.
พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท - แรงงานไทยไม่ใช่แรงงานทาส
จาก เวบไซต์ ประชาไท . . Sun, 2012-04-15 22:43
รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
16 เมษายน 2555
ในที่สุด มาตรการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ก็เริ่มปฏิบัติเป็นจริงตามมติคณะรัฐมนตรี โดยมีผลบังคับใช้ใน 7 จังหวัด รวมกรุงเทพ จังหวัดโดยรอบ และภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา ส่วนที่เหลืออีก 70 จังหวัด ในเบื้องต้น ให้ขึ้นค่าจ้างตามสัดส่วนเดียวกัน คือเพิ่มร้อยละ 40 จากอัตราเดิม แต่จะต้องปรับเป็น 300 บาทต่อวันเช่นกันตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป
เนื่องจากเป็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งใหญ่ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเพิ่มเติมให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทไว้เป็นเวลาสองปี ซึ่งก็คือปี 2556 และปี 2557 จะไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีก ยกเว้นในกรณีภาวะเศรษฐกิจผันผวนอย่างรุนแรงจนกระทบต่อการครองชีพของลูกจ้างเท่านั้น
มาตรการดังกล่าวเป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียงมาตั้งแต่แรก และถูกต่อต้านอย่างหนักถึงปัจจุบันจากนายจ้างบางกลุ่ม รวมทั้งจากสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
เสียงคัดค้าน นอกจากจะมาจากนายจ้างที่เดือดร้อนจริงแล้ว ยังมาจากกลุ่มนายจ้างนายทุนใหญ่ที่อิงแอบอยู่กับกลุ่มทุนขุนนางเก่า ทำมาหากินกับระบอบจารีตนิยมของไทยมานานหลายชั่วคน ผูกขาดตัดตอน เอารัดเอาเปรียบแรงงานไทยและผู้บริโภคไทยมานานจนเคยตัว แม้ในระบบการเมืองแบบเลือกตั้ง กลุ่มทุนพวกนี้ ซึ่งรวมศูนย์กันอยู่ในกรุงเทพ ก็มีสายสัมพันธ์ลึกซึ้งกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งก็เป็นพรรคการเมืองมือเท้าของพวกจารีตนิยมอีกเช่นกัน
ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มอันธพาลเสื้อเหลืองข้างถนนที่ขับไล่รัฐบาลไทยรักไทยปี 2549 และรัฐบาลพลังประชาชนปี 2551 ก็มีกลุ่มทุนเก่าพวกนี้บางส่วนเข้าไปให้การสนับสนุนทั้งอย่างลับ ๆ และเปิดเผย สอดประสานกับองคาพยพอื่น ๆ ของพวกจารีตนิยม จึงไม่น่าแปลกใจว่า ในทางกลับกัน คนพวกนี้จึงออกมาเชียร์นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีจากพรรคประชาธิปัตย์ในช่วงปี 2552-53 แต่กลับแสดงอาการผิดหวังอย่างออกนอกหน้าเมื่อพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งเมื่อกรกฎาคม 2554 หลังจากนั้น คนพวกนี้ก็พากันเรียงหน้าออกมา “เตือนรัฐบาล” ในแทบทุกเรื่อง ตั้งแต่การต่อสู้กับภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ นโยบายรถคันแรก การบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง การลอยตัวราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รวมถึงการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้
ความจริงข้อหนึ่งที่นายจ้างกลุ่มทุนเก่าเหล่านี้ไม่ยอมพูดถึงคือ นับแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 เป็นต้นมา ค่าจ้างแรงงานไทยมีการปรับขึ้นช้ามากคือไม่ถึงร้อยละ 2 ต่อปี ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยสูงถึงร้อยละ 3-4 ต่อปี ผลก็คือ ค่าจ้างของคนงานไทยล้าหลัง ไล่ตามไม่ทันค่าครองชีพต่อเนื่องมากว่าสิบปีแล้ว
สิ่งที่เราสังเกตได้ตลอดหลายปีมานี้คือ คนงานลูกจ้างมีแนวโน้มต้องทำงานเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้ได้รายได้เสริม ทั้งทำงาน “ล่วงเวลา” หรือ “โอที” ในที่ทำงานประจำ ไปจนถึงทำงานรับจ้างที่อื่นหรือค้าขายรายย่อยนอกเวลางานและในวันอาทิตย์ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้รายได้ที่ไล่ทันกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นทุกปีนั่นเอง
ยิ่งกว่านั้นคือ รายได้ประชาชาติของไทยที่วัดโดย ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ตลอดกว่าสิบปีมานี้ ก็เติบโตขึ้นในอัตราร้อยละ 4-5 ต่อปี สูงกว่าการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำอีกเช่นกัน ซึ่งหมายความว่า ผู้ใช้แรงงานไทยได้รับส่วนแบ่งรายได้ของประเทศที่น้อยลงเรื่อย ๆ และมีรายได้เพิ่มขึ้นที่ช้ากว่าผู้ประกอบอาชีพและรายได้กลุ่มอื่น ๆ อีกด้วย
การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงกว่าสิบปีมานี้จึงยืนอยู่บนฐานของการเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานอย่างมาก โดยให้คนงานทำงานเพิ่มมากขึ้น แต่กลับมีรายได้ที่ไล่ไม่ทันค่าครองชีพและรายได้ของกลุ่มอาชีพอื่น ๆ
การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้จึงมีเหตุผลในแง่ความเป็นธรรมทางสังคมอยู่ด้วย เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานไทยได้รับผลตอบแทนและส่วนแบ่งในความเจริญของประเทศกับเขาบ้าง
ความจริงแล้ว การขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานถือว่า เป็นแนวโน้มสำคัญที่ถึงอย่างไรก็ต้องเกิดขึ้นกับประเทศที่กำลังพัฒนาอุตสาหกรรมดังเช่นประเทศไทย ซึ่งทั้งรัฐบาลและนายจ้างเอกชนจะต้องรับมือและปรับตัวให้ได้
ประเทศไทยก็เช่นเดียวกับประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ คือ เริ่มต้นพัฒนาเศรษฐกิจจากพี้นภูมิหลังที่เป็นเกษตรกรรม มีแรงงานเหลือเฟือ การพัฒนาเศรษฐกิจยุคแรกของไทยในยุค 2500-2520 จึงเน้นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น จ้างคนงานไร้ฝีมือและค่าแรงต่ำ ต่อเมื่อแรงงานล้นเกินเริ่มหมดไป คนงานมีการศึกษาและทักษะสูงขึ้น ค่าจ้างแรงงานก็จะปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย อุตสาหกรรมก็จะต้องปรับตัวไปสู่การใช้กระบวนการผลิตที่ใช้แรงงานทักษะสูง ค่าจ้างสูง หันมาใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ที่ประหยัดแรงงาน เน้นทุนเข้มข้นและเทคโนโลยีเข้มข้นมากขึ้น ชดเชยกับค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น ดังเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในญี่ปุ่น เกาหลี ใต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ และกำลังเกิดขึ้นในจีนปัจจุบัน
อุตสาหกรรมไทยเข้าสู่ยุคขาดแคลนแรงงานในช่วง 2530-40 เมื่อแรงงานไทยส่วนเกินเริ่มหมดไป คนงานไทยมีการศึกษาสูงขึ้นมาก ค่าจ้างก็เริ่มสูงขึ้น นายจ้างจึงหันไปใช้แรงงานราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นเรื่อย ๆ ถึงปัจจุบัน มีแรงงานต่างชาติทั้งที่ถูกและผิดกฎหมายนับล้านคน แรงงานเหล่านี้เป็นการต่อชีวิตให้กับอุตสาหกรรมไทยที่ใช้แรงงานเข้มข้นราคาถูก นายจ้างนายทุนจำนวนมากคิดแต่ที่จะแสวงประโยชน์จากแรงงานราคาถูกไปเรื่อย ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ยอมปรับตัวไปสู่ยุคอุตสาหกรรมที่ก้าวหน้าขึ้น
ขณะที่กลุ่มทุนเก่าบางจำพวกหากินอยู่กับพวกจารีตนิยมตลอดมา ก็หวังพึ่งแต่การคุ้มครองและสิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่ตนจะได้จากระบอบการเมืองเผด็จการ เห็นผู้ใช้แรงงานและผู้บริโภคเป็นเพียงแค่บ่อเงินบ่อทองให้ขุดลอกไม่รู้จบเท่านั้น
อีกทั้งยังต่อต้านการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ตั้งแต่ยุครัฐบาลไทยรักไทยถึงปัจจุบันอีกด้วย
ถึงเวลาแล้วที่นายจ้างและอุตสาหกรรมไทยจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติ หยุดคร่ำครวญเรื่องการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้ได้แล้ว หยุดแบมือขอเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ ยอมรับความจริงที่ว่า การเมืองประชาธิปไตยและทุนนิยมแข่งขันโลกาภิวัฒน์คือปัจจุบันที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ มองเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับองค์กร กระบวนการผลิตและการตลาดไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ใช้แรงงานทักษะสูง จ่ายค่าจ้างแรงงานสูง กระบวนการผลิตเน้นการใช้ทุนและเทคโนโลยีให้มากขึ้น
เพราะอีกไม่นาน แม้แต่แรงงานราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านก็จะหมดไปเช่นกันเมื่อเศรษฐกิจประเทศเหล่านั้นพัฒนามากขึ้น
ในขณะที่อุตสาหกรรมไทยก็ต้องยกระดับไปสู่การผลิตที่มีมูลค่าสูงขึ้นด้วยแรงงาน ทุน และเทคโนโลยี เพื่อความอยู่รอดในยุคทุนนิยมโลกาภิวัฒน์
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
อ่านความคิดเห็นท้ายบท ที่ www.prachatai.com/journal/2012/04/40083
เช่น ความคิดเห็นของ กานดา นาคน้อย
++
Submitted by กานดา นาคน้อย (visitor) on Mon, 2012-04-16 03:06.
ขอเสนอสถิติเพื่อสนับสนุนบทความนี้ของอ.พิชิตค่ะ
1. เอาข้อมูลเงินบำนาญของนายพลมาให้ดูกันให้ซาบซึ้งตรึงดวงจิตค่ะ
http://www.nacc.go.th/download_acc/asset_report/e_201109281311210.pdf
ความแตกต่างระหว่างนายพลที่เลิกทำงานแล้ว กะค่าแรงขั้นต่ำ มันมากจนยากจะคิดได้ว่าระบบศักดินาจบไปแล้ว ระบบทุนนิยมก็ไม่ให้เงินทหารมากมายแบบนี้นะคะ คงจะมีแต่กึ่งทุนนิยมกึงศักดินาแบบไทยๆนี่ล่ะค่ะที่นักวิชาการไม่เสียจริตกับเงินบำนาญระดัับนี้ของทหาร แต่ดันเสียจริตกะค่าแรงขั้นต่ำ
2. ดิฉันลองคำนวณดูแ้ล้ว การปรับค่าแรงไมไ่ด้ลดความสามารถในการแข่งขันของไทยหลังวิกฤตเงินบาท คือแปลว่าปรับน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อโดยเฉพาะเมือเทียบกับอัตราเงินเฟ้อในประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐฯ ใครสนใจตามไปอ่านผลงานวิจัยได้ทีนี่ค่ะ กำัลังจะออกมาเป็นหนังสือจากธนาคารเพื่อพัฒนาเอเชีย
http://beta.adb.org/publications/competition-labor-intensity-and-specialization-structural-changes-postcrisis-asia?ref=data/publications
หนังสือออกเมื่อไรจะสรุปเป็นภาษาไทยมาให้ถกกันบนประชาไทค่ะ ใครไม่เห็นด้วยก็จะได้เอาสถิติมาให้ดูกันได้ว่าทำไมเขาถึงเสียจริตกะการปรับค่าแรงขั้นต่ำกัน
++
Submitted by กานดา นาคน้อย (visitor) on Mon, 2012-04-16 09:30.
MI6 wrote:
ขึ้นได้แต่ไม่จ่าย จะทำไม เอาใบลาออกไหม
คุณไม่พอใจเงินเดือนก็ออกไป
นี่คือความจริง แต่นักวิชาการหน้าโง่กับไม่รู้เรื่อง..............
บ้าทฤษฏี ไอคนคิดนโยบายก็บ้าสิ้นดี คิดแต่หาเสียง แต่ทำไม่ได้จริง
เพราะไม่มีนักธุรกิจคนไหนที่ยอมขาดทุนหรอก
ยิ่ง sme เจ๋งสถานเดียว พิชิต
ใครเจ๊งก็ปิดไป ให้คนที่เก่งกินส่วนแบ่งตลาดไปละกัน ไม่ก็ย้ายโรงงานไปกัมพูชาไปลาวก็ได้ถ้าไม่อยากจ้างคนไทย ให้มันรู้ไปว่าจะเจ๊งกันทั้งประเทศ ประเทศอื่นมันขึ้นค่าแรงกันก็เห็นอยู่กันได้ มันเป็นยังไงบริษัทไทยถึงจะอยู่กันไม่ได้ ถ้าอยู่ไม่ได้ก็แสดงว่านักธุรกิจไทยไร้ฝีมือจริงๆ
เวลาไล่ออกก็ต้องจ่ายเงินชดเชยด้วยนะคะ ไม่งั้นก็ฟ้องร้องกันตามกฎหมายแรงงานไป ศาลไม่ขยับก็ลงสื่อกดดันกันไป โลกสมัยนี้เปลี่ยนแล้วนะคุณ
ฯลฯ
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย