http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-02

มุกดา: วงจรชิงอำนาจ ยังอยู่ แต่วงปรองดองล่มแล้ว การปะทะแตกหักจะตามมา

.

วงจรชิงอำนาจ ยังอยู่ แต่วงปรองดองล่มแล้ว การปะทะแตกหักจะตามมา
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลา กลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1650 หน้า 20


ฉบับที่แล้วเพิ่งเขียนไปว่ายังไม่มีปรองดอง แต่ไม่คิดว่า วงจะแตกเร็วขนาดนี้
แต่ไม่ต้องไปโทษใครเพราะนี่เป็นการเดินแต้มการเมือง

คนที่อยากชิงอำนาจจะพยายามดิ้นเพื่อต่อวงจรสุดชีวิต การแก้ปัญหา ในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกลุ่มอำนาจเก่าได้สร้างนวัตกรรมของการชิงอำนาจให้แก้ไขยากขึ้น
แต่ไม่มีใครหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงได้ มันจะเปลี่ยนไปตามปัจจัยแวดล้อมที่คนสร้างขึ้นมา
ขอทุกฝ่ายตั้งรับกันให้ดีก็แล้วกัน



ความซับซ้อนของวงจรชิงอำนาจยุคใหม่

การรัฐประหารยุคก่อนเราจะเห็นมีทหารเป็นหลัก มีนักกฎหมายร่วมมือบ้าง ทำสำเร็จก็ปกครองบ้านเมืองต่อไป

แต่ยุคใหม่ทำแล้วต้องไปหาคนภาพพจน์ดีมาเป็นนายกฯ ต้องสร้างแนวร่วม ดึงนักกฎหมาย ดึงศาล นักวิชาการมาเป็นพวก ผลประโยชน์ก็จะถูกแบ่งปัน ถูกหว่านโปรย ไปให้จิกกินกันอย่างทั่วถึง องค์กรที่สร้างขึ้นมา ปกป้องและสนับสนุนอำนาจจากรัฐประหารจึงมีมากมาย และตั้งอยู่บนฐานทางกฎหมายที่ร่างขึ้นมาใหม่

การรัฐประหาร 2549 และตุลาการภิวัฒน์ตลอด 6 ปีที่ผ่านมา บทบาทขององค์กรอิสระ บทบาทของนักวิชาการล้วนแล้วแต่อยู่ในวงจรอำนาจที่คณะรัฐประหารวางหมากไว้แล้ว


ย้อนดู การชิงอำนาจ ครั้งแรก
รัฐประหาร 19 กันยายน 2549

พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน อ้างว่าที่ทำการรัฐประหารเพื่อหยุดการแตกแยกของสังคมไทยและกำจัดรัฐบาลทุนนิยมที่โกงกิน เราต้องยอมถอย หนึ่งก้าวเพื่อให้บ้านเมืองก้าวต่อไปในทิศทางที่ดีกว่าเดิม ถอยหนึ่งก้าวเพื่อข้ามความขัดแย้งไปสู่การปรองดอง ถอยหนึ่งก้าวเพื่อให้การเมืองไทยก้าวไปสู่ธรรมาภิบาล มีรัฐบาลที่ซื่อสัตย์ มีนักการเมืองที่มีคุณภาพ และคุณธรรม (รวมแล้วถอยไป 3 ก้าว)

หลังจากนั้น ก็เดินตามแผนบันได 4 ขั้นคือ

ขั้นที่ 1 รัฐประหารโค่น ทักษิณ ชินวัตร ยึดอำนาจรัฐไว้ ผลักดันทักษิณให้ออกนอกประเทศ

ขั้นที่ 2 ยึดทรัพย์ทักษิณเพื่อตัดกำลังเงินและดำเนินคดีเพื่อไม่ให้ทักษิณกลับมาเล่นการเมือง

ขั้นที่ 3 ยุบพรรคไทยรักไทย ห้ามกรรมการบริหารและนักการเมืองเล่นการเมือง 5 ปี เพื่อตัดกำลังคน และสลายองค์กร รอรับนักการเมืองที่เปลี่ยนขั้ว

ขั้นที่ 4 ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เลือกตั้งใหม่เพื่อให้ได้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง ที่เป็นฝ่ายคณะรัฐประหาร

แผนบันไดสี่ขั้นทำไปได้สามขั้นกว่าๆ พอถึงขั้นที่ 4 มีการเลือกตั้งใหม่ พรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบไป เปลี่ยนชื่อเป็นพลังประชาชน นักการเมืองตัวเก่งของพรรคถูกตัดชื่อทางการเมืองไป 111 คน ฝ่ายคณะรัฐประหารกุมอำนาจหมดทุกด้านและสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาเป็นคู่แข่ง

แต่พรรคทักษิณในชื่อของพรรคพลังประชาชนกลับชนะการเลือกตั้ง
ถ้าเปรียบเป็นมวยก็เหมือนคนที่ถูกมัดมือไว้ข้างหลังแต่เอาชนะคู่แข่งได้
แต่การรัฐประหารก็ทำประเทศถอยหลังไป 3 ก้าว เมื่อบันไดขั้นที่ 4 ไม่สำเร็จ การชิงอำนาจครั้งที่สองจึงต้องเกิดขึ้น


การชิงอำนาจ ครั้งที่สอง
ตุลาการภิวัฒน์ กันยายน 2551

นี่เป็นนวัตกรรมใหม่ของการเมือง ในประวัติศาสตร์การเมืองของเราทั่วไปแล้วจะไม่เห็นอำนาจตุลาการมายุ่งกับการเมืองเพราะต้องการให้เป็นสถาบันที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นกลาง ให้คนยอมรับนับถือ

เมื่อไปค้นความเป็นมาจึงพบว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนหน้าการรัฐประหารไม่นานนัก อาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ได้กล่าวถึงแนวคิดนี้ ซึ่งบังเอิญเกี่ยวข้อง กับ ศ. (วิธีพิเศษ) ธีรยุทธ บุญมี

เดือนสิงหาคม พ.ศ.2549 ธีรยุทธ ได้เสนอเรื่อง ตุลาการภิวัฒน์ ให้ศาลเข้ามาแทรกแซงทางการเมือง โดยให้เหตุผลว่า ผู้พิพากษาทั้งหลายเป็นคนดี ตัดสินอรรถคดีด้วยบรรทัดฐานและดุลพินิจที่ดี และเน้นหลักความเป็นธรรม จึงควรให้ตุลาการเข้ามาจัดการกับนักการเมืองทุจริต และเพื่อป้องกันมิให้รัฐใช้อำนาจมากเกินไป

ปรากฏว่า หลังจากรัฐประหาร กันยายน พ.ศ.2549 ข้อเสนอของเขาก็เป็นจริง เพราะพวกตุลาการทั้งหลายได้รับโอกาสให้เข้ามาแทรกแซงทางการเมืองได้เต็มที่

ต่อมาธีรยุทธก็ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า เป็นการ "เพิ่มพื้นที่แห่งความยุติธรรมในสังคมไทยให้กว้างขวางขึ้น"

สรุปได้ว่า ธีรยุทธ บุญมี เห็นว่า อำนาจตุลาการป็นพลังในการแก้ปัญหาของสังคมไทย

แต่ข้อเท็จจริงในระยะ 5 ปีมานี้ ไม่ได้พิสูจน์เลยว่า ข้อเสนอเรื่องตุลาการภิวัฒน์ถูกต้อง กลับกลายเป็นว่า พวกผู้พิพากษาเหล่านี้ เริ่มต้นด้วยการยอมรับความชอบธรรมของการรัฐประหาร นำเอากฎหมายรัฐประหารมาใช้เป็นหลักในการตัดสินอรรถคดี ได้เงินเดือนสูงขึ้น ได้ต่ออายุราชการจนถึง 70 ปี

ในที่สุด ตุลาการภิวัฒน์แทนที่จะเป็นแนวทางแก้ปัญหา กลับกลายเป็นเครื่องมือและสร้างปัญหาทางการเมือง

ผลก็คือเกิดความวุ่นวาย ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ รวมทั้งองค์กรอิสระ มีการฟ้องร้อง ถอดถอน จับขังคุก เปิดคลิปแฉ

ทีมวิเคราะห์สรุปว่าตุลาการภิวัฒน์น่าจะเป็นนวัตกรรมที่สร้างความเสียหายมากที่สุดทั้งวงการเมืองและวงการตุลาการในรอบ 80 ปี



ผลของการยึดอำนาจ 2 ครั้ง
คือถอยหลังลงคลอง

ในที่สุดแผนบันไดสี่ขั้นก็สำเร็จ แต่ไม่ใช่บันไดขึ้นบ้าน เป็นบันไดที่ท่าน้ำสำหรับลงคลองพอถอยลงไปก็จมโคลนอยู่ตรงนั้น
มีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลได้ มีการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร เหมือนกับเป็นการประกาศให้คนทั่วไปรู้ว่ารัฐบาลเทพประทานมาจากไหน ใครสนับสนุน

หลังจากการปกครองสองปี ถ้ารวมรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารที่ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯ รวมเวลาประมาณ 3 ปี ประชาชนจึงพบว่า การยอมถอยสามก้าวเพื่อหวังจะก้าวไปข้างหน้าพบสิ่งที่ดีกว่ากลับไม่เป็นไปตามนั้น
สังคมไทยยิ่งแตกแยกกว่าเดิม ไม่มีการปรองดอง มีสีเสื้อเหมือนแข่งกีฬาสี มีการฆ่ากันกลางเมือง
ความหวังที่จะเห็นความสุจริตไม่มีคอร์รัปชั่นก็รู้สึกว่าจะเป็นไปไม่ได้ โกงกินกันอย่างมูมมาม ทั้งรถไฟ รถเกราะ เรือเหาะ สารพัดโครงการตั้งแต่สิบล้านยันแสนล้าน

สภาพของนักการเมืองก็ไม่ได้เปลี่ยนไป มาตรฐานความยุติธรรมก็ไม่มี
นักวิชาการก็แบ่งค่ายกันตามแนวคิดและผลประโยชน์
ถ้าบ้านเมืองยังอยู่ในวงจรชิงอำนาจแบบนี้ เราจะพบกับความพินาศ



ใครอยู่เบื้องหลัง?

วันนี้จึงมีคำถามของประชาชนซึ่งต้องการคำตอบมีหลายคำถาม คำถามแรกเหมือนกับที่ "เสธ.หนั่น" พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ถาม ใครอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร 2549 ?

คำถามที่สอง ใครอยู่เบื้องหลัง ตุลาการภิวัฒน์ ?

คำถามที่สาม ใครอยู่เบื้องหลังการสั่งปราบประชาชนด้วยกำลังทหารติดอาวุธ 2553?

คำถามข้อแรก พลเอกสนธิก็เผลอตอบมาแบบอ้อมๆ ว่า แม้ตายก็ตอบไม่ได้
คำถามข้อที่ 2 เคยมีผู้นำคลิปในวงการตุลาการ มาออกอากาศอยู่ช่วงหนึ่ง คงต้องเดาเอาเอง ว่ามีใคร เกี่ยวข้องบ้าง
คำถามข้อที่ 3 เป็นเรื่องที่ผู้คนพยายามคาดเดากันจนถึงทุกวันนี้ ว่าทำไมนักเรียนนอกอย่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงกล้าสั่งทหารติดอาวุธสลายการชุมนุมของประชาชน และเหตุการณ์นั้นไม่ใช่อุบัติเหตุ เกิดขึ้นตั้งแต่ 10 เมษายน 2553 และยาวนานจนถึง 19 พฤษภาคม ทีมวิเคราะห์ มั่นใจว่า นายกฯ อภิสิทธิ์ ในขณะนั้น มิได้มีจิตใจ เหี้ยมหาญดุเดือด จนกล้าสั่งการเอง การเข้าไปเก็บตัวอยู่ในค่ายทหารตลอดเหตุการณ์เป็นข้อพิสูจน์ แต่เรื่องแบบนี้มีแต่คนใกล้ชิดในกรมทหารราบที่ 11 เท่านั้นที่จะรู้ว่าเกี่ยวพันกับใครบ้าง

ทั้ง 3 ข้อ อาจมีเพียงคำตอบที่มีชื่อของคนกลุ่มเดียว แต่รู้แล้วจะแก้ไขอย่างไร?

ถ้าจะปรองดองและถือหลักว่า ต้องนำข้อเท็จจริงมาเปิดเผย แต่การเปิดเผยคือการประจานเพราะหลังการรัฐประหาร บ้านเมืองตกต่ำลงทุกด้าน ไม่เหมือนกับคำที่กล่าวอ้าง ไม่รู้ว่าเสธ.หนั่น คิดอะไร แต่ข้อเสนอนี้จะทำให้วงแตก เพราะกลุ่มอำนาจเก่าจะถูกประจานจนล่อนจ้อน

พลเอกสนธิจึงต้องออกมาร้องเพลง "โปรดอย่าถาม..."



แนวทางและโอกาสแก้ปัญหา

ถ้าดูจากข่าวตอนนี้จะรู้สึกสับสน เพราะความต้องการของแต่ละกลุ่มไม่เหมือนกัน ดูแล้วมีแต่ปัญหา

- 25 มีนาคม 2555 กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลจัดกิจกรรมเสวนาบาทวิถี "ปรองดองบนความอยุติธรรม...ทำเพื่อใคร?" ข้อเสนอเรื่องการนิรโทษกรรมของสถาบันพระปกเกล้าบางข้อเป็นการนิรโทษกรรมให้กับคนที่ยิงประชาชนเมื่อ 2 ปี ก่อนด้วย ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับการนิรโทษกรรมหลัง 6 ตุลาคม 2519 และพฤษภาคม 2535

การนิรโทษกรรมหลัง 6 ตุลาคม 2519 เป็นการตัดตอนไม่ให้มีการสืบสวนไปถึงคนสั่งฆ่า ปัจจุบันนี้ก็เช่นเดียวกัน ดังนั้น การปรองดองจึงเป็นคำพูดสวยหรู เป็นการริเริ่มของฝ่ายอำมาตย์ เพื่อให้เรายอมรับว่าตายฟรี ว่าเผาบ้านเผาเมือง ว่าไม่เอาผิดผู้สั่งฆ่า ให้เรายอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งตนเองไม่เห็นด้วย การปรองดองต้องเกิดขึ้นเมื่อความจริงปรากฏแล้ว คนสั่งยิงต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก่อน

- "การที่นายอภิสิทธิ์เสนอให้นำข้อเท็จจริงในชั้นศาลมาเป็นข้อเท็จจริงของสังคม แสดงว่านายอภิสิทธิ์ไม่รู้เลยว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมมีปัญหา และเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งในปัจจุบัน ดังนั้น การปรองดองจะไม่เกิดขึ้น ถ้าไม่มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และไม่จริงใจพูดเรื่องนักโทษการเมือง"

- อ.สุธาชัยกล่าวสรุปว่า การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดความปรองดองจึงเป็นเรื่องใหญ่ แต่รัฐบาลนี้ก็คงทำอะไรไม่ได้ เพราะเกรงใจอำมาตย์ ศาล และกองทัพ

- หลังจบเสวนา ผู้เข้าร่วมเวทีกว่า 50 คน ร่วมกันกล่าวคำปฏิญญา "สังคมไทยจะปรองดองต้องเอาคนผิดติดคุก ผู้บริสุทธิ์ต้องถูกปล่อยตัว"

- พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เห็นว่าการออก พ.ร.บ. นิรโทษกรรมจะช่วยให้ระบบยุติธรรมของไทยดีขึ้น เพราะจะไม่นำเอาปัญหาการเมืองที่เกิดจากระบอบการรัฐสภาและเผด็จการรัฐประหารมาแก้ไขระบบยุติธรรมของศาล นอกจากจะแก้ไขปัญหาไม่ได้กลับทำให้ปัญหาบานปลายมากขึ้น การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะทำให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ โดยเชื่อว่าการใช้นโยบาย 66/23 สร้างประชาธิปไตยในอดีต จะเป็นทางออกสูงสุดของชาติ โดยนิรโทษกรรมอย่างไม่มีเงื่อนไข ช่วยให้เกิดความปรองดองและความสามัคคีในชาติได้อย่างแท้จริง

- 9 ส.ส ปชป. ถอนตัวจากกรรมาธิการปรองดอง



ความเป็นไปได้
ของสถานการณ์ใน 2-3 ปีนี้

ที่จริงแล้ว แผนชิงอำนาจสองชั้นของกลุ่มอำนาจเก่าต้องถือว่ายอดเยี่ยม เพียงแต่คนวางแผนไม่คิดว่าจะเกิดคนเสื้อแดงขึ้นมากมายขนาดนี้และการคัดเลือกตัวแทนที่เป็นพรรค ปชป. มาแข่ง มันไม่เหมาะกับโลกที่กำลังเปลี่ยนเร็ว

วันนี้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ยึดบท นางเอกที่ทรหดอดทน ต่อสู้กับ ผู้ร้ายและตัวอิจฉา โดยมีพวกเสื้อแดงเป็นตัวช่วย

เมื่ออีกฝ่ายกางตาข่ายดักไว้ทุกทิศทาง ไม่มีทางออกอื่นใด สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตคือการทลายตาข่าย นั่นหมายถึงเกมจะแรงขึ้น แรงขึ้น ฝ่ายอำนาจเก่าดูแล้วไม่ยอมถอยง่ายๆ กำลังของคนเสื้อแดงก็จะเพิ่มเท่ากับแรงกดและแรงต้าน การเล่นงาน จตุพร พรหมพันธุ์ เล่นงานคนเสื้อแดง ล้วนเป็นปุ๋ยชั้นดี

คำว่าปรองดอง เป็นเพียงแนวทางที่จะใช้หลัง การปะทะแตกหัก นี่คือวิธีแก้ไขที่มีโอกาสเกิดสูงสุดใน 2-3 ปีนี้

นักวิเคราะห์อาวุโสกล่าวว่า การชิงอำนาจครั้งนี้มีคนเกี่ยวข้องมากมาย ทุกชนชั้น การต่อสู้ยืดเยื้อนาน เกินกว่า 7 ปีแล้ว ต่อสู้จนคนดูก็แบ่งข้างแล้ว เป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นความลับ และไม่มีใครจะฟอกบาปอันนี้ได้ มันเป็นกรรมที่ต้องชดใช้ พวกที่ถูกล่าสังหารจนต้องหนีตายเมื่อสามสิบกว่าปีที่แล้ว กลับมาและแยกเป็นสองพวก เข้าร่วมกับชนชั้นที่อยากได้อำนาจปกครอง ทั้งศัตรูและมิตรเก่าจึงห้ำหั่นกันจนพินาศย่อยยับ

ถึงวันนี้ไม่มีใครต้องการคำอธิบายเพิ่มเติมของพลเอกสนธิ แต่พวกที่แม้ตายก็ไม่ลืม กำลังต้องการรายละเอียดของทุกเหตุการณ์จากพยานคนอื่นๆ โดยเฉพาะการสังหารประชาชนในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 เพื่อหาคนผิด

รัฐบาลชุดนี้อาจจะขัดแย้งกับคนเสื้อแดง ถ้าเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมโดยไม่แยกแยะให้ดี แต่การปรองดองโดยไม่มีนิรโทษกรรมไม่น่าจะทำได้ วันนี้ยังบอกไม่ได้ว่าใครจะร้องขอ ยานิรโทษกรรมก่อนกัน

แต่ต้องจำไว้ว่าถ้าจะลงโทษคนทำผิดจากความขัดแย้งทางการเมือง มีแต่คนชนะลงโทษคนแพ้ ถ้าเสมอกันก็ต้องกลืนเลือดและความแค้นลงท้องไป



.