http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-03

โบโรบูดูร์ (1) โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

โบโรบูดูร์ (1)
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1650 หน้า 30


โบโรบูดูร์ซึ่งคนไทยบางคนเรียกให้เป็นไทยๆ ว่า "บรมพุทโธ" นั้น เป็นหนึ่งในมรดกโลกที่ค่อนข้างลี้ลับที่สุด ไม่ใช่ลี้ลับเพราะไม่มีใครรู้จักนะครับ แต่ลี้ลับเพราะไม่ค่อยมีใครรู้ว่ามันคืออะไรกันแน่

นครวัดนั้น เรารู้แน่ว่าชื่อว่ายโสธรปุระ และนครธมคือชัยศรี (ก็นครไชยศรีและพระขรรค์ชัยศรีของเราไงครับ) แต่โบโรบูดูร์มีชื่อว่าอะไรแน่ ไม่มีใครรู้ มีจารึกที่เกี่ยวกับศาสนสถานแห่งนี้อยู่เพียงสองหลัก หลักหนึ่งไม่ได้บอกชื่อไว้แต่บอกผู้สร้างคือกษัตริย์ที่ชื่อสมระตุงคะ อีกหลักหนึ่งบอกชื่อไว้ชัดเจนว่า "ภูมิสัมภาระ" แต่ชื่อนี้จะเพี้ยนมาเป็นโบโรบูดูร์ไม่ได้ นักวิชาการฝรั่งจึงสันนิษฐานว่า เดิมคงมีคำว่าภูธระต่อท้าย เพราะรูปลักษณ์ของมันก็เป็นภูเขาอยู่แล้ว และคำว่าภูธระนี่แหละ ที่เพี้ยนมาเป็นโบโรบูดูร์ในภายหลัง เมื่อชาวชวาลืมสถานที่แห่งนี้ไปสนิทแล้ว

ผมเรียกโบโรบูดูร์ว่าพุทธสถานหรือศาสนสถาน ก็อาจทำให้ไขว้เขวได้ เพราะโบโรบูดูร์ซึ่งสร้างขึ้นบนเนินเขาเตี้ยๆ นี้ หาได้บรรจุพระพุทธรูปหรือพระธาตุศักดิ์สิทธิ์อะไร ไม่มีห้องคูหาสำหรับบรรจุสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งสิ้น ถ้าจะมีก็อาจถูกบรรจุไว้บนเจดีย์ใหญ่ที่อยู่บนยอด แต่เจดีย์นั้นพังลงไปนานแล้ว ที่เห็นอยู่เขาสร้างขึ้นใหม่ตามรูปเดิม และไม่มีหลักฐานว่ามีอะไรในนั้น นอกจากคูหาสองอันที่ตั้งซ้อนกันอยู่

นักวิชาการบางคนเดาว่า น่าจะมีอัฐิธาตุของผู้สร้างหรือบุคคลซึ่งผู้สร้างยกย่องอยู่ในเจดีย์ใหญ่นั้น แต่นับตั้งแต่เมื่อมีการสำรวจครั้งแรก ก็ไม่พบอะไร แถมยังมีข่าวลืออีกว่า เมื่อตอนที่ (คนผิวขาว) พบโบโรบูดูร์แรกๆ นั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดเกอะดูชาวฮอลันดา ได้ขโมยพระพุทธรูปทองคำซึ่งบรรจุในเจดีย์ใหญ่ไป แล้วเอาพระพุทธรูปหินหักๆ มาตั้งไว้แทนที่ แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีใครพบร่องรอยของพระพุทธรูปทองคำดังกล่าวเลย จึงเข้าใจว่าในเจดีย์ใหญ่องค์ยอดของโบโรบูดูร์นั้น ไม่ได้บรรจุอะไรเลย นอกจากพระพุทธรูปหิน ที่พบได้ภายหลังในสภาพแตกหักแล้วนั่นเอง

ผมพยายามนึกเปรียบเทียบกับพุทธสถานอื่นๆ ในดินแดนอุษาคเนย์ว่า มีที่ไหนอีกบ้างที่มีลักษณะเหมือนโบโรบูดูร์ คือเป็นสิ่งก่อสร้างที่ไม่ได้ตั้งใจจะบรรจุอะไรไว้ ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ หรือพระธาตุ ก็นึกไม่ออกนะครับ พุกาม, สุโขทัย, เชียงใหม่ มีวัดที่ต้องเรียกว่าพุทธเจดีย์ (ที่รำลึกถึงพระรัตนตรัย) เต็มไปหมด แต่ก็มีวิหารตั้งพระพุทธรูป และมีสถูปซึ่งเชื่อว่าบรรจุพระบรมสารีริกธาตุหรือพระอรหันตธาตุ

ดังนั้น ความลี้ลับอย่างที่สองของโบโรบูดูร์ก็คือ เขาสร้างขึ้นมาทำไม?


ความลี้ลับข้อนี้ มีผู้พยายามคลี่คลายมานานและหลายคนทีเดียว แต่เนื่องจากในระยะหลังนักวิชาการสามารถระบุได้แน่ชัดขึ้นทีละน้อยว่า รูปสลักโดยรอบนั้น นำมาจากคัมภีร์อะไรในภาษาสันสกฤต จึงมีส่วนช่วยสร้างความกระจ่างให้แก่จุดมุ่งหมายของโบโรบูดูร์ได้มากขึ้น

ผมจะขอเล่าถึงรูปสลักเหล่านี้ให้ละเอียดขึ้นสักหน่อย

โบโรบูดูร์นั้นมีระเบียงคดล้อมรอบตามเนินเขาขึ้นไปถึงองค์เจดีย์ใหญ่บนยอดถึง 7 ชั้น แต่ละชั้นมีซุ้มหรือเจดีย์ประดิษฐานพระพุทธรูปสลักจากหินภูเขาไฟ (Basalt) อยู่โดยรอบรวม 504 พระองค์ ระเบียงคดสี่ชั้นแรก (หรือจะนับห้าก็ได้ จะพูดถึงข้างหน้า) มีภาพสลักโดยรอบทั้งสองข้าง ฝีมือชั้นครูทั้งนั้น ประกอบด้วยภาพ 1,460 ห้อง แบ่งเป็นด้านละสองชั้น คือข้างบนชั้นหนึ่งและข้างล่างชั้นหนึ่ง ฉะนั้น ในหนึ่งระเบียงคด ย่อมมีภาพเรียงเป็นแถวไปซ้ายสองขวาสอง รวมเป็นสี่แถว

โบโรบูดูร์คงเริ่มสร้างเมื่อราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 14 แต่ก็ทรุดลงมาไม่นาน วิธีที่ชาวชวาโบราณบุรณะในสมัยนั้น ก็คือขยายฐานให้กว้างขึ้น ดังนั้น จึงต้องกลบฐานชั้นล่างสุดลงไปด้วยการก่อหินขึ้นเป็นฐานใหม่ ตรงฐานเดิมก็มีภาพสลักเหมือนกัน ซึ่งไม่เคยมีใครรู้มาก่อน จนกระทั่งระหว่างสงคราม ทหารญี่ปุ่น (รู้หรืออุตริไม่ทราบได้) ไปขุดเปิดขึ้นจึงได้เห็น แต่ก็ไม่ได้เปิดออกหมด ขุดดูมุมหนึ่งสัก 10 เมตรเท่านั้น ปัจจุบันองค์การยูเนสโกซึ่งเป็นหัวแรงในการบุรณะก็คงเปิดไว้ให้ชมเฉพาะส่วนนั้น

ดังนั้นภาพสลักรอบโบโรบูดูร์จึงไม่ได้มีแค่สี่ชั้น แต่ยังมีอีกชั้นหนึ่งใต้ดินอีกด้วย


นักวิชาการฝรั่งหลายชาติ ค่อยๆ หมายได้ว่าภาพสลักในแต่ละชั้นและแต่ละแถว ว่าด้วยเรื่องอะไรและนำมาจากคัมภีร์สันสกฤตเรื่องอะไร จนบัดนี้รู้ได้หมดทั้ง 4 หรือ 5 ชั้นแล้ว และน่าสนใจที่ว่า ภาพสลักเหล่านี้นำมาจากคัมภีร์ศาสนาระดับง่ายจากชั้นล่างสุด ค่อยขยับให้ยากหรือเป็นปรัชญาที่ลึกขึ้นของพุทธมหายาน จนถึงชั้นที่สี่ (หรือห้า)

ชั้นแรกซึ่งถูกฝังไปแล้วเพื่อการบุรณะซ่อมแซมครั้งแรกนั้น นำมาจากคัมภีร์มหายานชื่อ "มหากรรมะวิภังคะ" เป็นเรื่องราวความสุขทุกข์ ดีชั่วของชีวิตฆราวาส เช่น ได้ลูกสืบสกุลก็พากันยินดี, การเสพสุรา, หรือการเจ็บไข้ได้ป่วยและมีการรักษาพยาบาล

ดังนั้น จะว่าไปชั้นนี้ก็อาจจะน่าสนใจแก่นักประวัติศาสตร์ที่สุดก็ได้ เพราะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้คน ซึ่งศิลปินแสดงให้ดูด้วยวิถีชีวิตของชาวชวาในสมัยนั้น แต่ก็มีให้ดูไม่มากนัก เพราะเขาไม่ได้ขุดเปิดให้ดูมากไปกว่าที่ทหารญี่ปุ่นได้ขุดเอาไว้



ชั้นแรกในผังใหม่หลังซ่อมแซมแล้ว ทางด้านนอกคือภาพสลักที่นำมาจาก "ชาตกะมาลา" และชาดกอื่นๆ มีความยาวเหยียดจนต้องต่อไปทางผนังด้านนอกของระเบียงคดชั้นที่สอง

ส่วนด้านที่ติดองค์พระเจดีย์ใหญ่ยอดเขา แถวล่างคือเรื่องต่อไปของชาดกและอวธาน (นิทานเกี่ยวกับวีรบุรุษแต่ไม่อ้างว่าเป็นพระโพธิสัตว์) ส่วนแถวบนคือพุทธประวัติที่นำมาจากคัมภีร์ "ลลิตะวิสตาระ" (มักแปลว่าการเผยละครเรื่องหนึ่ง เพราะตามความเชื่อของฝ่ายมหายาน พุทธประวัติคือการกระทำของพระมหาไวโรจนะพุทธ เพื่อแสดงให้ผู้คนได้เห็นความเป็นพุทธะเท่านั้น ไม่ใช่ชีวประวัติบุคคล)

ชาดกเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายๆ เพราะแสดงให้เห็นการสั่งสมบารมีของพระโพธิสัตว์ซึ่งจะตรัสเป็นพระพุทธเจ้า แต่เท่าที่ผมได้อ่านเรื่องราวของภาพสลักที่นักวิชาการหมายได้ว่านำมาจากชาดกหรืออวธานเรื่องใด ผมคิดว่ามีความต่างจากชาดกของเถรวาทตรงที่ว่า ของเขาค่อนข้างเน้นบารมีการเสียสละของพระโพธิสัตว์ ที่แสดงให้เห็นความไม่ยึดมั่นกับตัวตนอย่างชัดเจนแทบทุกเรื่อง เช่น ในชาติที่เป็นกระต่าย ไม่มีของถวายสมณะอย่างเพื่อนสิงโตและลิง ท่านก็โดดเข้ากองเพลิงย่างตัวเองให้เป็นภัตตาหารของสมณะเสีย

เรื่องเวสสันดรชาดกของเขาไม่ยักกะมีชูชก พระอินทร์แปลงตัวมาขอลูกขอเมียเลยทีเดียว ก็ได้ความเดียวกันเพราะชูชกเป็นส่วนเกินในแง่ปรัชญา แต่แน่นอนว่ามีสนุกกว่าไม่มี

อย่างไรก็ตาม ใน 134 ระเบียงภาพของชาตกะมาลา นักวิชาการสามารถหมายรู้เรื่องราวได้เพียง 34 เรื่องเท่านั้น ในส่วนชาตกะ-อวธาน ซึ่งมีประมาณ 100 เรื่อง ยิ่งหมายรู้ได้น้อยไปกว่านั้นอีกเสียอีก

แม้กระนั้น ชาดกเหล่านี้ก็ทำให้เรารู้ได้ว่า ทางเข้าทั้งสี่ทิศของบูโรบูดูร์นั้น ทิศไหนเป็นทางเข้าเริ่มต้นสำหรับผู้จาริกแสวงบุญ เพราะชาดกที่ปรากฏตรงทางเข้าทิศตะวันออกจะตรงกับเรื่องแรกของ "ชาตกะมาลา" และเรียงเป็นลำดับไปพอดี ดังนั้นเมื่อผ่านทางเข้าทิศตะวันตกไปแล้ว ผู้คนในสมัยโบราณก็คงเลี้ยวซ้าย และเริ่มชมภาพไปพร้อมกับทำประทักษิณพระสถูปใหญ่บนยอดเนินไปพร้อมกัน

ในบรรดาชาดกที่ไม่รู้ว่าเรื่องคืออะไรนี้ มีอยู่ระเบียงภาพหนึ่งซึ่งผมสงสัยว่าจะเป็นเรื่องสุวรรณสาม เพียงแต่ไม่มีกวางทองในภาพให้เห็น เพราะน่าประหลาดที่ว่า ผู้สลักภาพบนโบโรบูดูร์มีเจตนาอย่างชัดเจน ที่จะไม่เสนอภาพความรุนแรงเลือดตกยางออกด้วยประการทั้งปวง จึงมีแต่ภาพของคนที่คงเป็นกษัตริย์กำลังน้าวศรยิงเข้าป่า แล้วก็มายืนเสียใจที่เชิงตะกอนในภาพต่อมา

แม้แต่หมายรู้แล้วว่านำเอามาจากคัมภีร์ "ชาตกะมาลา" แต่กลับไม่รู้ว่าเรื่องอะไรเสียเป็นส่วนใหญ่ ก็เพราะศิลปินชวาได้นำเอานิทานพื้นถิ่นซึ่งอาจถูกอ้างเป็นชาดกแล้ว บรรจุลงไปใน "ชาตกะมาลา" สำนวนชวาเสียมากมาย เรื่องเหล่านี้ถูกลืมไปเสียแล้วเป็นส่วนใหญ่



ผมไม่ทราบว่านักวิชาการฝรั่ง ได้ตรวจสอบนิทานพื้นถิ่นของอุษาคเนย์แค่ไหนอย่างไร แต่อย่างน้อยเรื่องสุวรรณสามมีในปัญญาสชาดก อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นนิทานพื้นถิ่น ซึ่งนักวิชาการฝรั่งก็รู้จัก คือเรื่องนางมโนห์รา สลักไว้เป็นเรื่องแรกในแถวที่เป็นชาตกะ-อวธานเลยทีเดียว แต่เพราะเป็นอวธาน พระสุธนจึงไม่ได้เป็นพระโพธิสัตว์

ภาพเรื่องนางมโนห์ราไปปรากฏบนศาสนสถานที่สอนหลักคำสอนของมหายาน ทำให้ผมออกจะสงสัยว่า "โนรา" ของภาคใต้นั้นไม่ใช่การแสดง (ตามความหมายที่เราเข้าใจในปัจจุบัน) แต่เป็นพิธีกรรมซึ่งเดิมอาจเป็นพิธีกรรมที่เนื่องในศาสนาด้วย จึงทำให้ผู้แสดง "โนรา" นั้น ทั้งเฮี้ยน ทั้งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งมีฤทธิ์มีเดชสารพัด

ในส่วนพุทธประวัติจาก "ลลิตะวิสตาระ" เนื้อความหลักก็ไม่ต่างจากที่เรารู้กันดีอยู่แล้ว แต่เรื่องมาจบลงเพียงเมื่อได้มีพุทธดำเนินไปพบปัญจวัคคีย์ และทรงแสดงปฐมเทศนา หรือเริ่มหมุนกงล้อแห่งธรรม ละครหรือการแสดงซึ่ง "พุทธะ" ก็น่าจะจบลงได้แล้ว จะเล่าอะไรอีกก็ซ้ำเก่า

"ลลิตะวิสตาระ" เล่าถึงมหาภิเนษกรมณ์ เหมือนที่ท่านพุทธทาสนำเอาความจากพระไตรปิฎกมาเล่าไว้ใน "พุทธประวัติจากพระโอษฐ์" กล่าวคือเจ้าชายสิทธัตถะทรงขอพระราชบิดาลาไปบวช มิได้แอบหนีไปอย่างที่เล่าในปฐมสมโพธิของไทย นอกจากนี้ เมื่อพระโพธิสัตว์จะเสด็จลงสู่มนุษยโลกจากสวรรค์ชั้นดุสิต ยังได้ประทานมงกุฎแก่พระศรีอาริย์เหมือนมอบหมายให้เป็นอนาคตพุทธ เหล่าเทพทั้งหลายก็พากันมาบอกพระปัจเจกพุทธทั้งหลายว่า พระพุทธเจ้ากำลังจะลงมาอุบัติ จึงอาราธนาให้เข้าพระนิพพานเสีย

ภาพสลักในชั้นแรกเกี่ยวกับชาดก, อวธาน และพุทธประวัติ คือการอุบัติของพุทธะในโลก จากอดีตกาลนานไกลที่เสวยพระชาติต่างๆ จนถึงพระชาติสุดท้าย เตรียมตัวเตรียมใจแก่ผู้จาริกแสวงบุญที่เดินประทักษิณชมภาพเหล่านั้นว่า โมกษธรรมได้ปรากฏขึ้นแล้ว ทุกคนสามารถบรรลุได้ เพียงแต่ต้องผ่านหนทางแห่งการปฏิบัติและปัญญาอันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้วางไว้ให้ ที่จะแสวงหาสัจธรรมนั้น

ลำดับถัดไปคือเรื่องของการแสวงหา "ปัญญา" ของชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อสุธนะหรือสุธน อันเป็นความที่นำมาจากคัมภีร์สันสกฤตชื่อ "คันทวยูหะ" (ซึ่งมักแปลว่า "องค์ประกอบของโลกอันเปรียบเหมือนฟองสบู่")

ผมจะเล่าเรื่องการเดินทางทางจิตวิญญาณ ผ่านภาพสลักของโบโรบูดูร์ในตอนต่อไป



.