.
ความสุข
โดย หนุ่มเมืองจันท์ boycitychan@matichon.co.th www.facebook/boycitychanFC
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1651 หน้า 24
และแล้วเฟซบุ๊ก boycitychanFC ของผม ก็ถูกเจ้า "มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก" เปลี่ยนโฉมใหม่เป็นแบบ "ไทม์ไลน์"
ไม่รู้ว่าคนที่เปลี่ยนไปก่อนหน้านี้แล้วชอบหรือเปล่า
แต่ผมไม่ชอบ
โธ่ แค่เฟซบุ๊กรูปแบบเก่า ยังมั่วๆ อยู่เลย
เจอรูปแบบใหม่ก็ต้องเรียนรู้เพิ่มอีก
แต่ไม่เป็นไรครับ รู้เท่าไรก็เล่นเท่านั้น
เฟซบุ๊กโฉมใหม่เหมาะกับคนชอบถ่ายรูป เพราะให้พื้นที่ภาพใหญ่มาก
เขาจะมีหน้าปก เป็นภาพแนวนอนขนาดใหญ่
วันแรกที่เฟซบุ๊กเปลี่ยนโฉม ผมคิดอยู่นานว่าจะใช้ภาพหน้าปกอะไรดี
แล้วความคิดหนึ่งก็แวบขึ้นมา
ถ่ายรูปคนอ่านที่มาขอให้เราลง "อาคม" ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ดีกว่า
ถือเป็นการเอาคืนแบบ "ตาต่อตา-ฟันต่อฟัน"
...ภาพต่อภาพ
เขาขอถ่ายรูปเรา เราก็ถ่ายรูปเขาบ้าง
ประจานให้รู้ไปเลยว่าคนกลุ่มนี้ทำให้เรา "เจ็บนิ้ว"
โปรแกรมลงอาคมครั้งแรกของตอนเที่ยงวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
ไปถึงก็กระโดดขึ้นแท่นทันที
เจอคนแรก "ขาประจำ" ครับ
"เอ" เจ้าของผลิตภัณฑ์ข้าวถุง "ข้าวฮ่าง" จากกาฬสินธุ์
เขาเป็นนักอ่านตัวยง เป็นเด็กวิศวะ จุฬาฯ ที่กลับไปขยายกิจการโรงสีของครอบครัวที่กาฬสินธุ์
น่าจับตามองมาก
"เอ" เคยบอกว่าเขาชอบหนังสือ "พิมพ์ครั้งที่ 1" และอยากได้ลายเซ็นเป็นคนแรก
คงคิดว่า "คนแรก" อาคมจะแรง
ผมเริ่มมั่นใจใน "อาคม" ของตนเองมากขึ้น เมื่อมีน้อง 2 คนมาขอ "อาคม"
คนแรกชื่อ "ศรีรัตน์" ครั้งที่แล้วเอา "คุกกี้" มาฝาก
ครั้งนี้เป็นขนมปังไส้สังขยา
อร่อยมากครับ
อร่อยจนน้องๆ ในบู๊ธพลิกดูว่ายี่ห้ออะไร จะได้ซื้อกินอีก
"เนย เบเกอรี่"
แต่พอเห็นว่าทำเลร้านอยู่ "สมุทรปราการ"
น้องๆ ก็หันมาบอกผม
"หนูรอของฝากปีหน้าดีกว่า"
"ของฝาก" ของน้องศรีรัตน์ไม่เท่าไร แต่ "ของฝาก" จากเพื่อนของเธอสิ
เป็น "พวงมาลัย" ครับ
ห่อใบตองมาเลย
ผมหัวเราะก้าก แล้วเอาวางไว้ที่กองหนังสือ
เพิ่มความศักดิ์สิทธิ์
วันก่อน อ่านเฟซบุ๊กของ "พี่จิก" ประภาส ชลศรานนท์
"พี่จิก" บ่นว่าเขาไม่ค่อยชอบการเซ็นชื่อในงานหนังสือเท่าไรนัก เพราะมีเวลาคุยกับแฟนหนังสือน้อย
ผมก็รู้สึกเหมือนกัน
คนเขียนหนังสือทุกคนอยากคุยกับคนอ่าน
"ชอบ-ไม่ชอบ" ตรงไหน จะได้แลกเปลี่ยนกัน
คิดเล่นๆ ว่าปีหน้าชวน "พี่จิก-นิ้วกลม" เปิดห้องคุยกับคนอ่านกันดีกว่า
คนอ่านคนไหนอยากคุยกับใครก็ได้
ส่วน "ค่าเช่าห้อง" ให้หารกันตามจำนวน "คนคุย"
ใครมีคนคุยมาก จ่ายมาก
555 คาดว่าผมคงจ่ายสัก 500 พี่จิก 1,000
ที่เหลือ "นิ้วกลม" จ่าย
เพราะปีนี้ "เอ๋" ทำสถิติใหม่ เซ็นชื่อตั้งแต่ 4 โมงเย็นถึง 3 ทุ่ม
น้องคนแรกที่มารอคิว
ตอนเที่ยงครับ
วันนั้น ผมมีโอกาสได้คุยกับน้องๆ หลายคน
ขนาดคุยกันแวบๆ ยังสนุกเลย
อย่างน้องคนหนึ่ง ชื่อ "ปู" เรียนอยู่คณะเภสัชฯ เคยทักทายกันในเฟซบุ๊ก
เธอเล่าว่าอ่านหนังสือของผมครั้งแรกริมรางรถไฟ
ไม่ได้คิดฆ่าตัวตายนะครับ แต่เป็นสถานที่อ่านหนังสือที่เธอชอบ
วันนั้น "ปู" เอารูปรางรถไฟแถวบ้านมาให้ พร้อมกับถือสมุดเล่มใหญ่มาด้วย
เธอกางสมุดออกและฉีกกระดาษแผ่นหนึ่งให้
เป็น "จดหมาย" ครับ
"ปู" ชอบแนวคิดเรื่อง "ดีที่สุดในสิ่งที่เป็น" เพราะเธอคิดแบบนี้มานานแล้ว
ไม่แน่ใจว่าคิดถูกหรือเปล่า แต่พอเจอเรื่องที่ผมเขียน
เธอดีใจที่มีคนคิดเหมือนกัน
เหตุผลน่ารักดี
น้องอีกคนหนึ่ง มาซื้อหนังสือ "ความสุข ณ จุดที่ยืนอยู่"
เธอบอกว่าซื้อไปฝากเพื่อนที่กำลังอกหัก
เพราะเคยใช้ได้ผลกับตัวเองและเพื่อนอีกคนหนึ่ง
เธอจึงเชื่อมั่นว่า สำหรับเพื่อนคนนี้ที่กำลังอกหัก
หนังสือเล่มนี้จะช่วยได้เหมือนกัน
เป็นคุณสมบัติใหม่ของ "ความสุข ณ จุดที่ยืนอยู่" ที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน
ฟังดูคล้ายๆ "น้ำใบบัวบก"
ระหว่างที่ลงอาคม ผมวานน้องที่สำนักพิมพ์ช่วยถ่ายรูป "เอาคืน" ให้ด้วย
พอน้องบอกว่าขอถ่ายรูปหน่อย
ทุกคนให้การตอบรับดีมาก
ทั้งชูหนังสือ และยกนิ้วสู้กล้อง
เป็นภาพที่น่ารักมาก
ลงหน้าปกในเฟซบุ๊กแล้วเท่มั่กๆ เลยครับ
กะว่าจะเปลี่ยนรูปหน้าปกตอนไปเซ็นชื่อครั้งหน้า
เหลืออีก 2 ครั้งครับ
วันเสาร์ที่ 7 ตอน 14.00-15.00 น.
และวันอาทิตย์ ตอน 14.00-15.00 น.
งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปีนี้ คนเยอะมาก
คาดว่าคงจะอั้นจากช่วงน้ำท่วม
แวบเข้าไปอ่านในเฟซบุ๊กหลายคน แต่ละคนบ่นว่า "กระเป๋าแฟบ" กันเป็นแถว
แต่มีน้องคนหนึ่งที่ไม่มีปัญหา
เธอชื่อ "เพลิน" เป็นคนจันท์เหมือนกัน
เธอเพิ่งเคยอ่านหนังสือของผมได้ 1-2 เล่ม
แต่วันนี้เธอกวาดครบชุด
"ทำไมซื้อเยอะจัง" ผมถาม
"เพลิน" ยิ้ม และตอบแบบจริงใจ
"แม่มาด้วยค่ะ"
ครับ การซื้อหนังสือโดยที่เราไม่ต้องจ่ายตังค์เอง
ถือเป็นความสุขที่สุดในงานสัปดาห์หนังสือเลย
++
สรกล อดุลยานนท์ : "ยุติธรรม" ของ "ผู้ชนะ"
คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 07 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 21:00:00 น.
ถือเป็นวาทกรรมทางการเมืองที่คมคายมาก สำหรับคำว่า "ความยุติธรรมของผู้ชนะ" ของสถาบันพระปกเกล้า
นัยของความหมายนี้คือ อย่าใช้ "เสียงข้างมาก" ในสภาผู้แทนราษฎรตัดสิน
เพราะไม่ใช่ "ความยุติธรรม" ที่แท้จริง
แต่เป็น "ความยุติธรรม" ที่ "ผู้ชนะ" การเลือกตั้งเป็นผู้กำหนด
สถาบันพระปกเกล้าเกรงว่าจะเกิด "สงครามการปรองดอง" ขึ้นมา
ในขณะที่ทุกคนนึกถึงรายงานของกรรมาธิการวิสามัญเรื่องการปรองดองที่ พล.อ.สนธิ. บุญยรัตกลิน เป็นประธาน
ผมกลับนึกถึงการรัฐประหาร และ "ผลผลิต" จากการรัฐประหาร
เพราะการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง คือ การกำหนดตำแหน่ง "ผู้ชนะ" และ "ผู้แพ้" ทางการเมืองเช่นเดียวกัน
"ผู้ชนะ" คือ คมช.
และ "ผู้แพ้" คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
แต่การรัฐประหาร เป็นการทำผิดกฎหมาย
"ผู้ชนะ" จึงเริ่มต้นกำหนด "ความยุติธรรม" ด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญปี 2540 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
แน่นอนต้องมีมาตราหนึ่งสำหรับการนิรโทษกรรมความผิดของ คมช.ไว้ด้วย
วันนั้นเราไม่เคยได้ยินคำเตือนว่าให้ระวังการสถาปนา "ความยุติธรรม" ของ "ผู้ชนะ"
หรือเมื่อ คมช.ตั้ง คตส.ขึ้นมาจัดการกับ "ทักษิณ"
กรรมการ คตส.เกือบทั้งหมดล้วนเป็น "คู่อาฆาต" ระดับ "ตัวพ่อ" ทั้งสิ้น
แต่ในมุมของ "ผู้ชนะ" คตส.ทั้งหมดล้วน "เป็นกลาง"
"ความยุติธรรม" ของ "ผู้ชนะ" แบบนี้ สถาบันพระปกเกล้าไม่เคยสงสัยและตั้งคำถาม
ความเกลียดชังในตัว "ทักษิณ" ทำให้คนบางคนลืมหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย
ยอมรับ "ความยุติธรรม" ของ "ผู้ชนะ" ที่ได้มาจากการรัฐประหาร
และหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองว่าคณะรัฐประหารเป็น "รัฏฐาธิปัตย์"
ดังนั้น จะทำอะไรก็ได้
แน่นอนว่า "เสียงข้างมาก" ในสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ถูกต้องชอบธรรมทุกเรื่อง
ไม่ได้ถูกใจเราทุกครั้ง
แต่ "เสียงข้างมาก" ในสภาอย่างน้อยก็ยึดโยงกับประชาชน
ยึดโยงกับหลักการประชาธิปไตย
เป็น "ผู้ชนะ" ในระบอบประชาธิปไตย
ไม่ใช่ "ผู้ชนะ" จากการรัฐประหาร
การตั้งคำถามเรื่อง "ความยุติธรรม" ของ "ผู้ชนะ" กับ "เสียงข้างมาก" ในสภาไม่ใช่เรื่องผิด
เราสามารถสงสัยและตั้งคำถามได้
เพียงแต่คนที่ตั้งคำถามต้องมี "ความเป็นกลาง" เพียงพอ
คนที่ไม่เคยถามถึง "ความยุติธรรม" ของ "ผู้ชนะ" จาก คมช.เลย
คนนั้นก็ไม่น่าจะมี "ความชอบธรรม" ในการตั้งคำถามนี้กับ "เสียงข้างมาก" ที่มาจากประชาชน
ไม่ใช่หรือ?
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย