http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-06

พระเจ้าตากฯ โดย คนมองหนัง

.

พระเจ้าตากฯ
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก "กระแส"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 06 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1651 หน้า 85


หนึ่งในหนังสือขายดีของสำนักพิมพ์มติชน ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งล่าสุด ก็คือ "ปริศนาพระเจ้าตากฯ" มี "ปรามินทร์ เครือทอง" เป็นบรรณาธิการ

นอกจากนี้ ถ้ามองย้อนหลังไปในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จะสังเกตพบว่า นิตยสารอย่าง "ศิลปวัฒนธรรม" มักเล่นประเด็น "พระเจ้าตากสิน" บ่อยครั้งเป็นพิเศษ
แสดงว่าเรื่องราวเกี่ยวกับ "พระเจ้าตากฯ" กำลังฮ็อตฮิตและขายได้ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
ผมมี "เรื่องเล่า" 2-3 เรื่อง มาเล่าให้ฟัง


1.

เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา "ธงชัย วินิจจะกูล" นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และสถาบันวิจัยเอเชีย มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เดินทางมาปาฐกถา หัวข้อ ""ประวัติศาสตร์อันตราย" ในอุษาคเนย์" ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

ธงชัยจัดแบ่ง "ประวัติศาสตร์" ออกเป็น 2 ประเภท
ประเภทแรก คือ ความเชื่อที่เป็นอัตลักษณ์ เป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของชีวิต เพราะทำให้เกิดความภาคภูมิใจ เป็นตัวของตัวเอง แต่เมื่อใดที่ประวัติศาสตร์ชนิดนี้ถูกกระทบ ถูกท้าทาย เราจะรู้สึกเป็นเดือดเป็นแค้น
ประเภทที่สอง คือ เครื่องมือทางปัญญาในการคิดและวิเคราะห์

ดังนั้น "ประวัติศาสตร์" ชนิดแรก ในฐานะความเชื่อและอัตลักษณ์ของเรา จึงเป็นอุดมการณ์ทางสังคม-การเมือง ขณะที่ "ประวัติศาสตร์" อย่างหลัง ทำให้เราไม่หลงเชื่ออะไรง่ายๆ แต่เต็มไปด้วยความสงสัยและการตั้งคำถาม
ธงชัยเสนอว่า ประวัติศาสตร์ชนิดที่เป็นความเชื่อและอัตลักษณ์จะมีสาระสำคัญอยู่ 2-3 ประการ ได้แก่
หนึ่ง บอกเล่าเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของตัวเอง ถือเอาตัวเองเป็นใหญ่ ถือเอาตัวเองเป็นฝ่ายถูกเสมอ
สอง บอกเล่าเรื่องราวการถูกรังแก ความเจ็บปวด แล้วก็สามารถเอาตัวรอดมาได้
สาม ปกปิดเรื่องราวเลวๆ อัปยศ ที่ตัวเองเคยทำกับคนอื่นเอาไว้

แม้เรามักคิดกันว่า "ประวัติศาสตร์ชนิดหลัง" ที่เน้นการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอันตราย แต่แท้จริงแล้ว "ประวัติศาสตร์ชนิดแรก" ต่างหากที่เป็นอันตราย เพราะตั้งอยู่บนความเชื่อ มีความแข็งแกร่งทนทานไม่ยอมเปลี่ยนแปลงง่ายๆ ทว่ากลับหนีไม่พ้นการถูกท้าทายและข้อเรียกร้องให้ปรับตัวอยู่ตลอดเวลา

ในบริบทของการประชุมวิชาการทางมานุษยวิทยา เรื่อง "อาเซียน : ประชาคมในมิติวัฒนธรรม ความขัดแย้ง และความหวัง" ธงชัยบอกว่า การรวมตัวของอาเซียนจะประสบความสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อมีการก้าวข้าม "ประวัติศาสตร์" ที่เป็นอัตลักษณ์ของตัวเองอย่างหนาแน่นยึดมั่น ไปสู่การใช้ "ประวัติศาสตร์" เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ ทำความเข้าใจปัจจุบัน อย่างวิพากษ์วิจารณ์

ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยน "วัฒนธรรม" เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ อันประกอบไปด้วย
หนึ่ง การยอมรับว่าความรู้ทางประวัติศาสตร์นั้นไม่จบสิ้น มีคำถามใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ประวัติศาสตร์จึงเปลี่ยนแปลงเสมอ ท้ายทายได้ ไม่มีการห้ามละเมิด
สอง ประวัติศาสตร์ต้องไม่ผูกพันกับชาติ ชาติไม่ใช่เจ้าของประวัติศาสตร์
สาม ประวัติศาสตร์เป็นความรู้หรือเครื่องมือที่ทำให้เราคิดเป็น ปรับตัวได้ รู้และเข้าใจว่าปัจจุบันเป็นผลของอดีต ประวัติศาสตร์ไม่ได้มีไว้เพื่อยึดถือหรือภาคภูมิใจ ด้วยเหตุนี้ เราควรเป็นอิสระหรือมีระยะห่างจากอดีต
สี่ ต้องอนุญาตให้ประวัติศาสตร์ทั้งหมดถูกนำมาแบกันบนโต๊ะ รวมถึงประวัติศาสตร์ที่ท้าทาย ประวัติศาสตร์ที่ขัดแย้ง เพราะแต่ละคนก็มาจากคนละจุด คนละผลประโยชน์ มีมุมมองคนละทิศทาง เหตุการณ์หนึ่งๆ ในอดีต มีทั้งคนได้ คนเสีย มีคนชนะ คนแพ้ มีคนดีใจ คนเจ็บปวด เราจึงต้องเปิดโอกาสให้ประวัติศาสตร์ของพวกเขาเหล่านั้นถูกแบออกมาให้หมด
เพราะยิ่งเก็บเอาไว้จะยิ่งทำให้มีความลึกลับซับซ้อน จนประวัติศาสตร์นั้นๆ มีพลังเกินเหตุ แต่หากแบประวัติศาสตร์ต่างๆ ออกมาให้ถกเถียงกัน โดยแต่ละคนมีระยะห่างจากอดีต ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ถึงแม้จะไม่มีวันที่ความเห็นของทุกคนจะลงรอยร่วมกัน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่สังคมก็จะมีวุฒิภาวะและเปิดกว้างยิ่งขึ้น

ธงชัย สรุปว่า ในภาวะเช่นนั้น อัตลักษณ์ของเราจะเต็มไปด้วยความหลากหลายปนเป และไม่ต้องการ "เรื่องเล่าหนึ่งเดียว" อีกต่อไป หากอัตลักษณ์จะเกิดจาก "เรื่องเล่าอันหลากหลาย"

เนื่องจากสังคมที่มีวุฒิภาวะ คือ สังคมที่ยอมให้มีอดีตหลายเรื่องราวดำรงอยู่ด้วยกัน


2.

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม มีการประชุมวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ระดับปริญญาตรี ของนิสิต-นักศึกษา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หนึ่งในบทความที่ถูกนำเสนอในงานดังกล่าว ก็คือ ""คิดถึงพ่อ พ่ออยู่ คู่กับเจ้า" : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับวัฒนธรรมการเมืองของขบวนการเสื้อแดง" โดย "อาทิตย์ เจียมรัตตัญญู" อักษรศาสตรบัณฑิต จากจุฬาฯ

อาทิตย์เสนอว่า วัฒนธรรมทางการเมืองของขบวนการเสื้อแดงที่มีความสัมพันธ์กับพระเจ้าตากสิน นั้น ก่อรูปขึ้นมาจากเงื่อนไขสำคัญอย่างน้อย 3 ประการ
เงื่อนไขแรก คือ ภาพลักษณ์ของพระเจ้าตากฯ ที่ปรากฏในความรับรู้โดยทั่วไปว่าผูกพันอยู่กับอุดมการณ์ชาตินิยม มีพื้นเพมาจากสามัญชนเชื้อสายจีน และถูกรัฐประหาร ภาพลักษณ์เหล่านี้เอื้อให้เกิดการ "เทียบทับ" ระหว่าง "ทักษิณ ชินวัตร" กับ "พระเจ้าตากสิน"
เงื่อนไขที่สอง กรณีพระเจ้าตากฯ เป็นประวัติศาสตร์ที่คลุมเครือและยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบัน จึงเปิดโอกาสให้ขบวนการเสื้อแดงสามารถเข้ามาร่วมต่อสู้โต้แย้งในสนามวาทกรรมนี้ได้
เงื่อนไขสุดท้าย ขบวนการเสื้อแดงสามารถใช้เรื่องราวของพระเจ้าตากฯ เป็นกโลบายสำคัญในการแสดงความรู้สึกนึกคิดและวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นการเมืองบางอย่าง ภายใต้ข้อจำกัดทางกฎหมายและสังคมวัฒนธรรม

วัฒนธรรมการเมืองที่สัมพันธ์กับพระเจ้าตากฯ ของขบวนการเสื้อแดง ประกอบไปด้วย การเผยแพร่วาทกรรมเรื่องเล่าต่างๆ เกี่ยวกับพระเจ้าตากฯ อาทิ พระองค์ถูกล้มราชบัลลังก์และถูกบันทึกในประวัติศาสตร์อย่างไม่เป็นธรรม, ทักษิณคือพระเจ้าตากสินกลับชาติมาเกิด ฯลฯ และวิถีปฏิบัติเชิงสัญลักษณ์ เช่น การประกอบพิธีกรรม การ "เทียบทับ" ทักษิณกับพระเจ้าตากฯ หรือการหยิบยกส่วนเสี้ยวของประวัติศาสตร์มาทำซ้ำ

อาทิตย์ยกตัวอย่างบทกวีที่เขียนขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2552 ของ "ไม้หนึ่ง ก.กุนที" ซึ่งเล่าเรื่องราวของพระเจ้าตากฯ ในฐานะมหาราชผู้อาภัพ ไม้หนึ่ง เน้นภาพลักษณ์ความเป็นสามัญชนของพระองค์ เช่น ในบทที่ว่า
"ก็เห็นแต่นายสินผู้แซ่แต้ จิตแน่วแน่มั่นคงไม่แปรผัน จัดตั้งคนธรรมดาเข้าประจัน ทะลวงฟันเพื่อข้าวปลาของลูกเมีย"

ขณะเดียวกัน ก็มีการนิยามกลุ่มชนชั้นนำที่ขัดแย้งกับพระเจ้าตากฯ ว่าเป็นพวกอำมาตย์ วิพากษ์ประวัติศาสตร์ไทย ว่าไม่มีพื้นที่ให้แก่คนดี
และบริบทที่สำคัญยิ่งก็คือ บทกวีชิ้นนี้ถูกอ่านขึ้นในวาระครบรอบวันเกิดของ "ทักษิณ ชินวัตร" ณ งานชุมนุมบริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์ที่วงเวียนใหญ่
อาทิตย์ชี้ให้เห็นว่า ในวิธีคิดของขบวนการเสื้อแดง พระเจ้าตากฯ มีความสำคัญในฐานะสัญลักษณ์ของผู้ถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม ประสบการณ์ของการตกเป็นฝ่ายถูกกระทำอย่างอยุติธรรมนี่เอง ที่เชื่อมโยงพระเจ้าตากฯ ทักษิณ และมวลชนเสื้อแดงเข้าหากัน


3.

ราวเดือนพฤษภาคม 2554 ก่อนหน้าการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 3 กรกฎาคม ผมไปสังเกตการณ์การชุมนุม-ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ของคนเสื้อแดงกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง บริเวณวงเวียนใหญ่ ซึ่งผู้ดำเนินกิจกรรมเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้แสดงทัศนะทางการเมืองเบื้องหน้าอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน

ชายเสื้อแดงคนหนึ่งระบายความในใจของตนเองผ่านโทรโข่งในลักษณะทีจริงว่า เขารู้สึกแค้นรัฐบาลอภิสิทธิ์และสื่อมวลชน (กระแสหลัก) ซึ่งกล่าวหาว่าคนเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง แต่แทบไม่เคยพูดถึงกรณีที่คนเหล่านี้ถูกสังหารเลย

ชายคนนั้นพูดต่อพร้อมด้วยโทนเสียงที่เริ่มแปรเปลี่ยนมาเป็นทีเล่นว่า เมื่อพึ่งพาใครไม่ได้ เขาก็ต้องมาบนบานศาลกล่าวกับพระเจ้าตากสินให้ช่วยหน่อย แต่ถ้าพระเจ้าตากฯ พูดได้ ก็คงบอกว่า

"เฮ้ย! กูจะไปช่วยมึงได้ยังไงวะ กูยัง..."



.