http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-20

"ฟูคุชิมา"สะเทือนโลก (3) (4) โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน

.

อ่าน "ฟูคุชิมา" สะเทือนโลก (1) (2) โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน ที่ http://botkwamdee.blogspot.com/2012/04/ts-fksm.html

* * * * * * * * * * * * * * * * *

ฟุคุชิมา สะเทือนโลก (3)
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1652 หน้า 40


"มหันตภัยฟุคุชิมา ยังไม่สิ้นสุด" สกู๊ปพิเศษเขียนโดย "โจนาธาน วัตส์" นักข่าวหนังสือพิมพ์การ์เดียน แห่งอังกฤษ ครั้งหนึ่งเคยประจำอยู่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หลังเกิดเหตุโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา
นักข่าวคนนี้ได้รับจดหมายจาก "เรโกะ" เพื่อนชาวญี่ปุ่น
แม้คนรับจดหมายจะรู้สึกยินดีเพื่อนเก่าจากแดนไกลส่งข่าวมา แต่เนื้อหาในจดหมายกลับมีเรื่องราวอันน่าเศร้า

"เรโกะ" เริ่มต้นจดหมายด้วยธรรมเนียมปฏิบัติของคนญี่ปุ่น บรรยายถึงฤดูกาลและความรู้สึกในใจที่มีต่อธรรมชาติ
"ที่โตเกียว เป็นช่วงฤดูใบไม้ผลิ และดอกเชอร์รี่กำลังเบ่งบาน ในสวนเล็กๆ นอกชานเรือนของฉัน มีต้นทิวลิป ต้นกุหลาบและสตรอว์เบอร์รี่
ฉันกำลังจะบอกว่า ฤดูกาลใหม่มาถึงแล้ว แต่รู้สึกเศร้า เพราะรู้ว่ามันไม่เหมือนฤดูไม้ผลิเหมือนปีที่แล้ว ทุกอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ปนเปื้อนไปด้วยกัมมันตรังสี"

จดหมายของเรโกะพรรณนาสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวที่เปลี่ยนไป เปรียบเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์
ทุกวันเธอต้องใส่หน้ากากกรองอากาศ กางร่มป้องกันน้ำฝนปนเปื้อนรังสี ผู้คนรอบๆ ข้างพูดถึงเรื่องราวของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟุคุชิมา
เมื่อเดินไปซื้อของที่ร้านซูเปอร์มาร์เก็ต เรโกะเคยคิดซื้อแต่ของใหม่ๆ สดๆ แต่เดี๋ยวนี้ต้องควานหาของเก่าๆ ผลิตก่อนเหตุระเบิด เพราะรู้สึกปลอดภัยกว่า
เรโกะขุ่นเคืองเป็นโกรธเป็นแค้นรัฐบาลที่ให้ข้อมูลผิดๆ เธอกลัวผลร้ายจะเกิดขึ้นกับลูก

หลังจากนั้นอีกห้าเดือน นักข่าวการ์เดียน เดินทางกลับไปญี่ปุ่นอีกครั้ง
การไปคราวนี้ "วัตส์" มีโอกาสตะลุยพื้นที่บริเวณรอบๆ โรงไฟฟ้าฟุคุชิมา เมืองอิวาเตะ ที่ราบเป็นหน้ากลองด้วยอิทธิฤทธิ์ของคลื่นยักษ์สึนามิ บุกไปสัมภาษณ์ผู้คนที่อพยพออกจากเขตปนเปื้อนกัมมันตรังสี
"เรโกะและเพื่อนๆ ของเธอต้องการให้คนจากภายนอกเข้าไปเห็นและสัมผัสสิ่งเกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงเพื่อต้องการให้รายงานข่าวออกไปเท่านั้น แต่อยากให้ช่วยตัดสินด้วยว่าญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่ปลอดภัยอยู่อีกหรือเปล่า" วัตต์พูดถึงแรงจูงใจที่กลับไปญี่ปุ่น



ในวันที่ 11 มีนาคม 2554 ชาวญี่ปุ่นเผชิญมหันตภัยพร้อมกันถึง 3 อย่าง
1. แผ่นดินไหว แรงสะเทือนวัดได้ 9 ริกเตอร์ ติดอันดับ 1 ใน 5 ของแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในโลก
2. คลื่นยักษ์สึนามิ วัดความสูงได้ถึง 40 เมตร มีพลังรุนแรงที่สุด
3. โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา ระเบิดเนื่องจากแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิ ส่งผลให้กัมมันตรังสีรั่วไหลออกจากเตาปฏิกรณ์ รังสีที่ฟุ้งกระจายออกมานั้นมีมากกว่าเมื่อครั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิด

รัฐบาลญี่ปุ่นต้องออกประกาศภาวะฉุกเฉินกินเวลานาน 6 เดือนกว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ร่องรอยความสูญเสียจากภัยพิบัติทั้งสามอย่างยังไม่หมดสิ้น
เหยื่อมหันตภัยทั้งสามอย่างนั้น ตกอยู่ในภาวะสิ้นหวัง จิตใจห่อเหี่ยว เป็นทุกข์ทรมานอย่างที่สุด


"วัตส์" รายงานว่า ถนนหนทางในพื้นที่ประสบมหันตภัยนั้น ทางการญี่ปุ่นเก็บกวาดซากปรักหักพังและซ่อมแซมบางส่วนจนเกือบกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ผู้อพยพที่อยู่ในอาคารฉุกเฉินเริ่มทยอยกันกลับบ้านแล้ว แต่ชาวญี่ปุ่นเหล่านั้นซึ่งมีจำนวนนับล้านคนจิตใจยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะปกติ
"ทุกๆ วัน พวกเขาต้องปรับตัวเปลี่ยนสภาพจิตใจให้เป็นปกติ แต่ดูเหมือนเป็นเรื่องยาก"
ความรู้สึกที่พวกเขามีกับ "กัมมันตรังสี" เป็นเรื่องใหญ่ แม้วันนี้การวัดปริมาณกัมมันตรังสีในพื้นที่จะมีระดับลดลงเรื่อยๆ
แต่กัมมันตรังสีที่มองไม่เห็นนั้นจะแทรกซึมเข้าไปใน "ดีเอ็นเอ" หรือพันธุกรรม อีกสิบปียี่สิบปีพันธุกรรมที่มีกัมมันตรังสีปนเปื้อนด้วยจะกลายเป็นมะเร็งร้ายหรือเปล่า ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครบอกได้

"วัตส์" ย้อนอดีตเมื่อครั้งเตาปฏิกรณ์ของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลที่ยูเครน ระเบิด องค์การอนามัยโลก หรือ "ฮู" บอกว่า ผู้คนที่อยู่รอบๆ จุดเกิดเหตุต่างมีปัญหาเรื่องสภาวะทางจิตใจมาก
คนเหล่านี้เกิดความรู้สึกเครียด คับข้องใจ มีทัศนคติในทางลบอย่างรุนแรงและรู้สึกว่ากัมมันตรังสีจะแพร่กระจายเข้าสู่ร่างกาย จะนำไปสู่การเป็นโรคภัยอันตรายต่างๆ


เมื่อเปรียบกับชาวญี่ปุ่น อยู่ในประเทศที่มีข้อมูลเที่ยงตรง แม่นยำกว่า กลับปรากฏว่า ทั้งยูเครนและชาวญี่ปุ่น มีความรู้สึกไม่ต่างกันเท่าไหร่

มหันตภัยทั้งสามที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกัน ทำให้ญี่ปุ่นซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นประเทศที่มีระบบการดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนยอดเยี่ยม มีมาตรฐานสูงด้านสุขภาพอนามัยและอาหารการกิน เปลี่ยนภาพลักษณ์ไป
ชาวญี่ปุ่นกำลังตั้งคำถามกับตัวเองว่า จะอยู่ในพื้นที่ที่ปนเปื้อนกัมมันตรังสีอีกต่อไปหรือไม่
จะยอมรับสภาพแวดล้อมที่ยังไม่มีความมั่นใจเลยว่า กัมมันตรังสีตกค้างอยู่หรือเปล่า ไม่รู้ว่ากัมมันตรังสีที่ปนเปื้อนอยู่ในเรือกสวน ไร่นา โรงเรียน ชุมชนนั้นจะเกิดผลร้ายในอนาคตกับลูกหลานแค่ไหน?



++

ฟุคุชิมา สะเทือนโลก (4)
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1653 หน้า 40


บทความของ "โจนาธาน วัตส์" นักเขียนสิ่งแวดล้อมและคอลัมนิสต์ หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน แห่งอังกฤษ ยังบรรยายความเป็นไปสภาพภายหลังเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุคุชิมาระเบิดเนื่องจากแผ่นดินไหว แรงสั่นสะเทือน 9.0 ริกเตอร์ และคลื่นสึนามิซัดถล่มเมื่อบ่ายวันที่ 11 มีนาคม 2554 โดยพูดถึง "ชาชิโกะ มาสุยามา" สาววัย 29 แห่งเมืองมินามิ-โซมา อยู่ในพื้นที่จังหวัดฟุคุชิมา ห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 25 กิโลเมตร
"มาสุยามา" เพิ่งทราบว่าตัวเองตั้งครรภ์ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ก่อนเกิดมหันตภัยเพียง 2 วัน คิดว่าในอีกไม่ช้าจะได้ลูกคนที่สาม แต่โชคชะตาเปลี่ยนชีวิตอย่างฉับพลันและขนานใหญ่
ทันทีที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด "มาสุยามา" หอบเสื้อผ้าหนีออกมาจากบ้านพักเพื่อให้พ้นจากรัศมีของกัมมันตรังสี
สิ่งที่เป็นกังวลตามมาก็คือ ลูกในท้องจะได้รับผลกระทบจากรังสีอำมหิตหรือไม่?


"ครั้งที่'มาสุยามา'เข้าไปตรวจร่างกายกับหมอในโรงพยาบาล รู้สึกวิตกว่ากัมมันตรังสีและอัลตราซาวด์จะทำให้ลูกพิการ เธอนับนิ้วมือนิ้วเท้าของลูกหลายครั้ง หมอให้ความมั่นใจว่าผลการตรวจไม่มีความผิดปกติใดๆ แต่ไม่มีใครรู้จนกว่าจะคลอดในเดือนพฤศจิกายน หรือบางทีก็ไม่แน่อาจเกิดอะไรขึ้นก็ได้หลังจากนั้นความกังวลทำให้มาสุยามาครุ่นคิดอย่างหนักจนบางครั้งคิดฆ่าตัวตายหรือไม่ก็ทำแท้ง" วัตส์บรรยายในบทความ "มหันตภัยฟุคุชิมา ยังไม่สิ้นสุด" ในเดอะ การ์เดียน เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว
เวลานั้น "มาสุยามา" อพยพไปอยู่ในอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งของกรุงโตเกียว ช่วงสองเดือนแรกเธอคิดเพียงจะเอาชีวิตรอดได้อย่างไร แต่ในเวลาต่อมาเริ่มรู้สึกเครียดมากขึ้น ไม่มีการช่วยปรับทุกข์ เพื่อนๆ พากันหนีตายกระจัดกระจายไปอยู่ที่อื่นๆ
หลังจากนั้น . . ญาติบอก "มาสุยามา" ให้ย้ายกลับบ้านเกิดเพราะพื้นที่จุดเกิดเหตุนั้นบริษัทโตเกียวอิเล็กทริกส์ เพาเวอร์หรือเทปโก และรัฐบาลญี่ปุ่นอ้างว่าปลอดภัยแล้ว แต่มาสุยามาไม่เชื่อข้อมูลของทางการอีกต่อไป

"เมื่อครั้งที่ดูหนังสารคดีเหตุการณ์โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลที่ยูเครนระเบิดมันน่ากลัวมาก แต่ฉันตัดสินใจจะมีลูก ฉันจะฆ่าลูกที่ยังไม่ได้เกิดได้อย่างไร" มาสุยามาเอ่ยความในใจ
"มาสุยามา" อยากจะกลับบ้านเกิด ในขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการบำบัดฟื้นฟูจากเหตุภัยพิบัติ "โรงไฟฟ้าฟุคุชิมา" ถนนหลายสายกลับมาสะอาดเหมือนเดิม แต่ยังไงก็ต้องตัดสินใจเลือกอยู่ที่โตเกียวไปก่อน แม้ว่าจะอยู่อย่างโดดเดี่ยวแต่รู้สึกปลอดภัย



วัตส์เดินทางไปดูพื้นที่รอบๆ จังหวัดฟุคุชิมา สภาพดูดีขึ้นมาก ชานเมืองมีทุ่งข้าวเขียวขจี รถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่านเทือกเขา ท้องฟ้าใสสะอาด
แต่เมื่อมองอย่างพินิจจะเห็นผู้คนใส่ชุดกาวน์ห้อยเครื่องวัดกัมมันตรังสีอยู่ด้วย ร้านค้าขายดีวีดีเปิดแล้วมีหนังฮอลลีวู้ดล่าสุดให้เช่าด้วย สนามเด็กเล่นมีนักเรียนจำนวนมากวิ่งไปมา รถแทร็กเตอร์ขุดลอกหน้าดินราว 50 เซนติเมตร เพื่อพลิกกลบดินปนเปื้อนกัมมันตรังสี
หนังสือพิมพ์และทีวีท้องถิ่นรายงานผลการตรวจวัดการปนเปื้อนของกัมมันตรังสีทุกวัน
ตลอดหกเดือน ข่าวการปนเปื้อนของกัมมันตรังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมามีอยู่อย่างต่อเนื่อง บ้างก็พบซีเซียม (cesium) ในนมมารดา สตรอนเนียม มีอยู่ในรายงานผลการตรวจร่างกายเด็กๆ และยังมีรายงานด้วยว่า ชาวนาในพื้นที่เกิดอาการท้อแท้ผิดหวัง

วัตส์คุยกับ "โคยุ อาเบะ" พระนิกายเซน เจ้าอาวาสวัดอยู่นอกชานเมืองฟุคุชิมา เป็นนักต่อสู้ "รังสี"
พระอาเบะอนุญาตให้ชาวบ้านนำดินปนเปื้อนกัมมันตรังสีมาเทถมใส่บริเวณวัดและเนินดินด้านหลัง เมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วงเชื่อว่าใบไม้ที่ร่วงทับถมผืนดินจะช่วยดูดซับอันตรายจากกัมมันตรังสี
เจ้าอาวาสนิกายเซนห่วงใยผู้คนในพื้นที่โดยเฉพาะสภาวะทางจิตใจ เนื่องจากเห็นว่าข้อมูลที่ได้รับหลังเกิดภัยพิบัติกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นทำให้ผู้คนเกิดความไม่มั่นใจ เกษตรกรรู้สึกวิตกกังวลว่าผืนดินที่ปลูกพืชไร่จะมีสารอันตรายปนเปื้อน คนหนุ่มสาวพากันอพยพหนีออกจากพื้นที่

ในช่วงเกิดเหตุใหม่ๆ ทางฝ่ายรัฐญี่ปุ่นบอกกับประชาชนว่า จุดเกิดเหตุอยู่ในสภาวะปลอดภัย ไม่มีความเสี่ยงใดๆ กับสุขภาพ เกณฑ์ความปลอดภัยอยู่ในขั้นที่สี่เมื่อเทียบกับมาตรฐานนานาชาติ
แต่ให้หลังจากนั้นเพียงเดือนเดียว ระดับเกณฑ์ความรุนแรงจากภัยพิบัติของโรงไฟฟ้าฟุคุชิมาทะลุขึ้นไปถึงขั้นที่ 7 เป็นระดับสูงสุดเทียบเท่ากับเหตุการณ์ที่เกิดกับโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล


คอลัมน์นิสต์แห่งเดอะ การ์เดียน สัมภาษณ์คนงานเข้าไปฟื้นฟูบำบัดพื้นที่โรงไฟฟ้าฟุคุชิมา ใช้ชื่อสมมติว่า "ทีซัง" หรือนายที
"ทีซัง" อพยพออกจากโรงไฟฟ้าฟุคุชิมาหลังเกิดเหตุแล้ว และอีกสองสัปดาห์ต่อมาได้กลับเข้าไปช่วยงานใหม่อีกครั้ง
"ที่โรงไฟฟ้า ไม่มีใครพูดถึงเหตุการณ์เตาปฏิกรณ์หลอมละลาย เราไม่เคยได้รับการฝึกปฏิบัติการฉุกเฉินเมื่อเกิดเหตุวิกฤต ไม่เคยมีใครสอบ แต่เรารู้ว่าสถานการณ์ในขณะนั้นอยู่ในขั้นเลวร้าย ผมคิดว่าอาจเป็นภารกิจสุดท้ายของผม เปรียบเหมือนผมเป็นนักบินกามิกาเซ่พร้อมสังเวยชีวิตเพื่อครอบครัวและประเทศญี่ปุ่น" ทีซังให้สัมภาษณ์

ตั้งแต่เดือนมีนาคม ทีซังได้รับกัมมันตรังสีราว 50 มิลิซิเวิร์ต เทียบเท่ามาตรฐานสูงสุดที่ทางการญี่ปุ่นกำหนดให้คนได้รับรังสีตลอดหนึ่งปี
คนงานของเทปโก้ 410 คนได้รับรังสีเท่ากับ "ทีซัง" หลังโรงไฟฟ้าระเบิดแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นอนุญาตให้เพิ่มระดับกัมมันตรังสีกับคนงานที่เข้าไปฟื้นฟูบำบัดโรงไฟฟ้าได้มากถึง 250 มิลลิซิเวิร์ต
การเปลี่ยนแปลงเกณฑ์มาตรฐานอย่างฉับพลันเช่นนี้ ทีซังไม่รู้ว่าจะมีผลอันตรายกับคนงานมากน้อยแค่ไหนและรู้สึกสับสนกับข้อมูลที่ได้รับ
องค์การอนามัยโลก กำหนดไว้ว่า ระดับกัมมันตรังสีที่คนจะได้รับตลอดทั้งปีไม่ควรเกิน 2.4 มิลลิซิเวิร์ต
การถ่ายเอ็กซเรย์ปอดในแต่ละครั้งจะได้รับกัมมันตรังสี 0.1 มิลลิซิเวิร์ต ถ้านั่งเครื่องบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกจะรับกัมมันตรังสี 0.5 มิลลิซิเวิร์ต และถ้าถ่ายสแกนทั้งตัวด้วยเครื่องทีสแกน จะรับกัมมันตรังสี 12 มิลลิซิเวิร์ต


"มาริ อิชิโมริ" ตั้งครรภ์และอพยพออกจากฟุคุชิมาไปอยู่ที่กรุงโตเกียว เป็นอีกคนที่พยายามมองหาความสมดุลระหว่างการเป็นหญิงท้องกับแรงกดดันให้ต้องอยู่กับสามีที่บ้านเกิด
"อิชิโมริ" ต้องการให้เด็กที่จะคลอดมีสภาพปกติสมบูรณ์ แต่ถ้าอยู่ในฟุคุชิมา ยากที่จะได้สัมผัสดิน ใบไม้หรือไปเล่นน้ำในแม่น้ำ เพราะกลัวว่าจะมีกัมมันตรังสีปนเปื้อน

'อิบากุชา' คือคนที่รอดชีวิตจากเหตุการณ์เมื่อครั้งสหรัฐทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ถล่มเมืองฮิโรชิมา ในสงครามโลกครั้งที่สอง
"อิชิโมริ" เป็นหนึ่งในอิบากุชา เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องที่ไม่ยากจะเข้าใจเลยว่าทำไมเธอจึงกลัวรังสี
อีกเดือนถัดมา "อิชิโมริ" คลอดลูก เธอหลีกเลี่ยงกินปลา เนื้อและไข่ อีกทั้งยังรู้สึกสงสัยกับข้อมูลที่ทางการญี่ปุ่นเผยแพร่ออกมา
ข้อมูลปริมาณกัมมันตรังสีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ยังมีความคลุมเครือ

ในเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิด คนงานจำนวน 134 คนที่อยู่ในจุดเกิดเหตุป่วยเพราะได้รับกัมมันตรังสีเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้ 28 คนเสียชีวิตภายในระยะหนึ่งปี
ชาวเบลารุสและคนที่ในยุโรปเหนือมีพรมแดนติดกับยูเครนจำนวนนับล้านได้รับกัมมันตรังสีด้วยแต่ในปริมาณที่น้อยกว่า ผลการศึกษาขององค์การอนามัยโลก พบว่าในอีก 20 ปีหลังเกิดเหตุ "เชอร์โนบิล" แล้ว มีผู้ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง 4,000 คน
สูงกว่าอัตราปกติ 4 เปอร์เซ็นต์



.