http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-12

55 ปีทุนกองทัพไทย (ตอนที่ 1) โดย กานดา นาคน้อย

.

กานดา นาคน้อย: เศรษฐศาสตร์สามัญสำนึก 55 ปีทุนกองทัพไทย (ตอนที่ 1)
ใน http://prachatai.com/journal/2012/03/39802 . . Sat, 2012-03-24 13:16
และในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 12:00:00 น.


กานดา นาคน้อย
23 มีนาคม 2555

ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 สื่อมวลชนบางสังกัดและนักวิชาการบางกลุ่มร่วมกันสร้างวาทกรรม "ทุนสามานย์" เพื่อโจมตีกลุ่มทุนในธุรกิจโทรคมนาคมของอดีตนายกทักษิณฯ ว่าเป็นกลุ่มทุนผูกขาดที่ชั่วช้าสามานย์ราวปิศาจ วาทกรรมนี้ พยายามสร้างความชอบธรรมให้รัฐประหาร ทั้งๆที่จริงแล้วกองทัพไทยคือกลุ่มทุนที่ผูกขาดหลายกิจการมา 55 ปี ถ้าเรานิยาม "ทุนสามานย์" ว่าเป็นทุนผูกขาดก็แปลว่ากองทัพไทยเป็นทุนสามานย์มานานกว่าครึ่งศตวรรษ ดังนั้นถ้าเปรียบทุนสามานย์ว่าเป็นปิศาจ ก็แปลว่าสื่อมวลชนและนักวิชาการที่สนับสนุนรัฐประหารชื่นชอบปิศาจหน้าเก่าที่สิงประเทศมา 55 ปีมากกว่าปิศาจหน้าใหม่ที่สิงประเทศมาไม่ถึง 6 ปี


ทุนกองทัพไทยคือเอกลักษณ์ของทุนนิยมแบบไทยๆ

กองทัพบกภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเริ่มประกอบธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศตั้งแต่ปีพศ. 2500 กล่าวคือ ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจถ่ายทอดรายการทางโทรทัศน์ ธุรกิจกระจายเสียงทางวิทยุ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจการพนัน ส่วนกองทัพอากาศเริ่มธุรกิจการบินพาณิชย์ระหว่างประเทศตั้งแต่ปีพศ. 2502

การขยายกิจการของกองทัพเข้าสู่ธุรกิจเหล่านี้ทำให้เกิดการสะสมทุน (Capital accumulation) ภายในกองทัพมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2500 กองทัพมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเหมือนกลุ่มทุนอื่นๆ ในไทย ทำให้การป้องกันประเทศกลายเป็นกิจกรรมรองของกองทัพ กิจกรรมหลักของกองทัพคือการทำธุรกิจและทำรัฐประหารเพื่อผลประโยชน์จากธุรกิจ ความเป็นกลุ่มทุนของกองทัพไทยคือปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ทำให้ไทยมีรัฐประหารบ่อยจนติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก และทำให้ศักยภาพของอุตสาหกรรมอาวุธไทยต่ำมาก ไทยไม่มีวันกลายเป็นทุนนิยมสากลตราบใดที่ธุรกิจของกองทัพไม่โดนแปรรูปให้เป็นเอกชน การแปรรูปธุรกิจของกองทัพสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่าการแปรรูปรัฐวิสาหกิจด้วยซ้ำ


กองทัพสหรัฐฯ ไม่ใช่ต้นแบบโมเดลของทุนกองทัพไทย

แม้ว่ากองทัพไทยได้รับความช่วยเหลือทางการทหารจากกองทัพสหรัฐฯ ตั้งแต่สงครามเกาหลีในปี 2493 กองทัพสหรัฐฯไม่ใช่ต้นแบบความเป็นกลุ่มทุนเพราะกองทัพสหรัฐฯ ไม่ใช่กลุ่มทุน กองทัพสหรัฐฯ เกี่ยวข้องกับธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ ผ่านสัมปทานและการจัดซื้อเหมือนกองทัพในประเทศทุนนิยมสากลอื่นๆ เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาวุธ โทรคมนาคม หรือขนส่ง กองทัพในประเทศทุนนิยมสากลไม่ถือหุ้นธนาคารและไม่บริหารธนาคาร ไม่ถือหุ้นและไม่บริหารสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์ ไม่บริหารสายการบินพาณิชย์หรือสนามบินพาณิชย์ ไม่บริหารบ่อนพนัน และไม่บริหารอสังหาริมทรัพย์ในเชิงพาณิชย์

แม้ว่าค่ายทหารในสหรัฐฯ บางแห่งมีบริการสันทนาการและสนามกอล์ฟ บริการสันทนาการในค่ายทหารสหรัฐฯ มีลักษณะเดียวกับบริการสันทนาการในป่าสงวนแห่งชาติ คือมีที่ดินให้ตั้งแคมป์กลางแจ้งพร้อมบริการห้องน้ำสาธารณะ หรือบริการบ้านพักเคบินที่เรียบง่าย ค่ายทหารสหรัฐฯ ไม่มีบริการบ้านพักตากอากาศที่สะดวกสบายพร้อมห้องจัดเลี้ยงเหมือนโรงแรม นอกจากนี้ สหรัฐฯ มีสนามกอล์ฟสาธารณะมากมาย มหาวิทยาลัยทั้งรัฐบาลและเอกชนที่สหรัฐฯ จำนวนมากมีสนามกอล์ฟสาธารณะเช่นเดียวกัน ผู้เสียภาษีที่ไม่อยากจ่ายค่าใช้สนามกอล์ฟเอกชนที่ราคาแพงก็ใช้สนามกอล์ฟสาธารณะที่ราคาถูกกว่าได้ แต่ผู้เสียภาษีในไทยมีทางเลือกแค่สนามกอล์ฟเอกชนที่ราคาแพงและสนามกอล์ฟในค่ายทหารเท่านั้น

ดิฉันไม่มีเจตนาสนับสนุนให้ไทยหันมาสร้างสนามกอล์ฟสาธารณะมากมายแบบสหรัฐฯ เพราะสหรัฐฯ มีพื้นที่ใหญ่กว่าไทยถึง 20 เท่า ประเด็นคือการแสวงหากำไรจากทรัพยากรที่ดิน กล่าวคือ กองทัพไทยแสวงหากำไรจากที่ดินมากกว่ากองทัพในประเทศทุนนิยมสากล ถ้าจะปฎิรูปกองทัพไทยให้หมดสภาพความเป็นกลุ่มทุน-แบบกองทัพในประเทศทุนนิยมสากล ก็ต้องออกกฎหมายกำหนดให้กองทัพโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินบางส่วนคืนให้กรมที่ดินหรือกรมป่าไม้ รวมทั้งโอนกรรมสิทธิ์ให้สนามกอล์ฟและสนามกีฬาทหารกลายเป็นสนามสาธารณะ


ธนาคารทหารไทยคือฐานเงินทุนของทุนกองทัพไทย

ธนาคารทหารไทยเริ่มดำเนินกิจการในปี 2500 แต่จดทะเบียนเป็นธนาคารในปี 2499 ซึ่งเป็นปีเดียวกันที่นักธุรกิจอเมริกันร่วมกันก่อตั้งหอการค้าอเมริกันในไทยเพื่อสนับสนุนให้บรรษัทข้ามชาติอเมริกันเข้ามาลงทุนในไทย ด้วยการผลักดันของจอมพลสฤษดิ์ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกธนาคารทหารไทยขอใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์จากแบงค์ชาติและกระทรวงการคลังด้วยเหตุผลว่ากองทัพต้องการมีธนาคารเพือทำธุรกรรมต่างๆของกองทัพรวมทั้งการชำระเงินในการซื้อขายอาวุธ

ไม่มีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ใดๆ สามารถสร้างความชอบธรรมให้แก่การก่อตั้งธนาคารทหาร กองทัพในประเทศทุนนิยมสากลรวมทั้งสหรัฐฯ ไม่ถือหุ้นธนาคาร ไม่บริหารธนาคาร และใช้บริการธนาคารพาณิชย์ในการทำธุรกรรมรวมทั้งการซื้อขายอาวุธ สถาบันการเงินสำหรับทหารในประเทศทุนนิยมสากลจำกัดอยู่ในรูปแบบสหกรณ์ออมทรัพย์เหมือนสถาบันการเงินของผู้เสียภาษีในวิชาชีพอื่นๆ แม้แต่องค์การระหว่างประเทศที่ผลักดันระบบทุนนิยมอย่างธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศก็จำกัดสถาบันการเงินเพื่อพนักงานให้อยู่ในรูปแบบสหกรณ์ออมทรัพย์


สหกรณ์ออมทรัพย์ต่างจากธนาคารพาณิชย์อย่างไร? สหกรณ์ออมทรัพย์ระดมทุนด้วยเงินฝากจากสมาชิก (หรือผู้ถือหุ้น) และให้สินเชื่อบุคคลแก่ สมาชิก ส่วนธนาคารพาณิชย์ระดมทุนด้วยเงินฝากจากใครก็ได้เพื่อปล่อยสินเชื่อทั้งสินเชื่อบุคคลและสินเชื่อธุรกิจ ความแตกต่างอีกด้านที่สำคัญคือขนาด ธนาคารพาณิชย์เปิดสาขาได้ทั่วประเทศ แต่สหกรณ์ออมทรัพย์ผูกติดกับองค์กรวิชาชีพในระดับท้องถิ่นจึงเปิดสาขาทั่วประเทศไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ความสามารถในการระดมทุนของธนาคารพาณิชย์สูงกว่าสหกรณ์ออมทรัพย์มาก การก่อตั้งธนาคารทหารไทยเป็นการสร้างฐานเงินทุนให้แก่กองทัพและธุรกิจส่วนตัวของทหาร


รัฐประหารและการผูกขาดธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในไทย

ธนาคารทหารไทยเริ่มดำเนินกิจการในปีที่จอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม ปีถัดไปจอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารอีกครั้งและกลายเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลสฤษดิ์ได้ออกพ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์พ.ศ. 2505 เพื่อให้รัฐบาลมีอำนาจไม่ให้ใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ในอนาคต ทำให้ธุรกิจธนาคารพาณิชย์โดนผูกขาดโดยกองทัพและครอบครัวไม่กี่ครอบครัว พ.ร.บ.ดังกล่าวเพิ่งได้รับการยกเลิกเมื่อปีพศ. 2551 นี้เอง [1] แม้พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์พ.ศ. 2505 โดนยกเลิกแล้ว จำนวนธนาคารพาณิชย์ไทยไม่เคยมากกว่า 20 ตัวเลขนี้ต่ำกว่าในต่างประเทศมาก

ยกตัวอย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ประชากรสหรัฐฯ คิดเป็น 5 เท่าของประชากรไทย แต่จำนวนธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ มากกว่า 6,000 [2] คือมากกว่า 300 เท่าของไทย ในบางทศวรรษจำนวนธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ มากกว่า 10,000 ด้วยซ้ำ ต่อให้หักลบความแตกต่างของขนาดพื้นที่สหรัฐฯซึ่งมีพื้นที่ 20 ของไทย จำนวนธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯก็ยังมากกว่าไทยถึง 280 เท่า ในกรณีญี่ปุ่น ประชากรญี่ปุ่นคิดเป็น 2 เท่าของประชากรไทย แต่จำนวนธนาคารพาณิชย์ญี่ปุ่นมากกว่า 120 [3] คือมากกว่า 6 เท่าของไทย นอกจากนี้พื้นที่ประเทศญี่ปุ่นก็เล็กกว่าไทยด้วย ที่สำคัญ ทั้งญี่ปุ่นและสหรัฐฯ มีธนาคารพาณิชย์ท้องถิ่นที่แข่งขันกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่มีสาขาทั่วประเทศ


การแปรรูปธนาคารทหารไทยหลังวิกฤตการเงินพ.ศ. 2540

ปัจจุบันกองทัพลดสัดส่วนการถือหุ้นธนาคารทหารไทยเหลือเพียง 2.15% [4] แต่ก็ยังนับว่าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 6 การลดสัดส่วนถือหุ้นของกองทัพไม่ได้เกิดความตั้งใจของกองทัพ กองทัพไม่เคยต้องการเลิกเป็นเจ้าของหรือเลิกบริหารธนาคารทหารไทย [5]

สัดส่วนการถือหุ้นที่ลดลงมาเป็นผลลัพธ์จากปัญหาหนี้เสียของธนาคารทหารไทย กระทรวงการคลังกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เพราะการอัดฉีดเงินเพื่ออุ้มธนาคารทหารไทยหลังวิกฤตการเงินพ.ศ. 2540 นอกจากนี้ธนาคารทหารไทยจำเป็นต้องเพิ่มทุนด้วยการขายหุ้นให้นักลงทุนต่างชาติ ธนาคารทหารไทยได้เปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษจาก Thai Military Bank เป็น TMB Bank เพื่อประชาสัมพันธ์ต่อนักลงทุนต่างชาติว่าไม่ใช่ "ธนาคารของทหาร" แต่ผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดก็ยังไม่ใช่เอกชนอยู่ดี ดังนั้นการแปรรูปธนาคารทหารไทยยังไม่แล้วเสร็จตราบใดที่กระทรวงการคลังยังไม่สามารถขายหุ้นให้เอกชน ที่สำคัญ ตราบใดที่ไม่มีกฎหมายห้ามกองทัพถือหุ้นธนาคารพาณิชย์และบังคับให้กองทัพขายหุ้นธนาคารทหารไทยให้เอกชนให้หมด กองทัพไทยก็จะคงสภาพความเป็นกลุ่มทุนและการป้องกันประเทศก็จะไม่มีวันเป็นกิจกรรมหลักของกองทัพไทย


ธุรกิจอื่นๆ ของกองทัพไทย

นอกจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ จอมพลสฤษดิ์ได้วางรากฐานการสะสมทุนของกองทัพไว้หลายกิจการ อาทิ สถานีวิทยุและโทรทัศน์กองทัพบก ที่ดินสาธารณะถูกโอนกรรมสิทธิจากกรมป่าไม้ให้กลายเป็นกรรมสิทธิ์ของกองทัพบกในยุครัฐบาลสฤษดิ์ เช่น ที่ดินริมทะเลกว่าพันไร่ในสวนสน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กองทัพพัฒนาที่ดินบางส่วนให้เป็นสนามกอล์ฟและสนามกีฬากองทัพบก สนามกีฬากองทัพบกในบางจังหวัดได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการบ่อนพนันแข่งม้า ส่วนกองทัพอากาศก็ดำเนินธุรกิจการบินพาณิชย์ระหว่างประเทศตั้งแต่ยุครัฐบาลสฤษดิ์ กล่าวได้ว่าจอมพลสฤษดิ์คือ "บิดาของทุนกองทัพไทย"

ในตอนต่อไปดิฉันจะเขียนถึงธุรกิจเหล่านี้และบทบาทของ "บุตรหลานของทุนกองทัพไทย" ที่รับมรดกมาจากจอมพลสฤษดิ์


หมายเหตุ
[1] พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน : http://www.bot.or.th/Thai/LawsAndRegulations/Pages/Law_3.aspx
[2] จำนวนธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ : http://research.stlouisfed.org/fred2/series/USNUM
[3] สมาชิกสมาคมธนาคารญี่ปุ่น: http://www.zenginkyo.or.jp/en/outline/list_of_members/
[4] โครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ธนาคารทหารไทย จากัด (มหาชน) : http://www.tmbbank.com/ir/share-info/major-shareholders.php
[5] "ทำไม! กองทัพในแบงก์ทหารไทยไม่มีวันแยกจากไปเด็ดขาด" นิตยสารผู้จัดการ (กรกฎาคม 2535) : http://www.gotomanager.com/news/printnews.aspx?id=6700


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

บทความตอนต่อไป - 55 ปีทุนกองทัพไทย (ตอนที่ 2) โดย กานดา นาคน้อย อ่านที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2012/04/kd-tmc2.html



.