http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-19

ดูดคาร์บอนจากอากาศ, เที่ยวงานหนังสือ-วิทย์, พืชตัดต่อฯ ล้าง-ผีเสื้อ, ถุงผ้าเป็นผู้ร้าย โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์

.

ดูดคาร์บอนจากอากาศ แก้ปัญหาโลกร้อนแบบคนช่างฝัน
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1651 หน้า 100


ก๊าซเรือนกระจกอันเกิดมาจากการปลดปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ก่อให้เกิดปัญหาสภาพภูมิอากาศหรือเรียกติดปากกันว่า ปัญหาโลกร้อน มีผลกระทบเป็นลูกโซ่อย่างต่อเนื่อง ผลสะเทือนหลายเรื่องก็เป็นที่ประจักษ์กันอยู่แล้ว แนวทางในการแก้ไขปัญหามีอยู่หลายแบบ ข้อตกลงระะหว่างประเทศในการจำกัดการปลดปล่อยคาร์บอนเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา ซึ่งประเทศที่ลงนามก็ต้องหาทางลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ตามเป้าหมาย

เทคโนโลยีที่คิดค้นวิธีการที่จะลดการปล่อยคาร์บอนมีคิดกันออกมามากมายหลายวิธี หนึ่งในวิธีที่ใช้กันอยู่ คือ การดักจับคาร์บอนจากปล่องควันโรงงาน เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นต้น
แต่ก็อย่างที่เรารู้ แหล่งปลดปล่อยคาร์บอนนั้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะที่ปล่องควันโรงงานเท่านั้น นอกจากนั้น คาร์บอนยังกระจายไปทั่วโลก โดยมีชั้นบรรยากาศเป็นสายพานลำเลียง พูดง่ายๆ คือมันมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง

แนวคิดหนึ่งที่คิดกันก็คือ การดึงคาร์บอนมาจากอากาศโดยตรง ที่มีนักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มคิดกันอยู่ แม้จะมีผลการวิจัยจาก American Physical Society ออกมาเมื่อกลางปีที่แล้วว่า วิธีนี้อาจจะไม่คุ้ม
แต่อะไรก็ไม่อาจห้ามไม่ให้คนคิดคนฝันได้


หนึ่งในคนช่างฝันในเรื่องดังกล่าวก็คือ เคลาส์ แลคเนอร์ ซึ่งระหว่างทำงานที่ห้องปฏิบัติการแห่งชาติลอสอลามอส ในทศวรรษ 1990 ทุ่มเทความสนใจนิวเคลียร์ฟิวชั่นและระบบเครื่องจักรที่ผลิตซ้ำตัวเองได้ แล้วเปลี่ยนความสนใจมายังเรื่องการดักจับคาร์บอนของโรงงานถ่านหิน
เขาเกิดความคิดขึ้นมาว่า ทำไมไม่ดักจับมาโดบตรงจากอากาศเลย ในเมื่อคาร์บอนไดออกไซด์นั้นกระจายไปทั่วทั้งโลกจากแหล่งปลดปล่อยสารพัดแบบ
เมื่อลูกสาวของเขาขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับโครงงานวิทยาศาสตร์ เขาก็เลยถามลูกสาวว่า "ทำไมไม่ดึงคาร์บอนไดออกไซด์มาจากอากาศล่ะ"

ลูกสาวเมื่อได้ไอเดียจากพ่อก็ลงมือทดลองด้วยการเติมสารละลายโซเดียม ไฮดรอกไซด์ ลงในหลอดทดลอง จากนั้นใช้เครื่องปั๊มอากาศสำหรับอ่างเลี้ยงปลา ปั๊มอากาศผ่านหลอดตลอดทั้งคืน วันถัดมาสิ่งที่ได้คือโซเดียม คาร์บอเนต ที่เกิดจากการรวมตัวกันของโซเดียมไฮดรอกไซด์ กับคอร์บอนไดออกไซด์
นั่นเป็นแรงบันดาลใจให้เคลาส์เริ่มคิดแปลความฝันของเขาออกมาเป็นการปฏิบัติ หาหนทางสร้างเครื่งดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศ
จนถึงปี 2004 มีนักลงทุนที่สนใจเรื่องปัญหาสภาพภูมิอากาศและสนใจความคิดของเคลาส์ บริษัทจึงเกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่างและคิดค้นเรื่องนี้ต่อ

จนสุดท้ายในปี 2007 ก็ประสบความสำเร็จในขั้นต้น โดยใช้พลาสติกเรซินแทนโซเดียม ไฮดรอกไซด์ เนื่องจากการใช้โซเดียม ไฮดรอกไซด์ จะทำให้ขั้นตอนการสกัดคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาใช้ในภายหลังต้องใช้พลังงานมากจนไม่คุ้ม ต่างจากเรซิ่น ซึ่งจะแข็งตัวเมื่อรวมกับคาร์บอนไดออกไซด์ และคายออกมาเมื่อเปียก

ผลสำเร็จของ โกลบาล รีเสิร์ช เทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นชื่อ คีรีมานจาโร่ เอ็นเนอร์ยี ยังเป็นเพียงขั้นต้น เพราะการดูดคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศมาเก็บไว้เฉยๆ ไม่เกิดประโยชน์ใดๆ และไม่เกิดรายได้เพียงพอด้วย
ขั้นตอนต่อไปที่กำลังขะมักเขม้นค้นคว้ากันอยู่ก็คือ การแปรรูปมันกลับไปเป็นพลังงาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่พวกเขาก็พยายามกันอย่างไม่หยุดยั้ง
สักวันหนึ่งพวกเขาอาจจะประสบความสำเร็จหรือแม้จะล้มเหลว แต่พวกเขาก็ได้ลงมือทำตามที่ฝัน



++

เที่ยวงานหนังสือ ท่องโลกวิทยาศาสตร์
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1650 หน้า 100


งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเวียนมาบรรจบอีกรอบ การได้ปลีกเวลาไปเดินท่ามกลางหนังสือละลานตาเป็นความสุขแบบหนึ่งของคนชอบอ่านหนังสือ
ประเทศไทยมีงานหนังสือใหญ่ปีละสองครั้ง ปลายมีนาคม-ต้นเมษายนคืองานสัปดาห์หนังสือ ส่วนตุลาคมเรียกงานมหกรรมหนังสือ ทั้งสองงานไม่มีความแตกต่างอะไรเว้นแต่ในรายละเอียด อาจถือเป็นตลาดนัดหนังสือขนาดใหญ่ประจำปีก็ว่าได้

ผมชอบงานหนังสือ ไปเดินร้อนตับแตกเป็นประจำมาตั้งแต่สมัยจัดกันที่คุรุสภาโน่น ชอบเพราะมีหนังสือมาให้เลือกมากมาย หนังสือดีๆ หลายเล่มเราแทบไม่เคยรู้ว่ามันมีอยู่ในโลกด้วยซ้ำถ้าไม่ได้ไปเห็นมันที่งานหนังสือ เพราะร้านหนังสือที่มีอยู่ไม่มีชั้นวางเพียงพอจะให้หนังสือที่มีออกมาใหม่ๆ ทุกวันขึ้นไปอวดหน้าปกได้นานนัก หรือบางเล่มไม่มีโอกาสเลยด้วยซ้ำ นอกจากนั้น หนังสือส่วนใหญ่ก็ไม่ได้พิมพ์ออกมาจำนวนมากพอที่จะวางได้อย่างทั่วถึง
ในงานหนังสือ เดินตรงดิ่งไปยังสำนักพิมพ์ที่ชื่นชอบ ก็จะได้เห็นหนังสือครบๆ ทั้งของเก่าของใหม่ ของที่ไม่เคยเห็นมาก่อนตามร้านหนังสือเต็มไปหมดให้เลือกได้ตามใจชอบ ในยุคหลังๆ ซึ่งย้ายมาจัดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สื่อหันมาให้ความสนใจกันมากขึ้นทั้งสื่อกระดาษ วิทยุ ทีวี รวมถึงอินเตอร์เน็ต ทำให้บรรยากาศคึกคักขึ้นอีกด้วย

แต่คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ไม่ใช่ว่าปีหนึ่งซื้อหนังสือหนเดียวหรือสองหนในงานใหญ่สองครั้งหรอกครับ เพราะยอดขายจากงานถือเป็นสัดส่วนจิ๊บจ๊อยมากเมื่อเทียบกับตลาดทั้งหมด
เช่น ปีนี้ประเมินว่าตลาดหนังสือรวมมีมูลค่าราวสองหมื่นกว่าล้านบาท ขณะที่งานสัปดาห์หนังสือปีนี้คาดว่ายอดขายอยู่ที่ราว 500 ล้านบาทเท่านั้นเอง


ปีนี้ก็เหมือนทุกปีที่สำนักพิมพ์มติชนของผมขนหนังสือไปเจอท่านผู้อ่านหลากหลายแนว ที่อยากแนะนำว่าไม่ควรพลาดอย่างยิ่งคือเรื่อง "เจิ้งเหอ มหาขันทีแห่งท้องทะเล" เป็นการนำเอาประวัติของเจิ้งเหอหรือซำปอกงตั้งแต่วัยเด็กจนก้าวขึ้นสู่ความเป็นมหาบุรุษทั้งที่เป็นขันที มาร้อยเรียงในรูปของนิยายที่อ่านแล้ววางกันไม่ลงเลยทีเดียว
การต่อสู้เพื่อเรียกคืนศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์คือสิ่งที่เจิ้งเหอต่อสู้มาตลอดชีวิต

ลำดับถัดมาเป็นหนังสือแนววิทยาศาสตร์เล่มเด็ด "คู่มือท่องโลกวิทยาศาสตร์ฉบับสมบูรณ์" เล่มนี้เป็นการรวบรวมวิทยาศาสตร์ทุกแขนงมาไว้ในที่เดียว ไล่ตั้งแต่ ชีวะ เคมี ฟิสิกส์ จักรวาลวิทยา เล็กลงไปถึงดีเอ็นเอ อะตอม ขึ้นไปถึงจักรวาลอันไกลโพ้น แต่ละเรื่องขมวดลงมาเป็นการเล่าเรื่องและอธิบายแบบสั้นกระชับ เป็นภาษาแบบเห็นภาพ เช่น
"ถ้าเราจินตนาการว่าอะตอมมีขนาดเท่ากับวิหารขนาดใหญ่ นิวเคลียสจะเป็นเหมือนเพียงยุงตัวน้อยที่อยู่กลางโถงที่โล่งว่างและอิเล็กตรอนจะมีขนาดพอกับแบคทีเรียที่ติดอยู่ตามฝาผนังด้านใน"
แต่ยังมีภาพสี่สีพราวไปทั้งเล่ม รวมทั้งแผนภูมิประกอบให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้นไปอีก เป็นหนังสือที่ปูพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ทุกแขนงได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา

ต่อไปใครบ่นว่าอ่านหนังสือแนววิทยาศาสตร์ไม่ค่อยเข้าใจ ผมจะบอกให้ไปหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่าน ซื้อติดบ้านไว้เลยยิ่งดี เพราะราคาที่ตั้งไว้ถูกอย่างเหลือเชื่อ จนไม่แน่ใจว่าจะพิมพ์ซ้ำได้อีก



++

พืชตัดต่อพันธุกรรม ล้างเผ่าพันธุ์ผีเสื้อ
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1649 หน้า 100


"ระหว่างปี 2552-2553 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่พืชตัดต่อพันธุกรรม หรือพืชจีเอ็มโอ (genetically modified crop) กลายมาเป็นบรรทัดฐานของเกษตรกรในสหรัฐอเมริกา ปริมาณไข่ของผีเสื้อโมนาร์ชในแถบมิดเวสต์ลดลงถึงร้อยละ 81"
นั่นคือการค้นพบโดยงานวิจัยชิ้นใหม่ของมหาวิทยาลัยมิเนโซต้า และมหาวิทยาลัยแห่งรัฐไอโอว่า ซึ่งชี้นิ้วไปยังบริษัทการเกษตรยักษ์ใหญ่ "มอนซานโต้" ว่าเป็นตัวการสำคัญการทำร้ายและทำลายสัตว์โลกที่สวยงามและไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ชนิดนี้

ในสหรัฐอเมริการ้อยละ 94 ของเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลือง และร้อยละ 72 ของผู้ปลูกข้าวโพดใช้เมล็ดพันธุ์ตัดต่อพันธุกรรมยี่ห้อราวด์อัพ เรดดี้ ของมอนซานโต้ ซึ่งไปทำลายล้างแหล่งวางไข่ที่สำคัญของมันคือต้นมิลก์วีดที่อยู่ที่ดินที่ทำการเพาะปลูกข้าวโพดและถั่วเหลือง
ทั้งข้าวโพดและถั่วเหลืองราวด์อัพ เรดดี้ ไม่ได้ตัดต่อพันธุกรรมเพื่อให้มันแข็งแรงสมบูรณ์ทนทานต่อโรค ให้ผลผลิตต่อต้นมากๆ แต่ตัดต่อพันธุกรรมเพื่อให้มันต้านทานสารเคมีกำจัดศัตรูพืชยี่ห้อราวด์อัพของมอนซานโต้ อันเป็นระบบคิดบริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ในการผูกมัดเกษตรกรไว้ในมือ เป็นวิธีคิดเดียวกับระบบเกษตรพันธะสัญญา แต่ใช้การตัดต่อพันธุกรรมมามัดมือเกษตรกรเอาไว้นั่นเอง

เมื่อพืชที่ปลูกมีภูมิต้านทานต่อสารเคมีดังกล่าว เกษตรกรก็ฉีดมันอย่างไม่บันยะบันยัง ไม่มีการแบ่งแยกวัชพืชซึ่งรวมถึงมิลก์วีดเข้าไปด้วย ผลก็คือเป็นการทำลายผีเสื้อโมนาร์ชให้ลดลงเป็นจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว



โดยปรกติในแต่ละปีผีเสื้อโมนาร์ชจากสหรัฐจะอพยพไปเม็กซิโกใน แต่นักวิจัยพบว่าจำนวนผีเสื้อที่อพยพไปเม็กซิโกลดน้อยลงไปทุกที ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราการเกิดต่ำลงในสหรัฐ
ในปีนี้จำนวนผีเสื้อที่เข้าไปอยู่ตามต้นไม้กินบริเวณราว 7 เอเคอร์ ลดลงร้อยละ 28 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และถือเป็นเพียงเสี้ยวเดียวเมื่อเทียบย้อนหลังไปถึงปี 2549 ที่มีผีเสื้อครอบคลุมบริเวณถึง 45 เอเคอร์

แต่แน่นอนว่ากระแสการเกษตรแบบนี้ยากที่จะต้านทานไหว มันเป็นวิถีที่เกษตรกรสมัครใจเลือกว่าเข้าท่าที่สุดสำหรับพวกเขา ซึ่งเป็นเรื่องช่วยอะไรกันไม่ได้มากนัก

สำหรับผีเสื้อโมนาร์ชหากพวกมันต้องการจะอยู่รอดต่อไปมันก็ต้องปรับตัวไปวางไข่ในแหล่งอื่นๆ แทน และหากมนุษย์อยากจะช่วยอนุรักษ์เจ้าปีกลายดำส้มที่สวยงามนี้เอาไว้ ก็คงต้องหาทางปลูกมิลก์วีดเพิ่มขึ้นนอกเขตแหล่งเพาะปลูกพืชตัดต่อพันธุกรรมเหล่านี้
หรือไม่ก็รอว่าเมื่อไรบริษัทพวกนี้จะลงทุนตัดต่อพันธุกรรมพืชผลทนทานโรค ทนแล้ง ทนหนาว มาแทนการทนทานยาฆ่าแมลงและปราบวัชพืช



++++

โลกสีเขียวอลวน เมื่อถุงผ้ากลายเป็นผู้ร้าย
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1594 หน้า 100


ถุงพลาสติกสร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมเป็นข้อมูลที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางมานาน และก็มีความพยายามที่จะรณรงค์ให้ลดการใช้ถุงพลาสติกกัน บางประเทศห้ามผู้ค้าปลีกแจกถุงพลาสติกฟรีก็ยังมี และที่ฮ็อตฮิตแบบไม่เลิกราอย่างในบ้านเราก็คือการรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้าจนมันเกลื่อนไปทั้งเมือง
แต่พอเอาเข้าจริง อย่างที่เห็นในบ้านเรา น้อยคนมากที่จะใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติกอย่างจริงจัง อย่างมากก็ใช้เป็นกระเป๋า หรือใช้สำหรับรวมข้าวของที่ซื้อและใส่ถุงพลาสติกมาอีกที แถมในบ้านมีถุงผ้าไม่ได้ใช้อยู่บานเบอะที่รับแจกมา

มีรายงานการศึกษาของสำนักงานสิ่งแวดล้อมของสหรัฐราชอาณาจักรอยู่ฉบับหนึ่งที่ยังไม่เผยแพร่สู่สาธารณะ ข้อมูลที่เอามาเขียนถึงนี้มาจากการสรุปของหนังสือพิมพ์ ดิ อินดิเพนเดนต์ ที่บอกว่า ได้อ่านรายงานการศึกษาชิ้นดังกล่าวที่เริ่มศึกษามาตั้งแต่ปี 2548 เพื่อเปรียบเทียบผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของถุงใส่สินค้าที่ซูเปอร์มาร์เก็ตใช้ทั้งหมด 7 ชนิด โดยประเมินตลอดกระบวนการตั้งการสะกัดวัตถุดิบ การผลิต จนถึงการกำจัดทิ้ง
ผลการศึกษาชิ้นนี้เดิมกำหนดการตีพิมพ์เผยแพร่ไว้ในปี 2550 แต่ก็ยืดเยื้อมาจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้เผยแพร่ จนมีการตั้งข้อสังเกตกันว่ามันโดนเตะถ่วง แต่ข้อมูลที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมยืนยันก็คือมันยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบทบทวนโดยคณะกรรมการซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ


ผลการศึกษาชิ้นนี้มีข้อสรุปในบื้องต้นอย่างไม่เป็นทางการว่า เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว การใช้ถุงพลาสติก (ที่ใช้โพลีเทนความหนาแน่นสูงเป็นวัตถุดิบ) มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำสุด ถุงกระดาษรองลงมา ส่วนถุงผ้าฝ้ายนั้นแย่ที่สุด

ถุงพลาสติกก่อให้เกิดคาร์บอนได้ออกไซด์ตลอดทั้งกระบวนการ 1.5 กิโลกรัมต่อการใช้เพียงครั้งเดียว ถ้าใช้ซ้ำหนึ่งครั้งจะลดลงเหลือ 1.4 กิโลกรัม ส่วนถุงกระดาษถ้าใช้ซ้ำ 4 ครั้งจะลดลงหลือเฉลี่ย 1.38 กิโลกรัม

ในขณะที่ถุงผ้าฝ้ายถ้าจะใช้โดยให้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือการสร้างคาร์บอนโดยเฉลี่ยลดลงมาในระดับใกล้เคียงกันนั้นจะต้องใช้ซ้ำอย่างน้อย 171 ครั้ง ซึ่งจะเฉลี่ยปล่อยคาร์บอนเท่ากับ 1.57 กิโลกรัม

ทว่า โดยพฤติกรรมการใช้ถุงผ้าฝ้ายในการช็อปปิ้งของคนอังกฤษโดยเฉลี่ยใช้แค่ 51 ครั้งก็เลิกใช้ ทำให้การใช้ถุงผ้าฝ้ายในทางปฏิบัติกลับสร้างปัญหาภาวะโลกร้อนมากเสียยิ่งกว่าถุงพลาสติกเป็นสิบๆ เท่า



ข้อเท็จจริงที่ได้จากการศึกษาชิ้นนี้น่าจะชวนให้นักสิ่งแวดล้อมสับสนเอาได้ง่ายๆ เหมือนกัน แต่การเอาข้อเท็จจริงมากางดูกันจะๆ ยังดีกว่าการหลับหูหลับตาทำอะไรกันไปโดยไม่มีข้อเท็จจริงมายืนยัน ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ต้องลดการใช้ถุงพลาสติกกันอีกแล้ว เพราะถึงอย่างไรมันก็ทำลายสิ่งแวดล้อมอยู่วันยังค่ำ
ปัญหาของการเข้าร่วมขบวนการ "สีเขียว" ก็คือการขาดความรู้ความเข้าใจ ซึ่งมาจากการขาดแคลนข้อมูลอย่างรอบด้าน เราจะตัดสินว่าอะไรเขียวหรือไม่เขียวต้องดูตลอดทั้งกระบวนการตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ก็แน่นอนว่าของแบบนี้ลำพังคนธรรมดาตัวเล็กๆ ยากจะทำเองได้
แค่เรื่องถุงช็อปปิ้งนี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว

ระหว่างนี้ก็พยายามลดการใช้ถุงพลาสติก ใช้ซ้ำเพื่อประโยชน์อื่นๆ รวมทั้งการหัดปฏิเสธถุงผ้ากันบ้าง เพราะการรับมาโดยไม่ได้ใช้ทดแทนถุงพลาสติกอย่างน้อย 171 ครั้งขึ้นไป ไม่ได้ช่วยลดภาวะโลกร้อนลงได้เลย มีแต่ช่วยเพิ่ม

เพราะมีคนรับแจก คนแจกก็ยังจะแจกกันต่อไป



.