http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-30

มุกดา: 1 พ.ค.55 ขบวนการแรงงานหายไปไหน?..หรือว่าทุกคนได้ค่าแรง เกินวันละ 300 บาทแล้ว

.
ข่าว sms TPNews - 29-30 เม.ย. ร่วมกิจกรรม " 365 วันพันธนาการสมยศ ฯ" อนุสรณ์สถาน14ตุลา . . 13 - 21 น.

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

1 พ.ค. 55 ขบวนการแรงงานหายไปไหน? ...หรือว่าทุกคนได้ค่าแรง เกินวันละ 300 บาทแล้ว
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1654 หน้า 20


กำเนิดวันกรรมกรสากล

1พฤษภาคม ค.ศ.1886 (พ.ศ.2429) สหพันธ์แรงงานในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา กำหนดให้ เป็นวันนัดหยุดงานครั้งใหญ่ และจัดการชุมนุมเดินขบวนเพื่อเรียกร้อง "ระบบสามแปด" คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง และศึกษาหาความรู้ 8 ชั่วโมง
การเดินขบวนของแรงงานเกิดขึ้นทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา การประท้วงที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่เมืองชิคาโก ซึ่งมีกรรมกรออกมาประท้วงถึง 40,000 คน
มี การชุมนุมในวันที่ 4 พฤษภาคม ที่จัตุรัสเฮย์มาร์เก็ต ศูนย์กลางการค้าของชิคาโก โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจวางกำลังไว้เป็นจำนวนมาก แต่พอตกกลางคืนก็เกิดการปะทะกับตำรวจ ตำรวจ ตาย 8 ผู้ประท้วงตาย 4 บาดเจ็บจำนวนมาก แกนนำถูกจับไป 8 คน ถูกตัดสินประหารชีวิต 5 คน จำคุกตลอดชีวิต 2 คน จำคุก 15 ปี 1 คน
ขบวนการแรงงานของอเมริกาและทั่วโลกประท้วงการพิจารณาคดีครั้งนั้น

เพื่อ เป็นการรำลึกถึงการประท้วงที่เฮย์มาร์เก็ตทำให้ชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกพร้อม ใจกันกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็น "วันกรรมกรสากล"
ใน ประเทศไทยกรรมกรก็รู้จักประท้วงในปี พ.ศ.2467 โดยกรรมกรรถรางและมีการตั้งองค์กรแรงงานครั้งแรกเมื่อ 14 ตุลาคม 2475 ชื่อสมาคมรถรางสยาม
ไทยเข้า ร่วมองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ในฐานะสมาชิกก่อตั้ง ILO (International Labor Organization) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1919 พ.ศ.2490 มีการจัดงานวันกรรมกรสากล ที่ท้องสนามหลวง เป็นการชุมนุมสำแดงพลังที่สุดมีผู้เข้าร่วมเป็นแสนคน เพื่อเฉลิมฉลองการจัดตั้งสหพันธ์กรรมกรระดับชาติแห่งแรกของประเทศไทย คือ "สมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย"

หลังการรัฐ ประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 รัฐบาลเผด็จการก็ห้ามจัดงานวันกรรมกรสากลอีก กระทั่งในปี พ.ศ.2499 กรรมกรได้เรียกร้องให้รัฐบาลถือเอาวันกรรมกรสากลเป็นวันกรรมกรแห่งประเทศไทย ให้กรรมกรเฉลิมฉลองและหยุดงานโดยไม่ถูกตัดค่าแรง
แต่รัฐบาลเผด็จการ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้เปลี่ยนชื่อจาก "วันกรรมกรสากล" เป็น "วันแรงงานแห่งชาติ" ทำให้วันกรรมกรสากลของไทยถูกแทรกแซงจากรัฐบาลมาโดยตลอด จนกระทั่งปัจจุบัน

เมื่อถึงยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ใช้อำนาจเผด็จการทหารยกเลิก พ.ร.บ.แรงงาน พ.ศ.2499 ทำให้องค์กรแรงงานหมดบทบาทลง และ มามีบทบาทอีกครั้งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเติบโตต่อเนื่องมาจนถึงการรัฐประหารของ รสช. ในปี พ.ศ.2534 ซึ่งในช่วงเวลานั้นมีสหภาพแรงงานมากกว่า 600 สหภาพ หลังจากนั้น บทบาทของสหภาพแรงงานก็ค่อยๆ เงียบหายไป
ในความขัดแย้งทางการ เมืองตั้งแต่ 2548 ถึงปัจจุบันมีบทบาทของสหภาพแรงงาน รัฐวิสาหกิจแสดงออกมาเพียงเล็กน้อย ในการร่วมกับกลุ่มอำนาจเก่าและในภายหลังก็เงียบหายไป จนถึงปัจจุบันแทบไม่มีข่าวจากกลุ่มแรงงานในประเทศไทย

แม้ แต่เรื่องค่าแรง 300 บาท ซึ่งฝ่ายนายจ้างออกมาโวยวายว่าปรับขึ้นให้เร็วเกินไป ควรจะเลื่อนไปอีกสองปี ขบวนการแรงงานก็ยังคงเงียบๆ ปล่อยให้รัฐบาลออกมารับหน้าแทน
จนถึงวันนี้ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าขบวนการแรงงานในประเทศไทยคงไม่หลงเหลืออยู่แล้ว



ความแตกต่างของรายได้วันละ 300 กับวันละ 30,000
ทำให้คิดไม่เหมือนกัน

ปัญหา เรื่องค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท เป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจได้ไม่ยากสำหรับคนจนเพราะพวกเขาจะต้องอยู่ให้ได้ ด้วยเงินเดือนเพียงเดือนละ 7,800 บาทเท่านั้น (วันอาทิตย์ไม่ได้ทำงาน)
นั่น หมายความว่าคนงานแทบจะไม่พอกินพออยู่ แต่สภาอุตสาหกรรมฯ สภาหอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ออกมาคัดค้านตั้งแต่ปีกลายว่าไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน

ทาง ทีมวิเคราะห์ก็มีตัวเลขรายได้ของผู้บริหารในกลุ่มต่างๆ ซึ่งเราคาดว่าอาจเป็นสาเหตุให้เกิดช่องว่างทางชนชั้น ยกตัวอย่างบริษัทมหาชน 10 แห่งที่ได้เดือนละเป็นหลักล้าน

1. บริษัท ทีพีไอ โพลีน มี ผู้บริหาร 5 ราย ได้ค่าตอบแทนรวม 179,524,900 เฉลี่ยคนละ 35,904,980 บาท เฉพาะปี 2553 มีรายได้ต่อคนเดือนละ 2,992,081 บาท

2. บริษัทปูนซิเมนต์ไทย มี 8 ราย รวม 172,077,200 เฉลี่ยคนละ 21,509,650 บาท เฉพาะปี 2553 รายได้ต่อคนเดือนละ 1,792,470 บาท

3. บริษัทปูนซิเมนต์นครหลวง ผู้ บริหาร 7 ราย ค่าตอบแทน 111,145,000 เฉลี่ยคนละ 15,877,857 ต่อปี ต่อคนเดือนละ 1,323,154 บาท

4. ธนาคารกรุงเทพ ผู้บริหาร มี 9 ราย ได้ค่าตอบแทนรวม 244,820,000 เฉลี่ยคนละ 27,202,222 บาทเฉพาะปี 2553 รายได้ต่อคนเดือนละ 2,266,851 บาท

5. ธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้บริหารมี 12 ราย รวม 251,410,000 เฉลี่ยคนละ 20,950,833 เฉพาะปี 2553 รายได้ต่อคนเดือนละ 1,745,902 บาท

6. บริษัทสยามแม็คโคร ผู้บริหาร 8 ราย ได้ค่าตอบแทนรวม 107,000,000 เฉลี่ยคนละ 13,375,000 บาทต่อปี ต่อคนเดือนละ 1,114,583 บาท

7. บริษัทบิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ ผู้บริหาร 13 ราย ได้ค่าตอบแทนรวม 159,354,189 เฉลี่ยคนละ 12,258,015 บาทต่อปี เฉพาะปี 2553 รายได้ต่อคนเดือนละ 1,021,501 บาท

8. บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร ผู้บริหาร 17 ราย ได้ค่าตอบแทนรวม 223,210,000 บาท เฉลี่ยคนละ 13,130,000 บาท เฉพาะปี 2553 รายได้ต่อคนเดือนละ 1,094,166 บาท

9. บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น ผู้บริหาร 9 ราย ได้ค่าตอบแทนรวม 116,970,000 เฉลี่ยคนละ 12,996,667 บาทต่อปี เฉพาะปี 2553 รายได้ต่อคนเดือนละ 1,083,055 บาท

10. บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ผู้บริหาร 8 ราย ได้ค่าตอบแทนรวม 98,980,000 ล้านบาท เฉลี่ยคนละ 12,372,500 บาทต่อปี เฉพาะปี 2553 รายได้ต่อคนเดือนละ 1,031,041 บาท

ตัวอย่างบริษัทที่ผู้ บริหารได้คนละ เป็นหลักแสน เช่น ไทยคม ได้เดือนละ 600,000 บาท บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีได้เดือนละ 420,000 โออิชิกรุ๊ปเดือนละ 380,000 น้ำมันพืชไทยเดือนละ 370,000 กระเบื้องตราเพชรเดือนละ 340,000 บริษัทเสริมสุขเดือนละ 620,000 โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์เดือนละ 700,000

รายได้ที่เห็นไม่ใช่ตัวเลขกำไรแต่เป็นค่าจ้าง กำไรบริษัทยังมีอีกต่างหาก


มาดูเงินเดือนของข้าราชการประจำ
กับข้าราชการการเมืองกันบ้าง

ประธาน ศาลฎีกา นายกรัฐมนตรี ประธานสภา ประธานศาลปกครอง เดือนละ 75,590 บวกเงินประจำตำแหน่ง 50,000 เท่ากันทุกคน รัฐมนตรีได้ 73,240 บวกเงินประจำตำแหน่ง 42,500 ส.ส. และ ส.ว. ได้เดือนละ 72,300 บวกเงินประจำตำแหน่งอีก 42,330 ข้าราชการทหารระดับนายพล ขั้นสูงจะได้เงินเดือน 70,930 ข้าราชการพลเรือนชั้นสูงจะได้ 69,810

นายก องค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) ได้ค่าตอบแทนเดือน 75,530 สมาชิก อบจ. ได้เดือนละ 19,440 นายก อบต. ขนาดเล็กเดือนละ 21,860 ขนาดใหญ่ ได้ค่าตอบแทนเดือนละ 26,080 สมาชิก อบต. ขนาดเล็กได้ 6,630 ขนาดใหญ่ได้ 7,920 นายกเทศมนตรี เทศบาลขนาดเล็ก ค่าตอบแทน 20,900 ขนาดกลางได้เดือนละ 40,800 ถ้าขนาดใหญ่ได้ค่าตอบแทน 75,530 สมาชิกสภาเทศบาลขนาดเล็กได้ 5,460 ขนาดกลาง 10,080 ขนาดใหญ่ได้ 19,440
จะเห็นว่ารายได้ของสมาชิกองค์กรส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก ค่อนข้างใกล้เคียงกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านธรรมดา

ส่วน องค์กรอิสระ เช่น ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 65,920 บวกเงินประจำตำแหน่ง 50,000 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 63,860 บวกเงินปะจำ 42,500 ประธาน กกต. 64,890 บวกเงินประจำตำแหน่ง 45,500 ผู้ตรวจการแผ่นดิน 63,860 บวกเงินประจำตำแหน่ง 42,500 ประธาน ป.ป.ช. 63,860 บวกเงินประจำตำแหน่ง 42,500 ประธาน กสทช. 64,890 บวกเงินประจำตำแหน่ง 45,500
ตำแหน่งใหญ่ๆ โตๆ ยังมีสิทธิ์เช่ารถประจำตำแหน่งในราคา 3-5 ล้าน ตลอดระยะเวลาที่ทำงาน โดยใช้เงินภาษีเสียค่าเช่า ข้าราชการสามารถเบิกค่าเดินทาง เช่น ค่ารถและค่าเครื่องบินได้

ที่มีข่าวว่า ส.ว. ไปนั่งเครื่องบินชั้นธุรกิจแล้วแซวเสื้อแดงว่าต้องไปนั่งชั้นประหยัดจึงเป็น เรื่องคุยกันปกติของพวกอภิสิทธิ์ชนที่นั่งเครื่องบินโดยใช้เงินภาษีประชาชน และชอบไปนั่งชั้นแพงๆ คือชั้นธุรกิจ และชั้นเฟิร์สคลาส (ถ้ามี) พวกนี้ในชีวิตปกติจะไม่กล้าจ่ายค่าโดยสารแบบแพงๆ แต่เป็นพวกที่อาศัยบารมีคนอื่นหรือเงินหลวงจ่ายให้ถึงจะมีโอกาสนั่ง จึงเป็นธรรมดาของพวกกิ้งก่าที่ยืมทองโรงรับจำนำมาใส่ ต้องชูคออวดอยู่เสมอ

วันนี้เราเห็นผู้คนแบ่งเป็นชั้นเป็นกลุ่มตามรายได้ กลุ่มแรกคือผู้ที่อยากได้วันละ 300 กลุ่มที่สองได้เกิน 300 แต่ไม่ถึง 1,000 กลุ่มที่สามวันละ 1,000-2,000 กลุ่มที่สี่วันละ 3,000-10,000 กลุ่มที่ห้าวันละ 15,000-50,000 รายได้ต่าง ใช้ชีวิตต่าง ความเห็นก็ต่าง



ทิศทางของค่าจ้างใน 2 ปีนี้

จาก การเปิดเผยผลวิจัยของกลุ่มบริษัทอเด็คโก้ประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาด้านทรัพยากรบุคคลแบบครบวงจร จัดทำคู่มือฐานเงินเดือนประจำปี 2555 อ้างอิงจากฐานข้อมูลเงินเดือนของ ปี 2554 พบว่า การเปรียบเทียบเงินเดือนตามหมวดหมู่งานระดับพนักงานอายุ 0-5 ปี ตำแหน่งงานที่มีตัวเลขเงินเดือนสูงสุด/เดือน คือเทคโนโลยีสารสนเทศ 100,000 บาท รองลงมาคือ การตลาด/ประชาสัมพันธ์, ฝ่ายขาย และบัญชี 80,000 บาท นอกจากนั้น เป็นตำแหน่งเลขานุการผู้ดูแลระบบ, บริการลูกค้า, วิศวกรรม, ธุรกิจวิศวกรรม และธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ 60,000 บาท และตำแหน่งการปฏิบัติตามกฎหมาย 50,000 บาท ส่วนที่เหลือเป็นตำแหน่งการเงิน, ทรัพยากรมนุษย์ 45,000 บาท, การผลิตทางด้านเทคนิค 40,000 บาท, ตำแหน่งโลจิสติกส์ 30,000 บาท และตำแหน่งทางการแพทย์ และวิทยาศาสตร์ 25,000 บาท

ในขณะที่ดัชนีวัดจาก "มอ"ไซค์รับจ้างปากซอย" แจ้งว่าหักค่าใช้จ่ายแล้วยังเหลือ 300 เป็นมาตรฐานปานกลาง

ปัจจุบันการขาดแคลนแรงงานที่เป็นคนไทย โดยเฉพาะแรงงานฝีมือยังมีสูงมาก ปัญหาที่ว่าค่าแรง 300 บาทจะทำให้คนตกงานนั้น ทีม วิเคราะห์ของเราเชื่อว่า มีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก และคาดว่าค่าแรงอัตรานี้ภายในปีสองปีนี้ นายจ้างก็ต้องแข่งกันขึ้นเพื่อแสวงหาคนที่เก่งมาทำงาน
ถ้าเข้าสู่ AEC ปี 2558 การแย่งแรงงานฝีมือจะหนักขึ้น


ทุกปัญหาแก้ได้
แต่ต้องรู้จักยืนหยัดสู้บางเรื่อง
ยืดหยุ่นบางเรื่อง

ทีมวิเคราะห์ของเราเคยคุยปัญหาเรื่องแรงงานกับผู้ประกอบการหลายด้าน เมื่อหกเดือนที่แล้วจนถึงปัจจุบัน ปัญหา ก็ยังคงเป็นเช่นเดิมคือการขาดแคลนแรงงานคนไทยที่มีความสามารถ ค่าแรง 300 บาท ที่กำหนดขึ้นนั้นไม่ใช่ประกาศแล้วทุกคนจะแห่กันมาทำ

ส่วน แรงงานต่างชาตินั้นแม้จดทะเบียนแล้วก็ยังมีขอบเขตของการว่าจ้าง ว่าทำได้เฉพาะจังหวัดใด ดังนั้น ถ้าจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ แต่จะไปส่งของที่ปทุมธานีหรือสมุทรปราการก็จะถูกจับ
แต่มีแรงงานหลายประเภทที่จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายไปทำตามจุดต่างๆ เมื่อเป็นเช่นนี้การจ้างแรงงานไทยจึงเป็นเรื่องจำเป็น

ปัญหา ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในโรงงานหลายแห่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ก็คือการที่เงินเดือนของคนเข้าใหม่จะเท่ากับหรือใกล้เคียงกับคนเก่าซึ่งทำ งานมานานสามปีห้าปี ทั้งนี้ เป็นเพราะว่าหลายโรงงานไม่ยอมขึ้นค่าแรงให้คนงานเก่ามานาน หรือขึ้นเพียงเล็กน้อย
ในครั้งนี้มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำอย่างก้าวกระโดดจึงเกิดปัญหาค่าแรงเท่าหรือใกล้เคียงกันระหว่างกับคนเก่าคนใหม่
ปัญหา ที่เกิดขึ้นจะต้องแก้ด้วยฝีมือการบริหารบุคคลของเจ้าของกิจการและฝีมือการ เรียกร้องของฝ่ายคนงานเอง เพราะถ้าทางนายจ้างไม่ยอมปรับค่าแรงขึ้น ผู้ชำนาญงานก็จะโยกย้ายไปที่ที่ค่าแรงสูงกว่า

ทุกกลุ่ม มีรายได้มากเท่าไรไม่เห็นมีใครว่า แต่พอคนที่ลำบากที่สุดจะมีรายได้เพียงแค่วันละ 300 กลับมีคนค้าน มองว่ามากไปทำให้ธุรกิจมีปัญหา (ถ้าจะไม่ให้มีปัญหาควรจะลดรายได้พวกวันละ 2-3 หมื่นลงมากกว่า)


ขบวนการแรงงานต้องรู้จักต่อสู้ให้กรรมกรส่วนใหญ่ด้วย ผู้นำสายแรงงานไม่ใช่ได้วันละ 1,000 แล้วไม่กล้าขยับตัว

ส่วนรัฐบาลถ้าทำตามสัญญาไม่ได้ ก็ลาออกไปซะ

ค่าแรงวันละ 300 ไม่มากไปหรอก เพราะนี่เป็นแรงงานมนุษย์ที่ทำผ่านเครื่องมือ ผ่านนิ้วมือ ผ่านสมองและสำนึก มันคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม

แรงงานแบบนี้แหละที่สร้างความสุขสบายขึ้นมาในโลกให้ทุกคน



.