http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-28

นพมาส: 360 / “มังกรหยก”ผ่านสายตา“ไม้หนึ่ง ก.กุนที” โดย คนมองหนัง


.
คอลัมน์ เงาเกาหลี - Fortune Salon : ดวงใครดวงมัน โดย มาดามหลูหลี  

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

360 "หมุนรอบตัว"
โดย นพมาส แววหงส์  คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1654 หน้า 87


กำกับการแสดง Fernando  Meirelles
นำแสดง Jude Law
Rachel Weisz
Anthony Hopkins
Ben Foster
Gabriela Macinkova
Maria Flor 


หนังเรื่องนี้กำกับโดยผู้กำกับฯ ชาวบราซิล เฟอร์นันโด แมแรลส์ (City of Gods, The Constant Gardener) และเขียนบทโดย ปีเตอร์ มอร์แกน (The Queen, Nixon/Frost) โดยได้แรงบันดาลใจมาจากบทละครคลาสสิกของ อาร์เธอร์ ชนิตสเลอร์ ที่รู้จักกันในชื่อ La Ronde 

ชื่อหนังบ่งบอกถึง การหมุนไปโดยรอบทุกทิศทุกทางสามร้อยหกสิบองศา ไม่เหลือส่วนไหนไว้ไม่ให้สำรวจ ในการนี้ เราได้เห็นตัวละครชายหญิงหลากหลายชนชั้น อาชีพ ฐานะ เชื้อชาติ และภูมิหลัง ใช้ชีวิตเศษเสี้ยวหนึ่ง ณ จุดทางแยกในชีวิตที่อาจพลิกผันชีวิตไปจากเดิมก็ได้

หนังพาเราไปหลายเมืองหลายประเทศในยุโรป และอเมริกา ตั้งแต่เวียนนา ปารีส ลอนดอน บราทิสลาวา ในสโลวาเกีย รีโอ ในบราซิล เดนเวอร์และฟีนิกซ์ ในสหรัฐอเมริกา

โดยเล่าเรื่องราวของคนหลากหลาย ที่มีโยงใยในวิถีชีวิตที่ตัดผ่านมาเจอกัน และใช้นักแสดงที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปจนนักแสดงโนเนม ในบทหลากหลายของตัวละครหลัก 


ตั้งแต่หญิงสาวชาวสโลวาเกียที่พยายามตะกายหนีความลำบากยากจนด้วยการขายตัว โดยถ่ายรูปโฆษณาลงทางอินเตอร์เน็ต และแมงดาในยุคไซเบอร์นี้ก็รับส่วนแบ่งจากการหางานและหาเศษหาเลยจากเนื้อหนังมังสาของพวกเธอ
ชายหนุ่มนักธุรกิจ ที่เดินทางไปคิดต่อธุรกิจต่างแดน และหาซื้อบริการจากหญิงขายบริการ ในขณะที่ถูกแบล็กเมลจากหุ้นส่วนการค้า
หมอฟันพ่อม่ายมุสลิมที่เฝ้าหลงรักสาวน้อยหมวกแดง ซึ่งเป็นลูกจ้างสาวที่แต่งงานแล้ว และกำลังประสบปัญหาหนักหน่วงทางด้านศีลธรรมที่ขัดต่อคำสอนของศาสนา
หญิงสาวสวย ที่มีความสัมพันธ์กับชายหนุ่มอื่น ขณะที่สามีเดินทางไปต่างแดน
สาวน้อยชาวบราซิลที่อกหักการที่คนรักไม่สนใจไยดี ระหว่างการเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน เธอพยายามรักษาอาการอกหักด้วยการผูกมิตรกับชายสูงวัยและชายหนุ่มที่เธอต้องใจ

ชายหนุ่มที่เพิ่งถูกปล่อยตัวจากคุกโทษฐานประพฤติมิดีมิชอบทางเพศ และพยายามกลับตัวกลับใจ โดยต้องต่อสู้เอาชนะอำนาจดำมืดในจิตใจ
ชายสูงวัยที่เดินทางตามหาลูกสาวที่หายตัวไปนานแล้ว และถูกเรียกตัวไปยืนยันศพของหญิงสาวที่มีรูปพรรณสัณฐานคล้ายคลึงกับลูกสาวเขา
ลูกสมุนของมาเฟียชาวรัสเซียที่เป็นทั้งคนขับรถ บอดี้การ์ด และคนอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ รวมทั้งเรียกหาบริการของหญิงบริการให้เจ้านาย
โสเภณีที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแก้แค้นในโลกของมิจฉาชีพ
และท้ายสุด เด็กสาวยากจนที่ไม่ยอมละคุณธรรมและความถูกต้อง ซึ่งในที่สุดได้ตัดสินใจเสี่ยงดวง เดินตามคำเรียกร้องของหัวใจไปกับชายแปลกหน้าที่ถูกชะตากัน



เรื่องราวทั้งหมดนี้ถูกถักทอ ร้อยเรียง และสอดประสานกันอย่างลงตัวในตอนท้ายๆ แม้ว่าแรกๆ จะรู้สึกเหมือนการโดดจากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง โดยยังหาจุดเชื่อมโยงไม่เจอ
ทุกเรื่องเกี่ยวพันอยู่กับการสนองความพอใจทางเพศและกามารมณ์ ซึ่งสะท้อนชีวิตที่ดิ้นรนหาความสุขความพอใจไปตามจังหวะชีวิต ขณะเดียวกันก็มีแกนกลางคล้ายคลึงกันอยู่ในด้านที่เป็นการนอกใจและความไม่ซื่อสัตย์ต่อคู่ของตน

หนังเริ่มและจบลงด้วยเสียงบรรยายของหญิงสาวที่พูดถึงชีวิตที่เดินไปพบทางแยก และการตัดสินใจเลือก ณ ทางแยกนั้น ว่าจะเดินอยู่ในทางสายเดิม หรือว่าเลือกทางสายใหม่ที่จะพาไปที่ใดก็สุดรู้

น้ำหนักของหนังดูเหมือนจะให้แก่การเลือกทางสายใหม่ที่แยกจากทางเดิมไป แต่ในขณะเดียวกัน สารที่สื่อออกมานี้ก็ดูจะยังเขวๆ อยู่ เพราะเรื่องราวบางบทบางตอนก็ดูเหมือนว่า ทางเลือกใหม่ของตัวละครนั้น น่าจะพาไปสู่หุบเหวอันทุกข์ทรมาน ยิ่งกว่าจะเป็นทางลาดกลีบกุหลาบ

แม้ว่าจะไม่มีตัวละครตัวไหนโดดเด่นเป็นตัวละครหลักอย่างชัดเจน แต่หนังก็นำเสนอได้ดีและให้ความลึกแก่ตัวละครได้ตามสมควร ตัวละครหลายตัวทำให้คนดูแคร์กับตัวละครได้ ซึ่งไม่ง่ายเลยสำหรับหนังที่เล่าเรื่องราวหลากหลายขนาดนี้
โดยเฉพาะบทของ แอนโธนี ฮอปกินส์ ในฐานะพ่อที่ทุกข์ทรมานใจเพราะคิดว่าตัวเองเป็นต้นเหตุที่ทำให้ลูกสาวหายตัวไป จากการที่ลูกสาวค้นพบว่าเขาเคยนอกใจภรรยา
บทของสาวน้อยที่ประชดชีวิตด้วยการดื่มเหล้าและพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ล่อแหลมและเสี่ยงภัยอย่างฉิวเฉียด ก็เป็นบทที่เขียนได้ดี
ส่วนเรื่องสุดท้ายที่ประมวลตัวละครจากที่ต่างๆ มาถักทอไว้ด้วยกัน ก็เป็นช่วงที่ชวนระทึกใจและทิ้งท้ายได้ลงตัวที่สุด


360 เล่าเรื่องราวของตัวละครมากมายหลายตัวในความยาวเพียงสองชั่วโมงเศษๆ
และบางตอนใช้เทคนิคการนำเสนอด้วยการแบ่งจอออกเป็นส่วนๆ เพื่อให้เราเห็นภาพรวมของตัวละครต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน
ทำให้นึกถึงหนังอย่างเช่น Babel หรือ Crash ซึ่งให้สีสันของความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของเหตุการณ์และผู้คนในโลกนี้
อย่างที่บางครั้งเราอาจไม่คาดคิดทีเดียว



++

มอง "มังกรหยก" ผ่านสายตา "ไม้หนึ่ง ก.กุนที"
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก "กระแส"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1654 หน้า 85


ผมดู "มังกรหยก" ครบทุกภาค (มังกรหยกภาคหนึ่ง, ภาคสอง, ดาบมังกรหยก และ แปดเทพอสูรมังกรฟ้า) มาหลายต่อหลายเวอร์ชั่น
ทั้งที่เคยอ่านนิยายกำลังภายในชุด "มังกรหยก" จบอยู่เพียงแค่เรื่องเดียว คือ "ดาบมังกรหยก"
อย่างไรก็ตาม ด้วยความเป็นเด็กที่เติบโตมากับซีรี่ส์กำลังภายในในยุคทศวรรษปลาย 1980 ถึงต้น 1990 ผมจึงผูกพันกับ "มังกรหยก" มากเป็นพิเศษ
โดยหนึ่งในละครกำลังภายในที่ติดอยู่ในความทรงจำตั้งแต่เริ่มจำความได้ ก็คือ "ดาบมังกรหยก" ที่มี "เหลียงเฉาเหว่ย" นำแสดง

ต่อมา เหลียงเฉาเหว่ย หันเหเส้นทางชีวิตนักแสดงไปสู่การเป็นดาราภาพยนตร์ เขาแสดงหนังที่น่าจดจำ และมีชื่อเสียงอย่างสูงในระดับนานาชาติอยู่หลายเรื่อง
ก่อนจะย้อนกลับมาแสดงหนังเกี่ยวกับ "มังกรหยก" อีกครั้งในช่วงปี ค.ศ.1993-1994 ได้แก่ การรับบทบาทเป็นตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ใน "Ashes of Time" (มังกรหยก ศึกอภิมหายุทธ) ฝีมือการกำกับของ "หว่องกาไว / หวังเจียเหว่ย" ซึ่งน้ำหนักส่วนใหญ่ของภาพยนตร์ถูกเทไปที่ "อาวเอี้ยงฮง" จากฝีมือการแสดงของ "เลสลี่ จาง" ผู้ล่วงลับ
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน เหลียงเฉาเหว่ย ยังรับบทเป็น "อาวเอี้ยงฮง" ในหนังแนวตลกโปกฮาบ้าบอ เรื่อง "มังกรหยก หยกก๊าหว่า" ซึ่งมี หว่องกาไว ทำหน้าที่โปรดิวเซอร์


หนังเกี่ยวกับ "มังกรหยก" ทั้ง 2 เรื่องดังกล่าว ก็เป็นหนึ่งในอีกหลายสิบตัวอย่างที่ปรากฏในสื่อโทรทัศน์และภาพยนตร์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงลักษณะเด่นประการหนึ่งของยุทธจักรนิยายชุดสำคัญของ "กิมย้ง"
กล่าวคือ สื่อภาพเคลื่อนไหวจำนวนมากมิได้ "ผลิตซ้ำ" นิยายกำลังภายในเรื่องนี้ จากพื้นฐานของ "ตัวบทดั้งเดิม" เท่านั้น
ทว่า กลับมีการสร้างสรรค์ "ตัวบทใหม่" เพิ่มเติมต่อยอดออกไปจากตัวนิยายต้นฉบับ
กระทั่งกลายเป็น "นิยายกำลังภายในเรื่องใหม่" หรือ "หนัง / ละครเรื่องใหม่"

ที่บางคนอาจเรียกว่า "ภาคพิสดาร" ขณะที่แฟนภาพยนตร์รุ่นใหม่อาจนิยามให้เป็นหนัง / นิยาย "ภาคก่อน" (prequel)
ตัวบทใหม่ๆ ประเภทนี้ มักย้อนกลับไปสร้างเรื่องราวอันมีชีวิตชีวาของวัยหนุ่มสาว ให้แก่จอมยุทธอาวุโสคนสำคัญๆ ซึ่งปรากฏตัวหรือถูกกล่าวถึงในนิยายภาคหนึ่งและสอง
ได้แก่ เทพมัชฌิม - เฮ้งเตงเอี้ยง, ภูตบูรพา - อึ้งเอี๊ยะซือ, ยาจกอุดร - อั้งฉิกกง, ราชันทักษิณ - ต้วนตี่เฮง หรือ อิดเต็งไต้ซือ, พิษประจิม - อาวเอี้ยงฮง และ เฒ่าทารก - จิวแป๊ะทง


สัปดาห์ก่อน ผมมีโอกาสรื้อค้นนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ในช่วงปี พ.ศ.2543 มาใช้ทำงานบางอย่าง
จนได้พบกับบทกวี 4 ชิ้น ที่เขียนถึงตัวละครบางส่วนใน "มังกรหยก" โดยผู้ใช้ชื่อว่า "อึ้งกิก" ซึ่งน่าจะเป็นอีกนามปากกาหนึ่งของ "ไม้หนึ่ง ก.กุนที"

หากพิจารณาจากสำนวนภาษา, พื้นที่ประจำ "หน้า 66" ในยุคนั้น และการที่งานบางชิ้นของ "อึ้งกิก" ถูกนำไปรวมในหนังสือ "รูปทรง มวลสาร พลังงาน และความรัก" ของ "ไม้หนึ่ง"
บทกวี 3 ชิ้นแรก มีเนื้อหาตามรอยการผลิตซ้ำ "มังกรหยก" ในรูปแบบหนัง / นิยาย "ภาคก่อน"
กล่าวคือ ผู้เขียนได้ให้น้ำหนักไปที่ตัวละครอย่างอาวเอี้ยงฮง, อึ้งเอี๊ยะซือ และ จิวแป๊ะทง ซึ่งสามารถสรุปบุคลิก ตลอดจนแนวคิดของจอมยุทธเหล่านั้นออกมาได้อย่างกระชับ คมชัด และน่าสนใจ
อย่างไรก็ดี ผมรู้สึกไม่ค่อยแน่ใจมากนักว่า "ชื่อรอง" ซึ่งเป็นแนวคิดทฤษฎีฝรั่งที่ปรากฏอยู่หลังเครื่องหมาย "ทวิภาค" ของบทกวีทั้ง 3 ชิ้น มีความถูกต้องแม่นยำในเชิงแนวคิดมากเพียงใด หากนำมาจับกับตัวละครจอมยุทธ์ในนิยายกำลังภายใน?

สำหรับบทกวีชิ้นสุดท้ายกลับมีความผิดแผกออกไป เมื่อ "อึ้งกิก" เลือกกล่าวถึงตัวละครใน "มังกรหยกภาคสอง" คือ เซียวเล่งนึ้ง
หลายคนแสดงความเห็นว่า มังกรหยกภาคนี้ถือเป็นนิยายที่ดีที่สุดในชุด "มังกรหยก" โดยเฉพาะหากพิจารณาจากแง่มุมการต่อต้านขนบธรรมเนียม ที่ถูกบ่มเพาะจางๆ ไว้ในนิยายภาคแรก ผ่านพฤติการณ์ของอึ้งเอี๊ยะซือ
ซึ่งได้รับการขับเน้นด้วยพฤติกรรมขบถต่อจารีตโบราณอย่างถอนรากถอนโคนของคนหนุ่มสาว ผ่านความรักความสัมพันธ์ระหว่าง "เซียวเล่งนึ้ง" ผู้เป็นอาจารย์ (หญิง) กับ "เอี้ยก้วย" ผู้เป็นศิษย์ (ชาย)

น่าเสียดายที่บทกวีทั้ง 4 ชิ้น ไม่เคยถูกรวมไว้ในหนังสือเล่มใดของไม้หนึ่ง ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขออนุญาตนำบทกวีเหล่านั้นมา "เผยแพร่ซ้ำ" ณ พื้นที่เดิม ซึ่งมันเคยถูกตีพิมพ์เป็นหนแรก
อีกครั้งหนึ่ง
 


อาวเอี้ยงฮง : โพสต์โมเดิร์น?

กับวิธีที่กลับตาลปัตร
เพราะติดขัดตีบตันวิถีเก่า
ตื่นตระหนักมิยินยอมจะอับเฉา
เป็นสุดยอดขังหงอยเหงาใต้เพดาน

แม้เริ่มต้นด้วยการที่ถูกล่อลวง
สุดท้ายล่วงไปสู่การผสาน
รูปธรรมจริงเกิดจากจินตนาการ
ผลักดันสังขารแบบขวางโลก

เพียงติดกับความหลังอันซึมซึ้ง
"การสูญเสีย" อันดับหนึ่งของความโศก
ปลดไม่ปล่อยร้อยผันผวนตรวนวิโยค
บางวาระจะตระหนกอกฟั่นเฟือน

แต่กลับเกิดวิถีที่มาใหม่
บรรจุไว้ทั้งความเหมือนและไม่เหมือน
ประหนึ่งดั่งวิปริต และบิดเบือน
แต่ขับเคลื่อนออกมาอย่างทบทวนแล้ว

(มติชนสุดสัปดาห์ 11 เมษายน 2543)


อึ้งเอี๊ยะซือ : ดาด้า

ต่อต้านการกระทำอันคร่ำครึ
หัวเราะหึๆ ให้แบบแผน
ขงจื๊อสร้างเปลือกพอกบนแก่น
ชิงชังผู้แนบแน่นพิธีกรรม

มองโลกเป็นโศกมากกว่าสุข
พลัดพรากสิ่งที่รักหนักทุกข์ช้ำ
ก้ำกึ่งเส้นกลาง ธรรม อธรรม
เพลงขลุ่ยหยกยิ่งตอกย้ำโศกาดูร

เจนจบสรรพศิลปศาสตร์
แสดงออกอย่างเกรี้ยวกราดและเฉียวฉุน
คล้ายๆ ไร้เมตตาและการุณย์
แต่ลึกๆ สนับสนุนผู้ทำดี

เพราะแอนตี้สังคมที่เป็นไป
และเลือกเดินในอีกสายวิถี
ควบคู่การกล่าวขวัญสดุดี
คือติฉินนินทาเป็นภูตร้าย

(มติชนสุดสัปดาห์ 9 พฤษภาคม 2543)


จิวแป๊ะทง : Non Theory

อึ้งเอี๊ยะซือเบื่อหน่ายชื่อเสียง
อิ๊ดเต็งเรียกว่าฝันอันว่างเปล่า
สำหรับเล่าง้วนท้งเล่า?
ไม่เคยมีสักเสี้ยวนึก

บริสุทธิ์ดุจเด็ก ไร้เดียงสา
การแก่งแย่งไม่เคยมาในรู้สึก
ซื่อพื้นเพคือหนึ่งเดียวกับซึ้งลึก
รากฐานจิตสำนึกสุญญตา

แจ่มใสจนอายุวัฒนะ
แข็งแรงหลังเอวคอแขนขา
เส้นผมหงอกสวนทวนเวลา
ดอกอ้อคืนมาเป็นสีดำ

คล้ายผู้คนเพียงแค่ข้อสงสัย
ในดวงใจใคร่รู้หลายคำถาม
เป็นเด็กดื้อดิบๆ เพื่อมาย้ำ
ว่าพื้นฐานมนุษย์นั้นงามและดี

(มติชนสุดสัปดาห์ 24 กรกฎาคม 2543)


เซียวเล่งนึ้ง : เต่า (Lifestyle in a valley)

......................................
สิบหกปีกระทำใจใต้หุบเขา
กร่อนนิวรณ์ระลึกซ้ำทรงจำเก่า
ก็ว่างเปล่าคืนไปเป็นสามัญ

ที่ถูกพิษก็มลายเป็นไร้พิษ
ปลดตรอมติดส่งสลายกลายเป็นฝัน
ปล่อยฝุ่นหวังเล็กบางดั่งหมอกควัน
ปักฉลุปีกผึ้งถึงคนรัก

คิดถึง กลืนกลายเป็นหยุดคิดถึง
ห้วงคำนึงระเหยไร้อะไรหนัก
วันคืนเคลื่อน ปีก้าวย่าง อย่างผ่อนพัก
กินหญ้าผัก กินปลา กินพันธุ์ไม้

แบหัวใจไม่ยึดจับสงบหาย
เป็นสามัญกลมกลืนกับความเดียวดาย
ปฏิบัติตัวเรียบง่าย กระทำน้อย
นางรอคอยในอาการหยุดคิดถึง

ปักฉลุปีกผึ้งถึงคนรัก
พิษดอกรัก ชนะได้โดยหยุดรัก

(มติชนสุดสัปดาห์ 13 พฤศจิกายน 2543)



+++

Fortune Salon : ดวงใครดวงมัน
โดย มาดามหลูหลี hluhlee@gmail.com คอลัมน์ เงาเกาหลี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1654 หน้า 86


"ท่านอาจเดินทางไปไหนไกลๆ เสาร์ดาวประจำราศีของท่านยังเดินถอยหลังอยู่ในภพ 9 และวันนี้ อังคารกาลกิณีอยู่ในนวางค์กรกฎ ศัตรูลับเพียบ แต่ลาภที่ได้อย่างลับๆ เพียบกว่าเยอะ..."
คำทำนายข้างต้นเป็นดวงชะตาราศีเกิดของใครบางคน ที่อาจจะตรงหรือไม่ก็ใกล้เคียง แบบดวงใครดวงมันขึ้นอยู่กับชะตาและผู้ทำนายดวงชะตาหรือหมอดูที่คนส่วนใหญ่ชอบโดยเฉพาะคุณผู้หญิงทั้งหลาย จะเสาะแสวงหาหมอดูแม่นๆ หมอดูเก่งๆ เพื่อตรวจดูดวงชะตาว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร
เป็นจริงบ้างหรือไม่ถูกต้องเลย ก็ยังอยากรู้อยากดู บ้างว่าจะได้เตรียมรับมือทันถ้าเกิดอะไรขึ้นหรือเพื่อความสบายใจหากชีวิตช่วงนั้นยากลำบาก 

อาชีพหมอดูจึงเป็นอาชีพที่สร้างความร่ำรวยมากๆ รวมทั้งไม่ต้องเสียภาษีเพราะรับแต่เงินสดซึ่งไม่มีใบเสร็จ 


ในซีรี่ส์เกาหลีที่เป็นละครย้อนยุค การดูหมอต้องหลบๆ ซ่อนๆ ทั้งคนดูและหมอดู เพราะหมอดูดูคล้ายคนทรงมากกว่า เป็นไสยศาสตร์ที่ผิดกฎหมายบ้านเมือง
ยุคปัจจุบันอาชีพหมอดูกับเป็นที่ยอมรับของสังคมเกาหลี แม้แต่เมืองไทยเองหมอดูฟันธงหมอดูฟันดาบหรือหมอดูดังๆ หนุ่มๆ มีเชื่อเสียงเป็นที่รู้จักก็สามารถชี้นำทำนายชะตาบ้านเมืองและผู้นำประเทศได้

Fortune Salon หนังเกาหลีที่เล่าเรื่องอาชีพหมอดู มีปาร์กยีจิน เสด็จพี่จากควีนซอนต๊อก ในหนังเรื่องนี้ เป็นโอแทรังหมอดูสาวสวยที่สำนักงานของเธอทำเหมือนร้านทำผม ต้องนัดหมายมาให้หมอดูและมีเพื่อนหมอดูหลายคนให้เลือกเหมือนช่างทำผม การตกแต่งร้านออกแนวทึมๆ ให้ดูลึกลับน่าเกรงขาม
ด้วยอาชีพหมอดูซึ่งมีรายได้ถึงปีละ สามล้านล้านวอน แทรังจึงเหมือนสาวไฮโซ ใช้แต่ของแบรนด์เนม และมีบ้านพักอยู่ในย่านชงดัมดง ย่านการค้าสุดหรูประมาณสยามพารากอนบ้านเรา
แทรังสืบทอดอาชีหมอดูมาจากแม่ (คิมซูมิ ดาราอาวุโสยอดฝีมือ) ของเธอ ซึ่งเป็นหมอดูแม่นๆ คนหนึ่ง และยังได้ทำนายโชคชะตาให้เธอว่าจะพบเนื้อคู่ที่เกิดวันที่ 16 พฤษภาคม 1977 จึงกลายเป็นความทรงจำฝังใจให้เธอรอคอยเนื้อคู่ที่มีดวงเกิดตามที่แม่บอก
กลายเป็นว่าหมอดูยิ่งงมงายกว่าคนทั่วไปเสียอีก


แล้วโชคชะตาเกิดอุบัติเหตุชักพาให้แทรังได้พบซองวอน (อิชางจอง จาก Sex is Zero) ชายหนุ่มตกอับยากจน รูปไม่หล่อแต่มีจิตใจดี ซึ่งเธอคิดว่าเป็นเนื้อคู่จึงอยากลองคบดู เพราะดวงชะตาของเธอแรงมาก จะคบใครเป็นคนรักมักมีเหตุเป็นไป หรือด้วยอาชีพหมอดูก็ยังเป็นที่ดูถูกของชายหนุ่มบางคนอยู่บ้างแม้กับโอจุนที่เป็นรักแรกของเธอ

ความรักของแทรังจึงไม่สมหวังเสียที คนที่คิดว่าชอบ-กลับไม่ใช่ คนที่คิดว่าใช่-ก็ยังไม่แน่ อย่างที่แม่ของเธอบอก หมอดูดูอนาคตตัวเองไม่ได้ เป็นเพียงสื่อกลางให้คนอื่น
เพราะเชื่อมั่นในลิขิตแห่งดวงชะตา แทรังจึงมั่นใจว่าคำทำนายของเธอแม่นยำ ไม่อาจฝืนโชคชะตาได้ คู่รักหลายคู่เธอจะฟันธงว่าไปกันไม่ได้อยู่กันไม่ยืด จนบางคนเจ็บแค้นมาอาละวาดใส่สำนักของเธอ และมีบางคนบางคู่ไม่เชื่อฟังไม่สนใจคำทำนาย ท้าทายโชคชะตา

เลยมีข้อสงสัยว่า จริงๆ แล้วอาชีพหมอดูมีขอบเขตของการทำนายแค่ไหน มีจรรยาบรรณหรือไม่ ถ้ามี มีมากน้อยแค่ไหน เปิดฟ้าเปิดดวงชะตาผู้คน แล้วถ้าไม่เป็นไปตามนั้น จะมีผลให้คนคนนั้นมีชีวิตที่พลิกผันผิดพลาดจากที่ควรจะเป็น แล้วใครจะเป็นคนรับผิดชอบ
หมอดูไม่เหมือนหมอรักษาโรค ที่หายป่วยก็คือหายถ้าไม่หายก็ตายไปเลย แต่ชะตาชีวิตแม้ไม่พึ่งหมอดู เดินผิดตัดสินใจผิดด้วยตัวเองก็ยังเอาไม่อยู่ ถ้าให้หมอดูนำทางแล้วผิดชีวิตจะเป็นอย่างไร
ต้องเลือกดูเลือกเชื่อเลือกหมอดูกันเอาเอง ในยามที่คนเราสิ้นหวังขาดที่พึ่งไร้ทางออก หนทางที่มีอยู่คือการดูหมอให้หมอดูว่าโชคชะตาจะเป็นอย่างไร เป็นความหวังเหมือนเปลวเทียนในความมืด

ทุกต้นเดือนแทรังต้องขึ้นเขาหาที่สงบนั่งสมาธิเพิ่มพลังจิตหรือญาณให้ตัวเอง ให้แก่กล้าเข้มแข็งคล้ายๆ หมอดูบ้านเราที่บอกว่าต้องทำบุญนั่งสมาธิปฏิบัติธรรม มีฉากฮาๆ ที่ซองวอนเห็นหมอดูมานั่งสวดมนต์กันบนเขามากมาย เขาบอกว่า "หมอดูคนทรงมากมายตั้งใจสวดมนต์ขนาดนี้ แล้วทำไมประเทศเราถึงไม่สงบเสียที"



Fortune Salon หนังโรแมนติก แบบเมโลดราม่าคอมเมดี โดยผู้กำกับฯ คิมจินยอง  
หนังดูสนุก ดูสบายไม่ต้องคิดมาก
เป็นหนังดูคลายเครียดในวันที่อากาศร้อนตับแตกแบบนี้
แต่หนังก็ยังให้ข้อคิดหลายแง่มุม อย่างที่หมอดูข้างถนนบอกกับแทรัง ให้มีคบชายหนุ่มที่ชอบ รู้จักมีความรัก ถ้ามันไม่ใช่ก็ช่างมัน
แต่อย่างน้อยก็ทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น เพราะความรักยิ่งใหญ่กว่าโชคชะตา...



.