http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-10

ข้างหลังภาพ กอดพูโล ฯลฯ/ ทัศนคติอันตราย

.
มีบทความ - ภาพโอบกอด "พูโล" กรณีชั้น 7 "โฟร์ซีซั่นส์" คนละเรื่องเดียวกัน
มีบทความ - นฤตย์ เสกธีระ : ฟังมา-บอกต่อ

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ข้างหลังภาพ กอดพูโล-ดูตะวันตกดิน อาชญากรรม หรือ สันติวิธี
ใน มติชน ออนไลน์ วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 11:03:39 น.


ขบวนการค้นหาเบื้องหน้าเบื้องหลังการระเบิด ระเบิดโรงแรมลี การ์เดนส์ หาดใหญ่ และบริเวณถนนรวมมิตร เทศบาลเมืองยะลา
มาจอดป้ายอยู่ที่ "ศอ.บต. - พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายนัจมุดดิน อูมา"

รองนายกฯ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ระบุว่า คาร์บอมบ์เกิดจากการที่ตัวแทน "ศูนย์บริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้" หรือ ศอ.บต. ไปเจรจากับแกนนำบีอาร์เอ็น
ทำให้กลุ่มบีอาร์เอ็นโคออร์ดิเนต ไม่พอใจ จึงสร้างสถานการณ์ "คาร์บอมบ์" ขึ้นมาปฏิเสธการเจรจา
โยงไปถึง นายนัจมุดดิน อูมา อดีต ส.ส.นราธิวาส ว่าเป็นหนึ่งในที่ปรึกษา ศอ.บต. จึงพลอยโดนยิงเอ็ม 79 ใส่บ้านไปด้วย

ขณะที่ ส.ส.แห่งพรรคฝ่ายค้าน ตั้งกระทู้ถามในสภาระบุว่า คาร์บอมบ์เกิดจาก "ความผิดพลาด" ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไปเจรจากับแกนนำขบวนการ
มีภาพถ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ โอบกอดแกนนำ "พูโล" ในเว็บไซต์ของขบวนการพูโล
และระบุเพิ่มเติมว่า พ.ต.ท.ทักษิณไปพบแกนนำขบวนการ ก่อนที่จะสั่งให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปเยือนมาเลเซีย และนัดพบกับแกนนำ

ปัญหาคือ ทุกคนที่ตกเป็น "จำเลย" ข้อหา "บังอาจ" เจรจาโจรใต้ ต่างปฏิเสธ
และจนถึงบัดนี้ ยังหาหลักฐานสำคัญคือ "ภาพถ่าย" ไม่เจอ
ผู้มีชื่อในข่าวนี้ ล้วนแต่ออกมาปฏิเสธ

พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. ย้ำว่า ตนเองไปมาเลเซีย เพื่อพบกลุ่มชมรมร้านต้มยำกุ้ง ที่เป็นพ่อค้าไทยข้ามไปค้าขายเปิด "ร้านต้มยำ" อาหารยอดนิยมในมาเลเซีย
นำตัวแทนธนาคารอิสลามไปด้วย เพื่อช่วยเหลือเรื่องการกู้เงินขยายกิจการ และช่วยเจรจากับทางการมาเลย์ให้ขยายระยะเวลาการใช้ใบผ่านแดน

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ออกมาปฏิเสธว่าไม่เคยเจรจา ไม่เคยถ่ายภาพกับแกนนำพูโล
พร้อมกับท้าให้นำภาพถ่ายออกมาเปิดเผย

เช่นเดียวกับนายนัจมุดดิน อูมา ที่ถูกระบุว่าอยู่ในภาพถ่ายหมู่ ที่มีแกนนำขบวนการ ที่มีชื่อว่า "อุสตาสแซ" หรือ มะแซ อุเซ็ง อยู่ในภาพด้วย
นายนัจมุดดิน ได้ชี้แจง "มติชน" ในฉบับ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา
มีสาระน่าสนใจ
เป็นภาพถ่ายเมื่อปี 2537 ที่แหลมพรหมเทพ ภูเก็ต ไปดูพระอาทิตย์ตกดิน
ตอนนั้นผมเป็น ส.ส.พรรคความหวังใหม่ พาผู้นำท้องถิ่น 80 คนไปทัศนศึกษาดูงาน
นายมะแซ อุเซ็ง หรืออุสตาซแซ เป็นแกนนำหรือเปล่าผมไม่รู้ แต่ตอนนั้นเป็นประธานสภา อบต.บูกิต

ส่วนเรื่องการเจรจาเพื่อแก้ปัญหาไฟใต้
ผมเคยเป็นนักการเมือง มีหน้าที่จะต้องสื่อความหมายกับกลุ่มประชาชนทุกเครือข่ายให้ทราบว่า
วันนี้นโยบายของรัฐบาลเป็นไปในทิศทางใด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายของ สมช. เพิ่งออกมาเมื่อ 2 อาทิตย์ที่แล้ว ผมถือว่ามีความก้าวหน้ามาก
ก็เลยไปส่งสัญญาณให้กับทางพี่น้องประชาชนและทางญาติๆ ของพวกเราให้ได้รับรู้
เวลาไป เขาก็ถามถึงทิศทางบ้านเราเป็นอย่างไร ผมถ่ายเอกสารนโยบายที่ว่าให้เขาดู แล้วอธิบายเป็นข้อๆ เขาพอใจ

ผมบอกเขาว่า ถ้าเห็นด้วยกับแนวทางนี้ก็ช่วยบอกต่อๆ ไปก็แล้วกัน ว่านี่คือทิศทางของรัฐบาลไทยที่จะทำในอนาคต
ผมเป็นนักการเมือง 3-4 สมัย ทำแค่สร้างบรรยากาศเพื่อไปสู่การพูดคุยในอนาคต ยังโดนกระหน่ำขนาดนี้ แล้วอีกหน่อยใครจะไปช่วยงานรัฐ

ข่าวที่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณไปคุยกับแกนนำ ที่ผมทราบไม่มีนะ เป็นเรื่องอุปโลกน์ขึ้นมา ถ้าจะคุยก็คงคุยทุกกลุ่มค่อยๆ ทำ ค่อยๆ พูด ค่อยๆ คุย

ตอนนี้ก็ยังไม่รู้ใครเป็นแกนนำแท้จริง

หนทางในการแก้ปัญหาไฟใต้ ก็เช่นเดียวกับความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้น

หนีไม่พ้นการพูดคุยเจรจา

แต่ทำไม การเจรจา หรือความพยายามที่จะเจรจา ในทรรศนะของบางกลุ่มบางพวก

จึงกลายเป็นเสมือน "อาชญากรรม" ไปได้



++

ทัศนคติอันตราย
จากบทบรรณาธิการ ข่าวสดออนไลน์ วันจันทร์ที่ 09 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 10:04 น.


มิใช่แต่เพียงจะมองนักการเมืองด้วยกันเป็นยิ่งกว่าคู่แข่งขันทางการเมือง แต่กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตที่จะต้องพิฆาตให้ตายกันไปข้างหนึ่งเท่านั้น

แต่ในการอภิปรายเรื่องแนวทางการปรองดองในรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ยังสะท้อน ความคิดของตนเองออกมาอย่างชัดเจนว่า
มองเห็นประชาชนจำนวนไม่น้อยเป็นผู้ไม่หวังดี ผู้ที่ต้องการจะเปลี่ยนระบอบการปกครองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน มองเห็นหมู่บ้านเสื้อแดงคือราก ฐานของระบอบประธานาธิบดี
นี่ย่อมเป็นทัศนคติอันตรายที่น่าวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง


น่าสนใจว่าเป็นเพราะรากฐานความคิดความเชื่อเช่นนี้ด้วยหรือไม่ ที่ทำให้การปราบปรามประชาชนที่ออกมาชุมนุมทางการเมืองในปี 2553
ลุกลามบานปลายจนกระทั่งทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 91 ศพ
เพราะเมื่อไม่เห็นว่าประชาชนที่ออกมาชุมนุมนั้นเป็นเพื่อนร่วมชาติ เพื่อนร่วมสังคม เป็นญาติเกี่ยวพันทางสายเลือดและวัฒนธรรม
ก็จำเป็นต้องใช้กำลังเข้ากำราบปราบปราม เมื่อ 'คนแปลกหน้า' เหล่านั้นเข้ามาต่อต้าน ประท้วง เข้ามาแสดงความเห็นความเชื่อที่แตกต่างออกไป เพราะความแตกต่างทางความคิดหรือความเชื่อนั้นเป็นการ"คุกคาม"ความเชื่อที่มีมาแต่เดิมของตนเองหรือพวกพ้อง
จนถึงวันนี้ ทัศนคติอันตรายเช่นที่ว่าก็ยังไม่ลบเลือนจางหายไป


และเมื่อปักใจเห็นว่านักการเมืองหรือประชาชนที่เห็นแตกต่างจากตนเองมีสถานะเป็นศัตรูเสียแล้ว ก็ย่อมจะไม่สามารถอยู่ร่วมโลกร่วมสังคมกันต่อไปได้
ไม่ว่าข้อเสนอปรองดองแบบใดก็ไม่สามารถประสานหรือลดความแตกต่างแตกแยกที่เกิดขึ้นได้

จะสามารถปรองดองได้ จะต้องพิสูจน์ให้คนส่วนใหญ่เห็นอย่างกระจ่างชัดก่อนว่า ทัศนคติเช่นนี้ผิดพลาดอย่างไรทั้งในเชิงรากฐานแนวคิดและข้อเท็จจริง และได้สร้างอันตรายให้เกิดขึ้นกับสังคมไทยทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอย่างไร

ไม่สามารถทำให้ความจริงเป็นที่ประจักษ์แก่คนส่วนใหญ่ได้

. . การปรองดองที่แท้จริงก็ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้



+++

ภาพโอบกอด "พูโล" กรณีชั้น 7 "โฟร์ซีซั่นส์" คนละเรื่องเดียวกัน
ในข่าวสดออนไลน์ วันจันทร์ที่ 09 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 05:00 น.


ในที่สุด อนาคตของข่าวที่ว่ามีภาพ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โอบกอดกับแกนนำขบวนการพูโล ก็ทำท่าว่าอาจจะเดินไปในทิศทางเดียวกันกับข่าว ว.5 ชั้น 7 โฟร์ซีซั่นส์
นั่นก็คือ "โคม "
อันมีที่มาจากพระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีถึง พระพันปีหลวง คราวเสด็จประพาสยุโรป พ.ศ.2440 มีว่า
คำว่า "โคม" นี้มีความหมายตามศัพท์แผลงใช้กันว่า พูดฤาทำอะไรไม่กินความกัน ฤาไม่เข้ากับเรื่อง ฤาพูดหลงใหลไป ฤาพูดโดยไม่มีเค้ามูลที่เห็นว่าควรจะพูดอย่างนั้น
แต่แรกใช้กันว่า "โคมลอย" เกิดจากหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับหนึ่งชื่อ "พันช์" มีรูปโคมลอยอยู่ที่ชื่อหน้าต้นของหนังสือนั้น และในหนังสือพิมพ์นี้มักมีความซึ่งกล่าวตามอย่างตลกๆ ในภาษาอังกฤษ ดูไม่ใคร่จะเข้ากับเรื่องและไม่เห็นขบขันเหมือนหนังสือพิมพ์ "พันช์"

เพราะเหตุฉะนั้น เมื่อมีใครกล่าวความที่ไม่เข้าเรื่อง ฤาไม่กินความกัน ก็ใช้ว่ากันว่า "โคมลอย"
แล้วย่นสั้นลงแต่ว่า "โคม" ก็ใช้ได้เหมือนกัน
ฉะนี้เอง พจนานุกรม ฉบับมติชน จึงอรรถธิบาย โคมลอย ว่า (ปาก) ว.เลื่อนลอย, ไม่มีมูล, เหลวไหล


ประเด็นมิได้อยู่ที่ว่ามี "ภาพ" หรือไม่ หากแต่อยู่ที่ "แหล่งข่าว"
กล่าวสำหรับเรื่องภาพเป็นอันว่าไม่มีภาพ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กำลังโอบกอดกับแกนนำขบวนการพูโล (อย่างน้อยก็ในขณะนี้)

หากแต่มีภาพ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง พบกับแกนนำคนกลุ่มหนึ่งที่มาเลเซีย
เป็นไปได้ว่าจากภาพ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง นี่แหละที่ดำเนินไปในลักษณะ "บานปลายใหญ่" (สำนวนบรรณาธิการบริหาร น.ส.พ.ประชาธิปไตยเมื่อปี 2518)
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง ภาพที่ปรากฏมิได้มีอะไรเร้นลับ
คนที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ไปพบซึ่งมีประมาณ 50 คน เป็นคนจาก "ขบวนการ" จริงๆ หากแต่เป็นขบวนการแห่ง "ชมรมต้มยำกุ้ง"
50 คนนี้คัดสรรและเชิญมาโดยเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์
และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง มิได้เดินทางไปคนเดียวหากแต่ไปพร้อมกับคณะผู้บริหารของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์)
เป็นการพบปะและคุยกันเรื่องทำมาหากิน เรื่องสินเชื่อ

เมื่อพรรคประชาธิปัตย์นำมาตั้งเป็นกระทู้ถามสดและพยายามขยายให้เป็นเรื่องเจรจา กระทั่งโยงไกลไปถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จึงล่อแหลมต่อการเข้าข่ายโคมลอย
อัน ขุนวิจิตรมาตรา นิยามว่า พูดกุเรื่องขึ้น พูดลอยๆ พูดไม่จริง

อย่างไรก็ตาม หากประเมินผ่านแต่ละคำพูดของหลายคนในพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ระดับหัวจนถึงหางก็พอจะจับเบาะแสจากหลายแหล่งข่าวประสานเข้าด้วยกัน

นายถาวร เสนเนียม ใช้คำว่า "การข่าวที่เชื่อถือ"
จากนั้น นายศิริโชค โสภา ซึ่งเป็น ส.ส.สงขลา และมีความใกล้ชิด แนบแน่นอย่างเป็นพิเศษ กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ขยายความ
"จากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศมาเลเซียเมื่อไม่นานมานี้"
ข้อมูล นายถาวร เสนเนียม จึงใกล้เคียงกับ นายศิริโชค โสภา และใกล้เคียงกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

"มีเรื่องคุณทวีด้วย ใครต่อใครด้วย ไปคุยกับเขา 2 รอบ พบรอบที่ 2 ก็หายไปอย่างน้อย 3 กลุ่ม ที่ไปคุยกันรอบแรก 18 กลุ่ม รอบที่ 2 ก็ 15 กลุ่ม"
ประเด็นอยู่ที่วลี "ใครต่อใคร"
ประเด็นอยู่ที่ นายถาวร เสนเนียม ไปไกลถึงระนาบที่ว่า การพบหนที่ 2 ไม่เพียงมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หากแต่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ด้วย
ระบุวันที่ 17 มีนาคม 2555
ปมเงื่อนที่จะต้องพิสูจน์กันคือ วันที่ 17 มีนาคม 2555 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่ที่ไหน
อยู่ในเมืองไทยหรือว่าอยู่ในมาเลเซีย


ชะตากรรมของ ว.5 ชั้น 7 โฟร์ซีซั่นส์ นั้นเริ่มต้นด้วยความอึกทึกครึกโครม แต่จบลงด้วยคดีความ

การนำเสนอข่าวเจรจากับผู้ก่อความไม่สงบอาจเริ่มจาก พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง แล้วบานปลายกลายเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ่วงเข้าไปด้วย

อย่าลืมเป็นอันขาดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นบุคคลสาธารณะ



+++

นฤตย์ เสกธีระ : ฟังมา-บอกต่อ
คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 จาก มติชน ออนไลน์ วันอังคารที่ 03 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 22:00:00 น.


ท่ามกลางความพยายามปรองดองที่แลดูจะเพิ่มดีกรีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อยากตัดฉากไปฉายภาพความเคลื่อนไหวของประเทศเพื่อนบ้านกันหน่อย
วันนี้เป็นอย่างไรกันบ้าง !
ความเคลื่อนไหวของประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าวเล่าผ่านปากคำของนักธุรกิจผู้จัดเจนการลงทุนในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้

ประเด็นเริ่มต้นที่ประชาคมอาเซียนในปี 2558
หลังจากอาเซียนเปิดประตูแต่ละประเทศเพื่อรวมกันเป็นหนึ่ง สิ่งที่นักลงทุนต่างชาติกำลังวิตก คือ ปัญหาแรงงาน
ปัญหาแรงงานที่เกิดจากการปรับตัวของค่าแรงของไทย และค่าแรงของประเทศเพื่อนบ้าน
คาดการณ์กันว่าค่าแรงของแต่ละชาติจะปรับตัวเท่าๆ กัน

วันนี้ประเทศพม่าเริ่มขยับแล้ว โดยล่าสุดรัฐบาลพม่าประกาศเพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำขึ้นอีก
คิดเป็นเงินไทย คือปรับจากเดือนละ 1,000 บาท เป็นเดือนละ 5,000 บาท
เชื่อว่าภายใน 5 ปี จะขึ้นไปถึง 9,000 บาท

และหลังจากประชาคมอาเซียนเริ่มต้นไปอีกไม่เกิน 5 ปี ค่าแรงขั้นต่ำของประเทศเพื่อนบ้านคงไม่หนีห่างจากค่าแรงขั้นต่ำไทย
แรงงานต่างด้าวในไทยมีโอกาสทยอยกันกลับบ้าน
วันนี้นักลงทุนชาวญี่ปุ่นมองเห็นปัญหาและเริ่มหาทางป้องกัน ทุนญี่ปุ่นเริ่มขยายฐานไปยังประเทศข้างเคียงไทย
นักลงทุนประเทศอื่นๆ ก็มองคล้ายคลึงกัน

และในบรรดาประเทศเพื่อนบ้านล้อมรอบไทย รัฐบาลกัมพูชาน่ากลัวสุด
รัฐบาลกัมพูชาของสมเด็จฯฮุนเซน พยายามปลุกให้กัมพูชากลายเป็น "ตัวเลือก" แข่งขันกับไทย
ขณะนี้ "อิออน" ของญี่ปุ่น ทุ่มทุนซื้อที่ดินเพื่อเปิดสาขาในกรุงพนมเปญ

ส่วนรัฐบาลกัมพูชากำลัง "เชียร์แขก" เต็มที่ โดยเปรียบตัวเองเป็นเหมือน "สปริงบอร์ด"
เปิดทางให้ประเทศนอกอาเซียนใช้กัมพูชาเป็น "สปริงบอร์ด" กระดอนไปลงทุนต่อในประชาคมอาเซียน


ขณะเดียวกัน พม่าก็เริ่มขยับตัว มีการเนรมิตกรุงเนปยีดอว์เมืองหลวงใหม่พม่าให้พร้อมรับการขยายตัวของอาเซียน
แต่ปัญหาของพม่ายังเหมือนเดิม คือ มีความขัดแย้งระหว่าง "เลือดเก่า" กับ "เลือดใหม่" ซึ่งกำลังผสมผสานกัน
มีความขัดแย้งในชนกลุ่มน้อย แม้ว่าจะพยายามเจรจาสงบศึก

ขณะที่รัฐบาลไทย....กำลังพยายามปรองดองอยู่ครับ
แถมการปรองดองก็ยังไม่รู้จะออกหัวออกก้อย ทำให้ไม่มีเสถียรภาพมากนัก

ช่วงนี้เองกัมพูชาได้ใช้ "เสถียรภาพ" ของรัฐบาลออกไปเร่ขายความเชื่อมั่น
เชื่อมั่นในสมเด็จฯฮุนเซน และลูกหลาน ซึ่งมีอำนาจอยู่ในกัมพูชา

อย่าลืมว่า นักลงทุนต่างประเทศเป็นนักธุรกิจ มุ่งหวังความแน่นอนเป็นสำคัญ

เวลาจะเลือกค้าขายกับประเทศไทย ก็ต้องเลือกประเทศที่มีความแน่นอนเอาไว้ก่อน

กัมพูชากำลังขายสิ่งนี้ ขณะที่สิ่งนี้ยังเป็นจุดอ่อนของไทย

ยิ่งมาทราบว่า คนไทยรู้เรื่องประชาคมอาเซียนน้อย มารู้ว่าการเตรียมตัวเพื่อรับประชาคมอาเซียนแทบจะไม่มีเลย

ยิ่งรู้สึกเป็นห่วงคนไทยและประเทศไทยหลังปี 2558

ก็ปี 2558 ไทยจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว แต่ปี 2555 ไทยยังทะเลาะกันเองไม่เลิก

แล้วจะไม่ให้รู้สึกกังวลได้อย่างไร



.