.
+ข่าวและแถลงการณ์ - นักกิจกรรมมาเลเซียเรียกร้องให้ปล่อยตัว 'สมยศ' และนักโทษการเมือง
ข่าว sms TPNews - 29-30 เม.ย. ร่วมกิจกรรม " 365 วันพันธนาการสมยศ ฯ" อนุสรณ์สถาน14ตุลา 13-21 น.
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
เสวนา “มาตรา 112 ข้อถกเถียงทางกฎหมายสู่ข้อถกเถียงทางสังคม”
จาก www.prachatai.com/journal/2012/04/40276 . . Sat, 2012-04-28 18:04
เสวนารำลึก ดร. หยุด แสงอุทัย วรเจตน์ระบุ ปัญหาใหญ่ 112 คือปัญหาอุดมการณ์ที่กำกับการตีความตัวบท และไม่มีบทยกเว้นโทษและยกเว้นความผิด ถาวร เสนเนียม เผย ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอแก้มาตรา 112 โดยเพิ่มโทษ ของพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สมชาย หอมลออ กรรมการ คอป.ระบุปัญหาการใช้ 112 เป็นอุปสรรค จำกัดเสรีภาพการแสดงความเห็น
วันเสาร์ที่ 28 เมษายน 2555 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดงานวิชาการรำลึก ศาสตราจารย์ ดร. หยุด แสงอุทัย โดยเสวนาวิชาการหัวข้อ “มาตรา 112 ข้อถกเถียงทางกฎหมายสู่ข้อถกเถียงทางสังคม” ที่ห้องจี๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์ ผู้ร่วมอภิปรายประกอบด้วย นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ภาคใต้ สมชาย หอมลออ กรรมการคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ผศ. ดร. กิตติศักดิ์ ปรกติ รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ดำเนินการโดย สาวตรี สุขศรี หัวหน้าภาควิชากฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มธ.
สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ กล่าวเปิดการเสวนาว่า หัวข้อเสวนานี้ เป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันมากและดูเหมือนจะสร้างความร้าวฉาน แต่เป็นหัวข้อที่สำคัญ และอยากให้คิดว่าในบ้านเมืองต้องหลอมรวมความคิดที่แตกต่างกันให้ได้ โดยไม่ใช้ความรุนแรงใดๆ ทั้งนี้ ดร.หยุด แสงอุทัยก็เขียนงานวิชาการแล้วถูกกล่าวหาว่าเขียนบทความที่เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แต่ข้อเท็จจริงไม่มีการสอบสวนและดำเนินการต่อ
ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ อาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายเพิ่มเติมกรณีที่ ดร.หยุด แสงอุทัยถูกร้องทุกข์กล่าวโทษโดย ส.ส. ผู้หนึ่ง จากกรณีที่ ดร.หยุด อ่านบทความผ่านทางสถานีวิทยุประจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันอังคารที่ 7 ก.พ. 2499 โดยข้อความที่ถูกกล่าวหาคือ..”องค์พระมหากษัตริย์ไม่พึงรับสิ่งใดอันเป็นปัญหาหรือเรื่องราวที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเมือง หรือทางสังคมของประเทศ โดยไม่มีรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลเป็นผู้สนองพระบรมราชโองการ” โดยครั้งนั้น ส.ส. คนหนึ่งส่งบันทึกด่วนถึงอธิบดีกรมตำรวจว่า ดร.หยุดไม่มีสิทธิจะวิจารณ์ แต่ตำรวจให้ความเห็นว่า การวิจารณ์ดังกล่าวไม่เป็นการผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพียงแต่แนะประชาชนให้รู้ฐานะของกษัตริย์ไม่บังควรไปรบกวนให้ปฏิบัติการใด ทั้งจอมพล ป. นายกรัฐมนตรีคณะนั้นก็ได้ให้ความเห็นว่า ดร. หยุดไม่ได้ทำผิดด้วย
000
ถาวร เสนเนียม: อยากให้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ช่วยขับเคลื่อนผลักดันพฤติกรรมอันน่ารังเกียจของกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย ขณะที่ถ้าจะมีการผลักดันให้มีการแก้มาตรา 112 ก็น่าจะเอามาตราอื่นที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมาพิจารณาประกอบกันด้วย
ถาวร เสนเนียม กล่าวว่า ตลอดมา ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งทุกประเทศต้องมีประมุข แต่แบ่งเป็นสองประเภท คือ เป็นพระมหากษัตริย์กับไม่ใช่กษัตริย์ คือประธานาธิบดี สำหรับมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญ นั้นบัญญัติว่ากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ละเมิดมิได้ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางไม่แพ้มาตรา 112 ว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือไม่
เขาตั้งประเด็นว่า ปัจจุบันนี้มีการกระทำผิดมาตรา 112 มากกว่าปกติเพราะอะไร ประการต่อไปคือมีการวิพากษ์วิจารณ์ให้แก้ไข 112 ต้องถามว่าบัญญัติไว้เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ขัดต่อรัฐธรรมนญไหม ขัดขวางในการแสดงความเห็นและขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่
โดยที่มาตราดังกล่าวห้ามดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย ซึ่งการหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายคนอย่างถาวร เสนเนียม ก็ผิดกฎหมายเช่นกัน
ประเด็นต่อมาคือ การทำผิดที่หลายคนพูดกันติดปากว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นคือ มีองค์ประกอบความผิด 3 ประการ คือ ห้ามดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย กับคน 3 กลุ่มคือ พระมหากษัตริย์ ราชินี และองค์รัชทายาทนั้น ต้องดูหลักคิดที่นำมาใช้บัญญัติกฎหมายดังกล่าว และเทียบเคียงกับกรณีต่างประเทศด้วยว่ามีกฎหมายลักษณะเช่นเดียวกันหรือไม่ ทั้งนี้เขาระบุว่ากฎหมายนั้นแก้ไขได้ และมาตรา 112 ไม่มีใครห้ามแก้ แต่ต้องดูบรรยากาศที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ใช่แก้ด้วยอารมณ์ต้องแก้ด้วยเหตุผล
เมื่อพูดถึงหลักกฎหมาย มาตรานี้คำนึงถึงหลักนิติธรรม ว่าไม่ต้องการให้เกิดผลร้ายกับผู้เสียหายหรือเหยื่อ ความไม่สงบ ความมั่นคงและเศรษฐกิจของสังคมนั้นๆ ด้วย
ประการต่อมา คือประมุขของรัฐต้องได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษ รัฐไทยก็ได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษเช่นเดียวกับต่างชาติ และประมุขของรัฐนั้นได้รับความคุ้มครองในฐานะที่เป็นสถาบัน ประการหนึ่ง และในฐานะบุคคลอีกประการหนึ่ง ซึ่งไม่แตกต่างกับต่างประเทศมากนัก
ถาวรระบุด้วยว่า กฎหมายอาญามาตรา 113 ยังได้บัญญัติคุ้มครองประมุขต่างประเทศด้วย ขณะที่กฎหมายอาญามาตรา 134 ยังบัญญัติคุ้มครองเป็นพิเศษ ต่อผู้แทนรัฐต่างประเทศจากการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย
เมื่อเป็นเช่นนี้ ถามว่านี่เป็นสิทธิพิเศษเขียนไว้คุ้มครองกษัตริย์ไทยหรือไม่ ก็ต้องตอบว่าไม่เป็นพิเศษ เพราะเป็นไปตามลักษณะวัฒนธรรมไทยและสอดคล้องกับต่างประเทศ
ขณะที่มีผู้อ้างว่ากฎหมายดังกล่าวนั้นขัดกับปฏิญญาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แต่ภายใต้ปฏิญญาดังกล่าวก็ยังระบุว่าบุคคลทุกคนย่อมอยู่ภายใต้ข้อจำกัดตามกฎหมาย จึงไม่ใช่ทุกคนจะลุกขึ้นมาหมิ่นประมาทใคร แสดงความอาฆาตมาดร้ายใครก็ทำได้
เขาตั้งคำถามว่า ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีการห้ามหรือการจำกัดสิทธิเสรีภาพในบางเรื่องนั้น ใครถูกใครผิด โดยยกตัวอย่างประเทศมาเลเซีย จะดูหมิ่นพระเจ้า หรือมีพฤติกรรมรักร่วมเพศ ไม่ได้ เป็นความผิด ขณะที่สามารถแสดงพฤติกรรมเช่นนี้ในอเมริกาได้ ดังนั้น ในประเทศประชาธิปไตย การระบุว่าใครถูกใครผิดต้องคำนึงถึงศีลธรรมอันดีและความสงบเรียบร้อยของประเทศนั้นๆ เป็นหลักด้วย
“การจะแก้ไขมาตรา 112 นั้นผมยังไม่เห็นด้วยเพราะส่งผลกระทบไม่ว่าจะต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี” นายถาวรกล่าวย้ำ จากนั้นได้อ้างถึงพระราชดำรัส “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” และแสดงความเห็นว่า “การจะแก้กฎหมายนั้นยังยืนยันว่าแก้ได้ แต่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นในสังคม วัฒนธรรมประเพณี การปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้นถูกจำกัดสิทธิมีในทุกประเทศไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย”
ถาวรกล่าวต่อไปด้วยว่าระหว่างตัวกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายนั้นเราสับสน เช่นกรณียาเสพติด ที่คนมักอ้างว่ากฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ ทั้งนี้ ดร.คณิต ณ นคร เคยกล่าวว่ากระบวนการยุติธรรมไทยมีพฤติกรรมน่ารังเกียจสามอย่าง ประการแรกคือ มักทำงานสบายๆ ประการที่สอง มักกลัวไปหมดทุกอย่าง วันที่ประชาธิปัตย์ทำงาน ก็กลัวว่าสิ่งนั้นผิดสิ่งนี้ผิด พอวันที่ประชาธิปัตย์ไม่ได้ทำงานสิ่งนั้นไม่ผิดเสียแล้ว ประการที่สามมักจะชอบประจบ
โดยเขากล่าวว่า จากประสบการณ์ของตนเองในฐานะที่เคยเป็นอัยการมาก่อน เขาพบว่าหลักดุลพินิจของอัยการในการสั่งฟ้องสั่งไม่ฟ้องนั้นไม่ค่อยได้ใช้ ดังนั้น กรณีการแก้ไขมาตรา 112 นั้น เป็นเรื่องของการใช้กฎหมายเพื่อตอบเป้าหมายในการทำลายคู่แข่งทางการเมืองหรือไม่
ในส่วนของข้อเสนอของพรรค ปชป. ที่พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นผู้จัดทำและเสนอนั้น ถาวระบุว่า ไม่เห็นด้วยทั้งสองประด็น คือการขยายความคุ้มครองไปยังราชวงศ์และการเพิ่มโทษ ทั้งนี้เขาเห็นว่าแม้จะมีการแก้ไขเพิ่มโทษใน พ.ศ. 2519 แต่ที่ผ่านมา ก็จะเห็นว่ามีการพระราชทานอภัยโทษ ดังนั้นมาตรา 112 ไม่น่าจะเป็นปัญหาของการบัญญัติแต่น่จะเป็นปัญหากระบวนการยุติธรรมของสังคมไทย ดังนั้นก็อยากให้คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ช่วยขับเคลื่อนผลักดันพฤติกรรมอันน่ารังเกียจของกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย ขณะที่ถ้าจะมีการผลักดันให้มีการแก้มาตรา 112 ก็น่าจะเอามาตราอื่นที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมาพิจารณาประกอบกันด้วย
ทั้งนี้เขาอธิบายว่า ส.ส. มีอิสระที่จะเสนอแก้กฎหมาย ส.ส. คนหนึ่ง รวบรวมคนได้ 20 คน ก็สามารถเสนอแก้ไขกฎหมายได้
000
สมชาย หอมลออ: ในฐานะนักสิทธิมนุษยชน มาตรา 112 นั้นถูกนำไปใช้และเป็นอุปสรรค จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นระดับหนึ่ง และในภาวะที่มีความขัดแย้งเป็นขั้วทางการเมืองแล้วก็ถูกนำไปใช้มาก
สมชาย หอมลออ แสดงความเห็นในฐานะกรรมการ คอป. ว่า 112 นี้ตกอยูในสภาวะที่แก้ก็ไม่ได้ ไม่แก้ก็ไม่ได้ เป็นภาวะที่อิหลักอิเหลื่อมาก ประเด็น 112 กลายเป็นประเด็นทางการเมืองและเกือบจะเป็นประเด็นที่จะแบ่งขั้วทางการเมืองของคนในสังคมด้วย ซึ่งหากถูกผลักดันเป็นขั้วขัดแย้งในสังคมแล้วจะลึกและรุนแรงกว่าความขัดแย้งในช่วงที่ผ่านมา แต่หลังจากที่มีคนกลุ่มหนึ่งมีความพยายามที่จะทำอย่างนั้นก็ไม่สำเร็จในการใช้มาตรา 112 มาแบ่งขั้วการเมืองในสังคมไทย แต่ถือเป็นความโชคดีที่ทำไม่สำเร็จ
การถกเถียงทางวิชาการด้วยเหตุด้วยผลจะทำให้การแก้ไขปัญหานี้สามารถทำได้ คือทำให้สภาวะที่แก้ก็ไม่ได้ ไม่แก้ก็ไม่ได้ นั้นหมดไป
ในส่วนของ คอป. นั้นมีภาระหน้าที่ในการตรวจสอบค้นหาความจริงและพยายามเสนอแนะต่อรัฐ สังคมและคู่ขัดแย้งต่างๆ เพื่อจะขจัดขวากหนามหรืออุปสรรคที่จะสร้างความปรองดอง ทำให้ คอป.พบปมขัดแย้งประการหนึ่งที่ดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ คือ คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่มีผู้ถูกดำเนินคดีมากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่ม นปช. หรือกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลในช่วงที่มีการชุมนุมเมื่อปี 2553 ซึ่งเขาเองได้ดูสำนวนคดีหลายสำนวนและพฤติกรรมในการดำเนินคดี ก็พบว่าปัญหา 112 เป็นปัญหาทั้งตัวกฎหมาย การบังคับใช้ และการตีความกฎหมายโดยศาล คือไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะการบังคับใช้ แต่เป็นปัญหาที่ตัวบทกฎหมายด้วย จึงเสนอให้แก้ไขในสองประเด็นคือผู้ฟ้อง (เสนอให้ผู้ฟ้องคือสำนักพระราชวัง) และลดโทษลง
ในฐานะนักสิทธิมนุษยชน มาตรา 112 นั้นถูกนำไปใช้และเป็นอุปสรรค จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นระดับหนึ่ง และในภาวะที่มีความขัดแย้งเป็นขั้วทางการเมืองแล้วก็ถูกนำไปใช้มาก ในขณะที่หลักสิทธิมนุษยชนนั้น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพที่มีความสำคัญมากในสังคมประชาธิปไตย
ทั้งนี้ เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการพูด หรือการโฆษณา นั้นมีความสำคัญมาก และแม้จะสามารถจำกัดได้ ไม่ได้สัมบูรณ์แต่การจำกัดนั้นจะต้องอยู่ในภาวะที่จำเป็นและด้วยเหตุผลบางประการเท่านั้น คือการรักษาดุลยภาพระหว่างสังคมกับบุคคล
แต่เสรีภาพในการแสดงความเห็นนั้นเกี่ยวโยงอย่างชัดเจนและแยกไม่ออกกับเสรีภาพอีกสองประการ คือเสรีภาพทางวิชาการ ถ้ามีการค้นคว้ามากมายแต่เผยแพร่ไม่ได้ ก็เป็นวิชาการแบบสมัยกาลิเลโอ ไม่สามารถพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าได้ และเสรีภาพอีกประการคือ เสรีภาพทางความคิดความเชื่อ ซึ่งยังถูกจำกัดมาก ยกตัวอย่างเช่น การไปจดทะเบียนพรรคการเมืองในปัจจุบันแม้กฎหมายคอมมิวนิสต์จะเลิกไปนานแล้ว แต่ถ้าจะตั้งพรรคสังคมนิยมก็ตั้งไม่ได้ ซึ่งถ้าความคิดของคนไม่สามรารถเผยแพร่ได้เสียแล้ว ความคิดนั้นย่อมจะมืดบอด ตายไปในที่สุด ทั้งนี้เสรีภาพในทางความเชื่อเป็นเสรีภาพที่สัมบูรณ์ห้ามกันไม่ได้
ประการที่สำคัญอีกประการคือ โดยหลักแล้วเราต้องสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกเพราะในประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่าสังคมที่แตกต่างหลากหลายเป็นสังคมที่สามารถพัฒนาเจริญและยั่งยืน ถ้าสังคมนั้นไม่มีพื้นที่สำหรับความแตกต่างแล้ว สังคมนั้น ถ้าจะต้องเปลี่ยนแปลงซึ่งต้องเปลี่ยนแปลงแน่นอนอยู่แล้ว การเปลี่ยนแปลงนั้นจะรุนแรง การจัดพื้นที่ให้ความแตกต่างจะทำให้ความเปลี่ยนแปลงนั้นลดความเจ็บปวดลง ไม่รุนแรงหรือสุดขั้ว
การที่ถูกจำกัดเสรีภาพในการเสนอความคิดเห็นต่อสถาบันต่างๆ นั้นจะทำให้สถาบันไม่สามารถไปได้ตลอดรอดฝั่ง
สำหรับการใช้บังคับมาตรา 112 ในสภาวะปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ หรืออัยการ ก็จะเตะลูกขึ้นไปข้างบนเพราะไม่กล้า ทั้งๆ ที่มีอำนาจทางกฎหมาย เช่นอัยการมีอำนาจหน้าที่ในการกลั่นกรองคดี จะโทษผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูสังคมด้วย เพราะถ้าบอกว่าไม่ฟ้องโดนแน่ ทั้งการวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบ พนักงานสอบสวนและอัยการต้องมีความเชื่อมั่นในความเป็นมืออาชีพ แต่ต้องยอมรับว่าแรงกดดันทำให้บุคคลเหล่านี้หวั่นไหวได้ การตีตราก็เกิดตลอดเวลา และเคยเกิดภาวะเช่นนี้เมื่อ 30-40 ปีที่แล้วซึ่งสังคมไทยน่าจะได้เรียนรู้เพื่อไม่ให้เกิดสภาพเช่นนั้นอีก
สมชาย กล่าวต่อไปถึงการตีความว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีร้ายแรงแต่เมื่อเทียบกับโทษอื่นๆ เช่นโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต ผู้ถูกกล่าวหากลับได้รับการประกันตัว ขณะที่คดี 112 มีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี เมื่อเทียบแล้วยังเป็นคดีที่ร้ายแรงน้อยกว่า โทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต
กรรมการ คอป. กล่าวถึงกรณี อากง SMS เปรียบเทียบการส่ง SMS กับการออกอากาศทีวี ศาลตัดสินกรณีส่ง SMS ลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า 3 ปี เพราะกฎหมายกำหนดว่าอย่างต่ำคือ 3 ปี นี่คือตัวอย่างว่ากฎหมายไม่ได้มีช่องว่างให้ศาลใช้ดุลพินิจที่เหมาะสมเลย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงกฎหมายมาตรานี้เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์รุนแรงปี 2519 คอป. จึงเสนอให้แก้ไข ลดจำนวนโทษ และไม่ใช่ใครก็ได้ไปกล่าวหาเป็นความผิด แล้วพนักงานสอบสวนจะไม่ดำเนินการก็ไม่ได้ เพราะการกดดันทางสังคม การวิพากษ์วิจารณ์จับจ้อง ดังนั้นคดีนี้จึงเป็นคดีที่ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะไปแจ้งความ เพราะลักษณะนี้เป็นผลเสียต่อสังคมและสถาบันด้วย และกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองไป
ส่วนที่กำหนดว่าทำไมต้องเป็นสำนักพระราชวัง เพราะอ้างอิงจากกรณีที่กฎหมายบัญญัติว่าถ้าจะมีการค้นพระราชฐานต้องได้รับความยินยอมจากสำนักพระราชวัง แต่อาจจะมีหน่วยงานอื่นที่มีความเป็นมืออาชีพในการกลั่นกรองก็ได้
000
กิตติศักดิ์ ปรกติ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองก็ยังสอนเรื่องเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์น้อยเกินไป และการเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์นั้นควรจะเฉลิมพระเกียรติด้วยความยุติธรรม
กิตติศักดิ์ ปรกติ ระบุว่าปัญหามาตรา 112 นั้นเป็นปัญหาทั้งตัวกฎหมายและการปรับใช้ตัวกฎหมาย แต่เขาไม่เห็นด้วยกับความเห็นของนิติราษฎร์เรื่องการแยกความผิดระหว่างความผิดที่กระทำต่อกษัตริย์กับราชินี
เขากล่าวว่า ปัญหามาตรา 112 หรือความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นเป็นเส้นแบ่งที่สำคัญระหว่างการคุ้มครององค์พระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นปัจจัยความมั่นคง ในฐานะเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยกับการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น
การดูหมิ่นเป็นการแสดงความเห็นล้วนๆ แต่การหมิ่นประมาทเป็นการแสดงความเห็นประกอบการยืนยันข้อเท็จจริง ซึ่งต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่นด้วย แต่มันไม่ใช่เส้นแบ่งแค่ความมั่นคงกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยเขาเห็นว่า มาตรา 112 ยังเป็นเส้นแบ่งของสถานะพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยด้วย คือจะคุ้มครองกษัตริย์ในฐานะสถาบันทางวัฒนธรรมที่ดำรงอยู่มายาวนาน เป็นคำมั่นสัญญาที่มีมาตั้งแต่ 2475 ว่าจะเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยและมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตย เป็นการต่อสู้แสวงหาคำนิยามที่พยายามช่วงชิงกันว่า กษัตริย์จะมีสถานะอย่างไรในระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ 2475 เป็นต้นมากำหนดชัดแจ้งว่า ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร และปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยโดยมีกษัตริย์เป็นประมุข
และยังมีการระบุในรัฐธรรมนูญว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย และกษัตริย์ใช้อำนาจนั้นซึ่งต่างกับประเทศอื่นที่ว่า ประชาชนเป็นเจ้าของและเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยนั้น ที่ไทยเขียนแบบนี้ ก็ตอบได้อย่างเดียวว่าเป็นการประนีประนอมระหว่างผู้ถืออำนาจแต่ดั้งเดิมที่เป็นชุมชนทางการเมืองอันประกอบด้วยกษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการ และบรรดาผู้ที่สถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้น ว่าจะหาทางใช้ระบอบประชาธิปไตยนี้ภายใต้กฎหมายอย่างไร
คำถามคือ ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย แล้วประชาชนให้อำนาจกษัตริย์ใช้อำนาจตั้งแต่เมื่อไหร่ คำตอบคือ ตกลงกันไว้ตั้งแต่ 2475 อย่างไรก็ตาม ชาติกำเนิดไม่ก่อเกิดอภิสิทธิ์ ดังนั้นการคุ้มครองจึงไม่ครอบคลุมถึงราชวงศ์ด้วย การใช้ราชาศัพท์กับพระบรมวงศานุวงศ์นั้นเป็นการแสดงความสุภาพ ดังนั้นหากการแก้มาตรา 112 จึงไม่ควรขยายความคุ้มครองไปยังพระบรมวงศานุวงศ์
กิตติศักดิ์กล่าวต่อไปว่า อีกประเด็นหนึ่งคือ ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับปวงชนชาวไทย ซึ่งปวงชนชาวไทยนั้นมีผู้แทน คือ ส.ส. แต่ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ คือกษัตริย์นั้นเป็นประมุขและเป็นสัญลักษณ์ ขณะที่ผู้แทนปวงชนชาวไทยกลับไม่เป็นที่นิยม
กษัตริย์ในฐานะสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม ในทางข้อเท็จจริง เมื่อมีผู้ทำผิดเกี่ยวกับกษัตริย์ ชาวบ้านก็นินทา แต่นินทาแล้วจะถูกดำเนินคดีหรือไม่ก็อีกเรื่อง ค่านิยมทางวัฒนธรรมนั้นผูกอยู่กับทศพิธราชธรรม คือ ถ้ามีพฤติกรรมที่ขัดกับหลักทศพิธราชธรรมก็จะถูกนินทาเป็นธรรมดา แต่รู้กันว่าจะไม่ทำในที่สาธารณะ เมื่อเกิดการนินทาในทางสาธารณะขณะที่มีความเห็นที่หลากหลาย ก็เกิดความรุนแรงและกระทบต่อความมั่นคงได้ เพราะความเกี่ยวพันระหว่างกษัตริย์ ความเป็นชาติ รัฐ และความมั่นคง ทั้งนี้คำพิพากษาจำนวนไม่น้อยก็โคลงเคลงแกว่งไปมา โดยยกตัวอย่าง นักวิชาการไปกล่าวในวันสิทธิมนุษยชน นักวิชาการกล่าวว่าคนที่เรียกพระเจ้าอยู่หัวเป็นพ่อนั้นไม่ถูกเพราะกษัตริย์ไม่ใช่พ่อ และคนที่กล่าวอ้างนั้นผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพราะอ้างตัวเป็นพระองค์เจ้า โดยคนที่กล่าวนั้นถูกร้องทุกข์กล่าวโทษ ตำรวจวินิจฉัยว่าการกล่าวเช่นนั้นไม่ผิด ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้และการตีความมาตรา 112
กิตติศักดิ์ ระบุว่าถ้าไม่ทำความเข้าใจกันให้ชัดเจนก็จะมีการ “ตู่” กันไปมา อีกประการคือ ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับประชาชน ว่าเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของปวงชนชาวไทย เขากล่าวว่า กษัตริย์ใช้อำนาจในฐานะที่เป็นองค์กรที่เป็นบูรณาการ ไม่ใช่ทำตามอำเภอใจ ส่วนจะพึงใช้อย่างไรก็เห็นอยู่
กิตติศักดิ์ กล่าวด้วยว่าองค์กรต่างๆ ได้ใช้พระมหากษัตริย์แสวงประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ทางการเมือง อ้างว่าจงรักภักดี แล้วกล่าวหาคนอื่น ตัวอย่างง่ายๆ ในมหาวิทยาลัย เวลาเสด็จอย่ากราบได้ไหม เพราะตามพระราชบัญญัติสมัย ร. 5 ห้ามกราบ ยังไม่ได้ยกเลิกไป คือห้ามทอดตัวลงบนผืนดินแล้วกราบ เพราะเป็นหลักฐานแสดงการดูถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรีของคน แต่ยังมีผู้ไปหูไปนาเอาตาไม่ไร่ มีผู้ทักท้วงว่าอย่าพูดเดี๋ยวจะกลายเป็นไม่จงรักภักดี แต่ผมพูดด้วยความจงรักภักดี กฎหมายเขากำหนดไว้ก็ทำไปตามกฎหมาย ไม่มีข้อที่จะไปกล่าวหาได้ว่าไม่จงรักภักดี
โดยกิตติศักดิ์ ย้ำว่าทุกวันนี้มีคนทำตัวเป็นราชายิ่งกว่าองค์ราชันย์เสียอีก นี่จึงเป็นปัญหาที่ทำให้ต้องแก้มาตรา 112 ทั้งตัวบทและการปรับใช้กฎหมายให้ชอบด้วยเหตุผล และในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัย นายวรเจตน์ได้เสนอแก้กฎหมายแล้ว แม้เขาจะไม่เห็นด้วยบางอย่าง แต่ก็มีประเด็นที่เขาเห็นด้วยคือ ต้องลดโทษลง แต่ตัวเขาเสนอให้กลับไปใช้โทษสมัยสมบูรณาญาสิทธิ์ คือไม่เกิน 3 ปี
กิตติศักดิ์กล่าวในช่วงท้ายว่าประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์นี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองก็ยังสอนเรื่องเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์น้อยเกินไป และการเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์นั้นควรจะเฉลิมพระเกียรติด้วยความยุติธรรม
000
วรเจตน์ ภาคีรัตน์: มาตรา 112 นั้นมีปัญหาในหลายระดับทั้งระดับการบังคับใช้ ตัวบท แต่ที่เห็นว่ามีปัญหามากที่สุดคือระดับของอุดมการณ์ที่กำกับการบังคับใช้ตัวบทกฎหมาย
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ระบุว่ามาตรา 112 นั้นมีปัญหาในหลายระดับทั้งระดับการบังคับใช้ ตัวบท แต่ที่เห็นว่ามีปัญหามากที่สุดคือระดับของอุดมการณ์ที่กำกับการบังคับใช้ตัวบทกฎหมาย การแก้ 112 อาจจะไม่ได้แก้ปัญหาทั้งหมด เพียงแต่บรรเทาลง
โดยเขากล่าวถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่า เมื่อมีการร้องทุกข์กล่าวโทษ ตำรวจต้องรับเรื่องและทำคดี ไม่สามารถใช้ดุลพินิจ ทุกกระบวนการจะผลักออกจากตัว ในแง่การบังคับใช้กฎหมายนี้มีปัญหาในตัวเอง ไม่ได้เกี่ยวกับตัวบทกฎหมายอย่างเดียว แต่เป็นบรรยากาศ สภาพแวดล้อมทางสังคม
ตัวบทนั้น ใครๆ ก็สามารถจะดำเนินคดี และโทษที่กำหนดไว้นั้นเกินสมควรกว่าเหตุ หลักการนี้เป็นหลักสำคัญในรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยที่สุดโทษในมาตรานี้ ขัดกับหลักรัฐธรรมนูญ เพราะการกำหนดโทษไม่สามารถกำหนดโทษได้ตามอำเภอใจของผู้บัญญัติ และปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือโทษที่เป็นผลพวงโดยตรงจากการรัฐประหาร 2519 และไม่ใช่เรื่องนี้เรื่องเดียว แต่ยังพ่วงเรื่องการหมิ่นศาลและดูหมิ่นประมุขของต่างประเทศด้วย ดังนั้นการแก้ 112 ต้องแก้กฎหมายที่เกี่ยวพันกันด้วย เช่น การดูหมิ่นของประมุขของรัฐต่างประเทศ เวลาที่มีการเสนอจึงต้องเป็นไปโดยปริยายในการปรับแก้โทษของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกัน และเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ
บางคนบอกว่าตัวบทกฎหมายนี้มีมาเป็นสิบๆ ปี ทำไมเพิ่งจะมาแก้กันตอนนี้ ซึ่งเขาเห็นว่ากฎหมายนี้มีปัญหามาตั้งแต่ตอนที่แก้ปี 2519 และมีปัญหามาตั้งแต่มีการบัญญติขึ้นในปี พ.ศ.2500 แต่มันไม่ได้เป็นประเด็นทางสังคม ถ้าพูดก็จะเหมือนกับที่เจอตอนนี้ เพราะมีการรณรงค์บอกว่า แก้ 112 เท่ากับล้มเจ้า ทั้งๆ ที่นี่เป็นตัวบทกฎหมายมาตราหนึ่งเท่านั้น
วรเจตน์กล่าวว่าประเด็นมาตรา 112 ต้องพูดไปอีกหลายเวที และหากทาง คอป. จะจัดการพูดคุยเรื่องนี้ก็จะยินดีอย่างยิ่ง โดยเขาระบุว่า ปัญหาใหญ่ที่สุดของมาตรา 112 คือไม่มีการกำหนดเหตุยกเว้นความผิดหรือเหตุยกเว้นโทษกรณีที่เป็นการติชมโดยสุจริตและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งต่างกับกฎหมายหมิ่นทั่วไป การไม่เอาหลักเรื่องนี้มาใช้เป็นผลจาการตีความของศาลด้วย
โดยวรเจตน์ได้ยกเอาคำสอนของอาจารย์กฎหมายรายหนึ่งระบุว่าเมื่อมีการกระทำที่เป็นการหมิ่นประมาทแล้วจะอ้างข้อแก้ตัวตามที่บัญญัติสำหรับคนธรรมดาหาได้ไม่ เพราะกษัตริย์นั้นเป็นที่เคารพสักการะอยู่เหนือการติชม ขณะที่รัชทายาทและราชินีนั้นเป็นเครื่องประกอบ วรเจตน์เห็นว่าการตีความแบบนี้ทำให้ไม่สามารถนำเอาเหตุยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษได้ วรเจตน์กล่าวว่านี่เป็นการตีความที่เกินตัวบท ดังนั้นหากบุคคลธรรมดาตีความอย่างไร การดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทกษัตริย์ก็ต้องตีความอย่างเดียวกัน ความเข้าใจแบบนี้ ทำให้เกิดการตีความอย่างกว้างและบิดเบือนตัวบท
วรเจตน์ยกตัวอย่างคำพิพากษา จ.นครสวรรค์ อัยการบรรยายฟ้องว่าการหมิ่นพระเทพฯ ผิดตาม 112 ขณะที่ตัวบทคุ้มครอง กษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการ โดยศาลชั้นต้น ขยายความคุ้มครองไปถึงพระบรมวงศ์ที่อาจสืบสัตติวงศ์ โดยระบุว่ารัชทายาทแห่งบทบัญญัติมาตรา 112 หมายรวมถึงพระราชโอรส พระราชธิดา ทีอาจสืบสันตติวงศ์ แต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์ได้กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยเห็นว่าพระเทพฯ นั้นไม่ใช่รัชทายาทตามมาตรา 112 เพราะตามกฎมณเฑียรบาลมีตำแหน่งเดียวคือสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช
วรเจตน์กล่าวว่าการตีความตัวบทในกรณีของศาลชั้นต้น จ.นครสวรรค์นี้ ก็น่าสงสัยว่าผู้พิพากษาตีความกฎหมายในระบอบการปกครองใด ในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การตีความมีเกณฑ์ ผู้พิพากษาจะเอาทัศนะต่างระบอบกันมาตีความไม่ได้
วรเจตน์กล่าวว่า การคุ้มครองสถานะไม่ใช่เรื่องสถาบัน การตีความต้องชัดเจนว่าตำแหน่งกษัตริย์หมายถึงใคร ซึ่งต้องหมายถึงกษัตริย์พระองค์ปัจจุบัน เพราะถ้าไม่ตีความให้ดีก็อาจจะเกินเลยไปถึงกษัตริย์ในประวัติศาสตร์ได้ ดังนั้นการคุ้มครองจึงต้องเป็นกษัตริย์ที่เป็นประมุขของรัฐ และในความเห็นของตนเองเป็นไปไม่ได้ที่จะอธิบายว่ากษัตริย์เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย เพราะกษัตริย์เป็นการกำหนดคอนเซ็ปท์รูปของรัฐ ว่าจะเป็นสาธารณรัฐ หรือเป็นราชอาณาจักร เมื่อเราตัดสินใจเป็นราชอาณาจักรก็ให้กษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ การคุ้มครองกษัตริย์จึงคุ้มครองในฐานะประมุขไม่ใช่เจ้า
อีกประเด็นที่โยงกับมาตราดังกล่าว คือประเด็นเรื่องความมั่นคง ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เพราะความมั่นคงนั้นต้องเกี่ยวข้องกับการมีอยู่หรือไม่มีอยู่ของรัฐ และจะดีมากหากอธิบายให้เห็นว่ามันคือความมั่นคงของนิติรัฐ
ข้อโต้แย้งที่ว่าประเทศไทยมีวัฒนธรรมหรือขนบธรรมเนียมเป็นพิเศษ ผมคิดว่าข้อโต้แย้งแบบนี้ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูง หากย้อนกลับไปสมัยที่ใช้กฎหมายตราสามดวงอยู่ ท่านก็จะเห็นว่าโทษนั้นมีอย่างไร เช่น การเปิดกะโหลกเอาถ่านร้อนๆ ใส่เข้าไป ท่านจะยอมรับโทษแบบนี้ได้ไหม คือเราอาจจะมีลักษณะบางอย่างที่เป็นคุณค่าเช่น การแต่งกาย อาหารการกิน แต่เรื่องบางเรื่องก็เป็นเรื่องคุณค่าสากล ที่ไม่ควรจะเอาลักษณะเฉพาะไปอ้างให้มีการกดขี่ เช่นการขว้างหินในประเทศอื่นๆ ก็กำลังมีการต่อสู้กันอยู่ ลักษณะเฉพาะเช่นนั้นก็ไม่ใช่ตัวอย่างที่ดีที่จะเอามาอ้างเพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ การปกป้องกษัตริย์ควรปกป้องด้วยความจริง เพื่อให้สถาบันอยู่กับประเทศไปอย่างยาวนาน
วรเจตน์ กล่าวย้ำถึงประเด็นสำคัญที่เห็นต่างกับกิตติศักดิ์เรื่องกษัตริย์เป็นผู้แทนปวงชน เพราะเขาเห็นว่ากษัตริย์นั้นเป็นผู้แทนรัฐ แต่ไม่สามารถเป็นตัวแทนปวงชนได้ เพราะการใช้อำนาจอธิปไตยคือ ประชาชนใช้อำนาจโดยตรง หรือใช้อำนาจผ่านองค์กรรัฐ การใช้อำนาจโดยตรงคือการเลือกตั้งและการลงประชามติ การเลือกตั้งจึงสำคัญเพราะเป็นวันที่เจ้าของอำนาจใช้อำนาจของตัวเอง องค์กรนิติบัญญัติ หรือบริหารนั้นจะมีความชอบธรรมเพราะเชื่อมโยงกับประชาชน ส่วนองค์กรตุลาการนั้นมีปัญหาความเชื่อมโยงกับประชาชน และกรณีคำพิพากษาศาลนครสวรรค์นั้นควรจะเป็นกรณีใหญ่ แต่สำหรับสังคมไทยกลับเป็นเรื่องที่ลืมๆ กันไป
อภิปรายเพิ่มเติม
ถาวร เสนเนียม กล่าวย้ำว่าปัญหาหลักของมาตรา 112 คือปัญหาการใช้การตีความตัวบทมากกว่า การกล่าวว่าเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยติธรรมต้องผลักประเด็นนี้ต่อไปยังกระบวนการขั้นสูงขึ้นเพราะแรงกดดันทางสังคมนั้นเป็นเพียงข้ออ้างและขาดความกล้าหาญ โดยได้กล่าวตำหนิกลุ่มนิติราษฎร์ว่าการเสนอแก้ไขกฎหมายนั้นต้องเสนอบริบทกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย โดยการแถลงของนิติราษฎร์ในช่วงแรกนั้นไม่ได้เสนอให้รอบด้าน
ถาวรได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ คอป. ว่าการเสนอให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ฟ้องนั้นจะยิ่งทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทเพราะเป็นองค์กรที่ใกล้ชิด และได้เรียกร้องให้คณะนิติราษฎร์ขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลง โดยเขายืนยันว่ากฎหมายแก้ไขได้เสมอ เมื่อไหร่ที่มีความจำเป็นสังคมจะเป็นตัวชี้ตัวกำหนด
วรเจตน์ ตอบถาวรว่า กรณีข้อเสนอของนิติราษฎร์เมื่อ 18 ก.ย. แล้วมาทำเพิ่มเติมทีหลัง คือวันที่18 ก.ย. นั้นเป็นการเสนอเรื่องลบล้างผลพวงการรัฐประหารแต่มีมาตรา 112 พ่วงมาด้วย แต่ข้อเสนอเรื่องมาตรา 112 นั้นนิติราษฎร์ได้เสนอมาก่อนแล้ว
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มธ. กล่าวว่า เวลาที่เราพูดกันเรื่องข้อตกลงระหว่างกษัตริย์กับราษฎร หรือพระมหากษัตริย์มีความรับชอบ การอภิปรายเรื่องนี้เป็นการอภิปรายแบบจอมปลอมเพราะเวลาที่เราพูดเรื่องสัญญาและความรับชอบ โดยพื้นฐานต้องมีคอมมอนเซนส์คือการจะกล่าวหาว่าใครผิดสัญญาด้วย ถ้าคุณสามารถพูดว่ารัฐบาลทำผิดสัญญาอย่างไร แต่พูดอีกกรณีหนึ่งไม่ได้ ยังไงก็พูดไม่ได้ ความตลกของเรื่องนี้ทั้งหมด คือคนอย่างอาจารย์กิตติศักดิ์น่าจะรู้ดี เพราะมันพูดในฝ่ายเดียว เกิดผมจะพูดในทางตรงข้ามออกไปก็โดนจับทันที คือการยกนามธรรมอย่างไรก็ได้ ผมฟังแล้วก็ไม่รู้จะเถียงยังไง เถียงก็โดนจับ
ประเด็นสั้นๆ ที่อาจารย์ธีรยุทธพูดและผมเห็นด้วยคือ 112 ไม่ใช่เรื่อง 112 แต่เป็นเรื่องภาพสถาบันกษัตริย์ แต่ประเด็นใหญ่ที่อยากจะพูดคือ ถึงที่สุดแล้วยังมีประเด็นที่ผมไม่เห็นด้วยกับ 112 เพราะข้อเสนอของผมคือยกเลิกไปเลย แต่หัวใจของเรื่องจริงๆ คือเราต้องตั้งคำถามว่า มันมีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องมีกฎหมายพิเศษที่ต้องคุ้มครองประมุขในกรณีหมิ่นประมาท เหตุผลในการตอบคำถามนี้ตรงกันโดยยกกรณีว่านี่เป็นบรรทัดฐานทั่วไปว่าต้องคุ้มครอง แต่ผมไม่เห็นด้วย คนชอบพูดว่าเป็นมาตรฐานสากล นิติราษฎร์เองก็ยกมาตรฐานสากล แต่การยกเรื่องนี้ไม่มีความหมาย เพราะถ้ายกตัวอย่างนั้นจริงๆ ต้องถามว่าประเทศอื่นเขามีอย่างเราไหม เช่น มีการอนุญาตให้ประมุขพูดสดๆ สามารถควบคุมทรัพย์สินของรัฐเป็นหมื่นๆ ล้านได้ไหม และมีการโปรแกรมด้านดีด้านเดียวของสถาบันกษัตริย์ นี่เป็นประเด็นสำคัญเลยว่ามันชี้ขาดอย่างไร
สอง ญี่ปุ่น อเมริกา สหรัฐ ไม่มีกฎหมายแบบนี้
สาม ไม่ว่าจะมีหรือไม่มี แต่ปัญหาที่ต้องตั้งคำถามคือควรใช้บรรทัดฐานอะไรในการพูดถึงประมุข และถามว่าเอาหลักการมาจากไหน นี่ผมถามอย่างซีเรียส
อย่างการยกกรณีตัวอย่างการขู่ประธานาธิบดีอเมริกา ต้องโทษ 5 ปี แต่ถ้าคุณขู่ FBI ต้องโทษ 10 ปีนะ ฉะนั้นการอ้างประมุขต้องได้รับความคุ้มครองมากกว่าปกติจึงไม่จริงเสมอไป
ที่สุดแล้ว เป็นเรื่องบรรทัดฐานของนักวิชาการ คุณต้องเอาบรรทัดฐานที่แท้จริง คือ ทุกวันนี้ใครเกลียดมาร์คเอารูปมาร์คไปใส่หัวควาย ใครเกลียดทักษิณก็ตัอรูปทักษิณไปใส่หัวหมา ถามว่าแล้วมีใครฟ้องไหม ประเด็นคือ ต้องใช้บรรทัดฐานเดียวกับประชาชนทั่วไป ไม่ใช่บรรทัดฐานของนักวิชาการ
กิตติศักดิ์ ตอบประเด็นของสมศักดิ์ ว่าต้องเสนอไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ส่วนกรณีที่เยอรมนีนั้นประธานาธิบดีสามารถพูดได้โดยไม่ต้องให้สภาตรวจสอบก่อน ส่วนการเฉลิมพระเกียรติโดยเกินพอดีนั้นควรแก้ไขไหม ก็ต้องแก้ไขโดยการวิพากษ์วิจารณ์ไปตามขอบเขต
วรเจตน์ ตอบประเด็นสมศักดิ์/กิตติศักดิ์ ว่าการเทียบประธานาธิบดีกับกษัตริย์อาจจะเทียบได้ลำบากเพราะประธานาธิบดีของเยอรมนีมีความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยเพราะมีการเข้าสู่ตำแหน่ง ประธานาธิบดีนั้นมีสายโซ่ทีเชื่อมโยงกับประชาชนไม่ขาดตอน
สำหรับประเด็นการคุ้มครองประมุขของรัฐนั้น เขาเห็นว่า เกณฑ์ในการวิจารณ์ในระบบทั่วไปไม่ยอมให้มีการด่าหยาบคาย ดูหมิ่น แม้แต่บุคคลธรรมดาก็เป็นสิ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถ้าจะยอมให้มีการดูหมิ่น หมิ่นประมาท ก็ต้องเลิกความผิดต่อบุคคลธรรมดาแล้วเลิกความผิดต่อกษัตริย์
สำหรับกรณีประธานาธิบดีของสหรัฐ เป็นทั้งประมุขของรัฐและฝ่ายบริหาร ดังนั้นการวิจารณ์นั้นแยกยาก และอเมริกาก็เป็นประเทศที่มีความอดทนต่อคำพูดที่ไม่ดีสูงมาก มากกว่าคนอื่นในโลกจนเขาไม่แน่ใจว่าควรจะใช้เกณฑ์ของอเมริกาเป็นมาตรฐานหรือเปล่า
ส่วนกรณีที่คุณทักษิณ หรือมาร์คถูกดูหมิ่นแล้วไม่แจ้งความ “อย่างผมหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งเอาหน้าผมไปใส่หน้าลิง แล้วพาดหัววรเจี๊ยก ลิงหลอกเจ้า ผมก็ไม่ได้ฟ้อง แต่ผมไม่ทำแล้วจะใช้เป็นบรรทัดฐานกับคนทั้งสังคมหรือเปล่า คือเข้าใจว่าควรจะทำเกณฑ์แบบเดียวกันคือเลิกไปเลย แต่ตราบเท่าที่คนในสังคมยังมองเป็นอีกแบบหนึ่ง จะทำอย่างไร”
สำหรับรัฐธรรมนูญญี่ปุ่น ทำโดยฐานที่ญี่ปุ่นแพ้สงครามแล้วอเมริกาเข้ามาจัดการกฎหมาย ส่วนอังกฤษนั้นเขายอมรับว่ายังไม่ได้ศึกษาให้ชัดเจน
คำถามว่าทำไมประมุขของรัฐถึงถูกคุ้มครองมากกว่าคนธรรมดา เพราะว่าประมุขของรัฐนั้นเป็นตัวแทนรัฐ เป็นสิ่งที่ represent รัฐ ในบริบทของบ้านเราอาจจะมีปัญหาอยู่ แต่ในการทำกฎหมายต้องเอาหลักการเป็นตัวตั้ง
000
สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ กล่าวปิดงานว่า ความคิดเห็นที่หลากหลายต้องได้รับการรับฟังไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย และวิธีการแสดงออกนั้นต้องเคารพผู้อื่นด้วย ถ้าเราจะมีความคิดเห็นร่วมกันต้องแสวงหาความเห็นที่รับฟังกันด้วย เวทีวิชาการอย่างนี้จะทำให้ได้รับความรู้ วันหนึ่งทุกคนก็จะคิดได้เอง และสังคมเราอ่านน้อย ต่อต้านความรุนแรงด้วยวาจาหรือกำลัง แต่สังคมจะเจริญก็ด้วยวัฒนธรรมพลเมือง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
อ่านความคิดเห็นท้ายบท ที่ www.prachatai.com/journal/2012/04/40276
+++
นักกิจกรรมมาเลเซียเรียกร้องให้ปล่อยตัว 'สมยศ' และนักโทษการเมือง
จาก www.prachatai.com/journal/2012/04/40278 . . Sat, 2012-04-28 18:21
เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 55 ที่ผ่านมาคณะตัวแทนนำโดยพรรคสังคมนิยมมาเลเซีย (PSM) และผู้แทนจากกลุ่ม NGO หลายกลุ่ม ได้ทำการประท้วงหน้าสถานทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ และเพื่อแสดงสนับสนุนสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมแรงงาน ผู้ถูกจับกุมคุมขังจากคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นเวลาเกือบปีแล้ว คณะตัวแทนเหล่านี้ยังเสนอให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคนในประเทศไทย
คณะตัวแทนได้มอบจดหมายประท้วงให้กับ นายทรงศักดิ์ สายเชื้อ อัครราชทูต และรองหัวหน้าผู้ปฏิบัติหน้าที่สถานทูตไทยประจำมาเลเซีย พรรคสังคมนิยมมาเลเซีย ยืนยันว่า กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งถูกนำมาใช้คุกคามนักกิจกรรมเพื่อสังคมชาวไทย เป็นอุปสรรคต่อระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย
ผู้มาประท้วงในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย S.Arutchelvan (เลขาธิการ พรรคสังคมนิยมมาเลเซีย) Lee Siew Hwa จากกลุ่มมาเลเซียผู้สนับสนุนประชาธิปไตยในประเทศไทย Irene Xavier จากกลุ่มเพื่อนหญิง, ผู้แทนจาก พรรค Suaram และ พรรค PRM
แถลงการณ์ร่วมที่แนบมาด้วยนี้ได้รับความเห็นชอบจากกลุ่มองค์กรต่างๆในมาเลเซียและประเทศต่างๆ
คำประกาศร่วมกัน
26 เมษายน 2012
ปล่อยสมยศและนักโทษการเมืองทั้งหมดในประเทศไทย
ยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
เรา (องค์กรที่ได้ลงชื่อไว้ใต้ล่างนี้) มีความกังวลอย่างยิ่งกับกรณีการคุกคามนักกิจกรรมสังคมจากกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศไทย เช่น สมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมแรงงาน ผู้ถูกจำคุกจากกฎหมายนี้ โดยไม่ให้ประกันตัว ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน ปีที่แล้ว จนบัดนี้
พวกเราเป็นเป็นกังวลที่สมยศต้องถูกจองจำเป็นเวลานาน การเคลื่อนย้ายสมยศไปฝากขัง และการที่สมยศถูกปฏิเสธการประกันตัวหลายครั้ง
เป็นที่รู้จักกันว่า สมยศเป็นนักกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานอย่างไม่ย่อท้อ และได้จัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อประชาธิปไตย ในประเทศไทย ปี2007 เขาได้เป็นบรรณาธิการหนังสือ VOICE OF THAKSIN (ขณะนี้ชื่อว่า Red Power) ซึ่งเป็นนิตยสารทางการเมืองที่มีจุดยืนต่อต้านรัฐประหาร นอกจากนั้น สมยศยังเป็นประธานของสหภาพพันธมิตรแรงงานประชาธิปไตย และผู้นำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ซึ่งเป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นเนื่องจากผลพวงของการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน ปี 2006
สมยศถูกจับกุมเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2011 โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ ดีเอสไอ เขาตั้งข้อหาว่า กระทำผิดในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือคดีอาญามาตรา 112 สมยศถูกจับกุม5วัน หลังการเข้าร่วมการถวายฎีกาให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ซึ่งสมยศระบุว่าเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับประชาธิปไตย และหลักการสิทธิมนุษยชน ตามเอกสารของฝ่ายโจทก์ สมยศถูกกล่าวหาว่า บทความ 2 เรื่องนิตยสารที่เขาเป็นบรรณาธิกา กกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ในแง่ลบ
ซึ่งเราเป็นห่วงที่การขอประกันตัวเขา ถูกปฏิเสธ เจ้าหน้าที่ยังให้เหตุผลจะคุมขังเขาอีกนาน พวกเราเชื่อว่า สิ่งดังกล่าวเป็นตัวชี้วัดถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรงที่สุด พวกเราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย สั่งการให้ประกันตัวสมยศโดยเร็วที่สุด
สมยศไม่ใช่เหยื่อคนเดียว ที่ถูกคุกคามจากกฎหมายที่รุนแรงนี้ เรากังวลใจอย่างยิ่งว่ามีการใช้กฎหมายนี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อจัดการปิดปากนักกิจกรรมสังคมและผู้เห็นต่างทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นับแต่ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา เราเชื่อว่าการคุกคามด้วยการใช้กฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง และเป็นอุปสรรคขัดขวางประชาธิปไตยในประเทศไทย จำเป็นต้องมีการทบทวนกฏหมายมาตรานี้ โดยคำนึงถึงมาตรฐานของนานาอารยประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
พวกเราขอเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจ ดังนี้ :
-ยกเลิกข้อหาที่มีต่อสมยศ และปล่อยตัวเขาอย่างไม่มีเงื่อนไข
-ยกเลิกการกล่าวโทษ จาก ม.112 ต่อนักกิจกรรม นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ และปัจเจกชนอื่นๆ
-ปล่อยตัวผู้ต้องหาและถูกจองจำจากคดีนี้
-ยกเลิกกฎหมายอาญา ม. 112 เพื่อนำเสรีภาพในการแสดงออก และการแสดงความคิดเห็นกลับมาสู่ประเทศไทยอีกครั้ง
ผู้ร่วมลงนาม ในประเทศ :
Parti Sosialis Malaysia (PSM)
Jaringan Rakyat Tertindas (JERIT), Malaysia
Suara Rakyat Malaysia (SUARAM), Malaysia
Malaysia Support Group for Democracy in Thailand, Malaysia
Community Action Network, Malaysia
Friends of Women, Malaysia
Labour Resource Centre, Malaysia
ลงนามโดย :
Party of the Labouring Masses (PLM), the Philippines
People’s Liberation Party, Indonesia
Reorganize Committee – Working People Association (KPO-PRP), Indonesia
Confederation of Congress of Indonesian Unions Alliance (KASBI), Indonesia
People’s Democratic Party (PRD), Indonesia
Socialist Alliance, Australia
Labour Party Pakistan
Radical Socialist, India
Communist Party of Bangladesh (M-L), Bangladesh
La Aurora – POR Tendency in Izquierda Unida, Spain
Pioneer, Hong Kong
For further enquiries, please contact Chon Kai at +60-19-5669518, e-mail: int.psm@gmail.com
( แปลโดย: เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล )
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย