.
"เกษียร" วิเคราะห์คำบรรยาย "ป๋าเปรม" เรื่องจริยธรรม-คุณธรรม ชาตินิยม และ พระสยามเทวาธิราช
จากมติชน ออนไลน์ วันพุธที่ 04 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 22:45:00 น.
นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เขียนบทความวิเคราะห์-ตั้งคำถามเกี่ยวกับคำบรรยายพิเศษของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในงานครบรอบ 12 ปี ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว มีเนื้อหาดังนี้
- - - - - - - - - -
"..ผมเชื่อว่าพระสยามเทวาธิราชมีจริง และจะปกป้องคนดี และสาปแช่งคนไม่ดี คนทรยศต่อชาติบ้านเมืองให้พินาศไป นั่นคือความเชื่อของผม ส่วนบุคคลอื่นจะเชื่อหรือไม่ขึ้นอยู่กับจริยธรรมและคุณธรรมของแต่ละคน"
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์, 3 เม.ย.55
ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ
บรรยายพิเศษ เนื่องในโอกาสครบรอบ 12 ปี ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ
ที่มา : "ป๋าเปรม" ชี้คนเราเกิดมาต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน ชูตัวอย่างความดี 9 ข้อ สาปแช่งคนทรยศชาติให้พินาศ
วันที่ 03 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 11:35:58 น. http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1333427789
- - - - - - - - - -
จริยธรรม-คุณธรรมกับชาตินิยมในทรรศนะของพลเอกเปรม
การผูกโยง"พระสยามเทวาธิราช"อันเป็นเทพารักษ์ของราชาชาตินิยม(royal-nationalistpalladiumในหลวงรัชกาลที่4 ทรงสร้างขึ้น) เข้ากับจริยธรรม-คุณธรรมของพลเอกเปรมข้างต้น มีนัยชวนคิดต่อ 2 ประการ คือ
1) มันยกปัญหาจริยธรรม-คุณธรรมให้หลุดลอยไปจากกรอบขอบข่ายการคิดการเชื่อของปัจเจกบุคคล แล้วเอาไปผูกโยงกับชาติ กลายเป็นว่าการทำดีคิดดีมีจิตใจดี ไม่ใช่เป็นความดีระดับปัจเจกต่อไป แต่จะเกิดได้มีได้ก็แต่ในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของชุมชนราชาชาตินิยมเท่านั้น
2) มันชวนให้ตั้งคำถามว่าบรรดาจริยธรรม-คุณธรรมประดามีล้วนแล้วแต่สอดคล้องต้องกันกับผลประโยชน์ของชาติทั้งนั้นทั้งสิ้นหรือ?
หากมีกรณีหนึ่งกรณีใดที่หลักจริยธรรม-คุณธรรมขัดกับผปย.หรืออุดมการณ์แห่งชาติขึ้นมาบุคคลควรจะเลือกอะไร?ความดีความงามหรือชาติกันแน่?
หรือในทางกลับกัน ข้อเสนอของพลเอกเปรมคือมันต้องไม่มีทางขัดกันใช่ไหม? เพราะอะไรที่ขัดผลประโยชน์ชาติจะเป็นความดีไปไม่ได้
และในทางกลับกัน อะไรที่ทำเพื่อชาติ ก็ต้องถือเป็นความดีโดยอัตโนมัติ ดังนั้น การโกหกเพื่อชาติ, เอาชีวิต "ศัตรูของชาติ" (คน) เพื่อชาติ ก็สมควรทำ ?
ปุจฉา-วิสัชนาว่าด้วยหลักจริยธรรม-คุณธรรมราชาชาตินิยมของพลเอกเปรม
BusTewarit ปุจฉาว่าจากปาฐกถาของพลเอกเปรมวันนี้แปลว่า:
"ความงมงายเชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์" ขึ้นอยู่กับ "จริยธรรมและคุณธรรมของแต่ละคน" หรือ ?
http://www.facebook.com/photo.php?fbid=259909704099348
ผมคิดว่าน่าสนใจที่จะลองตอบดู
ไม่เชิงวิธีคิดเบื้องหลังคำพูดดังกล่าวอาจเป็นอย่างนี้มากกว่าครับคือ
1) มันตั้งอยู่บนการมองว่าปัจเจกบุคคลมีกิเลสตัณหาเป็นพื้น(คนมันเลวโดยสันดาน) หากปล่อยไว้เพียงลำพัง ก็มีแนวโน้มจะทำชั่วเป็นคนไม่ดีอยู่เองโดยกมลสันดาน
2) ดังนั้นเพื่อสะกดข่มสันดานดิบเลวในบุคคล จึงจำต้องอ้างอิงอะไรที่ยิ่งใหญ่เหนือล้ำกว่าบุคคลให้เป็นพลังทางศีลธรรมจากภายนอกบุคคลออกไป เข้ามากดข่มแนวโน้มด้านลบด้านเลวของบุคคลไว้
3) พลังดังกล่าวในสายตาของพลเอกเปรม คือชาติ (แผ่นดิน - มีนัยแบบทฤษฎีการเมืองที่เห็นรัฐ-สังคมเป็นองค์อินทรียภาพ บุคคลแต่ละคนเป็นแค่ชิ้นส่วนองคาพยพของรัฐนั้น ไม่มีความหมายความสำคัญในตัวเอง หากมีความหมายความสำคัญเท่าที่ขึ้นต่อและเป็นส่วนหนึ่งที่แยกออกไม่ได้จากชาติ) บวก ราชา บวกกับทรรศนะคติเรื่อง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา หรือนัยหนึ่ง [ชาติ+ราชา+สิ่งศักดิ์สิทธิ์เชิงศาสนาทางโลก]
พูดอีกอย่างก็คือพลเอกเปรมเสนอให้บุคคล (ที่เป็นคนไทย) อิงพลัง ราชาชาตินิยมอันศักดิ์สิทธิ์ (ชาตินิยมเป็นศาสนาทางโลกชนิดหนึ่ง secular religion) มากำกับกดข่มกิเลสในตัวปัจเจกบุคคล แล้วจึงจะกลายเป็นคนดีได้
ในความหมายนี้ การเชื่อ พระสยามเทวาธิราช (ซึ่งเป็นสมมุติเทพแทนราชาชาตินิยมอันศักดิ์สิทธิ์สำหรับพลเอกเปรม) หรือไม่เชื่อ จึงขึ้นอยู่กับจริยธรรม-คุณธรรมของบุคคล เพราะสองสิ่งเป็นเรื่องเดียวกัน บุคคลดีด้วยตัวเองไม่ได้หากแยกออกจากสมมุติเทพแห่งราชาชาตินิยมอันศักดิ์สิทธิ์นั้น ...
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย