.
ที่สุดในสามโลก
โดย คำ ผกา http://th-th.facebook.com/kidlenhentang
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1654 หน้า 89
ปีที่แล้วได้ไปพูดที่ธรรมศาสตร์หัวข้อ "เมืองไทยยุคหลังอภิสิทธิ์" ได้สวมบทบาทโหร คำ ผกา ประชดประชันเอาไว้ว่า ประเทศไทยจะวัฒนาสถาพรเพราะเราจะนั่งชื่นชมกับโลกหมุนช้า ไม่ต้องไปสนใจว่าเวียดนามจะไปไหน พม่าจะเปิดประเทศอย่างไร ไม่ต้องพูดถึงมาเลเซีย สิงคโปร์ที่ทิ้งห่างเราไปประมาณสามชาติ
จากนั้นเราจะอธิบายความล้าหลังของเราว่าเป็นเพราะคนไทยรู้จักพอ เราจะวัดความเจริญของประเทศกันด้วยความสุขมวลรวมมิใช่ GDP มิใช่ด้วยรายได้เฉลี่ย และเราจะสะกดจิตตนเองให้มีความสุขกันตามประสาคนไทยที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนใครในโลกนี้
ไม่เพียงเท่านั้น รถไฟไทยที่โคตรช้ากระฉึกกระฉักจะกลายมาเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมเพื่อการส่งออกเพราะมันจะกลายเป็นรถไฟโบราณที่ยังเหลืออยู่ไม่กี่แห่งในโลกนี้ให้นักท่องเที่ยวได้มาชื่นชมอะเมซซิ่ง วี้ดวิ้วกับส้วมในรถไฟไทย แมลงริ้นในรถไฟไทย กลิ่นอับเฉพาะตัวในรถไฟไทย ไม่นับความโกโรโกโสอันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นกว่าใคร นอกจากนั้น ยังอาจเข้าชิงทำลายสถิติการถึงช้ากว่ากำหนด เช่น ในตั๋วบอกว่าถึงหกโมงเช้า แต่ในความเป็นจริงอาจจะถึงเก้าโมง สิบโมง หรือเลตกว่านั้น
โหรอย่างฉันยังบังอาจทำนายต่อว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยจะใช้ความ "ช้า" เป็นจุดขาย เราจะบอกว่ารถไฟช้า-ช้าของเราทำให้มนุษย์ได้มีเวลารื่นรมย์หรรษากับชีวิตมาขึ้น ชิ ไม่รู้หรืออย่างไรว่า ชีวิตเร่งรีบ รวดเร็วนั้นนั้นกลืนกินจิตวิญญาณของมนุษย์
วัยรุ่นในเฟซบุ๊กเค้าอุทานว่า "ทุนนิยม แม่ง เชี่ย จริงๆ"
จําเนียรกาลผ่านไปกะป๊อบกะแป๊บ ท่ามกลางความฝันของปวงชนชาวไทยว่ารัฐบาลใหม่มีความมุ่งมั่นยิ่งนักในการสร้างรถไฟความเร็วสูงให้มีในเมืองไทยให้จงได้
เราเห็นข่าวนายกฯ ไปดูรถไฟความเร็วสูงในจีน
เราก็ตั้งความหวัง
เราเห็นนายกฯ ไปดูชินกันเซ็นควบโอท็อปในญี่ปุ่น
เราก็มีความหวัง
ฉันแทบจะวิ่งไปไหว้พระพิฆเนศวรที่ว่ากันว่าศักดิ์สิทธิ์นักทุกๆ วันว่า "เจ้าประคู้น ชาตินี้ก่อนตายขอให้ได้เห็นเมืองไทยมีรถไฟความเร็วสูงวิ่งปรู๊ดปร๊าดให้เป็นบุญตา แล้วรถไฟเหม็นฉี่หนูฉี่คนฉี่แมลงสาบนั้นขอให้ได้รับการปรับปรุงทั้งคุณภาพและบริการ"
ทั้งหวัง ทั้งฝัน ทั้งบนบานศาลกล่าว และแล้วโฆษณาชิ้นนี้ก็ปรากฏสู่สายตาคนไทย
"ไอ้หน้าหนวด"
ฉันดูแล้วก็ได้ครวญครางกับตัวเองว่า-เฮ้ย เค้าเอาจริง
ท้องเรื่องมีอยู่ประมาณว่า ชายหนุ่มคนหนึ่งท่าทางวิ่งวุ่นร้อนรนตลอดเวลา จนกระทั่งแฟนสาวตัดพ้อว่า เธอไม่มีเวลาให้ฉันเลย ส่วนชายหนุ่มก็รีบจะไปทำงานก่อนจึงบอกว่า "เดี๋ยวกลับมาค่อยคุยกัน" ว่าแล้วกระโดดขึ้นรถไฟ
ในโฆษณาไม่ได้บอกว่านั่งจากไหนไปไหน แต่ไม่ว่าจะใส่แสงสีเสียงให้มันดูโรแมนติกแล้วใครเคยมีประสบการณ์กับรถไฟก็คงดูออกว่าเป็นรถไฟชั้นสาม
คำถามแรกคือ
"เฮ้ย ถ้าเมิงยุ่งขนาดนั้น ไม่มีเวลาขนาดแฟนจะมาขอเลิก แถมยังใช้โทรศัพท์สมาร์ตโฟนสุดจ๊าบ เมิงมานั่งรถไฟชั้นสามทามมายยยยย???" จะว่ามานั่งเพื่อชิลก็ไม่ใช่ เพราะแต่งตัวไปทำงาน แถมตอนก่อนขึ้นรถไฟก็ดูเร่งรีบแบบว่า ต้องไปแล้วเดี๋ยวไม่ทัน ลองใช้สามัญสำนึกตรึกตรองดูอีกสักที ถ้าเรามีงานด่วนขนาดนั้นจะนั่งรถไฟชั้นสามหรือเปล่า?
ในรถไฟยิ่งเจ๋งเลย เนื่องจากภาพจากจอทีวีหรือคอมพิวเตอร์ไม่อาจส่งกลิ่นและอุณหภูมิได้ คนดูจึงเห็นเหล่าผู้โดยสารรถไฟหน้าตาสดใส เต็มไปด้วยรอยยิ้ม ไม่มีใครเหงื่อไหลไคลย้อย หน้ามันแผล็บ ไม่มีกลิ่นควัน กลิ่นน้ำมันเครื่องเก่าๆ เหม็นๆ ช่วยสร้างบรรยากาศ ไม่มีฝุ่นละอองที่ลอยเข้ามาทางหน้าต่าง
ใครสักคนลองนั่งรถไฟชั้นสามจากหัวลำโพงไปพระนครศรีอยุธยาดูจะรู้หากคุณไปถึงที่หมายแล้วโพรงจมูกของคุณจะดำปี๋ไปด้วยฝุ่น ใบหน้าจะเหนอะเหนียว
และยิ่งในเดือนเมษายนเช่นนี้ คงมีหรอกนะรอยยิ้มของคุณตาคุณยาย หลานๆ ที่โดยสารรถไฟราวกับมันคือรถไฟในสวนสนุก
สิ่งที่ไอ้หน้าหนวดได้เรียนรู้จากการนั่งรถไฟครั้งนี้คือ-ความสุขนั้นมีอยู่รอบตัว ความสุขนั้นอยู่ที่การได้ใช้เวลาอันเหลือเฟือ เวลาที่เดินไปอย่างเชื่องช้าไม่รีบร้อนกับคนที่คุณรัก (มีภาพคุณตาคุณยายกุมมือกันในรถไฟด้วยนา แต่จากประสบการณ์จริง ฉันเห็นแต่คนจนที่ใบหน้าเต็มไปด้วยเหนื่อยล้า เสียงขากถุย มือที่คอยโบกพัดไล่อากาศร้อนพร้อมกับภาวนาให้ถึงที่หมายปลายทางเสียที เสียงเด็กร้องไห้กระจองอแง)
และถ้าหากคุณต้องนั่งรถไฟชั้นสามจากหัวลำโพงไปเชียงใหม่ จากหัวลำโพงไปอุบลฯ ลองถามตัวเองด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งว่าคุณยังสามารถจะรื่นรมย์กับชีวิตช้าๆ ท่ามกลางคนที่คุณรักอย่างที่โฆษณาชิ้นนี้ชวนให้เชื่อหรือไม่?
คงถึงเวลาที่เราต้องยอมรับความจริงกันเสียทีว่าปัญหาการขนส่งมวลชนสำหรับสาธารณะในเมืองไทยนั้น ห่วยแตกเกือบจะที่สุดในสามโลก
เรื่องรถไฟคงไม่ต้องพูดซ้ำเพราะเป็นที่รู้กันดีว่าในวาระจะครบรอบร้อยปีการรถไฟฯ นั้นรถไฟไทยไม่ดีมีอะไรที่ดีขึ้นนักเมื่อเทียบระยะเวลา 100 ปีที่ผ่านไป
และจวบจนถึงทุกวันนี้ทุกจังหวัดในประเทศไทยยกเว้นกรุงเทพฯ ยังไม่มีบริการรถเมล์ที่มีประสิทธิภาพ
รถเมล์ที่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างไร คือรถที่สะอาด ปลอดภัย มีตารางการเดินรถที่ไว้ใจได้ ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าในศตวรรษที่ 21 แล้วประเทศไทยยกเว้นกรุงเทพฯ ยังไม่มีรถเมล์ ไม่มีแท็กซี่ ไม่มีรถราง ไม่ต้องพูดถึงรถไฟลอยฟ้าหรือรถไฟใต้ดิน
ย้ำกันอีกรอบว่า แล้วเราเคยตั้งคำถามต่อตัวเองหรือไม่ว่าเหตุใดบริการขนส่งสาธารณะของประเทศนี้จึงเป็นไปไม่ได้?
ทำไมประเทศที่ยากจนและไม่มีน้ำมันเป็นของตัวเองสักหยดเดียวจึงไม่เคยคิดจะพัฒนาการขนส่งมวลชนที่ประหยัดพลังงานได้มากกว่านี้?
ทำไมประเทศเล็กๆ ที่ยากจนอย่างเราจึงกลายเป็นประเทศที่พึ่งพารถยนต์ราวกับเป็นขาที่สามอันงอกมาจากท้องพ่อท้องแม่
ทำไมประเทศนี้จึงไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างสังคมที่เดินทางด้วยจักรยาน ทำไมประเทศนี้จึงเป็นประเทศที่มีทางเท้าอันน่าสมเพชเวทนาเกือบจะที่สุดในสามโลก (อีกแล้ว)
สุดท้ายต้องกลับมาถามตัวเองว่าทำไมเราจึงเป็นประชาชนที่ไม่อาจส่งเสียงกดดันให้รัฐบาลเปลี่ยนนโยบายกำหนดการเปลี่ยนแปลงประเทศจากการมีศูนย์กลางอยู่ที่การใช้รถยนต์และถนนเป็นหลักมาสู่การขนส่งในแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งในระบบรางที่มากขึ้น (รถราง, รถไฟใต้ดิน ฯลฯ)
หรือการกดดันให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับทางเท้าและเลนสำหรับการเดินทางด้วยจักรยาน-จักรยานในที่นี้ไม่ใช่ของเล่นของชนชั้นกลางผู้รักธรรมชาติ แต่คือจักรยานในฐานะที่เป็นยานพาหนะชนิดหนึ่งที่ใช้สำหรับการเดินทางจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งเท่านั้น ไม่ต้องมากไปกว่านี้
สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ของฉันคือรถไฟใต้ดิน ใครก็ตามที่ทำให้รถไฟใต้ดินเกิดขึ้นได้ในแผ่นดินไทย สำหรับฉันคุณคือวีรบุรุษ
การเกิดโครงการรถไฟใต้ดินนั้นไม่ง่าย ยิ่งเกิดขึ้นในประเทศสารขัณฑ์ก็ยิ่งยาก แต่ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นกันแล้วว่า มันเป็นไปได้
เพราะฉะนั้น รถไฟความเร็วสูง รถราง เลนจักรยาน และการออกแบบปรับผังเมืองใหม่ให้เป็นเมืองสำหรับการเดินทางด้วยจักรยานและการเดินเท้า-หากมีความจริงใจที่จะทำย่อมไม่เหลือบ่ากว่าแรง
พร้อมกันนั้นประชาชนอย่างเราต้องส่งเสียงให้ดังพอว่า เราต้องการรัฐบาลสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับไลฟ์สไตล์แบบประเทศโลกที่หนึ่งนั่นคือไลฟ์สไตล์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน และวัฒนธรรมของจักรยานและการใช้ชีวิตรื่นรมย์กับการเดินเท้าในเมืองใหญ่ที่ร่มรื่นไปด้วยพื้นที่สีเขียวกลางเมือง
วัฒนธรรมรถยนต์เป็นวัฒนธรรมด้อยพัฒนา-ย้ำ!
นักการเมืองท้องถิ่นที่มีวิสัยทัศน์อาจนำพาท้องถิ่นของตนให้ศิวิไลซ์กว่ากรุงเทพฯ ได้ด้วยการ "ซื้อใจ" ฐานเสียงในท้องถิ่นด้วยการมอบจินตนาการใหม่ของคำว่า "เมือง" ให้กับท้องถิ่นของเมืองให้กับท้องถิ่นของตน
พอกันทีกับการละลายงบประมาณไปการสร้างป้าย ซุ้มประตู สวนหย่อมตรงสี่แยก รูปปั้นสัตว์ ผลไม้พิลึกกึกกือ ฯลฯ
แต่หันมาให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรมการใช้ชีวิตแบบประเทศที่พัฒนาแล้วด้วยการทำผังเมืองที่เอื้อต่อการมีระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ
เมืองที่เดินทางด้วยจักรยาน การเดินเท้า ที่จะเอื้อให้เกิด กิจกรรมในชีวิตประจำวันที่แตกต่างออกไป ร้านกาแฟริมทาง ร้านอาหารที่ไม่ต้องมีที่จอดรถ การพลอดรักอย่างโรแมนติกริมแม่น้ำ แฟชั่นบนท้องถนนที่จะเปลี่ยนไป-เชื่อฉันเถอะว่า ชีวิตในเมืองของคนที่สามารถออกมาเดินทางไปไหนต่อไหนด้วยเท้าของตนเองจะเปลี่ยนบรรยากาศและและยกระดับอารมณ์ของประเทศชาติ ให้ละเมียดละไมยิ่งขึ้น
เลิกหลอกตัวเองเสียทีว่าชีวิตที่เป็นอยู่ตอนนี้น่ะดีพอแล้ว!!!!
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
ไอ้หน้าหนวด
www.youtube.com/watch?v=ViaP1PbQTPY
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย