http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-05-05

สุวรรณจังโกฏวัดจามเทวี กู่กุด กู่กุฏิ หรือ กุกกุฏนคร? โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.

สุวรรณจังโกฏวัดจามเทวี กู่กุด กู่กุฏิ หรือ กุกกุฏนคร?
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1655 หน้า 76


ฉบับที่แล้วได้ทิ้งปริศนาเชื่อมโยงถึงเมืองไก่ขาว หรือ "กุกกุฏนคร" ว่าจะเกี่ยวข้องอะไรไหมกับเจดีย์องค์ที่เก่าแก่ที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทย ณ วัดจามเทวี เมืองลำพูน ซึ่งเรียกกันว่า "กู่กุฏิ" บ้างเขียนเป็น "กู่กุด"
แต่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "สุวรรณจังโกฏ"

ต้องขอบอกก่อนว่าในวัดจามเทวี มีเจดีย์สมัยหริภุญไชยอายุเกินพันปีอยู่สององค์ องค์ใหญ่ก่อด้วยศิลาแลงคือ "สุวรรณจังโกฏ" ที่เรากำลังจะพูดถึง ส่วนอีกองค์รูปทรงแปดเหลี่ยมก่อด้วยอิฐและมีขนาดย่อมกว่า ป้ายเขียนว่า "รัตนเจดีย์"
องค์หลังนี้ก็มีประเด็นให้ถกเถียงกันอีกไม่น้อย โดยเฉพาะชื่อรัตนเจดีย์นั้นรู้สึกว่าจะไปขโมยเอาชื่อของเจดีย์องค์ใหญ่มาใช้หรือเปล่า?
แต่วันนี้ขอโฟกัสแค่องค์ใหญ่เท่านั้นพอ
เพราะลำพังแค่สุวรรณจังโกฏก็สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้ามากพอแรงอยู่แล้ว



ความคลุมเครือของ "สุวรรณจังโกฏ"

เป็นเจดีย์ที่ไม่เพียงแต่คลุมเครือด้านชื่อเรียก อันสืบเนื่องมาจากประวัติที่ไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดเท่านั้น ทว่า ด้านรูปแบบสถาปัตยกรรมที่มีรูปทรงปราสาทสี่เหลี่ยมซ้อนชั้นแบบพีระมิด (Stepped Pyramid) ก็ยังคงเป็นปริศนาว่ารับอิทธิพลมาจากที่ใดกันแน่ ถกถียงกันมานานกว่ากึ่งศตวรรษแล้วก็ยังขบไม่แตกสักที
บางท่านว่าประยุกต์มาจาก "ถะ" ของเจดีย์จีน บ้างก็ว่าน่าจะได้รับอิทธิพล "ทรงสิขระ" จากเจดีย์พุทธคยาทางอินเดียเหนือ หลายท่านกลับเชื่อว่าละม้ายปราสาทซ้อนชั้นของศิลปะขอมสมัยเกาะแกร์ในกัมพูชา แต่ก็ยังไม่มีใครตัดทฤษฎีแรกสุดว่าคล้ายกับสัตตมหาปราสาทเมืองโปลนนาลุวะในลังกาทิ้งไป
แค่รูปแบบสถาปัตยกรรมก็ยังไขว้เขวกันอยู่ถึงสี่ทฤษฎี!

จนบางครั้งชวนให้คิดว่า หรือนี่คืออัตลักษณ์เฉพาะของหริภุญไชย คือเหมือนนู่นนิดนี่หน่อย แต่เมื่อพินิจอย่างละเอียดเข้าจริงๆ แล้วกลับไม่เหมือนสายวิวัฒนาการใดเลยสักแห่งเดียว
ในมุมกลับกัน เจดีย์องค์นี้คือภาพสะท้อนว่า "ศิลปกรรมหริภุญไชย" นั้นรับเอาอารยธรรมเด่นๆ จากหลากหลายแหล่งมาคลุกเคล้าผสมผสานให้เข้ากันจนเป็นเนื้อเดียว
แล้วชื่อ "สุวรรณจังโกฏ" มาจากไหน?
ชื่อของเจดีย์องค์นี้ เกิดข้อถกเถียงหลักอยู่สองความเห็นซึ่งยังไม่มีข้อยุติ

แนวทางแรกเป็นทฤษฎีของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ รวมทั้งนักโบราณคดีรุ่นเก่า อาทิ ศ.ปิแยร์ ดูปองต์ ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล น. ณ ปากน้ำ ที่เสนอว่าเป็นเจดีย์ สุวรรณจังโกฏ ภายในบรรจุพระอัฐิและพระสรีรางคารของพระนางจามเทวี ปฐมกษัตรีย์แห่งนครหริภุญไชย สร้างโดยพระเจ้ามหันตยศ พระราชโอรสแฝดพี่ของพระนาง อันเป็นทฤษฎีที่มีการยอมรับอย่างกว้างขวาง

ส่วนอีกแนวทางหนึ่ง นำโดย รศ.ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ เชื่อว่าเป็นเจดีย์ "สันมหาพล" สร้างโดยชาวละโว้หรือขอมกัมโพชที่ยกทัพมาทำสงครามธรรมยุทธ์กับหริภุญไชย แต่แล้วพ่ายแพ้แก่พระญาอาทิตยราช จำต้องเกณฑ์ไพร่พลเชลยศึกมาสร้างเจดีย์ประกาศความพ่ายแพ้ ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเวียง
ปัจจุบันนี้นักวิชาการหลายท่านค่อนข้างโน้มเอนในทฤษฎีนี้ อาทิ ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม และอาจารย์หลายท่านแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เช่น รศ.ม.ล.สุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ อ.ฉัตรแก้ว สิมารักษ์ ด้วยเห็นว่ารูปแบบศิลปะสถาปัตยกรรมของสุวรรณจังโกฏนั้นมีกลิ่นอายของศิลปะขอมเข้ามาผสมอย่างเด่นชัด
ทั้งสองความเห็นที่ขัดแย้งกันนี้ ส่งผลให้การกำหนดอายุสมัยขององค์พระเจดีย์มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

หากเชื่อตามทฤษฎีแรก (สุวรรณจังโกฏ) เจดีย์องค์นี้ต้องมีอายุรุ่นพุทธศตวรรษที่ 13 ซึ่งถือว่าเก่ามากร่วมสมัยกับศิลปะทวารวดีตอนต้น
แต่หากเชื่อตามทฤษฎีหลัง (สันมหาพล) อายุสมัยของเจดีย์ก็จักหย่อนลงไปอีก 3-4 ศตวรรษ คือตกราวพุทธศตวรรษที่ 16-17

ฉะนั้น ขอให้ท่านอย่าได้สับสน เผื่อไปพบตำราทางวิชาการ บางเล่มอาจเรียกเจดีย์องค์นี้ว่า "สุรรณจังโกฏ" แต่บางเล่มกลับเรียกว่า "เจดีย์มหาพล"
หลักฐานสำคัญเพียงชิ้นเดียวที่เขียนถึงเจดีย์องค์นี้ ก็คือศิลาจารึกอักษรมอญโบราณ เลขทะเบียน ลพ.2 กล่าวว่าพระญาสรรพสิทธิ์ได้ซ่อมพระเจดีย์องค์ใหญ่ที่ถล่มทลายลงมาเนื่องจากเกิดแผ่นดินไหวประมาณปี พ.ศ.1628 เมื่อซ่อมเสร็จได้บุอัญมณีเพชรพลอย และขึ้นชื่อเจดีย์องค์ใหม่นั้นว่า "รัตนเจดีย์"
น่าเสียดายที่จารึกพระญาสรรพสิทธิ์ ไม่ยอมระบุว่าท่านทรงปฏิสังขรณ์เจดีย์องค์ไหน "สุวรรณจังโกฏ" หรือ "สันมหาพล" แต่ที่แน่ๆ เมื่อซ่อมเสร็จได้เฉลิมนามใหม่ว่า "รัตนเจดีย์"
และนี่คืออีกหนึ่งความสับสน ที่มีผู้เอาชื่อ "รัตนเจดีย์" ไปเรียกขานสถูปองค์แปดเหลี่ยม หรืออาจเห็นว่าเจดีย์องค์ใหญ่มีชื่อมากมายอยู่แล้ว ลำพังสุวรรณจังโกฏ กับสันมหาพลก็สับสนพอดู ฉะนั้น ขอยืมชื่อรัตนเจดีย์ไปให้อีกองค์ใช้ก่อนก็แล้วกัน เพราะยังไม่มีชื่อ เป็นซะงั้น!

สิ่งที่ยังทำให้ดิฉันไม่ปักใจเชื่อว่าเจดีย์เหลี่ยมคือ "สันมหาพล" ก็ด้วยเหตุผลสองประการ
ประการแรก ระหว่างเจดีย์ที่บรรจุอัฐิของปฐมกษัตรีย์จามเทวี กับเจดีย์ที่สร้างโดยเชลยศึกชาวขอมกัมโพชนั้น ขอถามว่าพระญาสรรพสิทธิ์จะเลือกซ่อมพระเจดีย์องค์ไหนหากมันล้มลงมาเพราะธรณีพิโรธ
ทำไมพระญาสรรพสิทธิ์ต้องลงทุนบูรณะปฏิสังขรณ์เจดีย์สันมหาพลด้วยเล่า ในเมื่อมันไม่ได้มีความหมายต่อจิตวิญญาณของชาวหริภุญไชยแม้แต่น้อย
ประการที่สอง อาจารย์พิริยะเคยทักท้วงท่านอาจารย์สุภัทรดิศว่า รูปแบบศิลปะที่เห็นนั้นมีศิลปกรรมขอมในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 เข้ามาปะปนอย่างมากมาย สิ่งที่อาจารย์พิริยะอธิบายไม่หมดก็คือ ทำไมเจดีย์เหลี่ยมองค์นี้จึงปรากฏลวดลายเก่าแก่ อาทิ เครื่องทรงเทวดาบางองค์ และลายกระหนกผักกูดสมัยทวารวดีปะปนอยู่มากมายท่ามกลางลวดลายแบบขอม ไฉนชาวกัมโพชในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16 จึงล่วงรู้ลวดลายย้อนยุคแบบมอญทวารวดี รวมทั้งเหตุไรจึงเก่งกาจไปรู้จักลวดลายที่มีกลิ่นอายข้ามชาติของศิลปะพุกามด้วยอีกเล่า

หากมิใช่ว่า เจดีย์สุวรรณจังโกฏเคยมีมาก่อนหน้าแล้วตั้งแต่ยุคพระเจ้ามหันตยศ ครั้นเกิดแผ่นดินไหวทำให้พระญาสรรพสิทธิ์ต้องซ่อมใหญ่ ลวดลายเดิมในยุคหริภุญไชยตอนต้นที่ไม่ชำรุดจึงยังคงปรากฏอยู่ เคียงคู่ขนานไปกับการเสริมแซมอิทธิพลขอมกับพุกามเข้าแทรกปน อันเป็นรสนิยมใหม่ร่วมสมัยจากทั้งสองสาย

นี่แค่ชื่อจริงหรอกนะ "สุวรรณจังโกฏ" "สันมหาพล" รวมทั้ง "รัตนเจดีย์" ลองมาดูชื่อเล่นอีกเป็นไร


"กู่กุด" "กู่กุฏิ" หรือ "กุกกุฏ"?

ประเด็นการเรียกชื่อ "กู่กุฏิ" หรือ "กู่กุด" นี้ ปราชญ์สยามส่วนใหญ่ ไม่ว่า เสฐียรโกเศศ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ต่างทรงมีมติเห็นพ้องตรงกันดังระบุไว้ในหนังสือตอบโต้ "สาส์นสมเด็จ" ว่าถ้าจะให้ถูกควรเขียนว่า "กู่กุฏิ" หมายถึง "ช่องกุฏิ" หรือ "กุฎาคาร" เพราะลักษณะโดยรวมของสุวรรณจังโกฏนั้นเปิดเป็นช่องคูหาซุ้มพระพุทธรูปประทับยืนถึง 60 องค์

แม้แต่ ไมเคิล ไรท ยังมีความเห็นว่า "กุฏิ" หรือ "กูฏ" แท้ก็คือ "กูฑุ" หรือช่องวงโค้งเกือกม้าสำหรับประดิษฐานรูปประติมากรรม ซึ่งชาวอินเดียโบราณนิยมเจาะช่องผนังถ้ำมาแล้วตั้งแต่เริ่มมีการสร้างวิหารพุทธยุคบุกเบิก

แต่แล้วป้ายที่ปักคำอธิบายภายในวัดจามเทวีรวมทั้งเอกสารที่เขียนโดยชาวบ้านกลับใช้คำว่า "กู่กุด" ปราชญ์หลายท่านเชื่อว่า "กู่กุด" เป็นการเขียนขึ้นใหม่โดยความเข้าใจคลาดเคลื่อนของชาวบ้าน โดยเฉพาะคนภาคเหนือเมื่ออ่านคำว่า "กุฏิ" จะออกเสียงเป็น "กุด" เฉยๆ ไม่ใช่ "กุด-ติ" ออกเสียงไปออกเสียงมานานวันเข้าภาษาพูดก็ค่อยๆ แทนที่ภาษาเขียน จาก "ฏ" กลายเป็น "ด" แบบเบ็ดเสร็จ ทำให้คนรุ่นหลังไปตีความใหม่ว่าหมายถึงเจดีย์ที่ยอดหักด้วน โดยลืมไปว่าเจดีย์ทั่วประเทศไทยเกือบ 90% ที่มีอายุเก่าแก่เกินกว่าพันปี ย่อมไม่มีแห่งไหนเหลือยอดที่สมบูรณ์ทั้งสิ้น ไยจึงต้องมาจำเพาะเจาะจงเพรียกขานเจดีย์องค์นี้ว่า "เจดีย์ยอดด้วน" ให้เป็นอัปมงคลอยู่องค์เดียวด้วยเล่า!

อ.วิธูร บัวแดง นักวิชาการด้านคติชนวิทยา แม้จะเป็นชาวระโนด สงขลา แต่มาฝังกายฝังใจเมืองเหนือนานหลายทศวรรษ เสนอข้อสันนิษฐานใหม่ว่า คำว่า "กู่กุฏิ" ที่เราเรียกขานและเขียนโดยใส่สระอิเหนือตัว "ฏ" ตามที่ปรากฏในหนังสือสาส์นสมเด็จภายหลังนั้น
บางทีอาจเป็นคำคำเดียวกันกับ "กุกกุฏ" สถานที่อุทิศให้เทพขันทกุมารผู้มีไก่ขาว-นกยูงเป็นพาหนะก็ได้ ซึ่งในที่นี้ได้ปรากฏลวดลายปูนปั้นล้อมรอบซุ้มพระพุทธรูป เป็นเหล่ากินนร กินรีระบำฟ่ายฟ้อนเต็มไปหมด
ชาวลำพูนเรียกกินนร-กินรีว่า "สิกขี" ซึ่งแปลว่า "นกยูง" เช่นเดียวกับชาวขอมเรียก "มยุรา-มยุรี" ก็แปลว่านกยูงอีกเช่นกัน

ดังที่ได้กล่าวไว้คราวก่อนว่า "กุกกุฏนคร" ของลำพูนเป็นเมืองแห่งเทพอารักษ์ "ไก่แก้ว" ทำหน้าที่เสมือน "เสื้อเมือง" ในขณะเดียวกัน "กุกกุฏนคร" ก็ยังเป็นที่สิงสถิตของ "ไก่ขาว" แห่งลำปาง ซึ่งทุกวันนี้เรายังหา "กุกกุฏนคร" ไม่พบในลำปาง
สิ่งที่ยังสะท้อนภาพความเชื่อเรื่องเสื้อเมืองของชาวลำปาง เหลือแต่เพียงสัญลักษณ์ "ไก่ขาว" และ "นกยูง" สืบทอดมาจนถึงเซรามิก "ชามตราไก่"!



ถ้าเช่นนั้นจะเชื่อมโยง "ชื่อเล่น" กับ "ชื่อจริง" ของเจดีย์องค์นี้ให้เข้ากันได้อย่างไร ระหว่าง "กุกกุฏ" กับ "สุวรรณจังโกฏ"

เมื่อพิจารณาให้ละเอียด จะเห็นว่า สุวรรณจังโกฏคือเจดีย์บรรจุพระบรมอัฐิของพระนางจามเทวี ฉะนั้น ย่อมมีสถานะเป็น "เสื้อเมือง" แห่งหริภุญไชย ไม่ต่างไปจาก "กุกกุฏ" ซึ่งเป็นที่สิงสถิตดวงวิญญาณของไก่แก้ว-ไก่ขาวผู้เป็นอารักษ์เมืองลำพูน-ลำปางเช่นเดียวกัน
ดังนั้น คำว่า "กุกกุฏ" จึงกลายเป็นคำเฉพาะที่หมายถึง "เสื้อเมือง" และอาจใช้เรียกแทนเจดีย์สุวรรณจังโกฏโดยนัยยะนี้ก็เป็นได้

ไม่น่าเชื่อจริงๆ ว่าเจดีย์เล็กๆ ณ ลุ่มแม่ระมิงค์ จักมีพลานุภาพดึงดูดให้นักวิชาการจากทั่วทุกมุมโลกต้องมานั่งครุ่นคิด ถกเถียง โต้แย้ง กันอย่างหน้าดำหน้าแดง
ยิ่งคิดยิ่งค้น ยิ่งท้าทาย และมักมีทฤษฎีอะไรใหม่ๆ มานำเสนอได้ไม่จบไม่สิ้น
เจดีย์อะไรช่างรุ่มรวยเสน่ห์อย่างร้ายกาจถึงเพียงนี้!



.