.
สงกรานต์ "ข้างใน"
โดย ทราย เจริญปุระ charoenpura@yahoo.com คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1653 หน้า 80
จริงๆ แล้วฉันเกลียดสงกรานต์
สงกรานต์ของฉันเป็นเพียงเสียงเพลงฉิ่งฉับท่วงทำนองไทยๆ
พร้อมเสียงร้องแจ๊ดๆ หวีดแหลมแสบแก้วหู ที่ร้องบรรยายถึงรายละเอียดภาพสงกรานต์ในแบบไทยๆ
อธิบายถึงอดีตอันน่ารักน่าเอ็นดูของประเพณีที่ประกอบไปด้วยหนุ่มสาวชาวบ้าน หน้าตาหมดจด
วักน้ำเย็นชื่นใจในขันเงินมาประพรมกัน
เดินเอียงอายเคียงคู่กันแบบห่างๆ เข้าไปในวัดที่เต็มไปด้วยผู้คนยิ้มแย้ม แจ่มใส
และการทำบุญตักบาตรรับวันปีใหม่แบบไทยๆ
เพลงนี้จะดังหลอกหลอนประสาทอยู่ถึงสามวัน
สามวันเต็มๆ ของการสะกดจิตให้เชื่อว่าประเพณีนี้ดีงาม ดีงาม ดีงาม
ฉันรู้สึกตัวเองเป็น Alex DeLarge แห่งหนัง Clockwork Orange ที่กำลังถูกปรับนิสัยด้วยการเปิดภาพและเสียงอัดกรอกเข้าไปในหัว
ฉันไม่เคยคิดถึงมันในแง่ดีงามมาก่อน
สำหรับฉัน มันคือเทศกาลหาคู่ของผู้คนกลัดมัน
และการระบายอารมณ์ออกไปเพื่อลดความร้อนรุ่มในจิตใจ
ดังนั้น ฉันจึงไม่เคยแปลกใจกับการที่มีคนเต้นยั่วยวนกลางถนน ถอดเสื้อโชว์เรือนร่าง ความมึนเมา การฉวยโอกาส
ก็ทุกคนมุ่งออกไปเพื่อการนี้อยู่แล้ว
จะมาร่ำร้องถึงความดีงามและการสาดน้ำใส่กันในระยะหนึ่งช่วงแขนได้อย่างไร
นี่คือความเป็นไทยในสายตาของฉัน
ความเป็นไทยอันจริงแท้ยิ่งกว่าประวัติศาสตร์หรือเรื่องเล่าในเพลงสงกรานต์อันตกยุคพ้นสมัยที่เปิดย้ำซ้ำไปมาอย่างเทียบกันไม่ได้
แล้วสงกรานต์มีอะไรพิเศษสำหรับฉัน?
ฉันไปเพราะเธอ
ในวันหนึ่งข้างหน้า อาจจะไม่นานนัก
มันก็จะถูกลดค่าลงเป็นเพียงเรื่องที่เคยเกิดขึ้นแล้ว
เป็นอากาศบางเบาของภาพอันไม่ปะติดปะต่อซึ่งหมุนวนอยู่ในความทรงจำ
เป็นเรื่องที่ฉันจะเก็บไว้นึก เวลาช่วงสงกรานต์กลับมาถึงอีกครั้ง
สิ่งสำคัญในที่นี่คือเรา
ประวัติศาสตร์ในชีวิตฉันช่วงหนึ่งที่มีเธอ
ออกไปข้างใน พูดถึงประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ ของเธอและฉัน เรื่องราวอันข้องเกี่ยวกับอดีตของเรา ประวัติศาสตร์ของที่ที่เราอยู่ เรื่องราวไกลโพ้นเกินกว่าความทรงจำจะก้าวไปถึง บันทึกเศษเสี้ยวของสิ่งที่ผ่านไปแล้ว
ชีวิตที่มีเพียงแค่เมื่อวาน
ความรักที่จางหายไปตั้งแต่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง
สิ่งที่เกิดขึ้นจริงและสิ่งที่เราเลือกจดจำ
ประวัติศาสตร์นั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัวเกินกว่าจะเข้าใจได้
เรื่องราวเต็มๆ ที่เกิดขึ้น สามารถถูกรับรู้ในมุมที่ต่างกันออกไปในแต่ละคน
เราจำอะไรได้บ้างในเดือนเมษายน
บ้างก็เลือกจำอากาศร้อนผ่าวแสบผิว
บ้างก็จำว่าฝนมักจะตกลงมาลดความร้อน
บ้างจำเสียงเพลงและความสนุกสนานของเทศกาลสงกรานต์
และแน่นอน, ย่อมมีคนจำเรื่องราวอาบเลือดในวันสงกรานต์ปีนั้น
และที่แน่นอนยิ่งขึ้นไปอีกก็คือ ต่างก็เลือกจำคนละแบบ คนละความหมาย คนละเหตุผล
แต่ที่เหมือนกันก็คือ ประวัติศาสตร์ทำให้เราเป็นคนอย่างที่เป็น
สร้างชุดความเชื่อที่หล่อหลอมให้เราเป็นเรา
ประวัติศาสตร์อาจสั่นไหวไม่มั่นคง
มันขึ้นอยู่กับเรา
ว่าจะเลือกเชื่อสิ่งที่เห็น เลือกเชื่อสิ่งที่รับรู้
หรือเลือกเชื่อสิ่งที่คนบอกโดยไร้ข้อโต้แย้ง
นั่นคือประวัติศาสตร์ของคน
และนั่นคือเรื่องส่วนตัว
++
ยอดปรารถนาของมนุษย์ และสิ่งที่มนุษย์พึงล้มล้าง
โดย ถนอม ไชยวงษ์แก้ว โครงการ ประกวดเรื่องสั้น
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1653 หน้า 68
หนังสือเล่มหนึ่ง
เพิ่งลืมตาเกิดออกมาดูโลกได้ไม่ถึงปีก็ถึงแก่ความตาย เพราะไม่มีคนอ่าน
รำพึงจากหลุมฝังศพวรรณกรรมกับหนังสือเก่าแก่เล่มหนึ่ง ซึ่งมีอายุยืนยาวถึง 500 กว่าปี แต่ยังมีชีวิตอยู่ เพราะยังเป็นที่ต้องการอ่านอย่างท่วมท้นของผู้คนส่วนใหญ่...มาทุกยุคทุกสมัยว่า
"ให้ตายเถอะ! ท่านผู้อาวุโส ข้าสงสัยเหลือเกินว่าทั้งตัวข้าและตัวท่าน เราต่างถูกสร้างขึ้นมาเป็นหนังสือเล่มหนึ่งจากตัวอักษรตัวสระพยัญชนะเดียวกันทุกตัว แต่ทำไมตัวข้าจึงถูกชะตากรรมพิพากษาให้อายุสั้นอยู่ได้ไม่ถึงปีก็ต้องตาย เพราะไม่มีคนอ่าน แต่ตัวท่านผู้อาวุโสสิ...อายุตั้ง 500 กว่าปีแล้ว ยังไม่รู้จักแก่เฒ่า ยังแลดูหนุ่มแน่นสดใสอยู่เสมอ และยังเป็นที่ต้องการของคนยุคแล้วยุคเล่าไม่รู้จักจบสิ้น ราวกับจะเป็นอมตะไปจนชั่วนิรันดร์ เป็นเพราะเหตุใดหนอ...ท่านผู้อาวุโส ข้าอยากรู้เหลือเกิน"
หนังสือเก่าแก่ผู้อาวุโส ที่ประสบความสำเร็จอันยิ่งใหญ่และยาวนานได้ฟังแล้ว จึงยิ้มๆ ตอบว่า
"ผู้เยาว์เอย ความตายตั้งแต่เป็นเด็กเล็กของเจ้าและการมีชีวิตอยู่อันยืนยงของข้า มิได้มีความสำคัญอยู่ที่ตัวอักษรตัวสระพยัญชนะที่นักเขียนเขานำมาเขียนกันหรอก"
"แล้วความสำคัญมันอยู่ที่ไหนกันล่ะท่านผู้อาวุโส" หนังสือผู้เยาว์ที่ตายแล้วและยังไม่ได้ผุดได้เกิดร้องถามด้วยน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความกระหายอยากรู้
"เจ้าอยากรู้จริงๆ รึ" ผู้อาวุโสแกล้งหยั่งท่าที
"ข้าอยากรู้ อยากรู้จริงๆ จ้ะท่าน"
"มันไม่มีอะไรลึกลับซับซ้อนนักหรอก" ผู้อาวุโสกล่าวด้วยน้ำเสียงที่อมภูมินิดๆ ก่อนจะค่อยๆ ให้คำตอบแก่ผู้เยาว์ว่า
"มันอยู่ที่ ความหมาย ที่นักเขียนเขาใช้ตัวหนังสือเป็นเครื่องมือให้ความหมาย และนำความหมายนั้นไปบอกแก่ผู้คน"
"ในตัวของข้าก็มีความหมายเหมือนกันนี่นา แต่ทำไมถึงไม่มีคนเขาต้องการข้า"
"แล้วความหมายของเจ้าคืออะไรล่ะ"
"การปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ในสังคมที่เสื่อมทรามและเลวร้ายให้ดีขึ้น"
"โอ แย่มากๆ ไม่มีใครเขาอยากอ่านเรื่องที่น่าเบื่อที่คนเขารู้ดีกันอยู่แล้วหรอก นี่แหละ นี่แหละ ที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เจ้าต้องตายตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก"
"อย่างนั้นหรือ"
"ใช่ เพราะมนุษย์ไม่ใช่สิ่งที่โง่เขลา อะไรๆ ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และสังคมในโลกที่โหดร้ายนี้ คนที่เขาอ่านเราไม่ออกแม้แต่ตัวเดียว เขาก็สามารถเข้าใจได้ เช่น เรื่องการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ตามเงื่อนไขของธรรมชาติ ยิ่งสิ่งต่างๆ ที่เป็นความเสื่อมทรามและเลวร้ายในสังคม ผู้คนส่วนใหญ่ในโลกเขายิ่งรู้ดีด้วยกันทั้งนั้น และรู้ด้วยว่าการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ หาได้ทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น และเป็นที่พึงพอใจไม่"
"อย่างนั้นหรือ แล้วความหมายในตัวท่านคืออะไรล่ะ ที่ทำให้ท่านยังคงดำรงอยู่มาจนทุกวันนี้ บอกข้าหน่อยได้ไหมข้าอยากรู้เหลือเกิน"
"ความหมายของข้าคือการให้ความหวัง... ความหวังที่ทำให้ผู้คนเชื่อว่าตัวเอง...จะได้หลุดพ้นจากความยากจน"
"แค่นี้เองหรือ"
"แค่นี้เอง"
"แล้วมันเป็นความหวังที่เป็นจริงหรือเปล่าล่ะ"
"โอ เป็นจริงน้อยมาก หรือไม่เป็นจริงเลยก็ว่าได้ เพราะถ้ามันเป็นจริง...คนที่อดอยากยากจนขัดสนปัจจัยสี่ที่มีอยู่ค่อนโลก...คงไม่มีเหลืออยู่แม้แต่คนเดียว และข้าก็คงตายก่อนเจ้าไปนานแล้ว"
"แล้วพวกเขารู้กันหรือเปล่า ว่ามันเป็นจริงได้น้อยมาก หรือไม่เป็นจริงเลยอย่างที่ท่านว่า"
"รู้ รู้กันเป็นอย่างดีทุกยุคทุกสมัยเลยทีเดียว"
"ในเมื่อรู้กันอย่างนี้แล้ว ทำไมผู้คนจึงยังคงเชื่อและกระหายที่จะอ่านท่านอยู่" หนังสือใหม่ซักไซ้อย่างไม่ลดละ
"อ๋อ พวกเขาต้องการอ่านข้า เพื่อเป็นเครื่องปลอบประโลมใจตัวเองให้อดทนมีชีวิตอยู่ และฝันลมๆ แล้งๆ กันว่า สักวันหนึ่ง...พวกเขาจะได้หลุดพ้นจากความยากจนและร่ำรวยกัน..." หนังสือเก่าตอบ
"เพราะอะไรหรือ" หนังสือใหม่ถาม
"เพราะยอดปรารถนาของมนุษย์ ไม่ใช่การปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงขนบประเพณี ข้าวปลาอาหารเลวๆ ขนมปังเลวๆ การออมทรัพย์ อิสรภาพ วิวัฒนาการด้านวิทยาการ การสงเคราะห์หญิงโสเภณี เด็กกำพร้า ผู้พิการ การปลุกเยาวชน หรือการรับส่วนบุญจากศาสนาใดๆ แต่เงินตราเป็นสิ่งเดียวเท่านั้น ที่เป็นยอดปรารถนาของมนุษย์ ดังนั้น สิ่งที่มนุษย์พึงล้มล้าง จึงมิใช่บาป ความเจ็บปวด คอร์รัปชั่น พระบาทหลวง กษัตริย์ เผด็จการ อภิสิทธิ์ชน เหล้าชั้นดี สงคราม โรคระบาด และก็ไม่ใช่วัตถุใดๆ ที่เสียสละจากเหล่านักปฏิวัติสังคม ฯลฯ สิ่งที่มนุษย์พึงล้มล้างคือ ความจน..." หนังสือเก่าตอบ
"ทำไมเงินตราจึงเป็นยอดปรารถนาของมนุษย์ ทำไมความจนจึงเป็นสิ่งที่พึงล้มล้าง"
หนังสือใหม่ถาม
"เพราะเงินตรา เป็นวัตถุที่ก่อให้เกิดความชื่นชมแก่มนุษย์โดยทั่วหน้า เป็นศุภนิมิตอันดีเลิศแก่วัฒนธรรมในสากลโลก เป็นหลักประกันที่ดีที่สุดแก่สังคม แก่จิตใจมนุษย์ ดังนั้น วัตถุสำคัญที่สุดในโลกคือเงินตรา ยอดปรารถนาของมนุษย์คือเงินตรา เพราะมันบ่งบอกถึงความมั่งมีศรีสุข ความเข้มแข็ง พลังกาย พลังใจ อำนาจ ความเมตตา สัจจะ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความหมดจดงดงาม ส่วนความยากจนข้นแค้น มันบ่งบอกถึงความอ่อนแอ ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความอัปยศอดสู ความขี้ริ้วขี้เหร่ อัปลักษณ์ ต่ำต้อย มันเป็นหลักธรรมชาติอันแท้จริงของสังคมมนุษย์ ซึ่งไม่มีคำกล่าวอ้างใดๆ แม้แต่วาทะของพระเจ้ามาลบล้างได้..." หนังสือเก่าตอบ
"โอ ข้าเข้าใจแล้วว่าทำไม เงินตราจึงเป็นยอดปรารถนาของมนุษย์ และความยากจนจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์พึงล้มล้าง โอ้ ความยากจนนี่...เป็นสิ่งที่น่าเกลียดน่ากลัวจริงๆ นะ"
"ใช่ เพราะมันทำลายแทบทุกอย่างที่เป็นศักดิ์ศรีของมนุษย์ โดยเฉพาะความยากจนที่ทำให้มนุษย์ไม่มีวันที่จะลืมตาอ้าปากได้...ไม่ว่าเขาจะทำงานหนักทุกวันตั้งแต่เกิด...จนกระทั่งตาย เช่น ความยากจนของผู้ใช้แรงงานราคาถูกทั่วทุกมุมโลก ที่ทำให้พวกเขามีรายได้เพียงค่าอาหารเลวๆ วันละ 3 มื้อ ก็แทบจะไม่พอยาไส้ มันเป็นความยากจนที่โหดร้ายเป็นอย่างยิ่ง...เพราะมันทำให้มนุษย์ที่เกิดมาตกอยู่ในสภาพยากจนเช่นนี้...ต้องมีชีวิตที่ไร้คุณภาพราวกับมิใช่ชีวิตของมนุษย์ และต้องประสบกับความยากลำบากความทุกข์ทรมานสารพัดอย่างในการมีชีวิตอยู่...ไปตลอดชีวิต...จนกระทั่งตาย..."
"โอ ข้าอยากเกิดใหม่มาเป็นหนังสือที่มีความหมายอันหอมหวานแก่ผู้คนอย่างท่านเหลือเกิน"
หนังสือใหม่ที่ตายไปแล้วและยังไม่ได้ผุดได้เกิดรำพึงขึ้นมาลอยๆ
"จงภาวนา เจ้าจงภาวนา! หานักเขียนลวงโลกเก่งๆ สักคนหนึ่งเอาไว้ แล้วเจ้าจะสมหวังในชาติหน้า"
หนังสือเก่าที่ยังมีชีวิตอยู่ช่วยชี้ทางไปสู่สวรรค์ ก่อนจะถูกหญิงสาวหน้าตาอมทุกข์ แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าเก่าๆ ราคาถูกคนหนึ่ง ฉวยขึ้นไปเพ่งพิศดูหน้าปก พลางเบิกตากว้างตะโกนออกมาด้วยเสียงดังลั่น ราวกับได้พบขุมทรัพย์สุดขอบฟ้าโดยไม่คาดฝันว่า
"ไชยโย! พบแล้ว พบแล้ว หนังสือที่เราอยากอ่าน หนังสือที่เราแสวงหามาจนชั่วชีวิต!"
และรีบถือติดมือเดินผละจากไปอย่างรวดเร็ว ทิ้งให้หนังสือใหม่ในหลุมศพวรรณกรรมชะเง้อมองตามด้วยความอิจฉาเป็นยิ่งนัก
หมายเหตุ : ข้อความในเครื่องหมายคำพูดที่ว่า "เพราะยอดปรารถนาของมนุษย์..." จนถึงประโยคสุดท้ายที่ว่า "สิ่งที่มนุษย์พึงล้มล้างอย่างแท้จริง คือความจน..." และในเครื่องหมายคำพูดถัดๆ มาที่ว่า "เพราะเงินตราเป็นวัตถุที่ก่อให้เกิดความชื่นชมแก่มนุษย์โดยทั่วหน้า..." จนถึงประโยคสุดท้ายที่ว่า "ซึ่งไม่มีคำกล่าวอ้างใดๆ แม้แต่วาทะของพระเจ้ามาลบล้างได้..." ผู้เขียนนำมาจากคำนำตอนหนึ่งของบทละครเรื่อง Major Barbara ของ ยอร์ช เบอนาร์ด ชอว์ จากนิตยสาร โลกหนังสือ ปีที่ 1 ฉบับที่ 4 มกราคม 2521 โดยนำมาลดทอน เพิ่มเติม ดัดแปลง พอเหมาะกับโครงสร้างของเรื่อง
/ 26 พ.ค. 2554 กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย