.
บทวิเคราะห์ - พท.เปิดแนวรบ "นิติบัญญัติ" ปรองดอง-แก้รัฐธรรมนูญ ป้องรัฐบาล-รุกคืบการเมือง
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
"พวกน้อย" ลากไป
โดย นายดาต้า คอลัมน์ เมนูข้อมูล
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1650 หน้า 21
กระบวนการสร้างความปรองดองกำลังเป็นวาระใหญ่ของประเทศ
ทุกฝ่ายแสดงออกในทางเห็นดีเห็นงาม แม้มองลึกไปที่บางฝ่ายอาจจะเห็นร่องรอยของอาการฝืนใจอยู่บ้าง ทว่า ไม่สามารถพูดกันได้เต็มปากเต็มคำนัก
เพราะทุกคนรู้ดีว่า การต่อต้านปรองดองแบบเต็มร้อยคือการฝืนกระแส
อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ออกหน้าต้านอย่างเปิดเผย แต่ความพยายามที่จะหยุดกระบวนการปรองดอง หรือชะลอความเร็วยังทำกันอย่างเต็มที่ ด้วยการตั้งข้อสงสัยในในรายละเอียดของเนื้อหาและวิธีการ
สรุปรวมความว่าการต่อต้านปรองดองนั้น แม้จะแสดงท่าทีแบบเกรงอกเกรงใจ แต่ความเคลื่อนไหวยังเข้มข้น
ซึ่งปัญหาของประเทศไทยเราอยู่ที่ คนกลุ่มเล็กมักเสียงดัง เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้ใส่ใจแสดงออกทางการเมือง
ข้อมูลที่รู้กันอยู่ทั่วไป ความขัดแย้ง แตกแยกทางการเมืองเป็นเรื่องของคนกลุ่มเล็กๆ 2 กลุ่มเท่านั้น
คนส่วนใหญ่ซึ่งน่าจะมีมากกว่าร้อยละ 60 ไม่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ทว่า ไม่เกี่ยวข้องใช่ว่าไม่รับรู้ เพียงแต่มุ่งความสนใจไปที่การทำมาหากินมากกว่าการเมือง
หากดูจากผลสำรวจของเอแบคโพลล์ล่าสุด จะพบว่าแม้คนที่เชื่อมั่นว่าสถานการณ์การเมืองประเทศไทยจะสามารถเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยได้ โดยถือความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติจะมีมากถึงร้อยละ 50.8
แต่คนที่ไม่เชื่อมั่นก็มีถึงร้อยละ 49.2 เกือบครึ่ง
สะท้อนว่าคนไม่น้อยที่ยังไม่เชื่อว่าประเทศไทยจะสงบ
แต่คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ร้อยละ 50 กังวลเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องมากกว่า
มีแค่ร้อยละ 12.9 เท่านั้นที่กังวลกับการเมืองมากกว่า
และร้อยละ 12.9 กังวลทั้ง 2 เรื่อง ร้อยละ 4.7 ไม่กังวลทั้ง 2 เรื่อง
คนส่วนใหญ่ไม่ใส่ใจกับการเมือง
แต่อาจจะเป็นเพราะไม่ใส่ใจ จึงไม่สนใจที่จะออกเสียง
ไม่เหมือนกับคนส่วนน้อยที่หยิบเอาทุกเรื่องมาโยงกับการเมือง และใส่ความคิดความเชื่อของตัวเองเข้าไป ตะโกนด่าทอฝ่ายตรงกันข้าม สรรเสริญพรรคพวกตัวเอง
พฤติกรรมของคนกลุ่มเล็กๆ ที่เสียงดังเหล่านี้ ทำให้ภาพของการเมืองไทยเป็นเรื่องของความแตกแยก
กระบวนการปรองดองเกิดขึ้นแล้ว ท่ามกลางเสียงต่อต้านระเบ็งเซ็งแซ่
เหมือนกับไม่มีทางที่จะทำได้สำเร็จ จนหลายคนเสนอให้ยืดเวลาออกไป เพื่อรอให้พร้อมมากกว่านี้
คำถามก็คือ นั่นคือทางออกจริงหรือ
หลายปีที่ผ่านมานี้เป็นที่พิสูจน์ชัดอยู่แล้วว่า ไม่มีทางที่ประเทศไทยเรานี้จะมีเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่สร้างความเห็นพ้องต้องกันในทุกฝ่ายได้
สาเหตุที่แท้จริงอยู่ที่คนกลุ่มเล็กๆ 2 กลุ่มไม่ยอมให้เป็นอย่างนั้น
เพราะการออกมาส่งเสียงทำให้ 2 กลุ่มเล็กๆ มีอิทธิพลต่อกระแส เพราะคนกลุ่มใหญ่พากันนิ่งเฉยไม่อยากจะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
สภาพเป็นเช่นนี้มาเนิ่นนาน
และจะเป็นต่อไปอีกยืดยาว
ทางออกที่ควรจะเป็นก็คือ แม้จะยังให้ความสำคัญของเสียงกลุ่มน้อย แต่ต้องหนักแน่นว่าประเทศจะต้องเดินไปข้างหน้า จะเอาความขัดแย้งของคนกลุ่มเล็กๆ 2 กลุ่มมามีอิทธิพลต่อการแก้ปัญหาของประเทศเกินกว่าความเป็นจริงไม่ได้
หากคิดว่าสิ่งใดเหมาะสมต้องกล้าที่จะทำ
หากทำในสิ่งที่ควรทำ คนส่วนใหญ่จะให้การสนับสนุนเอง
++
สุชาติ ศรีสุวรรณ : ไล่ปีศาจในใจ "ประชาธิปัตย์"
คอลัมน์ ที่เห็นและเป็นไป จาก www.prachachat.net วันอาทิตย์ที่ 01 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 18:30:33 น.
มีความสงสัยอย่างหนึ่งติดค้างในใจ และนับวันที่จะตอกย้ำว่าควรจะต้องหาคำตอบ
เพราะหากไม่ได้คำตอบนี้ จะก่อความรู้สึกว่า "ไม่เข้าใจธรรมชาติของการเมือง"
คำถามที่ว่าก็คือ "ทำไมพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ ประกาศมาตลอดทุกยุคสมัยว่าเชื่อมั่นในระบอบรัฐสภา จึงกลับกลายไปมีภาพของพรรคที่สนับสนุนอำนาจนอกระบบ ฝักใฝ่ที่จะแสวงหาและขึ้นสู่อำนาจด้วยกลไกเผด็จการไปได้"
ไม่เชื่อหรอกครับ ว่าพรรคประชาธิปัตย์ที่บุคลากรในพรรคได้ดิบได้ดีมีอำนาจวาสนา ร่ำรวยเงินทองยศถาบรรดาศักดิ์มาด้วยประชาธิปไตย จะมีสำนึกฝักใฝ่เผด็จการเหมือนที่ถูกโจมตี
พรรคประชาธิปัตย์น่าจะมีความจำเป็นบางอย่างมาเป็นปัจจัยบีบคั้นให้ต้องเดินไปในวิถีทางที่ถูกมองว่าฝักใฝ่การอุ้มชูจากอำนาจเผด็จการ
เพื่อให้เข้าใจเรื่องนี้ คงต้องหาให้พบก่อนว่าความจำเป็นนั้นคืออะไร
อะไรทำให้พรรคการเมืองที่ผู้นำพรรคทุกยุคทุกสมัยประกาศจนเป็นหลักการของพรรคว่า "เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา" กลับกลายมาเป็นพรรคที่พยายามใช้วาทกรรม "เผด็จการรัฐสภา" และ "พวกมากลากไป" มาเป็นอาวุธในการทำลายคู่ต่อสู้
ทั้งที่วาทกรรมนี้ เป็นข้อกล่าวหาของ "ฝ่ายนิยมเผด็จการ" ที่นำมาใช้ทำลายฝ่ายประชาธิปไตย ทำลาย "ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบอบรัฐสภา" มาเนิ่นนาน
ทำไม "ประชาธิปัตย์" ซึ่งเป็นพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย จึงหยิบยกวาทกรรมที่เป็นเครื่องมือของ "เผด็จการ" มาใช้อย่างเต็มปากเต็มคำ
เหล่านี้เป็นคำถามที่ค้างคา ที่เรียกร้องให้ค้นหาคำตอบเพื่อเข้าใจ "ธรรมชาติของการเมือง"
คงไม่มีทางที่จะหาคำตอบได้เลย หากไม่ค้นให้เจอว่า "วาทกรรมเผด็จการ" เหล่านี้ แทรกเข้ามาอยู่ในสมอง "นักประชาธิปไตยผู้เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย" อย่าง "พลพรรคประชาธิปัตย์" ตั้งแต่เมื่อไร
เมื่อย้อนรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ดู ก่อนหน้านั้นอาจจะมีบ้าง แต่ที่ชัดเจนที่สุดคือเมื่อ "พรรคประชาธิปัตย์" พ่ายแพ้การเลือกตั้งต่อพรรคการเมืองใหม่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้นำ
เป็นการพ่ายแพ้อย่างราบคาบ แพ้ซ้ำซาก แพ้ทั้งที่สถานการณ์ไม่ควรจะแพ้
พ่ายแพ้ชนิดที่มองไม่เห็นทางว่าพรรคประชาธิปัตย์จะกลับมาชนะ เข้ามามีอำนาจรัฐได้ด้วยการเลือกตั้ง
ความพ่ายแพ้อย่างหมดสภาพ มองไม่เห็นหนทางที่จะเข้ามาควบคุมอำนาจรัฐผ่านกระบวนการเลือกตั้งได้อย่างไร น่าจะเป็นเข็มที่ทิ่มแทงจิตใจ จนสมองเปิดรับ "วาทกรรมเผด็จการ" เข้าไปในสมองคนของพรรคประชาธิปัตย์
เราได้ยินคำว่า "เผด็จการรัฐสภา" หรือ "พวกมากลากไป" จากคนพรรคประชาธิปัตย์ถี่ และแรงขึ้นเรื่อยๆ
จากพรรคที่หัวหน้าพรรคในอดีตเคยหยิ่งในศักดิ์ศรี ไม่ชนะเลือกตั้งไม่ตั้งรัฐบาล มาเป็นพรรคที่พร้อมจะเอาทุกปัจจัยเข้ามาบวกเพียงเพื่อให้ได้อำนาจ
จากพรรคที่เคยถือธง "เราเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา" กลับใช้วาทกรรมที่ส่งผล "ทำลายระบบรัฐสภา" อย่างคล่องปาก
ยิ่งนับวันดูเหมือนจะชื่นชอบที่จะโน้มน้าวให้ประชาชนเห็นดีเห็นงามไปกับ "พวกน้อยลากไป " ด้วยการโจมตี "พวกมาก" ว่าเป็น "เผด็จการรัฐสภา" อย่างสนุกสนาน
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์นี้ เป็นไปได้หรือไม่ที่เกิดจากแรงในจิตใจที่เกิดจาก "ความกลัว"
กลัว "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" จนขึ้นสมอง
กลัวจนแปลมาเป็น "ความเกลียดชังอย่างรุนแรง"
จนต้องทุ่มเททุกวิถีทางเพื่อทำลาย พ.ต.ท.ทักษิณให้ได้
เป็นจิตของผู้ตื่นตระหนก หวาดวิตกในการดำรงอยู่ของคนที่ "ตัวเองไม่มีทางเอาชนะได้"
ถ้าเป็นเช่นนี้ ย่อมเป็นเรื่องที่น่าสงสารและเห็นใจไม่น้อย เพราะจากพรรคการเมืองที่ได้รับความชื่นชมในศักดิ์ศรีของนักประชาธิปไตย วันนี้ "ประชาธิปัตย์" ถูกความกลัวครอบงำจิตใจจนพากันเดินออกนอกลู่นอกทางประชาธิปไตยไปแล้ว
เราควรจะช่วยให้พรรคการเมืองเก่าแก่นี้เดินกลับมาในหนทางที่ควรจะเดิน อย่างน้อยเพื่อไม่ให้พรรคการเมืองที่เติบโตมากับการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศอย่างยาวนาน กลายเป็นพรรคที่ไปสนับสนุนเผด็จการอย่างไม่มีวันหรือสายเกินไปที่จะกู่กลับ
ต้องพยายามทำให้เห็นว่า "พ.ต.ท.ทักษิณ" ก็แค่คนคนหนึ่ง ไม่ได้วิเศษวิโสมาจากไหน
พรรคประชาธิปัตย์สร้างภาพ พ.ต.ท.ทักษิณในใจให้ใหญ่โต และมีอิทธิฤทธิ์มากเกินความเป็นจริง
และไป "กลัวในภาพที่ตัวเองสร้างขึ้นมาในใจ" มากกว่า "ความเป็นจริง"
แค่กลับมาสู่หนทางประชาธิปไตยอันเป็นปกติ โดยไม่ต้องสนใจ "ทักษิณ ชินวัตร" ว่าจะ "ขึ้นสวรรค์หรือลงนรก" ชั้นไหน หรือขุมใด
เลิกคิดว่าอะไรจะเป็นประโยชน์ หรืออะไรจะเป็นโทษกับ "ทักษิณ" แล้วเทใจไปต่อต้านและสนับสนุนอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง
ลืม "ทักษิณ" ไป ก้าวข้าม "ทักษิณในใจตัวเอง" ไป
คนประชาธิปัตย์ไม่ได้ด้อยปัญญา กระทั่งทำประโยชน์ให้ประเทศจนชนะใจประชาชนไม่ได้
หากไม่เอาแต่ยอมจำนนต่อ "ความกลัวทักษิณ"
ปล่อยให้ความกลัวนั้นชักนำพฤติกรรมในทุกเรื่องเหมือนที่เป็นอยู่
+++
พท.เปิดแนวรบ "นิติบัญญัติ" ปรองดอง-แก้รัฐธรรมนูญ ป้องรัฐบาล-รุกคืบการเมือง
บทวิเคราะห์ ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 01 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 10:15:19 น.
การเมืองยามนี้พุ่งเป้าไปที่ความเคลื่อนไหวของพรรคร่วมรัฐบาล โฟกัสลงตรงที่พรรคเพื่อไทย
พรรคเพื่อไทยที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินกว่ากึ่งหนึ่ง คือ 265 จาก 500 ที่นั่ง
ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวทำให้การขับเคลื่อนของพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายมีเปรียบเสมอในแนวรบของฝ่ายนิติบัญญัติ
เนื่องเพราะจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเพื่อไทยที่มากกว่ากึ่งหนึ่ง มีผลให้พรรคเพื่อไทยมีเสียงในคณะกรรมาธิการมากพอที่จะขับเคลื่อนความต้องการของตัวเองไปได้ด้วยการโหวต
จึงไม่แปลกที่เมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ หรือ กมธ.ปรองดอง
ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธาน รับผลการศึกษาแนวทางการปรองดองของสถาบันพระปกเกล้ามาแล้ว
กมธ.จะใช้วิธีโหวตด้วย "เสียงข้างมาก"เลือกแนวทางที่เห็นว่าเหมาะสม
จึงไม่แปลกอีกเหมือนกันที่เมื่อประชาชนเห็นด้วยกับการร่างรัฐธรรมนูญ โดยตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา พรรคเพื่อไทยจึงใช้เวทีสภาดำเนินการแก้ไขมาตรา 291 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 โดยทันที
ทั้งนี้ เพราะมั่นใจว่า การใช้เวทีสภาเป็นสนามการประลองพลังระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์นั้น
ในที่สุดพรรคเพื่อไทยก็มีชัย !
ความมั่นใจดังกล่าวสะท้อนออกมาในรูปของการประชุมรัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร และการประชุมคณะกรรมาธิการ
ประการแรก การประชุมรัฐสภาเพื่อมีมติยกเว้นบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่กำหนดในสมัยการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
แม้สมัยการประชุมนี้จะเป็นการประชุมสมัยนิติบัญญัติ แต่พรรคเพื่อไทยก็ใช้เสียงข้างมาก ยกเว้นบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
เพื่อให้สามารถพิจารณาญัตติได้
โดยเฉพาะญัตติของ กมธ.ปรองดอง เรื่องผลการศึกษาแนวทางการปรองดองของสถาบันพระปกเกล้า
ประการที่สอง การพิจารณาของคณะกรรมาธิการแก้ไขมาตรา 291 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ที่ร่างของรัฐบาลกำหนดให้มี ส.ส.ร. 99 คน ประกอบด้วย ส.ส.ร.เลือกตั้ง 77 คน และ ส.ส.ร.คัดเลือกอีก 22 คน และร่างของพรรคประชาธิปัตย์ที่กำหนดให้มี ส.ส.ร. 200 คน
ปรากฏว่า เมื่อกรรมาธิการของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลขาดประชุมมาก
ทำให้กรรมาธิการของพรรคประชาธิปัตย์ใช้เสียงข้างมากเปลี่ยนแปลงจำนวน ส.ส.ร.จาก 99 เป็น 200 คน
รุ่งขึ้น กรรมาธิการของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลก็กลับมาและพลิกมติของกรรมาธิการเมื่อวันวาน
เปลี่ยนจำนวน ส.ส.ร.จาก 200 คน เป็น 99 คนดังเดิม
ประการที่สาม การขยายเวลาการประชุมสมัยนิติบัญญัติออกไปอีกก็เป็นเครื่องยืนยันว่า รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยมีความมั่นใจในเกมรุกทางฝ่ายนิติบัญญัติเป็นอย่างยิ่ง
และมองว่าการขยายสมัยประชุมนิติบัญญัติออกไปจะส่งผลดีต่อพรรคเพื่อไทย
หนึ่ง การขยายสมัยประชุมนิติบัญญัติออกไป เท่ากับสกัดกั้นการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเป็นอาวุธของพรรคฝ่ายค้านที่ใช้ต่อกรกับฝ่ายบริหาร
สอง การขยายสมัยประชุมนิติบัญญัติออกไป ทำให้การพิจารณาแก้ไขมาตรา 291 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ดำเนินการได้เสร็จสิ้น เพื่อเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง ส.ส.ร.77 คน และคัดเลือก ส.ส.ร.อีก 22 คน
รวมกันเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกต่อไป
อย่าลืมว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นเป็นการร่างกติกาของประเทศใหม่ !
ขณะเดียวกัน การขยายสมัยประชุมนิติบัญญัติออกไปก็ทำให้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยมีเวลาถมเถในการพิจารณาผลการประชุมของ กมธ.ปรองดอง แม้ว่าจะมีฝ่ายต่อต้านทยอยกันออกมาคัดค้าน
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนของพรรคเพื่อไทยในเกมนิติบัญญัตินี้ถือว่าได้ผล
ทางหนึ่ง ได้ผลในการรื้อกติกาของประเทศใหม่ ด้วยการเร่งรัดยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทนฉบับปัจจุบัน
ทางหนึ่ง ได้ผลบ้างบางส่วนกับการกระตุกต่อม "ปรองดอง" ให้ผู้คนหันมาฟังข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในเรื่องนิรโทษกรรม และล้มล้างผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส.
แม้ว่าแนวรุกคืบด้านปรองดอง ซึ่งมีเรื่องนิรโทษกรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง จะมีแรงต้านมาก เพราะการใช้เสียงข้างมากไม่เหมาะกับการปรองดอง
แต่ก็ใช่ว่าพรรคเพื่อไทย และ พ.ต.ท.ทักษิณ จะไม่ได้ "พื้นที่" ใดๆ เลย
ส่วนแนวรุกคืบเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญปลอดโปร่ง ทำให้การรุกคืบกิน "พื้นที่" ต่อไปได้มาก
ณ วันนี้พอมองเห็นการรุกคืบของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยได้ว่า ใช้ฝ่ายนิติบัญญัติเดินเกม
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์เมื่อเจอการรุกคืบแบบต่อเนื่องเช่นนี้
แม้จะพยายามยับยั้งการรุกคืบ แต่ดูเหมือนว่าจะไร้ผล
ทุกครั้งที่ประชาธิปัตย์ค้าน สิ่งที่ตามมากลับเป็นความล้มเหลวและเพลี่ยงพล้ำ
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย