.
ระเบิดแล้ว...ระเบิดอีก! สู่ปีที่ 9 ของสงครามภาคใต้
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1653 หน้า 37
"การที่จะได้รับชัยชนะในสงครามจรยุทธ์นั้น ไม่อาจแยกจากความมีแผนการของตนได้
ความคิดที่จะกระทำการอย่างสุ่มสี่สุ่มห้าสักพักนั้น เป็นการเล่นสงครามจรยุทธ์แท้ๆ
หรือไม่ก็เป็นคนไม่มีความรู้ในเรื่องสงครามจรยุทธ์"
ประธานเหมาเจ๋อตุง
พฤษภาคม 1938
เกือบทุกรัฐบาลไทยที่เข้ามารับตำแหน่ง จะถูก "รับน้อง" ด้วยการก่อเหตุระเบิดขนาดใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้แทบจะทุกครั้งไป โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงว่า รัฐบาลดังกล่าวจะมาจากพรรคใด หรือรัฐบาลจะเข้าสู่อำนาจด้วยวิธีการใด
เพราะสำหรับพลพรรคของขบวนการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว รัฐบาลไทยที่กรุงเทพฯ ไม่ได้แตกต่างกัน หากแต่เป็นเป้าหมายเหมือนกันที่ต้องทำลายล้าง
ดังจะเห็นได้ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อไทย (หรือไทยรักไทย) ตลอดจนถึงรัฐบาลทหารของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ล้วนตกเป็นเป้าหมายเหมือนกัน
ที่สำคัญก็คือ ไม่ได้มีสัญญาณที่บ่งบอกว่า เขาชอบพรรคนี้มากกว่าพรรคนั้น หรือชอบพรรคนั้นมากกว่าพรรคนี้แต่อย่างใด
เพราะทุกรัฐบาลล้วนแต่ต้องเผชิญกับเหตุระเบิดในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากนี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่า ปัจจุบันล่วงเข้าปีที่ 9 ของเหตุรุนแรงนับจากกรณีปล้นปืนในค่ำคืนวันที่ 4 มกราคม 2547 สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มิได้บ่งบอกถึงพัฒนาการในเชิงบวกเท่าใดนัก
และหากเปรียบเทียบแล้ว ก็คงไม่ผิดอะไรที่จะกล่าวว่า จนถึงปี 2555 ก็ยังไม่เห็น "แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์" แต่อย่างใด
ในทางตรงข้าม เรากลับเห็นสัญญาณเชิงลบโดยเฉพาะจากกรณีล่าสุด ได้แก่ การระเบิดต่อเนื่องที่จังหวัดยะลา และการระเบิดอย่างรุนแรงที่อำเภอหาดใหญ่
จนเป็นเสมือนกับ "นาฬิกาปลุก" ที่ส่งสัญญาณเตือนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ให้ต้องหันมาสนใจกับปัญหาความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น และอย่างจริงจังด้วย
รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามาบริหารประเทศ อันเป็นผลจากการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ซึ่งหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ตกค้างมาจากรัฐบาลก่อน และทำให้ผู้คนเลือกรัฐบาลนี้ด้วยความหวังอย่างมากก็คือ ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเท่าใดนักที่รัฐบาลจะเตรียมตัวอย่างมากกับการขับเคลื่อนนโยบายทางเศรษฐกิจ ซึ่งอีกส่วนหนึ่งก็เป็นผลโดยตรงจากนโยบายประชานิยมที่พรรคเพื่อไทยได้ใช้เป็นประเด็นของการหาเสียงทางการเมืองในช่วงของการเลือกตั้ง
แต่ประเด็นที่ดูจะได้รับความสนใจน้อยมากจากรัฐบาลก็คือ "ปัญหาความมั่นคง"
ทั้งที่เมื่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้าสู่อำนาจแล้ว มีปัญหาความมั่นคงเป็นประเด็นท้าทายรอให้รัฐบาลเข้ามาเป็นผู้นำในการกำหนดนโยบายแก้ไข และความท้าทายนี้มีอยู่ทั้งภายนอกและภายใน
ซึ่งหนึ่งในความท้าทายดังกล่าวก็คือ ปัญหาการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
แต่ก็ดูเหมือนไม่มีท่าทีที่ชัดเจนกับการนำเสนอทิศทางและนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ต่อปัญหาในภาคใต้
ด้านหนึ่งอาจจะเป็นเพราะพรรครัฐบาลปัจจุบันไม่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งจากพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้แต่อย่างใด จนทำให้เกิดการตีความในทางการเมืองว่า ประชาชนในพื้นที่ไม่ตอบรับกับข้อเสนอเชิงนโยบายของพรรคเพื่อไทยในช่วงของการหาเสียง อันได้แก่ ข้อเสนอเรื่อง "นครรัฐปัตตานี"
ดังจะเห็นได้ว่า หลังจากการรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม 2554 แล้ว ผู้นำรัฐบาลก็ไม่ได้มีท่าทีหรือแสดงนโยบายต่อปัญหานี้เพิ่มเติมอีก
อย่างไรก็ตาม ในความเป็นรัฐบาล ความคิดในการทอดทิ้งงานความมั่นคงดังกล่าวเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับทำให้รัฐบาลไม่มีทิศทางที่ชัดเจนต่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
และในอีกด้านหนึ่งอาจจะคิดว่า เมื่อรัฐบาลได้ตั้ง "รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง" ให้เข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องเช่นนี้แล้ว ตัวนายกรัฐมนตรีสามารถ "ลอยตัว" โดยไม่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
ซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถ "ตัดให้ขาด" ได้
เพราะเมื่อเกิดเหตุรุนแรงแล้ว ภาระย่อมตกอยู่บนบ่าของนายกรัฐมนตรีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และในขณะเดียวกันด้วยภาระและความรับผิดชอบในความเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่ว่าเธอจะชอบหรือไม่กับปัญหาความมั่นคง แต่ปัญหาดังกล่าวก็จะยังคง "รอเธอ" อยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง!
ดังนั้น น่าจะถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะต้องเริ่มคิดเรื่องของปัญหาความมั่นคงอย่างจริงจัง จะหวังพึ่งอยู่กับกลไกในระบบอย่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แต่เพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีสถานะเป็น "ฝ่ายการเมือง" ที่จะต้องเป็นผู้ออกนโยบายทางด้านความมั่นคงแล้ว ก็ยิ่งบ่งบอกถึงภาระของรัฐบาลทั้งในการกำหนดและกำกับนโยบายนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แม้จะมีข้อโต้แย้งว่า นายกรัฐมนตรีได้เคยเดินทางลงไปพบปะและเยี่ยมเยือนพี่น้องในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว แต่ด้วยความเป็นรัฐบาลอาจจะต้องตระหนักว่า การเดินทางเช่นนี้ไม่ใช่การเดินทางเยี่ยมเยือนแบบปกติ
เพราะด้วยสถานะทางการเมือง การเดินทางแต่ละครั้งน่าที่จะต้องมีการนำเสนอนโยบายของฝ่ายการเมือง เพื่อให้ข้าราชการในฐานะผู้ปฏิบัติในพื้นที่ได้เห็นทิศทางและความประสงค์ของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย (แต่ก็มิได้หมายความว่า ทุกครั้งจะต้องมีการนำเสนอนโยบายใหม่ในการเดินทางลงพื้นที่เสมอไป )
และที่สำคัญก็คือ จะต้องใช้การเดินทางเช่นนี้เป็นการ "เชื่อมต่อ" ระหว่างผู้กำหนดนโยบายกับผู้ปฏิบัติในพื้นที่ อันเป็นปัจจัยที่คาดหวังว่าจะทำให้การขับเคลื่อนของนโยบายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมๆ กับเกิดความรับรู้ร่วมกันระหว่างผู้กำหนดนโยบายจากส่วนกลางกับผู้รับนโยบายที่อยู่ในพื้นที่
ประเด็นสำคัญที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์อาจจะต้องเริ่มทำความเข้าใจให้มากขึ้นก็คือ คุณลักษณะและธรรมชาติของสงครามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จนถึงวันนี้แล้ว สังคมไทยอาจจะต้องยอมรับความจริงว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่เป็น "สงครามแบ่งแยกดินแดน"
และการแบ่งแยกดินแดนที่เกิดขึ้นในบริบทใหม่ของโลกความมั่นคง กล่าวคือ การต่อสู้เพื่อการแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของไทยในอดีตนั้น เป็นการต่อสู้คู่ขนานกับสงครามก่อความไม่สงบที่ดำเนินการโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)
หรือกล่าวในบริบทของระเบียบโลกก็คือ เป็นสงครามแบ่งแยกดินแดนที่เกิดขึ้นภายในกรอบเวลาของยุคสงครามเย็น
สิ่งที่ต้องยอมรับในความเป็นจริงต่อมาก็คือ แม้สงครามเย็นจะสิ้นสุดลงจากความเปลี่ยนแปลงในเวทีโลกจากการรวมชาติของเยอรมนีในต้นเดือนพฤศจิกายน 2532 (ค.ศ.1989) หรือการถดถอยของสงครามคอมมิวนิสต์ภายในที่เห็นได้ชัดเจนจากการประกาศชัยชนะของรัฐบาลไทยในปี 2525/2526 ที่มั่นใจว่า สงครามปลดปล่อยที่ถูกขับเคลื่อนโดยกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทยนั้น ไม่ได้มีสถานะเป็นภัยคุกคามต่อรัฐไทยอีกต่อไป
ตลอดรวมถึงการถอนตัวของกองทัพเวียดนามจากกัมพูชาที่ดำเนินสืบเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2532 นั้น ก็บ่งบอกถึงการสิ้นสุดของสงครามเย็นในภูมิภาคเช่นกัน
หากแต่สัญญาณเหล่านี้มิได้แสดงให้เห็นว่าสงครามอีกชุดหนึ่งที่ดำเนินการโดยขบวนการแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้นั้น จะสิ้นสุดลงด้วยแต่อย่างใด
ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรนักที่แม้สงครามเย็นภายในของไทยจะสิ้นสุดลง เช่นเดียวกับที่สงครามเย็นในเวทีโลกก็สิ้นสุดลงด้วยนั้น สงครามแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของไทยหาได้ยุติลงไปด้วยแต่อย่างใด
ซึ่งหากเปรียบเทียบกับสถานการณ์แบ่งแยกดินแดนในอีกหลายประเทศก็มิได้แตกต่างกัน
สงครามชุดนี้ดำรงอยู่สืบเนื่องต่อมาในยุคหลังสงครามเย็น และนำไปสู่ความรุนแรงในช่วงเวลาต่อมา แม้นว่าสงครามเย็นหรือสงครามคอมมิวนิสต์จะยุติลงแล้วก็ตาม
ความสืบเนื่องของสงครามเช่นนี้ต้องตระหนักอย่างมากว่า ปัญหาเกิดขึ้นในบริบทใหม่ของการเมืองระหว่างประเทศ การสิ้นสุดของสงครามในแบบเดิมก็คือการจบลงของกระบวนทัศน์เดิม
ดังนั้น แม้สงครามชุดนี้จะเป็นความสืบเนื่องต่อมาจากสงครามเย็น แต่ก็แตกต่างอย่างสิ้นเชิง อย่างน้อยก็เห็นได้ชัดเจนว่าแรงขับเคลื่อนสงคราม ตลอดรวมถึงองค์ประกอบของการต่อสู้ที่เกิดขึ้นซึ่งไม่ได้ผูกพันอยู่กับปัญหาความแตกต่างของอุดมการณ์ทางการเมืองเช่นในอดีตแต่อย่างใด
กล่าวคือสงครามกลับผูกโยงอยู่กับเรื่องของศาสนาและความเชื่อความศรัทธา จนกลายเป็น "ความใหม่" และบางทีก็อาจจะมีความซับซ้อนในอีกแบบหนึ่งที่ผูกพันอยู่กับเรื่องของศาสนา วัฒนธรรม ตลอดรวมถึงเรื่องของอัตลักษณ์ด้วย
ฉะนั้นสำหรับบรรดานักรบทั้งหลายแล้ว พวกเขาไม่ได้ทำสงครามในความหมายของการสู้รบในแบบเดิมเท่านั้น
หากแต่พวกเขากำลังทำหน้าที่ต่อสู้ทางด้านจิตวิญญาณอีกส่วนหนึ่งด้วย
ในสภาพเช่นนี้พวกเขาไม่จำเป็นต้องกลัวในสิ่งที่เรียกว่า "ความตาย" เพราะการต่อสู้ที่เกิดขึ้นบนรากฐานของความเป็นจิตวิญญาณนั้น ย่อมทำให้ความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในกรอบของความศรัทธา
ซึ่งในสภาพเช่นนี้สงครามจึงถูกทำให้เป็นเพียงเครื่องมือของการต่อสู้ด้านจิตวิญญาณ
และไม่ว่าจะชนะหรือแพ้ พวกเขาก็มีโลกทางจิตวิญญาณรองรับ และในภาคใต้ไทยนั้น พวกเขายังมีพื้นที่ในจินตนาการของความเป็น "รัฐปัตตานี" รองรับไว้ในทางภูมิศาสตร์อีกส่วนหนึ่งด้วย
ต้องยอมรับว่าสงครามใหม่เช่นนี้เป็นสิ่งที่รัฐไทยไม่มีความคุ้นเคยแต่อย่างใด
สงครามตามแบบที่ถูกร่างในแผนการทัพ จนถึงสงครามชนบทของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้กลายเป็นเพียง "อดีต" ที่ไม่หวนคืน
แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน สงครามในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยถือเป็นตัวอย่างของ "สงครามร่วมสมัย" ที่พบเห็นได้ไม่แตกต่างกับสถานการณ์สงครามในส่วนอื่นของโลก
โจทย์สงครามชุดนี้ใหม่และยาก ว่าที่จริงก็ไม่แตกต่างเท่าใดนักกับสิ่งที่รัฐบาลและกองทัพสหรัฐอเมริกาต้องเผชิญในอิรักและในอัฟกานิสถาน
ถ้าหากยอมรับข้อสังเกตที่กล่าวในข้างต้นเช่นนี้แล้ว ก็เหลือข้อเสนอแต่เพียงประการเดียวว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องคิดมากขึ้นในทางยุทธศาสตร์
พร้อมๆ กับใคร่ครวญมากขึ้นในการปฏิบัติ ด้วยความหวังว่าจะเป็นหนทางของการนำไปสู่การมียุทธศาสตร์ที่ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการต่อสู้กับขบวนของผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่
อย่างน้อยคำเก่าๆ ในหนังสือนิพนธ์การทหารของประธานเหมาเจ๋อตุง ยังนำมาใช้เป็นข้อเตือนใจได้อย่างดีในการก้าวสู่ปีที่ 9 ของการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า "ถ้าไม่เข้าใจลักษณะพิเศษของสงครามแล้ว ก็จะไม่สามารถชี้นำสงครามได้ ก็จะไม่สามารถนำสงครามไปสู่วิถีแห่งชัยชนะได้ "...
สิ่งสำคัญก็คือ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ในฐานะของผู้กุมอำนาจของรัฐไทยต้องตระหนักไว้ตลอดเวลาว่า ชัยชนะไม่เคยได้มาจากความว่างเปล่า
หรือได้มาโดยไม่ต้อง "ออกแรง" แต่อย่างใดทั้งสิ้น!
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย