.
บทความปีที่แล้ว 2554 ครบรอบปี
ยุทธศาสตร์อเมริกาในตะวันออกกลาง: ปฏิวัติประชาธิปไตย vs ปฏิวัติอิสลาม
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1595 หน้า 36
"เราจะผลักดันการสร้างประชาธิปไตยไปไกลเท่าใด จะผลักดันอย่างไร
และจะผลักดันเมื่อไร เป็นคำถามที่ตอบไม่ง่ายเลย "
Stanley A. Renshon
National Security in the Obama Administration (2010)
32 วันในตูนิเซีย...
18 วันในอียิปต์...
แล้วกระแสปฏิวัติประชาธิปไตย ก็เริ่มไหลทะลักอย่างที่ "ทำนบเก่า" ไม่อาจกีดขวางได้อีกแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นในลิเบีย บาห์เรน โมร็อกโก แอลจีเรีย ตลอดรวมถึงอิหร่าน หรือแม้กระทั่งในกรณีของจอร์แดน
ในสถานการณ์ความรุนแรงที่ขยายตัวมากขึ้นในลิเบีย สหประชาชาติและสหรัฐอเมริกาได้ออกแสดงบทบาททันที คณะมนตรีความมั่นคง (ยูเอ็นเอสซี) ลงมติคว่ำบาตรรัฐบาลของพันเอกกัดดาฟี และขณะเดียวกัน รัฐบาลอเมริกันก็ประกาศยึดทรัพย์ของเขากับครอบครัวในสหรัฐฯ ด้วย
(ในขณะที่เขียนต้นฉบับนี้ รัฐบาลของพันเอกกัดดาฟียังอยู่ในอำนาจได้ แต่ก็อยู่ในสภาพที่ง่อนแง่นเต็มที จะรอก็แต่เพียง กองกำลังของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลสามารถเข้ายึดเมืองหลวงได้ -1 มีนาคม 2554)
กระแสปฏิวัติประชาธิปไตยจากตะวันออกกลางครั้งนี้ดูจะรุนแรงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แม้ว่าก่อนหน้านี้ กระแสการเมืองจากตะวันออกกลางจะเป็นกระแสของการปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolution) ที่ถือเอาการขึ้นสู่อำนาจของ อยาตุลเลาะห์ โคไมนี พร้อมกับความสำเร็จของการโค่นล้มระบอบกษัตริย์ของอิหร่านในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.1979 (พ.ศ.2522) เป็นจุดเริ่มต้น
หลังจากนั้นจะเห็นได้ชัดเจนถึงกระแสดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดในเรื่องของการฟื้นฟูศาสนาอิสลาม หรือการสร้างความบริสุทธิ์ทางศาสนา เป็นต้น หรือแม้กระทั่งปรากฏในรูปของความเคร่งครัดในการแต่งกายของบุคคล โดยเฉพาะการสวมผ้าคลุมหน้าของสตรีมุสลิม
ดังนั้น คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า หลังจากปี ค.ศ.1980 (2523) แล้ว กระแสปฏิวัติอิสลามจากอิหร่านพัดแรงไปทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง และใช่เท่านั้น กระแสเช่นนี้ยังพัดแรงข้ามไปในทุกสังคมที่มีพี่น้องมุสลิมอาศัยอยู่ จนกลายเป็นหนึ่งในกระแสหลักของโลกในยุคสมัยดังกล่าว
หากลำดับเวลาของเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้น จะเห็นถึงเรื่องราวสำคัญ เช่น
1979 (2522)
- การโค่นล้มระบอบกษัตริย์ (พระเจ้าชาห์) ของอิหร่าน
- อยาตุลเลาะห์ โคไมนี เดินทางกลับจากการลี้ภัยในฝรั่งเศส และขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาล ใหม่ของอิหร่าน
- การเริ่มต้นกระแสอิสลามจารีตนิยมจากอิหร่าน และขยายตัวออกไปสู่ประเทศต่างๆ
- สหภาพโซเวียตบุกอัฟกานิสถาน
- การประกาศจัดตั้งขบวนการต่อต้านโซเวียตในอัฟกานิสถาน หรือกลุ่มมูจาฮีดีน ซึ่งเป็นกลุ่มอิสลามจารีตนิยม
- ประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซน ขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลอิรัก
- กลุ่มอิสลามจารีตนิยมชาวอิหร่านก่อกบฏในเมืองเมกกะ
1980 (2523)
- อิหร่านอ้างสิทธิของตนเหนือชัต-เอล-อาหรับ
- อิรักเปิดการโจมตีอิหร่าน และเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามอิรัก-อิหร่าน
1981 (2524)
- ประธานาธิบดีซาดัตของอียิปต์ถูกสังหารโดยกลุ่มอิสลามจารีตนิยม
กระแสปฏิวัติอิสลามนำความกังวลมาสู่ประเทศตะวันตกอย่างมาก จนนักวิเคราะห์หลายๆ ส่วนเชื่อว่าสหรัฐพยายามตอบโต้กระแสปฏิวัติจากอิหร่าน ด้วยการหันไปสนับสนุนการขึ้นสู่อำนาจของประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซน
โดยหวังว่าการสนับสนุนโดยเฉพาะในทางทหาร จะทำให้อิรักเติบโตขึ้นจนอิรักสามารถถ่วงดุลได้กับอิหร่านในโลกอิสลาม ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากความแตกต่างระหว่างนิกายทางศาสนาของทั้งสองประเทศอีกด้วย
ตะวันตกมีความกังวลต่อแนวคิดของผู้ปกครองอิหร่านชุดใหม่อย่างมาก เพราะผู้นำอิหร่านคิดไม่ต่างกับนักสังคมนิยมบางส่วนในอดีตที่เคยเชื่อว่า "การปฏิวัติเป็นสินค้าส่งออก" และผลักดันแนวคิดในเรื่องของการปฏิวัติโลก แม้จะมีความแตกต่างระหว่างอุดมการณ์ทางโลกและทางศาสนา แต่ผู้นำอิหร่านก็เชื่อว่าการปฏิวัติเป็นสินค้าที่จะต้องส่งออก พวกเขาไม่เชื่อในแนวคิดของรัฐประชาชาติที่เป็นรากฐานของระบบรัฐตะวันตก หากพวกเขาเชื่อในแนวคิดทางศาสนาที่แสวงหาประชาคมที่กว้างขวางกว่าด้วยบริบททางศาสนา
ดังนั้น ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างอิรักและอิหร่าน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่สหรัฐอเมริกาจะให้ความสนับสนุนอิรัก เพราะความเข้มแข็งของอิรักกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมพฤติกรรมอิหร่าน
หรืออย่างน้อยก็จะเป็นปัจจัยที่คอยถ่วงไม่ให้การส่งออกการปฏิวัติอิสลามออกสู่โลกภายนอกได้
กล่าวกันว่าสงครามอิรัก-อิหร่าน เป็นสงครามอันยาวนานและรุนแรงครั้งหนึ่งในช่วงปลายของศตวรรษที่ 20 ในสงครามครั้งนี้ไม่มีใครเป็นผู้ชนะเด็ดขาด แต่ซัดดัมก็แสดงให้เห็นว่าเขาเป็น "ผู้ปกป้องโลกอาหรับ" ให้พ้นจากกระแสแนวคิดแบบสุดโต่งของอิหร่าน
ในขณะเดียวกัน ผลจากการรบเกือบ 8 ปี ทำให้เกิดหนี้สงครามเป็นจำนวนมหาศาลกับอิรักประมาณ 80 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ผู้นำอิรักแก้ปัญหาด้วยการหันไปกดดันรัฐที่ร่ำรวยน้ำมันอย่างคูเวต โดยคูเวตจะต้องให้เงินให้เปล่าแก่อิรักเป็นจำนวน 30 พันล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมกับเงินสนับสนุนปีละ 10 พันล้านเหรียญสหรัฐ
แต่รัฐบาลคูเวตได้ปฏิเสธต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว ผลก็คือ ประธานาธิบดีซัดดัมตัดสินใจส่งกำลังบุกคูเวต และประกาศผนวกคูเวตเป็นส่วนหนึ่งของอิรัก
นโยบายของสหรัฐในการต่อสู้กับการปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน จึงลงเอยด้วยวิธีแบบการเมืองเชิงอำนาจที่สร้างให้ซัดดัมเติบใหญ่ขึ้น
แต่ในที่สุด วิธีการเช่นนี้ก็กลายเป็นปัญหาในตัวเอง เพราะเมื่อสหประชาชาติและโลกตะวันตกเรียกร้องให้อิรักถอนตัวออกจากคูเวต ซัดดัมเชื่อว่าสหประชาชาติไม่น่าจะสร้างเอกภาพในการกดดันอิรักได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งเขาก็ไม่อาจทำตามข้อเรียกร้องของสหประชาชาติได้ เพราะถ้าทำเช่นนั้น จะกลายเป็นการสูญเสียเครดิตทางการเมืองอย่างมากสำหรับตัวเขาและระบบการปกครองของเขาด้วย
ในที่สุด สงครามที่เกิดขึ้นในวันที่ 16 มกราคม ค.ศ.1991 (2534) กองทัพของฝ่ายสัมพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐประสบความสำเร็จอย่างสูงในการผลักดันอิรักให้ถอนตัวออกจากคูเวต โดยสูญเสียกำลังพลเพียง 150 นาย
ในขณะที่ประมาณการกันว่าอิรักสูญเสียกำลังพลราว 200,000 คน และมีค่าเสียหายจากการโจมตีทางอากาศประมาณ 170 พันล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมกันนั้น ก็เกิดความแตกแยกในโลกอาหรับอย่างมาก
ถ้าจะพิจารณาแล้ว อาจจะต้องยอมรับว่ายุทธศาสตร์ของสหรัฐประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งที่อิหร่านเองก็เติบโตไม่ได้มาก และแนวคิดในการส่งการปฏิวัติอิสลามออกสู่โลกภายนอกก็อาจจะไม่ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
แต่ในอีกด้านหนึ่งก็กลายเป็นปัญหา กล่าวคือ อิรักที่ถูกสร้างขึ้นให้มีอำนาจทางทหารเข้มแข็ง เพื่อหวังจะถ่วงดุลกับอิหร่านในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย จนในที่สุดแล้ว สหรัฐก็กลับต้องใช้กำลังเข้าจัดการกับอิรัก
แม้จะประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็นค่าใช้จ่ายอย่างมากทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ และกลายเป็นหนึ่งในปัญหาความมั่นคงของสหรัฐสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
แต่ในมุมหนึ่งของยุทธศาสตร์สหรัฐหลังจากการปฏิวัติอิสลามในอิหร่านก็คือ ความพยายามในการสร้าง "กระแสประชาธิปไตย" โดยหวังว่า กระแสเช่นนี้หากขยายตัวในภูมิภาคตะวันออกกลางได้แล้ว ก็อาจจะเป็นหนทางของการถ่วงดุลกับกระแสปฏิวัติอิสลามได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม ก็มีความกังวลเช่นกัน เพราะรัฐพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐในตะวันออกกลางนั้น มักจะไม่ค่อยมีระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยเท่าใดนัก ตัวอย่างเก่าของพันธมิตรที่ใกล้ชิดและถือเป็นจุดยุทธศาสตร์หนึ่งของสหรัฐในตะวันออกกลางก็คือ อิหร่าน แต่ก็เห็นได้ชัดเจนว่าระบอบกษัตริย์ของพระเจ้าชาห์เป็นระบอบอำนาจนิยม และอยู่ได้ด้วยเงื่อนไข 2 ประการคือ การใช้อำนาจปราบปรามภายในอย่างรุนแรง และการได้รับความสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสหรัฐ
ฉะนั้น การผลักดันกระแสประชาธิปไตย อาจจะกลายเป็น "ดาบสองคม" สำหรับอิทธิพลของสหรัฐในตะวันออกกลางเสียเอง
แต่เมื่อเหตุการณ์ก่อการร้ายขนาดใหญ่กับสหรัฐในวันที่ 11 กันยายน ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544) แล้ว ผู้นำสหรัฐดูจะมีความเชื่ออย่างมากว่า การจะลดกระแสการเมืองแบบสุดโต่งที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางได้นั้น น่าจะต้องผลักดันให้กระแสประชาธิปไตยเข้าสู่ภูมิภาคนี้ให้มากขึ้น
ประเด็นของการ "กระจายประชาธิปไตย" ไปสู่ประเทศต่างๆ ได้กลายเป็นทิศทางหลักของแนวคิดในการ "ขยายประชาธิปไตย" ของรัฐบาลประธานาธิบดีบุช ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือ ผลพวงจากประวัติศาสตร์ที่เชื่อในความสำเร็จของสหรัฐในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยสหรัฐเป็นผู้สร้างประชาธิปไตยทั้งในเยอรมนีและในญี่ปุ่น
หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ สหรัฐเชื่อว่าถ้าจำเป็นแล้ว ก็อาจจะต้องใช้แนวคิดของการบังคับให้เป็นประชาธิปไตยจากปัจจัยภายนอก (เช่น กรณีของเยอรมนีและญี่ปุ่น) และที่สำคัญก็คือ การกระทำเช่นนี้จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ทั้งกระแสอิสลามจารีตนิยม และกระแสก่อการร้ายลดลงได้ (ไม่ว่ากระแสนี้จะเป็นผลสืบเนื่องจากกระแสจารีตนิยมทางศาสนาหรือไม่ก็ตาม) หรือหากหวังสูงก็อาจจะเป็นเงื่อนไขให้กระแสดังกล่าวถูกทอนจนหมดความสำคัญลง
แต่ในความเป็นจริงแล้ว เรื่องนี้ไม่ง่ายดังที่สหรัฐตั้งความหวังไว้ ผู้นำของประเทศในตะวันออกกลางที่ใกล้ชิดกับสหรัฐและมีระบอบการปกครองที่ไม่เป็นเสรีนิยม ก็อาจจะไม่ได้นิยมชมชอบต่อแนวคิดดังกล่าวแต่อย่างใด
ในส่วนของภาคสังคมที่เป็นกลุ่มจารีตนิยม หรือบรรดาผู้เคร่งศาสนา อาจมองว่าการผลักดันให้สังคมการเมืองเป็นเสรีนิยม ก็คือการทำให้ "ความเป็นโลกวิสัย" ขยายตัวมากขึ้นในสังคมแล้วย่อมจะเป็นการทำให้ความเป็นศาสนาในสังคมลดลงไปเช่นกันด้วย ซึ่งก็ไม่ใช่ทิศทางที่พวกเขาต้องการ
หากในสถานการณ์จริง ประชาธิปไตยในตะวันออกกลางกลับไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายนอกเช่นที่สหรัฐคิด เหตุการณ์เกิดขึ้นจนกลายเป็นการประท้วงขนาดใหญ่ในตูนิเซีย ดูจะมีจุดเริ่มต้นจากการประท้วงเรื่องปัญหาเศรษฐกิจของคนเล็กๆ คนหนึ่ง แต่การประท้วงเช่นนั้น กลับกลายเป็นศูนย์รวมของความไม่พอใจที่เก็บสะสมอยู่นานในสังคมที่รัฐบาลอยู่ได้ด้วยระบอบอำนาจนิยม
ความสำเร็จของการปฏิวัติประชาธิปไตยในตูนิเซียเริ่มทำให้เกิดคำถามว่า โดมิโนที่เริ่มล้มจากตูนิเซียและจะล้มต่อในประเทศใด ซึ่งเห็นชัดเจนในเวลาต่อมาว่าโดมิโนตัวที่สองคืออียิปต์ และตัวที่สามก็คงหนีไม่พ้นลิเบีย... แล้วตัวที่สี่ ตัวที่ห้าเล่า?
สิ่งที่น่าคิดต่อมาก็คือ แล้วถ้ากระแสปฏิวัติประชาธิปไตยขยายตัวไปสู่พันธมิตรใกล้ชิดอย่างเช่นซาอุดีอาระเบีย ซึ่งก็มีปัญหาให้เห็นแล้วอย่างกรณีของบาห์เรน สหรัฐจะเลือกอะไรระหว่างประชาธิปไตยกับรัฐบาลอำนาจนิยมในประเทศเหล่านั้นที่มีความใกล้ชิดกับสหรัฐ (อย่าไปคิดมาก เรื่องนี้ไม่ใช่สหรัฐฯ กับการเมืองไทย!)
แล้วยังน่าสนใจต่อไปอีกด้วยว่า การปฏิวัติประชาธิปไตยในตะวันออกกลางครั้งนี้จะมีผลอย่างไรต่อแนวคิดจารีตนิยมในประเทศเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อปัญหาการก่อการร้าย!
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย