.
รู้นะว่าแกล้งโง่
โดย คำ ผกา http://th-th.facebook.com/kidlenhentang
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1656 หน้า 89
ถ้าฉันเป็นคนต่างชาติอ่านภาษาไทยไม่ออก อาจจะคิดว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์นั้นเป็นชาวสวน เพราะประเดี๋ยวหอบสตรอว์เบอร์รี่ลงหน้าหนึ่ง ประเดี๋ยวหิ้วถั่วฝักยาวลงข่าว ประเดี๋ยวไปขายไข่ไก่
ว่าแต่ว่า อย่าลืมเรื่องงบประมาณศึกษาเรื่องชั่งไข่เป็นกิโลที่หมดไปหลายสิบล้าน อุเหม่!
แต่ไม่อย่างนั้นสักหน่อย พวกเขาไม่ได้เป็นชาวสวน แต่พาเหรดหอบผักผลไม้มาแถลงข่าวเพราะจะบอกว่า "ของแพง" พยายามปั้นสถานการณ์ของแพงมาหลายเดือน แต่ปั้นไม่เป็นตัวสักที เพราะตอนที่โวยเรื่องไข่ฟองละ 7 หรือ 8 บาทนั้น ก็ไม่มีจริง มีแต่ไข่ออร์กานิกส์ ไข่ปลอดสารเคมีที่ขายราคานั้น และขายราคานั้นมานานมาก
ส่วนข้าวแกงจานละเจ็ด-แปดสิบบาท นั้น ชาวบ้านชาวช่องก็ยืนยันว่า "เอ๊ ที่กินๆ อยู่ก็ไม่ถึงนะ"
จากนั้นพยายามปั้นเรื่อง "แพงทั้งแผ่นดิน" ควบคู่ไปกับการโจมตีนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อันชวนให้สับสนว่า "เอ้า รู้ทั้งรู้ว่าของแพง แต่ยังอยากจะกดค่าแรงให้ต่ำ เอ๊ะ ยังไง"
ฉันไม่ได้มาเขียนบทความชิ้นนี้ว่า "ของถูก" เพราะการชี้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศชาตินั้นไม่อาจมักง่ายด้วยการเที่ยวไปป่าวประกาศว่าแพงทั้งแผ่นดินแล้วหอบคะน้า กวางตุ้ง ถั่วฝักยาว ออกทีวี
เป็นฝ่ายค้านทั้งที ทีมงานนักเศรษฐศาสตร์ก็มีมากมาย น่าจะอธิบายปัญหาปากท้อง อีกทั้งปัญหา "ความยากจน" ของประเทศได้ดีกว่านี้-ว่าไหม?
ประเทศไทยไม่ได้มีตลาดแค่สอง-สามตลาด การชี้ไปที่สินค้าตัวใดตัวหนึ่งแล้วกระทืบเท้าป่าวตะโกนว่า "แพงๆๆๆ" นั้นอาจถือว่าเป็น "ความจริงคัดสรร" คือ ของถูกไม่หยิบมา แต่เลือกหยิบที่แพงมาพูดถึง หากฝ่ายรัฐบาลจะทำอย่างเดียวกันก็ไปเลือกที่เขาขายถูกแล้วกลับมาเถียงว่า "ไม่จริง"
เพราะฉะนั้น ราคาสินค้าที่ไปหยิบมาอ้างกันนั้นจะถูกจะแพง ไม่ใช่ดัชนีชี้วัด "ค่าครองชีพ"
ประเทศนี้คนจนกินของถูกอยู่แล้ว หากจะเปรียบเทียบว่า อ.สันทราย "จน" กว่า "สุขุมวิท" ในแง่ปริมาณเงินตราที่ไหลเวียนในแต่ละวัน มะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์ที่ตลาดสันทรายลูกละ 15 บาท ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างย้านสุขุมวิทราคา 70 บาท ผักกาดแก้วที่สันทราย กองหนึ่งมี 5 หัว กองละ 10 บาท ในซูเปอร์มาร์เก็ตกลางกรุง หัวละเกือบ 50 บาท ไม่นับผักสลัดในถุงสุญญากาศ ถุงละเกือบร้อย
มะม่วงสุกตลาดสันทรายกิโลกรัมละแพงที่สุดไม่เกิน 30 บาท (10 บาทก็มีขาย) ในซูเปอร์มาร์เก็ต อาจขายราคาเดียวกันทั่วประเทศกิโลกรัมละประมาณ 70 บาท
ในตลาดชนบทยังมีผักประหลาดๆ ที่คนกรุงมิรู้จัก ผักเสี้ยว ผักฮ้วน ผักเซียงดา ผักพ่อค้าตีเมีย ฯลฯ เหล่านี้ขายกัน 5 บาท 10 บาท ฯลฯ
แหล่งโปรตีนของคนชนบท ไม่ได้มีแต่หมู ไก่ เนื้อ ปลาทับทิม แต่มีกบ เขียด ลูกอ๊อด ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ หอยขม งู กิ้งก่า แลน หมูป่า ไข่มด ฯลฯ จะถูกจะแพงขึ้นอยู่กับหายากหาง่ายในฤดูนอกฤดู
เขียนมาทั้งหมดนี้ไม่ได้บอกว่า คนสันทรายมีคุณภาพชีวิตดีกว่าคนสุขุมวิทหรือเพราะของราคาถูกกว่าจึง "รวยกว่า"
เหตุก็เพราะว่า "ราคาสินค้าบริโภค" ไม่ได้ชี้ปัญหา "ปากท้อง" ของประชาชน
คนจนในชนบทอาจได้กินอาหาร "ดีกว่า" และ "ถูกกว่า" คนในเมืองไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือคนรวย
แต่ความยากจนของพวกเขาคืออะไร?
คุณภาพการศึกษา โรงเรียนนานาชาติในกรุงเทพฯ กับโรงเรียนที่บ้านโนนสวรรค์คุณภาพทัดเทียมกันหรือไม่? สาธารณูปโภคของทุกจังหวัดในประเทศไทยมีคุณภาพทัดเทียมกันหรือไม่?
โอกาสการเข้าถึงสัญญาณอินเตอร์เน็ตทั้งประเทศทั่วถึงเท่าเทียมหรือไม่?
และรู้หรือเปล่าว่ายังมีพื้นที่ในประเทศไทยที่ไม่มีไฟฟ้าใช้?
ลองมาดูกันว่า "คนจน" ในเมืองกินอะไร?
พวกเขาคงไม่เข้าไปกินมะละกอลูกละเฉียดร้อยในห้าง สังเกตไหมว่าในท่ามกลางความหรูหรากลางเมือง ท่ามกลางร้านอาหารที่สนนราคามื้อละครึ่งหมื่นต่อคน ย่อมมีหาบเร่ แผงลอย รถเข็นขายส้มตำ เนื้อย่าง ลูกชิ้นปิ้งราคาถูก ไก่ทอด แกงเห็ด รถเข็นขายอาหาร "บ้านๆ" อย่างแจ่ว น้ำพริก ข้าวเหนียว ผักเสี้ยนดอง ฯลฯ แทรกอยู่ทุกหนทุกแห่งในเมืองหลวง
คนจนเหล่านี้อย่าว่าแต่ไปซื้อผักแพ็กละร้อยในห้าง แค่เดินผ่านยังตัวลีบ
แต่ถามว่าเขาทุกข์ทนกับอาหารที่เขากินไหม? คำตอบน่าจะ "ไม่"
พวกเขาอยากเข้าไปกินเนื้อมัทซึซากะคำละห้าร้อยในร้านอาหารญี่ปุ่นชื่อดังไหม? คำตอบคือ "ไม่"
ถามว่า จะพาเขาไปเลี้ยงเนื้อโกเบชิ้นสองพันในห้าง เขาอยากรับเลี้ยงไหม? คำตอบคือ "ไม่" เพราะเขามีความสุขดีอยู่กับส้มตำแสนแซ่บ
หรือให้ฉันเลือกระหว่าง น้ำพริกปลาแนมผักแว่นกับโทโร่ดส่วนท้องคำละพัน ฉันก็อยากกินน้ำพริกปลามากกว่า (ด้วยความสัตย์จริง)
แล้วพวกเขาต้องการอะไร?
"พวกเขาต้องการอะไร?"
นี่คือคำถามที่แท้จริงและเป็นที่มาของ "ความยากจน" ในประเทศนี้ ไม่ได้อยู่ที่คะน้าแพงกว่าปีที่แล้วกี่บาทต่อกิโลกรัม? ไม่ต้องเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ก็คิดได้ว่าหากผักราคาถูก คนที่เดือดร้อนคือ เกษตรกรผู้ปลูกผัก หากผลไม้ราคาถูกคนที่เดือดร้อนคือเกษตรกรเจ้าของสวนผลไม้
นอกจากนั้น ราคา "อาหาร" ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายอย่าง เช่น มังคุดในตลาดแพง ไม่ได้แปลว่า ชาวสวนมังคุดจะร่ำรวยเสมอไป
"ตลาด" ของอาหารมีทั้ง "อุตสาหกรรมอาหาร" ที่ถูกผูกขาดจากระบบ contract farming ที่มัดมือมัดเท้าเราทั้งเกษตรกรที่เปรียบเสมือนลูกจ้างของบริษัทใหญ่ (และเป็นลูกจ้างที่ต้องควักเนื้อลงทุนเอง "เจ้าสัว" ถึงได้มั่งคั่งไม่จบไม่สิ้น)
ตลาดของอาหารยังถูกกำกับด้วยต้นทุนของค่าขนส่งและระบบ logistic ที่ห่วยแตกของไทยทำให้ราคาอาหารสูงขึ้น
คนที่แบกถั่วฝักยาวมาป่าวตะโกนว่ามันแพงๆๆ นั้นช่วยขยายความแพงออกมาด้วย อย่าสักแต่จมปลักตมอยู่กับคำตอบสิ้นคิดที่ว่า "เพราะรัฐบาลนี้ของจึงแพง"
อาหารราคาถูกยังเป็นที่กังขาเรื่องคุณภาพของอาหาร น้ำมันที่ใช้เป็นยังไง คุณภาพกะปิ น้ำปลา ผงชูรส ระบบสุขาภิบาล สารเคมี และอีกสารพัดที่ต้องทำให้อาหารถูก แต่ถามว่า เราอยากให้ประชาชนกินของถูกด้อยคุณภาพหรือ???
การมีอาหารราคาถูกกิน ไม่ได้บอกว่า "รัฐบาลนี้เก่ง" ทำให้อาหารราคาถูก
สิ่งที่เราต้องการคือ ประชาชน "ร่ำรวยมากขึ้น" และเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพดีขึ้น พ่อค้าแม่ค้าขายสินค้า ขายอาหารได้ในราคาที่ได้กำไรมากขึ้น โดยไม่ต้องลดต้นทุนด้วยการใช้ผงชูรสปลอม น้ำมันเก่า เว้นการล้างผักเพื่อประหยัดน้ำ เพิ่มสารกันบูดเพื่อให้แกงขายได้หลายชั่วโมง ฯลฯ
ถามว่า ประชาชนส่วนใหญ่ที่ยากจนของประเทศนี้ต้องการอะไร?
เขาไม่ได้ต้องการผักราคาถูก ไข่ราคาถูก ไม่ได้ต้องการร้านธงฟ้าราคาประหยัด เขาต้องการ "คุณภาพชีวิต" - ตอบแบบกำปั้นทุบดินคือ ประเทศไทยยังไม่มีการเก็บภาษีคนรวยมาเพิ่มสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ (ภาษีที่ดิน, ภาษีมรดก เป็นต้น) เราไม่ต้องการไข่ราคาถูกลงห้าสิบสตางค์ต่อฟอง
แต่เราต้องการบริการขนส่งมวลชนสาธารณะราคาถูกปลอดภัย เราต้องการโรงเรียนที่ดีมีคุณภาพเท่าเทียมกันสำหรับคนไทยทุกคนไม่เลือกชั้นวรรณะและการศึกษาภาคบังคับที่ไม่แพงเกินไป เราต้องการการสนับสนุนบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน เราต้องการเคหะชุมชนที่ทำให้ "คนจน" ไม่ต้องใช้รายได้กว่าครึ่งไปกับค่าเช่าบ้าน
ลดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้ ทั้งค่าเดินทาง ค่าเล่าเรียนลูก ค่าชุดนักเรียน ชุดพละ ชุดสารพัดชุด เข็มขัด รองเท้า ลดค่าใช้จ่ายเพื่อสุขภาพ ลดค่าเช่าบ้าน ทำได้ประมาณนี้ ประชาชนจะมีเงินเหลือมากินอาหาร ซื้อผัก ซื้อไข่ในราคาตาม "ตลาด" เกษตรกรอยู่ได้ พ่อค้าคนกลางอยู่ได้ พ่อค้าแม่ค้าปลีกอยู่ได้ ร้านข้าวแกงจะได้ขายแพงขึ้นอีก เมื่อขายแพงได้ก็จะได้เพิ่มคุณภาพอาหารได้ ผลิตอาหารที่มีความประณีตมากขึ้น ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น
ปัญหาปากท้องคือปัญหาคุณภาพชีวิต ไม่ใช่ปัญหาว่าไข่แพงขึ้นกี่บาท ผักกาด ต้นหอมขึ้นราคากี่บาท เพราะไปบังคับให้แม่ค้าขายถูกลง แม่ค้าก็บอกว่าพ่อค้าคนกลางส่งของมาแพง พ่อค้าคนกลางก็บอกว่าน้ำท่วมผักแพง คนสวนบอกว่าขายถูกกว่านี้ก็ขาดทุน พ่อค้าที่รับมาก็บอกน้ำมันแพง ขายถูกกว่านี้ได้อย่างไร
ราคาอาหารไม่ได้อยู่ที่หน้าแผงกับแม่ค้าคนสุดท้ายกับลูกค้าสักหน่อย ไหนบอกรักเกษตรกร ทำไมอยากกินแต่ผักถูกๆ กันเล่า?
สรุปก็คือฝ่ายค้านแค่ยกประเด็น "แพงทั้งแผ่นดิน" มาดิสเครดิตรัฐบาล แต่หาได้ใส่ใจกับปัญหาที่ประชาชนเผชิญมาตลอดหลายทศวรรษของการมีประเทศไทย
น่าเสียใจแทนคนไทยที่เรามีฝ่ายค้านเล่น "การเมือง" เพราะหวังผลระยะสั้นมากกว่าสร้างเครดิตในฐานะที่เป็นสถาบันทางการเมือง
เพราะหากฝ่ายค้านทำหน้าที่ "นักการเมือง" และ "สถาบันทางการเมือง" การโจมตีนโยบายหรือความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลน่าจะทำได้ดีกว่าไปเดิน "จ่ายตลาด" และ "แถลงข่าวราคาสินค้า"
ปัญหาปากท้อง ปัญหาคุณภาพชีวิตของคนไทย ไม่ได้อยู่ที่เรื่อง "ไม่มีอะไรจะกิน"
แต่อยู่ที่ความเหลื่อมล้ำในการ "ทำมาหากิน"
อยู่ที่ความเหลื่อมล้ำในช่องทางของการเข้าถึงการพัฒนาชีวิตของตนเองให้ "มีอันจะกิน"
และอยู่ที่การคงสภาพของกลุ่มทุน "ผู้ขูดรีดถาวร" ที่ผูกขาดการผลิตสินค้าอุปโภค บริโภค ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ อันตรึงความยากจนไปกับประชาชนไทยไปชั่วกาลนาน
หาใช่ราคาคะน้า ผักกาด ถั่วฝักยาวในตลาดที่แพงขึ้นสอง-สามบาทจะทำให้เราจน-ไม่ใช่
อย่าแกล้งโง่หน่อยเลยน่า
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย