายความสำนักราษฎรประสงค์ เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2555)


4.

"อั๊วไม่ไหวแล้วนะ อากงมักพูดแบบนี้เสมอเวลางอแง เหมือนว่าถ้าไม่ไหวมันจะไม่ไหวไปทุกเรื่อง ป้าก็จะบอกว่าเธออย่าเห็นแก่ตัวนะ จะให้ฉันสู้คนเดียวหรือไง แกก็จะบอกว่า เออๆ ลื้ออย่าตายแล้วกัน ให้อั๊วตายเอง" 
("หัวอกภรรยา รสมาลิน ... ")


5.

วันที่ 19 กุมภาฯ 55 รสมาลินมาที่หน้าศาลอาญา รัชดาฯ ตั้งแต่ 8 โมงเช้า เพื่อร่วมอดอาหารเป็นเวลาหนึ่งวัน เรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้สามีและนักโทษการเมืองคนอื่นๆ

เช้าวันรุ่งขึ้นเธอและทีมทนายพร้อมด้วยนักวิชาการ 7 คน อาทิ ผศ.บุญส่ง ชัยสิงห์กานนท์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, ผศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร ใช้ตำแหน่งรวมหลักทรัพย์กว่า 2 ล้านบาทเพื่อขอประกันตัวอากงเป็นครั้งที่ 6 ศาลตัดสินไม่อนุญาตให้ประกันเพราะไม่เชื่อว่าจำเลยจะไม่หลบหนี

รสมาลินว่าที่ต่อสู้อยู่นี้ต้องมีสักวันที่อากงคงได้กลับบ้าน 
"ขอแค่เพียงกลับมาตัวเป็นๆ ก็พอ" 
("หัวอกภรรยา รสมาลิน ...")


6.

ภรรยานายอำพล ทำพิธีเชิญดวงวิญญาณกลับบ้าน โดยกล่าวว่า "กลับบ้านเรานะ ตอนนี้เค้าปล่อยตัวลื้อแล้ว" 
("“กลับบ้านเรานะ ตอนนี้เค้าปล่อยตัวลื้อแล้ว” ภรรยาอากง" http://prachatai.com/journal/2012/05/40408 )


7.

...และที่จำเลยอ้างเหตุความเจ็บป่วย ไม่ปรากฏถึงขนาดจะเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ทั้งราชทัณฑ์ก็มีโรงพยาบาลที่จะให้การรักษาจำเลยได้ทันทีอยู่แล้ว...
("ศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกัน "อากง" คดีหมิ่นเบื้องสูง ชี้หากปล่อยตัวเกรงจะหลบหนี ยื่นฎีกาสัปดาห์หน้า" www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1329996184&grpid=00&catid=19 )



.