http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-14

อนิจจาน่าเสียดาย โดย คำ ผกา

.

อนิจจาน่าเสียดาย
โดย คำ ผกา http://th-th.facebook.com/kidlenhentang
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1652 หน้า 89


3 เม.ย. 2555 คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์ (กองเซ็นเซอร์) ในกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม มีมติสั่งห้ามฉาย "เชคสเปียร์ต้องตาย" ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่ได้รับทุนสร้างจากกองทุนส่งเสริมภาพยนตร์ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี 2553 ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จและเข้าตรวจพิจารณาปีนี้

ตามเอกสารบันทึกการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ระบุว่า "คณะกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย (Shakespeare Must Die) มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ ตามกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ พ.ศ.2552 ข้อ 7 (3) จึงมีมติไม่อนุญาต โดยจัดเป็นประเภทภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร ตามมาตรา 26 (7) แห่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551" http://www.prachatai.com/journal/2012/04/39958



วันอังคารที่แล้ว (เพื่อตีพิมพ์ในวันศุกร์) ที่แล้วเพิ่งเขียนเรื่อง "เราไม่มีฝ่ายค้านที่แท้จริง" เพราะสำหรับฉัน เราไม่ได้ต้องการฝ่ายค้านที่ "ค้านทุกอย่างที่ขวางหน้า" เพราะฝ่ายค้านย่อมหมายถึงฝ่ายที่จะช่วยถ่วงดุล ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

ที่สำคัญในฐานะที่อุดมการณ์ "อนุรักษนิยม" ถือเป็นอุดมการณ์ที่ครองความเป็นใหญ่เหนืออุดมการณ์อื่นใดในสังคมตลอดมา เราไม่เคยมีพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่สามารถเสนอจินตนาการของสังคมเสรีนิยมให้กับเราเลยแม้แต่พรรคเดียว

เพราะฉะนั้น จึงไม่แปลกใจว่าไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล นโยบายของกระทรวงวัฒนธรรมจะไม่เคยเปลี่ยนแปลง มีแต่จะแข่งขันกันทำตัวอนุรักษนิยมเพราะเชื่อเสียแล้วว่ายิ่งอนุรักษนิยมเท่าไหร่ยิ่งดีต่อการ "เกี้ยเซี้ย" เท่านั้น

เขียนต้นฉบับไปดังนี้ ปรากฏว่าอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมามีข่าวเรื่องการได้เรต "ห" ของหนังเรื่อง "เชคสเปียร์ต้องตาย"

แน่นอนว่าไม่มีนักการเมืองจากพรรคฝ่ายค้านออกมา "ค้าน" ต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ที่ทำงานภายใต้รัฐบาลที่อิงความชอบธรรมของการขึ้นมาเป็นรัฐบาลว่ามาตามวิถีทางประชาธิปไตย

แต่เหตุไฉนจึงมีกระทำที่ขัดต่อแนวทางประชาธิปไตยอย่างตรงไปตรงมาถึงเพียงนี้



ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ในขบวนการประชาชนที่ต่อสู้กับการรัฐประหาร สิ่งที่เราท่องเป็นคาถาประจำตัวคือ Freedom of Speech
เราโศกตรมกับการโดนปิดปาก โดนเซ็นเซอร์ วิทยุชุมชนถูกปิด ข่าวของเราถูกบิดเบือน และเราถึงกับยอมตายเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย
และเราเชื่อว่า "ประชาธิปไตย" นั้นเองจะนำสิ่งที่เราเรียกว่า Freedom of Speech มาให้เรา
แต่แล้ว ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งก็ถูกจัดเข้าไปในประเภท "ห้ามฉาย"

ฉันถึงกับอึ้งว่า ชีวิตของคนที่ต้องตายไปบนถนนแห่งการเรียกร้องประชาธิปไตยนั้นหรือจะสูญเปล่า
เรต "ห้ามฉาย" เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้โดยสิ้นเชิงในสังคมประชาธิปไตย
แม้จะอ้างว่า พ.ร.บ.ภาพยนตร์นี้เกิดขึ้นในยุคเผด็จการ แต่เรามีสิทธิที่ไม่ใช้มันใช่หรือไม่?
มิพักต้องถามว่าเรต "ห้ามฉาย" ด้วยตัวของมันเองขัดต่อรัฐธรรมนูญในหมวดที่ว่าด้วยสิทธิ เสรีภาพของพลเมืองหรือไม่?

แต่ก็เอาเถอะนะ การที่กฎหมายเล็กขัดต่อกฎหมายใหญ่อย่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ไทยที่งดงามอย่างหาที่สุดมิได้อยู่แล้วนี่นา
ทำไมเรต "ห้ามฉาย" เป็นสิ่งที่รับไม่ได้?


ไม่เห็นต้องถาม-ในเมื่อเรามีระบบเรตติ้งกำหนดอายุผู้ชม หรือหากหนังเรื่องนั้นมัน "แหลมคม" จนน่าเป็นห่วง อย่างน้อยที่สุด มันต้องสามารถฉายเพื่อการศึกษา หรือฉายในฐานะที่เป็น "งานศิลปะ" ฉายอย่างจำเพาะเจาะจง ในเทศกาล ในหอประชุม โรงละคร มากที่สุดเท่าที่เราจะประนีประนอมได้คือห้ามฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วไป

(แค่นี้ก็น่ากตระหนกแล้วว่า ท้ายที่สุดเราต้องยอมจำนนว่ามีแต่ นักวิชาการ ปัญญาชน นักศึกษา ศิลปิน สื่อมวลชน เท่านั้นหรือที่จะมีสิทธิ์ดูหนังที่ "แหลมคม" และมีสติวิจารณญาณเหนือชาวบ้านร้านช่อง)

หลายคนอาจจะบอกว่าจะมาเดือดร้อนอะไรกับการ "แบน" หนัง มีปัญหาอื่นๆ ในสังคมของเราที่น่าเป็นห่วงกว่าตั้งเยอะ ทหารจะรัฐประหารอีกไหม? จะแก้รัฐธรรมนูญได้ไหม? ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาเงินเฟ้อ ของแพง ปัญหาแรงงาน ปัญหานักโทษการเมืองที่ยังไม่ได้รับการประกันตัว ฯลฯ
มาถึงวันนี้ฉันเริ่มจะเชื่อแล้วว่า ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับเรื่อง "เล็กๆ" และเรื่องที่ "ไม่เป็นการเมือง" น้อยเกินไป (ทำไงได้ ในเมื่องานมันล้นมือ)
และเรื่อง "เล็กๆ" และเรื่องเล็กๆ เหล่านี้เองที่หล่อเลี้ยงเงื่อนไขอันเป็นปฏิปักษ์ของประชาธิปไตย

หรือจะพูดให้เยิ่นเย้อโดยไม่จำเป็นได้ว่า เรื่องเล็กๆ เหล่านี้คืออาหารของอุดมการณ์อนุรักษนิยม, อำนาจนิยม อันเป็นรังนอนของเผด็จการ

ที่ผ่านมาเราไม่เคยจริงจังการถกเถียงเรื่องความจำเป็นของเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษา และเรามักมีข้ออ้างอยู่เสมอว่า ประเทศไหนๆ เขาก็มีกัน (ประเทศไหนล่ะ? ถ้ามีแล้วมีอย่างไร? มีโดยบังคับเป็นกฎกระทรวงหรือไม่? หรือมีโดยสมัครใจแล้วแต่หลักการของโรงเรียน? ไม่ต้องพูดถึงเครื่องแบบนักศึกษาที่แทบจะไม่มีที่ไหนอีกแล้วนอกจากประเทศไทย)
เราไม่เคยสามารถถกกันได้ถึงการเข้าแถวยืนรับโอวาทของนักเรียนทุกๆ เช้า
เราไม่เห็นว่าทรงผมติ่งหู ถักเปียคู่ หรือทรงผมนักเรียนชายของเราเป็นปัญหาในฐานะที่มันทำลายจิตวิญญาณและความเป็นปัจเจกของพวกเขาในฐานะที่เป็นมนุษย์



มันอาจจะฟังดูปัญญาอ่อนถ้าฉันจะบอกว่า ฉันนั่งดูซีรี่ส์หนังเบาสมองเรื่อง Glee แล้วน้ำตาตกเพียงเพราะครูคนหนึ่งยืนยันว่า นักเรียนมัธยมลูกศิษย์ของเขามีสิทธิแต่งตัวสไตล์โกธิกมาโรงเรียน
ในขณะที่ครูใหญ่กังวลว่าเธอจะมาเผยแพร่ลัทธิแม่มดในโรงเรียน
คุณครูบอกว่า "มีแต่ชีวิตในโรงเรียนมัธยมเท่านั้นแหละที่จะเปิดโอกาสให้เด็กได้ลองผิดลองถูก ค้นหาความเป็นตัวของตัวเองผ่านเสื้อผ้าและการแต่งตัวของพวกเขา"

โอ้ว่า อนิจจา ฉันฟังแล้วน้ำตาร่วงเผาะ เพราะคาถาของครู ของโรงเรียน และของ "ผู้ใหญ่" ในประเทศไทยมีแต่คำว่า ระเบียบ วินัย ที่ต่ำที่สูง เชื่อฟัง มารยาทงาม และคอยให้ใบประกาศเกียรติคุณแก่เด็กที่คอยก้มประนมกรได้สวยที่สุด ศิโรราบที่สุดเท่านั้น

ฉันฟังแล้วน้ำตาร่วงเผาะ เพราะเศร้าใจว่า สังคมไทยที่ฉันมีชีวิตอยู่นี้ล้าหลังกว่าซีรี่ส์เบาสมองเรื่องนี้อีกหรือ?
เชื่อสิ อ่านถึงตรงนี้ต้องมีคนบอกว่าฉันเว่อร์-กะอีแค่ทรงผมเนี่ยะนะ มันจะไปทำงานจิตวิญญาณของเด็กในฐานะที่เป็นปัจเจกบุคคล เว่อร์ๆๆๆๆๆๆ

ก็บอกแล้วไงว่าในฐานะของคนที่ต้องผ่านระบบทรงผม "ติ่งหู" มาเหมือนกันไม่มากก็น้อย เราได้ถูกทำให้เชื่อไปว่า ทรงผม เสื้อผ้า ระเบียบ วินัย ในโรงเรียนนั้นไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับ "การเมือง"
ดังนั้นเราจึงไม่เคยเอะใจว่า เอ๊ะ ทำไมทรงผมเด็กนักเรียนชายกับทรงผมนักโทษชายนั้นช่างคล้ายคลึงกันยิ่งนัก
โรงเรียนคือโรงงานผลิตพลเมืองที่ศิโรราบต่อ "อำนาจ" ที่แสนจะเป็นนามธรรม แต่มันได้ก่อรูปในจิตสำนึกของเราอย่างแจ่มชัด และเราก็พร้อมจะปกป้องกลไกของโรงงานแห่งนี้ให้ดำเนินอยู่ต่อไป

หากมีการทำประชามติว่า เราควรยกเลิกเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษาหรือไม่ ฉันเชื่อว่าเสียงของคนที่ "ไม่ยกเลิก" นั้นต้องชนะขาดแน่นอน

เช่นเดียวกับการที่คนไทยรู้สึกคุ้นเคยกับพิธีกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเรา การยืนตรงตามเวลาที่กำหนด การท่องจำคำขวัญที่ปราศจากตรรกะ การอยู่กับการประดับตกแต่งท้องถนนที่เราไม่มีวันเห็นในประเทศประชาธิปไตยอย่างแท้จริง การเขียน อ่าน พูด ถ้อยคำที่กลายเป็น "ชุดคำ" สำเร็จรูปอันปราศจากความหมายที่เข้าใจได้ (วิธีทดสอบชุดคำเหล่านี้คือ ให้ลองพยายามแปลเป็นภาษาอื่นๆ ดู)

เราถูกหล่อหลอมให้ศิโรราบ พร้อมๆ กันนั้นเราก็ถูกทำให้เชื่อว่าสิ่ง "อปกติ" ในสังคมของเรานั้นเป็นเรื่อง "ปกติ" และสังคมอื่นๆ ต่างหากเล่าที่ "อปกติ"

เวลาไปต่างประเทศเราไม่เคยตั้งคำถามว่า เหตุใดข้างถนนไม่มีคัตเอาต์คำขวัญปลุกใจ ไม่เคยเอะใจว่า เอ๊ะ ประเทศเหล่านี้ไม่ค่อยจะแสดงความรักชาติอย่างคึกคักเข้มแข็ง แต่ทำไมถึงพัฒนาสถาพรกว่าประเทศของเรานะ ประเทศชาติจะพัฒนาก้าวไกลมันต้องไปควบคู่กับความรักความสามัคคีจริงหรือไม่
เวลาไปยุโรปเราเคยสงสัยหรือเปล่าว่า เราชอบพูดว่าคน "ตะวันตก" นั้นวัตถุนิยม ทุนนิยม บริโภคนิยม ทำไมประเทศที่ทั้งวัตถุนิยม ทุนนิยมเหล่านั้นมีป่า มีปาร์กกลางเมืองเขียวชอุ่มกว่าประเทศที่เทิดทูนธรรมชาติและจิตวิญญาณอย่างเราน้า



"คณะกรรมการฯ พิจารณาเห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย (Shakespeare Must Die) มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ"
นี่คือเหตุผลที่หนังเรื่องนี้ถูกแบน และได้รับความสนใจจากสังคมนี้เพียงน้อยนิด เพราะศิโรราบพลเมืองอย่างพวกเราไม่เห็นว่าการแบนหนังเรื่องหนึ่งนั้นเกี่ยวข้องอย่างไรกับความเป็นประชาธิปไตยและการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่ง Freedom of Speech

เท่าๆ กับที่เราไม่เคยสนใจว่าทรงผมติ่งหู เกรียนหัว เครื่องแบบนักเรียน การเข้าแถวรับโอวาท การประกวดมารยาท ฯลฯ คือรังนอนอันอบอุ่นของอุดมการณ์อำนาจนิยมที่จะเป็นปฏิปักษ์ต่ออุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตยอย่างถาวร

ในโรงงานผลิตพลเมืองศิโรราบ เราท่องคำว่าสามัคคีจนไม่รู้ว่าสามัคคีแปลว่าอะไร คำคำนี้ถูกใช้และถูกทำให้เป็นการเมืองอย่างไร แปลมาจากคำว่าอะไร ชีวิตของคำหนึ่งคำชื่อ "สามัคคี" นั้น มีกำเนิด และคลี่คลายอย่างไรในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่และประวัติศาสตร์ภาษาไทยร่วมสมัย
นี่เป็นอีกหนึ่งเรื่องเล็กๆ ที่เราไม่เคยเห็นว่ามันเป็น "การเมือง"

ความเปราะบางต่อการแตกสลายของสังคมไทยเกิดขึ้นเพราะความแตกสามัคคีหรือเกิดขึ้นเพราะเราไม่เคยสร้างวัฒนธรรมการวิจารณ์ที่เข้มแข็ง ดังนั้นเราจึงไม่อาจยอมรับและอยู่ร่วมกับคนที่คิดต่างจากเรา ในเมื่อเราไม่อาจใช้ชีวิตร่วมกับคนที่คิดไม่เหมือนเรา สังคมนี้จึงพร้อมจะแตกสลายลงไปได้ทุกวินาที


ประวัติศาสตร์สังคมอื่นๆ สอนเราว่า ความเข้มแข็งของวัฒนธรรมและของหน่วยทางสังคมการเมืองที่ไม่ว่าจะเรียกมันด้วยชื่อใดก็ตามนั้น เข้มแข็งอยู่ได้เพราะการมีขันติธรรมและเคารพในทัศนะและอุดมการณ์ของผู้อื่นอันตั้งอยู่บนฐานของเสรีภาพในการคิด พูด และวิพากษ์วิจารณ์ มิใช่เข้มแข็งได้ด้วยความสามัคคีไปล่าแม่มดคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา

ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จะชอบหรือไม่ชอบหนังเรื่องเชคสเปียร์ต้องตาย แต่การที่เราจะได้ดูหนังเรื่องนี้และบอกว่าเราไม่ชอบ การถกเถียงกับคนที่ชอบหนังเรื่องนี้ การแสดงเหตุผล และการยอมรับในการมีอยู่ของกันและกันต่างหากที่จะทำให้สังคมไทยเติบโตเป็นผู้ใหญ่มีวุฒิภาวะกับเขาเสียที

มีแต่วัฒนธรรมแห่งการวิพากษ์วิจารณ์ เสรีภาพ และความรักในจิตวิญญาณของมนุษย์เท่านั้นที่จะรักษาสังคมไทยเอาไว้ไม่ให้แตกสลายเปราะบาง

มิใช่ดำเนินไปในทิศทางตรงข้ามภายใต้สอเสือสระอามอม้าไม้หันอากาศคอควายคอควายสระอี



.