http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-26

วิกฤติวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี โดย อนุช อาภาภิรม


.

วิกฤติวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1653 หน้า 39


วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเป็นการปฏิบัติทางสังคม (Social Practice) อย่างหนึ่งเช่นเดียวกับศาสนาและการเมือง เป็นการปฏิบัติทางสังคมเพื่อค้นพบกฎหรือแบบรูป (Pattern) ของสิ่งในธรรมชาติและสังคม และใช้ประโยชน์จากความรู้นี้
ในระยะหลายร้อยปีมานี้มนุษย์ได้รับอานิสงส์อย่างสูงจากการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จนกระทั่งเกิดความเชื่อศรัทธาว่าไม่ว่าจะเกิดปัญหาหรือภัยพิบัติอะไร มนุษย์ก็จะสามารถใช้เทคโนโลยีแก้ไขได้ทั้งสิ้น (Technofix) 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเรานำปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ขึ้นมาถามว่า วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจะสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้หรือไม่ ก็จะพบว่า คำตอบเกือบทั้งหมดอยู่ในกลุ่มว่าไม่สามารถจะแก้ไขได้ หรือไม่แน่ใจว่าจะแก้ไขได้
ยกตัวอย่างเช่น

เทคโนโลยีจะแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคมได้หรือไม่ คำตอบคือไม่น่าจะได้ ปัจจุบันประมาณว่ามีคนจนในโลก หรือ ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด ดูจะไม่มีเทคโนโลยีที่มีอยู่สามารถนำมาแก้ไขปัญหาความยากจนที่ใหญ่หลวงนี้ได้
มีบางประเทศ ได้แก่ จีนและอินเดีย เป็นต้น ได้พัฒนาอุตสาหกรรม และลดจำนวนคนจนได้หลายร้อยล้านคน แต่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างหนักหน่วง และได้พบปรากฏการณ์คนรวยๆ ขึ้น คนจนจนลงในท่ามกลางการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว

เริ่มเห็นพ้องกันมากขึ้นว่ามาตรการแก้ไขความยากจนน่าจะอยู่ที่การให้เป็นแบบ เศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) หรือเศรษฐกิจของขวัญ (Gift Economy) มากกว่า


เทคโนโลยีจะสร้างสันติภาพได้หรือไม่ คำตอบน่าจะเป็นตรงกันข้าม ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มีนักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งได้ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างลัทธิฟาสซิสต์ที่กำลังรุ่งเรืองในอิตาลีและเยอรมนีกับธุรกิจขนาดใหญ่ 
เขาได้ชี้ว่าธุรกิจขนาดใหญ่นี้มีแนวโน้มสนับสนุนอุตสาหกรรมหนัก ที่สร้างเหล็กกล้าและเครื่องจักรใหญ่ ซึ่งใช้ทำอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ไม่เน้นเรื่องอุตสาหกรรมเบาในการผลิตของกินของใช้ให้แก่ประชาชน

หลังสงครามโลกครั้งที่สองประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ได้ปราศรัยเตือนถึงอันตรายจากกลุ่มอุตสาหกรรม-การทหาร (Military Industrial Complex) ว่าจะเข้ามามีบทบาทสูงและครอบงำฝ่ายบริหาร ซึ่งคำเตือนนั้นดูจะปรากฏเป็นจริงและขยายวงออกไปเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม-การทหาร-สภาคองเกรส และยังมีบางคนเพิ่มสื่อมวลชนของสหรัฐเข้าไปด้วย ในการช่วยลั่นกลองศึก

นอกจากนี้ ยังพบว่าเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาล้ำหน้าไปกว่าใครนั้นเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการทหาร สงครามใหญ่ครั้งต่อไป อาจทำลายมนุษยชาติจนสูญพันธุ์ได้ สันติภาพนั้นเกิดจากการเจรจาปรองดอง มากกว่าเทคโนโลยีและแสนยานุภาพ รวมทั้งการต่อต้านการก่อการร้าย ไม่ได้เกิดจากการพัฒนาเครื่องบินล่าสังหารหรือโดรน และอุปกรณ์ในการสอดแนมต่างๆ แต่หากอยู่ที่การปรับแก้นโยบายของมหาอำนาจจากแบบจักรวรรดิมาสู่แบบประชาคมโลก


เทคโนโลยีจะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้หรือไม่ ในปัจจุบันมีความพยายามที่จะพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนกันเป็นอันมาก แต่ได้ผลอย่างจำกัด ไม่แน่ชัดว่าเทคโนโลยีจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้หรือไม่ แต่ที่แน่ก็คือเทคโนโลยีแห่งอุตสาหกรรมสมัยใหม่มีส่วนสำคัญในการก่อปัญหานี้ขึ้น
นอกจากนี้ ปัญหาโลกร้อนยังมีความสลับซับซ้อนมาก ซึ่งจนทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถอธิบายอย่างชัดเจนว่าอะไรเป็นอะไร เพียงแต่เป็นการจับสัญญาณบางอย่าง
และขณะที่กล่าวว่าเกิดภาวะโลกร้อน ก็เกิดภาวะอากาศหนาวเย็นจัดในหลายพื้นที่ เหล่านี้ชี้ว่าการแก้ปัญหาโลกร้อนไม่ใช่เรื่องง่าย มีผู้เห็นกันมากขึ้นว่าการระงับการใช้เทคโนโลยีอย่างที่กระทำอยู่อาจช่วยได้มาก 


เทคโนโลยีจะช่วยทำให้ผู้คนมีอายุคาดหมายเฉลี่ยได้สูงขึ้นถึง 100 ปีหรือไม่ คำตอบคงเป็นว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น โดยตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงศตวรรษที่ 19 อายุคาดหมายของคนเราค่อนข้างคงตัว ต่อเมื่อถึงศตวรรษที่ 20 จึงพบว่าอายุคาดหมายของคนได้สูงขึ้นเกือบเท่าตัว
ในปัจจุบันอายุคาดหมายของคนทั้งโลกอยู่ที่ 67.2 ปี ประเทศที่มีอายุคาดหมายสูง ได้แก่ ญี่ปุ่น 82.6 ปี ที่ต่ำคือสวาซิแลนด์อยู่ราว 32 ปี
การที่อายุคาดหมายของประชากรโลกเพิ่มขึ้นพรวดพราดก็เนื่องจากความก้าวหน้าทางการแพทย์และสาธารณสุขรวมสุขาภิบาล ทำให้อัตราการเสียชีวิตของเด็กทารกอายุไม่เกิน 5 ขวบลดลงมาก
นี่เป็นสิ่งที่เทคโนโลยีทำได้ง่าย และไม่สิ้นเปลืองมาก แต่การจะทำให้อายุคาดหมายเพิ่มขึ้นเช่นจาก 70 เป็น 80 หรือ 100 ปี ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ต้องทั่วถึงและสิ้นเปลืองมาก
จากการศึกษาอายุคาดหมายเป็นเวลานาน บางคนเห็นว่าอายุคาดหมายขั้นสูงของประชากรโลกน่าจะอยู่ที่ราว 85 ปี โดยจะมากกว่าหรือน้อยกว่าอยู่ในช่วงราว 5 ปี (ดูบทความชื่อ The Future of Human Life Expectation : Have We Reached the Ceiling or the Sky is Limit? ใน prb.org มี.ค. 2006)


เทคโนโลยีจะช่วยทำให้มนุษย์มีความสุขมากขึ้นหรือไม่ คำตอบยังกำกวม นั่นคือเห็นได้ว่าเทคโนโลยีช่วยปลดปล่อยมนุษย์จากการทำงานหนักที่เสี่ยงอันตราย อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาดปลอดภัย มียาและการรักษาโรคที่ได้ผลมากขึ้น
แต่ในขณะเดียวกันก็พบว่าในสังคมพัฒนาแล้วที่มีการใช้เทคโนโลยีสูง ปรากฏว่าการใช้ยาแก้ปวดหัว ยากล่อมประสาท และยาแก้อาการซึมเศร้าก็สูงขึ้นด้วย 
การสำรวจภาวะความสุขของประเทศต่างๆ พบว่าสหรัฐที่มีการพัฒนาความสามารถทางการผลิตสูงมาก ตั้งแต่ปี 1960 รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า แต่ความสุขเฉลี่ยที่วัดได้นั้นแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย (ดูเอกสารชื่อ World Happiness Report ใน earthinstitue.columbia.edu, 2012)

กล่าวโดยรวมก็คือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ให้สัญญาว่าจะช่วยให้เข้าใจและสร้างโลกที่มั่นคง มั่งคั่งและรุ่งเรืองขึ้น กลับสร้างโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน มีหย่อมความมั่งคั่งในทะเลแห่งความยากจน และกลับเผชิญภัยใหญ่ของความล่มสลาย 

อนึ่ง วิกฤติวิทยาศาสตร์เทคโนโลยียังเกี่ยวเนื่องกับวิกฤติทางเศรษฐกิจ-การเมืองและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย แต่จะนำไปกล่าวถึงในโอกาสต่อไป



เหตุปัจจัยพื้นฐานของวิกฤติวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี

เหตุปัจจัยพื้นฐานของวิกฤติวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ปฏิบัติกันอยู่ อาจกล่าวได้ว่ามีอยู่ 3 ประการด้วยกัน ได้แก่

1. การทำให้วิทยาศาสตร์เป็นนามธรรม ลบลักษณะที่เป็นการปฏิบัติทางสังคมออกไป โดยผ่านวาทกรรมว่าวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเป็นสิ่งกลางๆ แล้วแต่ว่าจะนำไปใช้อย่างไร เป็นต้น ซึ่งเป็นการลบภาวะว่าวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่แน่นอน เช่น ขวานหิน หรือ คอมพิวเตอร์ เกิดขึ้นในสังคมและช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่แน่นอน ตามกำลังการผลิตในช่วงนั้นๆ อันประกอบด้วยทั้งแรงงานมนุษย์กับทรัพยากรธรรมชาติ รวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างสังคมต่างๆ
ดังจะเห็นง่ายๆ ว่า การที่รัฐบาลหรือบรรษัทใดให้เงินทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา ก็เพื่อประโยชน์ของรัฐบาลและบรรษัทนั้นๆ การทำให้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเป็นนามธรรม ซึ่งก็กลายเป็นจิตนิยมด้วย ด้านหนึ่งทำให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขาดเป้าหมายที่จะทำอะไรให้แก่สังคม รวมทั้งอาจทำลายความร่วมมือกันในสังคมชุมชน
อีกด้านหนึ่งทำให้เกิดการมองเห็นวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่เกินตัว เช่น คิดว่าเทคโนโลยีแก้ปัญหาได้ทุกสิ่ง

2. การทำให้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมีกรรมสิทธิ์เป็นแบบธุรกิจเอกชน ในขณะที่เนื้อแท้เป็นการปฏิบัติทางสังคม ซึ่งหมายถึงว่าวิทยาศาสตร์ที่เกิดในสังคมควรเป็นเพื่อสังคม ตามเจตนารมณ์หนึ่งของการประชุมวิทยาศาสตร์โลก ปี 1999 ที่จัดโดยองค์การยูเนสโก (ดูบทรายงานวิเคราะห์ชื่อ Harnessing Science to Society ใน unesco.org, ธันวาคม 2002)
แต่เรื่องดูกลายเป็นวิทยาศาสตร์เพื่ออำนาจและความมั่งคั่งกำไร ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีอย่างทั่วด้านและหลากระดับ ก่อให้เกิดวิกฤติศรัทธาในวิทยาศาสตร์อย่างรุนแรง

3. วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีขั้นสูงเป็นทางตันในตัวของมันเอง เมื่อวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีพัฒนาไปมากๆ ก็จะพบว่ามีผู้คนจำนวนน้อยลงทุกทีที่เข้าใจและสร้างสิ่งใหม่ได้ 
การพัฒนาวิทยาศาสตร์มีแนวโน้มที่ต้องใช้เงินทุน ห้องทดลองและอุปกรณ์ที่ละเอียดราคาแพง และคณะวิจัยที่ใหญ่ขึ้น
เช่น เครื่องเร่งอนุภาคหรือเครื่องทำลายอะตอม ได้สร้างจนมีขนาดใหญ่มาก ความยาวราว 17 ไมล์ เหล่านี้ทำให้การวิจัยจำกัดวง จำนวนมากพบหรือนำสิ่งที่รู้แล้วมาขยายหรือต่อยอด


เทคโนโลยีที่เหมาะสมหรือเทคโนโลยีเหนือมนุษย์ 

วิกฤติวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีได้มีการกล่าวถึงกันหนาหูตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และพอกพูนขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดกระแสต่อต้านวิทยาศาสตร์ขึ้นแพร่หลายในนักเคลื่อนไหวและฝ่ายซ้ายจำนวนหนึ่ง ซึ่งก็เป็นการเอียงไปอีกขั้วมากเกินไป จากวิกฤติก่อให้เกิดการดิ้นรนหาทางออก ซึ่งในปัจจุบันดูเหมือนมีทางเลือกอยู่ 2 ขั้ว ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมหรือมุ่งมั่นเดินต่อไปถึงขั้นเทคโนโลยีเหนือมนุษย์

เทคโนโลยีที่เหมาะสมที่เสนอขึ้นมาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา มีลักษณะเฉพาะที่ต่างกับเทคโนโลยีขั้นสูงที่สำคัญ คือ
(ก) มีขนาดเล็ก ลงทุนน้อย ใช้แรงงานคุณภาพปานกลางไม่มาก ระดับเทคโนโลยีไม่ได้สูงมาก ตรงข้ามกับเทคโนโลยีที่มีขนาดใหญ่ ลงทุนมาก ใช้แรงงานที่มีคุณภาพและจำนวนมาก
(ข) ให้ความสำคัญแก่ชุมชนหรือพื้นที่ขนาดไม่ใหญ่มาก ส่วนเทคโนโลยีขนาดใหญ่ให้ความสำคัญแก่การตลาดที่มีลักษณะเปิดกว้างจนถึงระดับโลก 
(ค) เป็นเทคโนโลยีแบบไม่สงวนสิทธิ์ (Open Source) ส่วนเทคโนโลยีระดับสูงนั้นยึดหลักทรัพย์สินทางปัญญา มีการจดสิทธิบัตร และสงวนสิทธิอย่างเข้มงวด กระแสเทคโนโลยีที่เหมาะสมขึ้นสูงอยู่พักหนึ่ง แล้วก็ลดต่ำลง ไปผสมอยู่กับระบบตลาด

เมื่อถึงราวปี 2005 ได้เกิดเครือข่ายเปลี่ยนผ่าน (Transition Network) ในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งอาจจัดอยู่ในกลุ่มเทคโนโลยีที่เหมาะสมในบริบทของการคำนึงถึงปัญหาการหมดไปของเชื้อเพลิงฟอสซิลและภาวะโลกร้อน เป็นต้น หันไปใช้เทคโนโลยีที่ใช้พลังงานน้อย และการผลิตที่มีการขนส่งน้อย ซึ่งก็จะเป็นการใช้เทคโนโลยีขนาดเล็กไปในตัว มีการมองในแง่ดีในขบวนเปลี่ยนผ่านว่าการเปลี่ยนผ่านนี้จะเป็นแบบนุ่มนวลทันการณ์และไม่วุ่นวาย แต่เป็นไปได้มากกว่าที่การเปลี่ยนผ่านนี้จะเกิดขึ้นในภาวะความโกลาหลปั่นป่วนใหญ่ไปทั้งโลก

ในอีกด้านหนึ่ง มีการคาดหมายว่าวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจะพัฒนาสูงขึ้นไปทุกทีเพื่อคนส่วนน้อย จนเมื่อสามารถทำให้เครื่องจักรฉลาดกว่ามนุษย์ ก็จะหันมาปรับปรุงมนุษย์ให้เหนือมนุษย์ และนักวิทยาศาสตร์จะขึ้นมาปกครองโลก 

มีนักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์บางคนชี้ว่าชนชั้นนำในสังคมจะผสานเข้ากับเทคโนโลยี และขจัดมวลชนที่เขาเรียกว่าเป็น ฝูงชนที่ไร้ประสิทธิภาพ หรือพวก "อนารยชนใหม่" ทั้งนี้ เนื่องจากในสังคมอุตสาหกรรมก้าวหน้า จำนวนคนงานทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรลดลง เกิดมีประชากรจำนวนมากที่โง่เขลา สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ "ในโลกสมัยใหม่ปัญญาชนจะเป็นแกนกลางของเชื้อชาติมากขึ้นโดยลำดับ...ดังนั้น มวลชนจะต้องหายไป" (ดูบทความของ Daniel Taylor ชื่อ The Scientists Take Over : C. S. Lewis Denounced Transhumanism in 1945 ใน oldthinkernews.com, 010312)

วิกฤติวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีนี้ดูเป็นเรื่องน่าสยดสยอง เพราะว่าไม่ว่าจะออกทางไหน ผู้คนดูจะต้องล้มตายเหมือนใบไม้ร่วงทั้งนั้น

และก็ไม่ได้มีหลักประกันว่า หลังจากตายกันเป็นพันล้านคนแล้ว อะไรจะดีขึ้น 



.