http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-12

สงครามข่าวสาร โดย อนุช อาภาภิรม

.

สงครามข่าวสาร
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1651 หน้า 32


ในสังคมชนชั้น แม้จะมีการอยู่ร่วมกันเป็นระบบสังคม แต่ก็มักมีการขัดแย้งที่ประนีประนอมกันยาก เนื่องจากเกิดการต่อสู้ทางชนชั้นในมิติและปริมณฑลต่างๆ รวมทั้งด้านข่าวสารทั้งจากผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง โดยผู้ปกครองมีแนวโน้มที่จะเสนอข่าวสารเพื่อความมั่นคงและการรักษาสถานะเดิม ส่วนผู้ถูกปกครองเสนอในทางเรียกร้องความเป็นธรรมและการเปลี่ยนแปลง

ในสังคมที่มีผู้อ่านออกเขียนได้น้อย การต่อสู้จะออกไปในทางมุขปาฐะ ใช้ปากต่อปากพูดจากันไป เกิดเป็นข่าวลือจำนวนมาก และใช้เรื่องเล่าและเรื่องปาฏิหาริย์ต่างๆ เพื่อประโยชน์ของฝ่ายตน
พบว่าวิธีการนี้ก็ยังใช้ได้ผลดีจนถึงปัจจุบันโดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
เพียงแต่ทำอย่างเป็นระบบขึ้นมีการปล่อยข่าวลือข่าวลวงตามสื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น


เหตุใดในระบบทุน
จึงมีสงครามข่าวสารอย่างเข้มข้น

ในระบบทุนที่มีการพัฒนาระบบการศึกษา การอุตสาหกรรมสมัยใหม่ การผลิตปริมาณมาก และสื่อมวลชน (Mass Media) สงครามข่าวสารยิ่งทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ เนื่องจากระบบทุนเป็นระบบสังคมที่มีลักษณะเฉพาะต่างกับระบบสังคมอื่นบางประการ ได้แก่

ก. ความต้องการพัฒนาพลังการผลิตอยู่ตลอดเวลา เพื่อแข่งขันเอาชนะกลุ่มทุนอื่น ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสูงยิ่งอยู่ 2 ด้านอย่างไม่เคยปรากฏในสมัยก่อน
ด้านหนึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคม-เทคโนโลยี เช่น การเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาเพียง 20 ปีในปัจจุบัน น่าจะมีมากกว่าการเปลี่ยนแปลงในช่วงกว่า 400 ปี ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
อีกด้านหนึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงภูมิศาสตร์การเมืองโลก เช่น การเกิดสงครามโลก การเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของรัฐ การรวมตัวและแตกตัวของกลุ่มประเทศ ฯลฯ

ข. การต้องสร้างเครือข่ายอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้การผลิตและการค้าดำเนินไปได้ทั่วโลก โดยเฉพาะเครือข่ายการสื่อสารและการขนส่งรวมทั้งระบบโลจิสติกส์ สร้างเครือข่ายสื่อมวลชนที่รวมศูนย์ในอยู่กลุ่มทุนจำนวนน้อย

ค. การต้องให้การศึกษาแก่คนงานอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถรู้เท่าทันเทคโนโลยีและวิธีบริหารจัดการที่เปลี่ยนไป เป็นภาคบังคับที่ทำให้ลูกจ้างคนงานมีความรู้และการบริหารจัดการที่ดีขึ้น

จนกระทั่งเกิดกระแสการตื่นตัวทางการเมืองของชาวรากหญ้าทั่วโลก และเรียนรู้ที่จะสร้างเครือข่ายอย่างที่กลุ่มทุนทำอย่างได้ผล


สงครามข่าวสารเป็นอย่างไร

สงครามข่าวสาร (Information War) ซึ่งในตอนหลังนิยมเรียก ปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operation) เพื่อให้ครอบคลุมปฏิบัติการที่กว้างกว่า ตามความซับซ้อนของสงครามและเทคโนโลยี นอกจากนี้ ยังเป็นการกลบเกลื่อนความรุนแรงของการต่อสู้ ให้ดูเป็นกลางๆ ซึ่งก็นับว่ายังดีที่ไม่เรียกชื่อว่า สันติภาพข่าวสาร

ปฏิบัติการข่าวสารนั้นจะเน้นในเรื่องการทหาร มุ่งหมายที่จะกัดกร่อนบ่อนทำลายเครือข่ายการสื่อสารของฝ่ายตรงข้าม เป็นปฏิบัติการที่ใช้เทคโนโลยีสูง เช่น การทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์และการโจมตีเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ในที่นี้ใช้คำว่าสงครามข่าวสารกับปฏิบัติการข่าวสารแทนกันไป โดยจะอธิบายความในประเด็นหลักหรือแนวปฏิบัติพื้นฐานของสงครามข่าวสาร ซึ่งจะใช้แนวทางของสหรัฐเป็นสำคัญ เนื่องจากแพร่หลายและมีเอกสารอ้างอิงมาก

ปฏิบัติการข่าวสารเป็นปฏิบัติการแบบบูรณาการโดยใช้ปฏิบัติการร่วมตั้งแต่ 2 หน่วยงานขึ้นไป หรือพันธมิตรตั้งแต่ 2 กลุ่มขึ้นไป เพื่อนำมาสู่การปฏิบัติและให้ผลสูงกว่าผลรวมของการปฏิบัติของแต่ละหน่วยงานนั้นๆ

วัตถุประสงค์ของปฏิบัติการข่าวสารได้แก่ เพื่อการส่งอิทธิพลต่อพฤติกรรมของผู้รับสาร (Audience) ที่เป็นเป้าหมาย โดยเปลี่ยนความสามารถในการตัดสินใจ ขณะที่ป้องกันความสามารถในหมู่มิตรให้ตัดสินใจอย่างเหมาะสม

ปฏิบัติการข่าวสารแม้ว่าอยู่ในกลุ่ม "อำนาจอ่อน" หรือไม่เคลื่อนไหว แต่ปฏิบัติการข่าววสารยังรวมถึงการโจมตีทางกายภาพต่อระบบข่าวสารของฝ่ายปรปักษ์ หรือกระทำโดยตรงต่อผู้มีอำนาจตัดสินใจ เช่น ดักทำร้ายวงจรตัดสินใจของปรปักษ์ประกอบด้วย การสังเกต การรับรู้ การตัดสินใจ และการกระทำ แล้วหมุนรอบเป็นรอบใหม่ซ้ำอีก การลดทอนความสามารถของฝ่ายปรปักษ์ในการตัดสินใจอย่างทันกาลและมีประสิทธิภาพจะลดพลังในการปฏิบัติและการตอบโต้ต่อปฏิบัติการทางทหารของฝ่ายมิตร

ปฏิบัติการข่าวสารยังต้องคุ้มครองป้องกันข่าวสารและระบบข่าวสารของฝ่ายที่เป็นมิตรไม่ให้ต้องอ่อนลง หรือสะดุด เพราะว่าสหรัฐก็ต้องการระบบข่าวสารของพันธมิตรของตนด้วย

ปฏิบัติการข่าวสารที่จะให้บังเกิดผลสูง จำต้องเข้าใจทฤษฎีการสื่อสาร หรือความสัมพันธ์ระหว่างการสื่อสารและสิ่งแวดล้อมข่าวสาร (Information Environment) การสื่อสารนั้นเกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อมทางข่าวสารที่แน่นอน ซึ่งอาจจำแนกได้เป็น 3 มิติด้วยกัน ได้แก่

ก) การเชื่อมต่อ (Connectivity) หมายถึงการเชื่อมทางกายภาพหรือทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทำให้ข่าวสามารถเลื่อนไหลไปได้ การเชื่อมต่อนี้ยังรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ไม่ต้องอาศัยเทคนิค อย่างที่เราพบปะพูดคุยกันในชีวิตประจำวัน

ข) เนื้อหา (Content) ประกอบด้วยถ้อยคำ ภาพ ฐานข้อมูล ฯลฯ ที่บรรจุข่าวสารไว้ เนื้อหายังหมายถึงการกระทำหรือไม่กระทำที่แสดงความหมายที่แน่นอน มิติของสิ่งแวดล้อมข่าวสารนี้จะเป็นการต่อเชื่อมโลกที่เป็นจริงทางวัตถุ กับจิตสำนึกของมนุษย์ในการรับรู้ เป็นทั้งแหล่งป้อนเข้า ได้แก่ แรงกระตุ้นและการสัมผัส และส่งทอดสิ่งนำออก (Output) ได้แก่ เจตนา แนวทาง การตัดสินใจ เป็นต้น

ค) การรู้ (Cognitive) เป็นมิติที่เกิดขึ้นในใจ เป็นที่ซึ่งบุคคลประมวลผลข่าวสารที่ได้รับตามชุดความเข้าใจ (Perception) เช่น การตีความ หรือตามทัศนะที่มองเห็นโลก หรือตามความเชื่อ ทั้งความเข้าใจ ทัศนะและความเชื่อนี้เป็นเหมือนหน้าต่างในการกรองข่าวสาร เพื่อสร้างความหมายและเนื้อหาหรือบริบทขึ้น มิติการรู้นี้ไม่สามารถโจมตีได้โดยตรง (เว้นแต่ใช้ยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท) แต่จะต้องโจมตีทางอ้อมผ่านโลกทางกายภาพและมิติทางข่าวสาร

ปฏิบัติการข่าวสารมุ่งก่อผลสะเทือนทั้ง 3 มิติดังกล่าว


และเพื่อให้ปฏิบัติการข่าวสารให้ละเอียดขึ้น ได้มีผู้สร้างตัวแบบ (Model) ว่าปัจจัยต่างๆ มีส่วนกำหนดข่าวสารในกระบวนการสื่อสารอย่างไร โดยแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน

ขั้นตอนแรก ได้แก่ แหล่งกำเนิดข่าวสาร ซึ่งจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับปัจจัยเหล่านี้คือ ทักษะในการสื่อสาร, ท่าทีทัศนคติ, ความรู้, ระบบสังคม และวัฒนธรรม เมื่อผ่านปัจจัยดังกล่าวก็มีการใส่รหัส (Encode) ส่งออกสู่ขั้นที่ 2 เรียกว่า สาร (Message) ซึ่งจะประกอบด้วยเนื้อหา, องค์ประกอบ (Element), การเรียบลำดับเนื้อหา (Treatment), โครงสร้าง, และรหัส

ข่าวสารนี้จะผ่านขั้นที่ 3 คือ ช่องสัญญาณหรือแชนเนล ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากตั้งแต่แผ่นป้ายจนถึงแผ่นซีดี ทั้งหมดก็ต้องผ่านสัมผัสของมนุษย์ ได้แก่ การได้ยิน การเห็น การสัมผัส การได้กลิ่นและการรับรู้รส จากนั้นก็เข้าสู่การถอดรหัส (Decode) สู่ขั้นที่ 4 คือผู้รับสาร (Receiver) ซึ่งจะได้สารอย่างไรก็ย่อมขึ้นกับเหตุปัจจัยเหล่านี้ได้แก่ ทักษะในการสื่อสาร, ท่าทีทัศนะคติ, ความรู้, ระบบสังคม, วัฒนธรรม

เมื่อมีทักษะความรู้ในเรื่องดังกล่าวข้างต้นแล้ว การทำสงครามข่าวสารก็จะมีทิศทางและประสิทธิผลมากขึ้น (ดูเอกสารชื่อ Information Operation Primer ของ U.S. Army War College, พ.ย. 2011)

ในบางตำรากล่าวถึงสงครามข่าวสารที่ง่ายขึ้นโดยชี้ว่า ข่าวสารไม่ใช่หน่วยหรือองค์รวม แต่เป็นปฏิบัติการ ทั้งมีประโยชน์และอันตรายถึงตาย โดยพื้นฐานถือว่าสงครามข่าวสารมีปฏิบัติอยู่ 4 กลุ่ม ได้แก่

ก) การปฏิเสธข่าวสาร ปิดบัง หรือซ่อนเร้น

ข) การหลอกหลวงและลอกเลียน (Deception and Mimicry) การจงใจใส่ข่าวสารที่ชวนให้เข้าใจผิด

ค) การแตกแยกและการทำลาย (Disruption and Destruction) การใส่ข่าวสารที่สร้างการรวนเรในระบบสื่อสารของคู่แข่ง เป็นการทำลายระบบนั้น

ง) บ่อนทำลาย (Subversion) ใส่ข่าวสารที่จะสร้างกระบวนการทำลายตนเองในระบบที่เป็นเป้าหมายของคู่แข่ง (ดูบทความของ Carlo Kopp ชื่อ Information Warfare ใน ausairpower.net, 2000 อัพเดตปี 2005)



สงครามข่าวสารในปัจจุบัน

สงครามข่าวสารในปัจจุบันอาจเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

ก) สงครามข่าวสารระหว่างประเทศที่มีอยู่หลายคู่ด้วยกัน คู่แรกเป็นระหว่างประเทศใหญ่หรือกลุ่มทุนระดับโลกด้วยกัน คู่ที่สองระหว่างประเทศมหาอำนาจโดยเฉพาะกลุ่มสหรัฐ-นาโต้กระทำต่อประเทศกำลังพัฒนาที่มีขนาดเล็กกว่า คู่ที่สาม ได้แก่ ระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน การต่อสู้เหล่านี้กระทำกันอย่างสลับซับซ้อนและใช้เทคโนโลยีระดับสูงเท่าที่แต่ละประเทศจะหาได้ เพื่อแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ พื้นที่หรือจุดยุทธศาสตร์ และครอบงำตลาดการค้าการลงทุน

ในปฏิบัติการนี้ กลุ่มสหรัฐ-นาโต้นับว่าเข้มแข็งที่สุด สามารถแผ่อิทธิพลครอบงำไปทั่วโลก โดยมีพันธมิตร เช่น อิสราเอล ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นต้น

ที่ขึ้นมาเทียบชั้นได้บ้าง ได้แก่ กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ นั่นคือ แกนจีน-รัสเซีย จีนเป็นประเทศที่ตะวันตกจับตาว่าจะก้าวขึ้นสู่ฐานะอภิมหาอำนาจได้ ส่วนรัสเซียเคยมีฐานะเป็นอภิมหาอำนาจโลกแล้ว ทั้ง 2 ประเทศได้พัฒนาปรัชญา องค์ประกอบและยุทธศาสตร์สงครามข่าวสารและปฏิบัติการข่าวสารของตนขึ้นมาเองที่แตกต่างจากของสหรัฐที่กล่าวถึงแล้ว ประเทศตลาดเกิดใหม่อื่น ได้แก่ อินเดีย และบราซิล เป็นต้น

ข) สงครามข่าวสารระหว่างชนชั้นนำกับมวลชนรากหญ้าที่มีการตื่นตัวทางการเมืองทั่วโลก เป็นสงครามที่มีความสลับซับซ้อนมากเช่นกัน เกิดการต่อสู้ระหว่างสื่อกระแสหลักกับสื่อทางเลือก เช่น ที่สหรัฐมีวารสารที่มีชื่อเสียงคือ The Wall Street Journal เป็นสื่อกระแสหลัก ก็มีสื่อทางเลือกชื่อ The Occupied Wall Street Journal การต่อสู้ยังขยายไปตามสื่อสังคมออนไลน์ อย่างเช่น เฟซบุ๊ก และ ทวิตเตอร์ เป็นต้น

ในประเทศไทยสงครามข่าวสารนับว่าได้มีการพัฒนาไปมาก จนกระทั้งเกิดการเลือกข้างแบ่งฝ่ายเป็นสื่ออำมาตย์กับสื่อเสื้อแดงค่อนข้างชัดเจน ซึ่งทั้งหมดสะท้อนความแตกแยกทางการเมือง ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างสูง

สงครามข่าวสารที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกนี้ ได้มีการพัฒนายกระดับขึ้นไปโดยตลอด ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงละเอียดลออขึ้นทุกที จนถึงขั้นคิดเรื่องสงครามพลังจิต (Mind War) และสงครามควบคุมจิตขึ้น

แสดงว่ามนุษย์ไม่เคยเหนื่อยหน่ายในการหาวิธีที่ฆ่าฟันหรือเอาชนะคะคานกันเลย

การหลีกเลี่ยงการแตกหักของสงครามทางกายภาพจึงเป็นไปได้ยาก แต่ก็ยังมีค่าที่จะเพียรพยายามดู



.