.
Arab Spring : กรณีของตูนิเซีย
โดย จรัญ มะลูลีม คอลัมน์ มุมมุสลิม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 09 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1647 หน้า 35
ตูนิเซียเป็นประเทศอาหรับมุสลิมที่ตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกาเหนือ ซึ่งเป็นประเทศทางตะวันออกสุด และเล็กที่สุดของ 3 ประเทศบนเทือกเขาแอตลาส ในอดีตถูกปกครองโดยอาณานิคมฝรั่งเศสจนได้รับเอกราชใน ค.ศ.1956
หลังจากนั้นจึงเริ่มมีการพัฒนา เช่น การให้อิสระกับสตรี จนกลายเป็นประเทศที่สิทธิสตรีมีความก้าวหน้ามากที่สุดในกลุ่มประเทศอาหรับ และเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมากที่สุดในบรรดากลุ่มประเทศอาหรับด้วยกัน
ชาวตูนิเซียมีคุณภาพชีวิตสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาหรับ 22 ประเทศ โดยเทียบจาก GDP รวมทั้งยังเป็นประเทศอันดับ 1 ในทวีปแอฟริกาที่มีความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ และเป็นอันดับที่ 40 ของโลกอีกต่างหาก
ตูนิเซียใช้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข
ซัยนุล อาบิดีน บิน อาลี (Zine al-Abidine Bin Ali) เข้ารับตำแหน่งต่อจากประธานาธิบดี ฮาบีบ บัวร์กิบา ที่ถูกคณะแพทย์ลงความเห็นว่ามีปัญหาด้านสุขภาพ เขาชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นใน ค.ศ.1989 และ 1994 ใน ค.ศ.1999 ก็ได้ดำรงตำแหน่งสมัยที่ 4 โดยครองเสียงข้างมากในสภา แม้จะเป็นการจัดตั้งรัฐบาลร่วมก็ตาม ใน ค.ศ.2009 เขาก็ยังสามารถรักษาตำแหน่งประธานาธิบดีเอาไว้ได้แม้จะมีคะแนนนิยมลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งใหม่ๆ บิน อาลี ถูกจับตามองอย่างชื่นชม และถือเป็นฮีโร่ของชาติที่ช่วยให้ตูนิเซียรอดพ้นจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ ด้วยนโยบายในการสร้างระบบทางการเมืองที่มีการแข่งขันกันอย่างโปร่งใส ยกระดับเสรีภาพส่วนบุคคล รวมถึงสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน
แต่การปฏิรูประบบการเลือกตั้งใน ค.ศ.1989 ก็ทำให้ทุกอย่างพลิกผัน เมื่อเขาใช้การปฏิรูปเป็นเครื่องมือในการหามาตรการจำกัดไม่ให้พรรคการเมืองอื่นใดได้ประโยชน์ หรือสามารถรวมตัวกันเป็นพันธมิตรที่มีประสิทธิภาพได้
การลุกฮือขึ้นของมวลชนอาหรับที่นำไปสู่การโค่นล้มระบอบเผด็จการในตูนิเซียก่อให้เกิดคลื่นแห่งการเคลื่อนไหวภาคประชาชนตามท้องถนนทั่วตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือโดยมีมูลเหตุจูงใจมาจากรากฐานปัญหาในเรื่องความคับแค้นใจในปัญหาเศรษฐกิจ-สังคม และการขาดเสรีภาพทางการเมือง
การเคลื่อนไหวรวมตัวของประชาชนตามท้องถนน อันนำไปสู่การล่มสลายของระบอบที่ดำรงอยู่มานานอย่างรวดเร็วชนิดที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน
ตูนิเซียดำเนินกิจการของรัฐในแบบอาณาจักรนิยม ไม่เน้นความเคร่งศาสนาอย่างที่ปฏิบัติในประเทศซาอุดีอาระเบียหรืออิหร่าน
ในตูนิเซียผู้นำประเทศต่อสู้กับกลุ่มเคร่งศาสนาอย่างเฉียบขาด จนกลุ่มเหล่านี้มีบทบาทน้อยลง
สตรีตูนิเซียได้รับสิทธิเสรีภาพ แบบสตรียุโรปค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค เช่น เป็นชาติแรกในรัฐอาหรับที่สตรีมีสิทธิเลือกตั้ง สิทธิในการทำแท้ง การห้ามชายมีภรรยาหลายคน อัตราการรู้หนังสือของสตรีตูนิเซียสูงถึงร้อยละ 71
ประเทศพัฒนาทุนนิยมแบบตะวันตก ตูนิเซียสามารถพัฒนาเศรษฐกิจไปได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากมีประชากรน้อย
ตูนิเซียมีนโยบายต่างประเทศแบบเอียงข้างตะวันตก แบบฝรั่งเศส แต่ก็อยู่ในระบอบเผด็จการอำนาจนิยมมาเป็นเวลานาน 23 ปี การใช้อินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือในตูนิเซียค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยของโลก
ปัจจัยเริ่มต้นของความไม่พอใจในหมู่ประชาชนของตูนิเซีย คือสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม
แม้ที่ผ่านมาตัวเลขทางเศรษฐกิจจะบ่งชี้ถึงความมั่นคงเติบโตและการเพิ่มขึ้นของรายได้ อันเกิดจากนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจที่เปิดเสรีมากขึ้น และใช้กลไกแบบทุนนิยมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในทางตรงข้าม มาตรฐานคุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่กลับเลวร้ายลง โดยเฉพาะกลุ่มคนชั้นกลางระดับล่าง
ประชาชนต้องเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจที่ทับซ้อนและยึดโยงกันอยู่อย่างยากที่จะแก้ไขได้ ที่สำคัญคือ ปัญหาการว่างงานที่มีอยู่สูงมาก ปัญหาค่าจ้างแรงงานที่ลดต่ำลงไม่พอกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ปัญหาเงินเฟ้อที่เชื่อมโยงกับภาวะเศรษฐกิจโลก และปัญหาราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภาวะเช่นนี้ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของพลเมืองทั้งในตูนิเซียท่ามกลางการแก้ปัญหาที่เชื่องช้าและไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล
ลักษณะเช่นนี้ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อจิตใจของเยาวชนคนหนุ่มสาวที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางระดับล่างอีกด้วย
นอกเหนือจากปัญหาทางเศรษฐกิจแล้วแรงกระตุ้นสำคัญอีกประการที่เชิญชวนคนออกมารวมตัวกันตามท้องถนนคือการขาดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานและการปราบปรามทางการเมือง
ความรุนแรงอันเกิดจากการกระทำของตำรวจและการข่มเหงรังแกของเจ้าหน้าที่ ซึ่งกลายเป็นพฤติกรรมประจำวันที่ประชาชนต้องอดทนอดกลั้นและซ่อนความเจ็บแค้นในใจมานาน
ขณะเดียวกัน ปัญหาการคอร์รัปชั่นก็เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ระบาดเข้าไปในแทบจะทุกระดับชั้นของสังคม แม้ว่าการคอร์รัปชั่นจะเผยให้เห็นอย่างโจ่งครึ่มเฉพาะในระดับบนก็ตาม
เมื่อกระแสถูกจุดประกายขึ้นแล้ว การชุมนุมประท้วงอย่างสงบจากจำนวนคนเล็กๆ ในเวลาไม่นาน ก็เพิ่มจำนวนผู้ประท้วงได้อย่างรวดเร็ว
ยิ่งการชุมนุมประท้วงอย่างยืดเยื้อนานวันเท่าไหร่ ก็ยิ่งขยายแนวร่วมให้ครอบคลุมกลุ่มคนทุกชนชั้นทุกสาขาอาชีพในสังคมได้มากขึ้นเป็นเงาตามตัว
ภายใต้แรงกดดันจากการเคลื่อนไหวชุมนุมอย่างสงบสันติของมวลชนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในหน้าประวัติศาสตร์ของโลกอาหรับ รอยแตกร้าวระหว่างผู้นำกับกองทัพจึงเกิดขึ้นอย่างฉับไว และไม่มีใครที่จะมีเวลาพอในการเตรียมรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้
จนท้ายที่สุดจึงนำไปสู่การถูกบีบให้ผู้นำเผด็จการต้องลงจากอำนาจในทันที
(ดูรายละเอียดของเรื่องนี้ใน ศราวุฒิ อารีย์, กระแส "ปฏิวัติดอกมะลิ" ในโลกอาหรับ "กรณีตูนิเซีย-อียิปต์, พับลิกโพสต์, ปีที่ 6 ฉบับที่ 50 (ปักษ์หลัง) ประจำวันที่ 26-31 ตุลาคม 2554, หน้า 19)
เหตุการณ์ในตูนิเซียตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงการสละอำนาจของผู้นำ อาจกล่าวได้ดังนี้
การประท้วงได้เริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคม ค.ศ.2010 หลังจาก มุฮัมมัด บูอาซีซี ได้จุดไฟเผาตนเองเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดแผงขายผักและผลไม้ของเขา เป็นชนวนเหตุให้ประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วงเพื่อแสดงความไม่พอใจการบริหารประเทศของ บิน อาลี ที่ทำให้อัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูง รวมถึงปัญหาความยากจน การคอร์รัปชั่น อัตราเงินเฟ้อสูง และการปราบปรามผู้ที่ต่อต้านรัฐบาล
17 ธันวาคม ค.ศ.2010 บูอาซีซี วัย 26 ปี ตัดสินใจจุดไฟเผาตนเองหน้าสภาเทศบาลกลางเมือง ซิดี บูซิด
27 ธันวาคม ค.ศ.2010 ประชาชนราว 1,000 คนออกมาเรียกร้องตำแหน่งงานด้วยการเดินขบวนประท้วงในเมืองตูนิซ เมืองหลวงของตูนิเซีย
28 ธันวาคม ค.ศ.2010 ประธานาธิบดี บิน อาลี แถลงการณ์ทางโทรทัศน์เพื่อเตือนผู้ชุมนุมว่าการประท้วงจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ และจะใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อลงโทษผู้ชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง ขณะเดียวกัน ทนายความราว 300 คน ก็ออกมาเดินขบวนประท้วงบริเวณทำเนียบรัฐบาลเพื่อประกาศตนเป็นแนวร่วมกับผู้ชุมนุมและมีทนายความบางส่วนถูกจับกุม
3 มกราคม ค.ศ.2011 ผู้ชุมนุมประมาณ 250 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนเดินขบวนประท้วงโดยสันติในเมืองตาลา (Thala) ก่อนที่จะถูกเจ้าหน้าที่ยิงแก๊สน้ำตาใส่ และกลายเป็นจลาจล หลังจากนั้นทางสมาคมผู้ประกอบการสถานบันเทิงก็ตัดสินใจสไตรก์หยุดงาน และทนายความร้อยละ 95 ของประเทศหรือกว่า 8,000 คนก็เข้าร่วมในการสไตรก์หยุดงานครั้งนี้ด้วย
14 มกราคม ค.ศ.2011 ประธานาธิบดี บิน อาลี ประกาศภาวะฉุกเฉินท่ามกลางการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ นอกจากนี้ เขายังสัญญาว่าจะผลักดันให้มีการเลือกตั้งภายใน 6 เดือน
ในคืนเดียวกันนี้เองมีรายงานว่า บิน อาลี ตัดสินใจเดินทางออกนอกประเทศ และนายกรัฐมนตรี มุฮัมมัด ก็อนนูซี แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์ว่าเขาจะขึ้นดำรงตำแหน่งแทน ภายใต้มาตราที่ 56 ของรัฐธรรมนูญตูนิเซีย (a day Bulletin, Time to Fight issue 138, 11-17 March 2011)
ท่ามกลางการเรียกร้องให้มีการใช้ระบอบประชาธิปไตย และผู้นำต้องมาจากการเลือกตั้งที่โปร่งใส
กระนั้น ผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นหลังการก่อตัวของ Arab Spring ในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ ลิเบีย โมร็อกโก จอร์แดน และตูนิเซีย เป็นเครื่องยืนยันให้เห็นว่าพรรคนิยมอิสลามในชื่อต่างๆ รวมทั้งจากขบวนการภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ต่างได้รับเลือกกันเป็นทิวแถว
ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศเหล่านี้ใช้ประชาธิปไตยไปสู่การเปลี่ยนผ่านในสิ่งที่พวกเขาปรารถนา นั่นคือการใช้หลักการอิสลามในการปกครอง (Political Islam) นั่นเอง
โดยจะยึดอิสลามเป็นพื้นฐานและประยุกต์ความเป็นประชาธิปไตยที่ไม่ได้มีอะไรขัดแย้งกับอิสลามเข้าไปรวมอยู่ด้วยในระดับหนึ่ง
++
Arab Spring ในตะวันออกกลาง : กรณีศึกษาเยเมน (1)
โดย จรัญ มะลูลีม คอลัมน์ มุมมุสลิม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1648 หน้า 37
สิ่งแวดล้อมภายในประเทศ
ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์
และภูมิศาสตร์ของเยเมน
อีกดินแดนหนึ่งที่ยังเต็มไปด้วยความขัดแย้งอันยุ่งยากได้แก่ เยเมน ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของแหลมอาระเบีย
ใน ค.ศ.1962 ขบวนการปฏิวัติซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอียิปต์ได้โค่นล้มการปกครองแบบดั้งเดิมของอิมาม และจัดตั้งสาธารณรัฐเข้าแทนที่
ผลของการต่อสู้ระหว่างกองกำลังจากภายนอก คือกองกำลังของชาวซาอุดีอาระเบียและชาวอียิปต์และระหว่างฝ่ายที่เป็นปรปักษ์กันก่อให้เกิดการสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลเดิมและฝ่ายสาธารณรัฐขึ้นมาซึ่งใช้เวลายาวนานหลายปี
การรวมเยเมนสองประเทศเข้าด้วยกันเกิดขึ้นใน ค.ศ.1990 โดยการรวมเอาดินแดนที่เคยปกครองโดยอิมามและดินแดนที่อยู่ในการครอบครองของอังกฤษ ซึ่งมีเมืองเอเดน (Aden) เป็นเมืองหลวงเข้าด้วยกันนั้น ต่อมาได้ถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรงด้วยการเกิดสงครามกลางเมืองที่นองเลือดระหว่างฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ใน ค.ศ.1994
นอกจากนี้ ชาวเยเมนยังได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในเมืองโดฟา (Dhofar) ระหว่าง ค.ศ.1965 และ ค.ศ.1975 อีกด้วย
การกบฏเพื่อแยกตัวนี้มีความสำคัญต่อท้องถิ่นมากเพราะเยเมนใต้ในเวลานั้นเป็นรัฐมาร์กซิสต์ซึ่งอิงอยู่กับสหภาพโซเวียต
การลุกฮือเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงในเยเมน ไม่ได้มีความแตกต่างไปจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตูนิเซีย อียิปต์ ซีเรีย ลิเบีย และบาห์เรน
แต่จนถึงเวลานี้ (ขณะที่เขียนบทความนี้) ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลยังไม่สามารถโค่นผู้นำที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานถึง 33 ปี คือนับตั้งแต่ ค.ศ.1978 อย่างประธานาธิบดี อะลี อับดุลลอฮ์ ศอลิฮ์ (Ali Abdullah Salih) ลงได้
หากแต่ผู้นำยอมลงจากอำนาจเองเพื่อแลกกับข้อตกลงของกลุ่มประเทศอาหรับ 6 ประเทศที่ปกครองโดยกษัตริย์ (GCC) ซึ่งเยเมนได้รับการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากประเทศเหล่านี้มาตลอด ทั้งนี้ ในข้อตกลงดังกล่าวจะไม่มีการดำเนินคดีกับผู้นำแต่อย่างใด และให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีขึ้นมาใหม่
ซึ่งผลของการเลือกตั้งปรากฏว่ารองประธานาธิบดีในรัฐบาลเดิมเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง เพราะมีผู้สมัครเพียงคนเดียว
ทั้งนี้ ฝ่ายต่อต้านซึ่งดูแผ่วเบาลงไปบ้าง แต่อาจเข้มแข็งขึ้นมาใหม่หลังการเลือกตั้งก็คงจะไม่ยอมรับผู้นำคนใหม่ที่เคยอยู่ในรัฐบาลเก่ามาก่อนอย่างแน่นอน
ประชากรและโครงสร้างทางสังคม
เป็นที่รับทราบกันว่าร้อยละ 75 ของประชากรเยเมนที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ตกงานกันเป็นทิวแถว
นี่เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้คนหนุ่มสาวต้องออกไปต่อสู้อยู่ตามท้องถนน เช่นเดียวกับประชาชนของอียิปต์ ซีเรีย ตูนิเซีย บาห์เรน และลิเบีย
สำหรับผู้คนในเยเมนโดยเฉพาะที่เป็นหนุ่มสาวนั้นพวกเขาไม่ต้องการให้ประชาชนจำนวน 8 ล้านคน จากประชาชนทั้งหมด 23 ล้านคน ต้องกลายเป็นผู้หิวโหยอย่างเรื้อรังต่อไปอีกแล้ว
นอกจากนี้ พวกเขายังต้องการให้น้ำมันและก๊าซของประเทศถูกใช้ไปในการสร้างสังคมและสาธารณูปโภคมากกว่าจะนำไปสร้างความร่ำรวยให้กับชนชั้นนำ
การเมืองและความขัดแย้ง
สําหรับเยเมนแล้ว มีปัญหาเรื้อรังซึ่งจำเป็นจะต้องนำมากล่าวถึง ก่อนที่ตัวเลือกที่แท้จริงของประชาชนจะปรากฏตัวขึ้นมาในอนาคต
ทั้งนี้ กองกำลังนักรบพลเรือนที่ต่อต้านรัฐบาลอยู่ในเวลานี้ถูกสงสัยว่ามีความเกี่ยวพันกับขบวนการอัล-กออิดะฮ์ ที่เข้ายึดครองเมืองซินจิบาร์ (Zinjibar) ไปเรียบร้อยแล้ว
การปรากฏตัวของขบวนการอัล-กออิดะฮ์ในดินแดนที่อยู่ติดกับการเก็บสำรองน้ำมันของโลกอย่างซาอุดีอาระเบียได้รับความสนใจจากนานาชาติเป็นอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลอ้างว่าการพูดถึงการคุกคามของอัล-กออิดะฮ์ นั้นเป็นการพูดเกินกว่าความเป็นจริง
ที่เห็นชัดก็คือในประเทศอย่างเยเมนนั้นการเข้ามาแทรกแซงของประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศตะวันตก เป็นไปอย่างเชื่องช้าทั้งๆ ที่รัฐบาลเยเมนได้ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมมากกว่ารัฐบาลของพันเอกกาดาฟีเสียหลายเท่า
ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญนั้นอยู่ที่ว่ารัฐบาลเยเมนสนิทสนมกับตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐและอ้างว่าฝ่ายต่อต้านเป็นกลุ่มอัล-กออิดะฮ์ ที่เป็นปรปักษ์กับตะวันตกนั่นเอง
บทบาทของพรรคการเมือง
ในเวลานี้นักอิสลามนิยม (Islamists) ที่อยู่ร่วมกับพรรคอิศลาห์ (Islah Party) หรือพรรคสำคัญในกลุ่มพรรคผสมกำลังได้รับความไว้วางใจจากคนหนุ่มสาว
ซึ่งหลายคนกำลังมองหาทางออกที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งจะเข้ามาแทนรัฐบาลปัจจุบัน
และพัฒนาเศรษฐกิจที่พวกเขามีที่ทาง หรือมีส่วนร่วมอยู่ด้วย
ความรุนแรงของเหตุการณ์และการเมืองของเผ่า
ความรุนแรงทางการเมืองในเยเมนเริ่มหนักหน่วงขึ้นเมื่อทำเนียบประธานาธิบดีถูกโจมตี เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ.2011 ซึ่งทำให้ประธานาธิบดี อะลี อับดุลลอฮ์ ศอลิฮ์ ได้รับบาดเจ็บ
การโจมตีผู้นำประเทศดังกล่าวทำให้ขบวนการสนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยของเยเมนไปสู่ขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
จรวดของผู้ต่อต้านถูกยิงเข้าไปโจมตีสุเหร่าที่อยู่ในทำเนียบของประธานาธิบดีทำให้มีผู้เสียชีวิตสี่คน และทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงบาดเจ็บอีกหลายคน
การโจมตีดังกล่าวตามมาด้วยความรุนแรง ซึ่งลุกลามออกไปในกรุงซานาอ์ ทั้งนี้ ไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าเวลาของความตึงเครียดจะยาวนานอีกแค่ไหน
หลังการถูกโจมตี ประธานาธิบดีศอลิฮ์ได้บินไปรักษาตัวที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย และเดินทางกลับจากซาอุดีอาระเบียเรียบร้อยแล้วพร้อมกับยืนยันในเวลาต่อมาว่าเขาจะลงจากอำนาจที่ครองมายาวนานกว่าสามทศวรรษ หลังจากมีข้อตกลงกับประเทศสมาชิกสภาความร่วมมือแห่งอ่าวเปอร์เซียตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
เมื่อตัวเขาต้องออกจากประเทศไปในยามวิกฤตนั้น ผู้ต่อต้านรัฐบาลของเขาจำนวนนับพันได้ออกมาเฉลิมฉลองการออกจากประเทศของเขาอย่างลิงโลดใจ
การโจมตีทำเนียบประธานาธิบดีถูกโต้กลับจากฝ่ายรัฐบาลที่บุกเข้าโจมตีบ้านของผู้นำชาวเผ่าที่ต่อต้านรัฐบาลสองคน โดยก่อนหน้านี้นายพลทหารผู้เป็นชาวเผ่าที่มีอิทธิพลได้ละทิ้งค่ายของประธานาธิบดีศอลิฮ์ไปอยู่กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล เมื่อการต่อสู้ขยายตัวออกไป บ้านของหะมิด (Hamid) และฮิมยาร (Himyar) สองพี่น้องที่มีอิทธิพลของครอบครัว อัล-อะห์มัร (al-Ahmar family) ก็ถูกทำลายลง
กองกำลังของรัฐบาลยังได้ยิงเข้าใส่บ้านของผู้สนับสนุนฝ่ายต่อต้านคือนายพล อะลี มุอ์ซิน อัล-อะห์มัร ผู้บัญชาการทหารที่มีอิทธิพลและมีความสัมพันธ์กับครอบครัว ในสายตระกูลอัล-อะห์มัร ครอบครัว อัล-อะห์มัร ที่มั่งคั่งนำโดย ชัยค์ ศอดีก อัล-อะห์มัร (Sheikh Sadeq al-Ahmar) ที่เวลานี้ได้กลายเป็นปรปักษ์คนสำคัญของรัฐบาลที่มีอิทธิพลมากที่สุด
ในการลุกฮือเรียกร้องประชาธิปไตย ครอบครัวอะห์มัร เป็นสหพันธ์ของเผ่าฮาชิด (Hashid) และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังฝูงชน ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงในเยเมน นอกจากนี้ ชัยค์ ศอดีก อะห์มัร ยังมีความสามารถในการระดมคนหนุ่มสาวนับพันทั่วประเทศ
การต่อสู้ในกรุงซานาอ์เมืองหลวงของเยเมนดุเดือดยิ่งขึ้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2011 เมื่อกองทหารของรัฐบาลได้ยิงเข้าไปในบ้านของ ชัยค์ ศอดีก ทั้งๆ ที่การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดข้อกำหนดที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรของเผ่า ซึ่งมีข้อห้ามมิให้เอาบ้านของผู้นำเผ่ามาเป็นเป้าของการโจมตี
การโจมตีทำเนียบประธานาธิบดีได้นำไปสู่การเผชิญหน้าทางอาวุธระหว่างกองทหารของรัฐบาลและชนเผ่าอัล-อะห์มัร
อย่างไรก็ตามยังไม่เป็นที่ยืนยันว่ารัฐบาลจะเป็นฝ่ายได้เปรียบ นักต่อสู้จากสหพันธ์เผ่าฮาชิดที่ได้รับการติดอาวุธเป็นอย่างดี ยังคงต่อสู้ด้วยความเข้มแข็ง ความเข้มแข็งของพวกเขาส่วนหนึ่งมาจากประเพณีและวัฒนธรรมของการได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูจากมวลชน
การต่อสู้ในช่วงเดือนมิถุนายน ค.ศ.2011 ซึ่งนำโดยบุตรชายของประธานาธิบดีศอลิฮ์ ที่เพิ่งกลับมาจากการเรียนที่สถาบันทหารแซนเฮิร์สต์ (Sandhurst) ของอังกฤษต้องพบกับอุปสรรคเมื่อต้องเผชิญกับนักต่อสู้ที่มาจากเผ่าสำคัญอย่างเผ่านิม (Nihm) เป็นต้น
ในการเผชิญหน้ากับฝ่ายต่อต้านที่ปรากฏตัวขึ้นในเมืองหะเฏาะเราะเมาต์ (Hadaramaut) ซึ่งรัฐบาลได้ปรากฏตัวขึ้นมานั้น แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่ฝ่ายรัฐบาลต้องล่าถอยออกมาพร้อมกับทิ้งอาวุธจำนวนหนึ่งไว้ที่นั่น
++
Arab Spring : กรณีของเยเมน (จบ)
โดย จรัญ มะลูลีม คอลัมน์ มุมมุสลิม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1649 หน้า 40
บทสรุปของ Arab Spring : จากอดีตจนถึงปัจจุบัน
อาจกล่าวได้ว่ากรณีของ Arab Spring ไม่ว่าจะเป็นประเทศใด รวมทั้งเยเมนด้วยล้วนมีสาเหตุมาจากความยากจนและการแบ่งสรรปันส่วนที่ไม่เป็นธรรม นอกเหนือไปจากอิทธิพลของเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ที่สามารถรวมผู้คนเข้าด้วยกันได้ง่ายขึ้น และการนำเอาอิสลามการเมือง (Political Islam) มาใช้หลังจากการทดลองใช้ระบบการปกครองต่างๆ ประสบความล้มเหลวมาครั้งแล้วครั้งเล่า
อียิปต์ ซีเรีย และตูนีเซีย ประเทศเหล่านี้ทุกประเทศล้วนแต่มีลักษณะหลายอย่างร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของอำนาจรัฐหรือชนิดของการเมืองที่เกิดขึ้นจากอำนาจรัฐ
อย่างไรก็ตาม กระบวนการแบบเดียวกันบางอย่างก็ได้ดำเนินการอยู่ในเยเมนด้วย รวมทั้งกรณีของลิเบียที่ออกจะแหวกแนวอยู่บ้าง ทำให้เกิดแรงกระตุ้นต่อไปแก่การพัฒนาที่มีรัฐเป็นผู้นำ
ในประเทศเหล่านี้มีการรวมศูนย์อำนาจเป็นอย่างมาก ลัทธิพหุนิยมถูกระแวงสงสัย และรัฐบาลพยายามที่จะมีเอกสิทธิ์เหนือกิจกรรมทางการเมืองทั้งหมดที่ถูกต้องตามกฎหมาย
นอกจากนี้ ยังรวมอำนาจไว้ในบุคคลหรือพรรคเดียว (Totalitarianism) เพราะมันขาดสถาบันอันมีอำนาจซึ่งจำเป็นต้องมีไว้เพื่อจะได้ควบคุมหรือเปลี่ยนรูปสังคม
ที่ผ่านมารัฐบาลเหล่านี้มักจะทำลายผู้ที่ตนไม่สามารถควบคุมได้เสีย และต้องกล่อมเกลาและจัดการกับผู้ที่ตนสามารถควบคุมได้เสียใหม่ อย่างที่เกิดขึ้นในอียิปต์และตูนีเซีย อันเป็นประเทศที่สังคมออกจะเป็นอย่างเดียวกัน
ตอนที่รัฐบาลของนัสเซอร์ของอียิปต์และบูร์กิบาของตูนีเซียซึ่งขึ้นสู่อำนาจ ในไม่ช้าพรรคการเมืองที่เป็นอิสระก็ถูกปราบปรามหรือมิฉะนั้นก็ถูกผลักดันให้ปรับตัวเสียใหม่ตามกฎข้อบังคับที่ออกมาใหม่
ในกรณีของตูนีเซียจะพบว่ามีการรักษาเอกสิทธิ์กิจกรรมทางการเมืองไว้สำหรับพรรคเดียวซึ่งเป็นพรรครัฐบาลหรือพรรคของชาติ
โครงสร้างของการควบคุมนี้ถูกบังคับใช้ต่อไปโดยกฎข้อบังคับที่ให้สมาชิกภาพของพรรคและสมาคมทางศาสนาที่เป็นอิสระอย่างเช่นขบวนการภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) ของอียิปต์กลายเป็นเรื่องผิดกฎหมายไป
แนวทางสุดท้ายที่เกี่ยวกับการควบคุมของรัฐก็คือการมีกองทัพทหารและตำรวจซึ่งมีบริการข่าวกรอง ศาลลับ ห้องทรมานและคุกตารางหลายอย่างหนุนหลังอยู่ ในขณะที่การปฏิรูปที่ดินและการขยายตัวของระบบการศึกษาจะให้โอกาสอันชัดเจนที่จะให้ชีวิตที่ดีขึ้นแก่ประชาชนนับล้านๆ คน
การต่อต้านที่รวมกลุ่มกันไม่ว่าแบบใดๆ ในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลางบ่อยครั้งจะถูกบังคับให้หลบลงไปอยู่ใต้ดิน ไม่มีการลงประชามติ การเลือกตั้งหรือการลงประชามติต่างๆ ก็มักจะถูกควบคุมเอาไว้
นอกจากจะมีการรวมเอาอำนาจไว้ในรัฐที่มีพรรคการเมืองเดียวอย่างกรณีของซีเรีย ซึ่งเป็นแบบรวมอำนาจแล้ว ตัวแสดงทางการเมืองที่สำคัญที่สุดก็คือประธานาธิบดีนั่นเอง ตามกฎประธานาธิบดีไม่ใช่เป็นแค่ประมุขของรัฐเท่านั้นแต่ยังเป็นผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพและเป็นหัวหน้าพรรคด้วย ตามปกติเขาจะทำการตัดสินใจสำคัญๆ เกี่ยวกับผลประโยชน์ของประชาชนตามความคิดของเขาเองโดยไม่ต้องขอคำแนะนำจากใคร
ประธานาธิบดีทุกคนต้องให้สัมปทานแก่กลุ่มผู้สนับสนุนตนที่สำคัญๆ อย่างเช่นพวกชนชั้นสูงตระกูลอะลาวีในซีเรียหรือเจ้าของที่ดินจากแถบซาเฮลในตูนีเซียผู้ซึ่งมีความสนิทสนมเป็นอย่างมากกับประธานาธิบดี และเป็นเรื่องจำเป็นด้วยที่จะต้องมอบอำนาจอย่างพอเพียงให้แก่บุคคลบางคนและกลุ่มบางกลุ่มเพียงเพื่อจะทำให้สิ่งต่างๆ ดำเนินไปได้
ประธานาธิบดีเป็นประธานอยู่เหนือเครื่องมือของรัฐซึ่งในระยะแรกประกอบด้วยสถาบันที่เป็นส่วนประกอบสำคัญๆ คือทหาร พรรคการเมือง งานด้านความปลอดภัย ข้าราชการ
นักการเมืองในรัฐบาลสำคัญๆ โดยปกติจะเป็นผู้อุปถัมภ์ของเครือข่ายที่ค่อนข้างจะใหญ่โตและมีพรรคพวกเป็นจำนวนมาก
ในซีเรียตั้งแต่ ค.ศ.1966 รัฐบาลได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มชาวชีอะฮ์ อะลาวี (Alawi) การต่อต้านสำคัญๆ ก็มักจะเป็นฝีมือของกลุ่มต่างๆ จากถิ่นหรือกลุ่มที่รู้สึกว่าตนเองถูกรัฐบาลใหม่ๆ ทำให้เสียเปรียบอย่างเป็นระบบ
ตัวอย่างเช่น ชาวซุนนีที่อาศัยอยู่ในเมือง Hama ในซีเรียผู้ซึ่งให้การสนับสนุนอย่างมากแก่ขบวนการภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) เมื่อ ค.ศ.1982
ก่อนการปรากฏตัวของ Arab Spring นั้นรัฐบาลในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลางมักจะถือว่าตนมีความชอบธรรมเพราะมีบทบาทเป็นนายของหนทางที่กำหนดไว้ดีแล้ว ซึ่งจะนำไปสู่ความเป็นสมัยใหม่
นี่เป็นข้ออ้างซึ่งไม่เพียงแต่เสริมกำลังให้แก่ลักษณะของความมุ่งมั่นเท่านั้น แต่ยังแก้ตัวให้อะไรก็ตามซึ่งมาแทรกแซงและขัดขวางโครงสร้างและความสัมพันธ์ของสังคมที่มีอยู่ในโครงสร้างสังคมที่มีอยู่แล้วซึ่งรัฐบาลอาจจะเลือกทำขึ้นอีกด้วย
ตลอดปี ค.ศ.2011 ชุมชนระหว่างประเทศจึงได้แลเห็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน เกิดขึ้นในภูมิภาคแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง
นั่นคือการลุกฮือเรียกร้องประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมในทางการเมืองและการโค่นล้มผู้นำประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน ผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ที่เรียกกันว่าสังคมออนไลน์
อย่างไรก็ตาม การลุกฮือที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยจุดประสงค์ของการเรียกร้องประชาธิปไตย ความเสมอภาคและการโค่นอำนาจผู้ปกครองเผด็จการเท่านั้น
แต่ยังเป็นการเรียกคืนการปกครองที่ต้องการศาสนาเข้าไปมีส่วนร่วมอยู่ด้วย
ซึ่งในช่วงของการลุกฮือยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมมากนัก แต่จากผลของการเลือกตั้งทั้งที่ประกาศผลไปแล้วและที่ผ่านมาครึ่งทางปรากฏว่าในประเทศที่ผู้นำถูกโค่นอำนาจลงไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตูนีเซีย อียิปต์หรือลิเบีย กลุ่มที่สนับสนุนการปกครองตามแนวทางอิสลามหรือให้อิสลามและกฎหมายอิสลามมีบทบาทนำได้รับชัยชนะเป็นด้านหลัก
บทบาทของสังคมออนไลน์ การทวงสิทธิความเท่าเทียมจากคนขายผักอย่างบุอาซิซี ชาวตูนีเซียที่เล่าเรียนดีแต่ไม่มีงานทำตามความสามารถของตน และถูกกีดกันการทำมาค้าขายจากเจ้าหน้าที่รัฐได้นำไปสู่ชนวนความขมขื่น และจบลงด้วยการเผาตัวเองได้สร้างกระแสความสงสารและความไม่พอใจไปทั่วภูมิภาค นำไปสู่การลุกฮือที่เรียกกันว่า Arab Spring ของชาวอาหรับในแอฟริกาเหนือและตะวันออกกลางอย่างต่อเนื่อง
กรณีของตูนีเซีย อียิปต์ และเยเมนประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้อาวุธในการเรียกร้องความเป็นธรรม หากแต่ใช้แรงกดดันและการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นเป็นด้านหลัก
ซึ่งผิดกับการลุกฮือในลิเบียประเทศที่มีน้ำมันชั้นยอดที่ประชาชนมีอาวุธที่ใช้ต่อสู้กับรัฐบาลมาตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของการลุกฮือ ซึ่งแสดงให้เห็นการเข้ามาข้องเกี่ยวขององค์การระหว่างประเทศผ่านนาโต้ที่กระทำเกินเลยมากไปกว่าการให้การคุ้มครองประชาชนและการใช้เขตห้ามบิน
การปรากฏตัวของ Arab Spring นำเอาทั้งสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วม ความสำนึกของผู้นำที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานและประชาธิปไตยที่ดูเหมือนจะเป็นหนทางไปสู่การเปิดโอกาสให้ประชาชนเลือกการปกครองของตนเองมาให้ในที่สุด
ซึ่งส่วนใหญ่จะเลือกอิสลามวิถีเป็นด้านหลัก
แม้ว่าจะมีวิกฤติของการเปลี่ยนผ่านที่ไม่อาจคาดการณ์ได้รออยู่ข้างหน้าอีกจำนวนมากก็ตาม
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย