http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-22

พระพิฆเนศ : การกลับมาของช้างไพร่พื้นเมือง เทพแห่งศิลปวิทยาการผู้โปรดปราน "สีแดง" โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์


.

บทความของปี 2553

พระพิฆเนศ : การกลับมาของช้างไพร่พื้นเมือง เทพแห่งศิลปวิทยาการผู้โปรดปราน "สีแดง"
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1585 หน้า 75


เทศกาลคริสต์มาสเพิ่งผ่านไปหยกๆ ชวนให้นึกถึง Santa Cross นักบุญของคนยาก ดูๆ แล้วไม่ต่างอะไรไปจากพระพิฆเนศ เทพของไพร่สักเท่าใดนัก 
ละม้ายกันทั้งความใจดี น่ารัก หุ่นอ้วนพุงพลุ้ย เป็นขวัญใจของเด็กๆ ข้อสำคัญ ทั้งคู่ต่างมีใบหน้าแดงระเรื่อ
และสวมอาภรณ์ "สีแดง" ประดับกายเป็นสัญลักษณ์เหมือนกัน


พระพิฆเนศเกิดขึ้นได้อย่างไร 
เป็นลูกเต้าเหล่าใครหรือ?

ตํานานพื้นเมืองของชาวทมิฬกล่าวว่า พระพิฆเนศเกิดขึ้นก่อนมหาเทพทั้งหมด เพราะช้างคือเจ้าป่าเป็นสัตว์พื้นถิ่นในแถบเอเชีย พระพิฆเนศย่อมเป็นผู้สร้างพระพรหม พระนารายณ์ (วิษณุ) และพระอิศวร (ศิวะ) 
แต่คัมภีร์ของชาวฮินดูในยุคหลังกลับบอกว่าพระพิฆเนศ เป็นลูกของ "พระอิศวร"

"ไมเคิล ไรท" ผู้เชี่ยวชาญด้านทมิฬและลังกาศึกษา ชี้ให้เห็นถึงประเด็นการบูชาช้างของคนพื้นเมืองในแถบอินเดียและอุษาคเนย์ ว่าเป็นหนึ่งในลัทธิ Animism ที่มีมานานนับหมื่นปี

ดังนั้น การบูชาเทพเจ้าช้างย่อมเกิดขึ้นก่อนที่จะมีศาสนาพราหมณ์ เพียงแต่ว่าภายหลังได้ถูกนำไปผนวกเป็นเทพบริวารองค์หนึ่ง เมื่อลัทธิ "ตรีมูรติ" หรือการบูชามหาเทพสามองค์เป็นใหญ่ (พระพรหม-ผู้สร้าง พระนารายณ์-ผู้รักษา และพระอิศวร-ผู้ทำลาย) เข้ามามีบทบาท
"เทพเจ้าช้าง" ผู้ยิ่งใหญ่ของคนพื้นเมืองเชือกแรกได้ถูกจับไปเป็นพาหนะของพระอินทร์-เทพผู้รักษาทิศตะวันออก ตั้งชื่อให้ว่า "เอราวัณ" หรือ "ไอยราวรรต" ส่วนช้างอีกเชือกก็ถูกนำมาสถาปนาใหม่ ให้มีฐานะเป็นเพียงโอรสที่ชอบแต่งบทกวีของพระอิศวรเท่านั้น

ทั้งหมดนี้ เป็นการประกาศชัยชนะของชาวอารยัน (แท้จริง เป็นชนเผ่าเลี้ยงสัตว์เร่ร่อนที่เข้ามารุกรานคนพื้นถิ่น) เหนือชาวทมิฬ ด้วยการกลืนความเชื่อเรื่องช้างของคนพื้นเมืองให้มาอยู่ภายใต้อาณัติของศาสนาพราหมณ์



ตำนานพิสดารพันลึก
การกำเนิดพระคเณศกับ "ปมปิตุริษยา"
"ลูกฆ่าพ่อ-พ่อฆ่าลูก"?

ขณะที่นางอุมาเทวี หรืออีกชื่อคือ "ปารพตี" ผู้เป็นชายาของพระอิศวร กำลังอาบน้ำขัดสีฉวีวรรณอยู่นั้น ได้นำคราบไคลมาปั้นเป็นกุมารน้อยวัยกำดัดได้องค์หนึ่ง

อืมม์! ชวนให้นึกถึงสมัยเรียนวิชาประติมาณวิทยาในศาสนาฮินดูกับท่านศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ที่คณะโบราณคดีเสียจริง ท่านอาจารย์ได้แซวให้พวกเราฟังว่า
"เห็นทีพระนางปารพตีจะเสวยโรตีมากเป็นพิเศษหรือว่าอาบน้ำเดือนละหนกระมัง?"

พระนางมีบัญชาให้เทวบุตรน้อยไปเฝ้าพระทวารไว้ อย่าให้ชายใดเข้ามาในห้องสรงเด็ดขาด ครั้นเมื่อพระอิศวรกลับมาจากบำเพ็ญพรต ณ หิมาลัย ได้พบเด็กหนุ่มหน้าห้องนางอุมาพลันบังเกิดความหึงหวง ยิ่งเมื่อเด็กนั้นห้ามไม่ให้เข้าไปข้างในก็ยิ่งเคืองแค้น เกิดการสู้รบฆ่าเด็กเศียรขาดกระเด็น

นางอุมาออกมาจากห้องสรงน้ำ รีบระล่ำระลักอธิบายความแก่พระสวามีว่ามานพน้อยผู้นี้มิใช่ชู้หรือกิ๊ก
"หากแต่เป็นลูกที่เกิดจากน้ำกามแห่งสองเรา ที่ได้ร่วมรักเสพสังวาสแล้วฝังคราบไคลอยู่ตามเนื้อกายของหม่อมฉันต่างหาก"
พระอิศวรถึงกับสลดพระทัย ประกาศแก่เทพบริวารว่า ขอให้ช่วยกันค้นหาศพใครก็ได้ที่เพิ่งตายหมาดๆ เป็นศพแรก รีบตัดเศียรมาด่วนที่สุด ปรากฏว่าได้มีผู้พบศพช้างจึงนำมาต่อกับร่างมานพน้อย ปลุกให้ฟื้นคืนชีพ แล้วพระอิศวรก็ทรงรับเด็กที่มีหัวช้างเป็นบุตรของพระองค์

หลังจากที่ "พ่อฆ่าลูก" แล้ว เกิดสำนึกผิดจึงล้างบาปด้วยการประทานพรให้ลูกเป็น "เทพแห่งการกำจัดอุปสรรค"
ช่างพ้องจองกับเทพปกรณัมกรีกอีกเรื่องหนึ่ง ที่พ่อคือเทพแห่งแสงสว่างหรือ "ยูเรนัส" (Uranus) ได้ทำการประหารลูกทั้งสิบสองโดยเหวี่ยงขว้างให้ไปอยู่ใต้ท้องทะเล ด้วยความหึงหวงชายา ทว่า เทพีเรอา (Rhea) กลับแอบซ่อนโอรสไว้องค์หนึ่งชื่อว่า "ซีอุส" หรือซุส (Zeus)
เมื่อซุสโตเป็นหนุ่มได้กบฏต่อบิดาด้วยการปลดปล่อยพี่น้องทั้งหมดออกจากบาดาล จนยูเรนัสจำต้องยอมประทานพรให้ซุสเป็นเทพแห่งการพิชิตอุปสรรค?

"ซิกมันด์ ฟรอยด์" นักทฤษฎีแนวจิตวิเคราะห์ เรียกปม "ปิตุริษยา" นี้ว่า "ปมออดิปุส" (Oedipus Complex) อันเป็นปมขัดแย้งต่อสู้แย่งชิงความรักของทารกชายหรือหญิงช่วงอายุ 3-5 ขวบ จากพ่อหรือแม่ที่เป็นเพศตรงข้าม
กรณีพระคเณศนี้ พ่อกับลูกชายต่างก็มีความปรารถนาในตัว "อุมาเทวี" ด้วยกันทั้งคู่ ว่าไปแล้ว นางอุมาเทวีและเทพีเรอาต่างก็อยู่ในฐานะ "แม่" และ "เมีย" ส่วนพระคเณศและซุสเป็นสัญลักษณ์ของลูกชายทุกคนที่ติดแม่ ต้องต่อสู้กับพ่อเพื่อให้พ้นจากความเป็น "ลูกแหง่" หากมนุษย์ก้าวข้ามพ้นจุดนี้ได้ก็จะเติบโตเป็นชายชาตรีที่สมบูรณ์ 


"คเณศ" "คเณศวร์" "พิฆเนศ" หรือ "พิฆเนศวร"
สะกดอย่างไรแน่?

ตกลงเทพเจ้าองค์นี้เขียนอย่างไรจึงจะถูก คำตอบก็คือ ชื่อที่เขียนมาข้างบนนั้นถูกทุกข้อ เพราะเทพองค์นี้สามารถ "เขียน" และ "เรียก" ได้หลายชื่อ

- "คเณศ" "คเณศวร" (หรือจะใส่การันต์พยางค์สุดท้ายเป็น "คเณศวร์" ก็ได้) เป็นชื่อที่ฮิตที่สุด มาจาก "คณะ" (เหล่าบริวารของพระศิวะ) + "อิศ" หรือ "อิศวร" (ผู้เป็นใหญ่) หมายถึงผู้เป็นใหญ่หรือผู้เป็นหัวหน้าเหนือเหล่าบริวารของพระศิวะ
- ส่วน "พิฆเนศ" "พิฆเนศวร" หรือ "พิฆเนศวร์" มาจาก "พิฆน" แปลว่าอุปสรรค+อิศ หรือ อิศวร แปลโดยรวมว่า ผู้เป็นใหญ่ที่สามารถกำจัดอุปสรรค

ดังนั้น อย่าสับสนเด็ดขาด หากจะเขียนแบบสั้นๆ ว่า "คเณศ" ให้ใช้ ค.ควาย+ณ.เณร แต่หากจะเขียนแบบยาวเต็มยศคือ "พิฆเนศวร" ให้ใช้ ฆ.ระฆัง+น.หนู ส่วน "วร" จะมีต่อท้ายหรือไม่มีก็ได้ จะใส่การันต์หรือไม่ใส่ก็ได้ ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด

คนที่ศึกษาโบราณคดีมาจะรู้ว่า ยังมีอีกหลายสิบชื่อที่หมายถึงพระคเณศ อาทิ "คณปติ" (ผู้เป็นใหญ่เหนือหมู่คณะ ต่อมาแผลงเป็น "คณบดี" นั่นเอง) "คชมุข" (ผู้มีหน้าเป็นช้าง) "ลัมโพทร" (ผู้มีท้องพลุ้ย) "เอกทันต์" (ผู้มีงาข้างเดียว) "อขุรถ" (ผู้ขี่หนู) "มุสิกวาหนะ" (ผู้มีหนูเป็นเทพพาหนะ) ฯลฯ
สองชื่อสุดท้ายมีนัยน่าสนใจยิ่งว่า พระคเณศ ช้างร่างใหญ่ไฉนจึงมีพาหนะเป็นหนูตัวจิ๋ว? สัตว์อื่นมีมากมายไยไม่เอามาขี่ ดังเช่น พระพรหมทรงหงส์ พระอิศวรทรงโค พระนารายณ์ทรงครุฑ พระพายทรงม้า แม้น้องชายพระคเณศชื่อ "ขันทกุมาร" หรือ "ขัตตุคาม" (จตุคาม) ผู้มีรูปร่างบอบบางยังทรงนกยูง?

การจับ "หนู" มาเป็นพาหนะนี้ มีความเชื่อมโยงกับปริศนาของชื่อ "เอกทันต์" อีกประเด็นหนึ่งด้วยว่า ทำไมงาของพระคเณศต้องหักหนึ่งข้าง? (ไม่ระบุซ้าย-ขวาชัดเจน รูปเคารพบางองค์งาซ้ายหัก แต่บางองค์หักงาขวา)

คำเฉลยคงต้องอ้างตำนานของชาวทมิฬในอินเดียใต้ที่กล่าวถึง อสูรตนหนึ่งมีหน้าเป็นช้างเช่นกันชื่อว่า "คชามุขาสูร" ได้มาระรานเทวโลกอย่างไม่ยำเยงอินทร์ พรหม ยม ยักษ์ 
ร้อนถึงพระคเณศต้องมาปราบ ขณะที่ต่อสู้พระคเณศเกิดเพลี่ยงพล้ำ อสูรจับพระคเณศแล้วหักงาข้างขวาได้ แต่พระคเณศรีบแย่งงานั้นกลับคืนรีบขว้างใส่อสูรทันที อสูรล้มลงหมดฤทธิ์จึงกลายร่างเป็นหนู จำต้องยอมมาเป็นบริวารรับใช้

การนำหนูมาเป็นพาหนะนั้น นักโบราณคดีวิเคราะห์แตกต่างกันไป ทฤษฎีแรกเห็นว่า เนื่องจากพระคเณศเป็นเทพแห่งการพิชิตอุปสรรค จึงใช้ "หนู" สัตว์เล็กที่มีฟันแหลมสามารถกัดแทะทำลายเครื่องกีดขวางได้ ซึ่งจะช่วยให้พระคเณศก้าวข้ามพ้นอุปสรรคเร็วขึ้น?
แต่อีกทฤษฎีกลับตีความว่า "หนู" เป็นความมืด-กิเลส-ความเลว เป็นด้านตรงข้ามของพระคเณศ ซึ่งเป็นความสว่าง-ความสำเร็จ-ความดี
ดังนั้น การนำหนูตัวเล็กมาเป็นพาหนะให้ช้างใหญ่ จึงแสดงถึงแนวคิดเรื่องความสมดุลแห่งสากลจักรวาล? 


ไฉนศิลปินต้องบูชาพระคเณศ?

สืบเนื่องมาจากงาข้างที่หักภายหลังการต่อสู้กับอสูรนั้น พระคเณศได้นำมาใช้เป็นปากกาจารวรรณกรรมเอกเรื่อง "มหาภารตะ" ลงในใบลานตามคำบอกเล่าของ "ฤษีวยาสะ"
เหตุนี้ พระคเณศจึงได้รับความเคารพนับถือจากนักปราชญ์ ศิลปิน นักเขียนทั้งหลายว่าเป็นบิดาผู้ประสาทความรู้ทางอักษรศาสตร์
ดังนั้น เด็กๆ ในอินเดีย-ลังกาที่จะเริ่มเรียนหนังสือหรือเข้าสอบศึกษาต่อจึงต้องทำพิธีไหว้ครูพระพิฆเนศเสียก่อน

ฉะนี้แล้ว ทั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรและกรมศิลปากร ต่างก็เรียกตัวเองว่าเป็นศิษย์พระพิฆเนศทั้งคู่ เพียงแต่หลายท่านได้ถามดิฉันว่า ไยพระพิฆเนศของกรมศิลปากรจึงนุ่งกางเกงขายาว ไม่นุ่งผ้าแบบโบราณ
ฤๅเป็นเพราะว่าตราสัญลักษณ์นี้สร้างขึ้นในยุค จอมพล ป. พิบูลสงคราม ช่วงนั้นรัฐกำลังเห่อความศิวิไลซ์ในการแต่งกายสมัยนิยมตามแบบสากล



จากเทพแห่งศิลปวิทยาการ
ค่อยๆ กลายเป็นเทพสารพัดศรัทธา เอนกประสงค์? 

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้ พระพิฆเนศได้รับการบูชาอย่างกว้างขวาง ไม่จำกัดแค่เพียงวงการศิลปะเท่านั้น เนื่องจากได้มีการตีความใหม่ว่าท่านทรงเป็น "เทพเจ้าแห่งความคิดริเริ่มสร้างสรรค์"

เปิดช่องให้ใครที่กำลังจะทำอะไรใหม่ ไม่ว่าปลูกบ้านใหม่ วางศิลาฤกษ์ ซื้อรถใหม่ เปิดกิจการใหม่ เปิดตัวละครเรื่องใหม่ เปิดสินค้าแบรนด์เนมตัวใหม่ ล้วนแล้วแต่ต้องไหว้พระพิฆเนศกันทุกวงการ ยิ่งภายหลังจากการปิดฉากลงอย่างหุนหันพลันแล่นของกระแส "จตุคามรามเทพ" ซึ่งเคยบูมอย่างหนักเมื่อสี่-ห้าปีก่อน นักเลงพระเครื่องไม่รีรอปล่อยเวลาให้เคว้งคว้างขาดทุน รีบคว้าหมับเอาพระคเณศ เทพอมตะมารองรับตลาดธุรกิจเครื่องรางของขลังทันทีทันควัน

มองมุมหนึ่งเราบูชาพระพิฆเนศกันพร่ำเพรื่อเกินไปหรือเปล่า เรื่องนี้แล้วแต่วินิจฉัยของแต่ละบุคคล


จริงไหมที่พระพิฆเนศโปรดปรานสีแดง?

จริงหรือไม่จริง ต้องไปแอบสังเกตดูเจ้าของลัทธิต้นตำรับเขาปฏิบัติกัน ประเทศไทยเราไม่สนใจคติการบูชาองค์เทพให้ถูกต้อง พิธีกรรมถูกดัดแปลงตามใจฉัน ชาวอินเดีย-ลังกาเวลาจะกราบไหว้พระพิฆเนศ นิยมนำของแดงทั้งห้าได้แก่ ดอกไม้ ผลไม้ ขนม ธูปเทียน และผ้ามาบูชาเสมอ เรื่องนี้มีที่มาอย่างไร
การที่พระพิฆเนศถูกโฉลกกับสีแดงนั้น ก็เพราะ "สีแดง" หมายถึงตัวแทนของดวงอาทิตย์ที่ลอยมาเหนือปุยเมฆ เพื่อนำความอบอุ่นและชีวิตชีวากลับคืนมาสู่โลก พระพิฆเนศคือเทพเจ้าผู้กำจัดอุปสรรคที่มากีดขวางความสำเร็จ จำเป็นต้องใช้สีแดงหรือดวงตะวันเป็นสัญลักษณ์ เพราะแสงอาทิตย์ช่วยทำลายเมฆหมอกหม่นมัวให้มลายไปจากโลก

ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นชาวทมิฬในลังกานำดอกชบา ดอกบัวสีแดง (ปัทมะ) ผลชมพู่สีแดง และผลทับทิมปอกเปลือกแกะเมล็ดใส่ถาด ไปถวายแด่พระพิฆเนศตามศาลสี่แยกหรือโค้งอันตรายเพื่อให้ท่านประทานความคุ้มครอง หรือแม้แต่ในบ้านบริเวณธรณีประตู ก็จะมีการโรยดอกชบาสีแดงเพื่อปัดเป่าอุปสรรคขณะก้าวย่างเข้า-ออก

"ความจริงวันนี้" เราอยู่ในสังคมที่มาตรฐานบกพร่อง ช่องว่างทางชนชั้นแตกแยกเป็นสองขั้ว ไม่ต่างจากยุคพระเวทในชมพูทวีป ซึ่งวรรณะอำมาตย์สายเลือดอารยันนับถือตรีมูรติ ส่วนชาวพื้นเมืองไพร่ทมิฬมีวีรบุรุษครึ่งคนครึ่งสัตว์อย่างพระคเณศ 

มีข้อน่าสังเกตว่าในระยะสองสามปีหลังมานี้ ผู้คนร่วมสมัยหันหลังให้จตุคามรามเทพแต่กลับหวนมานิยมบูชาพระคเณศ เทพซึ่งถูกพ่อฆ่า เทพซึ่งโปรดปรานเครื่องเซ่นสีแดง หรือนี่จะเป็นสัญญาณอะไรบางอย่างในสังคมนี้ ว่าไพร่พื้นเมืองต้องการปลดแอกตนเองออกไปให้พ้นจากระบอบเดิมๆ!!!



.