.
คอลัมน์ เศรษฐกิจ - ไพ่ใบสุดท้าย ครม.ปู ยกหมื่นล้านใส่ตักพ่อค้า แลกแก้ปัญหามันตกต่ำ
คอลัมน์ ก่อสร้างและที่ดิน - เดินหน้าลุย โดย นาย ต.
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
"ทักษิณ" คิด ทีม ศก. "ยิ่งลักษณ์" ต่อยอด ทุ่ม 3 ล้านล้านรื้อโครงสร้างประเทศ
โดย ศัลยา ประชาชาติ คอลัมน์ บทความพิเศษ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1653 หน้า 12
แม้ต้องระหกระเหินจากบ้านเกิดเมืองนอนไปอยู่แดนไกล โดยมีเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นฐานที่มั่น แต่ภารกิจที่ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ก่อตั้งและอีดตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ที่แปลงร่างมาเป็นพรรคพลังประชาชน จนถึงพรรคเพื่อไทย ทำสม่ำเสมอมิได้ขาดคือการเดินสายเจรจาความเกี่ยวกับธุรกิจและงานการเมือง ทั้งในตะวันออกกลาง เอเซีย ยุโรป แอฟริกา ฯลฯ โดยอาศัยคอนเน็กชั่นตั้งแต่สมัยที่ยังครองอำนาจ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงฟ้าเปิดเมฆหมอกทางการเมืองลดน้อยลง หลังพรรคเพื่อไทยเฉือนชนะคู่แข่งอย่างพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งใหญ่ช่วงปลายปี 2554 ที่ผ่านมา กลายเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ผลักดัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวคนสุดท้องของอดีตนายกฯ ขึ้นนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีได้สำเร็จ เท่ากับเปิดช่องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ บินลัดฟ้าไปไหนมาสะดวกโยธินมากยิ่งขึ้น
นอกจากจะติวเข้มบทบาทชั้นเชิงในการบริหารจัดการเศรษฐกิจและการบริหารจัดการประเทศ ตลอดจนเหลี่ยมมุมทางการเมือง ในฐานะพี่ชายซึ่งผ่านประสบการณ์บนเก้าอี้นายกฯ มาทุกรูปแบบแล้ว อดีตนายกฯ ทักษิณ ยังอยู่เบื้องหลังและมีบทบาทสำคัญยิ่งในการกำหนดนโยบายพรรคเพื่อไทย นโยบายของรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์"
รวมทั้งเป็นกุนซือหลักในการเจรจากรุยทางด้านธุรกิจการค้า การลงทุนกับทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อเปิดทางสะดวกให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ และทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เพื่อให้รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย สามารถโชว์ผลงานลบคำสบประมาท และทำให้การเดินทางกลับแผ่นดินเกิดเป็นจริงเร็วขึ้น
ล่าสุด ก่อนโฉบมาใกล้ประเทศไทยอาศัยสถานที่ในลาว และกัมพูชาจัดงานใหญ่ เปิดเวทีให้คนเสื้อแดงยกขบวนไปร่วมรดน้ำดำหัวช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้มีรายงานข่าวออกมาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ร่วมหารือกับทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ประกอบด้วย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.)
โจทย์ใหญ่คือการฉวยโอกาสหลังเกิดวิกฤตน้ำท่วมพลิกเศรษฐกิจสร้างอนาคตประเทศให้เห็นเป็นรูปธรรมในช่วง 5 ปีจากนี้ไป ตั้งแต่ปี 2555-2559 ด้วยการรื้อโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกเครื่องประเทศใหม่ โดยทุ่มเงินก้อนโตร่วม 3 ล้านล้านบาทลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการบริหารจัดการน้ำ คมนาคม พลังงาน โลจิสติกส์
ภายใต้โครงการ "แบรนดิ้ง ไทยแลนด์" แยกเป็นการลงทุนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 2.27 ล้านล้านบาท การลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท
ประกอบด้วย 1.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสาขาขนส่งทางบก ได้แก่ การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง 5 โครงการ คือ โครงการมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี, นครปฐม-สมุทรสงคราม-ชะอำ, บางปะอิน-นครสวรรค์, บางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา และชลบุรี-พัทยา-มาบตาพุด วงเงินลงทุน 1.87 แสนล้านบาท
การพัฒนาระบบรถไฟและรถไฟสายใหม่ 20 โครงการ เงินลงทุน 1.62 แสนล้านบาท การพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง 4.81 แสนล้านบาท การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางราง 10 โครงการ วงเงินลงทุน 3.21 แสนล้านบาท และการพัฒนาโครงข่ายถนน และขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบจำนวน 7 โครงการ วงเงินลงทุน 1.81 แสนล้านบาท
2.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสาขาขนส่งทางอากาศและทางน้ำ จำนวน 9 โครงการ วงเงินลงทุน 1.48 แสนล้านบาท 3.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสาขาพลังงาน 25 โครงการ วงเงิน 4.99 แสนล้านบาท 4.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสาขาสื่อสาร 6 โครงการ วงเงินลงทุน 3.5 หมื่นล้านบาท และ 5.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสาขาสาธารณูปการ 9 โครงการ วงเงินลงทุน 1.17 แสนล้านบท
ในจำนวนนี้จากการตรวจสอบสถานะของแผนงานและโครงการเบื้องต้นพบว่า มีโครงการที่พร้อมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง 36 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 7.5 แสนล้านบาท
ส่วนโครงการที่จำเป็นต้องศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของโครงการ 59 โครงการ ลงเงินลงทุน 1.51 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ ทีมเศรษฐกิจรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" ได้รับไฟเขียวจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ให้เดินหน้าลงทุนขนานใหญ่เพื่อปรับเปลี่ยนประเทศ เพราะจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เจรจาร่วมกับตัวแทนรัฐบาลและภาคเอกชนในหลายประเทศ อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เยอรมนี ฯลฯ ต่างสนใจเข้ามาลงทุนหรือร่วมทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลไทยจะลงทุน ขณะที่ในการเยือนหลายประเทศของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ช่วงก่อนหน้านี้ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในต่างประเทศ
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง ย้ำว่า รัฐบาลจะขับเคลื่อนแผนการลงทุนทั้งหมดไปสู่การปฏิบัติโดยเร็วที่สุด เนื่องจากร่วม 10 ปีแล้วที่ภาครัฐไม่มีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะช่วง 5 ปีที่ผ่านมาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอยู่ในระดับที่ต่ำมาก หลายโครงการอยู่ในแผนแต่ไม่เกิดการลงทุนจริงหรือลงทุนล่าช้า
ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตช้ากว่าที่ควรจะเป็น ไม่ใช่เฉพาะภาครัฐเท่านั้นที่การลงทุนอยู่ในระดับที่ต่ำ แม้แต่ภาคเอกชนเองช่วงที่ผ่านมาก็ไม่มีการลงทุนมากนัก
โดยในปี 2555 รัฐบาลได้จัดสรรเงินงบประมาณสำหรับลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานไว้สูงถึง 4.38 แสนล้านบาท หรือเท่ากับ 18.4% ของวงเงินงบประมาณทั้งหมด สูงขึ้นจากปี 2553 ประมาณ 23% จากนั้นในปี 2556 ตั้งงบฯ ไว้ 4.67 แสนล้านบาท หรือ 19.5%
รองนายกฯ และ รมว.คลัง กล่าวว่ายอมรับว่าสาเหตุที่โครงการทั้งหมดนี้ดำเนินการล่าช้าส่วนหนึ่งมาจากความไม่ต่อเนื่องทางการเมือง ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ไม่กล้าลงทุนด้วย เนื่องจากจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินลงทุนค่อนข้างสูง เกรงว่าประเทศจะประสบปัญหาด้านการเงิน เพราะมองว่ายังไม่มีความพร้อมจะลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ทั้งๆ ที่โดยสภาพความเป็นจริงแล้วประเทศไทยมีความพร้อม เห็นได้จากสภาพคล่องส่วนเกินมีจำนวนมาก
สามารถนำเงินส่วนนี้มาลงทุนได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินกู้
แม้วงเงินลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดภายในระยะเวลา 5 ปีจะสูงร่วม 3 ล้านล้านบาท ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการถูกท้วงติงกล่าวหาเกี่ยวกับความโปร่งใส หรือเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง ทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ และทีมเศรษฐกิจ จึงเห็นร่วมกันว่าต้องเร่งชี้แจงทำความเข้าใจต่อสาธารณชน โดยเฉพาะสื่อ เพื่อลดกระแสการถูกโจมตี
ขณะเดียวกัน คนในรัฐบาลก็จะต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจนและเป็นไปในทิศทางเดียวกันด้วย
ขณะที่ นายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่ารูปแบบในการลงทุนโครงการดังกล่าวมีทั้งรัฐลงทุนเอง ลงทุนโดยรัฐวิสาหกิจ และการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (PPP) ทั้งไทยและต่างชาติ รายละเอียดจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 1-2 เดือนนี้
ทั้งหมดจะอยู่ภายใต้โครงการที่เรียกว่า "แบรนดิ้ง ไทยแลนด์" ซึ่งเป็นภาพใหญ่ ที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ต้องการใช้ดึงความเชื่อมั่นให้กับประเทศและปรับเปลี่ยนโครงสร้างประเทศครั้งใหญ่
และจะเป็นภารกิจเร่งด่วนเพื่อสร้างภาพรูปธรรม "ผลงานรัฐบาล" ในการจัดระเบียบเศรษฐกิจประเทศไทย ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายค้านในขณะนี้ว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยังไม่สามารถส่งมอบนโยบายที่สัญญาเอาไว้ได้เลย
++
"โต้ง" ไม่คิดปลด (แต่คิดเปลี่ยน) ฮึ่มแบงก์ชาติอย่าดีแต่เถียง ยก 10 เหตุผลทำไมค่าเงินบาทควรอ่อน
โดย ศัลยา ประชาชาติ คอลัมน์ บทความพิเศษ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1651 หน้า 13
เมื่อมาตรการทางการเงิน การผ่อนปรนทางการคลัง และการใช้เงินสไตล์เพื่อไทย ไม่ราบรื่น
เมื่อมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของสำนักคิดค่าย "ทักษิโณมิกส์" ติดกับดักค่ายอนุรักษนิยม ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ
ทั้งข้อถกเถียงเรื่องค่าเงิน ที่ฝ่ายเพื่อไทยต้องการ "อ่อน" แต่แบงก์ชาติต้องการ "แข็ง"
ทั้งวาระเรื่องเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ที่ฝ่ายเพื่อไทยต้องการแค่ "พอดี" และถอนออกมาใช้ลงทุนใน "กองทุนมั่งคั่ง" แต่ฝ่ายแบงก์ชาติต้องการ "มาก" เพื่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ
ไม่นับรวมการออกพระราชกำหนดการใช้หนี้กองทุนฟื้นฟู 1.14 ล้านบาท ที่รัฐบาลเพื่อไทย ผลักภาระให้แบงก์ชาติร่วมรับผิดชอบ
ทุกประเด็น กลายเป็นวาระร้อน สั่นสะเทือนเก้าอี้ผู้ว่าการแบงก์ชาติ "นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล" ที่ถูกแต่งตั้งจากรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ แห่งสำนักคิดค่ายอนุรักษนิยม
เมื่อทั้ง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายวีรพงษ์ รามางกูร กูรูทางเศรษฐศาสตร์ ผนึกขั้วเข้ากับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ร่วมส่งสัญญาณไปในทิศทางเดียวกันว่า ถึงเวลาที่ค่าเงินบาทควรอยู่ในระดับ "อ่อน" แตะเลขหลัก 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
นายกิตติรัตน์ หรือ "โต้ง" ย้ำอย่างมีนัยยะว่าแบงก์ชาติอย่าดีแต่เถียง เพราะ
"แบงก์ชาติก็ไม่มีหน้าที่มาเถียงผม แค่ฟังผมและเถียงผมให้น้อยลง แล้วทุกอย่างจะดีเอง เพราะผมไม่ใช่แค่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ยังเป็นผู้ดูแลภาพรวมเศรษฐกิจด้วย การที่ส่งสัญญาณว่าอยากให้บาทอ่อน ก็เพราะต้องการแบบนั้นจริง"
แม้อำนาจตามกฎหมาย จะไม่เอื้อให้ฝ่ายเพื่อไทย "ปลด" ผู้ว่าการแบงก์ชาติ แต่ก็มีการคาดการณ์จากนักการเงิน นักเศรษฐศาสตร์รุ่นเล็ก รุ่นใหญว่า "ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ น่าจะอยู่คู่เพื่อไทยได้อีกไม่นาน"
กิตติรัตน์ออกตัวไว้ว่า "ผมก็ไม่เคยคิดจะปลดใคร มีแต่คนเก็งกัน ผมเพียงแต่บอกว่า ต้องฟังเยอะๆ หน่อย ผมย้ำอีกทีนะครับว่า กลไกเป็นเรื่องที่ดีและเข้าใจได้ในระยะยาว ขณะเดียวกัน กลไกที่กำหนดความเป็นเราในขณะนี้ หลายกลไกไม่ค่อยทำงาน ดังนั้น วิธีการที่จะใช้นโยบายชี้นำค่าเงินก็ยังเป็นเรื่องจำเป็น"
ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ "กิตติรัตน์" อยากเห็นสภาพคล่องของระบบ อยู่ในระดับที่ "พอดี" เพราะเขาไม่อยากให้นักลงทุนและแบงก์ชาติได้ "กำไร" จากค่าเงินที่แข็งค่าขึ้น
ในฐานะผู้คร่ำหวอดวงการตลาดทุนมาก่อน "กิตติรัตน์" เปรีบเทียบสถิติ ให้เห็นสัญญาณอันตรายของ "ค่าบาทแข็ง"
รมว.คลังแสดงเจตนารมณ์พร้อมข้อมูลประกอบว่า "ค่าเงินบาทมันแข็งขึ้นมาเรื่อยๆ ในรอบ 10 ปี จากอัตรา 40 บาท จนเกือบทะลุลงไป 20 บาทกว่าๆ แล้วถ้าคุณเป็นผู้ลงทุนอยากเอาเงินเข้ามาในประเทศไทยหรือ?ผมไม่อยาก"
ดังนั้น สัญญาณที่เขาจะส่งให้กับภาคธุรกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระบบเศรษฐกิจมหภาคว่า เขาไม่ได้ต้องการให้แบงก์ชาติสำนักเดียว ต้องดั้นด้นทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัว แต่มีหลายหน่วยงาน หลายภาคส่วน ทั้งนักลงทุน นักธุรกิจ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ที่คิดลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน นำเข้าสินค้าทุน ซื้อเครื่องจักรใหม่ กล้าๆ ที่จะลงทุน เพื่อนำไปสร้างรายได้ในประเทศต่อไปในอนาคต
"ผมย้ำอีกทีว่า ภาครัฐ ภาคเอกชน ที่กลัวว่าจะมีการนำเข้าสินค้าประเภททุน กลัวว่าสมัยก่อนเงินสำรองจะไม่พอ ต้องคิดเสียใหม่ได้แล้ว...การทำให้เงินบาทอ่อนไปบ้างมันไม่ตายหรอก"
กิตติรัตน์ยังยืนยัน "ตัวเลขเป้าหมาย" ค่าเงินที่อยู่ในใจ แม้จะถูกรุมถล่มจากทุกทิศทาง "ผมมีตัวเลข ผมคุยกับท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ อาจารย์วีรพงษ์ เพราะผมถือว่าท่านเหล่านี้เป็นระดับนโยบาย และเข้าใจภาพรวมทิศทางที่เรากำลังจะเดินไป"
พร้อมกันนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคลัง ยังยอมสละเวลาแจกแจง ตอบโจทย์เป็นข้อ จากระบบเศรษฐกิจมหภาค ถึงกลไกของแบงก์ชาติ ถึงระบบธนาคารพาณิชย์ ถึงรัฐมนตรีคลัง (เงา) ในฝ่ายค้าน จับประเด็นที่น่าสนใจ เรียบเรียงได้เป็น ข้อๆ
ดังนี้
1. "เศรษฐกิจของโลกของประเทศ ก็เหมือนโต๊ะตัวหนึ่ง คุณจะดูแค่ขาตัวใดตัวหนึ่งไม่ได้ ต้องมองภาพใหญ่ ในมุมของคนที่เป็นรัฐมนตรีคลัง ถ้าค่าบาทแข็ง ก็บริหารง่าย เพราะนำเข้าพลังงานราคาต่ำ เงินเฟ้อต่ำ มันง่ายมาก"
2. "ผมถึงต้องการให้บาทอ่อน เพราะรู้ว่าบาทแข็ง มันไม่ดีกับระยะยาว ถ้าจะให้สภาพคล่องล้นอย่างนี้ องค์กรที่อยากเถียงผม (แบงก์ชาติ) คุณก็จ่ายดอกเบี้ย ปีละแสนล้านบาท มันไม่ใช่เงินผมด้วย เงินคนทั้งประเทศ"
3. "กลไกที่เศรษฐกิจไม่สมดุลอย่างนี้ ผมจะบอกว่ามันเลยสมดุลมาอีกข้างแล้ว วันนี้มาจนถึงขั้นสภาพคล่องส่วนเกินกำลังทำร้ายระบบ"
4. "ถ้าสภาพคล่องถูกทิ้งไว้ในระบบสถาบันการเงิน ก็ต้องปล่อยกู้ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำ เงินกู้สูง ผลักดันสภาพคล่องไปในสินเชื่อคุณภาพต่ำลง ก็อันตรายภาคธุรกิจที่กู้ไปก็ทำรีเทิร์นไม่ได้ กำลังซื้อในประเทศไม่ดี ธปท. ไม่อยากให้เกิดภาวะนั้นก็ต้องดูดซับสภาพคล่องออกไป ดูดเข้าไปแล้วตอนนี้ มากกว่า 3 ล้านล้านบาทแล้ว"
5. "ถ้าให้ผมพูดแรงๆ ก็ต้องถามว่าพิมพ์แบงก์จ่ายหรือเปล่า ไหนว่าวินัยการเงินการคลังสูงไม่ชอบพิมพ์แบงก์ ผมไม่ได้ไปชี้ว่าอะไรใคร ไม่อยากว่าด้วย แต่อยากให้มองทั้งระบบว่า ต้องการแบบนี้ใช่หรือไม่"
6. "ในฐานะรัฐมนตรีคลัง ต้องหาเครื่องมือแก้ปัญหา กรณ์ จาติกวณิช เป็นอดีต รมว.คลัง ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบประเทศ ดังนั้น เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน แก้ปัญหาให้ถูกกาละ จังหวะและเวลาที่เหมาะสม"
7. "ผมเคยพูดสักคำหรือไม่ ว่าอยากเห็น ธปท. ไปช่วยทำให้ค่าเงินบาทอ่อนจนผิดธรรมชาติ...ผมอยากเห็นค่าเงินบาทอ่อนกว่านี้ และมีหลายหน่วยงานช่วยกันทำได้"
8. "ประเทศไหนหรือไม่ที่มีเงินสำรองเยอะๆ แบบแบงก์ชาติ มีประเทศไหนหรือไม่ที่มีสภาพคล่องเป็นเงินบาทล้นระบบเสียจนล้นธนาคาร ให้ ธปท. ดูดซับสภาพคล่องเข้าไป มีประเทศไหนหรือไม่ มีศักยภาพทรัพยากรมากมายแต่เติบโตช้าเหลือเกินในช่วงที่ผ่านมา"
9. "แนวปฏิบัติ สำหรับรับสัญญาณ "บาทอ่อน" กรณีเป็นภาครัฐ ที่จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่รู้ว่าจะมีการนำเข้าสินค้าประเภททุนในจำนวนมากและเพียงพอ สามารถนำเข้าได้ เงินสำรองระหว่างประเทศ สภาพคล่องในประเทศมีเพียงพอ"
10. "กรณีเป็นภาคเอกชนวันนี้ยังลังเลอยู่ว่าจะขยายกิจการได้หรือไม่ ก็ขยายได้แล้ว เพราะกำลังซื้อเพิ่มขึ้น เพิ่มมาจากคนที่ไม่เคยมีรายได้ดี กำลังมีรายได้ที่ดี ภาคธนาคารพาณิชย์ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ ก็ต้องกล้าปล่อยสินเชื่อ"
นั่นเป็นเหตุผล มุมคิด และ "สัญญาณ" ที่ชัดเจนจาก "โต้ง-กิตติรัตน์" ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรองนายกรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้การบริหารของรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" ณ เวลานี้
น่าสงสัยอยู่เหมือนกันว่า "สัญญาณ" ดังกล่าวจะส่งตรงไปถึง "ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ" ได้ชัดเจน ครบถ้วน และจะมีปฏิกิริยาตอบรับในลักษณะไหน
ท่ามกลางกระแสการคาดเดาเกี่ยวกับความมั่นคงของเก้าอี้ตัวใหญ่ใน ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งอาจไม่แข็งแรงเหมือนในช่วงที่ผ่านมาอีกต่อไป
+++
ไพ่ใบสุดท้าย ครม.ปู ยกหมื่นล้านใส่ตักพ่อค้า แลกแก้ปัญหามันตกต่ำ
คอลัมน์ เศรษฐกิจ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1653 หน้า 22
ไม่เกินคาดหมายกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา อนุมัติงบประมาณกว่าหมื่นล้านบาทในการแก้ปัญหาหัวมันสำปะหลังสดของเกษตรกร โดยการรับซื้อผลิตภัณฑ์มันเส้นจำนวน 1 ล้านตัน และแป้งมันอีก 3 แสนตัน ตามที่คณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลัง ครั้งที่ 5/2555 ที่มี นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน นำเสนอ
ทั้งๆ ที่ขณะนี้ รัฐบาลยังเปิดรับจำนำหัวมันสำปะหลังสดจากเกษตรกร ที่ได้เริ่มรับจำนำมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สิ้นสุดเดือนพฤษภาคม ซึ่งเหลือเวลาอีกเดือนเศษ และอนุมัติเงินรับจำนำไว้แล้วหลายหมื่นล้านบาท
กระทรวงพาณิชย์แจงเหตุผลที่ต้องรับซื้อผลิตภัณฑ์มันเส้นและแป้งมันจากผู้ประกอบการลานมันและโรงผลิตแป้งมัน เพราะต้องแก้ปัญหาเรื่องลานมันหรือโรงแป้งมันไม่เพียงพอกับการเปิดรับจำนำ ทำให้เกษตรกรขุดมันแล้วไม่สามารถขายเข้าโครงการรับจำนำได้ จำยอมต้องขายราคาถูกให้พ่อค้าคนกลาง
ทั้งเจ้าของลานมันและโรงแป้ง ปฏิเสธการเข้าร่วมโครงการ และไม่สามารถเปิดจุดรับจำนำให้รัฐได้ อ้างว่าพื้นที่ลานมันไม่เพียงพอและมีสต๊อกมันจนล้นแล้ว
แต่ขัดแย้งกับตัวเลขยอดรับจำนำหัวมันสดของรัฐบาล ที่พบว่าผิดคาดและพลาดเป้าหมาย ทั้งๆ ที่รัฐบาลประกาศรับจำนำจำนวนไม่อั้น และคาดว่าจะมีมันสดเข้าโครงการรับจำนำไม่ต่ำกว่า 7 ล้านตันจากผลผลิตประเมินว่า 11-13 ล้านตัน
แต่ตัวเลขรับจำนำ ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ ถึง 9 เมษายน 2555 มีเพียง 4.3 ล้านตัน!!
ตลอดเวลาการเปิดรับจำนำก็ไม่ได้ราบรื่นนัก ก่อนหน้านี้กระทรวงพาณิชย์ ต้องหาวิธีการแก้ปัญหามันสดไม่ให้ราคาตกต่ำมาตลอด แต่มุ่งไปในเรื่องการแทรกแซงราคา ว่าจะทำอย่างไรให้ราคามันสด ขยับราคาได้ตามเป้าหมายและไม่ต่ำกว่าราคารับซื้อหัวมันสด
จึงประกาศราคานำตลาด โดยตั้งราคารับจำนำตั้งต้นไว้กิโลกรัมละ 2.75 บาท เชื้อแป้ง 25% และขยับขึ้นเดือนละ 5 สตางค์ โดยสิ้นสุดโครงการในเดือนพฤษภาคม 2555 ราคารับจำนำจะถึงกิโลกรัมละ 2.90 บาท จึงเสนอให้นายบุญทรง เห็นชอบขยับราคารับจำนำให้สูงขึ้นอีกกิโลกรัมละ 0.50-1 บาท ทำให้ราคาสิ้นสุดโครงการเพิ่มจาก 2.90 บาท มาเป็น 3.20 บาท
แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น
สมาคมการค้ามันสำปะหลัง ชี้แจงต้นเหตุของปัญหาว่า
ประการแรก เกิดจากความล่าช้าของรัฐบาลเอง ในการเปิดรับจำนำหัวมันสด ซึ่งเกษตรกรได้เข้าร้องเรียนขอให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคามันตกต่ำ มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 โดยเสนอให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงราคาไม่เกินกิโลกรัมละ 2.50 บาท (เชื้อแป้ง 25%) และรัฐบาลต้องพยุงราคาระดับ 2.50 บาทตลอดปี
แต่กระทรวงพาณิชย์ในขณะนั้น นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปฏิเสธที่จะใช้มาตรการเข้าแทรกแซงราคา เพราะยังเห็นว่าราคาตลาดยังสูงเกิน 3 บาทต่อกิโลกรัม และการส่งออกยังไปได้ดี กลับตรวจสอบแล้วพบว่ามีขบวนการนายทุนต้องการปั้นราคาโดยการกดราคารับซื้อและให้รัฐเปิดประมูลรับจำนำมัน
จนสถานการณ์รุนแรงขึ้น ราคามันสดตกต่ำจากเกิน 3 บาทต่อกิโลกรัม เหลือ 1.80 บาท บางพื้นที่เหลือ 1.30 บาท เกิดม็อบเกษตรกรในหลายพื้นที่และเข้ามากดดันหน้าทำเนียบรัฐบาล สุดท้ายรัฐบาลก็ยอมเปิดรับจำนำ จนถึง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้น
อีกประการคือ ราคารับจำนำไม่ได้สร้างเสถียรภาพราคามันในท้องตลาด รัฐบาลไม่อาจสร้างความมั่นใจว่าสามารถควบคุมราคามันสดไม่ให้ตกต่ำได้ จะเห็นว่าตลอดเวลาที่เปิดรับจำนำตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2555 ทั้งเกษตรกรและผู้ค้ามันแย่งกันตัดราคาเพื่อให้สินค้าขายได้ ทำให้ราคามันมีความผันผวน ผู้ค้าก็ไม่กล้าที่จะรับซื้อหรือตกลงซื้อขายล่วงหน้า
ประการสุดท้าย ที่ไม่ควรเกิดขึ้นคือ การงัดข้อกันเองระหว่างกลุ่มทางการเมือง แม้พื้นที่นั้นจะเป็นพรรคเดียวกัน แต่ก็เป็นคนละมุ้งคนละขั้ว จึงไม่ได้รับความร่วมมือ
จากการยืนยันตัวเลขจากสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย แจงตัวเลขสต๊อกผลิตภัณฑ์แป้งมันในมือเอกชน 4-5 แสนตัน ในสต๊อกรัฐบาลอีก 4 แสนตัน ซึ่งปริมาณสต๊อกสูงกว่าปกติไม่ควรเกิน 3 แสนตัน ส่วนผลิตภัณฑ์มันเส้นเอกชนมีสต๊อกรวมกว่า 1.5 ล้านตัน และสต๊อกรัฐบาลอีก 1 ล้านตัน และยังมีมันรอขุดอีก 2.5 ล้านตันในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม และ 3-4 ล้านตัน อีกล็อตในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ซึ่งจะมีมันแปรรูปเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 3 ล้านตัน
ซึ่งหากเทียบกับปริมาณการใช้จริง แป้งมันจะมีความต้องการเดือนละ 3 แสนตัน และมันเส้นเดือนละ 5 แสนตัน ผนวกกับปัญหาข้างต้น จึงทำให้พ่อค้ามันไม่กระตือรือร้นที่ต้องสต๊อกหรือแย่งซื้อมัน
ปัญหาจึงย้อนกลับมาซ้ำเติมภาครัฐว่าจะแก้ปัญหาราคามันตกต่ำอย่างไร ในช่วงส่งท้ายโครงการที่กำลังหมดลงในเดือนพฤษภาคม
เพราะหากยังแก้ปัญหาไม่ตก ก็จะมีผลต่อการพยุงราคามันสำปะหลังที่จะเกิดขึ้นในล็อตหน้า
และกระเทือนต่อเก้าอี้ของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ!!!!
เมื่อเครื่องมือสำคัญอย่างลานมันหรือโรงแป้งไม่ได้ให้ความร่วมมือ การจะรับซื้อโดยตรงจากเกษตรกรก็ทำไม่ได้ ก็ต้องเลือกทางสุดท้าย หันมารับซื้อสินค้าจากพ่อค้าแทน ก็น่าจะเป็นวิธีการทิ้งทวนก่อนโครงการจะหมดลงในเดือนหน้า
และก็เป็นวิธีการที่คนในวงการค้ามันเองยังแปลกใจว่าจะเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร และเกษตรกรตัวจริงจะได้ประโยชน์จากการเพิ่มงบประมาณอีกกว่าหมื่นล้านบาทแค่ไหน ยังเห็นว่าเป็นเรื่องเอื้อประโยชน์นายทุนมากกว่าเกษตรกร!
ข้อสังเกตแรก ปกติช่วงปลายฤดูที่มีผลผลิตน้อยราคาสินค้าเกษตรก็จะขยับราคาได้เองตามกลไกตลาด และปริมาณมันสดที่ถึงเวลาขุดขายของเกษตรกรก็เหลือน้อย เพียง 2.5 ล้านตันหัวมันสด แปลงเป็นผลิตภัณฑ์ก็เหลือกว่าล้านตันเท่านั้น รับซื้อเพิ่มก็ไม่ได้ช่วยราคาสูงรวดเร็วนัก อีกทั้งเหตุใดการแจ้งข้อมูลในคณะรัฐมนตรีว่าหัวมันสดที่ต้องแทรกแซงราคา เหลือ 3-4 ล้านตัน หรือรัฐบาลจะลักไก่ต่อเวลาโครงการรับจำนำ ที่ต้นมันสำปะหลังอ่อนอีก 4 ล้านตัน และถึงเวลาขุดเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมนี้
อีกประเด็น จะเป็นการใช้งบประมาณฟุ่มเฟือยไปไหม รัฐจะได้ไม่คุ้มเสีย เอางบประมาณภาษีประชาชนกว่าหมื่นล้านบาทมาใช้โดยไม่จำเป็น และเป็นการเกาไม่ถูกที่ เพราะการร้องเรียนของเกษตรกรในพื้นที่ แค่ต้องการให้กระจายจุดรับซื้อมากกว่า เพราะบางพื้นที่มีลานมันเกินจำเป็น แต่บางพื้นที่ไม่มีลานมัน
และแม้หลักเกณฑ์รับซื้อผลิตภัณฑ์มันจากพ่อค้ายังไม่ออกมา แต่เบื้องต้นได้กำหนดเงื่อนไขแล้วว่าจะเป็นการเปิดประมูลและให้สิทธิพ่อค้าลานมันหรือแป้งมันที่เข้าโครงการรับจำนำมันของรัฐอยู่แล้ว เสนอราคาขายมันในสต๊อก
รายใดเสนอราคาขายต่ำสุดก็จะได้รับการพิจารณา ซึ่งหากทางปฏิบัติตามระเบียบราชการก็ต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ถึงจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์และเปิดประมูล เวลาที่เหลือเดือนเศษก่อนโครงการปิด ก็จะน้อยลงอีก
ที่มองว่าเอื้อประโยชน์พ่อค้าเป็นไปได้มากสุด เพราะไม่ได้ระบุว่าผู้เข้าประมูลจะขายมันเก่าแค่ไหน รัฐเพียงต้องการดูดซับสต๊อกพ่อค้าให้ว่างลง ซึ่งไม่อาจตรวจสอบได้แน่ชัดว่าต้นทุนสต๊อกนั้นเท่าไหร่แน่ และยังหนุนให้พ่อค้าได้กำไร 2 ทาง จากการปล่อยของสต๊อกเก่า ที่พ่อค้าส่วนใหญ่ระบุตรงกันว่าตอนนี้สต๊อกมันเหลือเพราะคุณภาพไม่ตรงตามความต้องการของตลาดกว่าครึ่ง
ซึ่งพ่อค้าเหล่านี้ก็ได้รายได้จากการแปรสภาพเพื่อส่งมอบรัฐแล้ว ซึ่งตามสูตรแป้งมัน 1 กิโลกรัม จะใช้มันสด 4.64 กิโลกรัม และมันเส้น 1 กิโลกรัม จะใช้มันสด 2.42 กิโลกรัม
หากต้นทุนมันสดกิโลกรัมละ 2.75 บาท แป้งมันจะมีราคากิโลกรัมละ 15 บาท ตลาดรับซื้อ 12-12.50 บาท มันเส้น ราคากิโลกรัมละ 7.30-7.50 บาท ตลาดซื้อเพียง 6.50 บาท และพ่อค้าที่ได้รับคัดเลือกให้ซื้อมันสดรอบใหม่ก็จะได้หาทางแปรสภาพอีกครั้ง
นั่นหมายถึงพ่อค้าจะได้รายได้สองทางและน่าจะฟันกำไรส่วนต่างกิโลกรัมละ 3-5 บาท จากที่มีการรับซื้อครบเป้าหมายหมื่นล้านบาท
คิดเป็นส่วนต่างกำไรจากโครงการรวมไม่ต่ำกว่า 3-4 พันล้านบาท ที่ผ่านมือนายทุน แต่ไม่รู้ว่าจะเข้ากระเป๋าครบหรือไม่เท่านั้น
+++
เดินหน้าลุย
โดย นาย ต. คอลัมน์ ก่อสร้างและที่ดิน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1653 หน้า 22
ผลประกอบการบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไตรมาสแรกของปี 2555 สรุปออกมาแล้ว ปรากฏว่ามียอดขายถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้กันเป็นส่วนใหญ่ หลายรายทะลุเป้าเสียด้วยซ้ำ
แสดงให้เห็นถึงกำลังซื้อในตลาดที่อยู่อาศัยที่ยังมีอยู่อย่างแข็งแกร่ง และได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมกรุงเทพฯ ปริมลฑลไม่มากอย่างที่หวั่นกลัวกัน
จะมีบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมยังไม่ฟื้นคืนสภาพเดิมก็น่าจะมีแต่เฉพาะบริษัทขนาดเล็กที่มีโครงการบ้านจัดสรรไม่มากและอยู่ในทำเลน้ำท่วมหนักทุกโครงการเท่านั้น
ผลประกอบการไตรมาสแรกของปีส่งผลทำให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ มีความมั่นใจสูงมากกว่าเดิม
เห็นได้จากการแถลงแผนงานของบริษัทต่างๆ
แม้ปีนี้จะแถลงแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ล่าช้ากว่าทุกปี แต่จำนวนโครงการที่จะเปิดใหม่ ยอดขายเป้าหมาย ดูจะมากกว่าทุกปีที่ผ่านมาเสียด้วยซ้ำ
บางบริษัทมั่นใจถึงขนาดจบไตรมาสแรกก็ปรับเพิ่มเป้าหมายยอดขายทั้งปีสูงกว่าที่วางแผนไว้เมื่อตอนแรก
นอกเหนือจากพิสูจน์ทราบแล้วว่า กำลังซื้อที่อยู่อาศัยโดยรวมในกรุงเทพฯ ปริมณฑล ยังแข็งแกร่งแล้ว
บริษัทอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากยังเห็นโอกาสตลาดในส่วนภูมิภาค หลายบริษัทเดินหน้าเปิดโครงการ โกยยอดขายภูมิภาคไปเรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นที่หาดใหญ่ ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่
และอีกหลายบริษัทกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมการ
กระแสข่าวอสังหาริมทรัพย์ภูมิภาคปรากฏในหน้าธุรกิจของหนังสือพิมพ์มากขึ้นเรื่อยตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมเป็นต้นมา
ภาพธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่างจังหวัดชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ นอกจากเชียงใหม่ ภูเก็ต ชลบุรี และพัทยา ที่คุ้นเคยมาก่อนนี้ ก็จะพบข่าวความเคลื่อนไหวอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดใหม่ๆได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงราย ลำปาง พิษณุโลก พิจิตร หาดใหญ่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช
สามารถกล่าวได้ว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเภทโครงการที่อยู่อาศัย ได้กระจายไปสู่จังหวัดใหญ่ๆ ในภูมิภาคครบถ้วนเต็มรูปแบบแล้ว
ด้วยเหตุนี้ จะพบว่าบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำหลายรายได้ตั้งเป้าหมายสัดส่วนรายได้จากโครงการบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม ภูมิภาคกันแล้วประมาณ 10-15% ของยอดขายรวมทั้งปี
คาดว่าจากนี้ไปหลายปีข้างหน้าสัดส่วนยอดขายจากโครงการในภูมิภาคจะมีสัดส่วนในอัตราที่สูงขึ้นเป็นลำดับ
ไตรมาสที่ 2 และ 3 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ จะเหยียบคันเร่งการเปิดตัวโครงการใหม่อย่างเต็มที่ เพราะความเชื่อมั่นกลับมาแล้วอย่างเต็มเปี่ยม
ถึงไตรมาส 4 ค่อยชะลอคันเร่ง มองซ้ายมองขวาประเมินสถานการณ์น้ำท่วม ด้วยความเชื่อว่ายังไงทั้งรัฐบาลและเอกชนมีการเตรียมการไว้พอสมควร เลวร้ายยังไงก็ไม่เท่าปลายปีที่แล้ว
ของเคยเจอแล้ว ไม่ค่อยน่ากลัวเท่าไหร่
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย