http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-04-27

2 รัฐบาล 2 แนวทางกับขบวนการปรองดอง/ ฯปฏิบัติการสั่งสอน..

.
คอลัมน์ ในประเทศ - กาวใจ ป๋ากับปู "กู้อีจู้" 
คอลัมน์ ในประเทศ -ปชป. หวิวรับ "ภาพโป๊" การเมืองเลอะ สภาเละ วัน "ณัฏฐ์" ถูกบัญญัติสกุลใหม่  

______________________________________________________________________________________________________

2 รัฐบาล 2 แนวทาง รัฐบาลอภิสิทธิ์ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ กับขบวนการปรองดอง
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1654 หน้า 8


คล้ายกับรูปธรรมแห่ง "การปรองดอง" จะเริ่มขึ้นเมื่อสภาผู้แทนราษฎรมีมติจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาหาแนวทางสร้างความปรองดองแห่งชาติ อันมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ดำรงตำแหน่งเป็นประธาน
ไม่ใช่หรอก

ถามว่าแล้วคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) อันมี นายคณิต ณ นคร เป็นประธาน เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยใด
ตอบว่าเกิดขึ้นในรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการชุดของ นายคณิต ณ นคร ด้วยมือของตนเอง 
เห็นหรือไม่ว่าความพยายามในการสร้าง "การปรองดอง" นั้นเกิดมานานแล้ว 
ข้อแปลกอย่างยิ่งหากประเมินจากความรู้สึกของ นายคณิต ณ นคร ก็คือ ทาง คอป. ได้เสนอรายงานไปแล้วหลายครั้งในยุคของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่มิได้รับการสนองตอบ นั่นก็คือ รับทราบแต่ไม่ทำอะไร
การลงมือ "ทำ" ปรากฏอย่างเป็นรูปธรรมในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร


น่าสนใจก็ตรงที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่เพียงแต่แสดงการยอมรับและมอบบทบาทให้กับคณะกรรมการ คอป. ของ นายคณิต ณ นคร อย่างเต็มที่ 
หากที่สำคัญเป็นอย่างมากคือ การสนองตอบ
อาจเป็นเพราะข้อเสนออันปรากฏในรายงานของ คอป. เป็นไปในทางที่เป็นผลดีให้กับคนเสื้อแดงซึ่งตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์เมื่อปี 2553
เห็นได้จากบทบาทของกระทรวงยุติธรรมในการบริหารจัดการกับนักโทษ 
มีการแยกจำแนกนักโทษจากคดีการชุมนุมในสถานการณ์เดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 ออกจากนักโทษอื่นๆ 
ตรงนี้รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ทำอ้างว่าเป็นนักโทษคดีอาญา ไม่ใช่นักโทษพิเศษ

ยิ่งกว่านั้น รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) โดยมอบหมายให้ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน
นั่นคือ รากที่มาของการแปรนามธรรมการเยียวยาจากรายงานของ คอป. ออกมาเป็นจำนวนเงินอย่างเด่นชัด 
เด่นชัดว่าหากเสียชีวิตจะได้รับการเยียวยา 7.5 ล้านบาท



ที่ควรศึกษาอย่างเป็นพิเศษคือบทบาทของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับบทบาทของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ว่ารัฐบาลไหนต้องการปรองดอง ว่ารัฐบาลไหนขวางการปรองดอง

ปรากฏจากคำกล่าวของ นายคณิต ณ นคร รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รับทราบแต่มิได้ปฏิบัติตามข้อเสนอ 
นั่นเป็นสมัยที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

ยิ่งกว่านั้น เมื่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สนองตอบตามรายงานของ คอป. ด้วยความคึกคัก พรรคประชาธิปัตย์และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ยังออกมา "ขวาง" รายละเอียดของการเยียวยา ปรองดอง

ไม่ว่าจะเมื่อเป็นรัฐบาล ไม่ว่าจะเมื่อเป็นฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์ และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เสมอต้นเสมอปลาย 
คือ "ขวาง" ความพยายามใน "การปรองดอง"



++

พ่ายแพ้-เขต 5 ปทุมธานี ปฏิบัติการสั่งสอน" พท." ด้วยรัก จาก"เสื้อแดง"
จากมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1654 หน้า 11


กรณีเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 5 ปทุมธานี และเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. เมื่อวันที่ 21 และ 22 เมษายนที่ผ่านมา
คือกรณีศึกษาของทุกพรรคการเมืองและนักการเมืองทุกคน 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคเพื่อไทยที่จะต้องนำความพ่ายแพ้ครั้งนี้มาเป็นบทเรียนและหาข้อสรุปให้ได้โดยเร็ว
ก่อนพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามและประชาชนจะเป็นผู้สรุปให้ในครั้งต่อๆ ไป 

มีปฏิกิริยาความเห็นมากมายหลายแง่มุม 
ภายหลัง นายสมชาย รังสิวัฒนศักดิ์ จากค่ายเพื่อไทย พ่ายแพ้เลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 5 ปทุมธานี ให้กับ นายเกียรติศักดิ์ ส่องแสง จากค่ายประชาธิปัตย์ จำนวน 24,255 ต่อ 28,156 คะแนน ห่างกันเกือบ 4 พันคะแนน
ตามด้วยกรณี ว่าที่ ร.ต.สุเมธ ฤทธาคนี จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งลาออกจาก ส.ส.เขต 5 ปทุมธานี เพื่อไปลงสมัครชิงตำแหน่งนายก อบจ.ปทุมธานี
แต่ก็พ่ายแพ้ให้ นายชาญ พวงเพ็ชร อดีตนายก อบจ. ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพรรคภูมิใจไทย ด้วยระยะห่างกว่า 1 แสนคะแนน

ปฏิกิริยาความเห็นเหล่านี้สะท้อนจากหลายฝ่ายไม่ว่ารัฐบาล พรรคเพื่อไทย นปช. คนเสื้อแดง พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มการเมืองอื่น ฯลฯ
ประมวลได้ว่ามาจากปัจจัยหลัก 2 เรื่องด้วยกัน

เรื่องแรก เป็นผลสะเทือนจากเหตุน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 ที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ซึ่งมีอยู่เต็มพื้นที่ 6 คนใน 6 เขตถูกขึ้นป้ายประกาศ"ตามหาคนหาย"

เรื่องที่สอง เป็นความขัดแย้งภายในระหว่างรัฐบาลเพื่อไทยกับมวลชนเสื้อแดงปทุมธานี กรณีว่าที่ ร.ต.สุเมธ ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เพียง 9 เดือน แต่กลับลาออกไปลงสมัครชิงนายก อบจ. 
ทั้งยังนำนายสมชาย มาลงสมัครโดยไม่ทำความเข้าใจกับคนเสื้อแดงในพื้นที่ให้ดีเสียก่อน  
จากปัจจัย 2 ข้อใหญ่ดังกล่าวที่เป็นเรื่อง"เฉพาะตัว" หรือ"เฉพาะพื้นที่" ถูกขยายผลไปยังประเด็นอื่นๆ 
ในภาพที่เป็นมุมกว้างยิ่งกว่า



นายประจวบ รังสร้อย แกนนำเสื้อแดงปทุมธานี กล่าวถึงความพ่ายแพ้ของพรรคเพื่อไทยว่า 
เหตุปัจจัยอย่างแรก คือ การให้ความช่วยเหลือชาวบ้านตอนน้ำท่วมไม่ทั่วถึง ไม่ได้รับความสนใจจาก ส.ส. ซึ่งเป็นคนของพรรคเพื่อไทยทั้งหมด

นอกจากนี้ 
"ผู้หลักผู้ใหญ่ในจังหวัดที่เป็นคนเสื้อแดง ไม่เคยมองพวกเราที่เป็นคนรากหญ้าของชาวเสื้อแดงอย่างจริงใจ จะเข้าไปพบกับ ส.ส. บางท่าน ก็ถูกกีดกันจากคนรอบข้าง"

ขณะที่ นายสมพร บุญมา แกนนำเสื้อแดงคลองสาม ระบุว่า 
การที่ ว่าที่ ร.ต.สุเมธ ลาออกจาก ส.ส. ไปลงแข่งขันชิง นายก อบจ. สร้างความไม่พอใจให้กับคนเสื้อแดง 
อีกทั้งพรรคเพื่อไทยไม่ค่อยให้ความสนใจสนามเลือกตั้งท้องถิ่นทั้งที่เป็นหัวใจของการเลือกตั้งสนามใหญ่ ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามให้ความสนใจและความสำคัญกับระดับท้องถิ่นมากกว่า

เสื้อแดงปทุมธานีไม่ได้ถีบตัวออกห่าง ยังให้การสนับสนุนตัวแทนพรรคเพื่อไทยอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาถือเป้นบทเรียนต้องศึกษา การที่ ส.ส. ฟังแต่คนรอบข้างอย่างเดียว มันส่งผลกระทบให้เห็น"

ไม่เพียงเสียงสะท้อนตรงไปตรงมาจากเสื้อแดงปทุมธานี ใน"ไทยอีนิวส์"เว็บไซต์ของคนเสื้อแดงเองก็วิเคราะห์วิจารณ์เรื่องนี้กันสนั่นหวั่นไหว
มีการนำภาพเก่าตามหาคนหายช่วงน้ำท่วม มาลงประกอบการโพสต์ข้อความชื่อเรื่อง "คนเสื้อแดงสาแก่ใจ เพื่อไทย แพ้ ปชป. เลือกตั้งซ่อมปทุมธานี"

อย่างไรก็ตาม ความพ่ายแพ้ของพรรคเพื่อไทยในสนามเลือกตั้งซ่อมและเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ ถึงจะไม่มีผลใดๆ ต่อการเปลี่ยนแปลงการเมืองในสภา 
แต่การเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องยึดถือเอาประชาชนเป็น"ตัวตั้ง" ไม่ใช่ยึดถือตนเอง พรรคการเมือง หรือ"นายใหญ่"ในต่างประเทศ

จึงเป็นเรื่องถูกต้องแล้วที่พรรคเพื่อไทยแกนนำรัฐบาลจะน้อมรับฟังการ"สั่งสอน" หรือการ"ลงโทษ" จากประชาชนเสื้อแดงในครั้งนี้ 
"พรรคน้อมรับผลการเลือกตั้งและจะนำข้อมูลต่างๆ ไปปรับปรุงให้เกิดประโยชน์ที่สุด"" น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกล่าว
เป็นเช่นนั้นหรือไม่ เวลาคือเครื่องพิสูจน์



คนในพรรคเพื่อไทยพยายามอธิบายปรากฏการณ์"ล็อกถล่ม"ในสนามเลือกตั้งปทุมธานี ด้วยการโยนความผิดไปให้ ว่าที่ ร.ต.สุเมธ รับไปเต็มๆ
อ้างว่าผู้ใหญ่ในพรรคพยายามทัดทาน ว่าที่ ร.ต.สุเมธ ไม่ให้ลาออกจาก ส.ส. แต่ก็สู้กับความดื้อรั้นอย่างไร้เหตุผลของ ว่าที่ ร.ต.สุเมธ ไม่ไหว
ความพ่ายแพ้ของพรรคยังทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ถึงกับฟิวส์ขาด
"เรื่องนี้ไม่ได้บ่งชี้ว่าความนิยมพรรคลดลง แต่เพราะประชาชนไม่พอใจ ส.ส. ที่ดูถูกประชาชนว่า เพิ่งเลือกมาเป็น ส.ส. ได้ไม่นานก็ลาออกไปสมัคร นายก อบจ. พรรคไม่เห็นด้วยแต่เขาไม่เชื่อ
ก็ไม่ต้องกลับมา สมัยหน้าให้ไปหาพรรคอื่นอยู่ได้เลย หวังว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ในพื้นที่อื่นอีก ความจริงเป็นห่วงการเลือกตั้งท้องถิ่น เช่น เชียงราย ที่ห้ามแล้วก็ไม่เชื่อ ยังลงแข่งขันตัดคะแนนกันเองอีก"

กระนั้นก็ตาม มุมมองต่อความพ่ายแพ้ของพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในขอบเขตพื้นที่ปทุมธานี 
แต่ถูกนำไปขยายผลถึงอารมณ์คนเสื้อแดงอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ขึ้นตรงต่อ นปช. หรือพรรคเพื่อไทย และไม่เห็นด้วยกับแนวทางปรองดองของรัฐบาลที่กำลังขับเคลื่อนขณะนี้ 

ท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ต้องการให้ทุกสีทุกฝ่ายก้าวข้ามความขัดแย้งในอดีต แล้วเดินหน้าสร้างความปรองดองในปัจจุบัน  
รวมถึงกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ นำทีมรองนายกฯ เข้ารดน้ำขอพรจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี
เหล่านี้ทำให้คนเสื้อแดงเริ่มตั้งคำถามถึงรัฐบาลที่พวกเขาปลุกปั้นมากับมือว่า 
กำลังจะปรองดองกับกลุ่มอำนาจที่เคยใช้กำลังปราบปรามสร้างความสูญเสียให้กับพี่น้องคนเสื้อแดงหรือไม่

คนเสื้อแดงเริ่มสงสัยว่าภายใต้แนวทางปรองดองของรัฐบาล คดี 91 ศพ จากเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 จะเดินหน้าไปอย่างไร

ขณะที่การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือประกันตัวคนเสื้อแดงซึ่งยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ยังไม่อยู่ในจุดที่เรียกว่าประสบความสำเร็จน่าพอใจได้

สิ่งเหล่านี้กลายเป็นกำแพงกั้นขวางระหว่างคนเสื้อแดงกับรัฐบาลเพื่อไทย
ออกห่างจากกันโดยไม่รู้ตัว



+++

กาวใจ ป๋ากับปู "กู้อีจู้" 
คอลัมน์ ในประเทศ  ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1654 หน้า 9


แม้คนชอบใส่เสื้อพระราชทาน อย่าง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง 
จะปฏิเสธว่า มิได้เป็นผู้นัดหมายให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำคณะเข้ารดน้ำดำหัวและขอพร พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในวันที่ 26 เมษายน 
โดยยกเครดิตให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่าเป็นผู้นัดหมายเอง

แต่ก็ยังน่าสนใจ คณะที่เข้าร่วม "พิธีการ" ที่กำลังได้รับการจับตามองจากสังคมอย่างสูง ซึ่งระบุว่าเป็น "รองนายกรัฐมนตรี" 
อย่างไรก็ตาม เมื่อฟัง รองนายกรัฐมนตรี "ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง" ให้สัมภาษณ์ สองวันก่อนจะเข้าบ้านสี่เสาฯ ก็ยังอยู่ในอารมณ์งงๆ 
ร.ต.อ.เฉลิม บอกว่า "ถ้าอนุญาตผมก็ไป เพราะอยากไปใจจะขาด แต่เราต้องรู้จักกาลเทศะเพราะ พล.อ.เปรม เป็นผู้ใหญ่" 
จับน้ำเสียง "รองเฉลิม" ความไม่แน่นอนว่าจะได้ร่วมคณะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังมีอยู่สูง

ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน 
โดยขานชื่อผู้ที่จะเข้าร่วมคณะ ว่ามี 4 คนคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตนเอง พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา และ นายกิตติรัตน์ 
ที่ขาดหายไป คือ ร.ต.อ.เฉลิม

ขณะที่คนซึ่งปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนในการประสานงาน "ดีล" ครั้งนี้ คือ นายกิตติรัตน์ มีชื่ออยู่ในบัญชี อย่างเหนียวแน่น 
เป็นความเหนียวแน่น ที่สะท้อนว่า ไม่ใช่เพียงเพราะ พล.อ.เปรม และนายกิตติรัตน์ ชอบเสื้อพระราชทานเหมือนกันเท่านั้น 
หากแต่น่าจะมีเหตุผลอื่นด้วย


ต้องไม่ลืมว่า งานที่ทำให้ พล.อ.เปรม และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้สานสัมพันธ์ "ที่ดี" ต่อกันครั้งแรกคือ งาน "รักเมืองไทย เดินหน้าประเทศไทย" ซึ่งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555 ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเป็นการขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยกันป้องกันและแก้ปัญหามหาอุทกภัยที่ผ่านมา รวมถึงสร้างความมั่นใจให้กับประเทศที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายช่วยกันฟื้นฟูและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ 
โดยมีการบรรเลงของวงออร์เคสตรา 3 วงพร้อมๆ กัน 
ทั้งนี้ ไฮไลต์สำคัญของงานดังกล่าว อยู่ตรงที่ พล.อ.เปรม รับคำเชิญมาร่วมงาน  
กลายเป็น "ปรากฏการณ์ใหญ่" ท่ามกลางกระแสความขัดแย้งในสังคม ภายใต้สัญลักษณ์ การต่อสู้ของ "ไพร่-อำมาตย์"

ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกขานชื่อว่าอยู่เบื้องหลัง ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์สำคัญดังกล่าว ก็คือ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง นี่เอง 
หนังสือพิมพ์ "ข่าวสด" เคยบันทึกถึงเหตุที่ทำให้นายกิตติรัตน์ เป็นตัวละครสำคัญในเรื่อง ว่า 
"...เมื่อราวๆ เดือนสิงหาคม และกันยายน 2554 ซึ่ง "รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข" ผู้อำนวยการวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตกเป็นข่าวใหญ่ว่าตัดสินใจยื่นหนังสือลาออกจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ที่สร้างมากับมือ ผลิตบัณฑิตสาขาดนตรีจนได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ แต่สภามหาวิทยาลัยกลับมองไม่เห็นค่า ไม่ยอมรับรองหลักสูตร

ช่วงเวลาดังกล่าว ดร.สุกรี มีโอกาสพบปะกับ พล.อ.เปรม และได้รับกำลังใจจากรัฐบุรุษขอให้มุ่งมั่นทำงานต่อไป 
ต่อมา หลังจากสถานการณ์คลี่คลาย ทั้งสองคนก็มีโอกาสพบกันอีก ขณะที่ "ป๋าเปรม" เสนอแนวคิดว่าน่าจะมีการจัดการแสดงดนตรีขึ้นเพื่อ "ปลอบใจ-ให้กำลังใจ" บรรดานักศึกษาดุริยางคศิลป์

หลังจากนั้นแผนการข้างต้นก็ค่อยๆ เดินหน้ามาตามลำดับ มีชื่อสถานที่ต่างๆ ผุดขึ้นในคำนึงอย่างต่อเนื่องว่าที่ไหนจะเหมาะสมกับการตั้งเวที อาทิ ลานพระรูปหรือสนามหลวง แต่ ดร.สุกรี มองว่า "ทำเนียบรัฐบาล" เหมาะสมที่สุด ทั้งบรรยากาศและทัศนียภาพ
นั่นเองทำให้ "ป๋าเปรม" ถามขึ้นมาว่า แล้วจะติดต่อประสานงานกับใครดี?

ด้าน ดร.สุกรี จึงแจ้งไปว่า คนที่ชื่อ "โต้ง" กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ ในรัฐบาลปัจจุบัน คงพอช่วยได้ เนื่องจากที่ผ่านมาในอดีต ตั้งแต่สมัยเสี่ยโต้งยังนั่งคุม "ตลาดหลักทรัพย์ฯ" ก็ให้การสนับสนุนวิทยาลัยมาโดยตลอด 
จากความห่วงใยจิตใจนักศึกษาดุริยางคศิลป์ มหิดล ของ พล.อ.เปรม นี่เองที่กลายเป็นเหมือนดั่ง "ประกายไฟแห่งความปรารถนาดี" ซึ่งก่อให้เกิดงานใหญ่ "รักเมืองไทย เดินหน้าประเทศไทย" ขึ้นมา!"



จากบัดนั้น จนถึงบัดนี้ ชื่อของนายกิตติรัตน์ จึงเป็นเสมือนกาวใจ ระหว่างบ้านสี่เสาฯ กับรัฐบาล 
จึงไม่แปลกใจ ขณะที่คนอยากเข้าบ้านสี่เสาฯ ใจจะขาดอย่าง ร.ต.อ.เฉลิม ยังคงต้องลุ้นว่าจะติดโผเข้าร่วมรดน้ำสงกรานต์ พล.อ.เปรม หรือไม่
แต่สำหรับชื่อ นายกิตติรัตน์ แล้ว ถูกกำหนดตั้งแรกแล้วว่าจะต้องเป็นบุคคลผู้นี้

นายกิตติรัตน์ กล่าวถึงการเข้าบ้านสี่เสาฯ ว่า "เป็นเรื่องดีที่ผู้หลักผู้ใหญ่จะได้พบกัน" 
"ใครจะรู้สึกอะไรขอให้นึกถึงประเทศในระยะยาว และความรู้สึกดีๆ ที่มีต่อกันและกัน ผมว่าเป็นเรื่องที่ดี"
"ผู้หลักผู้ใหญ่จะพบปะพูดคุยกันเป็นเรื่องดีเสมอ" 
"พรรคเพื่อไทยเองก็หาเสียงโดยใช้เรื่องแนวทางปรองดอง และท่านนายกรัฐมนตรีก็เริ่มทำงาน และพูดเรื่องนี้อย่างจริงจัง รวมถึงการปฏิบัติ จะเห็นได้จากท่านจะไม่ค่อยไปมีปากเสียงกับใคร หลายๆ เรื่องท่านถูกต่อว่าต่อขานก็จะเห็นว่าท่านไม่ได้ถกเถียงอะไร ผมคิดว่าแนวที่จะทำให้เกิดความสบายใจต่อกัน โดยการปฏิบัติดี คิดถึงสิ่งดีๆ ต่อกัน ก็เป็นแนวทางของรัฐบาล ไม่ว่าจะกับใครก็แล้วแต่" 
"ซึ่งหากท่านไหนมีความไม่สบายใจในเรื่องไหนกับใคร ก็ปล่อยวางลงบ้าง"

การเรียกร้อง "การปล่อยวาง" ของนายกิตติรัตน์ ต่อ "สัมพันธ์" อันดีระหว่าง พล.อ.เปรม กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้น 
แน่นอนว่า คงไม่ได้ต้องการสื่อสารไปถึงพรรคประชาธิปัตย์ หรือกลุ่มคนเสื้อเหลือง ให้หันมา "ยอมรับ" สัญญาณที่ดีขึ้น ระหว่างบ้านสี่เสาฯ กับรัฐบาล 
แต่น่าจะสื่อถึง "คนเสื้อแดง" ซึ่งเป็นมวลชนสำคัญของพรรคเพื่อไทยมากกว่า
ซึ่งต้องยอมรับว่า มีคนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อย ไม่สบายใจกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เพราะเสมือนเป็นการเกี้ยเซียะระหว่าง "ฝ่ายนำ" และละเลยที่จะเอาผิดกับฝ่ายที่คนเสื้อแดงเห็นว่ามีส่วนเข่นฆ่าคนของตัวเอง

นี่ถือเป็นการบ้านข้อใหญ่ อีกข้อ ทั้งสำหรับนายกิตติรัตน์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และแกนนำพรรคเพื่อไทย ที่จะต้องไปคิดว่า ทำอย่างไร ที่จะไม่ให้ "กาวใจ" ที่ทอดไปยังฝ่ายอำมาตย์ จะไม่ไปทำให้กาวใจที่เชื่อมระหว่างพรรคเพื่อไทยกับมวลชนคนเสื้อแดง "เสื่อม" ลงไปด้วย

การจะเทน้ำหนักไปยังอีกฝ่าย โดยละเลยอีกฝ่าย ไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่ๆ



+++

ปชป. หวิวรับ "ภาพโป๊" การเมืองเลอะ สภาเละ วัน "ณัฏฐ์" ถูกบัญญัติสกุลใหม่ 
จากมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1654 หน้า 12


ก่อนหน้านี้หลายคนอาจรู้จักเขาเพราะ "นามสกุล"
เพราะเป็น "ทายาท" ผู้ยิ่งใหญ่แห่งพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 
เพราะเป็น "นักการเมืองรุ่นใหม่" ในฐานะ ส.ส.กทม. ถอดด้าม

แต่วันนี้ถ้าค้นหาชื่อ "ณัฏฐ์ บรรทัดฐาน" ในเว็บไซต์กูเกิ้ล จะพบว่า 30 กว่าหน้าเพจของเสิร์ชเอ็นจิ้น บัญญัตินามสกุลห้อยท้ายของเขาเป็น "ภาพโป๊-ภาพหวิว"
หลังตกเป็นข่าวครึกโครมเมื่อช่างภาพจับภาพ "ส.ส. ดูภาพโป๊ผ่านมือถือ" ได้ในระหว่างประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่... พ.ศ. ... วันที่ 18 เมษายน หลังเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นกลางสภา เมื่อจอโทรทัศน์ภายในห้องประชุมรัฐสภา ปรากฏภาพวาบหวิวของหญิงสาวเป็นเวลา 5 วินาที 3 ครั้ง 
เล่นเอาบรรดาผู้ทรงเกียรติเกิดอาการ "อึ้ง" ไปตามๆ กัน

คล้อยหลังเพียงวันเดียว "ณัฏฐ์" เปิดแถลงข่าวยอมรับว่าตนคือคนในภาพข่าวดังกล่าว พร้อมอธิบายความเพิ่มเติมว่าหลังเกิดเหตุการณ์ภาพไม่เหมาะสมปรากฏในจอทีวีรัฐสภา มี "คนนอก" ทั้งเพื่อนฝูงและประชาชนสอบถามเข้ามาจำนวนมาก  
บางคนก็เข้ามากระเซ้าเย้าแหย่ ส่งรูปมาให้ดูผ่านทั้งเฟซบุ๊ก แอพลิเคชั่นไลน์ วอทส์แอพ  
บางคนก็ส่งรูปมาถามว่าใช่รูปที่ปรากฏบนจอทีวีพลาสม่าหรือไม่

หลังดูรูป-ตอบคำถาม-ลบรูปทิ้ง
นั่นคือเหตุการณ์ที่ประชาชนทั้งประเทศได้รู้จัก "ณัฏฐ์ บรรทัดฐาน" โดยไม่ได้ตั้งใจ


แม้ห้วงเวลาแรกๆ หลังการแถลงข่าว อาจมีเสียงชื่นชมในทำนอง "ลูกผู้ชาย กล้าทำกล้ารับ" 
แต่เมื่อคำอธิบายบางรายละเอียดของเหตุการณ์ยังคลุมเครือ อาทิ จำไม่ได้ว่าจริงๆ เพื่อนคนไหนส่งรูปเข้ามา, จำไม่ได้ว่าการนั่งดูภาพทางมือถือเกิดขึ้นเวลาไหน ฯลฯ 
จึงกลายเป็นช่องโหว่-ช่องทางให้ "ฝ่ายรัฐบาล" เรียงแถว-รุมกินโต๊ะ "ส.ส.น้องใหม่" ด้วยการเรียกร้องให้แสดงสปิริต "ลาออก" จากการเป็น ส.ส. ทันที

เริ่มตั้งแต่... "พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์" โฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่หยิบยกผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยเอแบคโพลล์ ที่ระบุว่า อยากให้ ส.ส. ที่เปิดภาพโป๊ในการประชุมร่วมรัฐสภาออกมาขอโทษต่อสาธารณะ และลาออกจากตำแหน่ง 
ซ้ำยังลามไปถึงให้ "หัวหน้า ปชป." ออกมารับผิดชอบ หาก "ลูกพรรค" ไม่ยอมลุกจากเก้าอี้

"ไพจิต ศรีวรขาน" ส.ส.นครพนม พท. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการสภาผู้แทนราษฎร ประกาศนำ 2 กรณีโป๊คือ 1.กรณี ส.ส. ดูภาพโป๊ระหว่างการประชุม และ 2.กรณีปรากฏภาพโป๊หรากลางจอทีวีรัฐสภา เข้ามาหารือในการประชุม กมธ. ในวันที่ 26 เมษายน 
หากพิจารณาแล้วเป็นการทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐสภา ก็พร้อมส่งเรื่องต่อให้คณะกรรมการจริยธรรม ที่มี "สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์" ประธานรัฐสภา เป็นประธาน พิจารณาบทลงโทษ 
และล่าสุด "เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" อดีต ส.ว.สรรหา ยื่นเรื่องถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบจริยธรรม "ณัฏฐ์" พร้อมจี้ "พรรคต้นสังกัด" ให้เอาผิด

ทั้งๆ ที่ผลการทดสอบทางเทคนิค ที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และเจ้าหน้าที่ฝ่ายไอที สภาผู้แทนราษฎร มาตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเกิดภาพโป๊ขึ้นบนจอทีวีพลาสม่านั้น เบื้องต้นไม่พบว่า "โทรศัพท์ไอโฟน" ที่ "ณัฏฐ์" ใช้ในวันนั้น จะส่งภาพขึ้นจอพลาสม่าได้
มีเพียงโทรศัพท์สัญชาติเกาหลี 3 รุ่นเท่านั้นที่เข้าข่าย "พาหะนำสาร" แต่ต้องรอการพิสูจน์ยืนยันอีกครั้ง
ทว่า "คู่แข่งการเมือง" ก็ได้ตอกย้ำ-ต่อยอดภาพจำ "ส.ส.ดาวโป๊" ให้คนการเมืองรายนี้เรียบร้อยแล้ว



อย่าได้แปลกใจหาก พท. จะหยิบ "ความจริงครึ่งเดียว" มาขยี้ "ณัฏฐ์" 
ตัดตอนเฉพาะท่อนให้การ "รับสารภาพ" ว่าเป็น "คนดูภาพหวิว" ในสภา ก่อนนำมาขยายผลในทางการเมือง  
เพราะ "ณัฏฐ์" คนนี้คือ "ลูกบัญญัติ" 
เพราะ "เรื่องเพศ" ยังไม่ใช่เรื่องสังคมไทยจะนำมาพูดคุย-มาวิจารณ์แบบจะจะ แจ้งๆ ในวงสาธารณะ

ยิ่ง "พลพรรคสะตอ" สามัคคีกันออกมาโอบอุ้ม "ทายาทบรรทัดฐาน" เท่าไร ภาพลักษณ์ "พรรค 65 ปี" ก็ยิ่งถูกฉุดให้ตกต่ำลงเท่านั้น ซึ่งแม้แต่ "อภิสิทธิ์" ก็ยอมรับความจริง ณ จุดนี้ 
เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า "การเมือง" เป็นอาชีพที่เล่นกับภาพ

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าหลังเกิดเหตุฉาวขึ้นกลางสภา ความพยายามของสมาชิกรัฐสภาเพื่อหาวิธีปกป้องภาพลักษณ์องค์กร ซึ่งเป็น 1 ใน 3 อำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ น้อยกว่าความกระตือรือร้นในการสาดโคลนใส่ "คู่แข่ง-คู่แค้น"
เพราะหลังเกิดเหตุ "ภาพหวิว" ก็ยังไม่ได้ยินนักการเมืองหน้าไหนออกมาแสดงวิสัยทัศน์ว่าจะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุฉาวซ้ำซากได้อย่างไร

ตรงกันข้าม "สภา 500" กลับผลิตเรื่องฉาวๆ ใหม่ๆ ออกสู่สังคม ปรากฏหลักฐานเป็นภาพ ส.ส. นั่งสัปหงกกลางสภา, คลิปเสียบบัตรแสดงตนและลงมติแทนกัน ฯลฯ 
ทั้งหมดนี้เพื่อนำ "ภาพใหม่-ข่าวใหม่" มากลบ "ภาพเก่า-ข่าวเก่า"
ท้ายที่สุด กรณี "ภาพโป๊" จึงไม่ต่างอะไรจากกรณี "เมาเหล้า-เมารัก" หรือกรณี "ถีบ-เถื่อน-ถ่อย" ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้  

ต่อให้ตกเป็นข่าวครึกโครมขนาดไหน สุดท้าย เรื่องราวก็มักเงียบหายไปแบบดื้อๆ เมื่อมีเรื่องราวใหม่มากลบเกลื่อน โดยที่สังคมไม่อาจเรียกหาความรับผิดชอบใดๆ จากผู้แทนราษฎรได้

ทว่า ทุกเหตุการณ์สะท้อนให้เห็น "ตัวตน" คนการเมืองในสภาที่นับวันยิ่ง "เสื่อม" และดีแต่สร้างภาพ "สะเทือนใจ" ให้ประชาชนจดจำไม่รู้จบ!!!



.