.
"ไบก์เลน" ฝันร้ายของนักปั่น
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1649 หน้า 38
ฝันไว้ว่าสักวันหนึ่ง กรุงเทพมหานครจะต้องทำทางจักรยานให้คน กทม. ได้ขี่ไปทำงาน ไปซื้อของร้านค้าใกล้ๆ ปั่นเที่ยวสวนหย่อมในวันหยุด หรือให้เด็กๆ ปั่นไปโรงเรียนที่อยู่ใกล้ๆ
แต่ กทม. ปั้นฝันให้ผมได้แค่ครึ่งๆ กลางๆ
ครั้งแรกที่ได้ปั่นจักรยานในกรุงเทพฯ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว เวลานั้นเพิ่งเข้าทำงานแถวๆ ราชดำเนิน ยังจำได้ว่าต้องต่อสู้กับรถเมล์มหาภัยตลอดเส้นทางปั่นจากหัวหมาก ต้องผ่านคลองตัน เข้าเพชรบุรีตัดใหม่ อโศก ทะลุประตูน้ำ ผ่านยมราช สะพานขาว เนื่องจาก กทม. ยังไม่มีไบก์เลนให้นักปั่นจักรยาน อีกทั้งคนปั่นจักรยานก็มีน้อยมาก
เช้าวันหนึ่งขณะขี่จักรยานมาถึงย่านอโศก ฝนตกพรำๆ มาตั้งแต่หัวรุ่ง เริ่มตกหนักมาก มีทางเลือกอยู่ 2 ทาง หยุดปั่นแล้วหาที่บังฝน แต่ไปทำงานสายแน่ๆ หรือจะฝ่าสายฝน
ผมเลือกอย่างหลัง พยายามขี่ให้ชิดขอบฟุตปาธ เพราะรู้ว่าเป็นเลนรถเมล์
ขอบฟุตปาธมีน้ำเจิ่งนองแล้ว ยังพอปั่นได้อยู่
ปั่นไปได้ไม่นานนักเสียงแตรรถเมล์ที่บีบไล่หลังและพยายามเบียดแซงขึ้นมาจนน้ำฝนกระเซ็นใส่เสื้อผ้าจนเปียกแฉะไปหมด
นั่นทำให้ผมต้องมานั่งคิดว่า ควรจะปั่นจักรยานไปทำงานอีกหรือเปล่า?
แล้วในที่สุดผมก็ทิ้งจักรยานให้ฝุ่นจับอยู่หลายปี เพิ่งหันมาขี่อีกจริงๆ จังๆ เมื่อราวสิบปี ไปทำงานที่มติชนบ้างเป็นบางครั้ง แต่ส่วนใหญ่ไปปั่นท่องเที่ยวกับเพื่อนๆ แถวๆ ต่างจังหวัด
การออกต่างจังหวัดนานๆ ครั้ง ได้ความมันในอารมณ์ทีเดียวเพราะเส้นทางปั่นมีทั้งป่าทึบ หรือไม่ก็เป็นทุ่งโล่ง บางครั้งฝ่าลำธาร หลุมโคลน ไต่เนินสูงแล้วก็ปั่นลงเขา นอกจากบ้าบิ่นแล้ว ใจต้องนิ่ง ร่างกายต้องแข็งแกร่งทนทายาด
แต่ฝันร้ายหวนกลับมาอีกหน เมื่อราคาน้ำมันของบ้านเราพุ่งกระฉูด ผมเลิกเอาจักรยานขึ้นรถขับไปปั่นนอกเมือง เพราะคิดคำนวณสะระตะแล้วไม่คุ้ม
ค่าน้ำมันยังไม่เท่าไหร่ พอจะแบ่งหารกับพรรคพวก แต่การขับรถไปไกลๆ เพื่อปั่นจักรยานเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงแล้วขับรถกลับมานอนบ้าน ไม่น่าจะคุ้มกันเท่าไหร่ เทียบกับปั่นจักรยานใน กทม. เดี๋ยวนี้มีทางจักรยานในหลายพื้นที่คุ้มค่ากว่ากันเยอะ ได้รู้จักเพื่อนบ้าน รู้จักถิ่นฐานใกล้ๆ ตัวเราด้วย
ก่อนน้ำท่วมใหญ่ ผมปั่นจักรยานรอบๆ ออฟฟิศ สำรวจไบก์เลนของ กทม. มีทางน่าปั่น อย่างโลคัลโรด ปั่นไปสุดทางเลาะเข้าหมู่บ้านเมืองเอกวนกลับไปทางเลียบคลองประปา
ในวันธรรมดา ทดลองปั่นในเส้นทางจักรยานจากแยกเตาปูนมาตลาดประชานิเวศน์ ระยะทางไม่ไกลมากนัก แต่อุปสรรคมีมากกว่าที่คิดไว้
จากแยกเตาปูนเลาะฟุตปาธถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรี ข้ามทางรถไฟจนมาถึงแยกวงศ์สว่าง เป็นทางไบก์เลนที่ กทม. สร้างไว้นานแล้ว แต่เป็นการสร้างที่ขาดการวางแผน ทำลวกๆ เหมือนเป็นพิธีให้พอรู้ว่า เป็น "ไบก์เลน"
ตั้งแต่สามแยกตัดกับถนนประชาราษฎร์สาย 2 นักปั่นต้องลงไปปั่นด้านล่างเพราะมีแผงลอยขายสินค้าขวางเต็มเลนเป็นระยะๆ บางจุดมีแผงขายส้มตำไก่ย่างขวางทางขึ้นลง หลายๆ จุดเป็นหลุมบ่ออิฐบล็อกหลุดบ้าง หรือไม่ก็มีขอบปูนกั้นทางไว้
บางจุดนักปั่นต้องเสี่ยงดวงปั่นเฉียดหัวจ่ายน้ำดับเพลิง ถ้าปั่นไม่นิ่ง สมาธิแกว่งอาจกระแทกท่อนเหล็กกลมๆ ล้มกลิ้งโค่โล่ได้
อย่างน้อย 2 จุดที่ กทม. สุดชุ่ย เพราะสร้างสะพานปิดทางไบก์เลน แถมยังมีรั้วกั้นข้างฟุตปาธอีกต่างหาก นักปั่นต้องเหวี่ยงก้นพ้นอานหิ้วจักรยานลงไปปั่นบนถนนแทน (ดูภาพประกอบ)
เมื่อปั่นผ่านไปถึงแยกประชานุกูล นักปั่นเสี่ยงดวงอีกรอบ เพราะเป็นทางแยกใหญ่รถเยอะมาก ไม่มีทางจักรยานเชื่อมระหว่างกัน ทางเลี้ยวซ้ายให้รถผ่านตลอด
ถ้าผ่านจุดนี้ การปั่นจักรยานเลาะริมคลองประปา เลี้ยวขวาเข้าถนนเทศบาลสงเคราะห์แล้วเลาะเข้าโลคัลโรดหรือกำแพงเพชร 6 เป็นเรื่องง่ายดาย
วันนี้ราคาน้ำมันขยับขึ้นอีก ราคาเฉียดๆ 2 ลิตรร้อยเข้าไปแล้ว ผมยังไม่เคยได้ยินจากปากของผู้นำรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ว่า จะมีแผนลดพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืนอย่างไรบ้าง
พลังงานทางเลือก ที่เคยกำหนดทิศทางไว้ มีความชัดแค่ไหน ทดแทน "น้ำมัน ก๊าซ หรือถ่านหิน" ได้ในเร็วๆ วันหรือไม่
สำหรับไบก์เลนนั้น ไม่เพียงรัฐบาล หากผู้บริหารในท้องถิ่น เช่น กทม. ไม่เคยคิดผลักดันให้สร้างขยาย "ไบก์เลน" แล้วชักชวนคนไทยใช้ "จักรยาน"?
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
เวบไซต์เพื่อชาวจักรยาน
www.thaicyclingclub.org/
ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพฯ
http://nicknamena.blogspot.com/2008/06/energy-energy.html
การใช้จักรยาน ช่วยลด Energyและมลพิษ แต่เพิ่ม Energy ให้กับตัวเอง
++
ดู "ซาอุ" เป็นเยี่ยงอย่าง
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1590 หน้า 41
"อาลี อัล-นาอิมิ" รัฐมนตรีน้ำมันแห่งซาอุดีอาระเบีย ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้รัฐบาลมองหาช่องทางนำพลังงานอื่นๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานนิวเคลียร์ ส่วนน้ำมันที่ซาอุดีอาระเบียมีอยู่นั้นจะนำมาผลิตส่งออกขายทั่วโลกต่อไป
ตัวเลขล่าสุด ซาอุดีอาระเบียมีปริมาณน้ำมันสำรองราว 264,000 ล้านบาร์เรล และระดับการผลิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซาอุดีอาระเบียมีน้ำมันเหลือใช้ได้อีกนานถึง 80 ปี
แต่ซาอุดีอาระเบียมองว่า ความต้องการใช้น้ำมันในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้นเฉลี่ยวันละ 3.2 ล้านบาร์เรล และในระยะ 20 ปีข้างหน้า คนซาอุฯ ใช้น้ำมันประมาณ 8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ใกล้เคียงผลผลิตในเวลานี้
มีการจำแนกตัวเลขการใช้ไฟฟ้าในซาอุฯ พบว่าเมื่อปีที่แล้วใช้ถึง 40 กิ๊กกะวัตต์ อีก 22 ปีจากนี้จะเพิ่มเป็น 120 กิ๊กกะวัตต์
ส่วนพลังงานที่เล็งเอาไว้ คือพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ซาอุดีอาระเบียมีแผนดึงมาปั่นเป็นกระแสไฟฟ้าในระยะ 8-10 ปีถัดไป ทางรัฐบาลดึงผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานทางเลือกนี้ ทั้งในยุโรป สหรัฐ ญี่ปุ่น และเกาหลี มาช่วยชี้แนะ
พลังงานนิวเคลียร์ คาดว่าจะเกิดเป็นรูปร่างในปี 2563 รัฐบาลซาอุดีอาระเบียจะใช้เทคโนโลยีจากบริษัทอาเรวาของฝรั่งเศส แต่ยังไม่ทิ้งเทคโนโลยีของสหรัฐและรัสเซีย เพราะร่วมลงนามในสัญญาความร่วมมือแลกเปลี่ยนความรู้ว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์ไปแล้วเหมือนกัน
ก่อนหน้าการให้สัมภาษณ์ของ "อาลี อัล-นาอิมิ" ซาอุดีอาระเบียเปิดโครงการวิจัยเพื่อสร้างเมืองพลังงานหมุนเวียน ชื่อว่า "กษัตริย์อับดุลลาห์ ซิตี้ เพื่อนิวเคลียร์และพลังงานหมุนเวียน" หรือเรียกสั้นๆ ว่า "คาแคร์" (KACARE : The King Abdullah City of Atomic and Renewable Energy)
คาแคร์ได้เงินสนับสนุนจากกษัตริย์อับดุลลาห์เป็นมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกษัตริย์อัลดุลลาห์เป็นแกนกลางในการค้นคว้าหาข้อมูลและวิจัยพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ซาอุดีอาระเบียมองเห็นอนาคตข้างหน้าว่า น้ำมันนับวันมีแต่จะหมดลงไป การเสาะแสวงหาแหล่งพลังงานอื่นๆ เพื่อมาทดแทน "น้ำมัน หรือก๊าซ และถ่านหิน" เป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญที่สุด
พลังงานที่จะนำมาทดแทนต้องเป็นพลังงานสะอาดเนื่องจากโลกนี้ต้องหลีกเลี่ยงการปล่อยควันพิษทำลายชั้นบรรยากาศ เพื่อลดภาวะโลกร้อน แสงอาทิตย์และลม เป็นพลังงานสะอาดที่ธรรมชาติให้กับโลกใบนี้ ซึ่งซาอุดีอาระเบียเล็งเอาไว้มาตั้งแต่เกิดวิกฤติพลังงานน้ำมัน
ประเทศซาอุดีอาระเบียมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลกว่า 3.2 ล้านตารางกิโลเมตร อยู่ในทำเลเหมาะกับดึงพลังงานลมมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงานมากเพราะตั้งบริเวณอ่าวอาระเบียนและฝั่งทะเลแดง กระแสลมค่อนข้างแรงเฉลี่ย 16.7 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
จากการศึกษาตั้งแต่ปี 2548 พบว่า พื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการตั้งกังหันลมเพื่อผลิตพลังงานลมในซาอุดีอาระเบียมีอยู่ 5 แห่ง คาดว่าจะต้องเงินลงทุนประมาณ 117,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนพลังงานแสงอาทิตย์นั้น ซาอุดีอาระเบียค้นคว้าและวิจัยเบื้องต้นมานานตั้งแต่ปี 2503 จากนั้นร่วมมือกับสหรัฐและเยอรมนีทดลองวิจัยและพัฒนา จนพบว่าพื้นที่หลายแห่งของซาอุดีอาระเบียมีศักยภาพเหมาะสมกับการใช้พลังงานแสงอาทิตย์
นอกจากนี้ ยังศึกษาวิจัยพลังงานระบบไฮบริด นำพลังงานสะอาดมาใช้ร่วมกับพลังงานน้ำมันเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง เช่น การดึงแสงอาทิตย์ กระแสลม มาใช้ปั่นกระแสไฟฟ้าร่วมกับเครื่องปั่นไฟที่ใช้น้ำมันดีเซล ช่วยลดปริมาณดีเซล
ซาอุดีอาระเบียเป็นทะเลทราย พื้นที่ส่วนใหญ่ขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ต้องดึงน้ำทะเลมากรองให้เป็นน้ำจืด
โรงกรองน้ำทะเลต้องใช้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อดึงน้ำทะเลมากรองเป็นน้ำจืด เฉลี่ยประมาณ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
เมื่อต้นทุนการผลิตสูง ราคาน้ำจืดในซาอุดีอาระเบียพอๆ กับน้ำมัน
รัฐบาลซาอุดีอาระเบียจึงหันมาติดตั้งเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ในโรงกลั่นน้ำทะเล 28 แห่ง
นี่เป็นวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร "ซาอุดีอาระเบีย" ดินแดนที่อุดมไปด้วยน้ำมัน
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย