http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-11

แรงงานที่โลกลืม, ธุรกิจพลิกโลก, จีนวิพากษ์ไทย, ทำไมข้าวไทยจึงอาภัพ, ขายข้าวอย่างเซียน โดย ทวี มีเงิน

.

แรงงานที่โลกลืม โดย ทวี มีเงิน
ในข่าวสดออนไลน์ วันจันทร์ที่ 09 เมษายน พ.ศ. 2555 เวลา 05:00 น.


ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่คนทั่วไปอาจจะสับสนคิดว่านโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทครอบคลุมถึงแรงงานทุกกลุ่มผู้ใช้แรงงานทุกคน จะว่าไปแล้วแรงงานที่ได้อานิสงส์ 300 บาท ในเฟสแรกมีแค่ 5.5 ล้านคนเฉพาะพื้นที่ 7 จังหวัด อาทิ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร และภูเก็ตเท่านั้น
ส่วนพื้นที่ที่เหลือต้องรอวันที่ 1 มกราคมปีหน้า

น่าสนใจตรงที่แรงงานที่ได้ผลประโยชน์จากนโยบายนี้จริงๆเป็นแรงงานในระบบราวๆ 17 ล้านคนจากแรงงานทั้งหมดทั่วประเทศ 38 ล้านคน ส่วนที่เหลือ 21 ล้านคนที่เป็น 'แรงงานนอกระบบ' กลายเป็นแรงงานที่ถูกลืม หรือแรงงานที่โลกลืม เพราะไม่ได้รับผลพวงจากนโยบายขั้นต่ำ 300 บาท
แรงงานโลกลืมกลุ่มนี้ประกอบด้วยแรงงานในภาคเกษตร คนขับแท็กซี่ หาบเร่ พ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ และลูกจ้างอิสระ ผู้รับเหมารายย่อยรับจ้างต่อเติมบ้าน เป็นต้น

แรงงานนอกระบบเป็นกลุ่มที่น่าเห็นใจที่สุด นอกจากไม่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทแล้ว ยังต้องแบกรับภาระข้าวของแพงที่ขึ้นไปดักรอก่อนแล้ว
มิหนำซ้ำนโยบายค่าจ้าง 300 บาท ยังผลักให้แรงงานในระบบ 17 ล้านคน โยกย้ายไปเป็นแรงงานนอกระบบไปรวมอยู่ในกลุ่ม 21 ล้านคนเพิ่มขึ้น เพราะจะถูกบีบถูกเลิกจ้างจากนายจ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแรงงาน 'ธุรกิจเอสเอ็มอี' ที่มีผู้ประกอบการราวๆ 2 ล้านราย คาดว่าจะปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงานราวๆ 10% หรือ 2 แสนราย
นั่นแปลว่าจะมีแรงงานถูกเลิกจ้างอย่างน้อยๆ 1.5-2 ล้านคน ที่จะผันตัวเองมาเป็นแรงงานนอกระบบ


ที่พูดมาทั้งหมดไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ตรงกันข้ามเห็นด้วยและเห็นใจผู้ใช้แรงงานที่ไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมานาน จนรายได้ไล่ตามไม่ทันค่าครองชีพที่สูงขึ้นตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา

แต่ไม่เห็นด้วยกับการใช้วิธีการทางการเมืองมาชี้นิ้วสั่งไม่ว่าจะเป็น 300 บาทของเพื่อไทย หรือปรับขึ้น 25% ใน 2 ปีตามนโยบายประชาธิปัตย์ ล้วนแต่เป็นตัวเลขที่จินตนาการกันเองของคนไม่กี่คน

ทั้งที่เรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบและชอบธรรม ควรจะหารือและเห็นชอบร่วมกันระหว่างรัฐ เอกชน และฝ่ายแรงงาน

จับตาให้ดีนับจากนี้แรงงานในระบบจะทยอยเข้ามาเป็นแรงงานนอกระบบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลเตรียมจะบรรเทาความเดือดร้อนให้คนกลุ่มนี้ได้อย่างไร หรือจะปล่อยให้เขาต้องเผชิญชะตากรรมกันเอาเอง



++

ธุรกิจพลิกโลก... "กำไรดีมีความสุข" โดย ทวี มีเงิน
ในข่าวสดออนไลน์ วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


เสาร์สบายๆ วันนี้มาดูเรื่องราวของคนคิดดีทำธุรกิจเพื่อสังคมแล้วอยู่รอดได้แบบสบายๆ เรื่องนี้เกิดที่อังกฤษโน่น ซึ่งเป็นดินแดนที่ธุรกิจเพื่อสังคมงอกงามอยู่ดาษดื่นมูลค่ามากถึง 24,000 ล้านปอนด์ เนื่องจากผู้บริโภคตระหนักเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อมกันมาก

แต่ที่จะเล่าเป็นเรื่องของ "เดอะ พีเพิล ซูเปอร์มาร์เก็ต" หรือเรียกว่า "ร้านค้าของผู้คน" ที่มี "เคท บูลล์" อดีตพนักงาน "มาร์ก แอนด์ สเปนเซอร์" เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญ

รูปร่างหน้าตา "เดอะ พีเพิล ซูเปอร์มาร์เก็ต" ก็ไม่ต่างจาก ซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป แต่ที่ต่างกันแบบหน้ามือเป็นหลังมือคือ "คอนเซ็ปต์" แต่ก็ไม่ต่างจากสหกรณ์บ้านเราสักเท่าไหร่ คือขายอาหาร ผักผลไม้คุณภาพสูง ราคาสมเหตุสมผลให้ผู้บริโภค โดยที่คนในชุมชนร่วมเป็นผู้บริหารจัดการร้าน เป็นการตอบโจทก์คอนเซ็ปต์ "ร้านค้าของผู้คน" อย่างแท้จริง ใครเป็นสมาชิกของร้านจะต้องเสียค่าสมาชิกรายปีปีละ 25 ปอนด์

แต่ที่เป็นไฮไลต์คือ คนที่เป็นสมาชิกต้องแวะเวียนเข้ามาดูแลร้านอย่างน้อยเดือนละ 4 ชั่วโมงเพื่อแลกกับการได้ส่วนลดซื้อสินค้า 10% และ "เสียงโหวต" ว่าจะขายอะไรที่พวกเขาต้องการอย่างแท้จริง ทำให้ "ร้านค้าของผู้คน" แห่งนี้ไม่ขายบุหรี่ ไม่ขายเหล้า แต่จะขายพืชผลการเกษตรที่หาได้ในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อได้ของคุณภาพและลดการนำเข้าสินค้า รับรองว่าผักผลไม้ขายวันต่อวันราคาถูกกว่าในห้าง ค่อนข้างมาก

เหนือสิ่งอื่นใด เวลาเลือกพนักงานจะไม่ดูวุฒิการศึกษาและประสบการณ์ที่ผ่านมา แต่จะดูว่าเขาจะทำงานได้หรือไม่ เลือกคนที่เห็นคุณค่าของร้านและอยากร่วมแบ่งปันคุณค่าทางสังคมและมีใจอยากจะเปลี่ยนแปลงสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้น

พูดง่ายๆ เลือกคนที่มี "ใจ" ให้โอกาสคนไม่ว่าจะเป็นคนตกงาน ติดเหล้า บ้านแตกใช้วิธี "ตอบรับ" แทนที่จะ "ปฏิเสธ" แต่เป็นการให้โอกาสเขาได้เปลี่ยนชีวิตใหม่

แทบไม่น่าเชื่อว่าธุรกิจเพื่อสังคมอย่าง "ร้านค้าของผู้คน" แห่งนี้ นอกจากวิธีคิดตอบโจทย์ความอยู่รอดทางธุรกิจและลดปัญหาสังคมแล้ว กลับมีลูกค้าหมุนเวียนถึง 6,000 คนต่อสัปดาห์ ปีนี้คาดว่าจะมีกำไรถึง 1 ล้านปอนด์หรือราวๆ 50 ล้านบาทเลย ทีเดียว

นี่ยังไม่ได้พูดถึงการได้ตอบแทนสังคม สิ่งแวดล้อมที่มีคุณค่าทางใจ เรียกว่าได้ทั้งเงินได้ทั้งความสุขใจ



++

จีนวิพากษ์ไทย "น่าเสียดายโอกาส" โดย ทวี มีเงิน
ในข่าวสดออนไลน์ วันพุธที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 01:00 น.


นับถอยหลังไปอีกแค่ 3 ปี การรวมตัวเป็น "อาเซียนหนึ่งเดียว" หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ก็เปิดฉากขึ้น ประเทศแถบเพื่อนบ้านคึกคักมานานแล้ว เฉพาะอย่างยิ่ง สิงคโปร์ มาเลเซียและอินโดนีเซีย พร้อมก่อนใคร ก็เห็นแต่พี่ไทยเรายังมะงุมมะงาหรา

มีเอกชนไม่กี่รายที่เดินหน้าไปแล้ว แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าจะไปทางไหน ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม ชาวไร่ชาวนาที่ไม่รู้ว่าเมื่อเปิดเสรีแล้วจะส่งผลกระทบกับการค้าการขายและสินค้าเกษตรอย่างไร

เห็นแล้วน่าเป็นห่วง กลัวจะเหมือนตอนเปิดเอฟทีเอ ไทย-จีนใหม่ๆ สินค้าเกษตรภาคเหนือ หอมกระเทียม ผักผลไม้โดนสินค้าจีนถล่มกระจุยกระจาย

เมื่อเร็วๆ นี้ บรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเรามีโอกาสได้พบกับทางผู้หลักผู้ใหญ่ของจีนหัวข้อหลักที่แลกเปลี่ยนในวงสนทนาพูดกันถึงบทบาทไทยในเวทีอาเซียน


ฝ่ายไทยแย็บคำถามก่อน ว่าจีนมองปัญหาไทย-กัมพูชาอย่างไร ซึ่งทางจีนบอกว่าเขามีความสัมพันธ์กับทั้งไทยและกัมพูชาเท่าๆ กันจึงไม่อยากให้เกิดความขัดแย้งไม่อยากให้มีปัญหา

แต่เมื่อถามถึงบทบาทไทยในการเปิดเสรีอาเซียน เขาบอกว่าเขาเสียดายโอกาสที่ผ่านมาไทยเป็น "ผู้นำอาเซียน" มาตลอดแต่ตอนหลังๆ มัวแต่วุ่นวายอยู่กับความขัดแย้งกันเอง ทะเลาะกันเองมาหลายปีบทบาทนี้จึงถดถอยลงทุกวัน

เขาย้ำอีกว่าน่าเสียโอกาสในการเป็นผู้นำอย่างยิ่ง

เมื่อถามว่าใครเหมาะจะเป็นผู้นำ เขามองว่าตอนนี้ยังไม่เห็นใครเป็นผู้นำได้จริงๆ ยกตัวอย่างสิงคโปร์ก็เป็นประเทศเล็กเกินไป และจีนมองว่าสิงคโปร์เป็นคู่แข่งทางการค้ากับเขาในอนาคตดูๆ เขาไม่ค่อยสนับสนุนเท่าไหร่
ส่วนมาเลย์กับอินโดฯเขาก็มองว่าไม่ได้ ในทางการเมืองสองประเทศนี้กับจีนก็ยังไม่ถึงกับปึ้กยังมีอะไรคลิกกันอยู่ สำหรับฟิลิปปินส์ก็มีปัญหาในเชิงภูมิประเทศที่อยู่ไกลจากกลุ่มประเทศอาเซียนเกินไป โอกาสจะเป็นผู้นำคงเป็นไปได้ยาก

เขายังย้ำว่าในเชิงภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ไทยได้เปรียบที่สุดเพราะอยู่ "จุดศูนย์กลาง" ของอาเซียนมีเพื่อนบ้านล้อมรอบทั้งพม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซียเหมาะสมทุกอย่าง เฉพาะอย่างยิ่งโลจิสติกส์ที่เป็นหัวใจระบบเศรษฐกิจอาเซียนจะเชื่อมโยงประเทศเหล่านี้ กับประเทศจีน ได้ง่ายๆ

ขนาดจีนเขายังเสียดายโอกาส ไม่รู้ว่าคนไทยเราคิดกันได้หรือยัง หรือจะเป็นอย่างคำพูดที่บอกว่า ประเทศไทยดีทุกอย่างเสียอย่างเดียวมีคนไทยอยู่



++

ทำไมข้าวไทยจึงอาภัพ โดย ทวี มีเงิน
ในข่าวสดออนไลน์ วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


เสาร์สบายๆ ฉบับนี้มาว่ากันด้วยเรื่องของข้าวกันต่อ หลังจากเขียนเรื่องขายข้าวอย่างเซียนเมื่อเสาร์ที่แล้ว เขียนถึงการพลิกกลยุทธ์การตลาดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ 'ข้าวมิโกฮารา' จากหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งกลายเป็นข้าวเกรดพรีเมียมขายดิบขายดีแถมราคาแพงกว่าเดิมถึง 3 เท่าตัว ด้วยการสร้าง "สตอรี่" ของข้าวให้น่าเชื่อถือ

มีคนถามมากมายว่าแล้วทำไมชาวนาไทยไม่รวยสักที ทำนามากี่ปีกี่ชาติตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นไม่รู้ตั้งแต่สมัยไหนชาวนาไทยจึงยากจนเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว ความจริงก็คงไม่เฉพาะชาวนาไทยหรอกที่ยากจน ชาวนาปลูกข้าวประเทศไหนๆ ก็ยากจนด้วยกันทั้งนั้นอาจจะมีข้อยกเว้นชาวนาญี่ปุ่นที่รัฐบาลดูแลเป็นพิเศษ เพราะรัฐบาลเขาถือว่าอาชีพทำนาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ต้องรักษารัฐบาลก็เลยเข้ามาดูแล
ต่างจากรัฐบาลไทยไม่ว่ายุคไหนๆ ก็ได้แต่เชิดชูว่าชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ แต่ก็เป็นได้แค่กระดูกสันหลังผุเท่านั้น


สำหรับคำถามว่าทำไมชาวนาไทยถึงยากจน เพิ่งมาถึงบางอ้อหูตาสว่างเมื่อไม่กี่วันมานี้ บังเอิญมีโอกาสได้ฟังผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคยคลุกคลีตีโมงกับวงการข้าวมาช้านานไขปริศนาให้ฟัง
ท่านบอกว่า เคยสังเกตหรือไม่ว่ากลุ่มประเทศที่กินข้าวเป็นอาหารหลักเป็นพวกไหน ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศยากจนรายได้น้อยทั้งนั้น ไม่เหมือนประเทศที่กินขนมปัง ซึ่งทำจากแป้งสาลีล้วนแต่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือประเทศอุตสาหกรรม คนของเขามีเงินมีฐานะร่ำรวยแต่อาหารหลักของเขาจะกินขนมปัง ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐหรือกลุ่มประเทศยุโรป ออสเตรเลีย กินขนมปังเป็นหลักทั้งนั้น

ส่วนประเทศที่กินข้าวเจ้าและข้าวเหนียวก็จะเป็นประเทศในแถวทวีปเอเชียและประเทศยากจน แม้จะมีตลาดใหม่ๆ ที่หันมากินข้าว อย่างตะวันออกกลางที่พอจะมีเงินแต่ก็กินพวกปลายข้าวซึ่งเป็นข้าวราคาถูก หรืออย่างตลาดแอฟริกาที่เราพยายามไปบุกเบิกเป็นตลาดใหม่ก็ล้วนแต่เป็นประเทศยากจน กำลังซื้อต่ำและกินพวกปลายข้าว ข้าวราคาถูก

ท่านยังบอกอีกว่า ที่เล่าให้ฟังก็เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าตลาดข้าวไม่ใช่เป็นตลาดใหญ่โตอะไร เป็นตลาดเล็กนิดเดียว แถมประเทศที่บริโภคข้าวก็ไม่ได้ร่ำรวย คนจนกินข้าว ส่วนคนรวยกินขนมปัง
อย่างนี้จะไม่ให้บอกว่าข้าวเป็นพืชอาภัพ ชาวนาเป็นอาชีพที่น่าสงสารได้อย่างไร



++

ขายข้าว อย่างเซียน โดย ทวี มีเงิน
ในข่าวสดออนไลน์ วันเสาร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 เวลา 00:01 น.


เสาร์สบายๆ มีเรื่องราวน่าทึ่งถูกนำมาสร้างเป็นสารคดีในญี่ปุ่น เป็นเรื่องของข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ชื่อ โจเซ็น ทากาโน รับราชการในเมืองเล็กๆ ชื่อมิโกฮารา อยู่ทางเหนือห่างกรุงโตเกียว 400 กิโลฯ ในเมืองนี้ส่วนใหญ่จะมีแต่ผู้สูงอายุ มีอาชีพปลูกข้าว ข้าวที่ปลูกจะขายผ่านสหกรณ์กลาง

โจคิดว่า การที่ชาวบ้านขายข้าวผ่านสหกรณ์ไม่มีทางรวยขึ้นถ้าขายเองโดยตรงน่าจะได้ราคาดีกว่า แต่ก็ถูกชาวบ้านต่อต้านพูดจาเย้ยหยันหาว่าเขาไม่มีประสบการณ์จะมารู้ดีได้อย่างไร บางครั้งถึงกับโดนปาบุหรี่ใส่ในระหว่างประชุมชาวบ้าน แต่ก็ไม่ทำให้เขาท้อถอยยังมุ่งมั่นหาวิธีช่วยเหลือชาวบ้านต่อไป

ด้วยความที่เป็นนักสังเกต เขาเห็นว่าน้ำที่ใช้ปลูกข้าวเป็นน้ำบริสุทธิ์ไหลลงมาจากภูเขา จึงปิ๊งแว้บทันทีว่านี่แหละจุดขายที่สำคัญ มิโกฮาราก็มีความหมายว่าบุตรของพระเจ้า

เมื่อคิดได้เขาก็ทำหนังสือถึง พระสันตะปาปา เบเนดิกต์ที่ 16 ให้ช่วยกินข้าวของชาวบ้าน โดยพร่ำพรรณนาทั้งสรรพคุณความเป็นมา และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านให้ทราบ แต่รอแล้วรอเล่าก็ยังไม่ได้รับคำตอบ เขาเกือบถอดใจหลายครั้ง

สวรรค์มีจริง มาวันหนึ่งพระสันตะปาปาตอบหนังสือกลับมาว่ายินดีจะกินข้าวของชาวบ้าน เขาไม่รอช้ารีบรวบรวมข้าวส่งไปให้ทันที เมื่อข่าวนี้แพร่กระจายทำให้คนพากันสนใจซื้อ 'มิโกฮารา' ไปกิน ราคาข้าวที่เคยผ่านสหกรณ์กลางราคา 225 เยนต่อกิโลฯ เพิ่มเป็น 700 เยนต่อกิโลฯ

ชาวบ้านมีฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น โจพลิกชีวิตของชาวบ้าน พลิกวิถีของหมู่บ้าน ด้วยการสร้างแบรนด์ข้าวมิโกฮาราให้มี 'สตอรี่' ที่น่าสนใจ น่าเชื่อถือ หลายคนบอกว่านี่คือการขายข้าวขั้นเทพ บางคนก็บอกว่าเป็นการสร้างแบรนด์ชั้นเซียน

ทำให้อดนึกถึงข้าวหอมมะลิไม่ได้ ครั้งหนึ่งสมัยไทยรักไทยเป็นรัฐบาล กระทรวงพาณิชย์เคยคิดจะสร้างแบรนด์ 'ข้าวหอมมะลิ' แต่ก็มีเสียงคัดค้านว่าเป็นไปได้ยากก็เลยเงียบหายไป

ถ้าเราสร้างแบรนด์ข้าวหอมมะลิ ผูกเป็นเรื่องราวให้ดูน่าเชื่อถือเหมือนข้าวมิโกฮารา ป่านนี้ไม่ต้องพึ่งโครงการจำนำข้าวเกวียนละสองหมื่นอย่างทุกวันนี้



.