http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-24

เขมรแดง (1) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์


.

เขมรแดง (1)
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1653 หน้า 30


ผมชอบอ่านเรื่อง "เขมรแดง" เพราะเป็นประสบการณ์ที่ประหลาดของมนุษย์ ไม่ค่อยเกิดขึ้นที่ไหนในโลก โดยเฉพาะในอุษาคเนย์

เขมรแดงครองแผ่นดินกัมพูชาอยู่แค่ 3 ปีกว่าๆ แต่ประชากรกัมพูชาตายไปอย่างน้อย 1.5 ล้านคน คือหายไปประมาณ 20-25% ตัวเลขนี้เถียงกันในหมู่นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้ แต่ผมเอามาจากผู้ที่เก็บรายละเอียดจากการสัมภาษณ์และหลักฐานมากสุด (Ben Kiernan)

ทั้งหมดนี้ไม่ได้ถูกสังหารโดยตรงทั้งหมด สักครึ่งหนึ่งตายด้วยความอดอยากขาดแคลน อันเป็นสภาพที่เขมรแดงสร้างให้เกิดขึ้นเอง

นอกจากนี้ คนแต่ละกลุ่มก็ตายไม่เท่ากัน เช่น ในบรรดาชนกลุ่มน้อย ญวนถูกสังหารเหี้ยน ลาวกับไทยสัก 40% จีนสัก 50% จามสัก 36% แต่ "แขมร์เลอ" หรือชนกลุ่มน้อยบนที่สูงมีเพียง 15% ส่วนชาวเขมรซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ก็ตายไปไม่น้อยเหมือนกัน เขมรในเขตเมืองตายสัก 25% เขมรในเขตชนบทอีก 15% หากนับเป็นรายหัวก็ถือว่ามากที่สุด

ความทารุณโหดร้ายผิดมนุษย์มนาเช่นนี้เกิดขึ้นจากอะไร?



นักวิชาการที่ศึกษาเขมรแดงต่างก็ให้เหตุผลกันไว้หลายอย่าง (ขณะที่บางคนก็บรรยายถึงเฉยๆ โดยไม่ได้อธิบาย) คำอธิบายที่สื่อมักนำมาถ่ายทอดต่อมีอยู่สองประการคือ

ความกระตือรือร้นด้านอุดมการณ์จนเลยขีดปรกติของผู้นำ กัมพูชาที่เขมรแดงยึดไปได้นั้น มีเศรษฐกิจที่สลับซับซ้อนมากเหมือนในประเทศสมัยใหม่อื่นๆ แต่ทฤษฎีปฏิวัติของผู้นำเขมรแดงกลับเป็นการเริ่มต้นจากเศรษฐกิจศักดินา โดยเริ่มจากการสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยกำลังคนด้านการเกษตรแบบคอมมูน ดังนั้น จึงต้อง "ลบทิ้ง" ส่วนที่ถือว่าเกินมาทั้งหมด

มีรายงานว่า รถไถรถขุดนานาชนิดที่จีนส่งมาช่วยนั้น เขมรแดงเอาจอดไว้เฉยๆ จนพัง เพราะเชื่อในแรงงานและความมุ่งมั่นของคนมากกว่า

คำอธิบายอย่างที่สองก็คือความลำพองใจ ต้องไม่ลืมว่าเขมรแดงยึดพนมเป็ญได้เด็ดขาดในวันที่ 17 เมษายน 2518 ก่อนที่เวียดนามจะยึดไซ่ง่อน และก่อนพรรคปะเทดลาวจะยึดเวียงจันได้ เขมรแดงเป็นพรรคปฏิวัติของอินโดจีนที่บรรลุเป้าหมายได้ก่อนใคร โดยผ่านประสบการณ์ที่เลวร้ายจากการทิ้งระเบิดปูพรมอย่างไม่เลือกเป้าของอเมริกันมาอย่างหนักหนาสาหัสไม่น้อยกว่าใคร

ชัยชนะของเขมรแดงจึงไม่ได้เป็นแต่ชัยชนะต่อระบอบศักดินาเขมรเท่านั้น แต่คือชัยชนะต่อมหาอำนาจที่เกรียงไกรของโลกคือสหรัฐด้วย เพราะสหรัฐหนุนหลังรัฐบาล ลอน นอล อย่างสุดตัวตลอดมา

เขมรแดงจึงสามารถดำเนินการปฏิวัติตามวิถีทางของตน โดยไม่ต้องสนใจความเห็นของนานาชาติอีกเลย


คําอธิบายเหล่านี้ฟังขึ้นทั้งนั้นนะครับ และปัจจัยเหล่านี้คงมีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้เกิด "ทุ่งสังหาร" ขึ้น แต่เมื่ออ่านเรื่องเขมรแดงไปมากเข้าๆ ผมชักจะสงสัยว่าอาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุด แต่ก็แน่นอนว่าปัจจัยที่ผมจะกล่าวถึงข้างหน้านี้ คงไม่ใช่ปัจจัยเดียว หากมีผลอย่างสำคัญก็เพราะมีปัจจัยอื่นๆ ช่วยหนุนเสริมด้วย

ปัจจัยที่ว่านั้นคือความไม่มั่นคงทางอำนาจของกลุ่ม "พี่ใหญ่หมายเลข 1" หรือ พล พต แม้ว่าชัยชนะของเขมรแดงส่วนหนึ่งมาจากการสนับสนุน (ทั้งอาวุธและกำลังคน) ของเวียดนาม แต่ก็เป็นชัยชนะของสงครามกองโจร อันเป็นการจัดทัพที่ต้องกระจายอำนาจบังคับบัญชาค่อนข้างเด็ดขาดไว้กับแม่ทัพนายกองในพื้นที่ต่างๆ อย่างสูง พล พต ไม่มีวันจะไว้วางใจความภักดีของแม่ทัพนายกองเหล่านั้นได้สนิท หากระแวงใครก็ต้องขจัดออกไป

ตั้งแต่ยังยึดพนมเปญไม่ได้ คณะกรรมการกลางก็มีมติให้อพยพชาวกรุงออกไปชนบทให้หมดแล้ว หนึ่งในคณะกรรมการกลางซึ่งเป็นปัญญาชนประจำพรรคคือ ฮู ยุ่น ได้แสดงความไม่เห็นด้วยว่า สถานการณ์ไม่เหมาะที่จะทำเช่นนั้น แต่ ฮู ยุ่น ไม่ได้เป็นแค่ปัญญาชนช่างพูดเหมือนผม เขาได้รับความภักดีอย่างมากในกองทัพภาคตะวันออก ซึ่งเป็นหัวหอกของกองกำลังที่บุกเข้าพนมเป็ญก่อน ดังนั้น ในเวลาไม่นาน ฮู ยุ่น จึงหายตัวไปจากโลก และกองทัพภาคตะวันออกก็ไม่ได้รับความไว้วางใจอีกเลย

การขจัดสมาชิกพรรคกลุ่มต่างๆ แม้แต่ที่ดำรงตำแหน่งสูง รวมทั้งทหารและประชาชนซึ่งถูกระแวงว่าภักดีต่อคนเหล่านั้น เกิดขึ้นตลอดสมัยเขมรแดง โดยเฉพาะในตอนท้ายเมื่อจะทำสงครามกับเวียดนาม ก็ดำเนินการกวาดล้างใหญ่เพื่อป้องกันการปฏิวัติซ้อน (putsch) แม้แต่กองทัพตะวันออกและในอีกหลายภาคก็ถูกโจมตีและฆ่าเสียจำนวนมาก อันที่จริงในช่วงระหว่าง 2520-2521 เขมรแดงสังหารผู้คนมากกว่าช่วงใดทั้งสิ้น

การอพยพคนออกจากพนมเปญและเขตเมือง นอกจากมีปัจจัยด้านอุดมการณ์แล้ว ในทางยุทธศาสตร์ เขมรแดงก็กลัวว่าสหรัฐอาจส่งเครื่องบินจากเวียดนามใต้ หรือไทย ทิ้งระเบิดปูพรมพนมเปญให้ราบเรียบก็ได้ จึงต้องเอาคนออกให้หมด เพราะเขมรแดงมีประสบการณ์ถูกทิ้งระเบิดในชนบทมาแล้ว และรู้ว่าจะเอาตัวรอดอย่างไร 
นี่ก็เรื่องของความไม่มั่นคงและความกลัวอีกนั่นแหละ 



เขมรแดงแบ่งประชาชนออกเป็นสองกลุ่ม คนที่อยู่ในชนบททำนาทำไร่มาก่อน คือคนที่ถูกนายทุนศักดินากดขี่มาเหมือนกัน จึงน่าไว้วางใจกว่า เรียกว่าประชาชน "มูลฐาน" และในระยะต้นได้รับอภิสิทธิ์ต่างๆ เช่น ไม่ต้องไปกินข้าวร่วมกัน แถมยังสามารถเก็บรักษาเครื่องมือการเกษตรของตนเองไว้ได้ โดยไม่ต้องส่งมอบให้รัฐ

ส่วนประชาชนที่ถูกกวาดต้อนจากเขตเมือง คือพวกที่สนับสนุนนายทุนศักดินาทั้งนั้น ไม่น่าไว้วางใจ กวาดต้อนให้มาลงแรงทำเกษตรเหมือนคนอื่น เรียกว่าประชาชน "ใหม่" คือต้องพิสูจน์ตนเองเสียก่อนว่าสนับสนุนการปฏิวัติจริง จึงจะกลายเป็นประชาชนเต็มขั้นได้ พวกนี้ล้มตายเสียมาก เพราะความอดอยาก, การทำงานหนัก และโรคภัยไข้เจ็บ ที่ถูกสังหารก็มากเหมือนกัน เพราะน่าระแวงดังที่กล่าวแล้ว 
ล้วนมีเหตุจากอำนาจที่ไม่มั่นคงของเขมรแดงเอง จึงต้องกลัวประชาชน

แต่ในตอนท้าย ไม่ว่าจะเป็นประชาชน "มูลฐาน" หรือประชาชน "ใหม่" ก็ล้วนไม่น่าไว้วางใจหมด หากมาจากแถบที่พรรค (หรืออังการ์-องค์การ) ไม่ไว้วางใจ เช่น มาจากภาคตะวันออก ซึ่งได้ก่อกบฏต่อสู้กับรัฐบาลอยู่หลายเดือน ก่อนถูกปราบปรามลงอย่างราบคาบ ความหวาดระแวงเช่นนี้ยังระบาดไปถึงภาคอื่นๆ ของประเทศ หากหัวหน้าของภาคนั้นถูกกล่าวหาว่าทรยศและถูกขจัดออกไป

ตลอดสมัยของเขมรแดง แทบจะหา "ผู้ใหญ่" ที่ได้ดำรงตำแหน่งสูง อยู่รอดไปตลอดสามปีกว่าแทบไม่ได้ ส่วนใหญ่หายตัวไปจากโลกหรือถูกส่งไปตวลเสลง และสังหารในที่สุด ที่เหลืออยู่ในอังการ์ มีอยู่ไม่กี่คนรวมทั้งดึงเอาลูกเมียและญาติโกโหติกามารับตำแหน่งสูงๆ กันเต็ม

ยิ่งกลัว ก็ยิ่งหาพวกได้น้อย ยิ่งมีพวกน้อยก็ยิ่งกลัว และต้องยิ่งขจัดคนไปมากขึ้นเรื่อยๆ เขมรแดงแผ่ความกลัวนี้ไปทั่วสังคมกัมพูชา การพูดคุยในชีวิตส่วนตัวมีน้อยที่สุด เพราะทำให้น่าสงสัยและไม่ไว้ใจกันเองว่าจะนำไปรายงานเจ้าหน้าที่หรือไม่ ดังนั้น โอกาสที่ประชาชนจะจัดองค์กรต่อต้านจึงเกิดขึ้นไม่ได้เลย ยกเว้นแต่กองทัพในเขตนั้นอยู่เบื้องหลังและเป็นผู้จัดองค์กรต่อต้านรัฐบาลเสียเอง

แม้แต่เจ้าหน้าที่พรรคทุกระดับก็อยู่ในสถานภาพเดียวกัน คือไม่กล้าสุ่มสี่สุ่มห้าพูดคุยกับใครง่ายๆ เมื่อพี่ใหญ่หมายเลข 1 ระแวงใคร คนนั้นก็จะถูกจับส่งไปตวลเสลง ถูกทรมานให้สารภาพ ทนไม่ไหวก็ต้องสารภาพซัดทอดใครก็ได้ที่กะว่าจะทำให้การทรมานยุติลง (แล้วนำไปสังหาร)



อํานาจของอังการ์จึงตั้งอยู่บนความกลัวของทุกฝ่าย รวมทั้งความหวาดกลัวของอังการ์เองว่า จะถูกศัตรูในจินตนาการของตนล้มล้าง

แม้แต่นโยบายที่เปิดสงครามกับเวียดนาม ก็อาจจะมาจากความกลัวของ "พี่ใหญ่หมายเลข 1" เขมรแดงอ้างว่าเวียดนามเป็นศัตรูใหญ่สุด เพราะกลืนเอากัมพูชา "โกรม" (ต่ำ) ไปเป็นส่วนหนึ่งของเวียดนาม (เขมรต่ำของกัมพูชาหมายถึงดินแดนลุ่มปากน้ำโขง ไม่ใช่ "เขมรต่ำ" ของไทยซึ่งหมายถึงประเทศกัมพูชา) จึงต้องรบเวียดนามเพื่อรวมทั้งดินแดนและชาวเขมร "โกรม" มาไว้ในกัมพูชาประชาธิปไตย

แต่เวียดนามคือประเทศที่ให้ความช่วยเหลือฝ่ายซ้ายของกัมพูชามาตั้งแต่ต้น มีผู้นำหลายคนได้รับการฝึกอบรมในเวียดนาม แม้แต่บางค่ายของฝ่ายเขมรแดงเองก็เคยอยู่ในดินแดนเวียดนามมาก่อน

และด้วยเหตุดังนั้น เวียดนามจึงไม่น่าไว้วางใจแก่ พล พต ส่วนหนึ่งก็เพราะ มีนายทหารและผู้นำเขมรแดงหลายคนที่สนิทสนมกับเวียดนาม ในขณะที่ประวัติของ พล พต เองแสดงว่าในสายตาเวียดนาม พล พต นั้นจืดสนิท นายทหารและผู้นำเขมรแดงเหล่านั้น อาจอาศัยกำลังเวียดนามในการโค่นล้ม พล พต ได้ (ที่จริง พล พต คิดไปเองมากกว่า ผู้นำที่สนิทกับเวียดนามบางคนจบชีวิตลงอย่างน่าสลด เพราะฝืนศรัทธา พล พต จนสายเกินไปก็มี เช่น โส มาพิม เป็นต้น) การเป็นศัตรูกับเวียดนามจึงเปิดโอกาสให้ พล พต กวาดล้างคนและกองกำลังที่ พล พต ไม่ไว้วางใจลงไปได้มาก

อำนาจของเขมรแดงในส่วนใหญ่ของกัมพูชาสิ้นสุดลงในวันที่ 7 มกราคม 2522 เมื่อดอกบัวเวียดนามบานได้เต็มที่ในพนมเปญตามยุทธการ "ดอกบัวบาน"


ภาพ : สมเด็จ เฮง สัมริน

อันที่จริงด้วยความกลัวอีกเหมือนกัน ที่อังการ์ตัดสินใจรบกับเวียดนาม นอกจากสังหารชาวเขมรที่อังการ์สงสัยว่าฝักใฝ่เวียดนามแล้ว เขมรแดงยังส่งกำลังเข้าโจมตีเมืองตามแนวชายแดนของเวียดนามด้วย การรุกรานเวียดนามดำเนินไปเกือบปี ก่อนที่จะเกิดสงครามใหญ่อย่างเปิดเผย

คงจะด้วยเหตุผลที่จะรักษาเอกภาพของคอมมิวนิสต์อินโดจีนไว้ เวียดนามกลับพยายามเก็บ "สงคราม" นี้ไว้ให้เป็นเพียงการปะทะกันตามชายแดน ทั้งๆ ที่จุดหมายของเขมรแดงคือสงครามใหญ่โดยแท้ (น่าจะโดยความรู้เห็นของจีนด้วย แต่จะเป็นใจด้วยหรือไม่ยังไม่ชัด) จนถึงปลายปี 2521 เวียดนามจึงตัดสินใจทำสงครามใหญ่ และคิดยุทธการ "ดอกบัวบาน" ขึ้น

เป้าหมายของยุทธการคือ ยึดกัมพูชาและล้มเขมรแดงให้เร็วที่สุด ก่อนที่มหาอำนาจอื่นๆ (โดยเฉพาะจีน) จะมีเวลาแทรกแซงได้ทัน เวียดนามจึงทุ่มกำลังลงไปถึง 150,000 คน บวกกับเขมรแดงกบฏภายใต้ เฮง สัมริน อีก 15,000 คน 

ในที่สุดความกลัว อันเนื่องมาจากความไม่มั่นคงแห่งอำนาจของตน (จริงหรือจินตนาการก็ตาม) ก็ทำให้เขมรแดงถึงกาลวิบัติลง

เรื่องของความกลัวว่าสัมพันธ์อย่างไรกับการใช้ความรุนแรง ทำให้ผมย้อนกลับมาคิดถึงประเทศไทย แต่ก็ไม่มีเนื้อที่จะคุยต่อแล้ว จึงขอยกไปฉบับหน้า



.