http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-14

สุรพศ ทวีศักดิ์: ชาวพุทธกับคำถามท้าทายของ ‘คำ ผกา’

.

สุรพศ ทวีศักดิ์: ชาวพุทธกับคำถามท้าทายของ ‘คำ ผกา’
ใน www.prachatai.com/journal/2012/04/40050 . . Thu, 2012-04-12 01:14


สุรพศ ทวีศักดิ์


เป็นเรื่องท็อลค์ ออฟ เดอะ ทาวน์ ไปแล้ว เมื่อคำ ผกา ประกาศ “ขอขมาพระรัตนตรัย” มหาเถรสามคมและองค์กรชาวพุทธทั่วประเทศ และขอแสดงความรับผิดชอบด้วยการยุติรายการเป็นเวลา 1 เดือน จากกรณีที่ “กล่าวล่วงเกิน” พุทธศาสนา ในรายการ “คิดเล่น เห็นต่างกับคำ ผกา” ที่ออกอากาศทาง Voice TV เมื่อ 10 และ 11 มีนาคม 2555 ซึ่งก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากชาวพุทธกลุ่มหนึ่งอย่างรุนแรง


โดยเฉพาะ “ปฏิกิริยา” จาก ดร.พระมหาโชว์ ทัสสนีโย ที่ใช้วิธีไม่เคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ด้วยการกล่าวเสียดสีเรื่อง “สรีระ” มากกว่าที่จะใช้เหตุผลโต้แย้งคำถามและข้อวิจารณ์ต่างๆ ของ คำ ผกา

ต่อมาวันที่ 14 มีนาคม ผู้แทนศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชนจำนวนหนึ่ง ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นางสาวลีลาวดี วัชโรบล เลขานุการคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ขอให้คณะกรรมาธิการฯ ตรวจสอบเนื้อหารายการ “คิดเล่นเห็นต่าง กับคำ ผกา” โดยสาระสำคัญในหนังสือดังกล่าว ระบุว่า

ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยได้ตรวจสอบแล้วทำให้พบประเด็นการแสดงความคิดเห็นที่แสดงความไม่รู้จริงในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และมีการกล่าววาจาลบหลู่ต่อพระธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา มีการกล่าวให้ร้ายรัฐบาลต่อนโยบายซึ่งเป็นไปตามมาตรา 37 และมาตรา 79 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมีการกล่าวพาดพิงถึงพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาในพระราชพิธี ซึ่งประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์เป็นพุทธมามกะซึ่งปรากฏในมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสถาบันหลักทั้ง 2 ของราชอาณาจักรไทย” (ดูเว็บไซต์ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย )

นางสาวลีลาวดี รับเรื่องเพื่อจะนำเสนอให้คณะกรรมาธิการฯ เรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง และคลี่คลายเรื่องนี้


หากย้อนกลับไปดูรายการ “คิดเล่นเห็นต่าง กับคำ ผกา” เมื่อวันที่ 10 และ 11 มีนาคมที่พูดเรื่อง “รัฐศาสนาและรัฐโลกวิสัย” จะเห็นว่า คำ ผกา อ้างอิงจุดยืนของ “รัฐโลกวิสัย” (secular state) ตั้งคำถามต่อ “รัฐศาสนา” (state religion)

โดยเธอเห็นว่า รัฐไทยเป็น “รัฐศาสนาโดยแอบแฝง” หรือเป็นรัฐศาสนาโดยพฤตินัย เห็นได้จากการยกพุทธศาสนาให้มีสถานะเหนือศาสนาอื่นๆ ความพยายามที่จะเรียกร้องให้ระบุในรัฐธรรมนูญว่า “พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย” การใช้สัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาในราชพิธี และพิธีกรรมที่เป็นทางการต่างๆ เช่น ตราธรรมจักร โต๊ะหมู่บูชา การกำหนดให้วันสำคัญทางพุทธศาสนาเป็น national holiday การบังคับให้เรียนวิชาพุทธศาสนาในโรงเรียน การเกณฑ์นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมในวันสำคัญต่างๆ ทางพุทธศาสนา รวมทั้งการใช้งบประมาณของรัฐจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี เป็นต้น

ประเด็นที่เราควรเข้าใจคือ รัฐโลกวิสัยถือว่าเรื่องการนับถือศาสนา หรือกิจกรรมทางศาสนาเป็นเสรีภาพของปัจเจกบุคคล บทบาทของรัฐคือการปกป้องเสรีภาพดังกล่าวนี้ ฉะนั้น รัฐจึงไม่มีหน้าที่สอนศีลธรรมแก่ประชาชน แต่ถือว่าสมาชิกแห่งรัฐทุกคนเป็นพลเมืองที่ต้องอยู่ภายใต้หลักการสากลอันเดียวกันคือ หลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค รัฐจึงไม่มีสิทธิ์ยกศาสนาใดศาสนาหนึ่งให้เหนือศาสนาอื่นๆ ไม่ว่าจะโดยการกำหนดให้สอนศีลธรรมทางศาสนาในโรงเรียน การมีนโยบายให้ความสำคัญกับกิจกรรมของศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นพิเศษ โดยใช้งบประมาณซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชนในทุกศาสนา เป็นต้น คำถามของ คำ ผกา ก็คือคำถามจาก “จุดยืน” ดังกล่าวนี้ 


ถามว่า มีเหตุผลหรือไม่ที่จะใช้จุดยืนของรัฐโลกวิสัยตั้งคำถามต่อการที่รัฐไทยที่ให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษแก่ศาสนาพุทธ (หรือศาสนาใดก็ตาม) คำตอบก็คือ ถ้าเรายืนยันว่าประเทศเราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่ยึดหลักการสากลคือหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ซึ่งต้องใช้กับ “ทุกคน” อย่างเท่าเทียม ก็มีเหตุผลอย่างยิ่ง หรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะตั้งคำถาม 

ฝ่ายที่เห็นว่า คำถามจากจุดยืนดังกล่าวไม่มีเหตุผล ก็มักจะอ้าง “ลักษณะเฉพาะทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาติไทย” ซึ่งก็เป็นเหตุผลทำนองเดียวกับที่อ้างเพื่อคัดค้านการแก้ไข หรือยกเลิกมาตรา 112 หรือคัดค้านการปฏิรูปสถานะของสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้หลักการสากลเฉกเช่นประเทศอารยประชาธิปไตยทั้งหลาย นั่นเอง 


ส่วนประเด็นที่ คำ ผกา วิจารณ์ (ประมาณ) ว่า การจัดกิจกรรม “สวดมนต์ข้ามปี เริ่มต้นดี ชีวิตดี” เป็นการเอานิยามความสุขตามความเชื่อของตนเองไปมอบให้คนอื่นๆ เป็นการสะกดจิตหมู่ เป็นยากล่อมประสาท เพราะว่ามันทำให้คนคิดว่าสวดมนต์แล้วจะมีความสุข ชีวิตจะดี โดยละเลยประเด็นปัญหาที่เป็นจริงอื่นๆ เช่น รัฐบาลที่มีประสิทธิภาพ การพัฒนากิจการสาธารณะอื่นๆ ที่ทำให้ประเทศก้าวหน้า รวมทั้งวิจารณ์ว่าศีล 5 ก็ไม่ได้สูงส่งกว่า บัญญัติ 10 ประการ ของศาสนาคริสต์ การเอาพุทธศาสนามาตอบปัญหาสังคมทุกเรื่องไม่น่าจะถูกต้อง ศาสนาอาจไม่เกี่ยวกับการทำให้คนเป็นคนดี เพราะคนดีในโลกสมัยใหม่ต้องถูกควบคุมโดยหลักกฎหมาย การตรวจสอบโดยสื่อ ฯลฯ

คำวิจารณ์ทำนองนี้ หากคิดตามหลักเสรีภาพของจอห์น สจ๊วต มิลล์ เราจะเข้าใจได้ว่านี่เป็นการท้าทายของ “ความเห็นต่าง” ที่เป็นโอกาสให้ “ความคิดกระแสหลัก” ได้ “ออกกำลัง” มีชีวิตชีวา ไม่ดำรงอยู่อย่างครอบงำให้คนเชื่อตามๆ กันอย่างปราศจากการตั้งคำถาม เพราะถ้าความคิดกระแสหลักไม่ถูกท้าทาย ไม่ได้ออกกำลังโต้แย้งกับความเห็นต่าง มันก็จะกลายเป็นความคิดที่เชื่อตามๆ กันอย่างงมงาย ไร้พลัง จืดชืด ไม่มีชีวิตชีวา และตายซากไปในที่สุด 

ผมนึกถึงเวลาอ่านงานของนักวิชาการพุทธศาสนาฝ่ายก้าวหน้า (เช่นงานของ สมภาร พรมทา)ที่มีการประยุกต์ความคิดของพุทธศาสนากับข้อถกเถียงของปรัชญาตะวันตกในประเด็นปัญหาเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม ปัญหาการทำแท้ง ชีวจริยธรรม ฯลฯ เห็นได้ชัดว่า มันทำให้ความคิดของพุทธศาสนามีชีวิตชีวา ไม่แข็งทื่อ จืดชืด ก้าวร้าวเหมือนความคิดและวิธีปกป้องพุทธศาสนาของฝ่ายอนุรักษ์นิยม


ความจริงแล้ว พระพุทธเจ้าเองก็เคยตั้งคำถามกับความคิดกระแสหลักหลายๆ เรื่องในสมัยพุทธกาล เช่นที่เชื่อกันว่าสามารถล้างบาปในแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ได้ ท่านก็ถามว่า “ถ้าเช่นนั้นกุ้ง หอย ปู ปลา เต่าที่มันแช่อยู่ในน้ำตลอดเวลาก็ต้องบริสุทธิ์จากบาปใช่หรือไม่?” หรือที่เชื่อกันว่า “คนมีวรรณะ (ชนชั้น) ต่างกันเพราะเกิดจากปาก ไหล่ สะดือ เท้าของพระพรหม และ คนเราดี เลว ต่างกันเพราะชาติกำเนิด” ท่านก็พูดแรงๆ เลยว่า “คนทุกชนชั้นต่างก็เกิดจากโยนีของมารดาทั้งนั้นแหละ เรื่องจะดีหรือเลวอยู่ที่การกระทำของบุคคล ไม่ได้อยู่ที่ชาติกำเนิด” เป็นต้น

จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าต้องการแนะนำให้คนมีเหตุมีผล เชื่อและกระทำในสิ่งที่อธิบายได้ว่าถ้าทำอย่างนี้แล้วจะเกิดผลอย่างนี้ ไม่ใช่ให้เชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปาฏิหาริย์ที่อธิบายให้เห็นความสัมพันธ์เป็นเหตุเป็นผลไม่ได้ 

เช่น อธิบายให้เห็นความเป็นเหตุผลไม่ได้ว่าการสวดมนต์ข้ามปีจะมีปาฏิหาริย์ให้ชีวิตดีมีความสุข ความเจริญได้อย่างไร การเดินธุดงค์บนถนนที่โรยด้วยกลีบกุหลาบของพระ 1,500 รูป เข้ามาในย่านชุมชนเมืองจะมีปาฏิหาริย์ช่วยป้องกันภัยพิบัติต่างๆ เช่น น้ำท่วมใหญ่ ดังที่เคยเกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาได้อย่างไร ฯลฯ


ลองจินตนาการดูว่า ถ้าพระพุทธเจ้ามาเห็นการปฏิบัติพิธีกรรมที่เน้นความศักดิ์สิทธิ์ ปาฏิหาริย์ การสร้างภาพด้วยกิจกรรมประเภท “ธรรมะโฆษณา” เกินจริงว่า ธรรมะของพุทธศาสนาตอบปัญหาได้ทุกเรื่อง ท่านอาจจะตั้งคำถามกับ “ปรากฏการณ์ในนามของพุทธศาสนา” ทั้งหลายทั้งปวงตามที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากยิ่งกว่าที่ คำ ผกา ตั้งคำถามหรือไม่

พระพุทธเจ้าอยู่ในยุคที่สังคมยังไม่มีเสรีภาพเท่าปัจจุบัน แต่พระองค์ก็พยายามต่อสู้เพื่อให้มีเสรีภาพในสถานการณ์ที่จำกัด โลกปัจจุบันให้คุณค่าสูงยิ่งกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทว่าชาวพุทธปัจจุบันกำลังเดินสวนทางกับพระพุทธเจ้าด้วยการทำลายเสรีภาพในนามของการ “ปกป้องพุทธศาสนา” 

เรากำลังปกป้องพุทธศาสนาจากอะไรกันแน่? จากการใช้เหตุผลตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบบนหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคอย่างนั้นหรือ?  พระพุทธเจ้าเคยแสดงความเห็นว่า การตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์ หรือกระทั่ง “ด่า” คือ “ภัยคุกกคามของพุทธศาสนา” เช่นนั้นหรือ? ภัยคุกคามพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้ายืนยัน คือการที่ชาวพุทธไม่ศึกษา ไม่ปฏิบัติตามคำสอนของพุทธศาสนาไม่ใช่หรือ?

แล้วมีในพระไตรปิฎกเล่มไหนครับที่พระพุทธเจ้าสอนให้ชาวพุทธประณาม หรือเรียกร้องให้เอาผิดคนที่ “ไม่รู้จริงในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา กล่าววาจาลบหลู่ต่อพระธรรมคำสอนในทางพระพุทธศาสนา กล่าวให้ร้ายรัฐบาล กล่าวพาดพิงถึงพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาในพระราชพิธี…”

น่าเศร้าไหมครับ พระพุทธเจ้าเป็นคนก้าวหน้าในยุคที่โลกล้าหลัง และสร้างความคิดก้าวหน้าจากการต่อสู้กับความคิดที่ล้าหลังต่างๆ แต่ชาวพุทธปัจจุบันกลับมีความคิดล้าหลังในโลกที่ก้าวหน้า และปกป้องพุทธศาสนาจากความคิดที่ก้าวหน้า! 



.